Sunday, 3 December 2023
ECONBIZ

CP Seeding 'องค์ความรู้-ศักยภาพ' แห่งเครือ CP หนุน!! ผู้ประกอบการ SME ไทย GO INTER

จากรายการ THE TOMORROW ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 18 พ.ย.66 ได้พูดคุยกับ คุณเอกชัย ตั้งรัตนาวลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ซีดดิ้ง โซเชียลอิมแพคท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ในฐานะขององค์กรที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SME ไทยทั่วประเทศ ได้รับโอกาสทางธุรกิจผ่านแพลตฟอร์ม CPseeding.com และสามารถขยายธุรกิจไประดับโลกได้ ว่า...

CP Seeding เป็นหน่วยงานที่ CP สร้างขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ SME เติบโตได้ ด้วยกลไกต่าง ๆที่ทาง CP พร้อมสนับสนุน เนื่องจากมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจประสบความสำเร็จมายาวนาน ซึ่งถ้านำองค์ความรู้ของ CP มาสนับสนุนผู้ประกอบการจะทำให้เติบโตได้เร็วขึ้น รวมทั้งกระบวนการพัฒนาและตลาดรองรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

คุณเอกชัย กล่าวว่า "เรามองผู้ประกอบการคนไทยเป็นดั่งพี่น้อง ดังนั้นการพัฒนาผู้ประกอบการ หรือธุรกิจ ของพี่น้องคนไทย ให้เติบโตไปด้วยกัน จะเป็นการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจทั้งประเทศให้ดีขึ้น และยกระดับสินค้าไทยให้มีมาตรฐานและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น"

คุณเอกชัย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า "ผมมอง Mindset เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะ Mindset เถ้าแก่ เราต้องสร้างความเข้าใจในธุรกิจ เข้าใจกลไกของธุรกิจ โดย CP Seeding มีการวางกรอบการพัฒนาผู้ประกอบการออกเป็น 3 กรอบ ได้แก่ 

1.การเรียนรู้ตลาดก่อน ว่าสินค้าของผู้ประกอบการจะไปในทิศทางไหน ตอบโจทย์ผู้บริโภคหรือไม่ 
2.การทำต้นแบบสินค้าจริง เพื่อทดลองตลาดจริงๆ แล้วนำมาพัฒนาปรับปรุง 
3.การเข้าสู่ตลาด เนื่องจากทาง CP มีฐานตลาดจำนวนมาก ทำให้วิเคราะห์ตลาดให้เหมาะสมกับสินค้าได้"

ปัจจุบัน CP Seeding ได้เปิดรับนักธุรกิจที่สนใจ ได้แก่ 
1.กลุ่มเริ่มคิดทำธุรกิจ หรือยังไม่มีไอเดีย 
2.กลุ่มเกษตรกร 
3.กลุ่มสตรีทฟู้ด 
4.กลุ่มร้านอาหารและโรงแรม 
5.กลุ่มที่มีโรงงานและอยากผลิตสินค้าเข้าห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ 
6.กลุ่มสินค้าที่ได้รับความนิยมอยู่แล้ว ซึ่งจะสามารถขยายเพิ่มเติมไปยังต่างประเทศได้ 

ในส่วนจุดเด่นของ CP Seeding คุณเอกชัย กล่าวว่า "เป็นเรื่องของการ Support ข้อมูลให้กับผู้ประกอบการ เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดของผู้ประกอบการคือ ข้อมูล และเวลา จะเดินช้าไม่ได้ โดยผู้ประกอบการที่มาปรึกษากับเราส่วนใหญ่นิยาม CP Seeding ว่าเหมือนบันไดเลื่อน ช่วยให้สำเร็จรวดเร็วมากขึ้น ส่วนเป้าหมาย คาดหวังว่าจะช่วยผลักดันธุรกิจ หรือผมใช้คำว่าหาทีมชาติ 100 ผู้ประกอบการให้ไปตลาดโลกให้ได้ ซึ่งในปัจจุบันมีโครงการพาผู้ประกอบการไทยไปสำรวจตลาดที่ต่างประเทศ (Business Survey) ซึ่งเราจะพาไปดูตลาดจริง กับผู้รู้จริง ๆ สำรวจพฤติกรรมของผู้ซื้อในแต่ละประเทศว่าเป็นอย่างไร มี feedback กับสินค้าของเราอย่างไร ซึ่งตอนนี้มี แพลนพาผู้ประกอบการไปในรอบ ๆ บ้านเราก่อน เช่น กัมพูชา มาเลเซีย จีน เป็นต้น" 

สำหรับผู้ที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ https://www.cpseeding.com/ ทางบริษัทฯ เชื่อว่ากิจกรรมดังกล่าวจะช่วยพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ เติมเต็มองค์ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

‘ปตท. - GPSC - Nuovo Plus’ ร่วมมือ ‘TES’ ศึกษาการลงทุนตั้งโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่ในไทย

เมื่อไม่นานมานี้ ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ Mr. John Jonghun Oh, Chief Strategy Officer, Total Environmental Solutions Company Limited (TES) ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาธุรกิจรีไซเคิลแบตเตอรี่ ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) บริษัท นูออโว พลัส จำกัด (Nuovo Plus) และ บริษัท โทเทิล เอนไวโรเมนทอล โซลูชั่นส์ จำกัด (TES) 

โดยมี ดร.ยุทธนา สุวรรณโชติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สถาบันนวัตกรรม ปตท. นายมนัสชัย คงรักษ์กวิน รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ GPSC นายทิติพงษ์ จุลพรศิริดี กรรมการ Nuovo Plus และ Mr. Luc Scholte van Mast, Managing Director, TES ร่วมลงนาม เพื่อแสวงหาโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยีและศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่ในประเทศไทย สนับสนุนการดำเนินธุรกิจแบตเตอรี่ครบวงจรในอนาคต พร้อมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีรีไซเคิลมาส่งเสริมธุรกิจด้านพลังงานสะอาดที่เกี่ยวข้องให้แก่กลุ่ม ปตท. นอกจากจะช่วยเสริมศักยภาพการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับประเทศไทยต่อไป

‘นฤมล’ เผย ‘ญี่ปุ่น’ สนใจลงทุนหลากอุตฯ ใหม่ในไทย พร้อมเสนอ ‘ไทย’ เป็นฮับผลิตรถยนต์ EV ของอาเซียน

เมื่อวานนี้ (16 พ.ย. 66) ศาสตราจารย์นฤมล ภิณโญสินวัฒน์ ผู้แทนการค้า เปิดเผยภายหลังต้อนรับและหารือกับนายนะชิดะ คะสุยะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย โดยเอกอัครราชทูตนะชิดะ ได้กล่าวแสดงความยินดีต่อการเข้ารับตำแหน่งของศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้แทนการค้า พร้อมกล่าวยืนยันว่าประเทศญี่ปุ่นทั้งภาครัฐและภาคเอกชนพร้อมที่จะทำงานร่วมมือกับรัฐบาลภายใต้การนำ ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ซึ่งประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์เป็นมิตรที่ดีต่อกันมายาวนาน

ผู้แทนการค้า กล่าวว่า เอกอัครราชทูตนะชิดะ เสนอไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ที่หลากหลายในช่วงของการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ไปสู่การเป็นประเทศศูนย์กลางการผลิตรถ EV และสินค้าที่เชื่อมโยงเพื่อส่งไปยังประเทศอาเซียน อีกทั้ง ภายใต้นโยบาย Green Growth ของประเทศญี่ปุ่น ภาครัฐและเอกชนของญี่ปุ่นมีความสนใจร่วมลงทุนในธุรกิจที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกลุ่มใหม่ เช่น AI, Bio Technology, Modern Agriculture และ Clean Energy ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของท่านนายกฯ เศรษฐา ที่ต้องการส่งเสริม Green Economy & Clean Energy เช่นกัน 

