Thursday, 2 May 2024
ECONBIZ

'รัดเกล้า' เผย!! สาระสำคัญการประชุม รมต.เศรษฐกิจอาเซียน 9 มี.ค.นี้ มุ่ง 'ยกระดับ-เชื่อมโยง' เศรษฐกิจภาคบริการในภูมิภาคอาเซียน

(3 มี.ค.67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างเอกสารกรอบการอำนวยความสะดวกด้านบริการของอาเซียน (ASEAN Services Facilitation Framework: ASFF) โดยมีกำหนดการร่วมรับรองเอกสารในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ในวันที่ 9 มี.ค.นี้ ซึ่ง สปป.ลาว ในฐานะประธานอาเซียน ปี 67 กำหนดจัดการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 30 โดยในระหว่างการประชุมจะมีการรับรองร่างเอกสาร ASFF จำนวน 1 ฉบับ ซึ่งประกอบด้วยประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าบริการต่างๆ ที่นำมาจากความตกลงการค้าบริการอาเซียน ความตกลงอาเซียนว่าด้วยการเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา และข้อริเริ่มร่วมว่าด้วยกฎระเบียบภายในประเทศภาคบริการขององค์การการค้าโลก ซึ่งไทยเป็นภาคีสมาชิกแล้ว 

รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า สำหรับสาระสำคัญของร่างเอกสาร ASFF มี 5 ด้านดังนี้...

1.การสร้างความเป็นธรรม และการเปิดโอกาสให้เศรษฐกิจการค้าบริการของอาเซียน 
2.การสนับสนุนการเคลื่อนย้ายและการเชื่อมโยงเศรษฐกิจภาคบริการในภูมิภาคอาเซียน 
3.การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลด้านการค้าบริการของอาเซียน 
4.การสร้างเศรษฐกิจบริการของอาเซียนที่ยั่งยืนและมีนวัตกรรม 
และ 5.การเป็นหุ้นส่วนกับภาคธุรกิจเพื่อกำหนดอนาคตของเศรษฐกิจบริการของอาเซียนร่วมกัน

“ASFF จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงเศรษฐกิจภาคบริการในภูมิภาคอาเซียน และการปรับปรุงนโยบายด้านการค้าบริการ และการกำกับดูแลเพื่อสร้างสภาพแวดล้อม ที่เอื้ออำนวยต่อการค้าบริการ รวมถึงช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้าเมืองของผู้ให้บริการ และเป็นแนวทางกำกับดูแลการใช้กฎระเบียบภายในประเทศ มีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และคาดการณ์ได้” รองโฆษกรัฐบาล กล่าว

ผอ.ศูนย์วิจัยทอง ชี้ ทองขาขึ้นเต็มตัว ทุบสถิตินิวไฮไม่มีหยุด ลุ้นแตะ 38,000 บาท

(2 มี.ค. 67) นายพิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 600 บาท ภายใน 2 วันทำการ โดยล่าสุดทองคำแท่งราคารับซื้ออยู่ที่ 35,100.00 บาทต่อบาททองคำ ขายออก 35,200.00 บาทต่อบาททองคำ ทองรูปพรรณราคารับซื้ออยู่ที่ 34,473.84 บาทต่อบาททองคำ ขายออก 35,700.00 บาทต่อบาททองคำ ทำให้ราคาที่ปรับขึ้นมาอย่างร้อนแรงขณะนี้ ถือว่าทองคำกลับมาเป็นขาขึ้นแล้ว ซึ่งความจริงวกกลับมาเป็นขึ้นตั้งแต่ช่วงราคาแตะ 34,400 บาทต่อบาททองคำแล้ว ขณะนี้ถือเป็นการทำจุดสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง หรือออลไทม์ไฮ โดยเป้าหมายราคาในระยะยาวช่วง 1-2 ปีนี้ ที่ระดับราคา 38,000 บาทต่อบาททองคำ ถือว่ามีความเป็นไปได้ ส่วนในช่วงสั้นๆ นี้ คาดว่าราคาจะปรับขึ้นไปที่ 36,000 บาทต่อบาททองคำได้

“ทองคำกลับหัวเป็นขาขึ้นอย่างเต็มตัวแล้ว ทำลายสถิติสูงสุดที่เคยขี้นไปอย่างต่อเนื่อง โดยได้อานิสงส์จากการรายงานตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ ที่ออกมาน้อยกว่าคาดไว้ ประมาณ 2% กว่า ซึ่งถือเป็นระดับที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องการควบคุมให้อยู่ระดับประมาณนี้อยู่แล้ว จึงเป็นความหวังให้เฟดถึงเวลาปรับลดดอกเบี้ยลงแล้ว บวกกับเงินบาทอ่อนค่าลงเรื่อยๆ ถึงแม้ช่วงวันที่ผ่านมาจะแข็งค่าขึ้นบ้าง เพราะมีเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) เข้ามา แต่ก็ยังอ่อนค่าอยู่ ถือเป็นแรงสนับสนุนราคาทองคำได้อย่างต่อเนื่อง” นายพิบูลย์ฤทธิ์ กล่าว

นายพิบูลย์ฤทธิ์ กล่าวว่า ราคาทองคำสปอต อยู่ประมาณ 2,080 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ คาดว่าจะวิ่งขึ้นไปที่เดิมระดับ 2,140 เหรียญสหรัฐต่อบาททองคำ ซึ่งหากปรับขึ้นไปแล้ว จะมีแรงซื้อเข้ามาจากกลุ่มซื้อเทคนิคเข้ามาร่วมด้วย ทำให้ราคาทองคำจะยิ่งถูกดันสูงขึ้นไปอีก ไม่แตกต่างจากทองคำไทย ที่นักลงทุนมีความเก่งมาก สะท้อนจากตอนนี้ที่แม้มีการปรับขึ้นกว่า 600 บาทต่อบาททองคำแล้ว แต่ก็ยังไม่เห็นแรงขายออกมากนัก โดยในช่วงต่อจากนี้ ยังไม่เห็นสัญญาณลบของราคาทองคำเข้ามาด้วย เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนอยู่หลายเรื่อง โดยเฉพาะความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ สงครามต่างๆ ภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ทองคำจึงถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่มีความต้องการสูง เป็นหลุมหลบภัยชั้นดี และหากเฟดประกาศลดดอกเบี้ยลงแล้ว จะถือว่าของแสลงของทองคำหมดลง ปัจจัยลบที่มีผลกระทบหนักสุดจะหายไป เป็นผลบวกต่อราคาทองคำในระยะถัดไปด้วย

‘ฉางอาน ออโต้’ ตั้งเป้า ส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้า 3,000 คัน ในไทย พร้อมเตรียมเปิดศูนย์บริการ ให้กระจายไปทั่วประเทศ

(2 มี.ค. 67) นายเซิน ซิงหัว ตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย จำกัด และประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซลส์ (ประเทศไทย) เปิดเผยแผนการส่งมอบรถ Deepal S07 และ Deepal L07 ว่า

“เพื่อให้สอดรับกับกระแสความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น CHANGAN ประสบความสำเร็จในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าประเทศไทย ด้วยการส่งมอบรถ Deepal S07 และรุ่น Deepal L07 ไปแล้วกว่า 3,000 คัน ความสำเร็จครั้งสำคัญนี้ตอกย้ำถึงความแข็งแกร่งของแบรนด์ และความมุ่งมั่นในการขยายศูนย์บริการที่ให้ความสำคัญกับลูกค้า เมื่อมองย้อนกลับไปในช่วงงาน Motor Expo 2023 ที่ผ่านมา CHANGAN มียอดจองมากกว่า 3,000 คัน ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่แสดงถึงความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในประเทศไทย การส่งมอบรถได้เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 จนถึงปัจจุบัน CHANGAN ยังตั้งเป้าขยายศูนย์บริการให้ครอบคลุม เริ่มจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล ก่อนกระจายไปทั่วประเทศเพื่อเพิ่มการให้บริการอย่างครบวงจร และตั้งเป้าสร้างโชว์รูมทั่วประเทศภายในสิ้นปีนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจในการเข้าถึงบริการ และอำนวยความสะดวกสบายให้กับลูกค้าในทุกพื้นที่”

