Friday, 10 May 2024
กระทรวงการคลัง

‘รมช.คลัง’ ยัน!! วิธีโอนเงิน เงินดิจิทัล 10,000 ใช้ระบบบล็อกเชน ไม่ได้โอนผ่านเป๋าตัง

(6 ก.ย. 66) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีช่องทางการจ่ายเงินในโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล โดยปฏิเสธข่าวที่ว่าจะโอนเงิน 10,000 บาท ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง ที่เคยถูกใช้ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาก่อนหน้านี้นั้น

ยืนยันว่า นโยบายนี้ จะเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) อยู่เบื้องหลัง ซึ่งถูกพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจากเทคโนโลยีแบบเดิม เพื่อประโยชน์ของการพัฒนาประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

‘เศรษฐา’ เข้ากระทรวงการคลัง ทำพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง รมว.คลัง อย่างเป็นทางการ

(14 ก.ย.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้เดินทางมาถึงกระทรวงการคลัง หลัง นายเศรษฐา ลงจากรถได้มีการยื่นเอกสารให้กับ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จากนั้นกล่าวทักทายกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลัง

ก่อนที่นายเศรษฐา จะเดินมุ่งหน้าไปทำพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงการคลัง เนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง อย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ นายเศรษฐา เริ่มสักการะศาลพระพรหม ศาลพระภูมิชัยมงคล จากนั้นสักการะพระคลังมหาสมบัติ และสักการะองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (เสด็จพ่อ ร.5)

และเดินมาทำพิธีไหว้ ตลอดจนคล้องพวงมาลัยดอกดาวเรืองที่ช้างคู่ประจำกระทรวง ที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าอาคารสำนักปลัดกระทรวงการคลัง ได้อย่างราบรื่น โดยพวงมาลัยไม่ขาด ด้วยมีความเชื่อว่าหากขาดจะเป็นฤกษ์ไม่ดี ก่อนจะขึ้นตึกร่วมประชุมมอบนโยบายให้กับผู้บริหาร ข้าราชการ กระทรวงการคลัง ที่ห้องประชุมวายุภักษ์ 4 ใช้เวลาสั้นๆ เพียง 20 นาที โดยเสร็จจากการประชุมก็มุ่งหน้าต่อที่ห้องทำงาน ก่อนที่จะมาพบปะสื่อมวลชน

‘เศรษฐา’ ยัน ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ไม่มีการกู้เงิน ขอเวลาไม่เกิน 1 เดือน เพื่อสรุปแหล่งที่มา

(14 ก.ย.66) ที่กระทรวงการคลัง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย และประชาชนกำลังเดือดร้อน ดังนั้น กระทรวงคลังก็มีหน้าที่ช่วยซัพพอร์ตในทุกๆ เรื่อง แต่ว่าเหนือสิ่งอื่นใดได้มอบนโยบายให้ผู้บริหารกระทรวง 2 เรื่องคือ 1.การทำนโยบายต้องใช้งบประมาณเยอะ เพราะฉะนั้นเรื่องวินัยการเงินการคลังสำคัญ ต้องตอบสังคมได้ว่านำเงินไปใช้อะไรบ้าง และในระยะยาวจะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) หนี้สาธารณะ ควรมีสัดส่วนอย่างไรที่เหมาะสม

นายเศรษฐากล่าวว่า 2 เรื่อง วิธีการทำงานและเรื่องความเป็นธรรม เป็นเรื่องที่สำคัญที่รัฐบาลนี้จะให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการบริหารจัดการระบบเส้นสาย ระบบการโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม และระบบการปูนบำเหน็จ เป็นเรื่องที่เราเห็นใจข้าราชการ ไม่ใช่เฉพาะกระทรวงการคลัง

“แต่ในวันนี้ผมมาพูดในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพราะกระทรวงนี้เป็นกระทรวงที่มีข้าราชการที่มีความสามารถเยอะ ทุ่มเทกายและใจตลอด หลายๆ คนก็ใฝ่ฝันตำแหน่งใหญ่ๆ ดังนั้น ใครที่มีผลงานที่ดีก็ควรจะได้รับการปูนบำเหน็จที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการกระทรวงที่สามารถออกไปภาคเอกชนที่ให้ผลตอบแทนสูงได้ แต่เลือกเสียสละเพื่อประเทศชาติ

“การที่ผู้มีอิทธิพลเข้ามามีเส้นสาย หรืออำนาจ ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็จะเป็นเกราะกำบังให้ ทำให้ข้าราชการทำงานได้อย่างสบาย” นายเศรษฐากล่าว

