Tuesday, 30 May 2023
ECONBIZ

‘อนุชา’ เผย ส่งออก ‘ข้าวไทย’ 2 เดือนแรก ส่งออกได้ 1.4 ล้านตัน มูลค่า 25,404.15 ลบ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.2% คาดปี 66 มีโอกาสขยายตัวตามเป้า

(19 เม.ย.66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย ตัวเลขการส่งออกข้าวของไทย 2 เดือนแรกของปี 2566 ยังคงอยู่อันดับ 2 ประเทศผู้ส่งออกข้าวของโลก ปริมาณการส่งออกกว่า 1.4 ล้านตัน โดยส่งออกมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดการณ์แนวโน้มการส่งออกยังคงเพิ่มต่อเนื่อง จากความต้องการข้าวในตลาดโลก โดยตัวเลขการส่งออกข้าวของไทยจากกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากรพบว่า ในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2566 ประเทศไทยส่งออกข้าวคิดเป็นมูลค่า 25,404.15 ล้านบาท หรือ 753.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีอัตรามูลค่าการส่งออกขยายตัวมากขึ้นร้อยละ 38.2 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2565 ที่มีการส่งออกข้าวมูลค่า 18,376.8 ล้านบาท โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ อินโดนีเซีย อิรัก บังคลาเทศ และเซเนกัล เป็นต้น โดยประเทศไทยยังคงอยู่อันดับ 2 ประเทศผู้ส่งออกข้าวของโลก ตามหลังอินเดียที่ยังคงครองอันดับ 1 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ด้านสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดการณ์ว่า การส่งออกข้าวในเดือนมีนาคม 2566 ปริมาณส่งออกข้าวจะอยู่ที่ระดับประมาณ 700,000-730,000 ตัน เนื่องจากความต้องการนำเข้าข้าวในตลาดโลกมีมากขึ้นจากการที่อุปทานข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกที่สำคัญ ส่วนผู้นำเข้าที่สำคัญของไทยยังคงนำเข้าทั้งข้าวขาวและข้าวนึ่งอย่างต่อเนื่อง เพื่อชดเชยสต็อกข้าวในประเทศที่มีปริมาณลดลง

‘บิ๊กตู่’ ปลื้ม นนท.แห่เข้าไทย 6.4 ล้านคน สร้างเม็ดเงินกว่า 2.5 แสนล้านบาท  ‘SCMP’ ชี้ สงกรานต์ไทย ช่วยฟื้นเศรษฐกิจ คาดเติบโตสูงสุดในรอบ 5 ปี

(19 เม.ย.66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ยินดีที่ภาคการท่องเที่ยวไทยส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งตั้งแต่ต้นปี 2566 โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2566 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย สะสมกว่า 6.4 ล้านคน สร้างรายได้รวม 2.5 แสนล้านบาท และในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา Airbnb แพลตฟอร์มจองที่พักยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลก เผยยอดค้นหาที่พักในไทยเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 310 ขณะที่สำนักข่าว South China Morning Post รายงานว่า เทศกาลสงกรานต์ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย พร้อมคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยปี 2566 เติบโตสูงสุดในรอบ 5 ปี 

นายอนุชา กล่าวว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รายงานสถานการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมอยู่ที่ 6,465,737 คน สร้างรายได้รวม 256,194 ล้านบาท โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทย สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ มาเลเซีย รัสเซีย จีน เกาหลีใต้ และอินเดีย ตามลำดับ ทั้งนี้ ททท. วางเป้าหมายดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในปี 2566 รวม 25-30 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 1.5 ล้านล้านบาท พร้อมคาดการณ์ว่า นักท่องเที่ยวจีนจะเดินทางเข้าไทยมากเป็นอันดับ 1 โดยมีจำนวนไม่น้อยกว่า 5 ล้านคน และมีแนวโน้มจะสูงถึง 7-8 ล้านคน ขึ้นอยู่กับปริมาณเที่ยวบินในช่วงตารางบินฤดูหนาว รองลงมาคือ มาเลเซีย 4 ล้านคน อินเดีย 2 ล้านคน ส่วนรัสเซียและเกาหลีใต้ คาดว่ามีไม่น้อยกว่า 1 ล้านคน นอกจากนี้ Airbnb เปิดเผยว่า นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกต้องการมาท่องเที่ยวยังประเทศไทยมากขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยมียอดค้นหาที่พักเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 310 จากปี 2565 โดยกรุงเทพฯ เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมที่นักท่องเที่ยวต่างชาติค้นหามากที่สุด รองลงมาได้แก่ พัทยา เชียงใหม่ กระบี่ และภูเก็ต ตามลำดับ นอกจากนี้ สำนักข่าว South China Morning Post รายงานว่า การท่องเที่ยวที่คึกคักในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะเป็นกำลังสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และรายได้จากภาคการท่องเที่ยวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้ถึงร้อยละ 4 ในปีนี้ ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตที่เร็วที่สุดในรอบ 5 ปี

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 10-14 เม.ย.66  จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 17-21 เม.ย.66

ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยรายสัปดาห์ปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 3 ท่ามกลางตามความต้องการใช้น้ำมันโลกมีแนวโน้มแข็งแกร่งขึ้น โดยรายงานฉบับเดือน เม.ย. 66 ของ IEA ประเมินอุปสงค์น้ำมันโลกในปี 65 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 99.91 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกในปี 66 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.03 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 101.94 ล้านบาร์เรลต่อวัน 

ในขณะเดียวกัน เหตุอุปทานน้ำมันชะงักชะงันจากการส่งออกน้ำมันดิบจากเขตปกครองพิเศษเคอร์ดิสถานทางตอนเหนือของอิรักผ่านท่อ Kirkuk-Ceyhan ซึ่งสูบถ่ายน้ำมันดิบที่ระดับ 400,000-450,000 บาร์เรลต่อวัน (จากขีดความสามารถในการสูบถ่าย 700,000 บาร์เรลต่อวัน) หยุดดำเนินการวันที่ 25 มี.ค. 66 ยังไม่กลับมาดำเนินการ เนื่องจากตุรกีและรัฐบาลกลางอิรักยังเจรจาเรื่องค่าชดเชย 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ตุรกีต้องจ่ายให้อิรักก่อนกลับมาสูบถ่ายน้ำมัน

