Tuesday, 30 April 2024
ECONBIZ

กระทรวงพาณิชย์ เปิด 12 ธุรกิจที่น่าจับตามองปี 2564 ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ชีวิตยุค New Normal และ Next Normal : อี-คอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ ธุรกิจเกี่ยวกับสุขอนามัย และธุรกิจเทคโนโลยีที่รองรับการใช้งานในชีวิตประจำวัน

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้ง 2 ครั้งในประเทศไทย ทำให้ธุรกิจต่างได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นอย่างมาก เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักลงชั่วคราวจากการเว้นระยะห่างทางสังคม

เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคฯ ประกอบกับประชาชนมีการปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตหลายด้าน ทำให้การใช้จ่ายเกิดการชะลอตัว และมีความระมัดระวังเรื่องการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบฯ และกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศโดยรวม ทำให้ธุรกิจกลับมาประกอบธุรกิจ และขยายการลงทุนอีกครั้ง ซึ่งในปี 2563 ผู้ประกอบการทั้งรายเก่าและรายใหม่ต่างหันมาประกอบธุรกิจที่สอดรับกับการใช้ชีวิตยุค New Normal มากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัย ธุรกิจทางการแพทย์ และธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ”

“สำหรับปี 2564 การดำเนินชีวิตของผู้คน และการประกอบธุรกิจได้ก้าวไปอีกขั้นจากวิถีปกติใหม่ (New Normal) เป็นวิถีปกติถัดไป (Next Normal) กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ทำการวิเคราะห์ธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตที่น่าสนใจ และถือว่าเป็นธุรกิจดาวเด่นที่น่าจับตามองในปี 2564 จำนวน 12 ธุรกิจ

โดยได้ทำการวิเคราะห์จากข้อมูลทางธุรกิจของกรมฯ ตั้งแต่สถิติจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ จำนวนธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่ สถานที่ตั้ง งบการเงิน ผลการประกอบธุรกิจ และข้อมูลปัจจัยทางธุรกิจและเศรษฐกิจอื่นๆ ทั้งภายในและภายนอกกรมฯ ร่วมกับความสอดคล้องจากข้อมูล และผลการศึกษาจากหน่วยงานวิจัยด้านธุรกิจอื่นๆ เช่น ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ฯลฯ เป็นต้น”

รมช.พณ. กล่าวต่อว่า “12 ธุรกิจดาวเด่นที่น่าสนใจในปี 2564 ประกอบด้วย

1) ธุรกิจการค้าออนไลน์ (e-Commerce)

2) ธุรกิจแพลตฟอร์ม สำหรับการเป็นตลาดกลางออนไลน์

3) ธุรกิจสื่อโฆษณาผ่านช่องทางออนไลน์ (Online) และ ออฟไลน์ (Offline)

4) ธุรกิจรับส่งเอกสารและสิ่งของ (Delivery)

5) ธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์

6) ธุรกิจออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์ (Packaging)

7) ธุรกิจบริการทางการแพทย์และความงาม

8) ธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์

9) ธุรกิจเวชภัณฑ์ยา ธุรกิจขายส่งสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์

10) ธุรกิจพัฒนาโปรแกรม Software และ Application

11) ธุรกิจการเงิน Fintech และ e-Payment

12) ธุรกิจตู้หยอดเหรียญ เช่น ร้านสะดวกซัก เครื่องเติมเงิน เครื่องเติมน้ำ”

โดยทั้ง 12 ธุรกิจ สามารถจำแนกออกเป็นกลุ่มธุรกิจได้ ดังนี้

1) กลุ่มธุรกิจด้านการค้าและการตลาดออนไลน์ ได้แก่ ‘ธุรกิจการค้าออนไลน์ (e-Commerce)’ ‘ธุรกิจแพลตฟอร์มสำหรับการเป็นตลาดกลางออนไลน์’ และ ‘ธุรกิจสื่อโฆษณาผ่านช่องทางออนไลน์ (Online) และออฟไลน์ (Offline)’ โดยธุรกิจในกลุ่มนี้ มีการเติบโตที่สอดคล้องและเกื้อหนุนกันกับพฤติกรรมการบริโภคของผู้คนในปัจจุบัน ที่มีการซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ทั้งจากช่วงก่อนหน้านี้และช่วงที่เกิดมีการแพร่ระบาดของโควิด-19

