Saturday, 4 May 2024
ECONBIZ

อาร์เอส ต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจ ขยายอาณาจักรเพิ่มจากบันเทิง-ช้อปปิ้ง ไปสู่ธุรกิจสายการเงิน เน้นเข้าควบรวมธุรกิจเฉพาะ สร้างฐานเครืออาร์เอสมั่นคงในระยะยาว

นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การก้าวสู่ New Era เพื่อสร้าง New S-Curve นั้น การเข้าซื้อลงทุนในกิจการ หรือ M&A เป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการสร้าง Ecosystem ให้มีขนาดใหญ่ยิ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นการสร้างมูลค่าทางธุรกิจ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และสร้างความยั่งยืนมั่นคงในระยะยาว ด้วยการเข้าลงทุนผ่านงบ 920 ล้านบาท เข้าซื้อหุ้น 'บริษัท เชฎฐ์ เอเชีย จำกัด' โดยได้รับการสนับสนุนวงเงินกู้จากสถาบันการเงิน

สำหรับเหตผลที่ อาร์เอส เข้าซื้อหุ้น 'กลุ่มบริษัทเชฎฐ์' เพราะมองว่าภาวะแนวโน้มเศรษฐกิจในปัจจุบัน จำนวนหนี้ด้อยคุณภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น บริษัทจึงมองเห็นโอกาสในการต่อยอดโมเดลธุรกิจ Entertainmerce โดยการเข้าซื้อหุ้น บริษัท เชฎฐ์ เอเชีย จำกัด ที่มีบริษัทย่อย 3 บริษัท (ถือหุ้น 100%) ได้แก่ บริษัท รีโซลูชั่น เวย์ จำกัด บริษัท บริหารสินทรัพย์ ซีเอฟ เอเชีย จำกัด และ บริษัท คอร์ทส์ เม็กก้าสโตร์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือเรียกรวมว่า กลุ่มบริษัทเชฎฐ์ ซึ่งประกอบธุรกิจหลัก ได้แก่

1) ธุรกิจบริหารหนี้ครบวงจร และที่ปรึกษาการบริหารจัดการหนี้ ดำเนินการโดย บริษัท เชฎฐ์ เอเชีย จำกัด มีพนักงาน Call center กว่า 400 คน และทีมติดตามและบริหารหนี้กว่า 100 คน สำหรับรองรับการให้บริการ ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าพอร์ตให้บริการติดตามหนี้สินกว่า 45,000 ล้านบาท จำนวนบัญชีลูกหนี้กว่า 3 แสนราย ลูกค้าหลักได้แก่ กลุ่มสถาบันการเงินและที่มิใช่สถาบันการเงิน

2) ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ เข้าซื้อ รับโอนและบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ NPL ทั้งจากกลุ่มสถาบันการเงินและที่มิใช่สถาบันการเงิน ซึ่งบริษัทย่อยที่ทำธุรกิจนี้ ได้แก่ บริษัท บริหารสินทรัพย์ ซีเอฟ เอเชีย จำกัด ได้รับใบทะเบียนบริษัทบริหารสินทรัพย์จากธนาคารแห่งประเทศไทย (“ธปท.”) และ บริษัท รีโซลูชั่น เวย์ จำกัด ปัจจุบัน มีมูลค่าพอร์ตหนี้ภายใต้การบริหารกว่า 27,000 ล้านบาท จำนวนบัญชีลูกหนี้กว่า 1 แสนบัญชี

3) ธุรกิจปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล ภายใต้บริษัทย่อย ได้แก่ บริษัท รีโซลูชั่น เวย์ จำกัด ดำเนินธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. และ บริษัท คอร์ทส์ เม็กก้าสโตร์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ปัจจุบันมีมูลค่าสินเชื่อคงเหลือประมาณ 300-400 ล้านบาท รวมทั้งหมดกว่า 1,000 บัญชี

ทั้งนี้ ประโยชน์ที่จะได้รับจากการลงทุน กลุ่มบริษัทเชฎฐ์มีการประกอบธุรกิจที่ครบวงจร ตั้งแต่การบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ การติดตามทวงถามหนี้ บังคับคดีและการให้สินเชื่อรายย่อย และมีเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง

นอกจากนี้ ยังมีทีมผู้บริหาร ทีมงาน และบุคลากร ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์การดำเนินการธุรกิจนี้มาอย่างยาวนาน จึงเชื่อว่าจะสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีให้กับอาร์เอส

โดยปีที่ผ่านมา คาดว่ากลุ่มบริษัทเชฎฐ์ มีประมาณการรายได้รวมราว 600-700 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิประมาณเกือบ 150-200 ล้านบาท

ดังนั้น การที่ อาร์เอส กรุ๊ป เข้าถือหุ้นในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการรุกธุรกิจใหม่ เป็นโอกาสที่ดีที่จะสร้างการเติบโตให้กับบริษัทฯ เพราะเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง และยังมีแผนการเติบโตของพอร์ตบริหารหนี้และยอดสินเชื่อรายย่อยอย่างต่อเนื่องในอนาคต

"จากความร่วมมือของทั้งสองกลุ่มบริษัทในครั้งนี้ มั่นใจว่าจะสามารถสร้าง synergy ที่แข็งแรงมากขึ้น จากการใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ทางทรัพยากรและจุดแข็งของแต่ละบริษัทฯ ทั้งในด้านสื่อ ช่องทางการขาย ระบบการบริหารจัดการข้อมูล และ Ecosystem ของ อาร์เอส กรุ๊ป รวมถึงประสบการณ์ความชำนาญในธุรกิจ และภาพลักษณ์ในอุตสาหกรรมของกลุ่มบริษัทเชฎฐ์ จะส่งผลให้เกิดประโยชน์เสริมให้กันและกันอย่างมาก อาทิ การขยายฐานลูกค้า ช่องทางการขาย การใช้สื่อและกลยุทธ์ทางการตลาดที่ตอบโจทย์ ซึ่งเหล่านี้จะสร้างความแตกต่างและต่อยอดโมเดล Entertainmerce ได้อย่างแน่นอน และจะช่วยเสริมให้กลุ่มบริษัทเชฎฐ์มีการเติบโตที่แข็งแกร่งมากขึ้นในอนาคตจนเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม และมีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายใน 3 ปี” นายสุรชัย กล่าว

บอร์ดก.ล.ต. มีมติให้ bitkub แพลตฟอร์มซื้อขายบิทคอยน์ แก้ไขระบบงานภายใน 5 วัน เพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน หลังมีคนร้องเรียนจำนวนมาก จากกรณีระบบซื้อขายล่มหลายครั้ง

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แจ้งว่าตามที่ปรากฏข้อมูลต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ว่าเกิดกรณีปัญหากับระบบงานของบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (Bitkub) โดยพบว่า มีกรณีที่ไม่สามารถให้บริการลูกค้าได้ตามปกติ และมีการหยุดชะงักของระบบงานสำคัญ ได้แก่ ระบบซื้อขายวันที่ 2 วันที่ 3 และวันที่ 16 มกราคม 2564 รวมทั้งมีเรื่องร้องเรียนจำนวนมากนั้น

คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564 อาศัยอำนาจตามมาตรา 35 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 มีมติให้ Bitkub ส่งแผนการแก้ไขให้ ก.ล.ต. และดำเนินการแก้ไขระบบงานที่เป็นประเด็นปัญหาให้แล้วเสร็จภายใน 5 วัน ได้แก่

แก้ไขการดำเนินการตามระบบงานต่าง ๆ ได้แก่ ระบบการซื้อขาย ระบบการฝากถอนเงินและสินทรัพย์ดิจิทัล ระบบการแสดงข้อมูลทรัพย์สินลูกค้า ระบบการให้บริการติดต่อลูกค้า ระบบการรับลูกค้า การยืนยันและพิสูจน์ตัวตนลูกค้า (KYC) และการเปิดบัญชี ระบบการจัดการเรื่องร้องเรียน และการจัดการบุคลากรให้เหมาะสมและเพียงพอกับปริมาณลูกค้าและธุรกรรม

แก้ไขนโยบายการรับลูกค้าให้เหมาะสมกับระบบงานที่พร้อมให้บริการตามข้อตกลงระดับการให้บริการที่ตกลงไว้กับลูกค้า (Service Level Agreement)

แก้ไขระบบงานที่สามารถรองรับการประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง (Business Continuity Plan) ให้ครอบคลุมถึงกรณีที่ระบบซื้อขายขัดข้อง สอดคล้องกับรูปแบบธุรกิจ ปริมาณลูกค้า และธุรกรรมในปัจจุบัน

แก้ไขการดำเนินการตามระบบงานที่ช่วยเสริมสร้างและรักษากลไกการทำงาน ของระบบซื้อขายให้มีความเรียบร้อย (Market Surveillance)

กฟภ.เผยอยู่ระหว่างเจรจากับ ปตท.เพื่อร่วมมือในการขยายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ทั่วประเทศ คาดชัดเจนในปีนี้