นายเศรษฐากล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ในที่ประชุมได้หารือเรื่องเศรษฐกิจโดยทั่วไป และเรื่องนโยบายรัฐที่ออกมาแล้วต้องเจออุปสรรคบ้างก็จะหาทางแก้ไขและปรับวิธีการทำงานต่อไป

นายเศรษฐากล่าวอีกว่า สำหรับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตยืนยันว่าไม่มีการกู้เงิน ขณะเดียวกัน การกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสิ่งจำเป็น ช่วยเพิ่มการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ จีดีพีเพิ่ม สัดส่วนหนี้สาธารณะก็อาจจะไม่เพิ่มหรือคงที่ รัฐบาลนั้นมีความตั้งใจให้เป็นเช่นนั้น และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจก็ต้องมีทั้งระยะสั้นและระยะยาว

“ยืนยันว่า 10,000 บาท ทำได้แน่นอน มีแหล่งเงินแน่นอน แต่ในรายละเอียดขอเวลาพิจารณานิดนึง แล้วจะมาชี้แจงให้ทราบภายในไม่เกิน 1 เดือนนี้ โดยจะใช้ข้อมูลจากแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ เป็นดาต้าเบสในการเขียนบล็อกเชนแอปใหม่

“สำหรับมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตตอนนี้ยังไม่อยากพูดไป เพราะเดี๋ยวไม่มีความชัดเจนแล้วหาว่าผมเป็นคนเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ใจเย็นๆ นิดนึง ตอนนี้มีหลายออปชัน จึงจะไปดูให้ว่าออปชันไหนที่เหมาะสมสุดและมีผลกระทบในวงการน้อยที่สุด และยืนยันว่าไม่มีการกู้เงินแน่นอน” นายเศรษฐาระบุ

นายเศรษฐากล่าวว่า ส่วนนโยบายพักหนี้เกษตรกรที่ทำมา 13 ครั้งใน 9 ปีก็ยังต้องทำต่อไป รัฐบาลตระหนักดีว่าถ้าทำการพักหนี้ แต่ไม่ควบคู่ไปกับการเพิ่มรายได้ก็จะไม่เป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาวตามที่ควร ดังนั้น รัฐบาลจึงอยากเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร เพราะถือเป็นภาคส่วนที่ใหญ่มาก มาตรการนี้ถือเป็นมาตรการแรกที่ออกมาช่วยเกษตรกร ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังทั้ง 2 คน ก็พยายามช่วยดู และหวังว่าจะมีมาตรการใหม่ๆ ออกมาเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในเรื่องหนี้ต่อไป

“ขณะที่ปัญหาภาคส่วนอื่นๆ นั้นเดี๋ยวจะมีการคุยกันต่อแน่นอน แต่ตอนนี้ถ้าทำอะไรได้ก็จะทำการก่อน ผมไม่อยากคอยให้เสร็จทุกภาคส่วนแล้วค่อยประกาศก่อน บางส่วนจะได้สบายใจ ส่วนนี้หนี้อื่นๆ เดี๋ยวจะไปดูและจะมานำเสนอต่อๆ ไป ผมตระหนักดีถึงปัญหาทุกภาคส่วน” นายเศรษฐาระบุ 

‘จุลพันธ์’ เตรียมเรียกหน่วยงานฯ ถกแผน ‘พักหนี้เกษตรกร-SME’ ขีดเส้น 14 วัน ต้องได้ข้อสรุปกรอบแนวทาง-วิธีการทำงานทั้งหมด

(18 ก.ย.66) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง เปิดเผยว่า ในต้นสัปดาห์นี้คณะทำงานในโครงการพักหนี้ทั้งในส่วนของเกษตรกร และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จะมีการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด มาประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับกรอบแนวทาง และวิธีการทำงานทั้งหมด ให้ได้ข้อสรุป เพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติ สำหรับเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายใน 14 วัน หรือไม่เกินสิ้นเดือน ก.ย. 2566

ทั้งนี้ จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า มีลูกหนี้เกษตรกรทั้งสิ้นกว่า 4.2 ล้านบัญชี ขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ราว 3 ล้านกว่าบัญชี ก็ต้องมาพิจารณาหลักเกณฑ์ และรายละเอียดว่าจะช่วยเหลืออย่างไร โดยคงไม่ได้ช่วยทั้งหมด เพราะในส่วนนี้เชื่อว่าจะมีรายใหญ่รวมอยู่ด้วย ส่วนว่ามาตรการจะครอบคลุมแค่ไหน หรือจะมีการกำหนดเพดานการช่วยเหลืออย่างไร ขอไปพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง แต่ยืนยันว่าเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะได้รับคำสั่งจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.การคลังมาแล้ว

