Thursday, 16 January 2025
ECONBIZ

‘แพทองธาร’ ร่วมเวที ที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค!! ย้ำ!! สนับสนุนการเปลี่ยนผ่าน สู่เศรษฐกิจดิจิทัล

(16 พ.ย. 67) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการหารือระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ในช่วงอาหารกลางวัน (ABAC Dialogue with APEC Economic Leaders) โดย นายกรัฐมนตรี กล่าวในหัวข้อ ‘ประชาชน ภาคธุรกิจ และความรุ่งเรือง’ (People. Business. Prosperity.)ว่า ยินดีที่ได้มาร่วมกับสมาชิกสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) ซึ่งหัวข้อของการประชุมของ ABAC ในปีนี้สอดคล้องกับหัวข้อการประชุม APECของเปรูที่ว่า ‘เสริมสร้างพลัง การมีส่วนร่วม และการเติบโตอย่างยั่งยืน’ และตนสนับสนุนความคิดริเริ่มของเปรูในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจในระบบและเศรษฐกิจโลก (the transition to the formal and global economy)

โดยแรงงานมากกว่าครึ่งของเอเปคมาจากเศรษฐกิจนอกระบบ จึงเป็นเรื่องที่ทุกประเทศต้องให้ความสำคัญ รวมทั้งบทบาทของการใช้ดิจิทัลและนวัตกรรมเพื่อสร้างการเข้าถึงอย่างครอบคลุม โดยเฉพาะ ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ และกลุ่มที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ ในกลุ่มประเทศสมาชิกอย่างมาก  

ซึ่งที่ผ่านมามีการปรับตัวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและมีความท้าทาย ในเรื่องต้นทุน และทักษะใหม่ ๆ ที่จำเป็น ดังนั้นการสนับสนุนผ่านโครงการเสริมสร้างศักยภาพโอกาส ในการเพิ่มทักษะและพัฒนาทักษะใหม่ๆตลอดจนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างทั่วถึงจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่ง รัฐบาลไทยได้ปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้แน่ใจว่ามีมาตรการทางการเงินที่เหมาะสม

ซึ่งนายกรัฐมนตรียืนยัน สนับสนุนให้เอเปค พิจารณาโครงการชำระเงินดิจิทัลข้ามพรมแดนต่อไป เพื่อส่งเสริมระบบการเงินที่เสรี มีความปลอดภัยและแข่งขันได้

นายกรัฐมนตรียังกล่าวอีกว่า นอกจากการค้า การลงทุน และการบูรณาการทางเศรษฐกิจ ยังมีความสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาค นั่นก็คือการเติบโตทางนวัตกรรมทางการเงิน และระบบการชำระเงินดิจิทัลที่จะเป็นเครื่องมือช่วยให้บรรลุเป้าหมายนี้ ได้ โดยประเทศไทย ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการวางระบบให้ประชาชนในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน สามารถชำระเงินผ่านรหัส QR code ระหว่างกันได้แล้วซึ่งจะช่วยให้การทำธุรกรรม การเงิน ข้ามพรมแดน ได้อย่างสะดวกรวดเร็วอันเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจ ของแต่ละประเทศ

‘พีระพันธุ์’ เร่งเดินหน้ากฎหมายคุมราคาพลังงานไทย หมดยุคปรับราคาขึ้น - ลงรายวัน สร้างความเป็นธรรมทุกฝ่าย

วันที่ (14 พ.ย.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธานการประชุมคณะทำงานเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กำกับการประกอบกิจการค้าน้ำมันและก๊าซ  ซึ่งเป็นกฎหมายที่จะสร้างประวัติการณ์ใหม่ในการกำกับดูแลราคาพลังงานเชื้อเพลิงของไทย และจะเป็นกลไกสำคัญในการ "รื้อ" ระบบกำหนดราคาน้ำมันให้มีความชัดเจนและเป็นธรรมมากขึ้น ทั้งฝั่งผู้ซื้อและผู้ขาย โดยจะนำระบบ Cost Plus ซึ่งเป็นการคำนวณราคาน้ำมันตามต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่แท้จริง มาใช้แทนระบบอ้างอิงราคาน้ำมันต่างประเทศ ทำให้ราคาน้ำมันในประเทศไม่ต้องเปลี่ยนแปลงรายวันอีกต่อไป

ภายใต้ระบบใหม่นี้จะมีการกำหนดราคามาตรฐานอ้างอิงเป็นราคากลางในแต่ละเดือนว่า ราคาน้ำมันเฉลี่ยแต่ละเดือนควรจะเป็นเท่าไร ถ้าหากผู้ประกอบการมีต้นทุนสูงกว่าราคากลางที่กำหนด ก็ต้องมาพิสูจน์ว่ามีต้นทุนที่สูงขึ้นจริงเพราะอะไร จึงจะปรับราคาได้ และให้ปรับได้เดือนละครั้งไม่ใช่ปรับรายวัน โดยคิดเป็นราคาเฉลี่ยในระยะเวลาที่กำหนดแทนการปรับราคารายวัน

‘เอกนัฏ’ สั่งปูพรมลุยตรวจโรงงานต่อเนื่อง ย้ำ! หากพบคนทำผิดให้จัดการตาม กม.อย่างเด็ดขาด

(15 พ.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) บูรณาการร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ทั่วประเทศ เปิด 'ปฏิบัติการตรวจสุดซอย' ต่อเนื่อง ปูพรมตรวจกำกับดูแลโรงงานกลุ่มเสี่ยงสูงในพื้นที่เฝ้าระวัง เช่น จังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี นครราชสีมา เพชรบูรณ์ เป็นต้น รวมจำนวน 218 ราย โดยเฉพาะโรงงานที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดกำจัดกากอุตสาหกรรม หรือโรงงานลำดับที่ 101, 105 และ 106 ทั้งที่เป็นของเสียอันตรายและไม่เป็นของเสียอันตราย เช่น การคัดแยก หลุมฝังกลบ ทำเชื้อเพลิงผสม ทำเชื้อเพลิงทดแทนจากน้ำมันและตัวทำละลายใช้แล้ว สกัดแยกโลหะ ถอดแยกบดย่อยชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หลอมตะกรัน รีไซเคิลกรดด่าง เป็นต้น ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบกับประชาชนและสิ่งแวดล้อม และจะดำเนินการขยายผลปูพรมตรวจโรงงานทั่วประเทศ โดยให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทุกจังหวัดตรวจสอบและวางแผนดำเนินการ คาดใช้เวลาภายในเวลา 2 เดือน หากพบโรงงานที่มีการกระทำผิดจะสั่งลงโทษเด็ดขาด

นายเอกนัฏฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ ตนได้ให้นโยบายและสั่งการให้ กรอ. และ สอจ. ทั่วประเทศ ปรับกลไกการอนุมัติอนุญาตโรงงานทั้งระบบ โดยใช้แนวคิด 'เพิ่มแต้มต่อให้กับผู้ประกอบการที่ดี' โดยการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการที่ดีในทุกช่องทาง ควบคู่ไปกับการขึ้นบัญชี Blacklist ผู้ประกอบการที่มีประวัติไม่ดีหรือมีความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง เพื่อยกระดับการตรวจสอบ กำกับดูแล และติดตามโรงงานกลุ่มดังกล่าวอย่างเข้มข้น การปรับกลไกการอนุมัติอนุญาตโรงงานดังกล่าวเป็นการแก้ไขปัญหาเชิงป้องกันที่ต้นเหตุ อย่างไรก็ตาม การจะสู้กับผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมาย ทำร้ายประชาชนและสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมตามนโยบาย 'สู้ เซฟ สร้าง' นั้น การดำเนินการดังกล่าวอาจจะยังไม่เพียงพอ มีความจำเป็นต้องปฏิรูปการกำกับโรงงานทั้งระบบ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการกำกับดูแลโรงงานทั่วประเทศ

