Friday, 10 May 2024
กระทรวงการคลัง

‘อาคม’ รับรางวัล ‘รมว.คลังแห่งปี’ จาก The Banker หลังโชว์ฝีมือบริหารด้านเศรษฐกิจฝ่าวิกฤตโควิด-19

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้รับรางวัล Finance Minister of the Year 2023 ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จากนิตยสาร The Banker

(23 ม.ค. 66) นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้รับการคัดเลือกให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแห่งปี 2566 (Finance Minister of the Year 2023) ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จากนิตยสาร The Banker ในเครือ Financial Times ซึ่งเป็นสิ่งพิมพ์ด้านเศรษฐกิจและการเงินชั้นนำที่ได้รับความเชื่อถือในระดับสากล โดยนิตยสาร The Banker ได้กล่าวยกย่องการบริหารงานด้านเศรษฐกิจของนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ไม่ว่าจะเป็นการใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยเฉพาะการดำเนินมาตรการเศรษฐกิจแบบเฉพาะเจาะจงเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ อาทิ มาตรการคนละครึ่ง เป็นต้น รวมถึงการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Economy) ผ่านมาตรการทางภาษีต่าง ๆ โดยภายใต้การนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เศรษฐกิจไทยได้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง

'รมว.คลัง' ชี้ 'การท่องเที่ยว' เครื่องยนต์หลักเคลื่อน ศก. ยัน!! แม้ ศก.โลกไม่แน่นอน แต่คลังไทยยังแข็งแกร่ง

(15 ก.พ. 66) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยในงานสัมมนา Thailand's Future Economic Forum 2023 โดยปาฐกถาพิเศษเรื่อง ฝ่าคลื่นเศรษฐกิจ ปี 2566 จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ว่า ภาคการท่องเที่ยวจะเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่นเดียวกับการลงทุนจากภาครัฐและภาคเอกชน ส่วนการส่งออกอาจจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะชะลอตัว

ทั้งนี้ ภายใต้ปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ จากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก แต่ฐานะทางการคลังของไทยยังแข็งแกร่ง โดยปัจจุบันจากการขยายเพดานเงินกู้ ส่งผลให้ไทยยังมีพื้นที่ทางการคลัง และมีช่องว่างที่จะกู้เงินเพิ่มเติมได้ถึง 10% ของจีดีพี ในกรณีที่เกิดวิกฤติและต้องหาเงินช่วยเหลือเพื่อบรรเทาเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้น โดยไม่เสียวินัยทางการคลังด้วย

'บิ๊กตู่' ปลื้ม!! รายได้ 4 เดือนแรก เกินเป้า 9.1 หมื่นลบ. สะท้อนเสถียรภาพการคลัง มั่นใจ!! เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว

(21 ก.พ. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เชื่อมั่นการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้น หลังทราบรายงานการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิ 4 เดือน แรกปีงบประมาณ 2566 และปัจจัยบวกตัวเลขเงินสำรองระหว่างประเทศของไทยที่เพิ่มมากขึ้น สะท้อนถึงการเตรียมพร้อมด้านความมั่นคงทางการเงินของรัฐบาล และเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว

นายอนุชา กล่าวว่า กระทรวงการคลัง เปิดเผยการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงเดือน ต.ค. 2565 - เดือน ม.ค. 2566 พบว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 สามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ 836,643 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 91,339 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 12.3 โดยการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร รวมกันอยู่ที่ 820,825 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 45,646 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 5.9

เลื่อนเก็บภาษีขายหุ้นไม่มีกำหนด หลัง ครม.ตีกลับร่าง กม.คืนคลัง พิจารณาใหม่

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า สำนักงานเลขาคณะรัฐมนตรี ได้ส่งคืนร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะและกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ ฉบับที่… พ.ศ…หรือการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ (ภาษีขายหุ้น) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) กลับมายังกระทรวงการคลังแล้ว แต่เนื่องจากสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ได้ส่งหนังสือคัดค้านการจัดเก็บภาษีหุ้น จึงอาจทำให้ต้องพิจารณาทบทวนการประกาศบังคับใช้ภาษีขายหุ้นไปก่อน

โดยเมื่อเรื่องภาษีขายหุ้น ส่งคืนมายังกระทรวงการคลังแล้ว กระทรวงการคลังจะตั้งทีมงานเพื่อมาวิเคราะห์ และนำข้อเสนอแนะของสภาธุรกิจตลาดทุนไทยมาประกอบพิจารณาอีกครั้ง ส่วนจะทันประกาศใช้ภายในกลางปีนี้หรือไม่ ขณะนี้ไม่สามารถให้คำตอบได้ ต้องรอการทำงานของเจ้าหน้าที่ให้แล้วเสร็จ