นอกจากนี้ เซิน ซิงหัว ยังได้กล่าวถึงลูกค้าในประเทศไทยที่มอบความไว้วางใจให้กับทางแบรนด์ด้วยว่า “ต้องขอบคุณลูกค้าทุกท่านที่มอบความมั่นใจ และสนับสนุนด้วยดีเสมอมา ซึ่งความไว้วางใจ และความมั่นใจในแบรนด์นี้ คือสิ่งที่ขับเคลื่อน CHANGAN ให้ก้าวไปข้างหน้า สู่ความสำเร็จในการพัฒนาตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยให้มีศักยภาพต่อไป ในนาม CHANGAN Thailand มีการคัดสรรทีมงานผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เพื่อช่วยกันพัฒนาให้รถแต่ละรุ่นที่ออกจากโรงงานนั้นเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่พร้อมเปิดประสบการณ์ด้านเทคโนโลยี พร้อมสมรรถนะ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคด้านการใช้งานในปัจจุบันอย่างแท้จริง” นายเซิน ซิงหัว กล่าว

'พีระพันธุ์' ให้คำมั่น!! ยืนหยัดแก้ปัญหาพลังงาน เพื่อ 'ชาติ-ประชาชน' ตามรอย 'พลโทณรงค์' ในงานสมาคมนักเรียนเก่าฟิลิปปินส์ในพระบรมราชูปถัมภ์

(2 มี.ค.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ได้รับเชิญจากสมาคมนักเรียนเก่าฟิลิปปินส์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ไปบรรยายเรื่องพลังงาน ในฐานะที่คุณพ่อ 'พลโทณรงค์ สาลีรัฐวิภาค' เคยเป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ และยังดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักเรียนเก่าฟิลิปปินส์ในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นคนแรก  

โดยนายพีระพันธุ์ได้เล่าถึงเรื่องราวของ พลโทณรงค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกกิจการพลังงานของไทย รวมทั้งเป็นผู้บุกเบิกการก่อสร้าง 'โรงกลั่นน้ำมัน' แห่งแรกของประเทศไทย ที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และเป็นผู้ก่อตั้งปั๊มน้ำมัน 'สามทหาร' ที่ปัจจุบันแปรสภาพเป็น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อจำหน่ายน้ำมันที่ขุดและกลั่นได้เองจากโรงกลั่นน้ำมันที่อำเภอฝางให้ประชาชนใช้ในราคาถูก และเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมสมัยใหม่ของประเทศไทย

นายพีระพันธุ์ กล่าวย้ำว่า พลังงานคือความมั่นคงของประเทศ แต่ปัจจุบันกิจการด้านพลังงานได้แปรเปลี่ยนไปเป็นเรื่องของธุรกิจ ตนในฐานะ รมว.พลังงาน จึงตั้งใจที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศและลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของประชาชน ตามแนวทาง รื้อ ลด ปลด สร้าง ที่ได้เริ่มต้นดำเนินการแล้ว

คณะกรรมการ ธพว. มีมติแต่งตั้ง ‘ประสิชฌ์ วีระศิลป์’ เป็น ‘รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการ’ มีผลตั้งแต่วันนี้

(2 มี.ค.67) คณะกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) มีมติอนุมัติแต่งตั้ง นายประสิชฌ์ วีระศิลป์ รองกรรมการผู้จัดการ เป็น รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการ โดยให้มีอำนาจกระทำการแทนกรรมการผู้จัดการในกิจการของธนาคาร ตามความในมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2545 ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป

‘Gadhouse’ แบรนด์เครื่องเล่นแผ่นเสียงไทย ผู้ปลุกกระแส ‘แผ่นเสียง’ ให้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ คุณเพชร วัชรพล เตียวสุวรรณ์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Gadhouse เมื่อวันที่ 2 มี.ค.67 กับการปลุกกระแสความนิยมเครื่องเล่นแผ่นเสียงให้กลับมาอีกครั้ง ท่ามกลางการสมรภูมิ Music Streaming ที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดในปัจจุบัน เบื้องหลังความสำเร็จนี้เป็นอย่างไร คุณเพชร ได้เล่าให้ฟังว่า...

จุดเริ่มต้นของแบรนด์ Gadhouse เริ่มต้นจากการนำเข้าเครื่องเสียงแบรนด์ต่างๆ มาจำหน่ายในเฟซบุ๊ก โดยยังไม่ได้มีแบรนด์ของตัวเอง ในชื่อ Gadhouse ซึ่งมาจากคำว่า House of Gadget 

เมื่อถามว่า ทำไมถึงขายเครื่องเล่นแผ่นเสียงซึ่งหลายคนมองว่าตกยุคไปแล้ว และในปัจจุบันนิยมฟังผ่าน Streaming มากกว่า? คุณเพชร บอกว่า “เริ่มต้นจากความชอบและเชื่อว่าตลาดแผ่นเสียงยังไม่ตายไปจากคนที่ชอบฟังเพลงจริงๆ ซึ่งการหวนกลับมาของแผ่นเสียงก็น่าจะเป็นเพราะ Streaming ด้วย เนื่องจากปัจจุบันทุกอย่างมันรวดเร็วไปหมดแค่ปลายนิ้ว แต่ขณะเดียวกันความเร็วแบบฉาบฉวยเหล่านี้ ก็กระตุ้นคนอีกกลุ่มที่เริ่มโหยหาวิถี Slow Life อยากเสพสุนทรีย์ และแสวงหาเสน่ห์จากปกที่ให้รายละเอียดของอัลบั้ม เนื้อเพลงและศิลปิน และพวกเขากำลังมองหาร้านที่จะตอบโจทย์ และเราคือคำตอบ”

เมื่อถามถึงทิศทางอุตสาหกรรมดนตรีของโลกในปัจจุบัน? คุณเพชร เผยว่า “หลัก ๆ ตลาดถูกขับเคลื่อนจากสหรัฐอเมริกา, ยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งแน่นอนว่าตลาด Streaming ก็เติบโตสูงมากๆ จากตลาดเหล่านี้ รองลงมาก็จะเป็นกลุ่ม Vinyl, ซีดี และเทปคาสเซ็ต ที่เริ่มขยับตัวขนานไปกับ Streaming” 

คุณเพชร เสริมว่า “ส่วนตลาดในประเทศไทยเองก็มีทั้งที่เสพเพลงผ่าน Streaming และ Physical Media จากศิลปินที่ชื่นชอบ ในแบบที่ต้องการหาซื้อมาฟังจริงๆ และเลือกเป็นของสะสม ซึ่งสิ่งที่น่าดีใจ คือ ตลาดแผ่นเสียงไทยในปัจจุบันกำลังปรับตัวดีขึ้น ถึงแม้จะไม่มีแผ่นเสียงใหม่ออกมาจำนวนมากเหมือนต่างประเทศ แต่พอค่ายเพลงใหญ่ๆ เริ่มหันกลับมาผลิตแผ่นเสียงเพิ่มมากขึ้น ก็ทำให้แฟนคลับเริ่มกลับมา”

