Friday, 10 May 2024
กระทรวงการคลัง

‘นายกฯ’ จ่อขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ป.ตรี 25,000 บาท ตามที่ ‘พท.’ หาเสียง ด้าน ‘ปานปรีย์’ เตรียมนัด 4 หน่วยงาน ถกรายละเอียด 10 พ.ย.นี้

(7 พ.ย. 66) นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เปิดเผยว่า เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายมา ซึ่งได้แจ้ง 4 หน่วยงาน ทั้งกระทรวงการคลัง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม (สศช.) คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สำนักงบประมาณ ให้มาประชุมกันที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 10 พ.ย. 66 โดยตนเป็นประธานในการประชุม พร้อมขอให้ประชุมลักษณะนี้ 2 ครั้ง เพื่อ เสนอ ครม. ภายในเดือนนี้ ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี

เมื่อถามว่าจะมีการขยับขึ้นเหมือนตอนสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตอนปรับขั้นเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาทหรือไม่ นายปานปรีย์ กล่าวว่า มีการไปดูจากฐานข้อมูลเดิมด้วย ไปดูจำนวนและกลุ่มบัญชีที่ปรับขึ้น แต่การปรับขึ้นเงินเดือนของรัฐบาลนี้จะเป็นไปตามที่พรรคหาเสียงไว้ คือเงินเดือนขั้นต่ำปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือน แต่จะต้องใช้เวลาในการขยับขึ้น ซึ่งคณะทำงานจะมีการดูรายละเอียดพวกนี้เพื่อเสนอต่อ ครม. ด้วย

นายปานปรีย์ กล่าวด้วยว่า วันที่ 22-24 พ.ย. กระทรวงการต่างประเทศจะเชิญเอกอัครราชทูตทั่วโลก เพื่อประชุมกระทรวงการต่างประเทศเพื่อรับนโยบาย โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานในการเปิดงาน โดยประเด็นสำคัญที่จะแจ้งให้ทูตทั่วโลกรับทราบมี 3-4 เรื่องหลักๆ ได้แก่ เรื่องบทบาทการทูตและเศรษฐกิจ ที่ต้องการให้ทูตมีบทบาทในการเปิดประเทศ เรื่องความมั่นคง และเรื่องแนวโน้มการเปลี่ยนของโลกที่ประเทศต่างๆ มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อในปีหน้ารัฐบาลจะได้รุกในตลาดต่างประเทศ การทำเอฟทีเอ และการเจรจาความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ

‘ยุติธรรม-คลัง-กยศ.’ ร่วมประชุมถก ‘พ.ร.บ.กยศ.’ ฉบับที่ 2 ปี 66 พร้อมสรุป 4 แนวทางแก้ปัญหาหนี้สิน บรรเทาทุกข์ ‘ลูกหนี้ กยศ.’

(11 พ.ย. 66) คณะทำงานการปรับโครงสร้างหนี้สิน รวมถึงการบังคับคดีเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับความเป็นธรรมและให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยนายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานคณะทำงาน พร้อมด้วย นายเสกสรร สุขแสง ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมบังคับคดี เข้าพบนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 เพื่อประชุมหารือแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ให้เป็นไปตามหลักการของพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566

ทั้งนี้ มีนายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา, นายอภินันช์ ศุนทรนันท์ รองผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา, นางสาวนันทวัน วงศ์ขจรกิตติ รองผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ และ ดร.ขจร ธนะแพสย์ ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย เข้าร่วมประชุมหารือที่กระทรวงการคลัง และได้ข้อสรุปร่วมกันดังนี้

1.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาจะคำนวณภาระหนี้ ตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ในคดีที่ขายทอดตลาดได้ ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 และคดีที่มีการอายัดเงินไว้แต่ยังไม่ได้ทำบัญชีแสดงรายการรับ-จ่ายเงิน และส่งให้กรมบังคับคดีภายในเดือนธันวา คม 2566 เนื่องจากการคิดหนี้ตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 จะทำให้ภาระหนี้ของลูกหนี้ลดลง โดยกรมบังคับคดีจะส่งข้อมูลคดีกลุ่มดังกล่าวให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

2.) กรณีที่ลูกหนี้กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ได้ปิดบัญชีตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ หากมีกรณีลูกหนี้ชำระเกินไปกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาจะคืนเงินส่วนที่ชำระเกินแก่ลูกหนี้