“ผมได้กำชับเจ้าหน้าที่ กรอ. และ สอจ. ทั่วประเทศ ให้ตรวจสอบทุกโรงงานสุดซอยอย่างเข้มข้น พร้อมย้ำ! หากตรวจพบการประกอบการที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายให้ดำเนินการสั่งการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด รวมถึงผู้ที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดให้ถึงที่สุด โดยไม่ต้องเกรงกลัวต่ออิทธิพลใด ๆ” รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ กล่าว

ด้านนายพรยศ กลั่นกรอง รักษาการอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า “ปฏิบัติการตรวจสุดซอย” เป็นปฏิบัติเชิงรุกในการตรวจสอบกำกับโรงงานเชิงลึกในทุกมิติ ทั้งด้านการติดตั้งเครื่องจักร กระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ต้องมีมาตรฐาน มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาตอย่างครบถ้วน ด้านสิ่งแวดล้อม มีการติดตั้งระบบบำบัดมลพิษที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ด้านการบริหารจัดการสารเคมี วัตถุอันตราย และกากอุตสาหกรรมต้องดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และด้านอาชีวอนามัย การปฏิบัติงานต้องมีความปลอดภัยของทั้งพนักงานและประชาชนโดยรอบโรงงาน อีกทั้ง การประกอบการต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายโรงงาน กฎหมายวัตถุอันตราย กฎหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มข้น โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบอย่างเต็มรูปแบบ เช่น ระบบตรวจกำกับดูแลสถานประกอบการ หรือระบบ i-Auditor ระบบห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ (E-Report) และระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยมลพิษ (Pollution Online Monitoring System) เป็นต้น

“กรอ. พร้อมทำงานเป็นเนื้อเดียวกับ สอจ. ในการกำกับดูแลโรงงานทั่วประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบกับชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ รวมทั้งพร้อมดำเนินการตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อสู้กับผู้ประกอบการที่เย้ยกฎหมาย หากพบโรงงานทำผิดกฎหมาย จะดำเนินคดีตามกฎหมายให้ถึงที่สุด” นายพรยศฯ กล่าวทิ้งท้าย

นายกฯ อิ๊งค์ หารือ บิ๊ก Google ขอบคุณทุ่ม 3.5 หมื่นล้านลงทุนในไทย

(15 พ.ย. 67)นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมกับนายมาริส เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการหารือกับผู้บริหารระดับสูงจากบริษัท Google, TikTok และ Microsoft ในสัปดาห์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ณ กรุงลิมา ประเทศเปรู เพื่อสานต่อความร่วมมือระหว่างไทยกับบริษัทเหล่านี้

ระหว่างการหารือกับนาย Karan Bhatia รองประธานฝ่ายกิจการภาครัฐและนโยบายสาธารณะของ Google นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีที่ Google ประกาศลงทุนมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในไทยเพื่อสร้าง Data Center และ Cloud Region ซึ่งคาดว่าจะสร้างงานกว่า 14,000 ตำแหน่งในช่วงปี 2568 - 2572 และสร้างมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2572 ไทยพร้อมร่วมมือกับ Google ในการพัฒนาทักษะเทคโนโลยีของแรงงาน ส่งเสริมการทำงานภาครัฐ การขับเคลื่อนนโยบาย Go Cloud First รวมถึงการเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และการต่อต้านการหลอกลวงออนไลน์ โดยต่อยอดจากบันทึกความเข้าใจที่ Google ลงนามกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเมื่อปี 2566

การหารือครั้งนี้ยังติดตามผลจากการพบปะของนายกรัฐมนตรีกับนาง Ruth Porat ประธานและซีอีโอฝ่ายการลงทุนของ Alphabet และ Google ซึ่งได้เดินทางมาไทยเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 เพื่อหารือถึงความคืบหน้าโครงการลงทุนของบริษัทในไทยและความร่วมมือเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและดิจิทัลของไทย

นายกรัฐมนตรีได้พบกับนาย Shou Zi Chew ซีอีโอของ TikTok ซึ่งนายกรัฐมนตรีแสดงความชื่นชมในความร่วมมือระหว่าง TikTok กับหน่วยงานไทยที่ช่วยเสริมศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs และส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยทั้งสองฝ่ายหารือถึงแนวทางการเพิ่มความร่วมมือเพื่อพัฒนาระบบนิเวศดิจิทัล ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล รวมถึงการสนับสนุนโครงการ Data Center ของ TikTok ปัจจุบัน TikTok มีผู้ใช้งานในไทยกว่า 49 ล้านบัญชี

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้หารือกับนาย Antony Cook รองประธานฝ่ายกฎหมายลูกค้าและพันธมิตรของ Microsoft ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงแผนความร่วมมือในด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์และ AI และโครงการพัฒนาทักษะ AI ให้แก่บุคลากรไทย ซึ่งสำคัญต่อการเตรียมความพร้อมของแรงงานทักษะสูง รองรับเทคโนโลยีขั้นสูง สอดคล้องกับเป้าหมายของไทยในการเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลในภูมิภาค

การหารือกับ Microsoft ครั้งนี้ยังเป็นการต่อยอดจากการเยือนไทยของนาย Satya Nadella ซีอีโอของ Microsoft เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 ซึ่งประกาศแผนการจัดตั้ง Data Center แห่งแรกในไทย การสนับสนุนทักษะด้าน AI และการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจไทยนำ Generative AI ของ Microsoft มาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

‘พิชัย’ จ่อเสนอจ่าย ‘เงินหมื่น’ เฟส 2 ‘คนอายุ 60 ปีขึ้นไป’ หลัง ‘ทักษิณ’ เปรยบนเวทีปราศรัยอุดรฯ ยันไม่ทับสิทธิเฟสแรก

‘พิชัย’ จ่อเสนอบอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจ จ่าย ‘เงินหมื่น’ เฟส 2 ‘คนอายุ 60 ปีขึ้นไป’ หลัง ‘ทักษิณ’ เปรยบนเวทีปราศรัยอุดรฯ ชี้ใช้งบไม่มาก ยืนยันไม่ทับสิทธิกลุ่มเปราะบางเฟสแรก รับมีเฟส 2-3

(14 พ.ย. 67) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขึ้นปราศรัย เวทีนายก อบจ.อุดรธานี ที่เปรยว่า ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะได้รับเงินหมื่นเร็ว ๆ นี้ว่า เฟสที่ 1 รัฐบาลให้เป็นเงินสด สำหรับกลุ่มเปราะบาง และผู้พิการ ซึ่งหลังจากนี้จะพิจารณาจากกลุ่มที่มีปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งมีจำนวนไม่มาก โดยจะคัดบุคคลที่เร่งด่วนก่อน หากทำได้ก็จะจ่ายให้กับบุคคลเหล่านี้ก่อนที่จะพิจารณาการจ่ายเงินในเฟสต่อไป โดยกระทรวงการคลังจะเป็นผู้นำหลักการเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจ 

นายพิชัยระบุว่า วิธีทำไม่ยาก ยืนยันว่าสิทธิของกลุ่มผู้มีอายุมากกว่า 60 ปีไม่ซ้ำซ้อนกับกลุ่มเปราะบาง

ส่วนงบประมาณนั้น นายพิชัย ระบุว่า ในกลุ่มนี้มีไม่กี่ล้านคน

ผู้สื่อข่าวถามว่าแสดงว่าจะมีการ จ่ายเงิน 10,000 บาท ในเฟส 2 และเฟส 3 ใช่หรือไม่ นายพิชัยยอมรับว่า ใช่ เพราะต้องมีการพิจารณาตามความเหมาะสม ความจำเป็น และรูปแบบ 