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมพลังงานสะอาดจากแสงแดด ลม น้ำ และขยะ ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตอาจมีการนำพลังงานสะอาดเหล่านี้มาใช้ในภาคการผลิตมากขึ้น

นอกจากนี้ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) ยังมองว่า การเปลี่ยนผ่านนโยบายด้านพลังงานของไทยมีความเป็นรูปธรรมชัดเจน จึงพร้อมสนับสนุนนโยบายพลังงานสะอาดร่วมกับไทย และ METI จะเสนอกรอบความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างไทยกับญี่ปุ่น โดยจะเน้นย้ำประเด็น Green Transition

ในส่วนเรื่องการพัฒนาทุนมนุษย์ของไทย ผู้แทนการค้า กล่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นมีความตั้งใจที่จะให้การสนับสนุนด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลขั้นสูงต่อไป โดยหวังอย่างยิ่งว่านักธุรกิจรุ่นใหม่ในญี่ปุ่นและไทยจะได้มีการติดต่อแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันมากยิ่งขึ้น ในลักษณะ Business Matching

“เดือนธันวาคม นายกฯ และคณะผู้บริหารรัฐบาล มีกำหนดการไปเยือนประเทศญี่ปุ่น เพื่อหารือและขยายกรอบการลงทุนร่วมกับรัฐบาลญี่ปุ่น ในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-ไทยในหลายด้านให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นไปอีก” ผู้แทนการค้าย้ำ

‘3 Steps Plus’ พา ‘GC’ พลิกทำกำไรในช่วง ศก.โลกขาลง ‘ยกระดับการแข่งขัน-สร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์-บูรณาการความยั่งยืน’

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC พลิกทำกำไร ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกถดถอยและตลาดเคมีภัณฑ์ขาลง เป็นผลมาจากการวางแผนเตรียมรับมือล่วงหน้า ทำมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยมาตรการภายในที่เข้มแข็ง ได้แก่ ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ รักษาวินัยทางการเงินเข้มแข็ง และกลยุทธ์ 3 Steps Plus ที่มาถูกทาง ช่วยขับเคลื่อนองค์กรท่ามกลางสถานการณ์ธุรกิจเคมีภัณฑ์ทั่วโลกที่ยังผันผวน

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า 

“อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ยังคงเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก และ Industry Landscape ที่เปลี่ยนไป ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ทั่วโลก ในขณะที่ GC ได้มีการวางแผนเตรียมรับมือล่วงหน้า มุ่งเน้นทำสิ่งที่เราควบคุมได้ และดำเนินมาตรการภายในที่เข้มแข็งมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 ผ่านโครงการกว่า 10,000 โครงการ ส่งผลให้เกิดผลประโยชน์สะสมเฉลี่ยมากกว่า 6,900 ล้านบาทต่อปี”

มาตรการภายในที่เข้มแข็งดังกล่าว ได้แก่
>>Business Enhancement: การเพิ่มประสิทธิภาพ เสริมขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิต ได้ผลประโยชน์สะสมเฉลี่ยมากกว่า 5,200 ล้านบาทต่อปี

>>Organization & Digital Transformation: ปรับกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพทั่วทั้งองค์กร นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ การปรับโครงสร้างองค์กร และเพิ่มศักยภาพบุคลากร ได้ผลประโยชน์สะสมเฉลี่ยประมาณ 1,700 ล้านบาทต่อปี

>>ดำเนินมาตรการทางการเงิน: คงวินัยทางการเงินที่เข้มแข็ง บริหารสภาพคล่อง ควบคุมค่าใช้จ่าย และ บริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

*ลด OPEX ต่อเนื่องทุกปี โดยในปี 2566 คาดว่าจะลดได้ 1,500-2,000 ล้านบาท
*ลด CAPEX ประมาณ 7,000 ล้านบาท โดยการเลือกลงทุนอย่างชาญฉลาดในโครงการที่ให้ผลตอบแทนที่ดี และในขณะเดียวกันสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
*การลดหนี้และบริหารต้นทุนทางการเงิน โดยการซื้อคืนหุ้นกู้ (US Bond buy back) ทำให้มีกำไรประมาณ 460 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาของปี 2566 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี

>>Asset Light Strategy: ปรับโครงสร้างธุรกิจ ลดการถือครองสินทรัพย์ที่เป็น Non-core Assets

“ผลจากการดำเนินตามกลยุทธ์ 3 Steps Plus ส่งผลให้ GC มีพื้นฐานที่ดี และมีผลบวกในด้านต่าง ๆ รวมถึงผลประกอบการไตรมาส 3 ที่ดีขึ้น พร้อมกันนี้ GC ได้ทำการทบทวนและจัดลำดับความสำคัญให้สอดคล้องกับสถานการณ์ Industry Landscape ที่เปลี่ยนไป โดยกลยุทธ์ 3 Steps Plus ประกอบด้วย 

(1) Step Change ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์
(2) Step Out  มุ่งสู่ธุรกิจ High Value (Specialty Chemicals) and Low Carbon ( Bio and Circularity) 
(3) Step Up บูรณาการความยั่งยืนเข้าไปในธุรกิจ มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ภายในปี พ.ศ. 2593 ซึ่ง GC มีการดำเนินงานได้ตามแผนที่วางไว้”

ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3/2566 ของ GC ปรับตัวดีขึ้น มีกำไรสุทธิ 1,427 ล้านบาท มี Adjusted EBITDA ที่ 12,307 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 80% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2/2566 ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงขาลง มีการปรับตัวลดลงของ EBITDA ในไตรมาสที่ 3/2566 เมื่อเทียบกับ ไตรมาสที่ 2/2566 ประมาณ 20 - 40 % 

GC องค์กรยั่งยืนได้รับการยอมรับในระดับสากลและระดับประเทศ
>>GC ได้รับรางวัล DJSI อันดับหนึ่งของโลก ในกลุ่มเคมีภัณฑ์ ต่อเนื่อง 4 ปีติดต่อกัน (2562-2565) และในปี 2566 ได้รับคะแนนสูงสุดในกลุ่มเคมีภัณฑ์ ณ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2566

>>นอกจากนี้ยังมีรางวัลเกียรติยศอื่น ๆ อาทิ รางวัล Platinum ระดับสูงสุดจาก Ecovadis, ดัชนีชี้วัดความยั่งยืน CDP Water and Climate ได้รับการจัดอันดับ A LIST, องค์กรต้นแบบด้านความยั่งยืนระดับสูงสุด (LEAD) ของโลกจาก UN Global Compact Lead, หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ประจำปี 2566 ที่ระดับ AAA

>>ล่าสุดได้ตอกย้ำศักยภาพการเป็น Sustainability Thought Leader จากการจัดงาน GC Sustainable Symposium 2023: We are GEN S ซึ่งเป็นเวทีแบ่งปันองค์ความรู้ด้านความยั่งยืนในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยมีผู้ชมการถ่ายทอดสดผ่าน LIVE ใน 125 ประเทศทั่วโลก ทั้งยังได้ต่อยอดธุรกิจเพื่อก้าวสู่การเป็น ‘องค์กรคาร์บอนต่ำ’ และเพิ่มโอกาสในการร่วมงานกับพาร์ตเนอร์ใหม่ ๆ ที่สำคัญ

“ความสำเร็จของ GC ไม่เพียงตอกย้ำการเป็นองค์กรชั้นนำที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ด้วยความรับผิดชอบต่อโลก แต่ยังสะท้อนถึงความร่วมมือของคณะผู้บริหารและบุคลากรทุกคนที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนการเติบโตให้กับองค์กร ควบคู่ไปกับการสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนให้กับผู้ลงทุน รวมถึงการสร้างคุณค่าระยะยาวให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม” ดร.คงกระพัน กล่าวสรุป

