Friday, 10 May 2024
กระทรวงการคลัง

‘กฤษฎา-รมช.คลัง’ คิกออฟ ‘โครงการ บสย. Business School’ ดึง ‘บสย.- ธปท.’ ให้ความรู้นักศึกษาเพื่อก้าวสู่ SMEs รุ่นใหม่

ไม่นานมานี้ น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาล และนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง สนับสนุนให้หน่วยงานจากภาคการเงิน ภาคการศึกษา และภาคการพัฒนาสังคม ร่วมกันขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะทางการเงินให้กับประชาชนถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของกระทรวงการคลังที่สำคัญด้านการสร้างโอกาส และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ล่าสุด ตนพร้อมด้วยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ จัด ‘โครงการ บสย. Business School’ โดยเริ่ม Kick Off โครงการที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จ.พิษณุโลก

น.ส.ฐิติภัสร์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าว บสย. และธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือร่วมกันเป็นวิทยากรให้ความรู้ในหลักสูตรทางด้านการเงิน เพื่อเตรียมตัวและเตรียมความพร้อมสำหรับการก้าวไปสู่การตั้งธุรกิจ และผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ให้กับนักศึกษา โดยเป็นไปตามแนวนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้ประชาชนทุกกลุ่มมีความรู้พื้นฐานทางด้านการเงิน สำหรับนำไปใช้กับครอบครัว และนำไปใช้ในการประกอบธุรกิจได้ต่อไปในอนาคต 

6 เดือน ‘รมช.กฤษฏา’ ปลดแอกหนี้ครัวเรือนไทย

‘กฤษฎา จีนะวิจารณะ’ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จากพรรครวมไทยสร้างชาติ สางหนี้ครัวเรือนไทย - กลุ่มเปราะบาง - ล้างหนี้เสีย - แก้กฎหมายเครดิตบูโร

📌สำหรับกลุ่มลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก Covid 19 (รหัส 21)
🟢ช่วยเหลือให้หลุดจากการเป็นหนี้เสีย พักชำระหนี้เพื่อผ่อนปรนภาระชั่วคราว และลูกหนี้ SMEs ที่เข้าเงื่อนไขปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างน้อย 3 เดือน จะได้รับการพักชำระหนี้ไม่เกิน 1 ปี และได้ลดดอกเบี้ยลงร้อยละ 1 ต่อปี

📌กลุ่มมีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมาก
🟢ช่วยลดดอกเบี้ยให้สมความเสี่ยง ถ่ายโอนหนี้ไว้ที่เดียว และผ่อนปรนการชำระ ทางด้าน ธปท. และเจ้าหนี้บัตรเครดิตรายใหญ่ ร่วมปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยนำเงินต้นคงค้างมาคำนวณตารางผ่อนใหม่ ยาว 10 ปี พร้อมลดดอกเบี้ย 75% ส่วน ธ.ออมสิน เข้าสนับสนุนสภาพคล่องแเก่สหกรณ์ เพื่อปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ และการ Re-Finance

📌กลุ่มมีรายได้ไม่แน่นอน ทำให้การชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง
🟢พักชำระหนี้ชั่วคราว ลดเงินงวดให้สอดคล้องกับรายได้ที่ผันผวน กำหนดหลักเกณฑ์ควบคุม กำกับดูแลการให้สินเชื่อ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เกษตรกรได้เริ่มดำเนินการ โดยลูกหนี้เกษตรกรที่มีเงิน (Principle) รวมหนี้คงเหลือทุกสัญญาไม่เกิน 300,000 บาท พักชำระตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 ถึง 30 กันยายน 2567

📌กลุ่มเป็นหนี้เสียคงค้างกับสถาบันทางการเงินมาเป็นเวลานาน
🟢ช่วยให้หลุดพ้นจากหนี้เสีย พักชำระหนี้เพื่อผ่อนปรนภาระเป็นการชั่วคราว นอกจากนี้ บริษัทร่วมทุนระหว่าง SFIs และ บริษัท บริหารสินทรัพย์ (บบส.) โดย ธปท. อยู่ระหว่างหารือกับ ก.การคลัง และ SFIs เพื่อช่วยเหลือปิดจบหนี้ของลูกหนี้ได้คล่องตัวมากขึ้น