3.) ในการพัฒนาโปรแกรมการคำนวณหนี้ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาจะหาหน่วยงานมาช่วยพัฒนาเพื่อให้โปรแกรมเสร็จโดยเร็ว

4.) กรมบังคับคดีและกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พร้อมอำนวยความสะดวกให้ลูกหนี้ โดยลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา สามารถยื่นหนังสือยินยอมให้การงดการบังคับคดีและลงทะเบียน เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ที่ทุกสำนักงานทั่วประเทศของกรมบังคับคดี และที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

นายลวรณ ได้กล่าวขอบคุณที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม คณะทำงานการปรับโครงสร้างหนี้สินฯ และกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ร่วมหารือแนวทาง ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้ให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ลูกหนี้ได้เป็นอย่างมาก

‘ครม.’ เคาะ!! หนุนเงินช่วยชาวนา ไร่ละ 1 พันบาท ไม่เกิน 20 ไร่ พร้อมไฟเขียวขึ้นราคา ‘น้ำตาล’ 2 บาท/กก. หลังต้นทุนชาวไร่อ้อยพุ่ง

(14 พ.ย. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า สำหรับส่วนที่ตนดูและรับผิดชอบก็คือเรื่องข้าวและน้ำตาล ในเรื่องราคาข้าวนั้น เป็นเรื่องที่คณะกรรมการนโยบายข้าว ได้มีการประชุมกันและได้ให้ส่วนที่เกี่ยวข้องทำการหารือกัน ซึ่งได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้หารือและนำสรุปเข้า ครม.วันนี้ ได้ข้อสรุปว่า เงินค่าช่วยบริหารจัดการ ที่จะให้เกษตรกรไร่ละ 1,000 บาท ทั้งหมดจำนวนไม่เกิน 20 ไร่ เกษตรกรแต่ละครัวเรือนก็จะได้ครั้งละไม่เกิน 20,000 บาท ตรงนี้ก็ได้ประชุมเรียบร้อยแล้ว ให้ดำเนินการตั้งแต่มติ ครม.ออก ซึ่งจะรอให้ ธ.ก.ส.เคลียร์รายละเอียดประชุมเสนออีกครั้งหนึ่ง เข้าใจว่าอย่างเร็วก็จะเป็นวันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน หรือวันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายนนี้ แต่อยู่ภายในกรอบหนึ่งเดือน ซึ่งเกษตรกรจะได้รับเงินตรงนี้ต่อเนื่องไป

นายภูมิธรรมกล่าวว่า ส่วนเรื่องน้ำตาล ตนก็ได้รับฟังจากที่ประชุม ซึ่งตนได้มีการประชุมกับคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) และได้พูดคุยกับเกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ อธิบดีกรมการค้าภายใน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และอธิบดีกรมเจรจาการค้าต่างประเทศ ก็ได้ประชุมหารือร่วมกันไปถึง 2 ครั้ง และได้ข้อสรุปว่าเราจะดำเนินการ ในการที่จะพิจารณาอย่างเหมาะสม ตามความเป็นจริง ประเด็นแรก คือ ดูต้นทุนของเกษตรกรชาวไร่อ้อย แล้วเห็นว่าก็สมควรให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยขึ้นราคา 2 บาท ตามที่ต้นทุนมีอยู่

นายภูมิธรรมกล่าวว่า ส่วนกรณีของเรื่องอีก 2 บาท ที่ขอขึ้นเพื่อจะใช้ในกองทุนเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม อันนี้เรายังไม่ให้ขึ้น ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม และกรรมการที่เกี่ยวข้องไปหารือกันว่า เรื่องนี้ไม่ควรจะให้ผู้บริโภครับผิดชอบคนเดียว ให้ไปดูว่าเรื่องนี้เกี่ยวพันกับใครอย่างไร มีช่องทางในการดำเนินการจัดการอย่างไร ซึ่งตรงนี้เป็นประเด็นที่ยังไม่อนุมัติ และขอให้ดำเนินการตามนี้

เมื่อถามถึง ปัญหาเรื่องน้ำตาลขาด นายภูมิธรรมกล่าวว่า ก็ได้คุยกับที่ประชุมที่เกี่ยวข้องทุกส่วนแล้ว ยืนยันว่า น้ำตาลจะไม่ขาด