‘รัฐบาลเช็ก’ สนใจลงทุน ‘รถยนต์-การแพทย์’ ในไทย เล็งเดินหน้าเจรจา FTA ‘ไทย-อียู’ ให้เสร็จตามแผน

(17 พ.ย. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยถึงการหารือกับนายปาเวล ปีเตล เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเช็กประจำประเทศไทย ว่า ประเทศไทยถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพของเช็ก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ โดยเช็กมีความสนใจที่จะสร้างหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมยานยนต์กับไทย เพื่อดึงดูดให้บริษัทยานยนต์ของเช็กเข้ามาลงทุน พัฒนาเทคโนโลยี และตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย เช่นเดียวกับที่ได้ดำเนินการมาแล้วในอินเดีย เวียดนาม ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยบริษัทที่กำลังจะเข้ามาลงทุนในไทย คือ บริษัท สโกด้า (เครือโฟล์คสวาเกน) ซึ่งเป็นผู้ผลิตยานยนต์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับอีวี ซึ่งแนวทางนี้สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของไทยด้วย 

นอกจากนี้ เช็กยังมีชื่อเสียงในด้านการผลิตสินค้าเพื่อการป้องกันประเทศ ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และเครื่องมือแพทย์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างส่งเสริมให้บริษัทด้านการแพทย์เข้ามาลงทุนในประเทศไทย

นางนลินี กล่าวว่า เช็กเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย โดยไทยมีสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนให้กับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุน ทั้งภายใต้บีโอไอและอีอีซี ปัจจุบันรัฐบาลมีแผนพัฒนาประเทศ เพื่อก้าวไปสู่การเป็น World’s Wellness Capital จึงเชิญชวนให้บริษัทด้านการแพทย์ของเช็กเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และร่วมกันพัฒนาทักษะของแรงงานไทยให้มีมาตรฐานมากขึ้น สำหรับบริษัทไทยที่เข้าไปลงทุนในเช็กปัจจุบันมีหลายบริษัท เช่น บริษัท อินโด รามาเวนเจอร์ ที่ตั้งโรงงานผลิตวัสดุเสริมแรงในยางรถยนต์ และในปี พ.ศ.2567 นี้ ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและสาธารณรัฐเช็กจะครบรอบ 50 ปี จึงเป็นโอกาสอันดีหากผู้บริหารระดับสูงของทั้งสองประเทศได้มีโอกาสพบหารือกัน

นางนลินี กล่าวว่า ทั้งสองประเทศเห็นพ้องกันว่า การเจรจาความตกลงเอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรป จะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าและส่งเสริมการเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่างกัน อย่างไรก็ตามเอฟทีเอ ดังกล่าว ถือเป็นความตกลงที่มีมาตรฐานสูง ไทยจึงขอให้เช็กช่วยสนับสนุนการเจรจาให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ โดยแม้ความตกลงจะมีรายละเอียดมาก และอาจต้องใช้เวลาปรับตัวในช่วงเริ่มต้น แต่เมื่อผ่านไปได้จะเกิดประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและนักลงทุนเป็นอย่างมาก

'พีระพันธุ์' จ่อเสนอ นายกฯ รื้อระบบกองทุนน้ำมัน เข้าใจทุกข์ประชาชน เจอราคาไม่นิ่ง 'ขึ้น-ลง' เหมือนตลาดหุ้น

(16 พ.ย. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงความกังวลประชาชนที่ห่วงว่า ราคาอาจจะกลับไปอยู่ที่ราคาเดิมแม้รัฐบาลจะประกาศปรับลดราคาน้ำมันลงมาถึง 2 บาท ว่า เรื่องนี้ยังเป็นปัญหาซึ่งต้องเข้าใจผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการต้องเข้าใจประชาชนกับรัฐบาลด้วยคิดว่าราคาพลังงานตอนนี้ มันไม่ใช่หุ้นที่ปรับขึ้นลงทุกวินาที ปรับทุกวัน แต่ยอมรับว่า ราคาพลังงานโลกก็เป็นแบบเดียวกันมีขึ้นลงตามสถานการณ์ ตนเองคิดว่า จะให้ประชาชนมารับภาระราคาที่วิ่งขึ้นวิ่งลงทุกวันแบบนี้ก็ไม่ถูกต้องจึงควรต้องมีระบบมาวางเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันที่ขายให้กับประชาชน

ส่วนการปรับราคาขึ้นลงเป็นเรื่องระหว่างผู้ประกอบการกับภาครัฐจะต้องมาหารือกันจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ไม่ใช่ว่า ราคาน้ำมันวิ่งขึ้นวิ่งลงอยู่ตลอดเวลาแบบนี้ แล้วรัฐก็คำนวณ และควบคุมไม่ได้ ตนเองจึงเห็นว่าเป็นระบบที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งตอนนี้กำลังศึกษาแก้ไขปัญหานี้อยู่ จะทำยังไงให้ราคาซื้อขายน้ำมันที่ประชาชนซื้อจากปั๊มมีเสถียรภาพ มีราคาที่แน่นอน

ส่วนราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นลงประจำวันแต่ละวันแต่ละนาทีก็ให้เป็นเรื่องระหว่างรัฐกับผู้ประกอบการไปว่ากัน ซึ่งตนเองกำลังคิดระบบนี้อยู่เพื่อประชาชนไม่ต้องมาแบกรับเหมือนอย่างที่ทุกวันนี้ พร้อมย้ำว่าทั้งหมดต้องศึกษาโครงสร้างกันใหม่ โครงสร้างที่มีก็ใช้มา 30 ปี จึงถึงเวลาต้องปรับปรุง

"อย่างอื่นยังปรับปรุงได้แล้วเรื่องนี้ทำไมไม่ปรับปรุง เอะอะก็มาอ้างเรื่อง เรื่องการค้าเสรีแต่ประชาชนมีปัญหาคิดว่ามันไม่ถูกต้อง ถ้าเป็นแบบนี้ก็อย่ามีรัฐจะดีกว่า ผมเห็นว่าควรจะมานั่งคิดระบบที่จะให้ประชาชนมีความเดือดร้อนน้อยลงและปัญหาก็ให้เป็นเรื่องระหว่างผู้ประกอบการกับภาครัฐ"

ส่วนจะใช้เวลานานหรือไม่ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า จะพยายามทำให้เร็วที่สุดเพราะไม่เคยมีใครทำมาก่อนตนเองคิดเป็นครั้งแรก ขณะเดียวกันก็เห็นว่า การปรับขึ้นราคาน้ำมันประจำวันแบบนี้เหมือนราคาหุ้น แล้วกองทุนน้ำมันก็มานั่งประชุมกันทุกวันแบบนี้ ก็ไม่ต้องทำอะไรกันเลย วัน ๆ มานั่งประชุมคิดแต่ว่าต้องปรับราคาขึ้นกี่สตางค์ งานก็มีตั้งเยอะ ไม่ใช่มานั่งคิดแต่เรื่องเดียว ซึ่งไม่ใช่วิธีการบริหารจัดการที่ถูกต้องแบบนี้ต้องปรับปรุงแก้ไข

ขณะเดียวกันก็ได้รายงานปัญหาทั้งหมดให้กับนายกรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ รวมถึงปัญหาเรื่องไหนบ้างที่ต้องแก้ไข ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็แสดงความคิดเห็นมา และก็สนับสนุนทุกเรื่อง เพราะทุกเรื่องที่ตนเองทำล้วนเป็นเรื่องที่ทำเพื่อประชาชนซึ่งตรงกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล จึงคิดว่าไม่มีปัญหาอะไรเพียงแต่ว่าทุกอย่างต้องคิดด้วยความรอบคอบ มันไม่ใช่คิดแล้วทำทันที แต่ต้องเริ่มคิด เพราะประชาชนได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก ผู้ประกอบการที่เคยมีระบบแบบนี้มานาน รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เคยชินกับระบบแบบนี้ถ้าจะเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงก็ค่อย ๆ ดูรูปแบบว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้มีผลกระทบน้อยที่สุด