เมื่อถามในส่วนการวิธีการทำตลาดของ Gadhouse แล้ว คุณเพชร บอกว่า “ส่วนใหญ่จะเป็นการทำตลาดในต่างประเทศ โดยปัจจุบันมีจำหน่ายในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น, อินโดนีเซีย, ฮ่องกง, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ แต่จะได้รับความนิยมอย่างสูงที่ประเทศญี่ปุ่นและอินโดนีเซีย โดยจุดเด่นของแบรนด์ Gadhouse นั้น คือ การเจาะไปยังกลุ่มลูกค้าที่พึ่งเริ่มต้นเล่นแผ่นเสียง ด้วยฟังก์ชันที่ใช้งานง่าย มีดีไซน์สวย แต่ราคาจับต้องได้ในระดับคุณภาพสูง

ทั้งนี้แบรนด์ Gadhouse ได้วาง Positioning เป็นแบรนด์เครื่องเสียงชั้นนำของไทยโดยมีเครื่องเล่นแผ่นเสียงเป็นสินค้านำร่อง แต่ก็มองการเติบโตของวงการ Vinyl ที่น่าจะเติบโตไปได้เรื่อย ๆ ไว้บ้างแล้ว 

อย่างไรก็ตาม อีกจุดเด่นสำคัญของ Gadhouse คือการเป็นแบรนด์พัฒนาเครื่องเล่นแผ่นเสียง ที่ตอบโจทย์ Sustainability ด้วย โดยมีการผลิตเครื่องเล่นจากขยะและสิ่งเหลือใช้ เช่น กล่องนม เป็นต้น เพื่อรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อมไปกับเสียงเพลง 

“ผมอยากให้ Gadhouse เป็นแบรนด์เครื่องเล่นแผ่นเสียงที่เติบโตสูงสุด และเป็นเครื่องเสียงของคนไทยที่ชาวต่างชาติอยากได้มากที่สุด โดยวางเป้าหมายเป็น Top ในระดับโลก ของกลุ่ม Retro Modern ภายใน 5 ปีข้างหน้านี้ ส่วนแผนการจะเป็นอย่างไรก็คงต้องติดตามกันต่อไป” คุณเพชร ทิ้งท้าย

'รมว.ปุ้ย' เร่งผลักดันอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์แบบไร้รอยต่อ ลั่น!! ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการทุกด้านอย่างเต็มศักยภาพ

เมื่อวานนี้ (1 มี.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐบาลได้มุ่งสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ที่รัฐบาลได้มีการกำหนดมาตรการต่าง ๆ ในการส่งเสริม อาทิ การลดอัตราอากรขาเข้ารถยนต์สำเร็จรูป และการลดอัตราภาษีสรรพสามิต เป็นต้น โดยในขณะนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV มีการเติบโตขึ้นเป็นลำดับ มีนักลงทุนมากมายให้ความสนใจในการเข้ามาลงทุนในประเทศ 

แต่ในขณะเดียวกันการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าก็ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป หรือ ICE ปรับตัวลดลง ส่งผลต่อยอดขายของผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และอุตสาหกรรมสนับสนุนตกลงเป็นอย่างมาก ซึ่งผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และอุตสาหกรรมสนับสนุนที่เป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทาน และมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมถึงมีส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งในขณะนี้กลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้ประสบปัญหาดังที่กล่าวถึง กระทรวงอุตสาหกรรม จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จึงมอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เร่งหารือและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับทราบถึงประเด็นปัญหาความต้องการจากภาคเอกชนในส่วนของอุตสาหกรรมสนับสนุน รวมทั้งเป็นแนวทางการช่วยเหลือและสนับสนุนที่ตรงจุดและตรงต่อความต้องการ

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวต่อว่า จากการรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะ พบว่า ผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์และผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมสนับสนุนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ได้ประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจในด้านต่าง ๆ อาทิ ปัญหาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม ปัญหาการปรับเปลี่ยนสายการผลิตไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ปัญหาต้นทุนการเงินที่สูง ปัญหาจากมาตรการความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) 

รวมถึงมาตรการและนโยบายอื่น ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ อาทิ มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping: AD) มาตรการต่ออายุสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตภายในประเทศ (CKD) และการกำหนดคำนิยามของวัตถุดิบภายในประเทศ (Local Content : LC) ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เช่น Local Content ในระบบราง เป็นต้น ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้หน่วยงานภายใต้สังกัดเร่งดำเนินการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาภาคอุตสาหกรรมสนับสนุนใน 3 ประเด็นหลัก ตามข้อเสนอแนะจากกลุ่มผู้ประกอบการ ประกอบด้วย...

1) การพัฒนาและส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรม โดยการเพิ่มทักษะและพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรภาคอุตสาหกรรม รวมถึงสนับสนุนกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในการลดการปล่อย CO2 เพื่อรองรับนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) 

2) การส่งเสริม สนับสนุน และปรับตัวเพื่อปรับเปลี่ยนสายการผลิตไปสู่อุตสาหกรรมอื่นตามที่ผู้ประกอบการได้เสนอมา เช่น อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เครื่องมือแพทย์และเครื่องมือแพทย์สำหรับสัตว์เลี้ยง เครื่องจักรกลการเกษตร ชิ้นส่วน Aftermarket การผลิตชิ้นส่วนทดแทน (REM) อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมการบิน และระบบราง เป็นต้น

3) การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านทาง SME D Bank และกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ และสนับสนุนการค้ำประกันผ่านโครงการติดปีก SMEs ไม่มีหลักทรัพย์ดีพร้อมค้ำประกันให้ 

ทั้งนี้ ในเรื่องของมาตรการและนโยบายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบการ ทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะทำการศึกษาและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามข้อเสนอของผู้ประกอบการต่อไป

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้มีการหารือกับทางกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง เพื่อกำหนดแนวทางการคิดอัตราอากรขาเข้าของอุตสาหกรรมส่วนยานยนต์ และอุตสาหกรรมสนับสนุน นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีโอกาสร่วมหารือ นายไซโตะ เคน รัฐมนตรีว่าการกับการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (METI) ของญี่ปุ่น โดยมีแนวทางความร่วมมือและแลกเปลี่ยนกรอบการทำงานร่วมกัน เพื่อการพัฒนากลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์อุตสาหกรรมสนับสนุน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาใน 4 ประเด็น...

1) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนจากยานยนต์ 
2) การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของภาคอุตสาหกรรมการผลิต 
3) การลดปริมาณของเสียหรือชิ้นส่วนจากยานยนต์ (End-of –Life Vehicle) 
และ 4) การพัฒนาพลังงานสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ พร้อมทั้ง เสนอให้ทางญี่ปุ่นพิจารณาให้ไทยเป็นแหล่งสุดท้ายในการผลิตรถยนต์สันดาปภายใน (Last man standing) ควบคู่ไปกับการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งนายไซโตะ เคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวง METI มีความเห็นพ้องกับแนวทางนี้เช่นกัน 

‘เนคเทค’ ผุด ‘สายวัด’ ซอฟต์แวร์วัดขนาด ‘อาหารสัตว์น้ำ' หวังเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบแก่ผู้ประกอบการไทย

(1 มี.ค.67) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย เนคเทค พัฒนาซอฟต์แวร์วัดขนาดอาหารกุ้ง ในชื่อ ‘สายวัด (SAIWAT)’ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพงานตรวจสอบขนาดอาหารสัตว์ ทดแทนการวัดด้วยเวอร์เนียที่เป็นเครื่องมือวัดแบบเดิม ซึ่ง SAIWAT จะเป็นซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสัตว์น้ำ บริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์ สามารถตรวจวัดขนาดอาหารได้ตามมาตรฐาน เพราะขนาดที่เล็กใหญ่ของอาหารสัตว์มีผลต่อการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ ด้วยคุณสมบัติโดดเด่นของ SAIWAT ที่สามารถวัดอาหารที่มีขนาดเล็กมากใช้มือจับวัดยาก วัดได้พร้อมกันตั้งแต่ 100-800 เม็ด ใช้เวลาไม่นาน ขึ้นอยู่กับขนาดของอาหารเม็ด (ประมาณ 1-3 นาที) พร้อมสรุปรายงานวิเคราะห์เชิงสถิติทั้งตารางและกราฟฮิสโตแกรม ออกเป็นไฟล์ pdf, excel หรือ word เป็นผู้ช่วยที่สามารถทำงานได้ต่อเนื่อง เพียงต่อกับเครื่องสแกนเนอร์ก็ทำได้แล้ว