‘คลัง’ ยัน ‘บัตรสวัสดิฯ’ รอบใหม่ ไปต่อ!! แม้ยุบสภา ย้ำ!! หากยืนยันตัวตนสำเร็จ เริ่มใช้สิทธิ 1 เม.ย. ตามเดิม

จากกรณีที่ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566 นั้น กระทรวงการคลังขอยืนยันว่า ไม่มีผลต่อการดำเนินงานในโครงการเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 หรือ บัตรคนจนรอบใหม่ โดยทุกกระบวนการ ทั้งการยืนยันตัวตน การใช้สิทธิรอบใหม่ และการยื่นอุทธรณ์กรณีไม่ผ่านสิทธิ ยังเป็นไปตามที่ประกาศไว้

สำหรับ การยืนยันตัวตนของผู้ได้รับสิทธิ เดินทางไปยืนยันตัวตนที่ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทุกสาขา ได้ทุกวันจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 สาขาทั่วไปตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. และสาขาในห้างสรรพสินค้าตั้งแต่เวลา 11.00-16.00 น.

ส่วนช่วงระยะเวลามีทั้งหมด 5 รอบ คือ

รอบที่ 1 ยืนยันตัวตนระหว่างวันที่ 1-26 มีนาคม 2566 จะได้เริ่มใช้สิทธิวันที่ 1 เมษายน 2566
รอบที่ 2 ยืนยันตัวตนระหว่างวันที่ 27 มีนาคม-26 เมษายน 2566 เริ่มใช้สิทธิวันที่ 1 พฤษภาคม 2566
รอบที่ 3 ยืนยันตัวตนระหว่างวันที่ 27 เมษายน-26 พฤษภาคม 2566 เริ่มใช้สิทธิวันที่ 1 มิถุนายน 2566
รอบที่ 4 ยืนยันตัวตนระหว่างวันที่ 27 พฤษภาคม-26 มิถุนายน 2566 เริ่มใช้สิทธิวันที่ 1 กรกฎาคม 2566
รอบที่ 5 ยืนยันตัวต้นระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป และเริ่มใช้สิทธิวันที่ 1 สิงหาคม 2566

โดยผู้ที่ยืนยันรอบ 2-4 จะได้รับสิทธิย้อนหลังได้ไม่เกิน 3 เดือน นับจากเดือนแรกที่เริ่มใช้สิทธิได้ (สิทธิย้อนหลังจะให้เฉพาะวงเงินการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจาก “ร้านธงฟ้า” เท่านั้น) สำหรับผู้ที่ยืนยันตัวตนรอบที่ 5 จะไม่ได้รับสิทธิย้อนหลัง โดยจะได้รับสิทธิเฉพาะเดือนที่กระทรวงการคลังดำเนินการตั้งวงเงินให้

ขณะที่ ผู้ลงทะเบียนที่ไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติ สามารถขออุทธรณ์ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม-1 พฤษภาคม 2566 (62 วัน) โดยดำเนินการผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่ ขออุทธรณ์ด้วยตนเองผ่านทางเว็บไซต์ https://บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th หรือ https://welfare.mof.go.th ได้ตั้งแต่เวลา 06.00-23.00 น.ของทุกวัน

หรือขออุทธรณ์ผลการพิจารณาคุณสมบัติผ่านหน่วยงานรับลงทะเบียนทั้ง 7 หน่วยงาน ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธ.ก.ส. สำนักงานคลังจังหวัดทุกจังหวัด ที่ว่าการอำเภอทุกอำเภอ สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร หรือศาลาว่าการเมืองพัทยา ตามวันและเวลาทำการของแต่ละหน่วยงาน

14 เมษายน พ.ศ. 2418 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตราพระราชบัญญัติกรมพระคลังมหาสมบัติ

วันนี้ นอกจากจะเป็นวันครอบครัวแล้ว ในทางราชการ ยังเป็นวันครบรอบ 148 ปี การสถาปนา ‘กระทรวงการคลัง’ อีกด้วย โดยเริ่มต้นเมื่อในรัชสมัยรัชกาลที่ 5

ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงขึ้นครองราชย์ ได้ทรงวางระเบียบและปรับปรุงแก้ไขการบริหารราชการแผ่นดินให้มีความทันสมัยมากขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2416 ทรงเริ่มทำการปฏิรูปการคลัง โดยโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ เป็นที่ทำการของเจ้าพนักงานพระคลังมหาสมบัติ สำหรับรวบรวมบัญชีเงินผลประโยชน์แผ่นดิน และตรวจตราการเก็บภาษีอากร

เปิดสถานะ ‘การเงิน-การคลังไทย’ แข็งแกร่ง  8 เดือนแรกปีงบฯ 66 จัดเก็บรายได้กว่า 1.22 แสน ลบ.