นายพีระพันธุ์ ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า ตนเองเป็นรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน จะให้นั่งเฉย ดูประชาชนเดือดร้อน ซึ่งแบบนี้ทำไม่ได้

‘กระทรวงพาณิชย์’ ประกาศหมัดเด็ด ‘5 ด้าน’ ดันยอดส่งออกไทยปี 67 ทะลุ 10 ล้านล้าน

(16 พ.ย.66) ที่กระทรวงพาณิชย์ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงผลการประชุมร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อทำแผนการผลักดันการส่งออกของไทยในปี 2567 โดยภายหลังการหารือ ที่ประชุมได้รับทราบการตั้งเป้าหมายการส่งออกของไทยปีหน้า

เบื้องต้น ประเมินว่า จะขยายตัว 1.99% หรือประมาณ 2% โดยมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 287,754 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 10 ล้านล้านบาท

นายภูมิธรรม ระบุว่า ในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์จะรักษารับการเติบโตในปีที่ผ่านมาให้เป็นบวกต่อไป หลังจากเห็นสัญญาณการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหนุนน่าจะมาจากกรณีเหตุการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล น่าจะจบลงในระยะเวลาอันใกล้ เพื่อให้การค้าระหว่างประเทศกลับมาอยู่ในสถานการณ์ปกติมีความเสี่ยงเกิดขึ้น

พร้อมกันนี้ยังได้ประกาศแผนการเร่งรัดการส่งออกของไทย โดยได้กำหนดแนวทางการดำเนินงาน 5 ด้าน ดังนี้ 

1.เปิดประตูโอกาสทางการค้าสู่ตลาดใหม่ ควบคู่การรักษาตลาดเดิม 

โดยเดินสายสร้างสัมพันธ์ทั่วโลก เร่งผลักดันการเจรจา FTA ขยายการค้าไปยังเมืองรอง แผน 100 วัน ได้สร้างมูลค่าการสั่งซื้อรวมกันแล้วกว่า 490 ล้านบาท จากการผลักดันสินค้าไทยไปจัดแสดง ณ งาน CAEXPO ในหนานหนิงและงาน CIIE ในเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน และประเทศไทยได้ถูกเพิ่มในระบบ E-visa ของประเทศซาอุดิอาราเบียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

โดยแผน 1 ปี จะมีกิจกรรม Goodwill จำนวน 24 กิจกรรม กิจกรรมเปิดตลาดเชิงรุก มี Trade Mission 17 กิจกรรม ในประเทศมัลดีฟส์ อาเซียน ยุโรป UK รัสเซีย งานแสดงสินค้าไทย 12 กิจกรรม ในจีน อินเดีย ศรีลังกา ปากีสถาน บังกลาเทศ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา รวมถึงการขยายการค้าไปยังเมืองรอง 6 กิจกรรม 

พร้อมทั้งจัดทำ MOU กับเมืองรองเพิ่ม เช่น แอฟริกา (โจฮันเนสเบิร์ก โมซัมบิก) จีน (กว่างซีจ้วง เจ้อเจียง ซานซี เฮยหลงเจียง ฝูเจี้ยน) ภายใต้ยุทธศาสตร์ ‘การค้าเชิงรุกรายมณฑลจีน’ และต่อยอด MOU ที่ลงนามแล้ว รวมไปถึงการขยายช่องทางการค้าใหม่ๆ เช่น การเจาะธุรกิจ Horeca ในยุโรปและเร่งสรุปผลการเจรจา FTA กับคู่เจรจาต่าง ๆ 

2.ทูตพาณิชย์ ทำงานเชิงรุก

โดยร่วมทำงานกับพาณิชย์จังหวัดให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น เชื่อมโยงสินค้าท้องถิ่นสู่ตลาดโลก โดยได้มอบนโยบายต่อทูตพาณิชย์ในการเร่งหาช่องทางการค้าใหม่ๆ เช่น การค้นหา Influencer ทั้งในไทยและต่างประเทศที่มีผู้ติดตามมากเพื่อเพิ่มการรับรู้สินค้าไทย และใช้ร้านอาหาร Thai Select เป็นเสมือนที่จัดแสดงสินค้าภูมิปัญญาไทยและช่องทางส่งออกวัตถุดิบอาหารและเครื่องปรุงรสของไทย 

รวมทั้งบูรณาการทำงานเชิงรุกร่วมกันระหว่างทูตพาณิชย์ พาณิชย์จังหวัด และทัพหน้าของไทยในต่างแดน อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ BOI เพื่อช่วยขับเคลื่อนการส่งออกของไทย โดยในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 นี้ นายกรัฐมนตรีจะมอบนโยบายการทำงานให้กับทูตทั่วโลก โดยกระทรวงพาณิชย์จะนำเสนอการขับเคลื่อนนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกต่อนายกรัฐมนตรี สำหรับแผน 1 ปีจะดำเนินการหาช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ๆ ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ให้มากขึ้น เพื่อขยายส่วนแบ่งตลาดสินค้าไทย ในประเทศประจำการเขตอาณาและเพิ่มบทบาททูตพาณิชย์ ให้เป็นคู่คิดของผู้ประกอบการ SMEs ‘พาณิชย์คู่คิด SMEs’ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะรายเล็กให้สามารถส่งออกได้เพิ่มมากขึ้น

3. ส่งเสริม SOFT POWER เป้าหมายรุกสู่เวทีโลก 

ด้วยการเพิ่มมูลค่าสินค้า/บริการไทยด้วยแบรนด์ นวัตกรรม และการออกแบบ และส่งเสริมสู่ตลาดโลก โดยมีเป้าหมายในกลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ อาหาร ดิจิทัล คอนเทนต์ มวลไทย ท่องเที่ยว หนังสือ และเกม ล่าสุดจากการนำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหาร Anuga ที่เยอรมนี สร้างมูลค่า 5,318.05 ล้านบาท และกลุ่มดิจิทัลคอนเทนต์ สร้างรายได้กว่า 2,620.13 ล้านบาท 

ทั้งนี้ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2566 นี้ จะจัดงาน Muay Thai Global Power ณ ไอคอนสยาม การร่วมงาน Asia TV Forum and Market ที่สิงคโปร์ รวมทั้งในวันนี้ได้มีพิธีลงนามความร่วมมือ 3 ฝ่าย ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ เชื่อมโยงการค้าและการท่องเที่ยวไว้ด้วยกัน 

สำหรับแผน 1 ปี จะมีการเปิดตัว SOFT POWER Global Brand จำนวน 9 กิจกรรม ทั้งในส่วนของการ re-branding Thai select, เครื่องหมาย Thailand Trust mark, Demark เป็นต้น การส่งเสริมดิจิทัลคอนเทนต์ 19 กิจกรรม กลุ่มสินค้าอาหาร 76 กิจกรรม หนังสือ 2 กิจกรรม และสนับสนุนนักออกแบบไทยผ่านโครงการต่างๆ 

4.ปรับปรุงการทำงานของภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล 

โดยปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรค ปรับบทบาทเป็นรัฐสนับสนุน โดยแผน quick win 100 วันที่ได้ดำเนินการไปแล้ว อาทิ การปรับปรุง พ.ร.บ. สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ พ.ศ.2537 การปรับปรุงเว็บไซต์กรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ การหารือกับภาคเอกชนร่วม ยกร่างแผนเร่งรัดการส่งออกและการค้าชายแดน quick win 100 วัน 