นายภานุมาศ ลิ้มสุวรรณ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เปิดเผยว่า กฟภ.อยู่ระหว่างเจรจากับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เพื่อร่วมลงทุนในการขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) ภายในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ของบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท. รวมทั้งขยายในสำนักงานย่อยของ กฟภ.ด้วย เบื้องต้นจะติดตั้งประเภทหัวจ่ายเร่งด่วน (Quick Charge) เพื่อรองรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปีนี้

“การลงทุนขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าเพื่อรองรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่ในปัจจุบันเริ่มเห็นมีการวิ่งในท้องถนนกันมากขึ้น และค่ายรถยนต์หลายค่ายก็เริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกมาจำหน่าย ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้คาดว่าจะมีคนใช้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน หน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายรายก็เริ่มมีการลงทุนพัฒนาสถานีชาร์จ EV รวมถึงพัฒนารถยนต์ EV ทั้งนี้ การใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะเติบโตหรือมีการใช้มากขึ้นนั้นก็ขึ้นอยู่กับความชัดเจนของนโยบายของภาครัฐด้วย” นายภานุมาศกล่าว

ก่อนหน้านั้น กฟภ.ได้มีความร่วมมือกับบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ในการขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Quick charge สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงของบริษัท บางจากฯ ในทุกๆ 100 กิโลเมตร ตามถนนสายหลักของประเทศไทยรวม 62 สถานีภายในปี 2563 - 2564

โอกาสทางธุรกิจ!! โควิดดันเศรษฐกิจดิจิทัลในไทยพุ่ง หลังพบตัวเลขปี 63 ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซโต 81% ขณะที่บริการเรียกรถ-สั่งอาหารผ่านแอปฯ มูลค่าแตะ 3.3 หมื่นล้าน นักวิชาการธรรมศาสตร์ ชี้ตลาดยังโตได้อีก แนะภาครัฐปรับตัวและส่งเสริมธุรกิจ แทนการออกกฎหมายฉุดรั้ง

ผศ.ดร.สุทธิกร กิ่งเเก้ว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านธุรกิจระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจดิจิทัล เปิดเผยถึงภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และในประเทศไทย อ้างอิงจากรายงาน e-CONOMY SEA 2020 โดย Google, Temasek, Bain & Company ว่า การใช้อินเทอร์เน็ตในอาเซียนเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องพบว่ามีผู้ใช้รายใหม่เพิ่มขึ้นถึง40 ล้านราย โดยเพิ่มจาก 360 ล้านราย ในปี 2562 (2019) เป็น 400 ล้านราย ในปี 2563 (2020)

จากรายงานข้างต้นพบว่า ประชากรอาเซียนใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยมากกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่คนไทยใช้เวลามากถึง 3.7 ชั่วโมงต่อวัน ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และขยับเป็น4.6 ชั่วโมง ในช่วงที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ซึ่งค่าเฉลี่ยปัจจุบันอยู่ที่ 4.3 ชั่วโมงต่อวัน โดยผู้ใช้ 8 ใน 10 ราย มองว่า เทคโนโลยีมีประโยชน์อย่างมากในช่วงการระบาดของโควิด-19 เทคโนโลยีได้กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวันของผู้คน

ทั้งนี้จากแนวโน้มที่คนอาเซียน และคนไทยใช้เวลาไปกับอินเทอร์เน็ตมากขึ้นนั้น จะส่งผลทำให้อัตราการเติบโตของธุรกิจการค้าออนไลน์ (อี-คอมเมิร์ซ) พุ่งสูงขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ ในประเทศไทยพบว่า ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซเติบโตมากถึง 81% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านับเป็นการก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว ซึ่งข้อมูลจากรายงาน e-CONOMY SEA 2020 ระบุว่า สามารถชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปจากธุรกิจท่องเที่ยว และการขนส่งที่หดตัวลงจากการขาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ

รายงานดังกล่าวยังระบุว่า มูลค่าสินค้า (Gross Merchandise Value : GMV) ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยในปี 2563 (2020) นั้นมียอดรวมประมาณ 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5.4 แสนล้านบาท หรือ เติบโตขึ้น 7% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2568 (2025) เศรษฐกิจดิจิทัลไทยจะมีมูลค่าสูงถึง 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.59 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยมากถึง 25% ต่อปี

ดร.สุทธิกร กล่าวเสริมว่า ในปี 2563 (2020) ธุรกิจบริการเรียกรถผ่านแอปฯ และการสั่งอาหารออนไลน์ในประเทศไทย มีมูลค่ารวมสูงถึง 3.3 หมื่นล้านบาท และเป็นที่คาดการณ์ว่า ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจะส่งให้ทั้งสองธุรกิจสามารถเติบโตสูงขึ้นเฉลี่ย 45% ต่อปีต่อเนื่องจนถึงปี 2568 (2025) ทั้งนี้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ในปีที่ผ่านมา ส่งผลดีต่อธุรกิจบริการสั่งอาหารออนไลน์ซึ่งเติบโตถึงกว่า 42%

อย่างไรก็ดี ธุรกิจบริการเรียกรถผ่านแอปฯ กลับได้รับผลกระทบอย่างหนักโดยติดลบถึง 53% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าอันเป็นผลมาจากนโยบายล็อกดาวน์ในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาด การหลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกบ้าน เทรนด์การทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) รวมถึงผลกระทบจากการท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปหลายสิบล้านคน

หากมองย้อนกลับไปในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลโดยเฉพาะแอพพลิเคชั่นในการสั่งอาหารออนไลน์ และบริการเรียกรถออนไลน์ ในกลุ่มอาเซียนและในประเทศไทย ถือว่าเติบโตขึ้นอย่างมาก ความเข้มแข็งของธุรกิจดิจิทัลเหล่านี้ได้ช่วยให้ภาคธุรกิจ และเศรษฐกิจสามารถปรับตัวได้เป็นอย่างดีในช่วงที่โควิดระบาด ขณะเดียวกันภาครัฐในฐานะผู้กำกับดูแล (Regulator) เอง ก็จำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน

สำหรับประเทศไทยซึ่งปัจจุบันภาครัฐอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อผลักดันให้บริการ “เรียกรถผ่านแอปฯ” เป็นเรื่องถูกกฎหมายนั้น ดร.สุทธิกร แสดงความเห็นว่า นับเป็นเรื่องที่ดีและสมควรเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่การที่ภาครัฐ โดยกระทรวงคมนาคม ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำร่างกฎกระทรวงว่า ด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารแบบบริการทางเลือก พ.ศ. … (ร่างกฎกระทรวงฯ) กำหนดเงื่อนไขบางอย่าง ที่อาจไม่สอดรับกับกระแสความเปลี่ยนแปลง และเป็นไปของเทคโนโลยีโดยเฉพาะการกำหนดโควตาของรถยนต์ส่วนบุคคลที่จะเข้าร่วมให้บริการดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่ภาครัฐจะต้องพิจารณาปรับแก้ไข ซึ่งในฐานะนักวิชาการด้านธุรกิจดิจิทัลมีความเห็นว่าควรจะตัดส่วนนี้ออกก่อนประกาศใช้อย่างเป็นทางการ

“นับเป็นเรื่องที่ดีที่ภาครัฐจะเดินหน้าผลักดันให้มีรถยนต์โดยสารแบบบริการทางเลือก (เรียกรถผ่านแอปฯ) แบบถูกกฎหมาย แต่การผลักดัน และส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลนั้น ภาครัฐจะทำงานหรือกำหนดตัวบทกฎหมายในรูปแบบเดิมไม่ได้ควรต้องเปิดโอกาส และรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพในการเลือกทำอาชีพใดๆ รวมถึงกลไกตลาด และที่สำคัญบริบทด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคดิจิทัล ซึ่งการควบคุมแบบเดิมๆ อย่างการกำหนดโควตาอาจจะเป็นเรื่องล้าหลังที่ถ่วงการพัฒนาของภาคธุรกิจ”ดร.สุทธิกร ระบุ และย้ำว่า

การกำหนดโควตา (จำนวนรถยนต์หรือคนขับ) นั้น อาจไม่สอดคล้องกับระบบอุปสงค์และอุปทานที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น ถ้ามีการให้โควตาน้อยเกินกว่าปริมาณความต้องการ เมื่อจะมาเพิ่มจำนวนในภายหลัง อาจจะต้องผ่านขั้นตอนการอนุมัติมากมายของหน่วยงานราชการ จนไม่ทันการกับสถานการณ์ความต้องการที่เกิดขึ้นอย่างไม่ได้คาดคิด