(27 มิ.ย. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ฐานะการเงิน-การคลังของไทยมีความแข็งแกร่ง หลังรับทราบรายงานการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 สูงกว่าประมาณการ และรายงานฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 เงินคงคลัง ณ เดือนพฤษภาคม 2566 มีจำนวนกว่า 2.57 แสนล้านบาท

นายอนุชา กล่าวว่า กระทรวงการคลังเผยผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565 - พฤษภาคม 2566) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิจำนวน 1,643,075 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 122,378 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.0 และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.9 โดยหน่วยงานที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่…

(1.) กรมสรรพากร โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ขยายตัวได้ดีตามเศรษฐกิจ 

(2.) ส่วนราชการอื่น เนื่องจากมีรายได้พิเศษจากการนำส่งทุนหรือผลกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียนเป็นรายได้แผ่นดิน รายได้จากสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ เงินส่วนเกินจากการจำหน่ายพันธบัตรกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล เงินเหลือจ่ายปีเก่าส่งคืนของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม และรายได้จากใบอนุญาตคลื่นความถี่วิทยุระบบ FM 

(3.) กรมศุลกากร เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าขยายตัวได้ดีประกอบกับมีการชำระอากรขาเข้าย้อนหลังตามคำพิพากษาคดี 

และ (4.) รัฐวิสาหกิจ เนื่องจากมีการนำส่งรายได้ที่เหลื่อมมาจากปีงบประมาณก่อนหน้า 

อย่างไรก็ดี การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตต่ำกว่าประมาณการจากการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลตั้งแต่ต้นปีงบประมาณเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนเป็นการชั่วคราวจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ หากไม่รวมรายได้พิเศษของส่วนราชการอื่นและกรมศุลกากร ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิสูงกว่าประมาณการ 69,248 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.6 และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.5 

นายอนุชา กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้รายงานฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565 - พฤษภาคม 2566) รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น จำนวน 1,569,515 ล้านบาท ในขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้นจำนวน 2,221,328 ล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 384,243 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ เดือนพฤษภาคม 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 256,857 ล้านบาท 

นายอนุชา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง และมีสัญญาณเป็นไปในทิศทางบวก สถานะการเงินการคลังของไทยแข็งแกร่ง และมีเสถียรภาพ โดยตัวเลขดังกล่าวสะท้อนทิศทางการทำงานที่ถูกต้องของรัฐบาลภายใต้วินัยทางการเงินการคลังที่เคร่งครัด รวมถึงความมุ่งมั่นเดินหน้าแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนตลอดมา โดยยึดหลักของความมั่นคง มั่งคั่งอย่างยั่งยืน

‘ก.คลัง’ แนะหั่นเบี้ยคนสูงวัยที่ร่ำรวย พุ่งเป้าช่วยคนรายได้น้อย-ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น

เมื่อไม่นานมานี้ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดว่า กระทรวงการคลังได้จัดเตรียม ‘แผนการปฏิรูปภาษี’ ให้กับรัฐบาลใหม่พิจารณา ประมาณ 20 รายการ เพื่อลดรายจ่าย เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาวมากขึ้น

พร้อมกับเพิ่มรายได้ให้รัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอต่อการจัดทำมาตรการที่เหมาะสม เนื่องจากตัวรายได้จัดเก็บภาษีของรัฐบาล ปัจจุบันคิดเป็นเพียง 14% ของจีดีพี เท่านั้น ซึ่งมาตรฐานที่ควรจะเป็นอยู่ที่ 15-16% ด้วยการให้สิทธิพิเศษ การดูแลเป็นวงกว้างมากเกินไป

หนึ่งในแนวทางที่มีการพูดถึง คือ การตัดงบผู้สูงอายุ ของกลุ่มที่ร่ำรวยอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็น ปรับไปใช้นโยบายที่พุ่งเป้าช่วยกลุ่มผู้มีรายได้น้อย จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจริงๆ ให้ถูกฝาถูกตัวไม่เหวี่ยงแห ซึ่งจะช่วยลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป แต่แนวทางนี้อาจไม่เป็นที่ยอมรับจากรัฐบาลต่างๆ เนื่องจากกระทบคะแนนเสียงของพรรคการเมือง