ส่วนแผน 1 ปี จะเดินหน้าทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน ในการแก้ไขปัญหา/อุปสรรคทางการค้า โดยต่อยอดคณะทำงานร่วมกระทรวงพาณิชย์

5. ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ 

เริ่มตั้งแต่การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว โดยแผน quick win 100 วันที่จะดำเนินการ เช่น การจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 2 (ปี 2566 - 2570) การจัดเจรจาการค้าธุรกิจออนไลน์ และการส่งเสริมการขายสินค้า TOP Thai บนแพลตฟอร์มออนไลน์พันธมิตร อาทิ Shopee ในมาเลเซีย และ Rakuten ในญี่ปุ่น 

การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ อาทิ การสัมมนาเสริมสร้างทรัพย์สินทางปัญญาผู้ส่งออกไทย และการเสวนา export 5 F รวมทั้งการยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศ อาทิ นำผู้ประกอบการร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ Automechanika ที่ยูเออี งาน APPEX ที่สหรัฐฯ และงาน Medica ที่เยอรมนี 

ส่วนกิจกรรมที่ได้ดำเนินการแล้ว ทั้ง การจัด Virtual Showroom และ Online Business Matching  ในสินค้าเกษตรแปรรูปและอาหารกลุ่ม BCG สร้างมูลค่า 5.30 ล้านบาท และงานแสดงสินค้า AUTOMECHANIKA DUBAI 2023 มีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมกว่า 30 ราย มูลค่าการสั่งซื้อ 2,991.27 ล้านบาท

ขณะเดียวกันในปีนี้ได้เตรียมแผนงานรองรับไว้กว่า 300 กิจกรรม อาทิ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล 8 กิจกรรม เช่น การตั้งร้าน Top Thai บน Amazon ของอังกฤษ การขยายความร่วมมือกับ LetsTango.com ในยูเออี การส่งเสริมการขายกับแพลตฟอร์มพันธมิตร การส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว 14 กิจกรรม 

โดยจะนำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมสีเขียวในยุโรป ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา การยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศ 108 กิจกรรม โดยการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติในไทยและการนำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ พร้อมกับการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ 177 กิจกรรม เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการในด้านการค้าระหว่างประเทศ

‘ปตท.’ ได้รับการประเมินการกำกับดูแลกิจการ ระดับดีเลิศ 15 ปีซ้อน สะท้อนการพัฒนามาตรฐานการกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างต่อเนื่อง

เมื่อไม่นานมานี้ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า ปตท. ได้รับการประเมินการกำกับดูแลกิจการในระดับ ดีเลิศ (Excellent CG Scoring) หรือ 5 ตราสัญลักษณ์ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 15 และติดหนึ่งใน Top Quartile ของบริษัทจดทะเบียนที่มีมูลค่าทางการตลาดไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท ในโครงการสำรวจการกำกับการดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน (Corporate Governance Report of Thai Listed Companies: CGR) ประจำปี 2566 จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) โดยการสนับสนุนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) 

ทั้งนี้ ปตท. ได้ผ่านหลักเกณฑ์ที่สำคัญด้านการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน รวมถึงครอบคลุมทั้งในด้าน ESG (Environmental, Social and Governance) สะท้อนการพัฒนามาตรฐานการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืนและสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศสู่การยอมรับในระดับสากล

'พิมพ์ภัทรา' ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าศูนย์ทดสอบฯ มั่นใจ!! ไทยขึ้นแท่นฮับอาเซียน ด้าน 'ยานยนต์-ชิ้นส่วน'

(16 พ.ย.66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (Automotive and Tyre Testing, Research and Innovation Center - ATTRIC) จังหวัดฉะเชิงเทรา ว่า รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) เป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อของไทย ไปสู่การเป็นซุปเปอร์คลัสเตอร์อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นเป้าหมายของการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ที่รัฐบาลต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์และยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก สามารถดึงดูดนักวิจัย และนักลงทุนจากทั่วโลกสู่ประเทศไทย ซึ่งโครงการนี้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ 

แต่เมื่อมีการเปลี่ยนสมัยมาเป็นรัฐบาลของท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ก็ยังคงมีการสานต่อ พัฒนา และต่อยอด นโยบายได้เป็นอย่างดี โดยท่านนายกเศรษฐาก็ได้มีการกล่าวถึงการพัฒนาศูนย์สอบฯ แห่งนี้ เพื่อตอกย้ำความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนยางรถยนต์ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความเชื่อมั่นในความสำเร็จของประเทศไทยที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ของอาเซียน ขณะนี้ศูนย์ทดสอบอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง และจะพร้อมเปิดให้บริการครบวงจรได้ในปี 2569 เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานโลกแห่งแรกในอาเซียน รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการทดสอบด้านมาตรฐานยานยนต์อันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับที่ 11 ของโลก สร้างรายได้เข้าประเทศไม่น้อยกว่าปีละ 1,000 ล้านบาท ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น 

ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานหลักในการก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 ภายในกรอบวงเงิน 3,705.7 ล้านบาท บนพื้นที่ 1,234.98 ไร่ ณ ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการแล้วเสร็จ คิดเป็นร้อยละ 55 ของวงเงินงบประมาณ โดยดำเนินการก่อสร้างสนามทดสอบแล้วเสร็จจำนวน 5 สนาม ได้แก่ 1) สนามทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน UN R117 และทางวิ่ง 2) สนามทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วน จำนวน 4 สนาม ได้แก่ สนามทดสอบระบบเบรกมือ / สนามทดสอบการยึดเกาะถนนขณะเข้าโค้ง / สนามทดสอบระบบเบรก และสนามทดสอบพลวัต

ยังเหลือการก่อสร้างอีก 1 สนาม คือ สนามทดสอบความเร็วและสมรรถนะ และการป้องกันดินสไลด์ สู่สนามทดสอบยางล้อ รวมทั้งก่อสร้างทางวิ่งส่วนต่อขยายจากสนามทดสอบยางล้อเพื่อการทดสอบตามมาตรฐาน UN R117 และสถานีสำหรับเตรียมสภาพรถ ตลอดจนจัดซื้อชุดเครื่องมือทดสอบการป้องกันผู้โดยสาร เมื่อเกิดการชนด้านหน้าและด้านข้างของยานยนต์ ทั้งหมดนี้จะดำเนินการในช่วงปีงบประมาณ 2566 - 2568 ซึ่งคาดว่าศูนย์แห่งนี้จะสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์พร้อมให้บริการอย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2569

ด้าน นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการกำหนดมาตรฐานเพื่อรองรับการดำเนินงานศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ได้กำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบยางล้อ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์แล้ว จำนวน 18 มาตรฐาน เช่น มาตรฐานรถยนต์ไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า สถานีชาร์จรถไฟฟ้า ยางล้อรถมอเตอร์ไซค์ ยางล้อรถยนต์ ยางล้อรถบรรทุก เข็มขัดนิรภัย และกระจกนิรภัย เป็นต้น ภายหลังการดำเนินการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ แล้วเสร็จสมบูรณ์ คาดว่าจะมีรายได้ ไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท/ปี ลดระยะเวลาและช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดค่าใช้จ่ายในการส่งผลิตภัณฑ์ ไปทดสอบที่ต่างประเทศ 30 - 50% สร้างเม็ดเงินสะพัดในพื้นที่ได้ไม่ต่ำกว่า 148 ล้านบาทต่อปี เพิ่มปริมาณการผลิตและการแปรรูปยางพารา รวมทั้งลดต้นทุนการผลิตยางล้อ ไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาทต่อปี รองรับ MRA ของอาเซียนด้านยานยนต์และยางล้อ ตลอดจนยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนและยางล้อ ให้เป็น Super Cluster สู่อุตสาหกรรม 4.0 ดึงดูดการลงทุนในพื้นที่เพิ่มขึ้น เกิดการจ้างงานในชุมชน ประชาชนในพื้นที่ มีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็น Landmark แห่งใหม่ของจังหวัดฉะเชิงเทรา สร้างภาพลักษณ์ที่ดี และเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติอีกด้วย นายวันชัยฯ กล่าว