ผู้ประกอบการที่สนใจใช้งานติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ทีมวิจัยการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ เนคเทค โทร. 0 2564 6900 ต่อ 2251, 087-7007834 (รุ่งกานต์)

‘เศรษฐา' ประกาศตั้งเป้า ‘สุวรรณภูมิ’ ติดท็อป 1 ใน 20 ของโลกภายใน 5 ปี ขอเวลา 6 เดือนจะไม่เห็นภาพผู้โดยสารต้องมารอต่อคิวอีก

(1 ม.ค.67) ที่ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง แถลงวิสัยทัศน์ ‘IGNITE THAILAND, AVIATION HUB’ เพื่อประกาศถึงศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค โดยมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมรวมถึง ผู้บริหารเอโอที และสายการบินต่างๆเข้าร่วม

นายเศรษฐา กล่าวว่า สัปดาห์ก่อนในการแถลงวิชั่นงาน Ignite Thailand ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางไว้ 8 ด้าน หนึ่งในนั้นคือ การทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ของภูมิภาค ตนมีความเชื่อ รัฐบาลมีความเชื่อว่าศักยภาพของประเทศไทยพร้อมมากที่จะถูกระเบิดออกมา ฉายแววออกมาให้ชาวโลกรู้ว่าศักยภาพของเรามีมากขนาดไหน และก่อนที่เราจะอัปเกรด AVIATION HUB เราต้องยอมรับว่าเรามีปัญหาอะไรบ้าง 10 ปีที่แล้วสนามบินสุวรรณภูมิเป็นสนามบินที่อยู่ในอันที่ 13 ของโลก แต่ปัจจุบันอยู่อันดับที่ 68 ของโลกตกมา 55 อันดับ เพื่อนบ้านเราไม่ได้มีการลงทุนอะไรเลยอย่างมาเลเซียแต่อันดับสูงกว่าเรา ไม่ต้องพูดถึงสิงคโปร์หรือฮ่องกง

“ปัญหาในสนามบินถ้าเราไม่มีการปรับวุ่นวายแน่นอน และจะเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่าเวลาเรามีปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นมันบั่นทอนศักยภาพของประเทศ เรื่องของไฟล์ทที่มาต่อที่นี่ก็น้อยลงหากมีการจัดตารางบินใหม่ เครื่องบินที่มาเปลี่ยนผ่านที่นี่รู้หรือไม่ว่ามีเพียงแค่ 1% ขณะที่สิงคโปร์มีถึง 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ ระยะเวลา 2-3 ชั่วโมง ระหว่างรอเปลี่ยนเครื่องก็สามารถเห็นสิ่งดีๆของไทยได้ หากเข้ามาอยู่ 7-8 ชั่วโมง ได้เข้าไปในเมืองกลับมาเกิดความประทับใจก็อาจมีแพลนมาประเทศไทย แต่วันนี้ถ้าไม่มีการทำอะไรอย่าว่าจะขึ้นเลย 68 ก็ตกลงไปได้” นายเศรษฐา กล่าว

นายเศรษฐา กล่าวว่า สำหรับสุวรรณภูมิมีพื้นที่ 20,000 ไร่ เมื่อปลายปีที่แล้วก็มีการเปิดใช้อาคารเทียบเครื่องบิน SAT1 ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ของรัฐบาลเมื่อ 17 ปีที่แล้ว ที่ได้มีการวางโครงสร้างไว้ แต่ก็ยังยอมรับว่ามีปัญหาอยู่บ้าง แต่ทั้งนี้จะมีการเปิดให้ครบ 100% ภายในไตรมาส 2 ของปี 2567 รองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 45 ล้านคน เป็น 60 ล้านคนต่อปี ซึ่งจะทำให้เครื่องบิน บินขึ้นลงได้เป็น 90 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และอนาคตก็เตรียมที่จะสร้างอาคาร SAT2 วันนี้เรามีศักยภาพเพียงแต่เราจะต้องฉายแสงออกมาให้ได้ และมั่นใจหลังจาก 6 เดือนนี้ต่อไปเราจะไม่เห็นผู้โดยสารที่รอคิวนาน สุวรรณภูมิไม่ใช่แค่เทคแคร์คนอย่างเดียว แต่ต้องดูเรื่องของสินค้าด้วย เพราะเป็นสิ่งสำคัญ

นายเศรษฐา กล่าวว่า ตนมั่นใจเราจะทำให้ก้าวแรกของผู้โดยสารที่เดินทางเข้าสู่สุวรรณภูมิและต่อโยงไปประเทศต่างๆ พร้อมทั้งสินค้าจะเกิดความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดอนเมืองก็เป็นอีกหนึ่งสนามบินที่สำคัญรัฐบาลจะเปลี่ยนให้สนามบินดอนเมืองเป็น Point to Point แอร์พอร์ต จุดเด่นคือสะดวกรวดเร็ว ครบครัน รับผู้โดยสารให้มากยิ่งขึ้น จะสร้างอาคาร อินเตอร์เนชั่นแนลใหม่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรับผู้โดยสารมากขึ้นปัจจุบันมีการรับผู้โดยสารอยู่ที่ 30 ล้านคน จะเพิ่มให้เป็น 50 ล้านคน และสร้างอาคารจอดรถเพิ่มให้สามารถจอดรถเพิ่มขึ้นเป็น 5 เท่า ประมาณ 7,600 คัน ส่วนมาสเตอร์แผนจะมีการสร้างสนามบินอันดามัน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวของภูเก็ต พังงา กระบี่ และจังหวัดใกล้เคียง และจะมีการพัฒนาสะพานสารสินเพื่อรองรับรถได้มากขึ้นและให้เรือขนาดใหญ่สามารถผ่านได้ ส่วนทางภาคเหนือก็จะมีสนามบินล้านนา เพื่อรองรับผู้โดยสารอีก 20 ล้านคนต่อปี

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันจะมีการยกระดับสนามบินเมืองรองทั่วประเทศ เช่น สนามบินน่าน ศรีสะเกษ นครราชสีมา ให้กลายเป็นสนามบินหลักให้ได้ ควบคู่กับพัฒนาครัวไทยสู่การเป็นครัวโลก ผ่านการผลิตอาหารบนเครื่องบินที่ดีที่สุดในโลก และระบบการทำงานภายในสนามบินก็สำคัญ จะมีการขยายอุตสาหกรรมการซ่อมบำรุงรักษาเป็นศูนย์กลางการบำรุงรักษา ทั้งเครื่องบินพาณิชย์และเครื่องบินส่วนตัว ต่อยอดระบบขนส่งและคลังสินค้า รวมถึงการต่อยอดความร่วมมือทั้งจากสายการบินต่างๆ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสมาคมโรงแรม เพื่อพัฒนาการบิน เส้นทางการบิน จำนวน และประเภทเครื่องบินส่วนตัวและการบริการ

“การเดินทางไปยุโรปครั้งนี้ผมจะไปคุย โดยประเทศไทยจะอธิบายให้ฟังทั้งหมดในเรื่องดีๆว่ามีอะไรบ้าง แต่สัปดาห์หน้าที่เดินทางไปนี้เป็นแค่ออเดิร์ฟไปโฆษณาว่าปีหน้าเราจะมีอะไรบ้าง ซึ่งผมรับรองได้ว่าเขาจะต้องชอบและพอใจ และจะเดินทางมาไทยมากยิ่งขึ้น” นายกฯ กล่าว