เมื่อถามว่า การประชุมมีเรื่องอื่นด้วยหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า คิดว่าเอาเรื่องเฉพาะหน้า ที่เกษตรกรกำลังเดือดร้อน และก็จะได้คุมราคาน้ำตาลขึ้นสองบาท แล้วก็สามารถดำเนินการได้ ให้ส่วนที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการจัดการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้ก่อน ส่วนเรื่องอื่นๆ สำหรับอนาคตที่จะต้องมีการปรับอะไรต่างๆ ก็ค่อยว่ากัน เพื่อแก้ปัญหาเรื่องฉุกเฉิน ที่มีปัญหาอยู่ และเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาที่ประชาชนกำลังรับผิดชอบ

เมื่อถามว่า จะมีผลตั้งแต่วันนี้หรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ครม.ได้กำหนดเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่เกี่ยวข้องก็ไปดำเนินการต่อ จะมีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

‘รมช.คลัง’ เตรียมออกใบอนุญาต ‘เกาหลีใต้’ จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ในไทย พร้อมเดินหน้ายกระดับความร่วมมือ-ขับเคลื่อนเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

(14 พ.ย. 66) นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค (APEC FMM) ครั้งที่ 30 อย่างไม่เป็นทางการ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกา (H.E. Janet L. Yellen) เป็นประธาน ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของการดำเนินนโยบายการเงินการคลังในปัจจุบัน เช่น ต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นและส่งผลกระทบต่อการก่อหนี้สาธารณะ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลต่อกำลังการผลิตในระบบเศรษฐกิจลดลง และภาระงบประมาณในการสนับสนุนด้านสวัสดิการที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังร่วมหารือทวิภาคีกับสาธารณรัฐเกาหลี โดยได้พูดคุยกับทาง ‘H.E. Ji-young Choi’ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการเงิน สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งได้แจ้งว่า ทางสถาบันการเงินของเกาหลี มีความสนใจขอใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Banking) ในไทย ซึ่งในขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในการให้ใบอนุญาตดังกล่าว คาดว่าสามารถออกประกาศใช้ได้ในเร็วๆ นี้

อีกทั้ง สาธารณรัฐเกาหลียังขอให้ไทยสนับสนุน ในการเป็นประธานร่วมภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียน+3 ในปีหน้า และขอเสียงสนับสนุนจากไทยในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ ‘World Expo 2030’ ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังแจ้งว่า ไทยพร้อมสนับสนุนและจะประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาให้การสนับสนุนดังกล่าวอีกด้วย

‘รมช.คลัง’ เล็งพักหนี้เอสเอ็มอีทั้งระบบ ภายใต้กรอบภาระรัฐบาล ย้ำ!! พักหนี้ครั้งนี้ไม่เหมือนที่ผ่านมา ป้องกันเกิด ‘Moral Hazard’

(20 พ.ย. 66) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังกำลังศึกษาเรื่องการพักหนี้ของภาคเอสเอ็มอีทั้งระบบ แต่ก็ต้องดูให้อยู่ในกรอบที่รัฐบาลรับภาระไหว และยังต้องดูว่าการเข้าไปช่วยต้องไม่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และไม่ให้เกิด ‘Moral Hazard’ ด้วย

“ยอมรับว่ามีเม็ดเงินค่อนข้างสูง หนี้ของเอสเอ็มอีเฉลี่ยต่อรายไม่ใช่แค่หลักแสนบาท ถือเป็นภาระที่หนัก ซึ่งก่อนหน้านี้โจทย์ของการช่วยเหลือเรื่องการพักหนี้เอสเอ็มอี ช่วยตามรหัส 21 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งคำอธิบายของกลุ่มนี้ มีแค่เอสเอ็มอีที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) แล้ว ซึ่งรัฐบาลให้ช่วยเหลืออย่างแน่นอน แต่ตอนนี้ยังมีเอสเอ็มอีอีกจำนวนมากที่ไม่ได้มีปัญหาหนี้สิน ยังไม่ถึงขั้นเป็นเอ็นพีแอล เราจึงต้องดูส่วนนี้ด้วย”