“คงต้องดูกรอบวงเงินที่มีความเหมาะสม และต้องดูภาระของงบประมาณที่จะรับได้อีกส่วนหนึ่งด้วย เพราะตอนนี้กระบวนการงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้านั้น ได้มีการกำหนดกรอบปฏิทินใหม่มาแล้ว โดยในส่วนนี้ก็ต้องไปดูภาระงบประมาณในแต่ละส่วน แต่ละโครงการ ต้องดูกรอบใหญ่ว่างประมาณมีภาระด้านอื่น ๆ อย่างไร ดังนั้นหลักของแนวทางการให้ความช่วยเหลือในโครงการพักหนี้ก็จะต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับความเป็นจริงและสอดคล้องกับงบประมาณด้วย” นายจุลพันธ์ กล่าว

นายจุลพันธ์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าของมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ว่า ยืนยันว่าการดำเนินการจะไม่ช้าไปกว่าเดือน มี.ค. 2567 อย่างแน่นอน โดยนายกรัฐมนตรีตั้งธงมาแล้วว่าจะเริ่มในวันที่ 1 ก.พ. 2567 กระทรวงการคลังก็จะต้องทำให้สำเร็จ โดยอาจจะต้องมีการทดสอบระบบก่อนวันเริ่มดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ส่วนร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ คงไม่มีการให้ลงทะเบียนใหม่ทั้งหมด เบื้องต้นอาจจะใช้ข้อมูลร้านค้าเดิมที่เคยเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งมาเป็นพื้นฐาน แต่อาจจะต้องให้มีการยืนยันตัวต้นเพิ่มเติมบ้างเท่านั้น

ส่วนข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเงื่อนไขการใช้จ่ายในโครงการ โดยเฉพาะการกำหนดรัศมีการใช้จ่ายไม่เกิน 4 กิโลเมตรตามทะเบียนบ้านนั้น ยอมรับว่าที่ผ่านมามีข้อเสนอแนะเข้ามาเยอะว่าเรื่องนี้อาจเป็นข้อจำกัด ซึ่งรัฐบาลเองอาจจะมีการผ่อนปรนหรือเปลี่ยนแปลงเรื่องรัศมีในการใช้จ่าย โดยอาจจะปรับมาเป็นให้ใช้ได้ภายในอำเภอตามทะเบียนบ้าน เพื่อทำให้กระบวนการใช้เงินของประชาชนผ่านดิจิทัลวอลเล็ตราบรื่นที่สุด

“ยอมรับว่าข้อเสนอที่ให้ปรับมาเป็นใช้จ่ายจากรัศมี 4 กิโลเมตรมาเป็นใช้จ่ายได้ภายในอำเภอตามทะเบียนบ้านนั้น เป็นข้อเสนอที่เป็นไปได้มากที่สุด แต่สุดท้ายจะเป็นอย่างไรอยากให้รอฟังดี ๆ อีกครั้ง โดยรัฐบาลยังคงยึดเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับชุมชนเป็นหลัก ดังนั้นหากจะปรับโดยการปลดล็อกการใช้จ่ายจนอิสระ หรือฟรีไปเลยคงไม่มีทาง เพราะอย่างไรก็ตามคนก็ต้องกลับภูมิลำเนากันอยู่แล้ว ส่วนข้อกำหนดในการซื้อสินค้ายังต้องรอสรุปอีกนิด เพราะมีเรื่องที่ต้องพิจารณาค่อนข้างมาก เช่น กรณีที่เป็นบริการของรัฐ ควรจะให้ใช้ได้หรือไม่ เพราะเงินอาจจะไม่หมุนเข้าระบบเศรษฐกิจตามที่ควรจะเป็น เช่น การจ่ายค่าไฟฟ้า แต่ที่กำหนดชัดเจนแน่นอนแล้ว คือ ไม่สามารถใช้ซื้อสินค้าประเภทอบายมุข และการชำระหนี้สินได้อย่างแน่นอน” นายจุลพันธ์ กล่าว

สำหรับแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น ยืนยันว่าไม่มีความจำเป็นต้องกู้อย่างแน่นอน รัฐบาลมีกลไกในการดำเนินการได้ ส่วนรายละเอียดทั้งหมดอยากให้รอดู ตอนนี้ยังตอบอะไรไม่ได้ ส่วนที่มีข้อเสนอว่าให้นำแอปพลิเคชันเป๋าตังเข้ามาใช้นั้น มองว่า แอปพลิเคชันเป๋าตังก็คือเป็นสินทรัพย์ของรัฐบาลอยู่แล้ว หากท้ายที่สุดแล้วสรุปว่าจะนำแอปฯ เป๋าตังไปใส่ในบล็อกเชนของโครงการ ก็มองงว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ หากทำจริงก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร ในมุมมองของรัฐบาลเห็นว่าหากอะไรที่พัฒนาแล้วทำให้ดีขึ้นก็ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว เพราะเชื่อว่าโครงการจะเป็นประโยชน์กับการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมาก โดยเพียงแค่รัฐบาลส่งสัญญาณว่าจะเดินหน้าโครงการ ก็เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจแล้ว ร้านค้ามีการวางแผนการสั่งซื้อสินค้า วัตถุดิบเพื่อมารอจำหน่าย เรียกว่าเกิดการหมุนเวียนในระบบทันทีตั้งแต่โครงการยังไม่เริ่ม และเรายังมองว่า การใช้จ่ายในโครงการจะได้รับความนิยม ประชาชนจะใช้จ่ายหมด 10,000 บาทภายในไม่เกิน 1-2 สัปดาห์แน่นอน

อย่างไรก็ดี ข้อกังวลเกี่ยวกับการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นในโครงการ เช่น การใช้จ่ายแบบผิดวัตถุประสงค์ โดยการฮั้วกับร้านค้าเพื่อนำเป็นเงินสดออกมานั้น ยอมรับว่าอาจเกิดขึ้นได้ แต่กระทรวงการคลังจะพยายามหาทางป้องกันให้มากที่สุด โดยมองว่าระบบการดำเนินงานผ่านบล็อกเชนจะสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งพร้อมรับฟังทุกข้อเสนอแนะและหาทางแก้ไขต่อไป

‘ธ.ก.ส.’ ชงพักหนี้แบบมีรายได้ 3 ปี-เล็งยกเลิกให้สิทธิ์อัตโนมัติ ดัน ครม.เห็นชอบ หวังลดภาระ-สร้างรายได้ให้พี่น้องเกษตรกร

(21 ก.ย. 66) นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 22 ก.ย.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส. โดยมีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุม โดยฝ่ายบริหารจะมีการเสนอมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกร 3 ปี ตามนโยบายรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ต้องการลดภาระและสร้างรายได้ให้เกษตรกรเป็นการเร่งด่วน คาดว่าจะนำข้อสรุปทั้งหมดเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 26 ก.ย.นี้ เพื่อให้การดำเนินการต่อไป

นายฉัตรชัย กล่าวต่อว่า ยืนยันว่ามาตรการพักหนี้รอบใหม่ จะไม่เหมือนกับ 13 ครั้งในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา แต่เป็นการทำมาตรการบนแนวทาง 2 เรื่อง คือ

1.) มุ่งลดภาระให้เกษตรกร โดยจะพักหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้เกษตรกรทันที 3 ปี ส่วนภาระดอกเบี้ยรัฐบาลจะรับภาระชดเชยให้ ธ.ก.ส.แทน

2.) เร่งฟื้นฟูศักยภาพให้เกษตรกร มุ่งสร้างรายได้ในระหว่างร่วมมาตรการพักหนี้ โดยปรับวิธีคิดการทำเกษตรจากเดิมที่เน้นจำนวนการเพาะปลูกเป็นการเพิ่มเทคนิคทางการเกษตร การทำการตลาด วิธีการขาย กรณีที่มีการเพาะปลูกต้องรู้ตลาดว่าจะนำไปขายให้ใคร

“รัฐบาลให้นโยบายชัดเจนว่า ให้ ธ.ก.ส.ไปทำมาตรการพักหนี้รอบใหม่ให้รอบด้าน โดยปิดจุดอ่อนมาตรการในอดีตให้มากที่สุด โดยตอบโจทย์ 3 ประเด็น คือ 1.) ลดภาระ 2.) ฟื้นฟูศักยภาพ และ 3.) ระมัดระวังการเสียวินัยชำระหนี้หลังจากพ้นระยะเวลามาตรการพักหนี้ไปแล้ว ปัจจุบัน ธ.ก.ส. มีลูกหนี้อยู่ราว 3.9 ล้านราย สินเชื่อรวม 1.4 ล้านล้านบาท ส่วนลูกหนี้รายได้จะเข้าเกณฑ์ มีสินเชื่อรวมต่อรายเท่าใดก็จะเสนอหลายแนวทางให้พิจารณา” นายฉัตรชัย กล่าว