ยกตัวอย่างในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พบว่า มีปริมาณการสั่งอาหารออนไลน์มากขึ้นอย่างทวีคูณ แพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างๆ มีคนขับไม่เพียงพอกับการสั่งอาหาร ซึ่งการที่ภาครัฐไม่ได้จำกัดโควตารถส่งอาหารทำให้แพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างๆ สามารถเปิดรับคนขับเพิ่มได้ทันที โดยในช่วงล็อกดาวน์ปีที่แล้ว ผู้ให้บริการอย่าง Grab สามารถเปิดรับคนขับเพิ่มได้กว่าครึ่งแสน ช่วยตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและยังช่วยสร้างรายได้ทดแทนให้กับผู้ที่ตกงานจากสถานการณ์โควิด

โดยในปีนี้ ผู้ประกอบการรายใหญ่อย่าง LINE MAN เองก็มีแผนจะเปิดรับคนขับส่งอาหารเพิ่มอีกใน 29 จังหวัด รวมถึงรายอื่นๆ เองก็มีแผนจะเข้ามาดำเนินธุรกิจในลักษณะนี้เช่นกัน ซึ่งประชาชนในฐานะผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการแข่งขันที่มีมากขึ้น

ดังนั้น แทนที่ภาครัฐจะออกกฎมาควบคุมการบริการเรียกรถผ่านแอปฯ โดยเฉพาะการกำหนดโควตา ควรหันไปลดเงื่อนไข และข้อกำหนดที่มีอยู่ในปัจจุบันซึ่งเป็นภาระกับผู้ขับขี่รถแท็กซี่จะดีกว่าหรือไม่? เพื่อให้ต้นทุนการดำเนินงานลดลง และเกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ที่สำคัญผลประโยชน์จะได้ตกอยู่กับผู้บริโภค (ผู้โดยสาร) ได้มากที่สุด

“การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ และภาครัฐเองจะต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้มากที่สุด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงยกระดับเศรษฐกิจไทยด้วยระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อผลักดันประเทศให้เข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ในส่วนการควบคุม และกำกับดูแลนั้นเป้าหมายหลัก คือ เพื่อสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมและระบบเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพมากกว่าปกป้องผู้ประกอบการกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ไม่ต้องการปรับตัว”

 

กระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าช่วยเหลือผู้ประกอบการปรับตัวและจำหน่ายสินค้า GI ได้อย่างต่อเนื่อง เบื้องต้นเน้นจัดทำแผนขยายตลาดสินค้า GI สู่ช่องทางออนไลน์ โดยหาช่องทางการตลาดที่เหมาะสมกับจุดเด่นของตัวสินค้า

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยแผนส่งเสริมการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ในปี 2564 มอบกรมทรัพย์สินทางปัญญาเดินหน้าขึ้นทะเบียนสินค้า GI ไทย เร่งสร้างการรับรู้และขายสินค้า GI ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ พร้อมดัน GI ไทยรุกตลาดอาเซียน โดยเตรียมจัดทำคำขอข้าวไทย 2 รายการเพื่อยื่นจดทะเบียนในอินโดนีเซีย และจัดโปรโมทสินค้า GI ไทย ในเว็บไซต์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ณ ประเทศญี่ปุ่น

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ในปี 2564 ได้มอบกรมทรัพย์สินทางปัญญาเดินหน้าส่งเสริมการคุ้มครอง GI ทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยมีการดำเนินงานในประเทศร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียนสินค้า GI ไทยรายการใหม่ๆ อีกอย่างน้อย 18 รายการ จากเดิมที่ขึ้นทะเบียนไปแล้ว 134 รายการ และในส่วนของการขอรับความคุ้มครองในต่างประเทศ ได้คัดเลือกสินค้าไทยที่มีศักยภาพจำนวน 2 สินค้า ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ และข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง มาจัดทำคำขอยื่นจดทะเบียน GI ในประเทศอินโดนีเซีย เพื่อยกระดับสินค้าไทยให้ได้มาตรฐานสากลและเพิ่มโอกาสทางการค้าให้กับเกษตรกรผู้ผลิต คาดจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางการตลาดให้กับสินค้า GI ให้สูงขึ้น หลังจากที่ผ่านมาสินค้าภายใต้ระบบการคุ้มครอง GI ไทยสามารถสร้างมูลค่าทางการตลาดโดยรวมได้กว่า 36,000 ล้านบาท”

นายวีรศักดิ์ กล่าวว่า “จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 การส่งเสริมการค้าออนไลน์ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถปรับตัวและจำหน่ายสินค้า GI ได้อย่างต่อเนื่อง กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ จึงได้จัดทำแผนขยายตลาดสินค้า GI สู่ช่องทางออนไลน์ โดยหาช่องทางการตลาดที่เหมาะสมกับจุดเด่นของตัวสินค้า จัดอบรมเทคนิคจำเป็นในการขายสินค้าออนไลน์ให้แก่ผู้ประกอบการ GI และเตรียมจัดทำแคมเปญส่งเสริมการขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ อาทิ Facebook เพจกรมทรัพย์สินทรัพย์สินทางปัญญา เพจ GI Thailand เว็บไซต์ shop@24 ฯลฯ ตลอดจนการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ผ่าน Influencer และจัดโปรโมทสินค้า GI ไทยผ่านเว็บไซต์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ณ ประเทศญี่ปุ่น www.thailandtravel.or.jp เพื่อเผยแพร่ข้อมูลคุณภาพสินค้า GI ไทย ให้เป็นที่รู้จักและสร้างการรับรู้ถึงเอกลักษณ์ความแตกต่างจากสินค้าประเภทเดียวกันที่มาจากแหล่งภูมิศาสตร์อื่น”

ทั้งนี้ นอกจากการส่งเสริมการจดทะเบียน GI ทั้งในและต่างประเทศแล้ว กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ยังให้ความสำคัญกับการจัดทำระบบควบคุมตรวจสอบคุณภาพสินค้า เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ว่าจะได้รับสินค้า GI ที่มีคุณภาพและมาจากแหล่งผลิตที่แท้จริง โดยประชาชนสามารถเข้าไปเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์สินค้า GI ต่างๆ ได้ทาง Facebook เพจ GI Thailand เพื่อร่วมสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้แก่ผู้ประกอบการ GI ให้สามารถฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้

สำหรับ ‘สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์’ (Geographical Indications) หรือ GI นั้น เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความเชื่อมโยง (Links) ระหว่างปัจจัยสำคัญสองประการ คือ ธรรมชาติและมนุษย์ กล่าวคือ ชุมชนได้อาศัยลักษณะเฉพาะที่มีอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์ตามธรรมชาติ เช่น สภาพดินฟ้าอากาศ หรือวัตถุดิบเฉพาะในพื้นที่ มาใช้ประโยชน์ในการผลิตสินค้าในท้องถิ่นของตนขึ้นมา ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณลักษณะพิเศษที่มาจากพื้นที่ดังกล่าว คุณลักษณะพิเศษนี้อาจหมายถึง คุณภาพ ชื่อเสียงหรือคุณลักษณะเฉพาะอื่นๆ ที่มาจากแหล่งภูมิศาสตร์นั้นๆ

กรมสรรพากรต่อเวลาให้อีก 3 ปี กรณี ‘ขยายเวลายื่นแบบและชำระภาษีผ่านออนไลน์ 8 วัน’ นับแต่วันครบกำหนดยื่นแบบแต่ละประเภท เริ่มตั้งแต่ 1 ก.พ.64 ถึง 31 ม.ค. 67 หนุนทำธุรกรรมภาษีที่บ้าน ช่วยลดและป้องกันแพร่ระบาด COVID – 19

นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี(กลุ่มธุรกิจพลังงาน) ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “กระทรวงการคลังได้ประกาศขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ และชำระภาษีผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตออกไปอีก 8 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด

โดยขยายเวลาต่อไปอีก 3 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 เป็นการขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษี การชำระภาษี และการนำส่งภาษีตามประมวลรัษฎากรสำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90 ภ.ง.ด.91 และ ภ.ง.ด.94) ภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50 ภ.ง.ด.51 ภ.ง.ด.52 ภ.ง.ด.54 และ ภ.ง.ด.55) ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด.1 ภ.ง.ด.2 ภ.ง.ด.3 และ ภ.ง.ด.53) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30 และ ภ.พ.36) และภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.40) ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ที่ www.rd.go.th

ซึ่งจะช่วยให้ผู้เสียภาษีได้รับความสะดวก รวดเร็ว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษี หรือนำส่งภาษี ยื่นแบบแสดงรายการภาษีผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น และสอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0”

โฆษกกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า “กรมสรรพากรสนับสนุนให้ผู้ประกอบการและประชาชน ใช้บริการทำธุรกรรมภาษีที่บ้าน TAX from Home ในทุกขั้นตอน เพราะง่าย สะดวก ปลอดภัย ไม่ต้องเดินทาง มีการเว้นระยะห่างทางสังคม ช่วยลดและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19)และสำหรับผู้ประกอบการและผู้เสียภาษีที่ยื่นแบบผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ยังได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม การใช้บริการชำระภาษี หากชำระภาษีผ่าน QR Code หรือช่องทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ตามเงื่อนไขของธนาคาร”