นอกจากนี้ 'พรรครวมไทยสร้างชาติ' ยื่นเสนอกฎหมายฉบับแรกต่อสภาฯ แก้ไข 'พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตแห่งชาติ พ.ศ. 2545' หรือ 'เครดิตบูโร' ซึ่งส่งผลเดือดร้อนแก่ประชาชน เพราะหลังสถานการณ์โควิด เกิดวิกฤตเกี่ยวกับบัตรเครดิต และหนี้สินภาคธุรกิจ ทำให้คนจำนวนมากมีปัญหาด้านการเงิน จนต้องหนีไปสู่วงจรหนี้นอกระบบ

'คลัง' ชี้!! หลักการ 'ธนาคารไร้สาขา' สแกนการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ช่วย 'คนรากหญ้า-ไร้รายได้ประจำ' กู้ได้จริง ตัดวงจรกู้หนี้นอกระบบ

ไม่นานมานี้ ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ออกประกาศ หลักเกณฑ์ฯ การขอและการออกใบอนุญาต Virtual Bank ให้เป็นธนาคารไร้สาขา ผสานความเชี่ยวชาญ 3 ด้าน ได้แก่ 'ธนาคาร-เทคโนโลยีดิจิทัล-ข้อมูลวิเคราะห์พฤติกรรม' เข้าด้วยกัน เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน เร่งเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและก้าวสู่ฮับการเงินอาเซียน

โดย 'ธนาคารไร้สาขา' จะมุ่งเน้นบริการทางการเงินแก่ 1. ผู้ไม่มีรายได้ประจำ และ SMEs 2. กลุ่มที่ไม่ได้รับบริการการเงินอย่างเพียงพอ (Underserved) 3. กลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน (Unserved) และ 4. กลุ่มเข้าไม่ถึงสินเชื่อและกลุ่มเป็นหนี้นอกระบบ 

นอกจากนี้ยังไม่จำกัดจำนวนใบอนุญาต (เดิมจำกัด 3 ราย) เนื่องจากคลังต้องการเปิดกว้างแก่ผู้มีศักยภาพและผ่านคุณสมบัติ โดยให้ ธปท. พิจารณาใบอนุญาตในจำนวนที่จะกระตุ้นการแข่งขัน และไม่เสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน

ทั้งนี้ 'ธนาคารไร้สาขา' จะกำกับโดย ธปท. เสมือนธนาคารพาณิชย์อื่น โดยอยู่ภายใต้การคุ้มครองของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ธนาคารไร้สาขาจะไม่ใช้ระบบเงินฝาก ระบบสินเชื่อ Internet Banking ร่วมกับสถาบันการเงินอื่นทั้งในและต่างประเทศ โดยกระทรวงการคลังและ ธปท. ร่วมกันพิจารณาคำขออนุญาตภายใน 9 เดือน นับแต่วันสิ้นสุดการยื่นคำขอ ต้องจัดตั้งบริษัทมหาชนจำกัดและเปิดบริการใน 1 ปี

โดยกระทรวงคลังกำหนดให้ตั้งสำนักงานใหญ่ในไทย มีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท ในระยะแรก และไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท ในระยะปกติ สามารถเป็นบริษัทร่วมทุน (Joint Venture) เพื่อผสานความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพิ่มเติมได้

‘รมช.กฤษฎา’ จ่อชง ครม. อนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ PGS 11 5 หมื่นลบ. พร้อมผนึก ‘ธ.ออมสิน’ ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ กลุ่มอุตฯ เป้าหมาย

(13 มี.ค. 67) นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง เปิดเผยว่า เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณามาตรการผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 11 วงเงิน 50,000 ล้านบาท ให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อสนับสนุนนโยบาย IGNITE Thailand ตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยครอบคลุม 8 ฮับ เพื่อดันประเทศไทยเป็นที่ 1 ในภูมิภาค

นอกจากนั้นได้ให้ ธนาคารออมสิน เตรียมแพ็กเกจสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่อง หรือ ลงทุนปรับปรุงหรือขยายกิจการให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มอุตสาหกรรมตามนโยบาย IGNITE Thailand ได้แก่ 1. ศูนย์กลางการท่องเที่ยว (Tourism Hub) 2. ศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพ (Wellness & Medical Hub) และ 3. ศูนย์กลางอาหาร (Agriculture & Food Hub)

นายกฤษฏา กล่าวย้ำว่า มาตรการดังกล่าว จะสามารถเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ให้มีสภาพคล่องและสามารถแข่งขันได้ในตลาดปัจจุบัน อีกทั้งจะทำให้มีเม็ดเงินหมุนระบบ เกิดการจ้างงานกระตุ้นการลงทุนอีกด้วย