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มถูกกดดันจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) หลังตัวเลขเศรษฐกิจภาคการผลิตของสหรัฐฯ แข็งแกร่งขึ้น ล่าสุด นาย Thomas Barkin ประธาน Fed สาขา Richmond เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังขับเคลื่อนไปได้กับอัตราดอกเบี้ยในระดับนี้ ขณะที่ตลาดแรงงานยังคงเติบโต ส่งผลให้นักลงทุนคาดว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% จากระดับปัจจุบันระดับที่ 4.75-5.00% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) ในวันที่ 2-3 พ.ค. 66

ในสัปดาห์นี้คาดการณ์ราคา ICE Brent จะเคลื่อนไหวในกรอบ 83-88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากอุปทานในตลาดโลกตึงตัวมากขึ้นจาก OPEC+ ขยายระยะเวลาและลดปริมาณการผลิตเพิ่มเติมถึงสิ้นปี 66

‘ไทย’ ขึ้นแท่นประเทศที่มียอดขาย EV อันดับ 1 แห่งอาเซียน หลังโครงสร้างประเทศปรับ รับแรงขับเคลื่อนอุตฯ EV เต็มรูปแบบ

เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 66 ช่อง YouTube ‘Kim Propperty’ ได้เปิดเผยถึง ตลาดรถยนต์ EV ในประเทศไทย ที่ตอนนี้ต้องยอมรับว่าก้าวหน้าเกินประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ในแง่ของโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการเข้ามาลงทุนของแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าหลากสัญชาติ รวมถึงความต้องการซื้อที่มากจนมีตัวเลขที่น่าสนใจจะมาแชร์...

ทว่าก่อนอื่น ต้องฉายภาพให้เห็นถึงตัวแปรที่ทำให้ EV กับประเทศไทยเดินเคียงคู่กันไปได้อย่างไร้รอยต่อ โดยต้องยอมรับว่า โครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยนั้นค่อนข้างดีมาก ตั้งแต่ไฟฟ้าเพียงพอต่อการใช้งาน ซึ่งแตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านที่แม้จะมีแบรนด์เป็นของตนเองอย่างเวียดนาม (Vinfast) แต่โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน หรือโครงสร้างที่เอื้อต่อการผลิต การขนส่งยังไม่ดีพอ 

ขณะเดียวกัน แม้จำนวนประชากรเวียดนามจะมีจำนวนมาก แต่กำลังซื้อก็ไม่สูง หรือยังไม่ได้มีกำลังทรัพย์มากพอ พอ Vinfast ขายในประเทศตัวเองไม่ได้ ก็เลือกไปตีตลาดที่ประเทศอเมริกาแทน แต่ก็ต้องเจอตออย่าง Tesla ส่งผลให้ยอดขายไม่ปัง แถมลูกค้ายังบอกว่าสินค้าไม่ตรงปกอีก เรียกว่าสารพัดปัญหากันเลยทีเดียว 

นี่คือภาพในเชิงของโครงสร้างพื้นฐานที่มีผลต่อการขยายตัวของตลาด EV ในประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือประเทศไทย

ถัดมาคำถามที่น่าสนใจ คือ ในวันที่แบรนด์ยักษ์ใหญ่ของประเทศอเมริกากับจีนซัดกันนัวขนาดนี้ จนแม้แต่ประเทศเวียดนามก็ยังเอาแบรนด์ตัวเองเข้าไปแทรกยากเหมือนกัน แล้วแบรนด์รถยนต์ในประเทศนั้น ๆ เขาจะไปไหน แล้วที่ไหนที่พวกเขาควรไป...

1.) ประเทศที่มี อุปสงค์ (Demand) หรือ ปริมาณความต้องการซื้อสินค้าและบริการ
2.) ประเทศที่มีโครงสร้างไฟฟ้าที่ครบครันและครอบคลุม 

>> เริ่มเอะใจกันแล้วใช่ไหม!! ก็ประเทศไทยนั่นแหละ

...และไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ จากข้อมูลล่าสุดประเทศไทยของเรา เป็นประเทศที่มียอดขาย EV เป็นอันดับ 1 ในอาเซียน แบรนด์รถยนต์ต่าง ๆ ที่ต่างตบเท้าเข้ามาในประเทศไทยโดยเฉพาะแบรนด์จีน ถึงกับเปรยคำหวานว่า “ไม่มีแบรนด์ไหนในประเทศจีนที่ไม่อยากมาในประเทศไทยหรอก”

หลายคนอาจจะมองว่า นี่เป็นความบังเอิญหรือไม่ คำตอบคือ ไม่ใช่ความบังเอิญ เนื่องจากยอดขายในประเทศไทย ซึ่งเป็นอันดับ 1 ทิ้งห่างอันดับ 2 และ 3 อย่าง ประเทศอินโดนีเซีย กับประเทศสิงคโปร์ แบบไม่เห็นฝุ่นนั้น หากให้มองจากสัดส่วนของยอดขายในเอเชียประมาณ 60% นั้น แทบจะมาจากประเทศไทยกันเลยทีเดียว

โดยตัวแปรสำคัญที่ปฏิเสธไม่ได้ที่ทำให้ภาพเหล่านั้นเกิกขึ้น คือ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ประเทศไทยสามารถผลักดันปัจจัยที่เอื้อต่อการเป็นผู้นำเทคโนโลยีด้าน EV อย่างมากและต่อเนื่อง ทำให้มีแบรนด์ดัง ๆ อย่าง BYD, Ford และอีกหลายเจ้า พร้อมเข้ามาหนุนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของพวกเขา ตัวอย่างเช่น BYD ที่เข้ามาซื้อที่ดินจาก WHA ไปกว่า 600 ไร่ เพื่อตั้งโรงงานผลิตรถ EV แห่งใหม่ของอาเซียน ในประเทศไทย

รวมถึงดีลสุดมหัศจรรย์ ที่ทำให้หลายคนต้องอึ้ง อย่างการที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย สนใจลงทุนในประเทศไทย และทุ่มงบมูลค่าสูงถึง 3 แสนล้านบาท มาเลือกใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถ EV 

>> ข่าวดีที่ว่ามาดี มาจาก...