พรรคก้าวไกล ดัน 4 มาตรการกู้ชีพ SMEs – ท่องเที่ยว ยื่นแก้ไข 'พ.ร.ก.ซอฟท์โลน' อุ้มธุรกิจเข้าถึงแหล่งทุน พร้อม ‘สินเชื่อคืนภาษี 10 ปี’ พยุงภาคท่องเที่ยว คลายภาระและความตึงเครียดหลังวิกฤติโควิดระลอกใหม่ระบาด

ที่อาคารรัฐสภา นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ยื่นร่างแก้ไขพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 หรือ พ.ร.ก.ซอฟท์โลน เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร หวังรัฐเร่งเพิ่มมาตรการช่วยผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งทุน ผ่อนคลายภาระและความตึงเครียดหลังวิกฤติโควิดระลอกใหม่ระบาด โดยมี นายเเพทย์ สุกิจ อัตโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รับร่างกฎหมายดังกล่าว

นายวรภพ กล่าวว่า ธุรกิจ SMEs กัดฟันต่อสู้กับวิกฤติมาตั้งแต่ปีก่อน ถึงตอนนี้อ่อนแรงและกำลังจะหมดความหวัง เงินเก็บถูกใช้จนเกือบหมด หลายคนต้องหันไปหมุนเงินกับหนี้นอกระบบ กลายเป็นวังวนหนี้รอบใหม่หรือกำลังจะกลายเป็นอีกปัญหาที่พัวพันเข้ามาอีกในอนาคต สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ SMEs ยังเข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล วันนี้ตนเเละพรรคก้าวไกลจึงแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเพื่อขอให้สื่อมวลชนช่วยกันกดดันให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการความช่วยเหลือพี่น้อง SMEs รอบใหม่ที่ตอบโจทย์มากกว่าเดิม รวมถึงเสนอร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหานี้ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติด้วย

นายวรภพ กล่าวต่อไปว่า พรรคก้าวไกลขอให้รัฐบาลพิจารณาใน 2 มาตรการที่จะช่วยเหลือ SMEs ได้จริง มาตรการแรก คือ การแก้ไข พ.ร.ก.ซอฟท์โลน เพราะมาตรการในปัจจุบันล้มเหลวในการช่วยเหลือ จากวงเงิน 500,000 ล้านบาท ตั้งแต่เดือน เม.ย. 63 ผ่านมาแล้ว 9 เดือน สินเชื่ออนุมัติไปเพียง 123,000 ล้านบาท หรือเพียง 25% เท่านั้นเอง หากนับเป็นรายจำนวนคืออนุมัติไปเพียง 74,000 ราย หรือเพียง 2% จาก SMEs 3.1 ล้านราย ทั่วประเทศ จึงสะท้อนว่า ยังมี SMEs อีกจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงมาตรการนี้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้าแม่ขาย ห้างร้านขนาดเล็ก ทั้งนี้ เงื่อนไขของ พ.ร.ก.ซอฟท์โลนไม่ได้จริงใจในการช่วยตั้งแต่แรก โดยกำหนดเงื่อนไขว่าต้องมีสินเชื่อกับธนาคารอยู่ก่อนแล้ว ถึงจะได้รับ วงเงิน ทำให้เกิดการกีดกันผู้ประกอบการจำนวนมากออกไปเพราะไม่เคยกู้เงินกับธนคารมาก่อน

นอกจากนี้ เงื่อนไขที่กำหนดว่า รัฐบาลจะชดเชยให้ธนาคารและให้ระยะเวลาผ่อนชำระคืนภายใน 2 ปี หมายถึงว่า กรอบการจ่ายหนี้มีระยะเวลาสั้น ยอดผ่อนต่อเดือนเพื่อชำระหนี้คืนจะสูงมาก ซึ่งอาจสูงเกินกว่าที่ธุรกิจจะสามารถผ่อนคืนได้ในช่วงวิกฤตแบบนี้ กลายเป็นเงื่อนไขที่ธนาคารปฏิเสธไม่ปล่อยวงเงินมาให้ธุรกิจที่กำลังลำบาก เพราะมองว่ามีความเสี่ยงต่อกการผิดชำระหนี้สูงมาก ส่วนมาตรการของรัฐบาลที่ให้ บสย.(บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม) มาช่วยชดเชย ตามโครงการ PGS Soft Loan Plus เมื่อเดือน ส.ค. 63 เพื่อแก้ปัญหาระยะเวลาผ่อนก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ เพราะได้กำหนดชดเชยความเสียหายเพียง 30% ซึ่งทำให้จากวงเงิน 57,000 ล้านบาท ได้ถูกอนุมัติไปได้เพียง 3,000 ล้านบาทเท่านั้น

“ดอกเบี้ย 2% คือ อีกหนึ่งเงื่อนไขปัญหา เพราะธนาคารไม่มีแรงจูงใจในการปล่อยกู้ให้กับ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตนี้ เพราะส่วนต่างดอกเบี้ยไม่ชดเชยกับความเสี่ยงต่อการเสียหายและดำเนินการของธนาคารเอง SMEs ที่เข้าไม่ถึงหนี้ในระบบจึงก็ต้องไปพึ่งหนี้นอกระบบ เกิดเป็นวงจรหนี้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น รัฐบาลกำลังปล่อยให้ SMEs รายย่อยต้องรับมือกับหนี้นอกระบบตามลำพัง”

นายวรภพ กล่าวระบุถึงข้อเสนอว่า เพื่อคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้น พรรคก้าวไกลจึงเสนอเป็น ร่างแก้ไข พ.ร.ก.ซอฟท์โลน เพื่อให้เป็นมาตรการที่ช่วยเหลือ SMEs ได้จริง มีสาระสำคัญ 4 ประเด็นคือ

หนึ่งให้ SMEs ที่ไม่เคยมีสินเชื่อกับธนาคารสามารถขอกู้ซอฟท์โลนได้ และกำหนดให้ธนาคารแห่งต้องกันวงเงินสำหรับ SMEs ขนาดเล็ก ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ธุรกิจที่มีประวัติการจ่ายภาษี เพื่อช่วยเหลือและเยียวยาให้ทั่วถึงมากที่สุด

สอง เพิ่มระยะเวลาผ่อนซอฟท์โลนจาก 2 ปี เป็น 5 ปี เพื่อให้ SMEs สามารถผ่อนชำระต่อเดือนได้น้อยลง และธนาคารมั่นใจได้ว่า ผู้กู้จะสามารถอยู่รอดข้ามวิกฤตนี้และชำระหนี้คืนธนาคารได้

สาม เพิ่มเพดานอัตราดอกเบี้ย จาก 2% เป็น 5% สำหรับผู้กู้ที่มีวงงินสินเชื่อกับธนาคารอยู่แล้ว และเพดานดอกเบี้ย 7.5% สำหรับผู้กู้ที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคาร เพื่อให้ SMEs ขนาดเล็ก สามารถเข้าถึงซอฟท์โลนได้มากขึ้น ทั้งนี้ คนทำธุรกิจจะรู้ว่า ดอกเบี้ยไม่ได้เป็นส่วนสำคัญในการขอกู้ สภาพคล่องคือสิ่งที่สำคัญที่สุดของธุรกิจ ถ้า SMEs เข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ ก็จะต้องไปพึ่งหนี้นอกระบบที่ดอกเบี้ยสูงกว่ามากอยู่ดี

สี่ เพิ่มอัตราการชดเชยความเสียหายกรณีหนี้เสีย จากเดิม 60 - 70% เป็นไม่เกิน 80% เพื่อให้ธนาคารมั่นใจและกล้าปล่อยกู้ให้กับ SMEs ขนาดเล็ก ธุรกิจที่เดือดร้อน ให้รอดจากวิกฤตนี้ได้มากขึ้น เพราะถ้าเกิดความเสียหาย ธนคารก็จะได้รับเงินชดเชยจากรัฐช่วยเยี่ยวความเสียหายได้

นายวรภพ กล่าวอีกว่าว่า ตนและพรรคก้าวไกล ได้พยายามอภิปรายปัญหานี้ให้รัฐบาลทราบตั้งแต่ เดือน พ.ค. ปีที่แล้ว และคาดหวังว่ารัฐบาลจะรีบเปิดสภาและเลื่อนการพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.ก.ซอฟท์โลนเพื่อช่วยเหลือ SMEs โดยเร็วที่สุด

สำหรับมาตรการที่สอง คือ ขอให้รัฐออกโครงการใหม่ ได้แก่ โครงการสินเชื่อคืนภาษี 10 ปี เพื่อช่วยเหลือ SMEs ที่มีศักยภาพสามารถข้ามวิกฤตได้ทุกราย โดยเฉพาะธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยวที่เข้าไม่ถึงทั้งมาตรการซอฟท์โลนและโครงการสินเชื่อธนาคารรัฐ เพราะธนาคารต่างประเมินความเสี่ยงของธุรกิจในสภาวะวิกฤตนี้ อย่างไรก็ตาม นี่เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องช่วยเหลือธุรกิจในยามวิกฤต เพราะพวกเขาคือธุรกิจที่มีศักยภาพ หากเป็นธุรกิจที่มีประวัติจ่ายภาษีมาตลอดก็ต้องทำให้เขาอยู่รอด ก้าวข้ามวิกฤต และกลับมาเป็นกลไกเศรษฐกิจหลักของประเทศหลังวิกฤตได้