'เอกนัฏ' ยัน!! กมธ.งบประมาณฯ พิจารณางบคลังอย่างดีแล้ว  ย้ำ!! งบที่ทุกกรมได้รับแม้จะน้อย แต่จะใช้อย่างมีประสิทธิภาพ 

เมื่อวานนี้ (20 มี.ค.67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ได้ชี้แจงข้อสงสัยของสมาชิกในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ วาระ 2 ในส่วนมาตรา 9 ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลังว่า กระทรวงการคลังมีภารกิจสำคัญมากโดยเฉพาะการจัดเก็บรายได้ให้ประเทศ ถ้ากระทรวงการคลังไม่สามารถทำงานตามเป้าหมายได้ เราคงไม่ต้องมีงบประมาณมาพิจารณากันในที่ประชุมแห่งนี้

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบงบประมาณที่กระทรวงการคลังได้รับกับกระทรวงอื่นถือว่าน้อยมากจำนวน 1.1 หมื่นกว่าล้าน ส่วนหนึ่งเป็นงบที่ตั้งโดยกรมธนารักษ์สำหรับจ่ายค่าเช่าตามมติครม.เกือบ 4 พันล้าน งบที่กรรมาธิการฯ ปรับลดเหลือเพียง 7 พันกว่าล้านเท่านั้น มีทั้งหมด 10 หน่วยงาน เฉลี่ยได้ว่าแต่ละหน่วยงานมีงบประมาณใช้น้อยมาก แต่มีภารกิจสำคัญ ต้องจัดเก็บรายได้ให้เป็นไปตามเป้าหมาย ตนได้ฟังคำชี้แจงของผู้บริหารกระทรวงการคลัง นอกจากเห็นใจแล้ว ตนการันตีกับทุกคนได้ว่า มั่นใจเข้าใจภารกิจในการทำงานของแต่ละกรมเป็นอย่างดี มีความมั่นใจว่าเป้าหมายในการจัดเก็บที่ตั้งไว้ และการปราบปรามการกระทำผิดสามารถลุล่วงได้อย่างดีแน่นอน

นายเอกนัฏ กล่าวว่า ในการพิจารณากรรมาธิการฯ อาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานมาช่วยกันกลั่นกรองงบประมาณที่เป็นส่วนเกินให้สามารถใช้ได้ทันในปี 2567 โดยหน่วยงานยืนยันไม่กระทบกับภารกิจและเป้าหมายของทุกหน่วยงาน เช่น กรมสรรพสามิตที่ทำภารกิจร่วมกับจเรตำรวจแห่งชาติได้ปรับลดอากาศยานไร้คนขับที่เติมน้ำมันออกไป ส่วนโดรนที่เหลืออยู่ใช้ระบบไฟฟ้า หน่วยงานยืนยันยังมีความสำคัญต่อภารกิจจึงต้องคงไว้ในงบส่วนนี้

นายเอกนัฏ กล่าวว่า งบของกรมศุลกากรได้มีการปรับลดด่านที่ไม่สามารถทำได้ในปี 2567 รวมถึงกรมธนารักษ์ตั้งงบประมาณมากว่า 4 พันล้าน ก็เป็นงบจ่ายค่าเช่าแทนหน่วยงานราชการทั้งหมดที่มีการเช่าพื้นที่ในศูนย์ราชการ มีการปรับลดงบซื้อเครื่องปั๊มลมสำหรับผลิตเหรียญกษาปณ์ ส่วนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร.ก็ปรับลดค่าจ้างที่ปรึกษาที่ไม่สามารถดำเนินการได้ทันไปในปี 2567 ออกไปทุกคนช่วยกันเต็มที่ แต่ตนยืนยันว่างบประมาณที่เหลืออยู่มีความจำเป็นมากกับการต้องลงทุนกับระบบของกระทรวงการคลัง งบส่วนมากเป็นการบำรุงรักษาระบบไอที เครื่องคอมพิวเตอร์ งบส่วนมากถูกจัดสรรไปซื้อคอมพิวเตอร์แทนเครื่องเก่า สำหรับกรมสรรพากรและกรมสรรพสามิต ตนขำอยู่ในใจแต่หัวเราะไม่ออก เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้อยู่ปกติแล้ว 7-8 ปี เปลี่ยนครั้งหนึ่ง แต่สำหรับ 2 กรมนี้ใช้งานเกิน 10 ปีจนเป็นตู้ปลา จนลือกันว่าเป็นเป็นพิพิธภัณฑ์