นายกฯ กล่าวว่า สำหรับสายการบินไทย สายการบินแห่งชาติ เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทุกคน การพัฒนาต่อไปจะไปไม่ได้ถ้าสายการบินไทยไม่แข็งแรง ต้องมีการบริหารให้เหมาะสม ทั้งลักษณะเครื่องบิน จะต้องมีการพัฒนาระบบตั๋วที่หลายประเทศใช้ระบบออนไลน์ วันนี้เราต้องพูดตรงไปตรงมาว่าการบินไทยมีตัวแทนขายตั๋วเยอะ เขามีการกั๊กตั๋ว แต่ขึ้นเครื่องไปบางทีว่างอันนี้เป็นเรื่องที่เราไม่อยากพูด แต่วันนี้ไม่ได้มาว่ากัน เราต้องพัฒนาให้ดีขึ้น หลายสายการบินใช้ออนไลน์บุคกิ้งบริหารราคาตั๋วเพื่อกำไร ตรงนี้เราต้องให้ความสำคัญ เข้าใจอย่างตรงจุด เรื่องเหล่านี้เราคาดหวังว่าการบินไทยต้องทำได้ และการจัดตารางไฟล์ทต้องมาพูดกัน เราทราบกันดีการบินไทยอยู่ระหว่างการฟื้นฟูหลังจากเกิดโควิด19 ในวันนี้รักษาตัวเองให้ดี หากหลุดพ้นจากแผนฟื้นฟูแล้วเรามาให้น้ำใจผู้โดยสารทุกคนที่ให้ความเชื่อมั่นเรา ทั้งนี้เราต้องมีความทะเยอทะยานให้การบินไทยติดอันดับโลกอย่างน้อยต้องติดอันดับ 3 ของเอเชีย คนไทยต้องภาคภูมิใจ

“การที่ผมแอบไปตรวจ ไม่ได้จ้องจับผิด เพื่อให้เห็นการทำงาน ไม่ได้ดูแค่หน้างาน แต่ดูหลังบ้านด้วย และได้มีการพูดคุยเรื่องการบริหารคนให้เขามีจิตใจที่ดีขึ้น ให้เขาเกิดความตั้งใจในการทำงาน ผมคิดว่าความสุขเป็นอะไรที่ส่งต่อกันได้ เริ่มต้นจากผู้ให้บริการถ้ามีความสุขเวลาส่งต่อการให้บริการผู้โดยสารก็จะส่งต่อความสุขนั้นได้ ความสุขเป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่ดี หลายท่านอาจถามว่าอะไรคือประโยชน์ของศูนย์การบิน สิ่งที่พูดมาทั้งหมดคิดว่าคงจะเห็นในเรื่องเศรษฐกิจที่พยายามพัฒนาอย่างก้าวกระโดด วันนี้เราจะต้องเอาชนะให้ได้ หากเราโปรโมทการท่องเที่ยวอย่างมโหฬาร สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่อยากสนับสนุนให้การบินมีเพิ่มมากขึ้น” นายเศรษฐา กล่าว

นายเศรษฐา กล่าวด้วยว่า หลายท่านที่มาเห็นการบริการที่ประทับใจก็จะเห็นออเดิร์ฟให้กับเขาว่าในปีหน้าอาจจะอยากมาเที่ยวที่ไทย แต่ทั้งนี้จะต้องมีการสร้างความยั่งยืนดึงดูดสายการบิน และส่งเสริมการผลิตในประเทศไทย สนับสนุนบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“ผมขอประกาศว่า 1 ปีจากนี้สนามบินสุวรรณภูมิจะต้องเป็น 1 ใน 50 ของโลก และ 1 ใน 20 ของโลกภายใน 5 ปี พี่น้องที่อยู่ในฐานรากให้ความหวังเยอะมาก เรามีความฝันทุกวันอยากให้มันเป็นจริง อยากให้มันเกิดขึ้นมาได้ ผมขอประกาศวันนี้เราตื่นแล้ว ฝันดีแล้ว วันนี้ตื่นขึ้นมาร่วมกันให้ความฝันเป็นความจริง ทุกท่านที่อยู่ในที่นี้จะมีส่วนร่วมทำให้เราถึงจุดมุ่งหมายนั้นได้ ขอขอบคุณและให้กำลังใจทุกคน เพื่อให้ศักยภาพที่สำคัญที่สุดคืออัปเกรด AVIATION HUB เป็นความจริง” นายเศรษฐา กล่าว

‘รมว.ปุ้ย’ ปลดล็อก ‘Solar Rooftop’ ช่วยเหลือกลุ่ม SMEs ฟาก ‘กรมโรงงานฯ’ ขานรับ!! เร่งแปลงเครื่องจักรเป็นเงินทุน

(1 มี.ค.67) นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้ขานรับนโยบาย ‘อุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน’ ของ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยอยู่ระหว่างขั้นตอนการแก้ไขกฎหมายปลดล็อกให้การติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ไม่เข้าข่ายโรงงานที่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในปัจจุบันมีจำนวนมาก 

กรอ. เตรียมผลักดันให้มีการแปลงเครื่องจักรเป็นทุนจาก Solar Rooftop ซึ่งเป็นมาตรการช่วยเหลือธุรกิจ SMEs โดยผู้ประกอบการสามารถนำ Solar Rooftop เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการขอสินเชื่อ อีกทั้งผู้ประกอบการที่ไม่มีทุนสำหรับติดตั้ง Solar Rooftop สามารถนำโครงการไปขอสินเชื่อสำหรับติดตั้ง Solar Rooftop จากสถาบันทางการเงิน เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย โดยในปี 2566 มีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนำ Solar Rooftop มาจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร จำนวน 169 ราย เพิ่มขึ้นกว่า 90% เมื่อเทียบกับปีก่อน และในปี 2567 คาดว่าจะมีการนำ Solar Rooftop มาจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร เพิ่มขึ้นกว่า 100%

นายจุลพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรอ. ดำเนินโครงการ ‘เร่งรัดการจดทะเบียนเครื่องจักรของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม’ ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 มีเป้าหมายเพื่อเผยแพร่ ให้ความรู้ความเข้าใจ และให้คำแนะนำที่เกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักร ให้กับผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศ ทั้งในด้านการเพิ่มการผลิต การลดต้นทุนด้านพลังงาน การลดต้นทุนในการจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม หรือส่งเสริมสนับสนุนให้มีการใช้นวัตกรรมสมัยใหม่เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น ทั้งในด้านการปรับปรุงเครื่องจักรเดิม หรือการเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ทดแทน โดยตลอดระยะเวลาตั้งแต่ปี 2559 มีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 2,998 ราย และมีเครื่องจักรที่ได้รับการตรวจสอบปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนแล้วไม่น้อยกว่า 12,500 เครื่อง

“ผมขอเชิญชวนผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศ นำ Solar Rooftop เครื่องจักรขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ในโรงงานอุตสาหกรรม หรือเครื่องจักรในธุรกิจอื่น อาทิ สวนสนุก ฟาร์ม โรงพยาบาล เป็นต้น มาจดทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด โดยสามารถตรวจสอบรายการเครื่องจักรที่สามารถจดทะเบียนได้ที่ https://www5.diw.go.th/mac/macregist/ หรือสอบถามสำนักงานทะเบียนเครื่องจักรกลาง โทร. 02 430 6317 ต่อ 2600 

นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มช่องทางการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรผ่านระบบจดทะเบียนเครื่องจักรออนไลน์ https://omr.diw.go.th/OMR/ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ และคาดว่าในปี 2567 จะสามารถส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs จดทะเบียนเครื่องจักร จำนวนไม่น้อยกว่า 5,000 เครื่อง และมีมูลค่าการแปลงเครื่องจักรเป็นทุนไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท” อธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าวปิดท้าย