“อยากให้มี โครงการสินเชื่อคืนภาษี 10 ปี ให้กับ SMEs โดยกำหนดวงเงินสินเชื่อจากยอดรวมภาษีที่ธุรกิจจายให้รัฐมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งภาษีนิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และ ภาษีบุคคลธรรมดา ให้เป็นสิทธิของธุรกิจในการขอกู้ได้ทันที ซึ่งเรื่องฐานข้อมูลภาษีมีที่กรมสรรพากรอยู่แล้ว สามารถทำได้รวดเร็ว ทันที และตรงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเชื่อว่าธนาคารของรัฐทั้ง 7 แห่งมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะช่วยเหลือ SMEs ตามโครงการสินเชื่อ 10 ปี ได้เลย เรื่องนี้จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลรีบนำไปพิจารณาและออกมาตรการมาช่วยเหลือ SMEs โดยเร็วที่สุด”นายวรภพ กล่าว

อาหารการกินของคนไทย ปี 2020

จากผลสำรวจ ‘อาหารการกินของคนไทย ปี 2020’ โดย สวนดุสิตโพล ที่ได้จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,144 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 1-3 ธันวาคม 2563 ได้ยกให้ ‘ข้าวกะเพรา’ ครองแชมป์เมนูยอดนิยมในหมู่คนไทย

 

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เชื่อว่าเราคงได้ยินคำว่า “Startup” กันอย่างหนาหู หลัง ๆ มีหลายบริษัทที่เกิดใหม่เติบโตอย่างรวดเร็วและโดดเด่นขึ้นมา ขณะที่การแบ่งขนาดธุรกิจในวงการ Startup จะใช้สัตว์ในตำนานมาแบ่งขั้นอย่างเกรงขาม ใครเป็นอะไรมาลองดูกัน

Ponies (โพนี): ธุรกิจที่มีมูลค่ามากกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เช่น แอปพลิเคชัน eko, eatigo

Centaurs (เซนทอร์): ธุรกิจมูลค่ามากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เช่น LINE MAN

Unicorn (ยูนิคอร์น): ธุรกิจที่มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เช่น Uber, Airbnb และ Snapchat

Decacorn (เดเคคอร์น): ธุรกิจมูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เช่น Dropbox, SpaceX, Flipkart และ Pinterest

โควิด-19 ระบาดใหม่ ไทยสูญเสียอะไรบ้าง?

จากสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ที่เริ่มต้นจากตลาดกุ้งในสมุทรสาคร ขณะเดียวกันก็พบจำนวนผู้ติดเชื้อที่กระจายตัวเป็นวงกว้างไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในหลายจังหวัดของประเทศไทย มีการประเมินว่าภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมจะได้รับความสูญเสียราว ๆ 45,000 ล้านบาทในกรอบเวลา 1 เดือน

ทันทีที่ข่าวการอวดโฉม เรือเฟอร์รี่ ‘สัตหีบ-สงขลา’ ซึ่งจะเริ่มทดสอบจริงในช่วง7ม.ค.นี้ ดูจะทำให้ประชาชนคนไทย และภาคธุรกิจหลายๆ ส่วน เฮ!! ดังมากๆ

โปรเจ็กต์นี้ทาง ‘กรมเจ้าท่า’ ได้ร่วมกับ บริษัท ซีฮอร์ส เฟอร์รี่ จำกัด เพื่อให้บริการจากท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ (ท่าเรือจุกเสม็ด) - ท่าเรือเซ้าท์เธิร์น โลจิสติกส์ 2009 จังหวัดสงขลา ด้วยความเร็ว 17 น็อต จาก 330 ไมล์ทะเล (611 กม.) ใช้เวลาเดินทาง 18-20 ชม. เร็วกว่าทางบกที่ระยะทาง 1,130 กม. ช่วยร่นระยะทาง 519 กม. ไม่ต้องหลังแข็งขับรถ 23-24 ชม. ใช้เวลานอนพักผ่อนบนเรือได้เต็มที่

โดยโครงการนี้ ทางผู้ประกอบการลงทุน100% ได้ซื้อเรือเฟอร์รี่มือสองมาจากเมืองฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเดินทางถึงเมืองไทยแล้ว อยู่ระหว่างซ่อมบำรุงที่อู่เรือ บริษัท ยูนิไทยชิปยาร์ด จำกัด

จากนั้นก็เตรียมแผนทดสอบระบบการเดินเรือและทดลองเปิดบริการเพื่อรับรถของลูกค้าบริษัทก่อนประมาณวันที่ 7 ม.ค. นี้ แล้วก็คาดว่าจะเปิดบริการอย่างเป็นทางการให้ประชาชนทั่วไปภายในเดือนมกราคม หรืออย่างช้าก็เดือนกุมภาพันธ์

ส่วนรายละเอียดอัตราค่าโดยสารเนื่องจากกำลังจัดทำรายละเอียดของต้นทุนในการเดินเรือนำเสนอและรอผลการทดสอบก่อน แต่ได้ให้ข้อแนะนำว่าควรกำหนดอัตราที่ผู้ประกอบการรถบรรทุกและประชาชนรับได้

ทั้งนี้ หากมองถึงประโยชน์ที่จะมาพร้อมกับ เฟอร์รี่ ‘สัตหีบ-สงขลา’ นั้นมีเพียบ ตั้งแต่...

• ขนรถบรรทุกได้ถึง80คัน

• รถส่วนตัว20คัน

• ผู้โดยสาร586คน

• สร้างระบบโลจิสติกส์แบบวาร์ป จาก ‘ตะวันออกไปถึงภาคใต้’

• และถ้าเวิร์คเฟสต่อไป ก็จะไปจอดท่า ‘ปราณบุรี’

ตามมุมมองของ วิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) ให้ความเห็นว่า โครงการเดินเรือเฟอร์รี่ ระหว่าง ‘สัตหีบ-สงขลา’ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์ภาพรวมการขนส่งภายในประเทศ ผ่านระบบการขนส่งทางน้ำ ซึ่งเป็นโครงการที่ ‘Very Good’

เนื่องจากเป้าหมายของโครงการนี้ ไม่แค่เพื่อการขนส่งอย่างเดียว แต่ยังมาช่วยลดปัญหา ความแออัดของการจราจร และลดการเกิดอุบัติเหตุท้องถนน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)

อีกทั้งสามารถประหยัดงบประมาณในการซ่อมบำรุงถนนของภาครัฐ อันนี้คือข้อดีตามแผนของโครงการดังกล่าว

โดยในระยะแรกจะให้บริการในเส้นทางชลบุรี(สัตหีบ) – สงขลา เพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่เชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก กับเขตเศรษฐกิจภาคใต้พร้อมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยว

ฟังๆ ดูแล้วที่เล่ามาทั้งหมด ช่างดูเป็นโปรเจ็กต์ที่สวยหรู และพร้อมเดินหน้าได้โลด!!

แต่เดี๋ยวก่อน หากหันไปมองดู ‘ข้อสะดุด’ บางอย่างก็ยังมี และเหมือนจะมีแบบหนักหนาด้วย!

นั่นก็เพราะมีคนในโลกโซเชี่ยลตั้งประเด็นเรื่องเรือเฟอร์รี่ ‘สัตหีบ-สงขลา’ ที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นว่า ‘ไม่ปลอดภัย’

จากข้อมูลของผู้ใช้เฟซบุ๊ก ‘Naruphun Chotechuang’ ที่ทราบชื่อภายหลังว่า ‘นฤพันธ์ โชติช่วง’ ซึ่งเป็นอดีตนักเรียนวิทยาลัยยามชายฝั่งญี่ปุ่น และอดีตเจ้าหน้าที่ ได้มีมุมมองที่ย้อนแย้งที่ทำให้ต้องสะอึกกับโครงการเฟอร์รี่ สัตหีบ-สงขลา พอดู

อันที่จริงแล้ว นฤพันธ์ เห็นด้วยกับโครงการนี้ว่ามีความน่าสนใจ เพราะลดลดทั้งความหนาแน่นบนท้องถนน และมลพิษที่ออกจากรถยนต์ตามที่กรมเจ้าท่าบอก แต่เขาไม่เห็นด้วยกับการเอาเรือเฟอร์รี่ ซีฮอร์ส หรือเรือเฟอร์รี่มือสองจากญี่ปุ่นมาวิ่งเส้นทาง สัตหีบ – สงขลา

เหตุผลที่เป็นเช่นนั้น ถูกโพสต์ทิ้งไว้ในเพจให้ต้องคิดตามหลายเรื่อง!!