นายฉัตรชัย กล่าวด้วยว่า การพักหนี้รอบใหม่จะแตกต่างจากที่ผ่านมา ที่ลูกหนี้จะได้สิทธิ์ทันทีโดยอัตโนมัติไม่ต้องดำเนินการอะไร แต่ครั้งนี้ลูกหนี้ที่ต้องการร่วมโครงการ จะต้องโชว์ตัวตนผ่านแอปลิเคชัน BAAC Mobile เพื่อให้ธนาคารสามารถติดตามสถานะลูกหนี้ได้ ไม่ใช่เข้าโครงการแล้วหายไปเลย ธนาคารก็จะประเมินสถานะลูกหนี้ พร้อมกำหนดแนวทางช่วยเหลือแต่ละรายแตกต่างกันตามความสามารถของลูกหนี้ การพักหนี้รอบใหม่จะมาเป็นแพ็คเกจ ทั้งการให้สิทธิ์ประโยชน์ รวมทั้งการให้สินเชื่อเพิ่มเติมกับลูกหนี้ที่ต้องการเงินทุน เพิ่มสภาพคล่องเพื่อการฟื้นฟู ไม่ให้ไปกู้นอกระบบ

ด้านนางโสมรัศมิ์ จันทรัตน์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการศึกษาถอดบทเรียนการพักหนี้เกษตรกรไทย ว่า การพักหนี้ที่ผ่านมาไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้กับเกษตรกร ซ้ำยังเป็นการทำให้เกษตรกรเสพติดการพักหนี้ในกลุ่มลูกหนี้ดี

ส่วนลูกหนี้เสียเหมือนเป็นการเตะปัญหาออกไป จึงเสนอให้มีการออกแบบมาตรการให้เหมาะสม คือ

1.) ไม่ควรมีรูปแบบพักหนี้เหมือนเดิม และเน้นพักหนี้ระยะสั้น
2.) แก้ปัญหาให้ตรงจุด ไม่ใช่พักหนี้ให้ทุกคน เช่น กลุ่มได้รับผลกระทบภัยแล้ง น้ำท่วม
3.) เสริมแนวทางให้เกษตรกรช่วยเหลือตนเอง เช่น ระบบประกันสินเชื่อเกษตรกร โดยการพักหนี้ควรเป็นเครื่องมือสุดท้ายที่รัฐบาลจะนำมาใช้

‘นายกฯ’ สั่ง ‘กรมสรรพากร’ ศึกษากฎหมาย แก้ภาษี ‘มรดก-ที่ดิน’ หวังเพิ่มรายได้-ลดความเหลื่อมล้ำ ชี้!! ต้องปรับให้สอดคล้องปัจจุบัน

(9 ต.ค. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้อธิบดีกรมสรรพากรไปพิจารณา การปรับปรุงกฎหมายการจัดเก็บภาษีการรับมรดก เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมองว่า กฎหมายการจัดเก็บภาษีการรับมรดกในปัจจุบันนั้น ถูกมองว่า เป็นกฎหมายที่มีขึ้นในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น ไม่สามารถจัดเก็บได้จริง

“ผมได้มอบหมายให้อธิบดีกรมสรรพากรไปพิจารณาแก้ไขกฎหมายดังกล่าว โดยกฎหมายจะต้องมีผลบังคับใช้ได้จริงทั้งในมุมการจัดเก็บรายได้และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาปรับแก้ไขกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างด้วย” นายเศรษฐา กล่าว

แหล่งข่าวจากกรมสรรพากรเผยว่า หลักในการพิจารณาแก้ไขกฎหมายภาษีการรับมรดกนั้น ต้องพิจารณาใน 3 ประเด็นหลัก คือ

1.) ฐานในการจัดเก็บ ซึ่งปัจจุบัน จัดเก็บมรดกในส่วนที่มีมูลค่าเกินกว่า 100 ล้านบาทต่อราย ซึ่งประเด็นนี้ ก็ต้องมาดูว่า รัฐบาลต้องการปรับเพิ่ม หรือ ลดลงหรือไม่อย่างไร
2.) รายการทรัพย์สินมรดกที่เข้าข่ายการเสียภาษี
3.) ข้อยกเว้นในการเสียภาษีดังกล่าว โดยภรรยาหรือสามีตามกฎหมายเมื่อได้รับมรดกจะได้รับการยกเว้นภาษี

ทั้งนี้ กรณียกเว้นการจัดเก็บภาษีการรับมรดกที่มีมูลค่าไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อรายนั้น ก็ถือเป็นช่องที่จะหลีกเลี่ยงภาษีได้ ยกตัวอย่าง บิดาซึ่งเสียชีวิตมีมรดกอยู่ 300 ล้านบาท แบ่งให้ภรรยา 100 ล้านบาท และ ลูก 2 คนๆละ 100 ล้านบาท มรดกดังกล่าว จะไม่มีภาระภาษีเลย เนื่องจาก ได้รับมรดกไม่เกิน 100 ล้านบาท กรณีภรรยานั้น ไม่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว เนื่องจาก กฎหมายให้ยกเว้นเฉพาะคู่สามีภรรยา