นายเอกนัฏ กล่าวว่า ขอบเขตอำนาจของกรรมาธิการฯมีข้อจำกัด เช่น เรื่องการชำระค่าเช่า 3,976 ล้านของกรมธนารักษ์เป็นไปตามมติครม. ในส่วนของการบริหารจัดการมีประสิทธิภาพคุ้มค่าหรือไม่ อยู่นอกอำนาจของกรรมธิการฯ พิจารณา ถ้าเห็นว่าการปฏิบัติงานโครงการดังกล่าวไม่มีประสิทธิภาพหรือมีปัญหาสามารถไปยื่นเรื่องต่อกรรมาธิการฯ สามัญคณะอื่นๆตรวจสอบ เพื่อให้ทบทวนได้ กรณีของสแตมป์ในกรมสรรพสามิต งบประมาณปี 2567 ล่าช้า มีการจัดสรรงบประมาณให้ใช้พรางก่อนแล้ว 134 ล้านบาทเต็มจำนวน ถ้าจะไปปรับลดจะมีปัญหา แต่ว่าข้อสังเกตของเพื่อนสมาชิกสามารถส่งไปยังกรมสรรพสามิตได้ ถ้ามีเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะช่วยทำให้การจัดเก็บมีประสิทธิภาพมากขึ้น การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นทางผู้บริหารไม่ขัดข้องที่จะดำเนินการ

นายเอกนัฏ กล่าวว่า ในส่วนของกรมบัญชีกลาง กรรมาธิการฯพิจารณาในส่วนของงบประมาณเท่านั้น งบส่วนใหญ่ที่ให้กรมบัญชีกลางมีความสำคัญกับการพัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้างให้ทันสมัย ระบบบล็อกเชนที่ถูกพัฒนาขึ้นมาและใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ก็ช่วยทำให้การจัดซื้อจัดจ้างมีความโปร่งใส ทำให้ได้รับการยอมรับจากกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างจากองค์กรระหว่างประเทศ เราก็อยากจะสนับสนุนให้ทำมากกว่านี้ แต่ในส่วนการพิจารณาเงื่อนไข หลักเกณฑ์ต่างๆ ไม่ได้อยู่ในอำนาจของกรรมาธิการฯ แต่ก็มีข้อสังเกตไปถึงหน่วยงานหลายเรื่อง เช่น การจัดซื้อจัดจ้างของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นที่กรรมาธิการฯ มีความกังวลมากว่า จะไม่สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จภายในปี 2567 ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ เพราะมีความล่าช้าจากเรื่องร้องเรียน หรือ กระบวนการประมูลมีปัญหา ทั้งเรื่องคุณภาพ การฟันราคา การทิ้งงาน สิ่งเหล่านี้เป็นข้อสังเกตที่เราส่งให้หน่วยงานทั้งหมด

“ทั้งหมดเป็นข้อสังเกตที่เราควรตั้งไว้ แล้วเก็บไว้ใช้เป็นประโยชน์ในการพิจารณางบประมาณในปีถัดไป ไม่ว่าจะเป็นโครงการที่มีงบผูกพันโดยมติครม. โครงการที่มีงบผูกพันมาอย่างต่อเนื่องในปีก่อนๆ หรือข้อสังเกตที่สำคัญเป็นการเฉพาะสำหรับปีงบประมาณปี 2567 ที่มีการใช้งบปี 2566 ไปพลางก่อน ส่วนไหนที่เราปรับลดได้โดยไม่กระทบกับภารกิจสำคัญของหน่วยงานเราใช้วิธีการทำความร่วมมือกับทุกหน่วยงานเข้ามายืนยันหมด ส่วนไหนที่ซ้ำซ้อนหรือบางส่วนก็เลื่อนออกไปเพื่อตั้งงบประมาณดำเนินการในปี 2568 -2569 อย่างไรก็ตามขอยืนยันต่อเพื่อนสมาชิกว่ากรรมาธิการฯได้พิจารณางบประมาณในส่วนของกระทรวงการคลังอย่างดีแล้วจึงขอยืนตามมติของกรรมาธิการฯ” นายเอกนัฏ กล่าว