TVDH โอนส่วนล้ำมูลค่าหุ้น ล้างขาดทุนกว่า 241.7 ลบ. หวังเปิดทางจ่ายปันผล หากมีกำไรในอนาคต

เมื่อวานนี้ (29 ก.พ. 67) บมจ.ทีวีดี โฮลดิ้งส์ (TVDH) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทฯ มีมติให้นำเสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 เพื่อพิจารณาอนุมัติการโอนส่วนล้ำมูลค่าหุ้น จำนวน 241,723,180 บาท เพื่อชดเชยผลขาดทุนสะสมของงบการเงินเฉพาะกิจการสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 241,723,180 บาท ภายหลังจากการชดเชยผลขาดทุนสะสมดังกล่าวแล้ว ผลขาดทุนสะสมของบริษัทฯ จะเท่ากับศูนย์ ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ สามารถจ่ายเงินปันผลได้หากมีกำไรในอนาคต

'แสนสิริ' โชว์กำไรเติบโตเกือบ 50% แซงหน้าทุกค่ายอสังหาฯ สูงสุดนับแต่ก่อตั้งมา 40 ปี อานิสงส์กลุ่มบ้านหรูช่วยดัน

(1 มี.ค.67) Business Tomorrow เผย SIRI บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ว่า ปี 2023 มีกำไรสุทธิสูงถึง 6.06 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น +42% จากปีก่อน สูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งมาได้ 40 ปี หรือ All-time high คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 15.5% ทุบสถิติใหม่ ทำให้แสนสิริมีอัตราการเติบโตด้านกำไรสุทธิสูงที่สุดแซงหน้ากลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมด

โดยปี 2023 มียอดขายรวม 4.9 หมื่นล้านบาท รายได้รวม 3.91 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น +12% จากปีก่อนหน้า มาจากการเปิดตัวโครงการใหม่ทั้งบ้านและคอนโดฯ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มบ้านและคอนโดในแบรนด์ Luxury

ส่วนปี 2024 นี้ เตรียมเปิดตัวโครงการใหม่ 46 โครงการ มูลค่ารวม 6.1 หมื่นล้านบาท โดยเป็นคอนโดมิเนียม 10 แห่ง มูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาท ในต่างจังหวัดและชานเมือง ซึ่งยังคงมองการขยายกลุ่มบ้านราคาแพง และกลับไปรุกหัวเมืองท่องเที่ยวและจังหวัดใหญ่อย่างต่อเนื่อง

ด้านการตั้งเป้ายอดขายปีนี้ จะอยู่ที่ 5.2 หมื่นล้านบาท และเป้ายอดโอนที่ 4.3 หมื่นล้านบาท รวมทั้งมีการวางกลยุทธ์ให้ความสำคัญกับวินัยทางการเงินเพื่อรักษาระดับสภาพคล่องไว้ที่ 1.7 หมื่นล้านบาท 

สุดท้าย แสนสิริเตรียมประกาศจ่ายเงินปันผลประจำปีให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 0.20 บาท โดยได้มีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลเมื่อเดือนกันยายน 2023 ไปแล้วในอัตราหุ้นละ 0.10 บาท เตรียมจ่ายเงินปันผลงวดสุดท้ายในเดือนพฤษภาคมนี้ ในอัตราหุ้นละ 0.10 บาท คิดเป็น Dividend Yield ปี 2023 อยู่ที่ 10.8%

เปิดใจ ‘สมโภชน์ อาหุนัย’ หลังประกาศชิงเก้าอี้ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

เปิดใจ ‘สมโภชน์ อาหุนัย’ ประกาศชิงเก้าอี้ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ย้ำชัด “ประเทศรอไม่ได้” ขออาสาทำงานเพื่อทุกกลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศของไทย หวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน

การเลือกตั้งกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) วาระปี 2567-2569 กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 25 มี.ค.2567 โดยกรรมการ ส.อ.ท.ที่ได้รับการเลือกตั้งดังกล่าว รวมกับกรรมการที่ได้รับการเลือกจากกลุ่มอุตสาหกรรม 46 กลุ่ม และสภาอุตสาหกรรมจังหวัด 76 จังหวัด จะมาทำหน้าที่ลงคะแนนเลือกตั้งประธาน ส.อ.ท.วาระปี 2567-2569 อีกครั้ง

การเลือกตั้งในครั้งนี้ เป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง เมื่อ นายสมโภชน์ อาหุนัย รองประธาน ส.อ.ท.และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ได้เสนอตัวชิงเก้าอี้ด้วย ซึ่งปัจจุบันนายเกรียงไกร เธียรนุกูล เป็นประธาน ส.อ.ท.วาระ 2565-2567 ดำรงตำแหน่งในวาระที่ 1 ยังคงเสนอตัวเป็นประธาน ส.อ.ท.อีก 1 สมัย 

ทั้งนี้ นายสมโภชน์ ได้เปิดวิสัยทัศน์ และเปิดใจในการประกาศชิงเก้าอี้ประธาน ส.อ.ท.คนที่ 17 เอาไว้อย่างน่าสนใจ โดยระบุว่า การเสนอตัวชิงตำแหน่งในครั้งนี้ เป็นอุดมการณ์ที่มีมาตั้งนานแล้วคืออยากสร้างประโยชน์ให้สังคมและประเทศชาติ ต้องการรับใช้ชาติในฐานะภาคเอกชน โดยจะนำความรู้ ความสามารถและประสบการณ์การทำงานมาช่วยประเทศชาติในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา ทั้งในฐานะสมาชิกและรองประธาน ส.อ.ท. ได้ทำงานด้วยจิตอาสาโดยไม่ได้หวังผลตอบแทนหรือรับประโยชน์ใด ๆ ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญที่อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น จึงขอเสนอตัวเข้ารับการคัดเลือกเป็นประธาน ส.อ.ท. เพื่อช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไทยเติบโต อีกทั้งสามารถยืนอยู่บนเวทีโลกได้อย่างแข็งแกร่ง

ทั้งนี้ หากได้รับเลือกเป็นประธาน ส.อ.ท. คนใหม่ นายสมโภชน์ ย้ำว่า ในอนาคตจะเห็น ส.อ.ท. ทำงานเชิงรุกด้วยยุทธศาสตร์ 4 ประการคือ 1.ทำงานเชิงรุกในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจของประเทศให้สอดประสานระหว่างภาครัฐกับเอกชน 2.สร้างพลังและเพิ่มขีดความสามารถของสมาชิกสภาอุตสาหกรรมทั่วประเทศ 3.ประสานภาครัฐให้ช่วยส่งเสริมสนับสนุนเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการรายย่อย-รายใหม่ในการผลิตสินค้าที่มีมูลค่า และ 4.นำเอาความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ที่มีมาบูรณาการในเชิงรุกและเชิงรับทุกมิติ

“ผมเคยเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจนกระทั่งปัจจุบันทำหน้าที่บริหารธุรกิจในกลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ ต้องการนำเสนอไอเดียที่มีเพื่อให้เกิด Impact มากกว่าที่ทำอยู่ในปัจจุบัน เพราะเชื่อว่า ส.อ.ท. คือแกนหลักของประเทศ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้น ในสถานการณ์ปัจจุบันเราไม่ควรอยู่ในสภาพตั้งรับควรอยู่ในเชิงรุก เนื่องจากโลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก แต่ละอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบแตกต่างกันออกไป มีทั้งที่ต้องการรับการส่งเสริมสนับสนุนหรือเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา รวมถึงทำหน้าที่เป็นตัวแทนเชื่อมกับภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรมให้บรรลุผลสำเร็จและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ประกอบการแล้วยังตอบสนองภาครัฐให้บรรลุตามแผนยุทธศาสตร์ที่ตั้งไว้”

