Sunday, 28 April 2024
กระทรวงการคลัง

‘คลัง’ เรียกเงินคืนผิดเงื่อนไข 'เราชนะ' ขีดเส้นให้ยื่นอุทธรณ์ได้ ภายใน 15 วัน

11 ต.ค. 64 นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ดำเนินการตรวจสอบผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขในโครงการเราชนะ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน และมีส่วนช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยประชาชนผู้ได้รับสิทธิ จำนวน 33.2 ล้านคน จะได้รับเงินช่วยเหลือจำนวนไม่เกิน 9,000 บาท ตลอดโครงการ ด้วยการใช้จ่ายกับผู้ประกอบการร้านค้าในโครงการ 1.3 ล้านราย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แอปพลิเคชันเป๋าตัง และบัตรประจำตัวประชาชน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้มีการประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือให้ประชาชนและผู้ประกอบการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการเราชนะมาโดยตลอด รวมถึงขอให้ประชาชนที่พบเห็นพฤติกรรมที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการ สามารถแจ้งเบาะแสและส่งหลักฐานการกระทำที่ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขโครงการ ให้ สศค. ทราบ และได้มีประชาชนส่งเบาะแสและหลักฐานมาให้ ซึ่ง สศค. จะได้ดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายสำหรับผู้ที่กระทำผิดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการต่อไป

“สศค. ได้กำหนดแนวทางเพื่อควบคุมและป้องกันการกระทำผิดวัตถุประสงค์ของโครงการเราชนะอย่างเข้มงวด เพื่อรักษาสิทธิของประชาชนที่ได้รับในโครงการ และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในโครงการ ที่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคำยินยอม (Consent) ที่ได้ตกลงไว้ จึงได้จัดตั้งคณะทำงานพิจารณาตรวจสอบข้อมูลและเรื่องร้องเรียนสำหรับโครงการเราชนะเพื่อติดตามตรวจสอบการกระทำที่เข้าข่ายฝ่าฝืนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการอย่างใกล้ชิด โดยในกรณีที่พบการกระทำที่ฝ่าฝืน เช่น การรับแลกวงเงินสิทธิเป็นเงินสด เป็นต้น ก็จะดำเนินการระงับสิทธิการเข้าร่วมโครงการ และร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและขยายผลการสืบสวนสอบสวนต่อไป” นายพรชัย กล่าว

คลังเล็งออกคนละครึ่งเฟส 4 ต้นปีหน้า 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภายหลังจากกระทรวงการคลัง ได้เปิดให้ประชาชนให้ลงทะเบียนโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 ” ตั้งแต่เวลา 06.00 น. ในวันนี้ (1 พ.ย.) เพื่อเก็บตกผู้ที่ลงทะเบียนไม่สำเร็จที่ผ่านมาจาก 28 ล้านสิทธิ มีจำนวน ทั้งสิ้น 119,974 สิทธิ นั้น ทราบว่าเพียงไม่กี่ชั่วโมงที่เปิดให้สามารถลงทะเบียนได้ตอนนี้สิทธิเต็มครบจำนวนแล้ว ล่าสุดกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและความเหมาะสมของโครงการคนละครึ่งเฟส 4 ในช่วงต้นปี 2565 

ทั้งนี้ต้องดูสถานการณ์อีกที โดยพล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม มีนโยบายแผนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว คู่ขนานไปกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เน้นความปลอดภัยของประชาชนเป็นที่ตั้งอย่างแน่นอน โดยโครงการคนละครึ่ง ถือว่าเป็นโครงการที่ครองใจประชาชนมากที่สุด เพราะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในแต่ละวันได้ ช่วยประคับประคองการบริโภค ทำให้ประชาชนมีการวางแผนการใช้จ่ายดีขึ้น ได้รับการตอบรับที่ดี พิสูจน์ได้ว่า ประชาชนมีการนำเงินออกมาใช้จ่าย ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ประชาชน ร้านค้า ได้ประโยชน์ร่วมกันหมด แสดงถึงความสำเร็จของมาตรการที่นายกรัฐมนตรีพยายามดำเนินการเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน

‘คลัง’ สั่งเพิกถอนใบอนุญาต บจ.บิทคอยน์ หลังชำระทุนจดทะเบียนไม่ถึง 50 ลบ.