นายพิชัยกล่าวว่า แน่นอนว่าดิจิทัลกับการจ่ายเงินสดให้กับกลุ่มเปราะบาง เป็นการช่วยเหลือ 2 ทางคือ 1.เพื่อให้ประชาชนสามารถมีช่องทางการติดต่อกับรัฐบาลได้อย่างถาวร ซึ่งโปรแกรม และแพลตฟอร์ม ดังกล่าวต้องค่อยๆ ทำ พัฒนาไปเรื่อย ๆ และ 2.เมื่อประชาชนคุ้นชินกับการใช้ดิจิทัลแล้ว จะเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ส่วนเรื่องที่จะใช้เครื่องมือตัวไหน แอปพลิเคชัน เช่น “เป๋าตังค์” ก็ถือว่า เป็นเพียงเครื่องมือ แต่สิ่งที่จะมีประสิทธิภาพ แล้วจำเป็นมากที่สุดคือ แพลตฟอร์มของรัฐ

ในช่วงท้าย ผู้สื่อข่าวยังถามถึงคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ในการตั้งบอร์ดแบงก์ชาติได้รายงานผลการคัดเลือกประธานฯ มาหรือยัง นายพิชัย ระบุเพียงว่า “ยังไม่ทราบ ทราบแค่จากนักข่าว”

ต่างชาติ แห่ลงทุน Data Center ปีนี้กว่า 1.7 แสนล้าน หนุนไทยสู่ศูนย์กลางนวัตกรรมดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน

(14 พ.ย. 67) ‘รองโฆษกรัฐบาล’ เผย ต่างชาติเชื่อมั่น ลงทุนในกิจการ Data Center ในประเทศไทยต่อเนื่อง ล่าสุด BOI ไฟเขียว 2 โครงการใหญ่ มูลค่ากว่า 60,000 ล้านบาท รวมทั้งปี 47 โครงการ มูลค่าการลงทุนกว่า 1.73 แสนล้านบาท

เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 67 เวลา 9.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังเป็นเป้าหมายและยุทธศาสตร์สำคัญด้านการลงทุน Data Center และ Cloud Service อย่างต่อเนื่อง ข้อมูลของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)  พบว่าในรอบปีที่ผ่านมา มีโครงการลงทุนยื่นขอรับการส่งเสริมฯ ในกิจการ Data Center และ Cloud Service รวม 47 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า 173,000 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนจากบริษัทรายใหญ่ทั้งสัญชาติอเมริกัน ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อินเดีย และไทย 

จากข้อมูลล่าสุด BOI อนุมัติส่งเสริมการลงทุนกิจการ Data Center 2 โครงการใหญ่ มูลค่ารวมกว่า 60,000 ล้านบาท ประกอบด้วย บริษัท ควอตซ์ คอมพิวติ้ง จำกัด ในเครือ Alphabet Inc. (สหรัฐอเมริกา) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Google มูลค่าลงทุน 32,760 ล้านบาท เป็นการลงทุนตามแผนธุรกิจที่ Google ได้ประกาศระหว่างการพบนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 ว่าจะสร้าง Data Center และ Cloud Region แห่งใหม่ ในประเทศไทย ด้วยมูลค่าเงินลงทุนเฟสแรก 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะเป็นศูนย์ Data Center แห่งที่ 5 ในเอเชียของ Google ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี มีแผนเปิดให้บริการในช่วงต้นปี 2570

และโครงการ Data Center ของบริษัท ดิจิทัลแลนด์ เซอร์วิสเซส ในเครือ GDS ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ Data Center ชั้นนำระดับโลก ที่ให้บริการทั้งในประเทศจีนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีมูลค่าลงทุน 28,000 ล้านบาท โดยโครงการใหม่ในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี มีแผนเปิดให้บริการในปี 2569

นางสาวศศิกานต์กล่าวว่า จากนโยบายเชิงรุกของรัฐบาล ที่ส่งเสริมด้าน Cloud First Policy ช่วยกระตุ้นให้ภาครัฐและองค์กรต่าง ๆ ใช้เทคโนโลยี Cloud ส่งผลให้ตลาด Data Center ในไทยขยายตัวมากขึ้น ตอกย้ำการพัฒนาก้าวสู่รัฐบาลดิจิทัล อีกทั้งจากผลประโยชน์จากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น เป็นการสร้างความเชื่อมั่นและเสริมความแข็งแกร่งด้านโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของประเทศไทย และเป็นการเปิดโอกาสให้กับอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพิ่มเม็ดเงินในหลายมิติ ทั้งภาคการผลิต การค้า และการท่องเที่ยว อีกทั้งยังช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น Digital Innovation Hub ของภูมิภาคอาเซียนด้วย

ปตท. ประกาศผล การประกวด Spark the Local 2024 by PTT ทีม นิสิตจุฬาฯ ‘Samui Sigma’ คว้าแชมป์จากไอศกรีมกะทิพรีเมียม แห่งเกาะสมุย

กว่า 5 เดือนกับการเฟ้นหาคนรุ่นใหม่ ที่มีใจรักในการพัฒนาสินค้าชุมชน ประเภทอาหารแปรรูป กับการประกวด Spark the Local 2024 by PTT ปั้นให้ปัง...จุดพลังให้สินค้าชุมชน ภายใต้ธีม 'ปรับปรุง แปลงโฉม ปั้นแบรนด์' มีผลงานส่งเข้าร่วมการประกวดกว่า 300 ผลงาน และได้มีการคัดเลือกอย่างเข้มข้นจนเหลือ 5 ทีมสุดท้าย ที่ได้มาจัดแสดงผลิตภัณฑ์และนำเสนอต่อหน้าคณะกรรมการในงานร้านเด็ดแฟร์ 6 ณ สยามสแควร์ เมื่อวันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2567  

ในการแข่งขันรอบ Final ได้รับเกียรติจากคณะกรรมการกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสินค้าชุมชน ได้แก่ คุณวรุตม์สุรางค์ ธรรมอารี ผู้จัดการฝ่ายกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อาจารย์ขาบ - สุทธิพงษ์ สุริยะ Food Stylist ผู้ออกแบบแนวคิด “นำ Local สู่ เลอค่า” คุณตั้ม -  นิพนธ์ พิลา เกษตรกรดีไซเนอร์ ผู้ก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนพิลาฟาร์มสตูดิโอ คุณมยุรา ปรารถนาเปลี่ยน ผู้จัดการแผนกออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ สถาบันอาหาร และ คุณซ้อบรีม - ศิริพร มัจฉิม ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดใน TikTok ที่มีผู้ติดตามกว่า 1.2 ล้าน  

ผลการประกวด ปรากฏว่า ทีม Samui Sigma นิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลชนะเลิศ รับเงินรางวัล 100,000 บาท โดยได้เลือกเอาผลิตภัณฑ์ไอศกรีมกะทิ จากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์มะพร้าวสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี มาปรับปรุงเป็นไอศกรีมกะทิพรีเมียมแบบถ้วย ภายใต้ชื่อแบรนด์ Creamui ที่สะท้อนเอกลักษณ์ของเกาะสมุย หรือ อัญมณีอ่าวไทย  

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 - ทีม KOS นักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังรับเงินรางวัล 70,000 บาท โดยได้เลือกพัฒนาผลิตภัณฑ์ คอมบูชาจากใบขลู่ จากวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ควนเนียงสวนลุงจิม จังหวัดสงขลา  

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 - ทีม NAGOYASH นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น รับเงินรางวัล 50,000 บาท โดยได้เลือกพัฒนาผลิตภัณฑ์ POP RICE ขนมข้าวพองอบกรอบ แบรนด์ นาโกย๊าช จากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวอินทรีย์เป็นสุขนาโก จังหวัดกาฬสินธุ์  