‘นายกฯ เศรษฐา’ ลั่น ‘การเมืองไทย’ มีเสถียรภาพ พร้อมต้อนรับนักลงทุนทั่วโลก เข้ามาลงทุนในไทย

(16 พ.ย. 66) (เวลา 13.30 น. วันที่ 15 พ.ย. 66 ตามเวลาท้องถิ่น นครซานฟรานซิสโก ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 15 ชั่วโมง) ณ Summit Hall ศูนย์การประชุม Moscone Center (West) นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาในการประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชนของเอเปค (APEC CEO Summit 2023) เน้นย้ำว่า ขณะนี้ถึงเวลาที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้ว และไทยพร้อมที่จะทำงานร่วมกับพันธมิตรทุกรายจากทั่วโลก เพื่อพบปะและพูดคุยกับผู้นำธุรกิจ APEC ที่โดดเด่นจากทั่วภูมิภาค ซึ่งถือเป็นผู้ขับเคลื่อนที่สำคัญทางเศรษฐกิจ และด้วยบรรยากาศทางการเมืองที่มีเสถียรภาพ รัฐบาลกำลังผลักดันอย่างเต็มที่ผ่านนโยบายทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่จะมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง โดยให้ความสำคัญกับการขยายการเติบโต กระตุ้นความสามารถในการแข่งขัน และ ยกระดับตำแหน่งของประเทศในฐานะจุดหมายปลายทางที่โดดเด่นสำหรับการค้าและการลงทุน การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยและดึงดูดการลงทุน ส่งเสริมนวัตกรรมและความเป็นผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันต้องส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการเติบโตและการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย

ทั้งนี้ ประเทศไทย โดยรัฐบาลกำลังวางแผนที่จะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน เพื่อดำเนินโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) ซึ่งสิ่งนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศของเราเท่านั้น แต่ยังจะยกระดับการรับรู้และทักษะด้านดิจิทัลอีกด้วย โดยในระยะยาว รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลดิจิทัล ส่งเสริมการทำงานร่วมกัน เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของบริการสาธารณะของประเทศ รวมทั้งพร้อมจะต้อนรับการลงทุนและแรงงานที่มีทักษะเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมดิจิทัล

นอกจากนี้ ไทยจะเร่งเดินหน้าเขตการค้าเสรีเอเชีย - แปซิฟิก (FTAAP) ยังคงเป็นปณิธานที่สำคัญ และจะทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย รวมทั้งการเร่งสถาปัตยกรรมการค้าทวิภาคีและภูมิภาคอื่น ๆ เพื่อสร้างพันธมิตรใหม่ และไทยจะยกระดับ FTA เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อเสริมสร้างการเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจร่วมกัน ขณะเดียวกันได้เปิดโอกาสทางการค้าและการลงทุนใหม่ ๆ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาสะพานข้ามทะเลเพื่อเชื่อมต่อทะเลอันดามันกับอ่าวไทย (Landbridge) ซึ่งจะช่วยลดเวลาการเดินทางระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์ระดับภูมิภาคภายในทศวรรษนี้

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพบปะกับคู่ค้าทางธุรกิจระหว่างการเยือนต่างประเทศ ซึ่งจะนำทีมผู้นำธุรกิจจากประเทศไทยเพื่อสร้างเครือข่ายและการจับคู่ธุรกิจเพิ่มเติมที่นครซานฟรานซิสโก พร้อมมีความยินดีที่จะทำงานร่วมกันและสร้างความก้าวหน้าที่มีความหมายต่อไปสำหรับผู้คนในปัจจุบันและรุ่นต่อ ๆ ไป โดยเน้นย้ำว่า ‘ถึงเวลาแล้วที่จะลงทุนในประเทศไทยให้มากขึ้น’ ซึ่งไทยพร้อมก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วและจะขยายความร่วมมือร่วมกันต่อไป

‘โฆษกรัฐบาล’ เผย ‘ไทย’ ติดอันดับ 43 นวัตกรรมโลกปี 66 ตั้งเป้า!! เดินหน้าสู่การเป็น ‘ชาตินวัตกรรม’ ในอนาคต

(16 พ.ย.66) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก ประจำปี 2566 (Global Innovation Index 2023) ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) ซึ่งไทยได้รับการจัดอันดับที่ 43 จากทั้งหมด 132 ประเทศและเขตเศรษฐกิจ และถือเป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียน ทั้งนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมกำหนดนโยบายส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรม ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น ‘ชาตินวัตกรรม’

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ดัชนีนวัตกรรมโลกเป็นการจัดอันดับความสามารถทางนวัตกรรมของประเทศและเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั่วโลก ผ่านการประเมินตัวชี้วัดทั้งสิ้น 80 ตัว เน้นย้ำถึงบทบาทที่สำคัญของนวัตกรรมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาคและโลก ซึ่งในปีนี้ แม้ไทยยังคงอันดับที่ 43 เท่ากับปีที่แล้ว แต่มีปัจจัยย่อยที่ดีขึ้น ได้แก่ ปัจจัยย่อยการนำเข้าทางนวัตกรรม (Innovation input sub-index) อยู่ในอันดับที่ 44 (ดีขึ้น 4 อันดับ) และปัจจัยย่อยผลผลิตทางนวัตกรรม (Innovation output sub-index) อยู่ในอันดับที่ 43 (ดีขึ้น 1 อันดับ) นอกจากนี้ เมื่อพิจารณารายกลุ่มปัจจัย ไทยมีอันดับของกลุ่มปัจจัยดีขึ้น 5 จาก 7 กลุ่ม โดยกลุ่มที่มีอันดับดีขึ้นมากที่สุด คือ กลุ่มปัจจัยด้านระบบตลาด (Market sophistication) ซึ่งไทยอยู่ในอันดับที่ 22 (ดีขึ้น 5 อันดับ)

ผลการจัดอันดับดังกล่าวระบุว่า ไทยมีการเติบโตของเศรษฐกิจและนวัตกรรมที่สูงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยความสามารถในการผลิตนวัตกรรมมีมากขึ้น เนื่องจากการลงทุนในด้านนวัตกรรมภายในประเทศที่มากขึ้น และไทยมีจุดแข็งในการพัฒนานวัตกรรม ได้แก่ การส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ ค่าใช้จ่ายมวลรวมภายในประเทศสำหรับการวิจัยและพัฒนา ซึ่งลงทุนโดยภาคเอกชนหรือองค์กรธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงจุดแข็งในด้านการประยุกต์ใช้ผลิตภัณฑ์อรรถประโยชน์ตามถิ่นกำเนิด (Utility Models by origin) เป็นต้น

“ยืนยันความตั้งใจของนายกรัฐมนตรี ซึ่งให้ความสำคัญต่อการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถทางด้านนวัตกรรมของประเทศ นายกรัฐมนตรีเดินหน้าผลักดันพัฒนาการทางนวัตกรรมเสมอมา โดยสอดคล้องกับผลของการจัดอันดับที่ระบุว่า ไทยมีพัฒนาการทางด้านนวัตกรรมที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายปัจจัย ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าภายใต้การดำเนินนโยบายของนายกรัฐมนตรีจะขับเคลื่อนไทยสู่การเป็น ‘ชาตินวัตกรรม’ และไทยจะก้าวสู่อันดับที่ 30 ของประเทศที่มีความสามารถด้านนวัตกรรมของโลกภายในปี 2573” นายชัย กล่าว