1.) ประเทศไทยสามารถดึงแบรนด์ดังๆ ให้เข้ามาผลิตที่ประเทศไทยได้จากโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐทุ่มลงทุน
2.) ในฟากฝั่งของผู้บริโภค รัฐบาลไทยได้ทำการออกนโยบายต่าง ๆ นานา เพื่อสนับสนุนให้คนเป็นเจ้าของรถยนต์ EV ได้ เช่น ลดหย่อนภาษีได้
3.) ความต้องการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า EV ของคนไทยมีความสูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งมีแรงสนับสนุนจากภาครัฐยิ่งทำให้คนอยากได้ EV มากยิ่งขึ้น

เหล่านี้ ส่งผลทำให้ราคารถยนต์ EV ในประเทศไทย เริ่มมีราคาที่ถูกลง เราเริ่มเห็นรถ Tesla ในราคาล้านกว่าบาทเท่านั้น จากแต่ก่อนนำเข้ามาเริ่มหลัก 3 ล้านบาท 

นั่นจึงไม่ใช่เรื่องยากเลยที่ฝั่งแบรนด์ผู้ผลิตต่าง ๆ จะขอเข้ามามีส่วนเสนอขายสินค้าและบริการ ภายใต้แผนพัฒนาไทยที่จะขอเป็น HUB EV ในย่านนี้ ย่านที่พร้อมไปด้วยโครงสร้างพื้นฐาน, การเดินทาง, การคมนาคม, กำลังซื้อ รวมถึงพลังงานไฟฟ้า ที่มีความยอดเยี่ยมอยู่แล้ว ต่อให้ค่าแรงในประเทศไม่ถูกเหมือนที่อื่นก็ตาม เพราะหลายผู้ผลิตมองว่า ประเทศไทยของเราใจดี ใจกว้างเหลือเกิน ค้าขายในบ้านเราได้ ภาษีก็ไม่ค่อยเสีย แถมผู้บริโภคในประเทศไทยก็ยังชอบซื้ออีกด้วย (เราเป็นนักซื้อที่ยอดเยี่ยม) 

‘บิ๊กตู่’ ปลื้ม!! อโกด้าจัด ‘ขอนแก่น’ น่าเที่ยวอันดับ 1 ในภูมิภาค ชี้ นทท.เพียบ สะท้อนท่องเที่ยวไทยดีทั้งเมืองหลัก และเมืองรอง

(18 เม.ย. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า การประชุมวันนี้ถึงแม้ว่าจะมีวาระไม่มากนัก แต่ก็เป็นหน้าที่ของ ครม.และรัฐบาลที่ต้องดำเนินการทุกอย่างให้เกิดความต่อเนื่อง

โดยสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศอยู่ในเกณฑ์ มีศักยภาพทำให้ความเชื่อมั่นสูงขึ้น ทุกอย่างฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สถานการณ์การเงิน การคลังของเราอยู่เกณฑ์ดี ซึ่ง รมว.คลังได้ชี้แจงว่าหลายเวทีในต่างประเทศทุกคนยอมรับ และมีความเชื่อมั่นศักยภาพการเงินการคลังของเรา ขอให้ฟังรัฐบาลบ้าง ตนเข้าใจดีว่าทุกคนไม่ได้มองไกลขนาดนั้น ทุกคนมองแต่เศรษฐกิจภายในครอบครัวเป็นหลัก เป็นธรรมดาที่ทุกคนต้องนึกถึงแต่ตัวเอง แต่ต้องนึกถึงภาพรวมด้วย เพราะจะต้องเติบโตไปด้วยกันทั้งหมด อะไรที่บกพร่องรัฐบาลพยายามแก้ไข และเดินหน้ายุทธศาสตร์ไปอย่างต่อเนื่อง

“การทำอะไรอย่างผลีผลาม ไม่มีข้อมูลอย่างแท้จริง ไม่ถ่องแท้ มันก็บริหารไม่ได้อย่างนี้หรอก อันนี้ขอให้เครดิตกับรัฐบาล และ ครม.ที่ทำให้สถานการณ์การเงิน การคลัง ยังแข็งแกร่งในปัจจุบัน ในมุมมองของต่างประเทศ” นายกรัฐมนตรี กล่าว

‘จุรินทร์’ ประกาศนับหนึ่ง FTA ‘ไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์’ สร้างแต้มต่อการค้าไทย เปิดประตูสู่ตะวันออกกลาง

(18 เม.ย.66) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ประเด็นความคืบหน้าการทำ FTA ระหว่างไทยกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่บริเวณหน้าตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล

นายจุรินทร์กล่าวว่า ตนเพิ่งเดินทางไปสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ตั้งใจไปเจรจาทำ FTA ระหว่างไทยกับยูเออี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังจากนั้น ภายใน 3 เดือนไทยและยูเออีสามารถตกลงกันได้ว่าจะมีการประกาศนับหนึ่งการเจรจายกร่าง FTA ระหว่างกันอย่างเป็นทางการ โดยได้นัดหมายกับรัฐมนตรีที่มีหน้าที่โดยตรงของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เพื่อประกาศเจรจาในวันที่ 9 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ ช่วงเที่ยง ถือว่าเป็นวันประวัติศาสตร์อีกวันหนึ่งที่เราสามารถทำ FTA กับยูเออีได้ภายในเวลา 3 เดือนหลังจากตนเดินทางไปเจรจา จะมีผลช่วยให้ได้แต้มต่อในการส่งสินค้าไปยังกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ถ้าเราได้ภาษีเป็นศูนย์ในการส่งไปยูเออีหรือดูไบ จะได้สิทธิกับกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council หรือ GCC ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย คูเวต โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ และบาห์เรน) ไปด้วย

‘จุรินทร์’ เผย เริ่มจ่ายเงินประกันรายได้ยางพาราปี 4 แล้ว แนะ ชาวสวนยางอัปเดตสมุดบัญชี ธกส. เพื่อรับเงินส่วนต่าง

(18 เม.ย.66) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ประเด็นการเดินหน้าโครงการประกันรายได้ ปี 4 ที่บริเวณหน้าตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล

นายจุรินทร์กล่าวว่า โครงการประกันรายได้เราเดินหน้าปี 4 ทุกตัว แต่ตอนนี้การจ่ายเงินส่วนต่างในส่วนของข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลังไม่มี เพราะราคาดีมาก มันสำปะหลังเราประกันที่ 2.50 บาท/กก. ตอนนี้ไป 3 บาทกว่าเกือบ 4 บาท/กก. และข้าวโพดประกันรายได้ที่ 8.50 บาท/กก. ตอนนี้ไป 12 บาท/กก. ส่วนปาล์มน้ำมัน ประกันรายได้ 4 บาท/กก. ตอนนี้ 5-6 บาท/กก. ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ถือว่าดี ข้าวตอนนี้ราคาเกือบถึงราคาที่ประกัน ถือว่ายังราคาดีอยู่ ข้าวบางตัวราคาสูงกว่าที่ประกัน ส่วนยางพาราต้องจ่าย ซึ่งยางพาราปี 4 เริ่มจ่ายส่วนต่างแล้ว ขอเรียนข่าวดีให้พี่น้องชาวสวนยางทั่วประเทศ เริ่มจ่ายตั้งแต่ 12 เมษายน และจะทยอยจ่ายไปจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม มีวงเงินเตรียมไว้แล้ว 7,000 กว่าล้านบาทเสนอผ่านครม.ไปแล้ว

‘ชินวัตร’ ขายที่ดินย่านลาดหญ้า 22 แปลง ให้ ‘เอสซีฯ’ รองรับรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ เพื่อต่อยอดอสังหาฯ

ครอบครัวชินวัตร ขายที่ดินย่านลาดหญ้า 22 แปลง ให้ SC มูลค่า 1,239 ล้าน พัฒนาคอนโด
เมื่อวันที่ (17 เม.ย.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้รายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทให้นำวาระบริษัท เอสซี แอสเสท โฟร์ จำกัด (SC FOUR ) เป็นบริษัทย่อยของเอสชีที่มีแผนจะเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจำนวน 22 แปลง พื้นที่รวม 4 ไร่ 3 งาน 36.3 ตารางวา หรือ 1,936.3 ตารางวา มูลค่ารวม 1,239.23 ล้านบาท ตั้งอยู่บนถนนลาดหญ้า จากบริษัท เรนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (RENDE) ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความเกี่ยวโยงกันกับบริษัท เพื่อนำที่ดินมาพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม ตามแผนการดำเนินธุรกิจของบริษัทให้ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 พิจารณาอนุมัติในวันที่ 19 เมษายน 2566

อย่างไรก็ตามเนื่องจากบริษัท เรนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (RENDE) ผู้ขายเป็นบุคคลที่มีความเกี่ยวโยงกันกับบริษัท การเข้าทำรายการดังกล่าว จะต้องขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทเอสซี ซึ่งต้องได้รับคะแนนเสียงอนุมัติไม่ต่ำกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน โดยไม่นับส่วนของผู้ถือหุ้นที่มีส่วนได้เสีย และภายหลังได้รับอนุมัติจะเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายในเดือนพฤษภาคมนี้

โดยผู้ซื้อบริษัท เอสซี แอสเสท โฟร์ จำกัด กับผู้ขายบริษัท เรนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด มีความสัมพันธ์ ดังนี้ 

1. SC FOUR เป็นบริษัทย่อยของบริษัทโดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 บริษัทถือหุ้น SC FOUR ในสัดส่วนร้อยละ 99.99 
2. ครอบครัวชินวัตร เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ซึ่งมีสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 60.29 ของทุนที่ชำระแล้ว และเป็นผู้มีอำนาจควบคุมกิจการ
3. ครอบครัวชินวัตร เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน RENDE ซึ่งมีสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 100 ของทุนที่ชำระแล้ว 
4. นายณัฐพรศ์ คุณากรวงศ์ ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และรองประธานกรรมการของบริษัทและดำรงตำแหน่งกรรมการของ SC FOUR และเป็นสามีของนางสาวพินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งถือหุ้นในบริษัทจำนวน 1,176,915,495 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27.80 และถือหุ้นใน RENDE จำนวน 138,000,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30

การเข้าทำรายการซื้อที่ดินในครั้งนี้ จะทำให้ SC FOUR ได้ที่ดินเปล่าในบริเวณถนนลาดหญ้าขนาดพื้นที่ 4-3-36.3 ไร่ รวมกับที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของ SC FOUR ขนาดพื้นที่ 0-3-10.9 ไร่ รวมเป็น 5-247.2 ไร่ เพื่อนำมาพัฒนาเป็นโครงการคอนโดมิเนียมเพื่อขายจำนวน 2 อาคาร พื้นที่ขายรวมประมาณ 33, 322 ตารางเมตร โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น 2 เฟส เฟสละ 1 อาคาร โดยทยอยก่อสร้างและเปิดขายที่ละเฟส ซึ่งจะทำให้ SC FOUR สามารถพัฒนาโครงการได้อย่างต่อเนื่อง

โดยทำเลที่ตั้งของที่ดินมีศักยภาพในการพัฒนาโครงการ ที่ดินแปลงนี้ตั้งอยู่บนถนนลาดหญ้า เป็นทำเลที่ดี มีศักยภาพในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย เป็นศูนย์กลางการขยายตัวและเติบโตของเมืองจากฝั่งพระนครมายังอีกฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา มีการคมนาคมที่สะดวก ห่างจากรถไฟฟ้าสายสีทอง สถานีคลองสานเพียง 600 เมตร รวมถึงการเริ่มพัฒนาโครงการสถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้

‘บิ๊กป้อม’ เดินห้างวันหยุดให้กำลังใจผู้ประกอบการร้านค้า เชื่อ!! หลังสงกรานต์ เศรษฐกิจขยับดีขึ้นกว่านี้อีก

(17 เม.ย.66) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ใช้โอกาสวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ พักผ่อนส่วนตัว โดยไปเดินห้างสรรสินค้า สินค้าย่านซอยรางน้ำ เพื่อรับประทานอาหาร และพบปะทักทายผู้ประกอบการร้านอาหารถึงการค้าขายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา พร้อมให้กำลังใจ และหวังว่าสถานการณ์เศรษฐกิจจากนี้ไป การค้าขายจะดีขึ้น เพราะมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น

‘รัฐบาล’ ตั้งเป้า ปี 66 ส่งออก ‘ผลไม้สด-แปรรูป’ 4.44 ล้านตัน  ส่วน ‘ปลาช่อนไทย’ เจ๋ง!! ได้โควตาส่งเวียดนาม 100 ตัน

(17 เม.ย.66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบมาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 2566 และแผนการส่งออกผลไม้ไทย โดยตั้งเป้าส่งออกผลไม้สดและแปรรูป 4.44 ล้านตัน และยินดีที่มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ จับคู่ธุรกิจระหว่างกัน ทำให้ 'ปลาช่อนไทย' ได้รับความนิยมในประเทศเวียดนาม และได้โควต้าส่งออก 100 ตัน 