รางวัลชมเชย รับเงินรางวัลทีมละ 10,000 บาท  ได้แก่ ทีม สาธุ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ชาหน่อกะลาปรุงสำเร็จ แบรนด์ Koh Chá จากวิสาหกิจชุมชนชาวเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และ ทีม หมายจันทร์ นิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ กัมมี่มะปี๊ด แบรนด์ CHAMY จาก วิสาหกิจชุมชนสภากาแฟฅนจันทบูร จังหวัดจันทบุรี (แบรนด์ Rabbit Chan)  

ขอแสดงความยินดีกับทุกทีมอีกครั้ง ทั้งหมดนี้คือพลังของคนรุ่นใหม่ ที่จะช่วยขับเคลื่อนและเป็นพลังใหักับชุมชน โดย ปตท. พร้อมที่จะเป็นอีกแรงสนับสนุนเพื่อร่วมสร้างสังคมไทยที่แข็งแรงและยั่งยืนตลอดไป  

‘ประเสริฐ’ เดินหน้าปั้นแพลตฟอร์ม Learn to Earn เรียนรู้มีรายได้ เตรียมจัดประชุมรมต.ดิจิทัลอาเซียน - เร่งจัดทำกรอบความร่วมมือ AI ในภูมิภาค

เมื่อวันที่ (11 พ.ย. 67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ครั้งที่ 4 /2567 โดยมีศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวง ดีอี พร้อมด้วยนายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเลขานุการคณะกรรมการกองทุนฯ ตลอดจนคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมประชุม ณ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ 

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รองประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ กล่าวว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบอนุมัติโครงการสำคัญ อาทิ การพัฒนาแพลตฟอร์มภาครัฐเพื่อรองรับการพัฒนาทักษะดิจิทัลเรียนรู้มีรายได้ เรียนรู้ง่ายตลอดชีวิต ผ่านรูปแบบ Learn to Earn ซึ่งเป็นการออกแบบและพัฒนาระบบสารสนเทศ สามารถรองรับได้กว่า 20 ล้านผู้ใช้งาน พร้อมทั้งการจัดเก็บข้อมูลการฝึกอบรมในรูปแบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้  หรือธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) และโครงการจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล (ADGMIN) ครั้งที่ 5 ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ โดยการประชุมนี้จะจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือด้านดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียนตามแผนแม่บท ASEANDigital Masterplan 2025 (ADM 2025) การประชุมจะเป็นเวทีสำคัญในการกำหนดทิศทางพัฒนาการด้านดิจิทัลในภูมิภาคและมีผู้เข้าร่วมประมาณ300 คน  

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้อนุมัติเงินสำหรับโครงการพัฒนากรอบแนวทางการเปลี่ยนผ่านนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของอาเซียนเพื่อพัฒนากรอบทักษะความเข้าใจและใช้ปัญญาประดิษฐ์ในโครงการพัฒนาแห่งอนาคตภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งในอนาคต AI จะมีบทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การสร้างระบบนิเวศ AI ที่แข็งแกร่ง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในแข่งขันให้ทัดเทียมกับประเทศอื่น ๆ แต่ยังเป็นโอกาสกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิต และเตรียมความพร้อมให้กับทุกภาคส่วนเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีดิจิทัล

และที่ประชุมยังได้อนุมัติเงินสำหรับการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประจำหมู่บ้าน จำนวน 24,654 แห่งรวมทั้ง โครงการศึกษา รูปแบบธุรกิจของโครงข่ายอินเทอร์เน็ตสาธารณะเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมภายใต้หลักการโครงข่ายแบบเปิด (Open Access Network) ที่เหมาะสม และแนวทางการบริหารจัดการโครงข่ายการให้บริการอินเทอร์เน็ต (Free Wi-Fi) อีกด้วย

ขณะที่ นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า ที่ประชุมอนุญาต การขยายผลโครงการที่ได้การสนับสนุนจากกองทุนฯ โดยการให้ใช้ทรัพย์สินทางปัญญาของโครงการดังกล่าวที่มี  20 บริการเพื่อการบริการภาครัฐ เช่น ระบบการรับรองมาตรฐาน GAP ประมง การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการด้านประมง การจดทะเบียนผู้ส่งออกผักและผลไม้ไปต่างประเทศ การขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช เป็นต้น รวมถึงระบบ e-Service การบริหารจัดการสัตว์ป่าควบคุม และบริการปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไข การใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลต่อไป และ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง การบริหารจัดการสัญญา เพื่อความสะดวกคล่องตัวในการบริหารกองทุนฯ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

AION พาสื่อทดลองขับรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นล่าสุด ‘AION V’ ก่อนประกาศราคาขายอย่างทางการในงาน Motor Expo 2024

(13 พ.ย. 67) กรุงเทพฯ – AION ผู้นำด้านยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลก จัดกิจกรรม AION V My V, My Version พาสื่อมวลชนร่วมทดลองขับ AION V รถเอสยูวีไฟฟ้าอัจฉริยะรุ่นใหม่ล่าสุด ที่พร้อมตอบโจทย์ทุกการใช้งานของผู้บริโภคยุคใหม่ ก่อนการเปิดราคาขายอย่างเป็นทางการในงาน Motor Expo 2024 ที่บูท AION (A12) อิมแพค ชาเลนเจอร์ 1 - 3 เมืองทองธานี โดยกิจกรรมนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 - 8 พฤศจิกายน 2567 ณ Take a Breath Café & Eatery ถนนพุทธมณฑล สาย 1 ซึ่งในงานครั้งนี้ สื่อมวลชนที่เข้าร่วมได้สัมผัสประสบการณ์การขับขี่ AION V บนถนนจริง ทำให้ได้ทดสอบสมรรถนะ ความสะดวกสบาย และนวัตกรรมที่ล้ำสมัยของรถยนต์ไฟฟ้า AION V อย่างเต็มที่

กิจกรรม AION V My V, My version จัดขึ้นเพื่อให้สื่อมวลชนร่วมสัมผัสประสบการณ์การขับขี่รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ล่าสุด AION V เอสยูวีไฟฟ้าที่มาพร้อมเทคโนโลยีล้ำสมัยและการออกแบบที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ มุ่งเน้นให้ผู้เข้าร่วมได้สัมผัสกับสมรรถนะและความสะดวกสบายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของ AION V ที่ถูกออกแบบให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ มาพร้อมเทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติระดับ L2 และฟีเจอร์ความบันเทิงและฟังก์ชันอำนวยความสะดวกมากมาย ทำให้ผู้ขับขี่สามารถปรับแต่งการใช้งานให้เหมาะสมกับความต้องการส่วนตัวได้อย่างเต็มที่ ภายใต้แนวคิด My V, My version ที่เน้นให้ผู้ขับขี่สามารถเลือกสไตล์การใช้งานที่ตรงกับตัวเอง

AION V มาพร้อมแนวคิดการออกแบบ Cyber Design สะท้อนถึงความล้ำสมัยและความแข็งแกร่งในทุกมุมมอง โดดเด่นด้วยไฟหน้าและไฟท้ายที่ออกแบบมาอย่างลงตัว เส้นข้างตัวรถที่เฉียบคม พร้อมด้วยระยะทางวิ่งสูงสุด 602 กิโลเมตร ต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง AION V จึงเหมาะสำหรับผู้ใช้งานที่ต้องการเดินทางระยะไกล โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการชาร์จ ด้วยเทคโนโลยีแบตเตอรี่ Magazine Battery 2.0 แบบ lithium ion phosphate ขนาด 75.3 kW พร้อมเทคโนโลยีชาร์จเร็ว 3C ทำให้การชาร์จไฟเป็นเรื่องง่ายและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น สามารถชาร์จไฟได้ระยะทาง 300 กิโลเมตรภายในเวลาเพียง 15 นาที เทียบเท่ากับการแวะดื่มกาแฟ 1 แก้วเท่านั้น