‘นายกฯ’ ยัน ไม่ทอดทิ้งรถยนต์สันดาป ‘ญี่ปุ่น’ ในไทย พร้อมเล็งเปิดฟรีวีซ่าของทั้ง 2 ชาติ เอื้อนักธุรกิจลงทุน

(16 พ.ย.66) ที่โรงแรมเดอะริทซ์คาร์ลตัน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวถึงการหารือทวิภาคี กับนายคิชิดะ ฟูมิโอ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30 ว่า หารือเรื่องของความสัมพันธ์ที่มีมานาน 50 ปี และหารือเรื่องการใช้รถยนต์สันดาป โดยตนให้ความมั่นใจกับทางญี่ปุ่นไปว่าจะไม่ทอดทิ้ง มีการพูดคุยกันว่าให้การประกอบรถยนต์สันดาปของญี่ปุ่น และกระบวนการจัดการผลิตอยู่ได้ ขณะที่รถไฟฟ้า (อีวี) ที่มีความต้องการสูง และได้พูดในหลายเวทีว่าประเทศญี่ปุ่นมีการลงทุนในประเทศไทยสูงที่สุดในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จึงต้องมาดูแลช่วยเหลือกัน และทางญี่ปุ่นยืนยันว่าธุรกิจยานยนต์เป็นธุรกิจสำคัญและจะพัฒนาต่อในประเทศไทย และในระหว่างวันที่ 16 - 18 ธ.ค.นี้ ตนจะเดินทางไปร่วมประชุมอาเซียน ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นอกจากนั้นยังพูดคุยอีกหลายเรื่อง เช่น การฟรีวีซ่าสำหรับนักธุรกิจของสองประเทศ ที่ทั้งสองฝ่ายมีการตกลงเห็นตรงกันว่าไม่จำเป็นต้องขอเพื่อให้นักธุรกิจ ติดต่อธุรกิจและไปมาหาสู่สะดวกมากขึ้น เป็นเรื่องที่ดีที่สองฝ่ายเห็นตรงกัน 

ผู้สื่อข่าวถามเรื่องวีซ่านักธุรกิจ จะจำกัดจำนวนวัน ในการเข้ามาพำนักเพื่อประกอบธุรกิจหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ยังไม่มี เป็นหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศต้องไปศึกษา โดยการทำธุรกิจต้องใช้เวลานานเล็กน้อย ส่วนรายละเอียดคาดว่าจะตกลงกันได้ในระหว่างการไปร่วมประชุม 

‘กลุ่ม ปตท.’ ผนึกกำลังแสดงนวัตกรรมสร้างรอยยิ้มให้ชุมชน  ในงาน ‘PTT Group Innovation for Future Society 2023’ 

เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 66 ที่ผ่านมา บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) จัดงาน ‘PTT Group Innovation for Future Society 2023 จุดพลังสร้างอนาคต ขับเคลื่อนชุมชนสู่ความยั่งยืน’ แสดงนวัตกรรมและผลสำเร็จของโครงการนวัตกรรมสร้างรอยยิ้ม กลุ่ม ปตท. โดยมี นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยผู้บริหารบริษัทใน กลุ่ม ปตท. ผู้นำชุมชนและสมาชิกชุมชนจาก 45 พื้นที่เครือข่าย รวมถึงเยาวชนจากโครงการ Restart Thailand เข้าร่วมงาน ณ ปตท. สำนักงานใหญ่ 

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวว่า ‘โครงการนวัตกรรมสร้างรอยยิ้ม กลุ่ม ปตท.’ เป็นอีกหนึ่งโครงการ ที่ ปตท. และบริษัทในกลุ่มรวมพลังกันเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยนำนวัตกรรม องค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญของแต่ละบริษัทมาพัฒนาชุมชนเครือข่าย 45 ชุมชน ใน 29 จังหวัดทั่วประเทศ ผ่านการพัฒนาให้สอดคล้องกับบริบทชุมชนใน 3 ด้านประกอบด้วย Smart Farming ยกระดับการเกษตรด้วยนวัตกรรมให้ผลผลิตที่มีคุณภาพในปริมาณที่สูงขึ้น Smart Marketing การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์โดยการแปรรูปและสร้างมาตรฐานให้ผลิตภัณฑ์ เพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายให้แก่ชุมชน และ Community-Based Tourism ส่งเสริมการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนตามอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม 

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการฯ เป็นไปตามเป้าหมาย ทุกชุมชนสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากฐานรายได้เดิม ร้อยละ 10 มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนรวม 45 รายการ พัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวโดยชุมชนจำนวน 6 พื้นที่ รวมถึงชุมชนมีทักษะและศักยภาพที่สามารถดำเนินการและพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งผลสำเร็จจากโครงการจะทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป

นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท. ยังร่วมแก้ปัญหาการว่างงาน โดยจ้างบัณฑิตจบใหม่ผ่านโครงการ Restart Thailand กว่า 280 อัตรา เพื่อให้เป็นพลังร่วมขับเคลื่อนโครงการฯ พัฒนาและสร้างความเป็นอยู่ที่ดีแก่ชุมชนบ้านเกิด เป็นโอกาสให้เยาวชนที่จบใหม่และอยู่ในพื้นที่โครงการฯ ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับท้องถิ่นและสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้รับจากกลุ่ม ปตท. พัฒนาพื้นที่บ้านเกิด นับเป็นผลสำเร็จของการพัฒนาชุมชนในทุกมิติ ให้ชุมชนในพื้นที่สามารถต่อยอด และพึ่งพาตนเองต่อไปได้

การจัดงาน PTT Group Innovation for Future Society 2023 ครั้งนี้ จึงเป็นการสรุปผลสำเร็จของโครงการฯ ที่ได้ดำเนินมาตลอดเป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2564 - 2566 รวมถึงเป็นการนำนวัตกรรมและองค์ความรู้ของ กลุ่ม ปตท. และองค์ความรู้ของชุมชนที่เกิดขึ้นในโครงการฯ พัฒนาเป็น ‘จุดเรียนรู้’ 12 พื้นที่ มาจุดประกายให้ผู้ที่ร่วมงานได้นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ เพื่อขยายพื้นที่สร้างรอยยิ้มให้กับชุมชนอื่น ๆ ได้ต่อไป เพราะทุกชุมชนคือรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ”

สำหรับการจัดงาน ‘PTT Group Innovation for Future Society 2023 จุดพลังสร้างอนาคต ขับเคลื่อนชุมชนสู่ความยั่งยืน’ จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 14-15 พฤศจิกายน 2566 โดยมีการจัดแสดงนวัตกรรมและผลสำเร็จของโครงการฯ ผ่านพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ 3 โซน ประกอบด้วย โซนที่ 1 นวัตกรรมเพื่อชุมชน โดย กลุ่ม ปตท. และพื้นที่เรียนรู้ชุมชน โซนที่ 2 การท่องเที่ยวโดยชุมชน ผลิตภัณฑ์ชุมชน และโซนที่ 3 ตลาดนัดชุมชน 

นอกจากนี้ ยังมีเวทีเสวนาเพื่อให้ชุมชนได้แบ่งปันประสบการณ์ในการดำเนินโครงการฯ รวมถึงได้รับเกียรติจากวิทยากรภายนอก อาทิ คุณสรกล อดุลยานนท์ ‘หนุ่มเมืองจันทร์’ เจ้าของสวนสันติเกษตรอินทรีย์ เป็นผู้ดำเนินเวที, คุณชารีย์ บุญญวินิจ จาก ฟาร์มลุงรีย์ Uncle Ree Farm, คุณนิพนธ์ พิลา จาก พิลาฟาร์มสตูดิโอ, คุณจรงศักดิ์ รองเดช จากภัตตาคารบ้านทุ่ง และคุณธราณิศ ประเสริฐศรี Co-Founder Technical จาก Varuna สตาร์ตอัปสายเขียวเกษตรกรยุคใหม่ ร่วมเติมเต็มเรื่องราวการพัฒนาชุมชนที่น่าสนใจอีกด้วย