ส่วนเหตุผลที่มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดจึงไม่รอรับไม้ต่อจากนายเกรียงไกร ที่จะนั่งในตำแหน่งนี้อีก 2 ปี ในวาระที่ 2 นายสมโภชน์ ได้ชี้แจงว่า โดยส่วนตัวมองว่าประเทศไทยรอไม่ได้ ภาระหนี้ครัวเรือน การลงทุนไม่เข้า ถ้ารออีก 2 ปี เปรียบเหมือนคนที่เป็นมะเร็งขั้นที่ 1 ก็อาจจะรอได้แต่ถ้าเป็นขั้นที่ 4 หากรอก็อาจจะแก้ไม่ได้แล้ว แม้ว่าในขณะนี้เศรษฐกิจไทยอาจจะยังไม่ถึงขั้นวิกฤต แต่ก็ถือว่าอยู่ในขั้นป่วย

นายสมโภชน์ ชี้ให้เห็นว่า ขณะนี้ บางอุตสาหกรรมเดิมแข่งขันไม่ได้ มีบางอุตสาหกรรมที่เป็นดาวรุ่ง จึงจะเป็นสะพานเชื่อมหลายอุตสาหกรรมมารวมกันใครเดือดร้อนต้องช่วยกัน เพื่อให้เป็นรูปธรรม เพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรมกับประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรม คนไหนเดือดร้อนก็ช่วย คนไหนแข็งแรงก็ทำให้ดีขึ้นเพื่อให้ฝนตกทั่วฟ้า จึงต้องการเดินไปข้างหน้าด้วยนโยบายและมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน พร้อมผสานความเป็นปึกแผ่นเพื่อมองไปข้างหน้าด้วยกัน พร้อมทั้งทำงานกับทางรัฐบาลอย่างแนบแน่นเป็นทีมไทยแลนด์อย่างแท้จริง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

สำหรับประเด็นที่อาจจะมีคนมองว่า การลงสมัครเลือกตั้งเกิดจากความขัดแย้งนั้น นายสมโภชน์ ยืนยันว่า ไม่ได้มีความขัดแย้งแต่อย่างใด เพียงแต่ตนต้องการใช้โอกาสนี้เสนอไอเดียที่สร้างสรรค์ เพราะประเทศวันนี้รอไม่ได้ ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าเศรษฐกิจไม่ดี จึงอยากเสนอตัวมาช่วยทำงาน โดยจะไม่ทำให้เกิดความแตกแยกทุกคนเป็นพี่น้องกันหมด และพร้อมจะซัปพอร์ตสมาชิกทุกคนทั้งที่เลือกและไม่เลือก ขณะเดียวกันก็ยังเคารพคุณเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. เหมือนเดิม

นายสมโภชน์ กล่าวอีกว่า หากได้รับเลือกตั้งเป็นประธาน ส.อ.ท. พร้อมจะเป็นแกนกลางในการประสานการทำงานระหว่างอุตสาหกรรมจังหวัด และกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อตกผนึกแนวคิดในการทำงาน และนำเสนอแผนยุทธศาสตร์ในอนาคตต่อภาครัฐ อุตสาหกรรมแต่ละประเภทจะต้องเตรียมแผนทรานส์ฟอร์มธุรกิจเพื่อรองรับการแข่งขันในเวทีโลกทุกมิติ อาทิ การปรับปรุงกฎหมายหรือกฎระเบียบเพื่อให้ทันกติการะดับสากล ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน (BCG & ESG) และการมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ซึ่งเป็นเทรนด์ของโลกในปัจจุบัน

“หากผมได้รับการเลือกตั้ง สิ่งแรกที่จะทำก็คือการเซ็ตซีโร่ จะไม่มีการแบ่งกลุ่ม แต่จะชักชวนสมาชิกที่มีความรู้ความสามารถมาช่วยกันทำงาน เพื่อเพื่อนสมาชิกและพร้อมให้สมาชิกตรวจสอบการทำงานในทุกด้าน แต่ถ้าไม่ได้รับเลือก ก็ยังพร้อมที่จะทำงานเพื่อสมาชิกต่อไป ยิ่งไอเดียที่ผมได้เสนอไปมีคนนำไปสานต่อก็จะยินดีมาก เพราะชัยชนะสำหรับผมคือการที่แนวคิดของผมได้รับการยอมรับและถูกนำเอาไปทำ โดยที่ผมอาจจะไม่ต้องทำเองก็ได้ แต่สิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้นเกิดได้โดยที่ผมก็ไม่ต้องเหนื่อยด้วย หากเพื่อนสมาชิกเห็นว่าใครเหมาะสมกว่าที่พร้อมจะทำงานตรงนี้ ถึงจะไม่ใช่ผมแต่ผมก็พร้อมที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการทำงานเช่นเดิม”

นายสมโภชน์ ยังกล่าวด้วยว่า หากได้เข้ามารับตำแหน่งก็จะฟังจากสมาชิกก่อนและจัดลำดับความสำคัญของปัญหาว่าประเด็นใดเป็นประเด็นเร่งด่วนที่จะต้องการให้มีการแก้ไข ก่อนที่จะสรุปเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อขับเคลื่อนนำเสนอสู่ภาครัฐต่อไป โดยไม่เน้นเฉพาะเรื่องพลังงานเท่านั้น เพราะตอนนี้ไทยต้องเจอทั้งปัญหาเรื่องการลงทุนโดยตรงไม่เข้าประเทศและประเทศไทยติดกับดักรายได้ปานกลางมาเป็นระยะเวลายาวนาน 6 ปีที่ผ่านมา 

ในส่วนของนโยบายด้านพลังงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาเร่งด่วน ที่จะช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันให้ภาคอุตสาหกรรม ที่ผ่านมาเราติดกับดักการสร้างโรงไฟฟ้าจำนวนมากจนมีกำลังไฟสำรองเกินความจำเป็น ทำให้ไม่สามารถที่จะไปลดต้นทุนที่เป็น Fixed cost ได้ ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องแบกภาระค่าไฟเพิ่มขึ้น

แนวทางที่จะแก้ไขไม่ใช่เพียงการไปลดค่าไฟ เพราะนั่นก็จะไปกระทบกับผู้ผลิตไฟฟ้า แต่วิธีการเดียวก็คือการทำให้คนใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ซึ่งจะทำอย่างไรในเมื่ออุตสาหกรรมก็เท่าเดิมประชาชนก็ใช้เท่าเดิม คำตอบก็คือเราต้องหาคนใช้ไฟฟ้าใหม่ ลูกค้าใหม่ก็คือรถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV

“การที่เราเพิ่มจำนวนผู้ใช้รถ EV จะทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าใหม่ๆเพิ่มขึ้น และเรามีกำลังไฟฟ้าสำรองเพียงพอที่จะทำให้เราสามารถพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดและก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ ได้ทำให้มีราคาถูกลงและอุตสาหกรรมก็ไม่มีใครเสียหาย แน่นอนว่าแนวคิดนี้ เป็นหนึ่งในแนวทางในการแก้ปัญหาค่าไฟแพง แต่ยังมีอีกหลายปัญหาที่รอการแก้ไข ที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมและนำพาเศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน”

อย่างไรก็ตาม นายสมโภชน์ ยังบอกด้วยว่า คนอื่นๆที่มีวิสัยทัศน์และความสามารถก็สมัครตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมได้เช่นกัน เพื่อนำเสนอสิ่งดี ๆ ให้แก่ภาพรวมของอุตสาหกรรม และผู้ที่ได้รับเลือกเป็นประธานฯ ควรที่จะนำข้อเสนอไปขับเคลื่อนต่อให้เป็นรูปธรรม ที่สำคัญต้องสร้างความโปร่งใสในการทำงาน เป็นเวทีกลางที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน และกระจายอำนาจให้แต่ละกลุ่มมาช่วยกันทำงาน