สำหรับงบประมาณที่ต้องใช้กับเบี้ยผู้สูงอายุเป็นรายเดือนนั้น ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามจำนวนผู้สูงอายุในปัจจุบันใช้งบสูงถึง 90,000 ล้านบาทต่อปี จากเดิมเพียง 50,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งหากตัดการจ่ายให้ผู้สูงอายุที่ร่ำรวยออกไป คาดว่าสามารถลดรายจ่ายงบประมาณได้มากถึงครึ่งหนึ่ง

‘รัฐบาล’ ชี้!! งบกลางใช้ฉุกเฉินมีเพียงพอ ยัน!! สำรองไว้แล้ว ไม่กระทบหน่วยงานรัฐฯ

(21 ก.ค. 66) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจง กรณีข้อห่วงใยต่อวงเงินการใช้จ่ายงบประมาณกลางคงเหลือ ที่หลายฝ่ายมีความกังวลว่าจะไม่เพียงพอให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการว่า ระบบการเงินการคลังของประเทศไทยมีเสถียรภาพที่เข้มแข็งเพียงพอต่อการดำเนินการใช้จ่ายกรณีเร่งด่วนที่มีความจำเป็นของรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้บริหารจัดการงบประมาณอย่างเหมาะสมในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนทุกช่วงวัย ทุกกลุ่ม อย่างครอบคลุม และเท่าเทียม

นางสาวรัชดา กล่าวว่า สำหรับกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน รัฐบาลมีงบกลาง หมวดเฉพาะ สำหรับการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เป็นงบประมาณที่ตั้งไว้เพื่อการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ การเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง และภารกิจที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐฯ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ตั้งไว้ 92,400 ล้านบาท และปัจจุบัน ยังมีงบประมาณมากเพียงพอที่สามารถนำมาใช้จ่ายได้ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ในช่วงระยะเวลาที่เหลือของปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ประมาณ 2 เดือนเศษ (ถึงเดือนกันยายน 2566) เช่น การเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง หรือภารกิจที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอื่น ๆ

ทั้งนี้ ณ วันที่ 16 กรกฎาคม 2566 กระทรวงการคลังรายงานว่า งบกลางฉุกเฉินที่ได้ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เป็นวงเงินห้าหมื่นกว่าล้านบาท อาทิ โครงการเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2565 มาตรการให้ส่วนลดอัตราค่าไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย เป็นต้น

ในส่วนของวงเงินมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ที่มีการรายงานวงเงินคงเหลือ จำนวน 18,000 ล้านบาท นางสาวรัชดา กล่าวว่า เป็นวงเงินคนละส่วนกับงบกลางฉุกเฉิน ซึ่งการใช้งบประมาณภายใต้มาตรา 28 นี้ รัฐบาลมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐฯ ดำเนินโครงการโดยใช้เงินทุนของตัวเองไปก่อน และรัฐบาลจะรับภาระชดเชยค่าใช้จ่ายในการดำเนินการให้กับหน่วยงานของรัฐในภายหลัง โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการเพื่อให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนเกษตรกรในช่วงที่ราคาสินค้าการเกษตรตกต่ำ รวมถึงการเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการรายย่อยและลดภาระค่าครองชีพให้กับผู้มีรายได้น้อยในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐได้กำหนดกรอบอัตรายอดคงค้างรวมทั้งหมดที่รัฐฯ ต้องรับชดเชยจากการดำเนินโครงการตามมาตรา 28 ไว้ที่ไม่เกินร้อยละ 32 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งปัจจุบันมียอดคงค้างอยู่ภายใต้เกณฑ์ที่กำหนด

“จึงขอยืนยันว่า วงเงินสองส่วนดังกล่าว ไม่กระทบกับการดำเนินการตามภารกิจของหน่วยงานของรัฐฯ เนื่องจากหน่วยงานของรัฐสามารถใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 3.185 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน พัฒนา คุณภาพชีวิตของประชาชน ได้รับการดูแลและช่วยเหลือจากสวัสดิการของภาครัฐฯ รวมทั้งดำเนินการ ด้านต่าง ๆ ที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในทุกภูมิภาคของประเทศ และหากมีกรณีฉุกเฉินจำเป็น เช่น ภัยพิบัติในช่วงนี้ รัฐบาลไม่ว่าจะชุดใดก็ตาม ยังสามารถเบิกจ่ายจากงบกลางได้” นางสาวรัชดา ย้ำ

เปิดประวัติ-ผลงานเด่น!!

‘กฤษฎา จีนะวิจารณะ’ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง​ ผู้มากความสามารถและประสบการณ์ที่ครบครัน

และด้วยวันนี้ ก็ได้รับการยอมรับขึ้นแท่น สู่ว่าที่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ใน ‘ครม.เศรษฐา ​1’
 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top