'รมช.กฤษฎา' เผย!! 'คลัง' จ่อขยายค่าโอน-จดจำนองบ้านเกิน 3 ล้าน พร้อมเพิ่มเพดานกู้ผ่าน 'โครงการบ้านล้านหลัง' จาก 1.5 เป็น 2 ล้าน

เมื่อวานนี้ (28 มี.ค. 67) นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดงานสัมมนาประจำปี 2567 สมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย ‘เจาะลึกปัญหาสินเชื่อกับหนี้ครัวเรือนและทางออก’ โดยกล่าวปาฐกถาพิเศษ ว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังกำลัง มีการทบทวนมาตรการด้านอสังหาริมทรัพย์ โดยใช้ทั้งมาตรการการคลังและมาตรการการเงินเพิ่มเติม เพราะถือว่าภาคอสังหาฯ เป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทย โดยมีสัดส่วนถึง 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ซึ่งถือว่ามีขนาดใหญ่พอที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้

นายกฤษฎา กล่าวว่า สำหรับแนวทางแรกนั้น กระทรวงการคลังกำลังพิจารณามาตรการลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 2% เหลือ 1% และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 1% เหลือ 0.01% ที่ปัจจุบัน ให้เฉพาะที่อยู่อาศัยที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 3 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาท ต่อสัญญานั้น โดยจะทำการขยายให้ สำหรับที่อยู่อาศัยที่ราคาซื้อขายเกิน 3 ล้านบาทมีสิทธิเข้าร่วมด้วยมาตรการด้วย โดยให้สิทธิเฉพาะ 3 ล้านบาทแรกเท่านั้น

นายกฤษฎา กล่าวว่า ส่วนมาตรการทางการเงิน คือ โครงการบ้านล้านหลัง เฟส 3 ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ที่ปัจจุบันกำหนดให้กู้ได้เฉพาะซื้อที่อยู่อาศัยราคาหรือค่าก่อสร้างและวงเงินกู้สูงสุดต่อรายต่อหลักประกันไม่เกิน 1.5 ล้านบาทนั้น อาจจะขยายไปเป็นราคาสูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองมากขึ้น เพราะปัจจุบันที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 1.5 ล้านนั้นหาได้ยากแล้วจึงต้องปรับให้สอดคล้องกับราคาตลาดในปัจจุบัน และการขยายเป็นราคาสูงสุดเป็น 2 ล้านบาท ก็ไม่ได้เสี่ยงอะไร เพราะสินเชื่อที่อยู่อาศัย เป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน และประชาชนที่เข้าร่วมโครงการก็ต้องเป็นคนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองจริงๆ

'รัดเกล้า' เผย!! สศค.เล็งทบทวน มาตรการช่วยอสังหาฯ เพิ่มเงินกู้บ้านล้านหลังเป็น 2 ล้านบาท พร้อมลดค่าจด-โอน เหลือ 0.01%

(30 มี.ค.67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง เตรียมพิจารณาทบทวนมาตรการช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์ ให้เติบโตขึ้น โดยพิจารณามาตรการลดค่าจดทะเบียนการโอนจากเดิม 2% เหลือ 1% คำจดจำนองจากเดิม 1% เหลือ 0.01% สำหรับอสังหาฯที่ราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 3 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน3 ล้านบาท โดยจะขยายให้ราคาซื้อขายเกิน 3 ล้านบาทมีสิทธิเข้าร่วมมาตรการด้วย แต่ให้สิทธิเฉพาะ 3 ล้านบาทแรก

ส่วนมาตรการการเงิน โครงการบ้านล้านหลัง เฟส 3 ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ที่กำหนดให้กู้ได้เฉพาะผู้ซื้อบ้านก่อสร้างและวงเงินกู้สูงสุดต่อรายต่อหลักประกันไม่เกิน1.5 ล้านบาทนั้น จะขยายเป็นราคาสูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท เพราะที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท หาได้ยากและไม่ได้เสี่ยงมาก ส่วนการทบทวนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้มา 5-6 ปีแล้ว กระทรวงการคลัง และกระทรวงมหาดไทย กำลังศึกษาร่วมกันเพื่อทบทวนให้เหมาะสม เช่นการจัดระเบียบประเภทที่ดินให้ชัดเจนมากขึ้นรวมทั้งการให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ปัจจุบันให้ อปท. ใช้ดุลพินิจได้ตามความเหมาะสม เช่น ที่ดินเปล่าที่เจ้าของปลูกต้นไม้ทำสวน แต่ไม่ถึงเกณฑ์เป็นที่ดินเพื่อการเกษตรนั้นได้ให้ อปท.ตัดสินใจได้เลยว่าจะเข้าเกณฑ์ใดส่วนอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยังไม่มีแนวคิดปรับเพิ่มขึ้น ทั้งนี้การปรับมาตรการกล่าว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ โดย นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เตรียมรายละเอียดเพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมครม.ในเร็ว ๆ นี้