ภายในห้องโดยสารของ AION V ได้รับการออกแบบให้หรูหราและทันสมัย มอบความสะดวกสบายให้กับผู้ขับขี่และผู้โดยสารอย่างเต็มที่ พร้อมด้วยเบาะนั่งขนาดใหญ่ที่รองรับสรีระของร่างกายอย่างดีเยี่ยม นอกจากนี้ยังมีเบาะนวดไฟฟ้า 8 จุดที่สามารถปรับโหมดการทำงานได้มากถึง 5 โหมด รองรับทุกความต้องการในการผ่อนคลายระหว่างการเดินทาง และยังมี ตู้เย็นอัจฉริยะ ขนาด 6.6 ลิตร ที่สามารถปรับอุณหภูมิได้ตั้งแต่ -15°C ถึง 50°C สามารถใส่เครื่องดื่มและสร้างความเย็นได้ในทุกการเดินทาง

AION V มาพร้อมกับ AEP 3.0 (AION Electric Platform 3.0) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ออกแบบเฉพาะสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เพิ่มพื้นที่ภายในห้องโดยสารได้มากขึ้นถึง 20% เมื่อเทียบกับรถยนต์ในระดับเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีความปลอดภัยที่ครบครัน เช่น ถุงลมนิรภัยกลางสำหรับผู้ขับขี่และผู้โดยสารด้านหน้า ที่ช่วยลดการบาดเจ็บจากการชน และม่านถุงลมนิรภัยด้านข้างขนาดยาวพิเศษ 2.3 เมตร ซึ่งสามารถพองตัวเต็มที่ได้ในเวลาเพียง 0.008 วินาที และสามารถคงแรงดันได้นาน 6 วินาที ให้การปกป้องรอบด้านในกรณีรถพลิกคว่ำ

นอกจากนี้ AION V ยังมาพร้อมกับระบบ ADiGO SPACE ห้องโดยสารอัจฉริยะที่สามารถสั่งการด้วยเสียงได้ถึง 4 โซน รองรับคำสั่งเสียงทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพิ่มความสะดวกสบายในการควบคุมและสั่งการระหว่างการขับขี่ โดยไม่ต้องละมือจากพวงมาลัย นอกจากนี้ยังรองรับแอปพลิเคชันหลากหลาย รวมถึง Apple CarPlay และ Spotify (OTA ในเดือนธันวาคม) เพื่อตอบสนองทุกความต้องการของผู้ใช้งาน พร้อมด้วยชิปประมวลผล Qualcomm SA8155P ที่ให้สมรรถนะการประมวลผลที่โดดเด่นในรถยนต์ระดับเดียวกัน รองรับระบบขับขี่อัจฉริยะระดับ L2 ที่ครอบคลุมฟังก์ชันต่าง ๆ เช่น ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผันพร้อมฟังก์ชัน Stop & Go (ACC with S&G) ระบบเตือนการชนด้านหน้า (FCW) ระบบเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ (AEB) และระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน (LKA) และระบบช่วยเหลือการขับขี่อื่น ๆ อีกมากมาย เพื่อมอบความปลอดภัยและความสะดวกสบายสูงสุดในการขับขี่

สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า AION V รถยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะรุ่นใหม่ล่าสุดจาก AION มีกำหนดการเปิดตัว พร้อมประกาศราคาอย่างเป็นทางการ ในงาน Motor Expo 2024 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 29 พฤศจิกายน - 10 ธันวาคม 2567 นี้

ILINK ทำรายได้ไตรมาส 3/67 กว่า 5,148 ล้านบาท มั่นใจรายได้ปีนี้มาตามนัดทะลุ 7 พันล้าน จากทั้ง 3 ธุรกิจหลัก

(13 พ.ย. 67) โตต่อเนื่อง ! ILINK เผยงบการเงินประจำไตรมาส 3/67 กวาดรายได้รวม 5,148.19 ล้านบาท ทำรายได้โต 21.54 ล้านบาท จากศักยภาพของการเดินหน้าธุรกิจ รุกตามแผนพัฒนาด้วยนวัตกรรมขับเคลื่อนการเติบโต เตรียมสร้างสถิติใหม่ สู่เป้ารายได้รวม 7,002 ล้านบาท พร้อมประกาศชัด การันตีรายได้ปีนี้มาตามนัด ทั้ง 3 ธุรกิจ ด้วยการดำเนินงานผ่านกลยุทธ์การขยายตลาด และการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ทันสมัย ร่วมกับให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ และการดำเนินธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาล มั่นใจอนาคตสดใส สามารถรักษาระดับอัตรากำไร ต่อยอดสู่การเติบโตได้อย่างยั่งยืน แบบมีคุณภาพ 

เมื่อวันที่ (12 พ.ย. 67) บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ILINK ได้ประกาศงบการเงินประจำไตรมาส 3/67 เผยถึงผลการดำเนินงานที่โดดเด่น โดยรายได้รวมของบริษัทมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องมากว่า 38 ปี ซึ่งอาศัยหลักอุดมการณ์ของผู้ก่อตั้งที่จะนำเทคโนโลยีมาพัฒนาประเทศไทย เป็นผลทำให้การขยายตัวของธุรกิจด้านโครงข่าย และการจำหน่ายอุปกรณ์สื่อสารที่แข็งแกร่งมากขึ้นในตลาด ภายใต้ความมุ่งมั่นในการพัฒนา และเสริมสร้างระบบโครงข่าย เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัลในประเทศไทย และในภูมิภาคเอเชีย 

สำหรับรายได้รวมของผลประกอบการในไตรมาส 3/67 นี้ การันตีทำรายได้ดี มีฟอร์มแจ่ม จากทั้ง 3 ธุรกิจในเครือที่เกี่ยวเนื่องกัน อันได้แก่ ธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ (Cabling Import & Distribution Business) ธุรกิจวิศวกรรมโครงการ (Turnkey Engineering Business) และธุรกิจโทรคมนาคม และดาต้าเซ็นเตอร์ (Telecom Business & Data Center) ทำรายได้รวม 5,148.19 ล้านบาท มีรายได้เพิ่มขึ้น 21.54 ล้านบาท ในขณะที่กำไรสุทธิรวม อยู่ที่ 549.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 27.72 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 5.31% ส่งซิกผลงานทั้ง 3 ธุรกิจ ในไตรมาสนี้เติบโตขึ้นอย่างโดดเด่น เนื่องจากการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการจัดจำหน่ายอุปกรณ์โครงข่ายที่ครบวงจร ตั้งแต่โครงข่ายพื้นฐานจนถึงอุปกรณ์ขั้นสูง ซึ่งการขยายตัวในธุรกิจเครือข่ายไอที และการสื่อสารมีบทบาทสำคัญที่ทำให้รายได้ของบริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้ง ยังมีการวางแผนขยายตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งขององค์กร นอกจากนี้ ยังมีงานทางด้านวิศวกรรมที่กำลังรอส่งมอบอีกเป็นจำนวนมาก ที่จะส่งผลทำให้มีรายได้ในไตรมาสสุดท้ายก้าวหน้าต่อเนื่อง พร้อมกับมุ่งหวังว่า ผลประกอบการจากการดำเนินธุรกิจในไตรมาสถัดไป มั่นใจสามารถรักษาระดับมาตรฐานการเติบโตได้ตามที่คาดการณ์