นายอนุชา กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชนหารือร่วมกันเพื่อเตรียมมาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 2566 เตรียมตลาดล่วงหน้าเพื่อรองรับผลไม้ ด้วยการใช้ 22 มาตรการเชิงรุก ที่ครอบคลุม 4 ด้าน ตั้งแต่ การผลิต การตลาดในประเทศ รณรงค์การบริโภคผลไม้ไทย เจาะตลาดใหม่ในต่างประเทศ ตลอดจนด้านกฎหมายที่มุ่งเจรจามาตรการทางการค้าเพื่อลดอุปสรรคการส่งออกผลไม้ไปยังประเทศคู่ค้า ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการส่งออกผลไม้สดและแปรรูปไว้ที่ 4.44 ล้านตัน เพิ่มจากปีก่อน 10% โดยเฉพาะด้านการส่งออกทุเรียน ซึ่งในปี 2566 นี้ ตั้งเป้าการส่งออกทุเรียนให้ได้ที่ 100,000 ล้านบาท

ไขข้อสงสัย!! ใครทำ 'GDP ไทย' สู้เพื่อนบ้านไม่ได้ สวนกระแสข่าวจอมปลอม จ้องโจมตี 'รัฐบาลลุงตู่'

(16 เม.ย.66) ผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก 'LVanicha Liz' ได้โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับ GDP ของไทย โดยระบุว่า...

ดูชัดๆ #ใครทำให้GDPไทยสู้เพื่อนบ้านไม่ได้  

เมื่อปี่พาทย์บรรเลงเริ่มฤดูกาลเลือกตั้ง บางกลุ่มการเมืองก็จะต้องลงทุนลงแรงแข่งขันกันจนหน้ามืดตาลาย เพราะ “stake มัน very high” คล้ายกับว่าถ้าอดอยากปากแห้งต่ออีก ๔ ปี อาจถึงขั้นล้มละลายหายไปจากวงการแน่ๆ จึงมีการออกมาเผยแพร่ (สาด/พ่น?) ข้อมูลผิดบ้างถูกบ้างบิดเบือนหลอกลวงบ้างออกสู่สาธารณะ

ประชาชนผู้มีอำนาจแค่ ๑ วันต่อ ๔ ปี จึงต้องวิเคราะห์ก่อนรับข้อมูลข่าวสารให้ดี มิฉะนั้นหากเลือกพรรคการเมืองผิด อาจจะต้องคิดจนประเทศพัง

หนึ่งในประโยคฮิตที่มีการนำออกมากระจายสู่โซเชียลคือ “อยู่มา ๘ ปี ทำ GDP โตได้แค่ ๒% ยังจะอยู่ต่ออีกหรือ”

ซึ่งจากการวิเคราะห์ตลอดมา พบว่าน่าจะคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงไปมาก จึงสืบค้นดูว่าข้อมูลมีที่มาที่ไปอย่างไร พบในเฟซบุ๊กพรรคเพื่อไทย ส.ส. ผู้หนึ่งกล่าวไว้ดังนี้  

“GDP ตกต่ำตลอด ๘ ปี: ตั้งแต่พลเอกประยุทธ์แต่งตั้งตัวเองเข้ามาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ตลอด ๘ ปีที่ผ่านมาผลคือ... กราฟร่วง แนวโน้มเศรษฐกิจไทยติดลบ หนึ่งจุดห้า ถึง ศูนย์ ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย ตลอด ๘ ปีที่ผ่านมาเติบโตเฉลี่ยเพียงแค่ประมาณ ๒ เปอร์เซ็นต์ต่อปี ขณะที่ประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน อาทิ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือเวียดนาม ซึ่งมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจไม่แตกต่างจากไทย กลับสามารถคงระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ในระดับ ๕%-๘% ต่อปี แปลว่า วันที่เรายังไม่เผชิญหน้ากับวิกฤตโรคระบาด เศรษฐกิจไทยก็ย่ำแย่อยู่แล้ว เมื่อเจอกับวิกฤตโรคระบาดและผู้นำที่ไม่มีความรู้ในการบริหารเศรษฐกิจ กราฟก็ยิ่งดิ่งเหวเข้าไปใหญ่”

https://m.facebook.com/pheuthaiparty/photos/a.153985257967754/4657213287644906/

ผู้เขียนสืบค้นจาก Google ด้วยคำว่า Thailand GDP ก็ได้กราฟเปรียบเทียบมาให้เลย ๓ ประเทศ โดยไทยมี GDP สูงสุดในกราฟ และมีการเติบโตทิ้งห่างจากเพื่อนบ้านอีกสองประเทศเป็นช่วงกว้างขึ้นทุกที การทิ้งห่างมากขึ้นหมายถึงเศรษฐกิจโดยรวมเติบโตมากกว่า ซึ่งการทิ้งห่างจะสังเกตได้โดยเส้นกราฟของประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตกว่า จะไต่ขึ้นชันกว่า 

เพื่อตรวจสอบข้อความในเฟซบุ๊กพรรคเพื่อไทย ที่ระบุว่า “วันที่เรายังไม่เผชิญหน้ากับวิกฤตโรคระบาด เศรษฐกิจไทยก็ย่ำแย่อยู่แล้ว” เป็นจริงหรือไม่ ผู้เขียนนำช่วงเติบโตดีที่สุดของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ (พรรคเพื่อไทย) กับช่วงเติบโตดีที่สุดของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนวิกฤตโควิดมาเปรียบเทียบกับเวียดนาม (ซึ่งฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลชอบนำมาใช้เป็นตัวอย่างความเติบโต) พบว่ากราฟ GDP ช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไต่ขึ้นชันกว่าช่วงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ และอัตราส่วนของการเพิ่มขนาดเศรษฐกิจช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ สูงกว่าเวียดนาม ขณะช่วงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่ำกว่าเวียดนามเกือบครึ่ง

ตกลง “วันที่เรายังไม่เผชิญหน้ากับวิกฤตโรคระบาด เศรษฐกิจไทยก็ย่ำแย่อยู่แล้ว” ก็คงย่ำแย่ตอนพรรคเพื่อไทยบริหารนี่เอง เพราะอัตราการเติบโตต่ำกว่าเวียดนาม   