ทั้งนี้ ยอมรับว่า จากมาตรการพักหนี้ต่างๆ นั้น กังวลเรื่อง ‘Moral Hazard’ แต่ว่าในสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ ที่มีแรงกดดันทางเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อย เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องโยกแรงกดดันเหล่านี้ออก ให้ประชาชนสามารถเดินหน้าต่อไปได้ การพักหนี้ครั้งนี้ ยืนยันว่าไม่เหมือนพักหนี้ครั้งก่อน เพราะเรามีกลไกอื่นเข้าไปช่วยด้วย

“ผมไปลงพื้นที่ตรวจงาน ได้ถามชาวบ้าน เกษตรกร ว่าพักหนี้มา 13 ครั้งแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ทุกคนก็บอกว่า ไม่ได้ดีขึ้น มันเป็นเพียงแค่การประวิงเวลาเท่านั้น แต่กลไกครั้งนี้ ประกอบกับนโยบายอื่นๆ ที่รัฐบาลใส่เข้าไป มันจะสามารถให้ประชาชน พลิกฟื้นกลับมาแข็งแรงได้”

ส่วนกรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมแถลงมาตรการแก้ไขหนี้สินประชาชนรายย่อย ในช่วงปลายเดือน พ.ย. 66 นี้ เป็นมาตรการแก้หนี้คนละส่วนกับการมาตรการพักหนี้เกษตรกรที่เคยออกมาแล้ว โดยการพักชำระหนี้เป็นเพียงการต่ออายุ ต่อลมหายใจให้พี่น้องเกษตรกร

ทั้งนี้ มาตรการแก้ไขหนี้สินประชาชนรายย่อยนั้น เป็นการของอีกส่วนงาน โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ซึ่งเมื่อ 14 พฤศจิกายน ได้มีการประชุมนัดแรก และเห็นชอบแนวทางการแก้ปัญหาหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ไปแล้ว

'รมช.คลัง-กฤษฎา' ชง ครม.ช่วยหนี้นอกระบบ วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท  พ่วงช่วยเหลือลูกหนี้รหัส 21 รับผลพวงจากโควิด-19 พ้นเครดิตบูโร

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เผย 'คลัง' ชง ครม.ช่วยหนี้นอกระบบ วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท พร้อมช่วยเหลือลูกหนี้รหัส 21 พ้นเครดิตบูโร

(12 ธ.ค.66) นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม.วันนี้ มีการช่วยเหลือหนี้นอกระบบ โดยได้มีการพูดคุยธนาคารออมสินกับกระทรวงการคลังได้มีการหารือกันช่วยเหลือกันแก้หนี้นอกระบบ ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการลงทะเบียนอยู่

โดยจะมีการทำมาตรการรองรับให้ธนาคารออมสินออกสินเชื่อออกมาให้รัฐรองรับความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อรีไฟแนนซ์หนี้นอกระบบ ซึ่งถือเป็นโครงการใหม่

ขณะที่เกษตรกรก็จะช่วยหนี้นอกระบบผ่านทางธนาคาร ธกส.โดยวงเงินรวมที่ธนาคาร ธกส.กับธนาครออมสินนำมาใช้มีถึง 15,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ นายกฤษฎากล่าวว่า อีกมาตรการหนึ่งคือเงินที่เคยอนุมัติเงิน วงเงินที่เคยอนุมัติไปแล้ว และเหลือที่ยังไม่ได้ใช้ จะนำวงเงินนี้มาให้ธนาคารออมสินมาช่วยลูกหนี้รหัส 21 ที่ประสบปัญหาจากสถานการณ์ โควิด-19 ได้หลุดจากประวัติเครดิตบูโร

‘สหรัฐฯ’ อ่วม!! ‘หนี้สาธารณะ’ ทะลุ 34 ล้านล้านดอลล์ครั้งแรก นับเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวล หลังตัวเลขพุ่งเร็วจนน่าห่วง

(4 ม.ค. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ รายงานว่าหนี้สาธารณะของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ พุ่งสูงกว่า 34 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.164 พันล้านล้านบาท) เป็นครั้งแรก เพิ่มจาก 33.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.161 พันล้านล้านบาท) เมื่อวันพฤหัสบดี (28 ธ.ค.)