เว็บไซต์ราชกิจจาฯ เผยแพร่ คำสั่งกระทรวงการคลัง เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจ สินทรัพย์ดิจิทัลประเภทการเป็นศูนย์ซื้อขาย คริปโทเคอร์เรนซี และใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ ดิจิทัลประเภทการเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล ของบริษัท บิทคอยน์ จำกัด

วันที่ 1 ธ.ค. 64 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ คําสั่งกระทรวงการคลังที่ 1904/2564 เรื่อง เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัท บิทคอยน์ จํากัด เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 64 ที่ผ่านมา

ความว่า ด้วยปรากฏข้อเท็จจริงว่า บริษัท บิทคอยน์ จํากัด (“บริษัท”) ในฐานะผู้ได้รับใบอนุญาต ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทการเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี และใบอนุญาตประกอบ ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทการเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล ตามพระราชกําหนดการประกอบธุรกิจ สินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561

ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการได้รับใบอนุญาตตามข้อ 2 (3) ประกอบกับ ข้อ 3 (2) ของประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การอนุญาตการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 (“ประกาศกระทรวงการคลัง”)

โดยเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2563 และวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 บริษัทได้ลดทุนจนทําให้ทุนจดทะเบียน ซึ่งชําระแล้วของบริษัทเหลือเพียง 12.5 ล้านบาท และ 3.125 ล้านบาท ตามลําดับ ซึ่งข้อ 2 (1) ของประกาศคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 20/2561 เรื่อง การกําหนด ทุนจดทะเบียนซึ่งชําระแล้วของผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ประกอบกับข้อ 3 (1) ของประกาศคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 32/2563 เรื่อง การกําหนดทุนจดทะเบียนซึ่งชําระแล้วของผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจ สินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ที่กําหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ต้องมีทุนจดทะเบียนซึ่งชําระแล้วไม่น้อยกว่าจํานวน 50 ล้านบาท

คลัง เปิดมาตรการรัฐ 10 วัน กระตุ้นใช้จ่าย 2.3 หมื่นล้าน

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้มาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศ ปี 2565 ประกอบด้วย โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 รวม 10 วัน ตั้งแต่ 1 - 10 ก.พ. 2565 มีผู้ใช้สิทธิทุกโครงการรวม 34.42 ล้านราย และมียอดใช้จ่ายรวมทั้งหมด 23,032.55 ล้านบาท โดยสรุปผลการใช้จ่ายได้ คือ

1. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 มีผู้ใช้สิทธิจำนวน 11.32 ล้านราย มียอดการใช้จ่ายรวม 2,248.45 ล้านบาท

2. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 มีผู้ใช้สิทธิจำนวน 8.7 แสนราย มียอดการใช้จ่ายรวม 171.80 ล้านบาท 

3. โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 มีผู้ใช้สิทธิจำนวน 22.23 ล้านราย มียอดการใช้จ่ายรวม 20,612.3 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 10,433.8 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่าย 10,178.5 ล้านบาท และมียอดใช้จ่ายสะสมแบ่งตามประเภทตามร้านค้า ได้แก่ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม 7,742.1 ล้านบาท ร้านธงฟ้า 3,967.5 ล้านบาท ร้าน OTOP 978.6 ล้านบาท ร้านค้าทั่วไป 7,535.8 ล้านบาท ร้านบริการ 357.7 ล้านบาท และกิจการขนส่งสาธารณะ 30.6 ล้านบาท 

คลัง เปิดขายพันธบัตร 'ออมเพิ่มสุข' 5.5 หมื่นล้าน ขายผ่านวอลเล็ตแอปฯเป๋าตัง ดอกเบี้ยสูง 3.6%

กระทรวงการคลัง เตรียมเปิดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ รุ่นออมเพิ่มสุข วงเงิน 55,000 ล้านบาท ให้แก่ประชาชน พร้อมจ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน โดยจำหน่ายให้กับประชาชนผ่านวอลเล็ต สบม. บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง เริ่มวันที่ 13 มิถุนายน 2565 และจำหน่ายผ่านธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 4 แห่ง ทั่วประเทศ เริ่มวันที่ 15 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป

30 พ.ค. 2565 – นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ตลาดตราสารหนี้ของไทยรวมถึงสินทรัพย์ในทุกตลาดทั่วโลกได้รับผลกระทบจากความผันผวนและความกังวลจากสถานการณ์โลก สบน. จึงเสนอขายพันธบัตรออมทรัพย์ซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย เพื่อเป็นทางเลือกในการออมการลงทุนและปรับพอร์ตการลงทุนสำหรับนักลงทุน จำหน่าย 2 รุ่นอายุ อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 2.50 ต่อปี ซึ่งผู้ลงทุนจะมีรายรับสม่ำเสมอจากดอกเบี้ยและได้รับเงินต้นคืนเมื่อครบกำหนด โดยเงื่อนไขการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ รุ่นออมเพิ่มสุขเป็นดังนี้

1. รุ่นออมเพิ่มสุขบนวอลเล็ต สบม. วงเงิน 10,000 ล้านบาท ให้แก่ประชาชน 2 รุ่น ได้แก่ รุ่นอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเฉลี่ยร้อยละ 2.90 ต่อปี และรุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเฉลี่ยร้อยละ 3.60 ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน ซื้อได้ตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป (ผู้เยาว์จะต้องลงทะเบียนในวอลเล็ต สบม. บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง และไปยืนยันตัวตนพร้อมผู้ปกครองเพื่อกรอกเอกสารให้ความยินยอม ณ สาขาธนาคารกรุงไทยสำหรับการซื้อครั้งแรก) ลงทุนได้ตั้งแต่ 100 บาท – 10 ล้านบาท จำหน่ายตั้งแต่วันที่ 13–30 มิถุนายน 2565 ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเป๋าตังเพื่อลงทะเบียน ยืนยันตัวตน และเติมเงินเข้าวอลเล็ต สบม. ผ่านพร้อมเพย์จากทุกธนาคาร หรือผูกบัญชีธนาคารกรุงไทยกับ วอลเล็ต สบม. รวมถึงเติมเงินด้วย Wallet ID ได้ที่เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา เพื่อเตรียมซื้อพันธบัตรได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลการใช้งานวอลเล็ต สบม. ได้ที่ Call Center โทร. 02-111-1111 หรือที่ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา

รมว.คลัง เล็งออกมาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม เน้นคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด - ค่าน้ำมันแพง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการดำเนินมาตรการด้านเศรษฐกิจในปัจจุบัน ว่า รัฐบาลจะไม่เน้นการดำเนินงานในลักษณะของการเหวี่ยงแหเหมือนเช่นที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินโครงการคนละครึ่ง, เราไม่ทิ้งกัน และโครงการอื่น ๆ เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันเริ่มมีการฟื้นตัวขึ้นแล้ว แต่จะเน้นการดำเนินมาตรการในลักษณะการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และปัญหาค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปขายปลีกที่แพงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

“เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (10 มิ.ย.) กระทรวงการคลังได้รับโจทย์จากรัฐบาล ผ่านมาทางรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ถึงการหาแนวทางในการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิดฯและราคาน้ำมันแพง โดยเฉพาะกลุ่มคนหาเช้ากินค่ำ คนขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง และอาชีพอื่น ๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น ส่วนจะเป็นมาตรการใดนั้น กระทรวงการคลังจะไปหารือถึงแนวทางที่เหมาะสมต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุ

ขณะเดียวกัน รัฐบาลเองก็มีข้อจำกัดในเรื่องเงินงบประมาณที่จำเป็นจะต้องจัดทำในลักษณะของงบประมาณขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไป ท่ามกลางกระแสความไม่เห็นด้วยของหลายฝ่าย 

ทั้งนี้ แม้รัฐบาลมีความจำเป็นจะต้องจัดทำงบประมาณขาดดุลเนื่องจากมีภาระรายจ่ายประจำในรูปของเงินเดือนและเงินสวัสดิการแก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่รัฐบาลก็ได้ปรับเพิ่มงบประมาณเงินทุนในปีหน้าที่ค่อนข้างสูงถึงร้อยละ 20 เนื่องจากมองเห็นโอกาสทางด้านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

