รมว.คลัง เล็งออกมาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม เน้นคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด - ค่าน้ำมันแพง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการดำเนินมาตรการด้านเศรษฐกิจในปัจจุบัน ว่า รัฐบาลจะไม่เน้นการดำเนินงานในลักษณะของการเหวี่ยงแหเหมือนเช่นที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินโครงการคนละครึ่ง, เราไม่ทิ้งกัน และโครงการอื่น ๆ เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันเริ่มมีการฟื้นตัวขึ้นแล้ว แต่จะเน้นการดำเนินมาตรการในลักษณะการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และปัญหาค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปขายปลีกที่แพงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

“เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (10 มิ.ย.) กระทรวงการคลังได้รับโจทย์จากรัฐบาล ผ่านมาทางรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ถึงการหาแนวทางในการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิดฯและราคาน้ำมันแพง โดยเฉพาะกลุ่มคนหาเช้ากินค่ำ คนขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง และอาชีพอื่น ๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น ส่วนจะเป็นมาตรการใดนั้น กระทรวงการคลังจะไปหารือถึงแนวทางที่เหมาะสมต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุ

ขณะเดียวกัน รัฐบาลเองก็มีข้อจำกัดในเรื่องเงินงบประมาณที่จำเป็นจะต้องจัดทำในลักษณะของงบประมาณขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไป ท่ามกลางกระแสความไม่เห็นด้วยของหลายฝ่าย 

ทั้งนี้ แม้รัฐบาลมีความจำเป็นจะต้องจัดทำงบประมาณขาดดุลเนื่องจากมีภาระรายจ่ายประจำในรูปของเงินเดือนและเงินสวัสดิการแก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่รัฐบาลก็ได้ปรับเพิ่มงบประมาณเงินทุนในปีหน้าที่ค่อนข้างสูงถึงร้อยละ 20 เนื่องจากมองเห็นโอกาสทางด้านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

นายอาคมยอมรับว่า เงินกู้ส่วนที่เหลือจากโครงการเงินกู้ครั้งก่อน มีไม่เพียงพอต่อการจะนำไปใช้ในการดำเนินมาตรการด้านเศรษฐกิจในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม การจะกู้เงินก้อนใหม่นั้น รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังสามารถดำเนินการได้ทันที เนื่องจากกรอบวงเงินกู้ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังได้ขยายเพดานสัดส่วนเงินกู้เอาไว้เป็นร้อยละ 70 ของจีดีพี แต่บนข้อเท็จจริงนั้น รัฐบาลจำเป็นจะต้องพิจารณาเงื่อนไขอื่น ๆ ประกอบกันไป โดยเฉพาะปัญหาหนี้สาธารณะที่มีอยู่สูงมากและเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ 

ทั้งนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการขยายฐานภาษีไปยังกลุ่มคนและกลุ่มธุรกิจที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบภาษีอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้ดำเนินการจัดเก็บภาษีจากการซื้อขายสินค้าออนไลน์ (e-Business) และสร้างรายได้ในระดับที่น่าพอใจ คาดว่าจะเป็นอีกช่องทางรายได้ของรัฐที่จะเข้ามาชดเชยรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น

ส่วนความคืบหน้าในการจัดเก็บภาษีเงินได้จากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น นายอาคม ยอมรับว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังโดยกรมสรรรพากรได้ดำเนินการจนใกล้จะแล้วเสร็จและเตรียมจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในเร็ววันนี้ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีคงต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบันด้วย

อนึ่ง แนวทางที่กรมสรรพากรได้จัดทำเอาไว้สำหรับการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะที่เกิดขึ้นจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯที่มีมูลค่าตั้งแต่  1 ล้านบาทขึ้นไป โดยจะจัดเก็บภาษีในที่อัตราร้อยละ 0.1

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีแผนจะดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะธุรกิจที่อาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเม็ดเงินลงทุนโดยตรงดังกล่าว มีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานในประเทศได้เป็นอย่างดี

พร้อมกันนี้ นายอาคม ยังได้กล่าวในพิธีเปิดสำนักงานผู้แทนธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ในนครโฮจิมินห์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมให้ฟื้นตัวอย่างยั่งยืน หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง รวมถึงการส่งเสริมการใช้โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy) แก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดการจ้างงานที่มีคุณค่า การเติบโตทางเศรษฐกิจ และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ เพื่อช่วยให้ทุกภาคส่วนก้าวพ้นปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ควบคู่กับการเข้าถึงโอกาสใหม่ ๆ ของโลกยุค Next Normal

นายอาคม กล่าวว่า ในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน เวียดนามเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนที่มียุทธศาสตร์ชัดเจนในการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้าเพื่อลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมด้วยการผ่อนคลายกฎระเบียบ และการให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนโดยเฉพาะมาตรการทางภาษี เพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ สอดรับกับศักยภาพของผู้ประกอบการไทยในการเข้าไปลงทุนพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในเวียดนามโดยการสนับสนุนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจอย่าง EXIM BANK ในการทำงานเชิงรุกเพื่อสนับสนุนทุนไทยให้เข้าไปสยายปีกในต่างประเทศมากขึ้น โดยใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญของ EXIM BANK พัฒนานวัตกรรมทางการเงินเพื่อสนับสนุนธุรกิจ BCG ในเวียดนามเพิ่มมากขึ้น