สำหรับผลประกอบการของ ธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ (Cabling Import & Distribution Business) ในไตรมาส 3/67 มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และยังคงเป็นธุรกิจหลักที่ทำรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการขาย ทำรายได้รวม 2,451.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 216.19 ล้านบาท คิดเป็น 9.67% และทำกำไรสำหรับงวดรวม 264.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.39 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 4.91% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมี รายได้รวมสำหรับไตรมาส 3/67 อยู่ที่ 950.56 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำรายได้เพิ่มสำหรับงวดนี้ 80.11 ล้านบาท จากการมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์สายสัญญาณให้มีคุณภาพสูง และได้มาตรฐานสากล ไม่ว่าจะเป็นสายสัญญาณใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) สายสัญญาณระบบแลน (LAN) สายสัญญาณกล้องวงจรปิด (CCTV) รวมถึงสายสัญญาณเฉพาะทางที่ออกแบบให้ตอบโจทย์จากการขยายตัวของความต้องการในโครงข่ายพื้นฐานการสื่อสาร ซึ่งรวมไปถึง Hyperscale Data Center อีกด้วย ที่สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดในยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบริษัทฯ ยังได้ขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์ และพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อมารองรับการเติบโตของเทคโนโลยี และการสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ สามารถเจาะตลาดกลุ่มลูกค้ารายใหม่ และตอบสนองลูกค้าปัจจุบันได้อย่างดี นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเครือข่าย การจัดจำหน่ายสินค้าที่มีประสิทธิภาพ และการให้บริการหลังการขาย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ครอบคลุมทุกรอบด้าน

ด้านผลการดำเนินงาน และรายได้รวมของ ธุรกิจวิศวกรรมโครงการ (Turnkey Engineering Business) ทยอยรับรู้รายได้ผลประกอบการรวมประจำไตรมาส 3/67 อยู่ที่ 703.50 ล้านบาท ทำกำไรรวม 82.28 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.63 ล้านบาท หรือ 16.47% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการทยอยรับรู้รายได้ ตามผลงานและอยู่ในระยะเวลาของ การเร่งรัดการชำระเงินตามผลงานที่แล้วเสร็จ ทั้งนี้ยังได้ติดตามโครงการต่าง ๆ อาทิ งาน Transmission line จังหวัดประจวบคีรีขันธ์/งานสายไฟฟ้าใต้ดิน จังหวัดพิจิตร และงาน Submarine ที่คาดว่าจะเปิดประกวดราคา และประกาศผลภายในปี 2567 นี้ต่อไป

‘เอกนัฏ’ สั่งปรับปรุง มอก. 2333 ย้ำ รถแก๊สต้องปลอดภัยกว่าเดิม เพิ่มวาล์วตัดแก๊สอัตโนมัติรถ NGV คาดเริ่มประกาศใช้ใน ก.พ. 68

(13 พ.ย. 67) นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี) ได้มีการยื่นหนังสือขอให้ทางกระทรวงอุตสาหกรรม ทบทวนมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก.2333 เล่ม 1 และ 2-2550 (ระบบการใช้ก๊าซธรรมชาติอัดเป็นเชื้อเพลิงในยานยนต์ เล่ม 1 ข้อกำหนดด้านความปลอดภัย เล่ม 2 วิธีทดสอบ) เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมานั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์) จึงได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งดำเนินการปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก.2333 ให้ทันต่อสถานการณ์และเพื่อความปลอดภัยและประโยชน์สุขของประชาชนที่โดยสารรถที่ใช้ CNG (COMPRESSED NATURAL GAS) เป็นเชื้อเพลิง หรือเรียกกันว่ารถ NGV (NATURAL GAS VEHICLE)

ทาง สมอ. ได้ยกเลิกและปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก.2333 เพื่อให้ กรมการขนส่งทางบก นำไปอ้างอิง บังคับใช้ตามกฎหมาย โดยอ้างอิง ISO 15501 ฉบับล่าสุด ซึ่งกำหนดให้รถติดตั้งระบบ CNG ต้องมีวาล์วเปิด-ปิดอัตโนมัติที่หัวถัง ทุกถังเท่านั้น โดยเตรียมนำเสนอคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) หรือ บอร์ด สมอ. เพื่อพิจารณาในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 เมื่อมีมติเห็นชอบคาดว่าจะสามารถประกาศใช้งานมาตรฐานดังกล่าวได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2568

“การแก้ไขมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เป็นการกำหนดแนวทางให้ผู้ผลิตต้องผลิตสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ปลอดภัย เพื่อประโยชน์ของประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญ และนับเป็นอีกก้าวในการสร้างอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของประชาชน ตามนโยบาย "การปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส“ เลขาฯ พงศ์พล กล่าวทิ้งท้าย

‘เอกนัฏ’ หารือ อีซูซุ ให้ความเชื่อมั่นอุตฯ ยานยนต์ไทย พร้อมผลักดันการเติบโตทั้งในประเทศและส่งออก

เมื่อวานนี้ (11 พ.ย.67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้หารือกับบริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลล์ จำกัด โดยมีนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม นายกฤศ จันทร์สุวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นายเริงฤทธิ์ กุศลกรรมบถ รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายดุสิต อนันตรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นายทินวัฒน์ แก้วสวี ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน เข้าร่วม ณ ห้องประชุม อก. 1 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

ด้านบริษัทฯ ได้นำเสนอภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ สถานการณ์การตลาด ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ทั้งนี้บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลล์ จำกัด ได้ตั้งฐานการผลิตในไทยมาอย่างยาวนานถึง 67 ปี และปัจจุบันบริษัทฯ มีฐานการผลิตในไทยมากถึง 90%

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้หารือกับสถาบันยานยนต์ และบริษัทฯ ด้านยานยนต์จากหลากหลายบริษัทชั้นนำ ซึ่งได้เห็นปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่มีความสอดคล้องตรงกันทั้งในเรื่องการใช้มาตรฐานมลพิษ Euro 6 สิทธิประโยชน์ทางภาษี การ Disruption ในอุตสาหกรรมยานยนต์จากรถสันดาปสู่ EV ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้เตรียมหารือกับบริษัทฯ ชั้นนำด้านยานยนต์ ณ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อหารือและพิจารณาแนวทางช่วยเหลือและสนับสนุนตลาดยานยนต์ไทยให้สามารถเติบโตได้ทั้งในประเทศและส่งออกต่างประเทศต่อไป

‘รองนายกฯ พีระพันธุ์’ เล็งยกร่างกฎหมายปาล์มน้ำมัน ช่วยเกษตรกร หลังหยุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ ปี 69 หวังสร้างความเป็นธรรมทุกฝ่าย

เหลือเวลาอีกหนึ่งปีนิด ๆ โดยปี 2569 จะเป็นปีสุดท้ายที่กองทุนน้ำมันฯ จะชดเชยราคา เชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งได้แก่ ไบโอดีเซล และเอทานอล แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ประเทศไทยจะยกเลิกการผสมเชื้อเพลิงชีวภาพในน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะเมื่อถึงตอนนั้นแล้ว ราคาขายปลีกน้ำมันน่าจะยิ่งสูงขึ้น แต่เนื่องจากในปัจจุบันราคาเชื้อเพลิงชีวภาพอยู่ในระดับสูงกว่าน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเท่าตัว ทำให้เมื่อผสมแล้วแทนที่จะทำให้น้ำมันเชื้อเพลิงถูกลงแต่กลับกลายเป็นยิ่งทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแพงขึ้น ซึ่งทำให้ผิดไปจากเดิมวัตถุประสงค์ในการนำเชื้อเพลิงชีวภาพมาผสมในน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลง

ปัจจุบันไทยมีน้ำมันเชื้อเพลิงผสมน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ 2 ชนิดได้แก่ (1) ไบโอดีเซล (Biodiesel) หรือ Fatty acid methyl ester (FAME) คือ น้ำมันที่ผลิตมาจากพืช ซึ่งถือเป็น 'เชื้อเพลิงทางเลือก' ที่ผลิตได้จากชีวภาพ เช่น ปาล์ม ทานตะวัน ถั่วเหลือง สบู่ดำ มะพร้าว หรือ ผลิตมากจากไขมันสัตว์หรือน้ำมันที่ผ่านการใช้งานแล้วซึ่งเป็นสารจำพวกไตรกลีเซอไรด์ ก็สามารถนำมาผลิตไบโอดีเซลได้โดยนำมาผ่านกระบวนการทางเคมี โดยไทยใช้น้ำมันปาล์มเป็นน้ำมันชีวภาพหลักสำหรับไบโอดีเซล และ (2) แก๊สโซฮอล คือ การเอาน้ำมันเบนซินพื้นฐาน มาผสมกับแอลกอฮอล ซึ่งจะกลายเป็นน้ำมันสูตรใหม่ที่เรียกว่า 'น้ำมันแก๊สโซฮอล'