นายอาคมยอมรับว่า เงินกู้ส่วนที่เหลือจากโครงการเงินกู้ครั้งก่อน มีไม่เพียงพอต่อการจะนำไปใช้ในการดำเนินมาตรการด้านเศรษฐกิจในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม การจะกู้เงินก้อนใหม่นั้น รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังสามารถดำเนินการได้ทันที เนื่องจากกรอบวงเงินกู้ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังได้ขยายเพดานสัดส่วนเงินกู้เอาไว้เป็นร้อยละ 70 ของจีดีพี แต่บนข้อเท็จจริงนั้น รัฐบาลจำเป็นจะต้องพิจารณาเงื่อนไขอื่น ๆ ประกอบกันไป โดยเฉพาะปัญหาหนี้สาธารณะที่มีอยู่สูงมากและเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ 

ทั้งนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการขยายฐานภาษีไปยังกลุ่มคนและกลุ่มธุรกิจที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบภาษีอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้ดำเนินการจัดเก็บภาษีจากการซื้อขายสินค้าออนไลน์ (e-Business) และสร้างรายได้ในระดับที่น่าพอใจ คาดว่าจะเป็นอีกช่องทางรายได้ของรัฐที่จะเข้ามาชดเชยรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น

ส่วนความคืบหน้าในการจัดเก็บภาษีเงินได้จากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น นายอาคม ยอมรับว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังโดยกรมสรรรพากรได้ดำเนินการจนใกล้จะแล้วเสร็จและเตรียมจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในเร็ววันนี้ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีคงต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบันด้วย

อนึ่ง แนวทางที่กรมสรรพากรได้จัดทำเอาไว้สำหรับการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะที่เกิดขึ้นจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯที่มีมูลค่าตั้งแต่  1 ล้านบาทขึ้นไป โดยจะจัดเก็บภาษีในที่อัตราร้อยละ 0.1

สั่ง ก.ล.ต.ไล่เช็กผู้บริการสินทรัพย์ดิจิทัล หวั่นสร้างความเสียหายซ้ำรอย Zipmex

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ สำนักงาน ก.ล.ต. เข้าไปตรวจสอบบริษัทผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัล ทุกราย มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนตามใบอนุญาตอย่างไรบ้าง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับนักลงทุน

ส่วนกรณีปัญหา Zipmex สำนักงาน ก.ล.ต. ประสานกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และประสานไปยัง ก.ล.ต.ของสิงคโปร์ เพื่อดูแลความเสียหายนักลงทุน โดยกระทรวงการคลัง ได้ติดตามปัญหาบริษัท Zipmex ผู้ให้บริการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ทรัพย์ดิจิทัลและคริบโตเคอร์เรนซี อย่างใกล้ชิด

คนละครึ่งเฟส 5 จ่อเปิดลงทะเบียน หลังมีคนไม่ใช้ตามกำหนด 3.07 ล้านสิทธิ

กระทรวงการคลัง เตรียมนำสิทธิโครงการ คนละครึ่งเฟส 5 จำนวน 3.07 ล้านคนที่ไม่ใช้จ่ายครั้งแรกเมื่อ (14 ก.ย.) มาเปิดให้ลงทะเบียนเพิ่ม 

(16 ก.ย. 65) นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ณ วันที่ 14 ก.ย. 2565 เวลา 23.00 น. มีผู้ใช้สิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ทั้งสิ้นจำนวน 23.40 ล้านคน ซึ่งมีประชาชนที่ได้รับสิทธิโครงการฯ แต่ไม่ได้มีการใช้จ่ายครั้งแรกภายในระยะเวลาที่กำหนด (14 วัน) มีจำนวนประมาณ 3.07 ล้านราย ซึ่ง รมว.การคลังมีนโยบายให้กระทรวงการคลังนำสิทธิคงเหลือดังกล่าว มาเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนอีกครั้ง โดยจะแจ้งกำหนดการลงทะเบียนสิทธิคงเหลือดังกล่าวให้ทราบต่อไป