มายา แมคกิเนียส ประธานคณะกรรมการฝ่ายความรับผิดชอบด้านงบประมาณของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ กล่าวว่า หนี้สาธารณะแตะระดับ 34 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.164 พันล้านล้านบาท) เมื่อวันศุกร์ (29 ธ.ค.) ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากพุ่งแตะระดับ 33 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.13 พันล้านล้านบาท) เพียงราวสามเดือน และถือเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวลอย่างมาก

“สิ่งที่น่าเศร้าคือผู้นำทางการเมืองของเราไม่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นเพื่อพลิกฟื้นสถานการณ์ทางการคลัง” แมคกิเนียส กล่าว

ตัวเลขหนี้ล่าสุดถูกเปิดเผยขณะที่สมาชิกสภาคองเกรสเตรียมแย่งชิงการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลกลาง โดยปัจจุบันงบประมาณสำหรับหน่วยงานและโครงการของรัฐบาลกลางบางส่วนจะหมดอายุในเดือนมกราคมนี้

‘กฤษฎา-รมช.คลัง’ แนะ!! รัฐวิสาหกิจเร่งการลงทุน  คาดมีเม็ดเงินสะพัด 2 แสนล้าน กระตุ้น ศก.ได้มาก

(31 ม.ค.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการดำเนินเศรษฐกิจของประเทศ ที่มีสัดส่วนการลงทุนมาก โดยงบประมาณปี 2567 มีความล่าช้า แต่ได้มีนโยบายให้รัฐวิสาหกิจช่วยเร่งในเรื่องของงบลงทุนและการใช้จ่าย เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่ภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ให้ลงพื้นที่ไปดูแลช่วยเหลือลูกค้าในพื้นที่ต่าง ๆ อาทิ เรื่องกีฬา ให้ทุกรัฐวิสาหกิจเข้าไปช่วยเรื่องการเงินหรือการบริหารจัดการในแต่ละสมาคมกีฬา ถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์ 

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะเร่งดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือสนับสนุนอย่างไรบ้าง? นายกฤษฎากล่าวว่า “งบลงทุนให้เร่งลงทุนตั้งแต่เริ่มปีงบประมาณ ซึ่งบางรัฐวิสาหกิจจะเป็นปีงบประมาณแบบรัฐบาล บางรัฐวิสาหกิจเป็นปีปฏิทิน จะช่วยได้ในช่วงเวลาที่เงินลงทุนของรัฐยังไม่ได้ลงไป จะช่วยได้ในช่วงไตรมาสแรกปีงบประมาณ ซึ่งหลังจากไตรมาสที่ 2 เงินงบลงทุนปี 2567 ก็เริ่มลงทุนได้แล้ว วันนี้กรมบัญชีกลาง ได้ผ่อนปรนเรื่องกฎระเบียบการใช้จ่ายเงินงบลงทุน เพื่อให้สามารถดำเนินการได้เร็วขึ้น และมีขั้นตอนต่าง ๆ ให้สั้นลง คาดการณ์ว่า ในไตรมาสแรกและไตรมาสที่ 2 อาจมีเม็ดเงินงบลงทุนรวมกว่า 2 แสนล้านบาท และไตรมาสหลังจะมีเพิ่มมากขึ้น”

เมื่อถามถึงความคืบหน้าโครงการพักหนี้นอกระบบ หลังเริ่มลงทะเบียน? นายกฤษฎา กล่าวว่า “กระทรวงมหาดไทย รายงานผลอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ธนาคารก็พร้อมช่วยเหลือ ถือว่าเป็นไปได้ด้วยดี จึงอยากเชิญชวนคนที่มีหนี้นอกระบบเข้ามาลงทะเบียน เพื่อรับการช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างจริงจัง ย้ำว่า โครงการพักหนี้ เป็นการเสริมสภาพคล่องให้กับเกษตรกรหรือเอสเอ็มอี หลังจากผ่านพ้นช่วงโควิด และเริ่มทำธุรกิจ ถือเป็นโครงการที่ดีในการช่วยเหลือประชาชนและเอสเอ็มอี”

‘นายกฯ’ เผย!! ยังรอข้อเสนอแนะจาก ป.ป.ช. ปมดิจิทัลวอลเล็ต ลั่น!! ประชาชนคอยไม่ได้ สัปดาห์หน้าจะสอบถามว่าต้องการอะไร

(3 ก.พ. 67) ที่ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการแจกเงินประชาชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านดิจิทัลวอลเล็ตว่า จะมีการพูดคุยกับ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งต้องยอมรับว่าจะต้องรอคำเสนอแนะจาก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งก็รอมานานแล้ว ตนคิดว่าต้องมีวิธีการอื่นรองรับ เพราะคำเสนอแนะยังไม่มาสักที พี่น้องประชาชนเขาคอยไม่ได้