“เรือลำนี้ เป็นเรือมือสอง (ถ้านับจริงๆ ก็มือสาม) ที่ต่อตั้งแต่ปี 1994 อายุสิริรวมก็ได้ 27 ปี ช่วงรอยต่ออายุระดับเกือบ 30 ปีนั้น ทำให้เกิดข้อกังขาในเทคโนโลยีความปลอดภัยด้านตัวเรือ

แถมถ้ามองเส้นทางวิ่ง สัตหีบ-สงขลา ที่มีระยะทางมากกว่า 100 ไมล์ทะเลแล้ว ต้องบอกเลยว่ามันอาจจะเกินประสิทธิภาพไปมาก เพราะทราบหรือไม่ว่าเรือลำนี้ก่อนจะถูกซื้อมา ถูกใช้วิ่งบริเวณช่องแคบสึกะรุ ที่มีเส้นทางวิ่งไกลสุดเพียง 65 ไมล์ทะเลเท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้นรูปแบบเส้นทางวิ่งของเรือลำดังกล่าว เป็นการวิ่งข้ามฝั่งระหว่างช่องแคบ แต่ของเราจะเอามาวิ่งตัดอ่าวไทย เพราะอยากประหยัดเวลามากขึ้น มันก็ต้องวิ่งตัดอย่างเดียว ไม่สามารถวิ่งเลาะชายฝั่งได้

ประเด็นเหล่านี้ คงพอทำให้คิดตามได้เล็กๆ ว่า ‘มันไม่อันตรายหรือ?’

ผมจะไม่ตั้งคำถามนี้ขึ้นมาเลย หากประเทศไทยมีระบบการช่วยเหลือทางน้ำที่ยอดเยี่ยมอย่างญี่ปุ่น เพราะเอาแค่เหตุการณ์ที่เรือเฟอร์รี่ข้ามเกาะพะงัน-สมุย กับ สุราษฏร์ฯ ที่ล่มห่างจากฝั่งไม่ถึง 10 กิโลเมตร แล้วไม่สามารถช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้ทั้งหมด

ผมใบ้ให้คร่าวๆ ละกัน!!

1. ประเทศไทยมีระบบกู้ภัยของรัฐที่เชื่องช้าครับ ที่เราเห็นว่าปอเต็กตึ้ง หรือร่วมกตัญญู สามารถไปถึงได้เร็ว เพราะว่าเป็นเอกชน แม้แต่เคส 13 หมูป่า คนที่เริ่มลงมือช่วยเหลือกลุ่มแรกก็เป็นกู้ภัยอาสาสมัคร

2. ปัญหากู้ภัยทางบกเราถูกปิดบังด้วยความสามารถของเอกชน แต่ทางทะเล นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะว่าอุปกรณ์และความชำนาญต่างๆ มันเฉพาะด้านมากกว่ากันเยอะ เอกชนเลยไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่า การช่วยในกลุ่มเล็กๆ โดยมีนักประดาน้ำจำนวนไม่เยอะ เพราะอุปกรณ์ที่ใช้ในการกู้ภัยล้วนมีราคาแพงมาก เฮลิคอปเตอร์ เรือกู้ภัย บลาๆ ระดับเกิน 10 ล้านบาทขึ้น แถมต้องการเจ้าหน้าที่เฉพาะทางอีก เรื่องนี้เลยต้องเป็นราชการเป็นผู้รับผิดชอบ

3. อุปกรณ์ที่หลากหลาย และความชำนาญเฉพาะด้าน ก็เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่นั้นอยู่คนละองค์กร แต่ต้องทำงานร่วมกัน ภายใต้คำสั่งการของ ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่มีความรับผิดชอบตามกฎหมาย แล้วมีผู้ว่าคนไหนชำนาญด้านการช่วยเหลือทางทะเลบ้าง?

กู้ภัยไม่ทันไร ‘มืด’ ก็ยกเลิกการค้นหา รอฟ้าสว่าง ค่อยทำต่อ ไม่ทราบว่า เอาอะไรคิด ไม่ได้หลงป่านะ นี่อยู่กลางทะเล จะเอาตัวให้อยู่พ้นเหนือน้ำก็เหนื่อยจะตายอยู่แล้ว ยังต้องรอเป็นชั่วโมงกว่าจะเช้าอีก

ประเด็นนี้ ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า ทั้งภาคธุรกิจและประชาชน หากทราบเรื่องนี้แล้ว จะสามารถฝากชีวิตไว้บนเรือนี้ได้เกิน 24 ชั่วโมงหรือไม่? แน่นอนว่าโครงการนี้ไม่แย่นะครับ ผมชอบนะ แต่ปัญหาคือ ลดต้นทุนด้านความปลอดภัยด้วยการซื้อเรือเก่ามาให้บริการเนี่ยนะ”

แม้ทางผู้ประกอบการจะเน้นย้ำถึงมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินเรือ ท่าเรือ ตัวเรือ อุปกรณ์ความปลอดภัยประจำเรือ คนประจำเรือ และการจัดการแผนเผชิญเหตุการณ์ต่างๆ ที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล

แต่ในมุมของคนที่ไม่ใช่ช่างเทคนิค ก็ไม่กล้าตัดมุมมองของ นฤพันธ์ ที่แม้จะไม่ใช่คนเด่นคนดัง แต่พลังข้อมูลมันก็สะท้อนให้ประชาชนตาดำๆ สัมผัสได้ถึง ‘ความเสี่ยง’ พอตัว

ช่วยไม่ได้ ก็เหรียญมันมี 2 ด้านนิหว่า!!

อ้างอิง: ที่มาฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรมเจ้าท่าเรือ

เฟซบุ๊ก Naruphun Chotechuang

หากจะพูดถึง หุ้นที่ร้อนแรงที่สุดประจำปี 2563 ถ้าในต่างตลาดประเทศ คนอาจจะโฟกัสไปที่หุ้นรถยนต์ไฟฟ้า TESLA แต่ถ้าเมืองไทยชั่วโมงนี้ต้องยกให้ DELTA ที่ขี่พายุทะลุฟ้า ราคาทะยานในรอบ 1 ปี ถึง 3,000% !!!

กระแสความร้อนแรงของหุ้น TESLA ที่ทะยานทำจุดสูงสุดใหม่ หรือ นิวไฮ ที่ 695 เหรียญสหรัฐต่อหุ้น เมื่อวันที่ 18 ธ.ค ที่ผ่านมา ขึ้นมาจากจุดต่ำสุดในรอบปี ที่ 70 เหรียญ เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ช่วงที่โควิด -19 เริ่มระบาดและส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลก แต่ TESLA ก็สามารถทะยานขึ้นมาเกือบ 1,000% หรือ 10 เท่าภายในเวลา 9 เดือนอย่างสวยงาม อาจจะไม่ได้สร้างความฮือฮามากนัก

แต่เมื่อย้อน กลับมามองตลาดหุ้นไทย ที่ต้องยกตำแหน่งหุ้นร้อนแรงแห่งปีให้กับหุ้นบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA ที่ราคาหุ้นพุ่งทะยานอย่างร้อนแรงไม่แพ้กัน จากราคาที่ลงไปต่ำสุดที่ 27 บาท ในระหว่างชั่วโมงซื้อขายวันที่ 13 มีนาคม 63 ซึ่งเป็นวันที่ตลาดหุ้นไทยร่วงลงไปต่ำสุดในรอบปีที่ 969 จุด เช่นกัน

แต่หลังจากนั้น ราคาหุ้น DELTA เริ่มพุ่งทะยานจนขึ้นไปสูงสุดระหว่างชั่วโมงซื้อขายของวันที่ 28 ธันวาคม โดยพุ่งขึ้นไปยืนที่ 838 บาท เรียกได้ว่าเป็นการสร้างปรากฎการณ์สุดยอดหุ้นแห่งปีที่คนในวงการหุ้นต้องกล่าวถึง

เพราะเมื่อเทียบกับราคาปิด ณ สิ้นปี 2562 กับจุดสูงสุดที่ 838 บาท หุ้น DELTA ปรับตัวเพิ่มขึ้น 784.50 บาท หรือปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 1,466.35% หรือ 14.66 เท่า

แต่ถ้าเทียบกับจุดต่ำสุดที่ 27 บาท หุ้น DELTA ปรับตัวเพิ่มขึ้น 811 บาท หรือปรับตัวเพิ่มขึ้น 3,003.70% หรือ 30.03 เท่ากันเลยทีเดียว

แน่นอนว่า ราคาหุ้นที่ทะยานขึ้นอย่างร้อนแรงภายใน 1 ปี สร้างผลตอบแทนถึง 14 เท่า ไม่ได้เกิดขึ้นให้เห็นกันได้ง่าย ๆ ว่ากันว่านักลงทุนบางคนที่เข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ อาจจะได้เห็นปรากฎการณ์ DELTA เป็นหุ้นตัวแรกที่พุ่งขึ้นอย่างร้อนแรงเกินกว่า 1,000% ภายใน 1 ปีก็ได้