สรุปว่าข้อกล่าวอ้างที่ว่า GDP ตกต่ำตลอด ๘ ปีนั้น ในช่วงก่อนวิกฤตโควิด หลักฐานแสดงไปในทางตรงกันข้าม

ส่วนในช่วงหลังจากวิกฤต ตัวเลข post-crisis GDP จะไม่ใช่สิ่งสะท้อนความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจที่ถูกต้อง เพราะการฟื้นฟูความเสียหายต่างๆ ในช่วงวิกฤตเข้ามาทำให้เกิดส่วนเพิ่มของ GDP อ้างอิงบทความ “Does high GDP mean economic prosperity?” ของ Investopedia
https://www.investopedia.com/articles/economics/08/genuine-progress-indicator-gpi.asp

การที่ประเทศต่างๆ จะมีอัตราการเพิ่ม GDP ในช่วง post-crisis ที่แตกต่างกัน มันแล้วแต่กลไกการฟื้นฟูในแต่ละประเทศ ว่าจะทำอะไรช่วงไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้งบประมาณของประเทศไทยตั้งแต่ช่วงวิกฤตโควิดซึ่งรัฐบาลเปลี่ยนมาอยู่ภายใต้ระบอบเลือกตั้ง ถูกฝ่ายค้านกดดันตัดทอนอย่างเข้มข้นจนไม่อาจเป็นไปตามที่วางแผนมากนัก ทำให้มีผลเหนี่ยวรั้ง GDP ของไทยด้วย การนำมาเป็นตัวชี้วัดความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจร่วมกับตัวเลขก่อนวิกฤต เหมารวม ๘ ปีจึงทำให้เกิดภาพที่บิดเบี้ยวไม่สะท้อนความเป็นจริง

เมื่อตรวจสอบในมิติที่ละเอียดขึ้น ให้ครอบคลุมการเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ที่เฟซบุ๊กพรรคเพื่อไทยระบุไว้ พบว่าประเทศที่ GDP สูงและเติบโตดีมากที่สุดในกลุ่มคืออินโดนีเซีย ตามมาด้วยไทย ส่วนประเทศที่เหลือนั้น GDP โตอยู่ข้างใต้เส้นกราฟของไทย ลักษณะกราฟการเติบโตของประเทศที่มีแนวโน้มดี (อินโดนีเซียและเวียดนาม) คือช่วงปลายโค้งขึ้นและตลอดเส้นไม่ค่อยสะดุด (อ้างอิงภาพของ Our World in Data)
https://ourworldindata.org/grapher/gross-domestic-product?tab=chart&country=IDN~BRN~KHM~LAO~MYS~PHL~THA~VNM~SGP

ตรงนี้เองที่มีข้อสังเกตว่า เส้น GDP ของไทยเริ่มชันตีคู่ขึ้นมาขนานอินโดนีเซียในสมัย พล.อ.เปรม โดยมีแรงส่งไปยังรัฐบาลต่อๆ ไปชัดเจน จากนั้นเกิดการสะดุดครั้งใหญ่ในวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งเป็นช่วงที่นายทักษิณ (บิดาแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย) เข้ามาเป็นรองนายกฯ จากนั้นเมื่อนายทักษิณเข้ามาเป็นนายกฯ เอง เส้น GDP ไทยเริ่มทิ้งตัวห่างลงมาจากอินโดนีเซีย หลังสมัยนายทักษิณ เส้น GDP สะดุดเรื่อยๆและทิ้งตัวห่างลงมาจากอินโดนีเซียมากขึ้นๆ จนเข้ามาสู่สมัย พล.อ.ประยุทธ์ (คสช.) เส้น GDP จึงเริ่มโค้งขึ้นอีกครั้ง จากนั้นทุกประเทศก็เข้าสู่วิกฤตโควิด และประสบสภาวะ GDP สะดุดเหมือนๆ กัน มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่เงื่อนไขและสถานการณ์ของแต่ละประเทศ

ณ จุดนี้ น่าจะเข้าใกล้คำตอบแล้วว่า #ใครทำให้GDPไทยสู้เพื่อนบ้านไม่ได้

ข้อพิสูจน์ที่น่าจะเป็นหลักฐานสำคัญที่ชี้ว่าเหตุใด GDP ไทยเริ่มจะสู้เพื่อนบ้านไม่ได้ตั้งแต่สมัยนายทักษิณก็คือ ในยุคของนายทักษิณ มีการดำเนินการที่ทำให้เสถียรภาพทางการเมืองซึ่งมีผลต่อความมั่นคงของชาติตกต่ำดิ่งเหวลงไปจน Political Stability index อยู่ใต้ระดับ ๐ (percentile rank ต่ำกว่า ๕๐%) เป็นครั้งแรก ซึ่งมีผลเสียหายลากยาวถึงปัจจุบัน อันเนื่องมาจากยังคงมีภัยความมั่นคงของชาติเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพิ่งมาแก้ไขได้บางส่วนและดีขึ้นเรื่อยๆในสมัย พล.อ.ประยุทธ์ (อ้างอิงกราฟ Political Stability ของ Trading Economics) ซึ่งสอดคล้องกับเส้น GDP ที่เริ่มโค้งขึ้นก่อนวิกฤตโควิด
.
เสถียรภาพทางการเมืองและความมั่นคงของชาติมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของชาติ ตามคำอธิบายที่ว่า “หากไร้ซึ่งสภาพแวดล้อมทางการเมืองและสังคมที่มั่นคงและปลอดภัยแล้ว ก็ยากที่จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจใดๆ ความมั่นคงของชาติเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นในการพัฒนาเศรษฐกิจ ...”
https://www.fso.gov.hk/eng/blog/blog20210418.htm
.
ยกตัวอย่างการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจ ก็อยู่บนหลักที่ว่าประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองโดยทั่วไปจะดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศได้ดีกว่า
https://www.investmentmonitor.ai/features/fdi-drivers-and-political-stability

กราฟ FDI ของ Trading Economics แสดงชัดว่า FDI ของไทยเริ่มตกหลังจากเสถียรภาพทางการเมืองของไทยลดลงต่ำกว่า ๐ ในสมัยที่นายทักษิณบริหาร และเริ่มจะกลับมาดีขึ้นในสมัย พล.อ.ประยุทธ์