- น้ำมันแก๊สโซฮอล 91 ได้จากการนำน้ำมันเบนซินพื้นฐานชนิดที่ 1 ผสมกับ เอทานอล หรือเอทิลแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 99.5% ในอัตราส่วน 10 % 
- น้ำมันแก๊สโซฮอล 95 ส่วนผสมเช่นเดียวกับน้ำมันแก๊สโซฮอล 91 แต่ผสมจากการนำน้ำมันเบนซินพื้นฐานชนิดที่ 2 
- น้ำมันแก๊สโซฮอล Gasohol (E20) ส่วนผสมเช่นเดียวกับน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 แต่ผสมในอัตราส่วน 20% 
- น้ำมันแก๊สโซฮอล Gasohol E85 น้ำมันแก๊สโซฮอลที่ผสมเอทานอลบริสุทธิ์สูงถึง 85% กับน้ำมันเบนซิน 15% เป็นเชื้อเพลิงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Environmentally Friendly Fuel) เนื่องจากมลพิษที่ปล่อยจากไอเสียน้อยมากเมื่อเทียบกับเบนซิน

แต่จุดประสงค์ของการนำไบโอดีเซลมาผสมในดีเซล เอทานอลผสมในเบนซิน ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้ทำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร แต่ต้องการนำมาผสมเพื่อได้ปริมาณน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็นการช่วยลดต้นทุนราคาน้ำมัน ลดรายจ่ายจากการนำเข้าน้ำมันให้ประเทศ เนื่องจากกระบวนการอุดหนุนเกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานจนทำให้กลายเป็นความเข้าใจทั่วไปว่า กระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร แต่ความจริงแล้วความช่วยเหลือต่อเกษตรกรเป็นเพียงผลพลอยได้ ทั้งนี้ต้องเข้าใจด้วยว่า อันที่จริงแล้วภารกิจของกระทรวงพลังงานไม่ได้มีบทบาทหลักในการช่วยเหลือเกษตรกรเลย แต่ต้องรับผิดชอบดูแลสืบเนื่องมาจากนโยบายเชื้อเพลิงชีวภาพได้ถูกดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานมาแล้ว ทั้งยังไม่มีหน่วยงานอื่นใดร่วมช่วยคิดเพื่อแก้ปัญหา กระทรวงพลังงานจึงต้องรับหน้าที่ดังกล่าวเพื่อช่วยหาทางออกให้กับเกษตรกรไปก่อน แล้วหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภารกิจหลักของทั้ง 2 กระทรวงนี้ต่อไป

โดย 7 พฤศจิกายน 2567 รองพีร์ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เพื่อพิจารณาแนวทางการกำหนดสัดส่วนของน้ำมันไบโอดีเซล B100 ในช่วงที่ราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO : Crude Palm Oil) สูงขึ้นมาก ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันราคา CPO ที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาไบโอดีเซลอยู่ที่ประมาณ 48 บาทต่อลิตร หรือราว 2 เท่าของราคาเนื้อน้ำมัน ทำให้ต้นทุนน้ำมันดีเซลสูงขึ้นตามไปด้วย และจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลที่ขายให้พี่น้องประชาชนมีราคาสูงขึ้นด้วย ดังนั้น เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน และเพื่อให้การจัดการราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ประชุม กบง. จึงมีมติเห็นชอบการกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลเป็นดังนี้ 
- น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ไม่ต่ำกว่า 5% และไม่สูงกว่า 7% โดยปริมาตร (ส่วนผสมไบโอดีเซลลงถูกปรับจาก B7 เป็น B5)
- น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 ไม่ต่ำกว่า 19% และไม่สูงกว่า 20% โดยปริมาตร
ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อเครื่องยนต์แต่อย่างใดโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2567เป็นต้นไป

ทั้งนี้ รองพีร์มีแนวคิดที่จะนำรูปแบบการแก้ปัญหาเรื่องอ้อยกับน้ำตาล ตามพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาปรับใช้เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาเรื่องอ้อยและน้ำตาลซึ่งหากปล่อยไว้โดยเฉพาะปาล์มน้ำมันจะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก จึงได้มีการเตรียมพร้อมเพื่อยกร่างกฎหมายที่คล้ายกันกับพ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลฯ ให้เป็นกฎหมายสำหรับปาล์มน้ำมันต่อไป โดยที่อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มอยู่ในความรับผิดชอบกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรองพีร์ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีด้วย จะมีการทำงานร่วมกันระหว่างสองกระทรวงเพื่อรองรับเมื่อเชื้อเพลิงชีวภาพต้องถูกยกเลิกการชดเชยจากกองทุนน้ำมัน ฯ ในปี 2569 

โดยกฎหมายอ้อยและน้ำตาลภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรมจะมีส่วนช่วยทำให้การผลิตและจำหน่ายอ้อยและน้ำตาลทรายสอดคล้องกันกับชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทรายในการร่วมมือกับทางการ ตั้งแต่ผลิตอ้อยไปจนถึงการจัดสรรเงินรายได้จากการขายน้ำตาลทรายทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งทุกวันนี้กลายเป็นระบบที่ดีเกษตรกรพอใจที่ได้ผลประโยชน์เพิ่มมากขึ้นนอกจากนี้แล้ว รองพีร์ยังได้มองถึงการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) หรือ SAF เพื่อเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพในอนาคต หากมีความต้องการสูงขึ้นจะสามารถดูดซับวัตถุดิบอย่างปาล์มน้ำมันไปใช้เพิ่มได้ แต่ต้องมีการวางแนวทางพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อให้รากฐานเข้มแข็ง เป็นการสร้างความมั่นใจในการลงทุนของผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศต่อไป

'รัฐมนตรีเฉลิมชัย' เดินหน้าป่าชุมชนยั่งยืนลดโลกร้อนมอบ 'อลงกรณ์-ปรพล' ถอดรหัส สระบุรี แซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำสร้างโมเดลป่าชุมชน-ป่าคาร์บอนต้นแบบก่อนขยายผลทั่วประเทศ

นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ. ประธานมูลนิธิเวิลด์วิว ไครเมทและรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม กล่าวในงานสัมมนาเวิร์คช็อป พลเมืองเคลื่อนรัฐครั้งที่ 3 หัวข้อ 'ป่าชุมชนสระบุรีเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน' ว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีนโยบายให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ การฟื้นฟู การใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืนเพื่อชุมชนและนโยบายลดโลกร้อนโดยเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อบรรลุเป้าหมายสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี2050และคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี2565ถือเป็นนโยบายเรือธงเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน

การประชุมผนึกความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐ ภาควิชาการ ผู้นำท้องถิ่นและภาคประชาชนในจังหวัดสระบุรี ซึ่งมีเจตนารมย์ร่วมกันให้จังหวัดสระบุรีเป็นต้นแบบ 'เมืองคาร์บอนต่ำ' หรือ 'SARABURI LOW CARBON CITY' โดยเน้นใน 5 ภาคส่วน คือ ภาคอุตสาหกรรม ภาคพลังงาน ภาคการกำจัดขยะของเสีย ภาคเกษตรกรรม และภาคการเพิ่มพื้นที่สีเขียวถือเป็นตัวอย่างต้นแบบการบูรณาการทุกภาคส่วนที่น่าชื่นชมโดยเฉพาะการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาป่าชุมชนเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน (Forests for the Sustainable Future)จำนวน 45 แห่งในจังหวัดสระบุรี 