สำหรับ DELTA เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่ปี 2538 โดยเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้านการจัดการระบบกำลังไฟฟ้า รวมถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์บางประเภท

เป็นบริษัทจดทะเบียนที่ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุด มีมาร์เกตแคปหรือมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 5.46 แสนล้านบาท (ณ ราคาปิด วันที่ 29 ธันวาคม 2563 ) และเมื่อคำนวณจากราคาสูงสุด 838 บาท จะมีมาร์เก็ตแคปสูงถึง 1.04 ล้านล้านบาท เป็นรองแค่เพียงปตท. เท่านั้น (ปัจจุบัน มาร์เก็ตแคป อันดับ 1 คือ PTT 1.17 ล้านล้านบาท ส่วนอันดับ 2 คือ AOT 8.78 แสนล้าน)

แต่อย่างไรก็ตาม ความร้อนแรงของ DELTA อาจปิดฉากลงแล้วเมื่อวันจันทร์ที่ 28 ธันวาคมที่ผ่านมา หลังจากวิ่งมาราธอน จนสร้างจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ที่ราคา 838 บาท จากนั้นก็ถูกเทขายอย่างหนักกระทั่งราคาร่วงอย่างหนัก โดยราคาปิดล่าสุด ณ วันที่ 29 ธันวาคม 63 ลงมาที่ 438 บาท เมื่อเทียบกับราคาสูงสุด 838 บาท เท่ากับว่าราคาร่วงไปแล้ว 47%

ซึ่งอาจมองได้ว่าราคาหุ้น DELTA อาจจะหมดรอบแล้วก็เป็นได้ เพราะราคาเริ่มสะท้อนความเป็นจริง หลังจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้สอบถามไปยังผู้บริหาร DELTA ว่า บริษัทมีพัฒนาการด้านใดเป็นพิเศษที่ทำให้ราคาหุ้นขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

และเมื่อได้รับคำตอบจากฝ่ายบริหาร DELTA ที่ส่งเอกสารชี้แจงเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม ระบุว่า บริษัทไม่มีพัฒนาการใดที่ส่งผลต่อการซื้อขายหุ้น หลังจากนั้นราคาหุ้น DELTA ก็ดิ่งเหวทันที

อย่างไรก็ตาม การลากราคาหุ้น DELTA และทิ้งดิ่งเหวในครั้งนี้ คงไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าเป็นเพราะเหตุใด แต่พอจะอนุมานได้ว่า เป็นการทำราคาของกองทุนขนาดใหญ่ นั่นหมายถึงกองทุนต่างประเทศ ที่พากันลากขึ้นมา เพราะปีหน้า DELTA จะถูกดันเข้าไปอยู่ในกลุ่ม SET 50 ที่จะทำให้เป็นที่สนใจของกองทุนทั้งไทยและต่างประเทศ

บทเรียนจากราคาหุ้นที่ร้อนแรงแห่งปี ทั้ง TESLA และ DELTA ทำให้นักลงทุนทั้งมือเก่าและมือใหม่ ได้เรียนรู้ว่า หุ้นที่ขึ้นมาจากพื้นฐานธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างชัดเจนอย่าง TESLA มักจะทำราคาสูงสุดได้อย่างต่อเนื่องและราคาจะไม่ร่วงดิ่งเหว ผิดกับ DELTA ที่ราคาขึ้นอย่างร้อนแรง โดยไม่มีเหตุผลและพื้นฐานทางธุรกิจรองรับ เมื่อถึงจุดที่นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น ราคาจึงสะท้อนให้เห็นดังเช่น 2 วันที่ผ่านมานั่นเอง

Forbes ได้ประกาศรายชื่อผู้ที่ทำรายได้สูงสุดบนYouTube ออกมา โดยผู้ที่ทำรายได้สูงสุดนั่นก็คือ ‘Ryan Kaji’ จากช่อง ‘Ryan’s World’ ที่อายุเพียง 9 ขวบเท่านั้น

คลิปวิดีโอส่วนใหญ่ของ ‘Ryan Kaji’ จะเป็นการเปิดกล่องของเล่น หรือไม่ก็เป็นการเล่าเรื่องราวชวนให้อบอุ่นใจซะมากกว่า ซึ่งคอนเทนต์รูปแบบนี้ ก็เป็นสิ่งที่ค่อนข้างเป็นที่นิยมบนYouTube เลยเอื้อโอกาสที่จะทำรายได้ได้ดีมากขึ้นไปอีก

สำหรับในปีนี้ 2020 นี้ ‘Ryan Kaji’ สามารถทำรายได้ไปกว่า 29.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 885 ล้านบาท) ซึ่งมากกว่าปีที่ก่อนหน้าที่ทำได้อยู่ที่ 26 ล้านเหรียญสหรัฐฯ


ที่มา: Social Media Today

รู้หรือไม่ว่าคนที่ประสบความสำเร็จใจชีวิตแบบที่ 'รุ่ง' แล้วไม่มีวัน ‘ร่วง’ เขามีอะไรที่พิเศษกว่าคนอื่น ถ้าอยากทราบลองไปเรียนรู้กรณีศึกษาของคนเก่ง ที่มักไม่หยุดซ้อม ผ่านเพลงเตะ Bruce Lee นักแสดงภาพยนตร์บู๊ และผู้เชี่ยวชาญศิลปะการป้องกันตัวก้องโลกกันดู

คุณคิดว่าคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตมากๆ เขามีอะไรพิเศษกว่าคนอื่น?

   ...ฉลาดกว่า

   ...พรสวรรค์มากกว่า

   ...หรือเรียนรู้มากกว่า

โดยรวมแล้ว ทั้ง 3 สิ่ง ก็เป็นองค์ประกอบของความสำเร็จทั้งสิ้น

แต่เอาจริงๆ ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วย ‘ลับคม’ ให้กับ 3 สิ่งข้างต้น และก็จะทำให้คุณกลายเป็นคนที่ประสบความสำเร็จได้เหนือยิ่งกว่าการมีแค่สิ่งใดสิ่งหนึ่งจาก 3 สิ่งที่ว่ามานี้ นั่นคือ...

     - การฝึกซ้อม -

การฝึกซ้อม พอพูดคำนี้ขึ้นมา หลายคนอาจจะแอบรู้สึกถึงความน่าเบื่อ เพราะมันหมายถึงการต้องทำมาอะไรซ้ำๆ ขัดๆ เกลาๆ กับบางสิ่งที่เราก็ทำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง เล่นฟุตบอล ซ้อมวงสวิง ซ้อมพูด หัดนำเสนองาน ซ้อมเล่นเครื่องดนตรี หรือแม้แต่การทำงานงานและการดำเนินธุรกิจของตน

จนสุดท้ายก็มักจะมีคำถามแทรกมาในหัวเสมอว่า ‘จะทำไปเพื่ออะไร’>??? แค่รู้หรือแค่ทำได้แล้ว ก็พอละมิใช่หรือ???

จริงๆ มันก็ใช่นั่นแหละ แต่ทราบไหมว่า คนที่มีความคิดแบบนี้ แบบที่ว่า “ก็รู้แล้ว ทำเป็นแล้ว แค่นี้เอง” อาจจะไม่สามารถไปไหนได้ไกลมากกว่าจุดที่ตัวเองยืน

   - ถ้าเป็นนักฟุตบอลก็รุ่งแค่ปี 2 ปีแล้วก็ดับ

   - ถ้าเป็นนักดนตรีออกอัลบั้มมาครั้ง 2 ครั้งก็จอด

   - ถ้าเป็นเชฟปรุงอาหารรสชาติก็จะผิดเพี้ยนและมีแต่เลวลงๆ

สิ่งที่อยากจะบอกก็คือ ไม่ว่าคุณจะทำอะไรได้ หรือทำอะไรเป็น แต่ถ้าคุณไม่ ‘ซ้อม’ หรือไม่หมั่น ‘ฝึกฝน’ สิ่งที่คุณทำได้ทำเป็นอย่างสม่ำเสมอ มันก็ไม่ต่างอะไรกับมีดที่รอวันทื่อและสนิมเกาะ จนสุดท้ายจะไม่สามารถนำไปฟาดฟันกับใครได้เลย

คุณรู้จัก Bruce Lee (บรูซ ลี) กันหรือไม่?