คลังจ่อเก็บ VAT สินค้านำเข้าราคาต่ำกว่า 1,500 บาท หวังเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี คาดเริ่มใน พ.ค.นี้

(29 เม.ย. 67) นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ประมาณต้นเดือน พ.ค.นี้ จะมีความชัดเจนเรื่องการออกประกาศกรมศุลกากร เป็นกฎกระทรวง เกี่ยวกับแนวทางการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากการนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าราคาไม่เกิน 1,500 บาท (Low-Value Goods)

ทั้งนี้ หากสรุปประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากการนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าราคาไม่เกิน 1,500 บาท (Low-Value Goods) จะประกอบไปด้วยรายละเอียด ดังนี้...

>> มีผลเมื่อไหร่:
- คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือน พฤษภาคม 2567

>> ใครต้องเสียภาษี:
- แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
- บุคคลอื่นตามที่กฎหมายกำหนด
- สินค้าที่ต้องเสียภาษี: สินค้าที่นำเข้าที่มีมูลค่าราคาไม่เกิน 1,500 บาท

>> อัตราภาษี: 7%

>> วิธีการเสียภาษี:
- แพลตฟอร์มจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร
- แพลตฟอร์มจะต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ขายในต่างประเทศ
- แพลตฟอร์มจะต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับกรมสรรพากรเป็นรายเดือน

>> เป้าหมาย:
- เพื่อความเป็นธรรมกับผู้ขายในประเทศไทยที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
- เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี
- เพื่อป้องกันสินค้าที่หลุดรอดจากการเสียภาษี

“กรมสรรพากร และกรมศุลกากร กำลังร่วมมือกันดำเนินการอยู่ คาดว่าภายในต้นพ.ค. น่าจะมีความชัดเจน การดำเนินการเรื่องนี้ แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ การแก้ไขแบบถาวร คือ แก้ที่ประมวลรัษฎากร ตรงนี้ใช้เวลา ซึ่งกรมสรรพากรกำลังดำเนินการอยู่ โดยระหว่างที่ประมวลรัษฎากรยังแก้ไขไม่เสร็จ ก็จะมีโครงการเร่งด่วนระยะสั้น โดยกรมศุลกากรจะออกประกาศ เป็นกฎกระทรวงในการจัดเก็บภาษี VAT กับสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท จากแต่ก่อนที่ไม่ต้องเสียภาษี ต่อไปก็จะต้องเสียภาษี คาดว่าจะมีผลภายในพ.ค.นี้” นายลวรณ กล่าว

'ขุนคลัง' รับ!! 'ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ' มีอิสระในเรื่องนโยบายการเงิน  แต่ทั้งหมดต้องเป็นไปเพื่อสนับสนุนนโยบายภาครัฐ

(7 พ.ค.67) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางมาสักการะศาลพระภูมิเจ้าที่ และศาลตายายประจำทำเนียบรัฐบาล ภายหลังรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ

จากนั้น นายพิชัย ให้สัมภาษณ์ว่าวันนี้เป็นวันเข้าทำงานอย่างเป็นทางการของตน ซึ่งจะเข้าทำงานทั้งสองที่ คือที่ทำเนียบรัฐบาล และที่กระทรวงการคลัง ซึ่งจะมีการหารือเป็นการภายใน แต่ตนทราบอยู่แล้วว่าภารกิจเร่งด่วนคืออะไร ซึ่งตนจะใช้หน้าที่และความรับผิดชอบที่มีอยู่ในการสะสาง และจัดการปัญหาที่คิดว่าจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น และดีต่อผลประโยชน์ของประเทศโดยตนจะทำอย่างสุดความสามารถ

เมื่อถามว่า สัปดาห์นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตหรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า ตนคิดว่าประเด็นดังกล่าวจะเป็นงานประจำไปแล้ว ซึ่งต้องมีการพูดคุย และมีการรายงานความคืบหน้าอยู่ตลอด