สำหรับสาเหตุที่ว่าทำไม Political Stability index ของไทยลดลงต่ำกว่า ๐ (percentile rank ต่ำกว่า ๕๐%) ในสมัยนายทักษิณนั้น กราฟ “ผลกระทบจากการลดงบประมาณทางการทหารยุคทักษิณ” ให้คำตอบที่ชัดเจน
-------------------------------------------------------------------

‘บิ๊กตู่’ สั่ง ‘ขยายตลาด-ส่งเสริมแรงงานไทย’ ไปทำงานตปท. หลังส่งออกกว่า 1 แสนคน โกยเงินเข้าประเทศกว่า 2.9 แสนล้านบาท

(16 เม.ย.66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ยินดีกับสถานการณ์แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศ ในช่วง 2 ปี (2565 – 2566) ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย และโดยนายกรัฐมนตรีขอบคุณการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งสามารถทำให้ตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศขยายตัวต่อเนื่อง มีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานต่างประเทศ มากถึง 113,186 คน และส่งเงินกลับเข้าประเทศผ่านระบบธนาคารแห่งประเทศไทย มูลค่ารวมกว่า 299,077 ล้านบาท ถือเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมทั้งสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าขยายตลาดและส่งเสริมแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ เพื่อให้คนไทยมีงานทำ มีอาชีพ สร้างรายได้และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ 

นายอนุชา กล่าวว่า แรงงานไทยเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ มีทักษะฝีมือดี ขยันทำงาน อดทน และเรียนรู้ได้รวดเร็ว ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในต่างประเทศ โดยกระทรวงแรงงาน มีการอนุญาตให้แรงงานไทยเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ในปี 2565 จำนวน 88,164 คน และปี 2566 (เดือนมกราคม - มีนาคม) จำนวน 25,022 คน โดยตลาดที่เป็นที่นิยมของแรงงานไทยมากที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ ไต้หวัน สาธารณรัฐเกาหลี รัฐอิสราเอล ญี่ปุ่น และมาเลเซีย นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานตั้งเป้าหมายจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ ในปีงบประมาณ 2566 จำนวน 50,000 คน โดยรักษาตลาดแรงงานเดิมที่มีศักยภาพ อาทิ ภาคการเกษตรในรัฐอิสราเอล ภาคอุตสาหกรรมในญี่ปุ่น และภาคก่อสร้าง อุตสาหกรรม และการเกษตรในสาธารณรัฐเกาหลี ควบคู่ไปกับการขยายตลาดแรงงานใหม่ที่มีแนวโน้มความต้องการแรงงานไทย 

“นายกฯ ให้ความสำคัญและมีนโยบายสนับสนุนให้แรงงานไทยเดินทางไปทำงานในต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และปกป้องดูแลแรงงานไทยได้ตามสิทธิ รวมถึงได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม ทั้งนี้ รัฐบาลได้สร้างความร่วมมือด้านแรงงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในหลายประเทศ เพื่อจัดหาตลาดที่มีศักยภาพรองรับแรงงานไทย รวมถึงฝึกอบรมเพิ่มทักษะแรงงานไทยให้มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการจ้างงาน สร้างรายได้ให้กับแรงงานไทย และกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งแรงงานไทยในต่างประเทศถือเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และมีส่วนสำคัญในการพัฒนาวิถีชีวิตคนไทย” นายอนุชา กล่าว

‘พงษ์ภาณุ’ ชี้!! ปักหลักไทยเกิน 180 วัน อย่านิ่งดูดาย มีรายได้จาก ‘ธุรกิจดิจิทัล-สื่อออนไลน์’ ก็ควรต้องเสีย

(16 เม.ย. 66) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น และอดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้กล่าวถึง ประเด็นการกวดขันเก็บภาษีต่อผู้มีรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับดิจิทัล (Digitalization) แม้รายได้นั้น ๆ จะมาจากต่างประเทศ ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 66 ระบุว่า…

ต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้ยังมีบุคคลหรือบริษัทดิจิทัลและแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ต่าง ๆ จำนวนไม่น้อย ที่ไม่ได้เสียภาษีเงินได้ หรือแม้แต่ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เหมือนรูปแบบบริการอื่น ๆ แต่มีรายได้สะพัดอยู่ในบัญชีประเทศไทยอยู่ไม่น้อย ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องยอมรับว่า ด้วยการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์นั้น สามารถทำให้ธุรกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ง่ายทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ (Digitalization) และมองผิวเผินเหมือนตรวจสอบได้ยาก

“อย่างหลายคนที่เราเห็นเขาขายสินค้าผ่านสื่อโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่าง ๆ ตัวผู้ขายหลาย ๆ คนเองก็มีทั้งที่อยู่ในไทยและไม่ได้อยู่ในไทย แต่อย่างไรซะ หากมีถิ่นฐานในไทยหรืออยู่ในไทยเกิน 180 วันนั้น ผมคิดว่าสรรพากรควรจะต้องเข้มงวดกับบุคคลหรือบริษัทเหล่านั้นให้มากขึ้น เพราะนี่คือเรื่องผลประโยชน์ของประเทศ ควรที่จะเข้าไปตรวจสอบว่า ใครที่มีรายได้เยอะ ๆ จากขายสินค้าผ่านช่องทางระบบดิจิทัล และมีถิ่นฐานอยู่ในบ้านเราบ้าง จากนั้นก็ต้องมาทำการเสียภาษีจากรายรับที่ได้ทั้งหมด ซึ่งสิ่งเหล่านี้สรรพากรสามารถทำได้ เนื่องจากระบบดิจิทัลมีหลักฐานบันทึกไว้อยู่”

'คริปโตมายด์' วิเคราะห์!! 'แอปฯ เป๋าตัง' ตัวเลือกน่าสนใจ หาก 'เพื่อไทย' จะปั้น Digital Wallet แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท

คริปโตมายด์ แอดไวเซอรี่ บริษัทที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลแห่งแรกของไทย ภายใต้การกำกับดูแล ก.ล.ต. วิเคราะห์นโยบาย “พรรคเพื่อไทย” ความเป็นไปได้ของ Digital Wallet สำหรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท

เมื่อวันที่ (12 เม.ย.66) หนึ่งในประเด็นใหญ่ในช่วงนี้ที่เป็นที่พูดถึงและถกเถียงในโลกโซเชียลกันอย่างแพร่หลาย ก็คือการประกาศนโยบายของพรรคเพื่อไทยว่าด้วยเรื่องการเติมเงินดิจิทัลจำนวน 10,000 บาทให้กับประชาชนคนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ใช้จ่ายใกล้บ้านในรัศมี 4 กิโลเมตร ผ่าน Digital Wallet โดยมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระดับหมู่บ้าน ระดับชุมชน ในตลาดท้องถิ่น สร้างธุรกรรมระหว่างรายย่อย