“กลุ่ม ปตท. จะยืนหยัดมุ่งมั่นดูแลความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ พร้อมพัฒนาธุรกิจใหม่ที่ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย ควบคู่ไปกับการดูแลชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 

ปตท. ได้นำส่งรายได้เข้ารัฐเพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศ นับตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน (9 เดือนแรกของ ปี 2566) ในรูปแบบภาษีเงินได้และเงินปันผล แล้วกว่า 1.21 ล้านล้านบาท ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ปตท. ได้ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคมและชุมชน ทั้งในกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ  ทั้งด้านการส่งเสริมชุมชนเข้มแข็ง การแก้ปัญหาภัยพิบัติ การส่งเสริมการศึกษา และการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการนวัตกรรมสร้างรอยยิ้ม กลุ่ม ปตท. แม้ว่าระยะเวลาการดำเนินโครงการฯ จะสิ้นสุดลงแล้ว แต่เชื่อว่าองค์ความรู้ นวัตกรรม และวิถีการเกษตรครบวงจรจะยังดำเนินการและพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง” นายอรรถพล กล่าวปิดท้าย

‘พิมพ์ภัทรา’ ชี้ภาพรวมอุตสาหกรรมไทย ต้องเร่งปรับตัวรับระเบียบโลกใหม่ ตามเทรนด์ความยั่งยืนและดิจิทัล ยัน!! รัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รับมือการเปลี่ยนแปลง

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังเป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาประจำปี OIE Forum 2566 ‘MIND: set for Sustainability ปรับมุมคิด พลิกอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน’ เมื่อวันที่ 13 พ.ย.2566 จัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ว่า แนวโน้มการลงทุนภาคอุตสาหกรรมในครึ่งปีหลังที่มีนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่เซลส์แมนประเทศเดินทางเจรจาเชิงรุกเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ในไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการร่วมประชุมเอเปคที่สหรัฐ และติดตามความคืบหน้าการลงทุนที่สนใจเข้ามาตั้งฐานผลิตในไทย โดยเฉพาะพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมถึงการเชิญชวนลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ซึ่งจะเป็นเมกะโปรเจกต์โครงสร้างพื้นฐานใหม่ของประเทศ

โดยไทยมีความเข้มแข็งในเรื่องซัพพลายเชนในประเทศที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีมาตรการสิทธิประโยชน์ที่ส่งเสริมนักลงทุนใหม่ทั้งด้านภาษี และไม่ใช่ภาษี รวมถึงมาตรการที่สนับสนุนนักลงทุนในประเทศโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

สำหรับการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ปัจจุบันมีรายใหม่ที่เข้ามาในประเทศไทย ทั้งค่ายรถยนต์และซัพพลายเชน โดยไทยจะยังดำเนินมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการยานยนต์เดิม และซัพพลายเชนในประเทศควบคู่กันไป

ทั้งนี้ สศอ. ได้ประมาณการอัตราการขยายตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) และอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) อุตสาหกรรมปี 2567 จะขยายตัวได้ 2-3% เป็นผลมาจากการขยายตัวของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนในเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงาน รวมทั้งผลจากการฟื้นฟูของภาคการท่องเที่ยวที่ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่า เช่น อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ยารักษาโรค อุตสาหกรรมแฟชั่น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งระหว่างประเทศภาระหนี้สินครัวเรือน และภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูงท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ย ที่เป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ และความสามารถในการชำระหนี้ของคนไทย โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีซึ่งจะมีการผลักดันเรื่องการพักหนี้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีตามนโยบายรัฐบาล โดยหาแนวทางการช่วยเหลือที่เหมาะสม เช่น การพักเงินต้น การพักดอกเบี้ย โดยไม่สร้างปัญหาการจงใจผิดชำระหนี้ของลูกหนี้ (Moral Hazard)

ขณะที่ ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคเกษตร และส่งผลต่อเนื่องมายังวัตถุดิบที่จะเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะพื้นที่อ่อนไหวสูงที่ต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกันระหว่างภาคเกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรอื่นๆ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างทันท่วงที

‘ดอยคำ’ เปิดตัวไอศกรีม ICE POP ‘รสฟรุตแอ๊บพันซ์’ มาพร้อมบรรจุภัณฑ์พิเศษ!! เก็บในอุณหภูมิห้องได้ ไม่ง้อตู้เย็น

‘ดอยคำ’ เปิดตัวไอศกรีมหวานเย็นรักษ์โลกสูตรใหม่ล่าสุด เอาใจคนรักสนุก กับดอยคำ ICE POP ‘ฟรุตแอ๊บพันซ์’ หวานเย็นเต็มรส 4 ผลไม้แท้ อร่อย หวาน หอม ซ่อนเปรี้ยว สไตล์ฟรุ้ตตี้สุด ๆ พร้อมแชร์ความสนุกให้กับทุกปาร์ตี้

หลังจากเปิดตัว ICE POP กลุ่มแรกออกไปไม่นาน กระแสตอบรับดีเกินคาด ถูกปาก ถูกใจ ผู้บริโภคทุกกลุ่ม ทุกช่วงอายุ ด้วยรสชาติที่ดึงจุดเด่นของผลไม้แต่ละชนิด แต่ละสายพันธุ์ออกมาช่วยชูรสชาติที่แตกต่าง แต่ลงตัว มาในรูปแบบหวานเย็น ที่สามารถเก็บในอุณหภูมิห้องได้ จึงกลายเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก ลดการใช้พลังงานไปโดยปริยาย โดยให้ความสำคัญกับการออกแบบ หรือกระบวนการผลิต ที่เน้นความยั่งยืนและคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จนได้รับรางวัล ‘Creative Sustainable Product Award’ จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ที่ครองใจชาวโซเชียลมีเดีย เกณฑ์ตัดสินจากการค้นหาบนโลกออนไลน์

สำหรับ ICE POP ‘ฟรุตแอ๊บพันช์’ ดอยคำคัดเลือกผลไม้ 4 สายพันช์ มะม่วง เสาวรส ส้ม และทับทิม ที่พัฒนาและวิจัยจนได้อัตราส่วนที่เหมาะสมและลงตัวที่สุด ภายใต้เงื่อนไขผลผลิตคุณภาพจากเกษตรกรไทย บนมาตรฐานดอยคำ จึงเชื่อได้ว่าทุกการ ‘แช่ ฉีก ป๊อป’ ต้อง อร่อย ปลอดภัย มีมาตรฐาน และยังได้ช่วยเหลือเกษตรกรไทย

ICE POP ‘ฟรุตแอ๊บพันช์’ มาในรูปแบบซอง ขนาด 85 มล. ราคาซองละ 20 บาท หาซื้อได้แล้ววันนี้ ที่ร้านดอยคำ ทุกสาขา และทาง Doi Kham Shop ออนไลน์

พิเศษสุด ดอยคำชวนรักษ์โลกกับ กิจกรรม ‘แกะ ล้าง เก็บ’ เพียงนำกล่องน้ำผลไม้ UHT ตราดอยคำ หรือซองดอยคำ ICE POP ที่ผ่านการทำความสะอาดด้วยการ ‘แกะ’ ตัดมุมบรรจุภัณฑ์ทั้งสี่ด้าน ‘ล้าง’ ทำความสะอาด เพื่อง่ายต่อการ ‘เก็บ’ รักษา และนำไปแปรรูป นำมาใช้แลกเป็นส่วนลด 1 กล่อง/ซอง มีมูลค่า 1 บาท สำหรับซื้อสินค้าดอยคำ ที่ร้านดอยคำ ทุกสาขา รายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.doikham.co.th


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top