Bruce Lee นักแสดงภาพยนตร์บู๊ ผู้เชี่ยวชาญศิลปะการป้องกันตัว นักสร้างภาพยนตร์ชื่อก้องโลกอย่างเรื่อง Enter the Dragon (ไอ้หนุ่มซินตึ้ง มังกรประจัญบาน) หรือ Fist of Fury (คนเล็กต้องใหญ่) ชายผู้มีชื่อก้องที่โลกแม้แต่ใครที่ไม่เคยได้ดูหนังของเขา อย่างน้อยก็ต้องเคยได้ยินชื่อของเขา

แม้ Bruce Lee จะเป็นคนดัง และเป็นคนที่เก่งด้านศิลปะป้องกันตัว แต่เชื่อไหมว่าเขาไม่เคยที่จะหยุดซ้อมในสิ่งที่เขาถนัดเลยตลอดชั่วชีวิต เขาสนใจแต่การฝึกในสิ่งที่ตนทำ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เตะมากขึ้น ต่อยมากขึ้น

สิ่งที่ปรากฎแก่ตัว Bruce Lee ผู้ไม่เคยทะนงตนและละเลยในการฝึกซ้อม จึงเป็นพรมแดงที่คนทั่วโลกกางให้เดินในฐานะ ‘ตัวจริง’

Bruce Lee เคยกล่าวไว้ว่า การฝึกซ้อมคือ เส้นแบ่งระหว่าง ‘มือสมัครเล่น’ และ ‘ตัวจริง’ และเขาก็เคยกล่าวเป็นคำคมให้คนทั้งโลกต้องจดจำด้วยว่า “ผมไม่เคยกลัวคนเก่ง แต่ผมกลัวคนที่หมั่นฝึกซ้อม เพราะคนที่ซ้อมเตะท่าเดียว 10,000 ครั้งนั้น น่ากลัวกว่าคนที่ซ้อมเตะ 10,000 ท่า ในครั้งเดียวมากนัก”

มีผลวิจัยหนึ่งในปี 1993 ที่สะท้อนให้เห็นถึงการฝึกซ้อมแบบซ้ำแล้วซ้ำเล่า จะทำให้ส่งผลต่อความเป็นมืออาชีพหรือมือสมัครเล่นได้มากกว่า 80% โดยผลวิจัยนี้ได้ถูกนำมาต่อยอดเป็นแนวคิด ‘ฝึก 10,000 ชั่วโมง’ ของ Malcolm Gladwell ที่ว่า ‘หากอยากเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไหน ให้ทำสิ่งเหล่านั้นซ้ำๆ 10,000 ชั่วโมง’ นั่นเอง

...การฝึกซ้อม อาจจะไม่ใช่เทคนิคอันเลิศล้ำ

...แต่การฝึกซ้อม คือ เทคนิคที่ีทำให้ใครก็ตามคุณไม่ทัน

เพราะทุกๆ ครั้งที่ฝึกซ้อม จะช่วยให้เราก้าวข้ามมากกว่าการคุ้นชิน แต่การฝึกซ้อม คือ การฝังทักษะบางอย่างลงไปสู่ร่างกายและสมองให้เรียกออกมาใช้งานได้โดยอัตโนมัติเมื่อต้องการ โดยทักษะใดๆ ก็ตามที่ถูกบ่มซ้อมมากขึ้นๆ ก็จะกลายเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคุณกันเลยทีเดียว

ฉะนั้นหากกล่าวโดยสรุปแล้ว ‘การฝึกซ้อม’ ถือเป็นการเตรียมพร้อมตัวเราให้พร้อมต่อห้วงเวลาที่ต้องใช้ ‘ทักษะ’ ต่างๆ ที่มีอยู่ออกมาใช้ แม้จะต้องเจอภาวะ ‘กดดัน’ ก็ไม่เกรง

ลองหาคำตอบดูให้ดีว่า ทำไมการไม่หยุดซ้อม และลับคมตนอย่างสม่ำเสมอ จึงน่ากลัวกว่าใครๆ หน้าไหน!!

Toyota เตรียมปล่อยรถยนต์ไฟฟ้าล้วนรุ่นใหม่ แม้ประธานใหญ่จะเคย ‘ซัด’ รถยนต์ไฟฟ้าล้วน ‘สร้างมลพิษ’

ช่วงหลังๆ ที่ Akio Toyoda (อากิโอะ โตโยดะ) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Toyota ออกมาพูดในเวทีต่างๆ นั้น ม้กจะได้เห็นวิวาทะเชิงตำหนินโยบายห้ามจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้น้ำมันของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ต้องการห้ามจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงตั้งแต่ปี 2035 เป็นต้นไป

อีกทั้งยังบอกอีกว่ารถยนต์ไฟฟ้าล้วนสร้างมลพิษมากกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง โดยอ้างอิงจากแหล่งที่มาของไฟฟ้าในบางพื้นที่ ล้วนมาจากก๊าซ และถ่านหิน ดังนั้นรัฐบาลทุกประเทศต้องกลับไปทบทวนว่าการใช้นโยบายลักษณะนี้ถูกต้องหรือไม่ แต่หากนำสมมติฐานดังกล่าวมาวิเคราะห์จะพบว่า เรื่องดังกล่าวไม่จริง เพราะแหล่งที่มาของไฟฟ้ามีหลากหลาย และรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปล่อยมลพิษออกมามากกว่า

ยิ่งไปกว่านั้น หากรัฐบาลของประเทศต่างๆ ยังขับเคลื่อนนโยบายลักษณะนี้ต่อไป โอกาสที่อุตสาหกรรมผู้ผลิตรถยนต์จะล่มสลายก็มีสูง นอกจากนี้ด้วยรถยนต์ไฟฟ้ายังราคาค่อนข้างสูง การผลักดันให้ผู้บริโภคไปซื้อรถยนต์ไฟฟ้าอาจทำให้พวกเขามีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยใช่เหตุ

แต่จนแล้วจนรอด ข้ออ้างต่างๆ นานา ก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะทำให้ Toyota ตกขบวนในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าล้วน โดยตอนนี้ก็เริ่มเห็นการกลืนน้ำลายและพ่นน้ำลายออกมาในเวลาเดียวกันของ Toyota เลยก็ว่าได้ เนื่องจากล่าสุดทางToyota ก็ได้ปล่อยโมเดลรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กออกมาให้คนได้รับรู้ถึงการยืนในสนามรถไฟฟ้าของพี่ใหญ่แห่งวงการยานยนต์

แม้จะยังไม่มีการเปิดเผยเกี่ยวกับชื่อรุ่น แต่รถยนต์ไฟฟ้าล้วนรุ่นใหม่ของ Toyota จะมาในรูปแบบรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก หรือ Ultracompact Car มีทั้งหมด 2 ที่นั่ง ใช้แบตเตอรี่แบบ Lithium-Ion วิ่งได้ราว 100 กิโลเมตร ต่อการชาร์จเต็ม โดยปรับปรุงเพื่อเหมาะสมกับการวิ่งบนภูเขา รวมถึงในเมือง

ขณะเดียวกันรถยนต์ไฟฟ้าล้วนรุ่นดังกล่าวยังออกแบบให้เหมาะกับผู้ใช้กลุ่มผู้สูงอายุที่ปกติจะขับรถยนต์ขนาดเล็กกลุ่ม Kei Car เดินทางไปที่ต่างๆ และกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งขับรถยนต์เป็นครั้งแรก โดยรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่นี้จะเริ่มทำตลาดในปี 2021 ราคาราว 1.6-1.7 ล้านเยน (ราว 4.5 แสนบาท) เน้นทำตลาดในระดับองค์กร และหน่วยงานรัฐก่อน ส่วนการทำตลาดในกลุ่มบุคคลทั่วไปจะเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2022

สำหรับเป้าหมายในเบื้องต้น Toyota นั้น ได้ตั้งเป้ายอดขายอยู่ที่ 100 คันกับกลุ่มลูกค้าองค์กร และหน่วยงานรัฐ ซึ่งหากมองจากการออกมาเปิดตัวครั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะ Toyota ถูกกดดันจากหน่วยงานภาครัฐที่อยากให้ Toyota พัฒนารถยนต์ขนาดเล็กรูปแบบใหม่มาทดแทนรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้น้ำมัน สอดรับกับแผนของรัฐบาลญี่ปุ่นที่อยากให้มีการผลิตรถยนต์ขนาดเล็ก และรถยนต์ไฟฟ้าล้วน เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมรถยนต์ของญี่ปุ่น ที่หลังๆ เริ่มถูกจีนเข้าไปจับจองในหลายๆ ตลาดทั่วโลก รวมถึง Tesla ที่มีมูลค่าบริษัทแซง Toyota ไปอย่างน่าเจ็บใจ

นอกจากนี้ อีกสาเหตุที่ทำให้ Toyota หันมาสนใจรถยนต์ไฟฟ้ามากนั้น น่าจะมาจากวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ในหลายๆ มลรัฐของสหรัฐอเมริกา ได้ออกกฎเกณฑ์ในเรื่องของมลพิษจนกลายเป็นแนวคิดต้นทางในการทบทวนมาตรฐานการปล่อยมลพิษของรถยนต์ไปทั่วโลก รวมถึงจีนเองก็พยายามในการผลักดันให้เพิ่มจำนวนการใช้งานรถไฟฟ้ามากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม เชื่อได้ว่าทางประธาน Toyota ก็คงจะยังไม่ทิ้งและจะยังมุ่งเน้นไปยังกลุ่มรถยนต์สาย Hybrid และ Fuel-Cell อยู่เหมือนเดิม

อ้างอิง: Nikkei Asia / Toyota


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top