หนึ่งในรายละเอียดของนโยบายที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องการนำ “เทคโนโลยีบล็อกเชน” มาสร้าง Digital Wallet เพื่อสร้างเงื่อนไขการใช้งานที่จะทำให้นโยบายเป็นไปได้อย่างตรงจุด ในประเด็นนี้นายอภินัทธ์ เดชดอนบม นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท คริปโตมายด์ แอดไวเซอรี่ จำกัด ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลแห่งแรกของไทย ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แสดงความคิดเห็นไว้ว่า การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาทำ Digital Wallet นั้นอาจไม่เหมาะสมด้วยเหตุผลเรื่องข้อจำกัดด้านการออกแบบบางอย่างซึ่งมีข้อสังเกตดังนี้

เทคโนโลยีบล็อกเชนมีข้อจำกัดในเรื่องของการออกแบบ เนื่องด้วยสิ่งที่เรียกว่า Blockchain Trilemma หรือหลักพื้นฐานบล็อกเชน 3 ประการ ที่ไม่มีทางเกิดขึ้นได้พร้อมกัน อันประกอบด้วย ความปลอดภัย (Security), การขยายตัวเพื่อรองรับการใช้งานในอนาคต (Scalability) และการกระจายอำนาจ (Decentralization)

ซึ่งตัวเลือกแรกก็เป็นอะไรไปไม่ได้ นอกจาก Security การที่จะทำระบบบล็อกเชนให้สามารถรองรับธุรกรรมมหาศาลจากประชากรหลายสิบล้านคน ก็จำเป็นต้องเลือก Scalability มาเป็นอันดับสอง นั่นหมายความว่าต้องยอมสูญเสีย Decentralization ไป
 
อีกทั้งการทำระบบการชำระเงินของรัฐบาลก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเปิดเป็นบล็อกเชนสาธารณะ (Public Blockchain) ที่เปิดรายละเอียดของโครงสร้างระบบให้คนทั่วไปเห็น ทำให้ตัวเลือกเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก Private Blockchain แต่การจะทำให้ประชาชนทุกคนใช้งานได้ โดยไม่ติดขัด Digital Wallet นี้ก็ต้องเป็นแบบ Custodial Wallet ที่ทำให้ Decentralization ลดลงไปอีก

ซึ่งทำให้ระบบโดยรวมนั้นอาจไม่ได้แตกต่างจากการใช้ระบบฐานข้อมูลแบบเดิมที่อาจมีประสิทธิภาพมากกว่าด้วยซ้ำ นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังไม่มี Case Study ของบล็อกเชนที่สามารถรองรับธุรกรรมได้มากระดับหลายสิบล้านธุรกรรมต่อวันได้อย่างเป็นรูปธรรม

ด้วยเหตุนี้ทางเราจึงมองว่าตัวเลือกที่น่าสนใจที่สุดในการทำ Digital Wallet นี้ก็คือ แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ที่มีอยู่ก่อนแล้ว และคาดว่า “แอปพลิเคชันเป๋าตัง” ก็สามารถกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวได้ไม่ยาก มีประวัติการรองรับธุรกรรมจากการใช้งานจริงจากโครงการก่อนหน้านี้

ประชาชนมีความคุ้นเคยกับแอปพลิเคชันเป๋าตังอยู่แล้ว อีกทั้งการใช้แอปพลิเคชันเป๋าตังที่มีอยู่เดิมก็จะสามารถประหยัดงบประมาณการพัฒนาระบบใหม่และดูแลรักษาได้อีกด้วย

อีกหนึ่งประเด็นที่เป็นที่พูดถึงก็คือความเกี่ยวข้องของ Digital Wallet กับ Central Bank Digital Currency (CBDC) ซึ่งในเรื่องนี้ทางเรามองว่าไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้องกัน เนื่องจากทางแบงก์ชาติมีแนวทางพัฒนาของตัวเอง โดยในตอนนี้ Retail CBDC ก็กำลังอยู่ในช่วง Pilot Test ระหว่างช่วงปลายปี 2565 ไปจนถึงกลางปี 2566 ร่วมกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารไทยพาณิชย์ และบริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด

โดยหาก Pilot Test แล้วมีปัญหาหรือมีจุดต้องแก้ไขก็ต้องนำกลับไปพัฒนาใหม่ และ Pilot Test อีกครั้งไปเรื่อย ๆ จนเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งอาจกินเวลาหลายเดือนหรือหลายปี เพราะ CBDC จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่ไม่สามารถรีบเร่งได้ ทำให้ไทม์ไลน์อาจไม่ตรงกับการบังคับใช้ นโยบายดังกล่าวหากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล

‘รัฐบาล’ ปลื้ม!! แนวโน้มตลาดรถ EV ไทยโตต่อเนื่อง พร้อมยกระดับไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตของภูมิภาค

(12 เม.ย.66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนในภาคการผลิตและส่งออกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นฐานการการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนยานยนต์ของภูมิภาค เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 

พร้อมทั้งรับทราบการเปิดเผยรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทยซึ่งคาดการณ์ว่า ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า BEV ในไทยในปี 2566 นี้จะเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดถึง 271.6% เมื่อเทียบกับปี 2565 พร้อมประเมินว่าจะสามารถทำยอดขายได้กว่า 50,000 คัน สะท้อนถึงพัฒนาการด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับ รถยนต์ไฟฟ้า BEV (Battery Electric Vehicle) เป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อน โดยไม่มีการปลดปล่อยมลพิษ (Zero Emission) จากรถยนต์โดยตรง จึงได้รับความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยเพิ่มเติมว่า แนวโน้มการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า BEV ในไทย มีปัจจัยสนับสนุนทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน โดยด้านอุปสงค์มาจากความต้องการรถยนต์ BEV ที่ยังอยู่ในระดับสูงของผู้บริโภค ซึ่งเป็นผลของมาตรการกระตุ้นด้านราคาที่ถูกจุดจากทางภาครัฐและการเร่งกระจายจุดชาร์จรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการใช้งาน 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top