สำหรับประวัติ ‘สมโภชน์ อาหุนัย’ จบการศึกษาปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ปริญญาโท บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต University of Pittsburgh สหรัฐอเมริกา, วิศวกรรมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (วิศวกรรมพลังงานทดแทนสิ่งแวดล้อม) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ราชมงคลอีสาน

ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน), กรรมการบริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน), กรรมการบริษัท ทีเอสท์ โปรดักส์ จำกัด, กรรมการบริษัท อีเทอนิตี้ โฮลดิง จำกัด, คณะกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ ด้านพัฒนาองค์กร

จากข้อมูลนิตยสาร ฟอบส์ ฉบับประเทศไทย พ.ศ. 2566 นายสมโภชน์ติดอยู่ในรายชื่อมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในประเทศไทยอันดับที่ 9 มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.04 แสนล้านบาท (3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)

‘สมโภชน์ อาหุนัย’ ประกาศ!! พร้อมนั่งประธาน ส.อ.ท. คนที่ 17 หวังเป็นแกนนำหลักขับเคลื่อนอุตสาหกรรม-เศรษฐกิจของไทย

(29 ก.พ. 67) นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ในฐานะเป็นสมาชิกและรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าจะลงสมัครตำแหน่งประธาน ส.อ.ท. คนที่ 17 ในวาระนี้ (ปี 2567-2569) ถือเป็นอุดมการณ์ที่ต้องการรับใช้ชาติในฐานะภาคเอกชน โดยจะนำความรู้ ความสามารถและประสบการณ์การทำงานมาช่วยประเทศชาติในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ในอนาคตจะเห็นส.อ.ท.ทำงานเชิงรุกด้วยยุทธศาสตร์ 4 ประการ ได้แก่

1.ทำงานเชิงรุกในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจของประเทศให้สอดประสานระหว่างภาครัฐกับเอกชน 

2.สร้างพลังและเพิ่มขีดความสามารถของสมาชิกสภาอุตสาหกรรมทั่วประเทศ 

3.ประสานภาครัฐให้ช่วยส่งเสริมสนับสนุนเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการรายย่อย-รายใหม่ในการผลิตสินค้าที่มีมูลค่า 

และ 4.นำเอาความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ที่มีมาบูรณาการในเชิงรุกและเชิงรับทุกมิติ

"เรื่องนี้เป็นอุดมการณ์ที่ผมมีมาตั้งนานแล้วคืออยากสร้างประโยชน์ให้สังคมและประเทศชาติ ผมเคยเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จนกระทั่งปัจจุบันทำหน้าที่บริหารธุรกิจในกลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ ต้องการนำเสนอไอเดียที่มีเพื่อให้เกิด Impact มากกว่าที่ทำอยู่ในปัจจุบัน เพราะเชื่อว่า ส.อ.ท. คือแกนหลักของประเทศ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้น ในสถานการณ์ปัจจุบันเราไม่ควรอยู่ในสภาพตั้งรับควรอยู่ในเชิงรุก เนื่องจากโลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก แต่ละอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบแตกต่างกันออกไป มีทั้งที่ต้องการรับการส่งเสริมสนับสนุนหรือเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา รวมถึงทำหน้าที่เป็นตัวแทนเชื่อมกับภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรมให้บรรลุผลสำเร็จและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ประกอบการแล้วยังตอบสนองภาครัฐให้บรรลุตามแผนยุทธศาสตร์ที่ตั้งไว้"

นายสมโภชน์กล่าวอีกว่าจะมีการนำเสนอแผนยุทธศาสตร์ในอนาคตต่อภาครัฐ อุตสาหกรรมแต่ละประเภทจะต้องเตรียมแผนทรานส์ฟอร์มธุรกิจเพื่อรองรับการแข่งขันในเวทีโลกทุกมิติ อาทิ การปรับปรุงกฎหมายหรือกฎระเบียบเพื่อให้ทันกติการะดับสากล ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน (BCG & ESG) และการมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ซึ่งเป็นเทรนด์ของโลกในปัจจุบัน

“ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา ผมในฐานะสมาชิกและเป็นรองประธาน ส.อ.ท. ทำงานด้วยจิตอาสาโดยไม่ได้หวังผลตอบแทนหรือรับประโยชน์ใด ๆ ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ผมอยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น จึงขอเสนอตัวเข้ารับการคัดเลือกเป็นประธาน ส.อ.ท. เพื่อช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไทยเติบโต อีกทั้งสามารถยืนอยู่บนเวทีโลกได้อย่างแข็งแกร่ง"

นอกจากนี้ คนอื่น ๆ ที่มีวิสัยทัศน์และความสามารถก็สมัครตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมได้ เพื่อนำเสนอสิ่งดี ๆ ให้แก่ภาพรวมของอุตสาหกรรม และผู้ที่ได้รับเลือกเป็นประธานฯ ควรที่จะนำข้อเสนอไปขับเคลื่อนต่อให้เป็นรูปธรรม ที่สำคัญต้องสร้างความโปร่งใสในการทำงาน เป็นเวทีกลางที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน และกระจายอำนาจให้แต่ละกลุ่มมาช่วยกันทำงาน

'รมว.ปุ้ย' เร่งถก 'ปรับผังเมืองใหม่' สอดรับการขยายตัวของเมืองที่เปลี่ยนไป หวังรองรับการลงทุน 'ใน-นอก' แบบไม่กระทบ 'สิ่งแวดล้อม-ชุมชน'

(29 ก.พ.67) นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เร่งดำเนินการตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 ก.พ.67 ให้กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งแก้ไขและบูรณาการเร่งรัดจัดหาแนวทางการจัดทำผังเมืองใหม่ให้สอดคล้องกับการขยายตัวของเมืองที่เปลี่ยนไป รวมถึงการยกระดับเมืองรอง เพื่อเตรียมพร้อมรับการลงทุนจากทั้งภายในและนอกประเทศ 

โดยผังเมืองเก่าในประเทศที่จัดทำมานาน อาจไม่เหมาะกับยุคปัจจุบัน โดยได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI), สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC), กรมโยธาธิการและผังเมือง, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางขจัดปัญหาและอุปสรรคในการปรับแก้ไขผังเมืองให้สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและเป็นที่ยอมรับของชุมชน / การกำหนดพื้นที่และประเภทการประกอบกิจการอุตสาหกรรม / การพัฒนาและขยายอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม / เร่งรัดระยะเวลาในการจัดทำผังเมือง และรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนตามข้อกำหนดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้ง EHIA และ EIA ที่มีข้อกำหนดแนบท้ายต่างๆ ให้สอดคล้องกับผังเมือง

“การแก้ไขปัญหาอุปสรรคในครั้งนี้ เน้นการดำเนินการแบบ Quick Win โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีนิคมอุตสาหกรรม หรือ เขตประกอบการอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 20 แห่ง จากการไม่สอดคล้องระหว่างผังเมืองของ EEC กับผังเมืองใหม่ ขณะเดียวกันในส่วนของขั้นตอนการปรับแก้ผังเมืองในด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น สนามบิน จำเป็นต้องศึกษาความเป็นไปได้ของการก่อสร้างสนามบิน รวมถึง การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ก่อนการปรับผังเมืองใหม่ด้วย” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

สำหรับการประชุมหารือในครั้งนี้ มีผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมเข้าร่วม ประกอบด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม, นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย, นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, นายนฤชา ฤชุพันธ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานเลขาธิการส่งเสริมการลงทุน, นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการสายงานเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ และว่าที่ร้อยเอก ธีรพงศ์ ครุธดิลกานันท์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เข้าร่วมประชุมด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top