สำหรับภาษีการรับมรดก เป็นภาษีที่เก็บจากมูลค่ามรดกที่ทายาทแต่ละคนได้รับจากกองมรดก โดยผู้ที่ได้รับมรดกเป็นผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีและมักจะมีการกำหนดค่าลดหย่อนและอัตราภาษีที่เป็นประโยชน์กับผู้รับมรดกที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ตาย ทำให้ผู้รับมรดกที่มีความใกล้ชิดกับผู้ตายมีภาระภาษีที่น้อยกว่าผู้รับมรดกแต่ละคนมากกว่า เพราะรับภาระภาษีตามสัดส่วนมูลค่าของมรดกที่ได้รับ

“ภาษีการรับมรดกนั้น เกิดขึ้นเมื่อเจ้ามรดกตาย ผู้รับมรดกจากเจ้ามรดกแต่ละรายได้รับมรดกสุทธิมาในคราวเดียวหรือหลายคราว ถ้ามรดกที่ได้รับมาจากเจ้าของมรดกแต่ละรายรวมกันมีมูลค่าของทรัพย์สินทั้งสิ้นที่ได้รับมรดกหักด้วยภาระหนี้สินอันตกทอดจากการรับมรดกเกิน 100 ล้านบาท ต้องเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท” นายเศรษฐา กล่าว

ส่วนทรัพย์สินมรดกที่เข้าข่ายต้องเสียภาษี อาทิ อสังหาริมทรัพย์ หุ้น เงินฝาก ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน สำหรับการยกเว้นภาษีการรับมรดกนั้น อาทิ บุคคลผู้ที่ได้รับมรดกที่เจ้ามรดกแสดงเจตนา หรือเห็นได้ว่า มีความประสงค์ให้ใช้มรดกเพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์ หรือ หน่วยงานรัฐและนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือ กิจการสาธารณประโยชน์ หรือ บุคคล หรือองค์การระหว่างประเทศ ตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีต่อองค์กรสหประชาชาติหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติกันกับนานาประเทศ

แหล่งข่าวกล่าวว่า ภาษีมรดกนั้น เคยถูกนำมาใช้เมื่อปี 2476 แต่ได้ยกเลิกไป เนื่องจาก จัดเก็บได้น้อย ต่อมาในปี 2558 รัฐบาลได้ตรากฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาใหม่ โดยยอดการจัดเก็บภาษีในแต่ละปีจะอยู่ในหลักร้อยล้านบาทเท่านั้น ซึ่งถือว่า น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนมรดกที่ถูกส่งต่อมาให้ผู้รับมรดก เนื่องจาก วัฒนธรรมของประเทศไทย คือ การสะสมความมั่งคั่งเพื่อส่งต่อให้ลูกหลาน ซึ่งประเด็นการสะสมความมั่งคั่งเพื่อส่งต่อให้ลูกหลานนั้น ถือเป็นละเอียดอ่อนสำหรับสังคมไทยเช่นกัน เพราะเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการทำมาหากิน และในระหว่างที่ได้ทรัพย์สินมา ทางผู้มีทรัพย์สินก็ได้ชำระภาษีให้กับรัฐบาลมาก่อนหน้านี้แล้ว

‘รัดเกล้า’ ย้ำ!! รัฐฯ ตั้งเป้าลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือน ร้อยละ 80 พร้อมเดินหน้าฟื้นเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายให้ ปชช.

(13 ต.ค. 66) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ธนาคารออมสิน ซึ่งกำกับดูแลโดยกระทรวงการคลัง เดินหน้าแก้ไขปัญหา และลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินของประชาชนรายย่อย ตลอดจนให้ความรู้ทางการเงิน และพัฒนากำลังคน เพื่อรองรับการทำงานตามนโยบายรัฐบาลในอนาคต ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายและย้ำถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย แก้ปัญหาหนี้ภาคประชาชน โดยให้ดำเนินการให้ได้เร็วที่สุด

นางรัดเกล้า กล่าวว่า เพื่อเป็นการขานรับนโยบายของรัฐบาล ธนาคารออมสินจึงได้จัด โครงการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวันนวมินทรมหาราช วันที่ 13 ตุลาคม 2566 มาตรการแก้ไขหนี้ตามนโยบายรัฐบาลเพื่อลูกหนี้รายย่อยธนาคารออมสิน เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากการผ่อนชำระ และลูกหนี้บางส่วนที่มีสถานะ NPLs จากผลกระทบดังกล่าว โดยจะเปิดให้เข้าร่วมโครงการได้จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2566