เมื่อถามว่า จะมีการแถลงข่าวหรือรายงานความคืบหน้าอย่างไรเมื่อมีการแบ่งงานให้กับรมช.คลัง นายพิชัย กล่าวว่า ตนขอหารือในช่วงบ่ายนี้ก่อน ซึ่งตนมีข้อมูลอยู่แล้ว

เมื่อถามถึงโปรเจกต์ของรัฐบาลด้านเศรษฐกิจจากนี้จะมีอะไรหรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า ตนคิดว่าทุกคนทราบผลลัพธ์ และเห็นปัญหาเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะอยู่ในสายอาชีพใด เพียงแต่ทุกคนมองปัญหา และมีวิธีแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน ฉะนั้น เราคงต้องหาข้อยุติที่ตกผลึกแล้ว และพยายามทำให้ทุกคนเข้าใจร่วมกันมากที่สุดเพื่อนำมาซึ่งแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด

เมื่อถามว่า จะต้องมีการพูดคุยปัญหากับทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือไม่ นายพิชัยกล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่ต้องมีการพูดคุยกัน ซึ่งเป็นทั้งหน้าที่ และความรับผิดชอบของตน ร่วมกับธปท. ที่เราจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันให้เครื่องจักรสองเครื่องทั้งนโยบายการคลัง และนโยบายการเงินให้สอดคล้อง และเดินไปในทิศทางเดียวกัน แต่ก่อนจะเดินทางได้เราต้องตกผลึก และทำความเข้าใจก่อนว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร

เมื่อถามว่า หากมีโอกาสจะพูดคุยกับ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าธปท.หรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า แน่นอน เป็นหน้าที่ที่ต้องพูดคุยอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า มองเป็นเรื่องยากหรือไม่ที่จะพูดคุยกับผู้ว่าธปท. นายพิชัย กล่าวว่า ตนเชื่อว่าผู้ว่าธปท. จะคุยด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผล ประกอบกับในอดีตตนเคยสัมผัสกันอยู่แล้วบ้างในช่วงที่ทำงานด้านการธนาคาร ฉะนั้น จึงคิดว่าจะพูดคุยกัน และไปในทิศทางที่ใกล้เคียงกันได้

เมื่อถามถึงกระแสข่าวการแก้ไขกฎหมายให้ธปท. อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล นายพิชัย กล่าวว่า ตนมองว่าเรื่องนี้มาดูกันอีกทีดีกว่าว่าใช่ปัญหาหรือไม่

เมื่อถามถึงกระแสต่อต้านเนื่องจากมองว่าธปท.ควรเป็นอิสระ นายพิชัย กล่าวว่า ก็เป็นธรรมชาติ และทุกคนต้องมีความเห็นต่าง แต่ถ้าคุยกันแล้วตกผลึกได้ ตนก็เชื่อว่าความเห็นต่างก็จะค่อย ๆ แคบลง และนำมาซึ่งข้อสรุปที่ดี

เมื่อถามว่า ในฐานะเป็นรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจมองว่าธปท. ควรอยู่ภายใต้กำกับของรัฐบาลหรือเป็นอิสระ นายพิชัย กล่าวว่า จริง ๆ ท่านก็อิสระอยู่แล้วในเรื่องนโยบายการเงิน ซึ่งตนมองว่าความอิสระนั้นก็มีมาตลอด และสามารถกำหนด และตัดสินได้ด้วยวิจารณญาณ รวมถึงคนที่เข้ามาร่วมกันตัดสินนโยบาย ซึ่งทั้งหมดก็ต้องเป็นไปเพื่อสนับสนุนนโยบายภาครัฐ

เมื่อถามว่า เมื่อเข้ามาเป็นรมว.คลัง ปัญหาที่นายกฯ และพรรคเพื่อไทยพูดถึงจะหมดไปหรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า ตนยังไม่ขอตอบ ขอให้ได้หารือกับท่านก่อน ส่วนจะมีโปรเจกต์อื่น ๆ มาดูแลประชาชนในช่วงนี้หรือไม่นั้น ก็จะเป็นเรื่องคู่ขนานในการที่เราจะหาเครื่องมือมาผลักดันขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่พร้อมกับแก้ปัญหาเดิม ซึ่งคนร่วมผลักดันจริง ๆ คือประชาชนจริง และหน่วยงานทั้งหมด ฉะนั้น หากเราแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ก็จะมีแรงขับเคลื่อน ก็น่าจะเป็นวิถีทางที่ดีที่สุด


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top