เมื่อถามว่าทาง ป.ป.ช.รอการดำเนินการความชัดเจนจากรัฐบาล และรัฐบาลก็รอข้อเสนอแนะจาก ป.ป.ช. จะทำให้ไทม์ไลน์ขยับไปมากหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ตนไม่ค่อยแน่ใจว่า ป.ป.ช. รอรัฐบาลเรื่องอะไร จึงต้องขอสอบถามก่อนดีกว่า อย่าให้พูดไปโดยไม่มีข้อมูล ขอเป็นต้นสัปดาห์หน้า

‘รมช.กฤษฎา’ เตรียมนั่งหัวโต๊ะถกเร่งรัดเบิกจ่ายงบฯ แจงชัด!! ไม่ขอก้าวล่วง จี้ ‘กนง.’ ประชุมนัดพิเศษ

(21 ก.พ. 67) นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.การคลัง เปิดเผยว่า ในวันที่ 22 ก.พ. 2567 จะมีการประชุมคณะกรรมการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินลงทุนของหน่วยงานราชการทุกกระทรวง และรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง เพื่อวางแนวทางในการเร่งรัดการเบิกจ่ายและการลงทุนต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ในช่วงที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณ 2567 ยังไม่มีผลบังคับใช้ โดยยืนยันว่า ขณะนี้ภาครัฐได้ใช้มาตรการการคลังในทุกด้าน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เติบโตในระยะถัดไป ส่วนมาตรการด้านการเงิน ขอไม่ให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าว

โดยที่ผ่านมาเชื่อว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้มีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่แล้ว ขณะที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีนัดพิเศษหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับ กนง. จะเป็นผู้พิจารณา เพราะในวันนี้ข้อมูล และบริบททางเศรษฐกิจเปลี่ยนไปแล้ว

“เรื่องการประชุม กนง.นัดพิเศษ ผมคงไม่ก้าวล่วงว่าจะมีหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ กนง. จะไปพิจารณา โดยจากข้อมูลที่มันเปลี่ยนไป เขาจะต้องทำอะไรหรือไม่ ไม่ก้าวล่วงแน่นอน ส่วนมาตรการด้านการคลังทำไปค่อนข้างมากแล้ว ส่วนมาตรการ LTV ที่ผ่านมาได้ขอให้ ธปท. ทบทวนมาตรการดังกล่าว แต่ยังไร้การตอบรับในเรื่องนี้ ไม่รู้จะใจอ่อนเมื่อไหร่ ขณะที่ทางด้านกระทรวงการคลัง ที่ทำมาตลอดคือ มาตรการด้านภาษี การช่วยค่าธรรมเนียม การโอน การจดจำนอง จนถึงสิ้นปีนี้ ส่วนจะพิจารณาขยายต่อไปอีกได้หรือไม่ จะต้องมาพิจารณาอีกครั้งในช่วงสิ้นปี” นายกฤษฎา กล่าว

สำหรับข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่จะหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อขอทบทวนกรอบวงเงินกู้อีกครั้ง จากปี 2565-2566 ที่รัฐบาลเคยให้กรอบวงเงินกู้ได้ไม่เกิน 150,0000 ล้านบาท โดยทำเรื่องกู้รวมไปแล้ว 1.05 แสนล้านบาท โดยปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ยังเหลือเงินกู้ที่สามารถเบิกจากสถาบันการเงินได้อีกประมาณ 30,000 กว่าล้านบาทนั้น หากใกล้ ๆ แล้วค่อยนำเรื่องนี้มาหารือกันอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี ในส่วนของการจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 2567 คาดว่าจะเป็นไปตามเป้าหมาย โดยยอมรับว่า การตั้งเป้าหมายเดิมสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ค่อนข้างมาก เนื่องจากในการตั้งเป้าหมายนั้น ตั้งบนสมมติฐานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่คาดว่าปีนี้จะเติบโต 3.8-3.9% แต่ปัจจุบันกระทรวงการคลังได้ปรับลดประมาณการลงมา ดังนั้นจึงพยายามบริหารจัดการเพื่อให้การจัดเก็บรายได้เป็นไปตามเป้าหมาย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top