ภายใต้เครือข่ายคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนแห่งละ 15 คน รวมทั้งสิ้นประมาณ 675 คนและขยายความร่วมมือกับอาสาสมัครของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเช่นเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) อีกราว 2,000 คน เครือข่ายที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติ และที่ปรึกษาเขตห้ามล่าสัตว์ป่า จำนวน 100 คนจะเป็นการขับเคลื่อนที่มีพลังสู่ความสำเร็จด้วยการบูรณาการของภาคีภาคส่วนต่างๆรวมทั้งหน่วยงานสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในจังหวัดสระบุรี ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสระบุรี สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 5 สระบุรี  สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สระบุรี  สำนักสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 7  สำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 2 สระบุรี  สำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 3 สระบุรี 

ป่าชุมชนนอกจากมีอรรถประโยชน์ใช้สอยเพื่อชุมชนแล้วยังมีความหลากหลายทางชีวภาพ(Biodiversity)เพื่อเดินหน้าสู่ไบโอเครดิต(Bio Credit)ทั้งยังเป็นแหล่งอาหารของชุมชน(Community Food Bank)และสามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง รวมทั้งสามารถดำเนินการเรื่องคาร์บอนเครดิตเพื่อเศรษฐกิจสีเขียวอีกด้วย

”จากผลการประชุมในวันนี้จะถอดรหัส สระบุรี แซนด์  บ็อกซ์(Saraburi Sandbox) เมืองคาร์บอนต่ำเพื่อสร้างโมเดลป่าชุมชน-ป่าคาร์บอนต้นแบบโดยจะนำเสนอต่อดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทส. พิจารณาขยายผลไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศต่อไป” นายอลงกรณ์กล่าวในที่สุด

ในการสัมมนาเวิร์คช็อปครั้งนี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้วยมอบหมายนายอลงกรณ์ พลบุตร คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายปรพล อดิเรกสาร ที่ปรึกษาสมาคมการท่องเที่ยวสระบุรีเเละหน่วยงานสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในสระบุรีเข้าประชุมงานสัมมนาเวิร์คช็อป 'พลเมืองเคลื่อนรัฐครั้งที่ 3' หัวข้อ 'ป่าชุมชนสระบุรีเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน' 

จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(กพร.)และมูลนิธิคอนราด อเดนาวร์เมื่อวันที่11 พ.ย.ที่ผ่านมาที่ลีลาวดีรีสอร์ต อ.เมือง จ.สระบุรีร่วมกับนายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ กพร. ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ นายบุญมี สรรพคุณ หนึ่งในผู้ริเริ่มสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ นายเสกสรร กวยะปาณิก รักษาการผู้อำนวยการสำนักจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้และภาคีภาคส่วนต่างๆเช่นจังหวัดสระบุรี สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ. )องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก กองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ(สพภ.BEDOThailand) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(อพท.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โรงงานและบริษัทต่างๆในพื้นที่เช่น เอสซีจี. เคมีแมน สยามฟูรูกาว่า ซีพีเมจิ ทีพีไอโพลีน เบทาโก เป็นต้นและเครือข่ายป่าชุมชนเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนสระบุรีให้เป็นเมืองคาร์บอนต่ำ ( SARABURI LOW CARBON CITY )ภายใต้แนวทางOpen Gov. for SRI สระบุรี เเซนด์บ็อกซ์ (Saraburi Sandbox)ด้วยโครงการ 'ป่าชุมชนสระบุรีเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน'

ข้อมูลประกอบ:
ประเทศไทยมีการจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่กรมป่าไม้ 12,231 แห่ง เนื้อที่ 6,308,712 ไร่ นอกจากนั้น ยังมีป่าชุมชนในพื้นที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ชุมชนที่ดูแลรักษาป่าชุมชนจะถูกโน้มน้าวให้เข้าร่วมโครงการ โดยมีเงินทุนสนับสนุน และมีการแบ่งปันผลประโยชน์จากการค้าคาร์บอนเครดิตจำนวนหนึ่ง

ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2566 พบว่า ป่าชุมชน 211 แห่ง ในพื้นที่ 18 จังหวัด กำลังกลายเป็นป่าคาร์บอน โดยเป็นป่าชุมชน (ป่าบก) 129 แห่ง ป่าชุมชนชายเลน 82 แห่ง รวมปริมาณการดูดกลับก๊าซคาร์บอน ประมาณ 1,904,463 ตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ข้อมูลในปี 2564 ป่าธรรมชาติและป่าเศรษฐกิจในประเทศไทยมีการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกรวมกัน 100 ล้านตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ดังนั้น ยังเหลือตามเป้าหมายอีก 20 ล้านตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภท ร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศ รวมเนื้อที่ 177.94 ล้านไร่ ภายใน พ.ศ. 2580 เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอน และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ในขณะที่ปัจจุบันมีพื้นที่สีเขียว ร้อยละ 39.60 รวมเนื้อที่ 128.12 ล้านไร่ ดังนั้น ต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียว ประมาณ 49.82 ล้านไร่

OR ปฏิรูปสู่องค์กรดิจิทัล สร้าง Business Intelligence ทุกมิติ ยกระดับธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก

(12 พ.ย.67) OR เปิดตัวแผนปฏิรูปดิจิทัล หรือ Digital Transformation Journey ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัล มุ่งยกระดับธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกสู่อนาคต พร้อมสร้างโอกาสใหม่และเสริมความแข็งแกร่งให้กับพอร์ตโฟลิโอธุรกิจ และการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนในทุกมิติ

นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เปิดเผยว่า OR ในฐานะผู้นำธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกชั้นนำของประเทศประกาศความพร้อมเพื่อก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านองค์กรครั้งสำคัญ ผ่านเส้นทางการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล หรือ 'Digital Transformation Journey' ที่จะครอบคลุมในทุกมิติของการดำเนินธุรกิจ โดยมีเป้าหมายที่การเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรและการส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 

โดยมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารต้นทุนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทั้งกลุ่มธุรกิจ Mobility และ Lifestyle เพื่อส่งเสริมการตัดสินใจได้อย่างแม่นยำ ตลอดจนเพิ่มโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ 

สร้างประสบการณ์ที่ดีสำหรับผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การบริหารสินค้าคงคลังแบบเรียลไทม์ (Real Time) การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง (Advanced Data Analytics) เพื่อการตัดสินใจ ไปจนถึงการพัฒนาบริการใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค 

นายภากร สุริยาภิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านธุรกิจดิจิทัลและโซลูชัน OR เปิดเผยว่า การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ครั้งนี้จะเป็นมากกว่าการนำเทคโนโลยีมาใช้ โดยเป็นการปรับวัฒนธรรมองค์กรให้พร้อมรับมือกับอนาคต ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยธุรกิจต่าง ๆ และเพิ่มความสามารถในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาด 

ทั้งยังเสริมสร้างพอร์ตโฟลิโอธุรกิจด้วยนวัตกรรมดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการกระจายสินค้าและการสร้างประสบการณ์เชิงดิจิทัลให้แก่ลูกค้า รวมถึงการเปิดโอกาสธุรกิจใหม่ ๆ ผ่านการร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับผู้พัฒนานวัตกรรม เช่น ธุรกิจ Virtual Bank และธุรกิจกาแฟ เป็นต้น

OR ยังมุ่งมั่นในการพัฒนาบุคลากร และปลูกฝังวัฒนธรรมดิจิทัลให้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร หรือ OR DNA ตลอดจนสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม เพื่อให้การปฏิรูประบบดิจิทัลในครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมน้ำมันและธุรกิจค้าปลีกของไทย และช่วยสร้างอนาคตที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top