สำหรับความคืบหน้าการใช้สิทธิมาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศ ปี 2565 ระยะที่ 2 ซึ่งประกอบด้วย โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 5 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 3 และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 โฆษกกระทรวงการคลังเผยว่า จากข้อมูลสะสม ณ วันพุธที่ 14 ก.ย. 2565 เวลา 23.00 น. มีผู้ใช้สิทธิทุกโครงการรวม 36.32 ล้านคน และมียอดใช้จ่ายสะสมทั้งสิ้น 22,902.04 ล้านบาท

โดย 1. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 5 มีผู้ใช้สิทธิจำนวน 12.06 ล้านคน และมียอดใช้จ่าย 2,402.30 ล้านบาท 2. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 3 มีผู้ใช้สิทธิจำนวน 860,550 คน และมียอดใช้จ่ายสะสม 171.08 ล้านบาท

'ธนกร' เผย พ่อค้าแม่ค้า-ปชช. ฝากขอบคุณ 'บิ๊กตู่' หลังคนละครึ่งเฟส 5 ช่วยลดค่าครองชีพ - กระตุ้นเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 65 นายธนกร วังบุญคงชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ความคืบหน้าโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ข้อมูล ณ วันที่ 16 กันยายน 2565 มีผู้ใช้สิทธิที่เป็นประชาชนรายเดิมที่เคยใช้สิทธิโครงการคนละครึ่งระยะที่ 4 (ประชาชนรายเดิมฯ) จำนวน 23.24 ล้านคน คิดเป็นยอดใช้จ่ายสะสม 21,192.1 ล้านบาท และมีผู้ใช้สิทธิที่เป็นประชาชนรายใหม่ที่ไม่เคยใช้สิทธิโครงการคนละครึ่งระยะที่ 4 (ประชาชนรายใหม่ฯ) จำนวน 1.58 แสนคน คิดเป็นยอดใช้จ่ายสะสม 145.9 ล้านบาท รวมมีผู้ใช้สิทธิทั้งหมดจำนวน 23.40 ล้านคน และมียอดใช้จ่ายรวม 21,338 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่ายจำนวน 10,817 ล้านบาท และเงินที่รัฐร่วมจ่ายจำนวน 10,521 ล้านบาท 

‘บิ๊กป้อม’ สั่งคลังเร่งถกแบงก์ชาติเบรกค่าเงินบาทอ่อน ชี้ ค่าเงินบาทควรอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์

(21 ก.ย. 65) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงข้อสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้กระทรวงการคลังไปหารือธนาคารแห่งประเทศไทย ถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงในขณะนี้ว่า...

“เดี๋ยวให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไปคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเงิน เพราะเราจะปล่อยให้อ่อนค่าอย่างนี้ไม่ได้ เรื่องการผันผวนค่าเงินดังกล่าวเราต้องพยายามทำให้ดีขึ้น ซึ่ง รมว.การคลังจะดำเนินการ” จากนั้นผู้สื่อข่าวถามว่า ค่าเงินบาทจะต้องอยู่ที่ตัวเลขใดถึงจะเหมาะสม พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “จะไปรู้หรอ ต้องให้เขาคุยกันก่อน จะมาถามล่วงหน้าทั้งที่เขายังไม่ได้คุยกันได้อย่างไร”

ผู้สื่อข่าวถามต่ออีกว่า มีการสั่งการตัวเลขให้อยู่ 35 บาทต่อดอลลาร์หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “ผมบอกว่าควรจะ” และเมื่อถามว่า จากค่าเงินบาทอ่อนหากปล่อยไว้จะมีผลกระทบมากขึ้นใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “เงินมันแปรผัน ไม่ต้องถามแล้วเดี๋ยวให้เขาประชุมเสร็จก่อน และดูว่าเขาจะดำเนินการอย่างไร ไม่ต้องห่วง”

สุดท้ายถามว่ามีการกำหนดกรอบเวลาให้รายงานกลับหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่ตอบ พร้อมเดินออกจากไมโครโฟนแถลงข่าวทันที และพูดอีกว่า จะมาถามเมื่อไหร่ ได้อย่างไร จะไปรู้ได้อย่างไร เขาจะนัดประชุมกันเมื่อไหร่
 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top