สำหรับมาตรการแก้ไขหนี้ดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยสินเชื่อธนาคารออมสิน ด้วยการให้พักชำระเงินต้นและให้ทางเลือกจ่ายดอกเบี้ยตั้งแต่ 25% - 100% แล้วแต่กรณี ตามเงื่อนไขธนาคารและสถานะของลูกหนี้แต่ละรายเมื่อสามารถผ่อนชำระได้ตามเงื่อนไขของมาตรการ ธนาคารจะยกเว้นดอกเบี้ยค้างชำระก่อนเข้ามาตรการให้

รวมถึงลูกหนี้ที่มีสถานะ NPLs อยู่ก่อนวันที่ 30 ธันวาคม 2565 ธนาคารจะชะลอกระบวนการดำเนินคดีตามกฎหมายโดยไม่ฟ้อง ไม่ยึดทรัพย์ ไม่ขายทอดตลาด และไม่ฟ้องล้มละลาย แล้วแต่กรณี โดยให้ผ่อนชำระได้สูงสุด 10 ปี และคิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษตามเงื่อนไขธนาคาร ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่ประสงค์เข้าร่วมมาตรการ สามารถติดต่อธนาคารออมสินสาขาเจ้าของบัญชีเงินกู้ หรือสาขาที่สะดวกได้ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2566

“รัฐบาลผลักดันนโยบายไปสู่การดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหา พลิกฟื้นเศรษฐกิจ และยกระดับชีวิตประชาชน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งเตรียมความพร้อมดำเนินมาตรการต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดและยั่งยืน ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนคลี่คลายขึ้นได้ในระยะต่อไปโดยมีเป้าหมายที่จะลดหนี้ภาพรวมให้ลดลงอยู่ในระดับที่ยั่งยืน หรือต่ำกว่า 80% ต่อจีดีพี” นางรัดเกล้า กล่าว

‘จุลพันธ์’ ยัน!! ไม่ได้ลอกดิจิทัลวอลเล็ตจาก ‘ญี่ปุ่น’ ชี้ บริบทต่างกัน เผย กำลังเร่งพิจารณา ถ้าไม่ทันขยับเวลาแจก ย้ำ สัปดาห์นี้ชัดเจนแน่

(23 ต.ค. 66) ที่ลานพระบรมราชวัง ราชานุสรณ์ พระราชวังดุสิต (ลานพระบรมรูปทรงม้า) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เปิดเผยข้อมูลว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต มีต้นแบบมาจากประเทศญี่ปุ่นว่า ต้นแบบไม่ใช่แต่มีกระบวนการที่เขาเคยดำเนินการลักษณะคล้ายคลึงกันในปี 1999 ซึ่งเป็นเรื่องของการแจกคูปอง ซึ่งตนเห็นแล้วและได้ไลน์ไปขอข้อมูลเพิ่มเติมจาก น.ส.ศิริกัญญา เป็นของประเทศญี่ปุ่นและไต้หวัน และเราก็ได้นำมาศึกษาเปรียบเทียบ เพื่อที่จะได้นำข้อดีและข้อเสียของสิ่งที่ประเทศญี่ปุ่นและไต้หวันเคยใช้ เรานำมาศึกษาก็ไม่ได้มีอะไรเสียหาย

นายจุลพันธ์กล่าวต่อว่า ส่วนการเปรียบเทียบนั้น ตนคิดว่าทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันว่าบริบทมีความแตกต่างในปี 1999 และในปัจจุบัน ขณะเดียวกันประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นก็มีความแตกต่างกัน จึงไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้

เมื่อถามถึง กรณีเลื่อนประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ทำให้ประชาชนสงสัยว่าได้รับเงินจากนโยบายนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 หรือไม่ นายจุลพันธ์กล่าวว่า เป้าหมายยังคงอยู่ที่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 แต่หากมีการประชุมคณะอนุกรรมการในสัปดาห์นี้ จะมีความชัดเจนมากขึ้น ขอให้อดใจรอนิดหนึ่ง

เมื่อถามย้ำว่า จะยังคงเป็นในกรอบเวลาเดิมหรือไม่ นายจุลพันธ์กล่าวว่า “จะพยายามครับ จะพยายาม”

เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้เคยมีการระบุว่า หากไม่ทันจริงๆ จะมีการรายงานนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขอปรับกรอบเวลาของโครงการ เนื่องด้วยปัจจัยหลายอย่าง จะมีผลกระทบอะไรหรือไม่ นายจุลพันธ์กล่าวว่า ไม่ แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องมั่นใจว่าเมื่อเปิดใช้บริการจะต้องมีความปลอดภัย ข้อมูลของประชาชนมีการรักษาความปลอดภัย ทั้งเรื่องความเป็นส่วนตัว เพราะถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุด รวมถึงการปฏิบัติตามกฎหมายที่ไม่สามารถละเลยได้ หากมีอะไรที่ยังเป็นข้อติดขัด เราต้องค่อยๆ หาทางสอบถามและแก้ไข ทั้งนี้ จากการพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ยังไม่ได้มีการสั่งการหรือกำชับอะไรเป็นพิเศษ และยังตอบไม่ได้ว่าการประชุมคณะอนุกรรมการจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่

เมื่อถามว่า หากจำเป็นต้องเลื่อนจริงๆ จะเลื่อนไปเป็นช่วงใด นายจุลพันธ์กล่าวว่า ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ แต่จะมีความชัดเจนในสัปดาห์นี้

เมื่อถามว่า ปัจจัยอะไรที่จะทำให้มีไม่ทันกรอบเวลา นายจุลพันธ์กล่าวว่า เยอะแต่ยังไม่มีความชัดเจนและไม่ได้หมายความว่าเราจะเลื่อน เรายังยึดมั่นในกรอบเดิมตามที่นายกรัฐมนตรีให้ไว้ แต่อย่างไรก็ตามเราก็จะมีการพิจารณาอย่างรอบด้าน

เมื่อถามว่า แหล่งที่มาของเงิน หรือแอพพลิเคชั่น ถือเป็นปัจจัยหลักที่อาจจะต้องทำให้เลื่อนการแจกเงินใช่หรือไม่ นายจุลพันธ์กล่าวว่า แหล่งที่มาของเงินเป็นปัจจัยหลักแน่นอน ทุกอย่างถือเป็นปัจจัยหลักไม่มีปัจจัยสำรอง ทุกเรื่องมีความสำคัญเท่ากันหมด เราต้องทำอย่างละเอียดรอบคอบ พร้อมมีการติดตามตรวจสอบอย่างเข้มข้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้เรามีความระมัดระวังมากขึ้นเป็นเท่าตัวเพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าตอนนี้ยังไม่มีการพูดคุยเรื่องเงินกู้กับธนาคารออมสิน

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมารัฐบาลยืนยันตลอดว่าที่มาของเงินดำเนินโครงการไม่มีปัญหาแต่ตอนนี้กลับไม่มีความชัดเจนติดปัญหาในส่วนใด นายจุลพันธ์กล่าวว่า เนื่องจากต้องปฏิบัติตามขั้นตอนทางกฎหมาย เมื่อคณะอนุกรรมการมีการประชุมและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหาข้อมูลและรวบรวมรายงานส่งมายังคณะอนุกรรมการ ขณะนี้จึงต้องรอรายงานเพื่อส่งต่อให้คณะกรรมการชุดใหญ่ตัดสินใจ ซึ่งถือว่ามีความจำเป็นตามกฎหมายไม่สามารถลัดวงจรได้ ไม่สามารถดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับโครงการ โดยที่ยังไม่มีมติจากคณะกรรมการได้

📢 ไขข้อสงสัย!! สรุปเงื่อนไข การจ่ายเงินเดือน 2 รอบ ของข้าราชการและลูกจ้างประจำ 💵👩🏻‍🏫👮🏻‍♂️

📢 ไขข้อสงสัย!! สรุปเงื่อนไข การจ่ายเงินเดือน 2 รอบ ของข้าราชการและลูกจ้างประจำ 💵👩🏻‍🏫👮🏻‍♂️👷🏻‍♂️ มีแนวทางและขั้นตอนอย่างไรบ้าง ไปดูกัน!!

‘เศรษฐา’ ยัน!! ยังไม่เคาะขึ้นเงินเดือน ‘ข้าราชการ’ ย้ำ!! แค่เตรียมศึกษาข้อมูล ไม่ได้แปลว่าจะปรับขึ้นทันที

(7 พ.ย. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์กรณีให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ไปดูเรื่องราคาสินค้าหรือไม่ ภายหลังมีข้อสั่งการเตรียมขึ้นเงินเดือนข้าราชการ และเจ้าหน้าที่รัฐ ว่า ตนไม่ได้บอกว่าจะขึ้นเงินเดือน แต่ให้ไปศึกษา และการให้ไปศึกษา ไม่ได้หมายความว่าจะให้ขึ้นทันที

เมื่อถามว่า จะทำให้สินค้าจ่อขึ้นราคาล่วงหน้าหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ยังไม่ได้ขึ้นราคา มันยังตั้งไม่ได้ ยังไงเรื่องนี้กรมการค้าภายในก็ต้องดูแลอยู่แล้ว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top