ซึ่งสะท้อนจากจำนวนธุรกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการจัดตั้งธุรกิจใหม่ เช่น ‘ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ’ ที่มีการเติบโตของการจัดตั้งธุรกิจใหม่ จากปีละ 310 ราย ในปี 2561 มาเป็นปีละ 798 ราย ในปี 2563 ซึ่งถือเป็นการสร้างโอกาสและความท้าทายให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ๆ เข้ามาดำเนินธุรกิจได้มากขึ้น”

2) กลุ่มธุรกิจด้านขนส่ง โลจิสติกส์ และบรรจุภัณฑ์ เช่น ‘ธุรกิจรับส่งเอกสารและสิ่งของ (Delivery)’ ‘ธุรกิจขนส่ง โลจิสติกส์ (Logistic)’ และ ‘ธุรกิจออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์ (Packaging)’ โดยเป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลดีจากพฤติกรรมการบริโภคในการซื้อ-ขายสินค้าทางออนไลน์ และการเติบโตของกลุ่มธุรกิจด้านการค้า และการตลาดออนไลน์

ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน สังเกตได้จากแนวโน้มผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างมาก เช่น ธุรกิจรับส่งเอกสารและสิ่งของ (Delivery) มีรายได้ตลอดปี 2562 เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ถึงร้อยละ 57 และธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์ (Logistic) มีกำไรตลอดปี 2562 เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ถึงร้อยละ 116 เป็นต้น”

3) กลุ่มธุรกิจด้านสุขภาพ สุขอนามัย และการแพทย์ ได้แก่ ‘ธุรกิจบริการทางแพทย์และความงาม’ ‘ธุรกิจเครื่องมือแพทย์’ และ ‘ธุรกิจเวชภัณฑ์ยาและขายสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์’ เป็นกลุ่มธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลดีจากพฤติกรรมของคนในสังคมที่ใส่ใจเรื่องของสุขภาพและการแพทย์ รวมทั้ง ความระแวดระวังจากการแพร่ระบาดของโรคฯ ที่เกิดขึ้น

ซึ่งสะท้อนจากจำนวนธุรกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่องจากการจัดตั้งธุรกิจใหม่ เช่น ‘ธุรกิจเครื่องมือแพทย์’ ที่มีการเติบโตของการจัดตั้งธุรกิจใหม่ จากปีละ 68 ราย ในปี 2561 มาเป็นปีละกว่า 114 ราย ในปี 2563 และ ‘ธุรกิจเวชภัณฑ์ยาและขายสินค้าทางเภสัชภัณฑ์ และทางการแพทย์’ ที่มีการเติบโตของการจัดตั้งธุรกิจใหม่ จากปีละ 945 ราย ในปี 2561 มาเป็นปีละกว่า 1,158 ราย ในปี 2563 เป็นต้น”

4) กลุ่มธุรกิจด้านเทคโนโลยีเพื่อรองรับการใช้งานในในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ‘ธุรกิจพัฒนาโปรแกรม Software และ Application’ ‘ธุรกิจการเงิน Fintech และ e-Payment’ ‘ธุรกิจตู้หยอดเหรียญ เครื่องซักผ้า เครื่องเติมเงิน และเครื่องเติมน้ำ’ จากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่ตอบสนองต่อการบริโภคของคนในสังคม เพื่ออำนวยความสะดวกและพัฒนาการให้บริการต่างๆ ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีมากขึ้น สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ

สังเกตได้จากแนวโน้มผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างมาก เช่น ‘ธุรกิจการเงิน Fintech และ e-Payment’ มีกำไรตลอดปี 2562 เพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น จากปี 2561 ถึงร้อยละ 324 และ ‘ธุรกิจตู้หยอดเหรียญ เครื่องซักผ้า เครื่องเติมเงิน และเครื่องเติมน้ำ’ มีกำไรตลอดปี 2562 เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ถึงร้อยละ 94 เป็นต้น”

“ธุรกิจดาวเด่น 12 ธุรกิจ มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 2.2 ล้านล้านบาท และมีธุรกิจคงอยู่ทั้งสิ้น 65,738 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 812,213.46 ล้านบาท แบ่งเป็น * ธุรกิจการค้าออนไลน์ (e-Commerce) จำนวน 2,487 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 29,243.10 ล้านบาท * ธุรกิจแพลตฟอร์มสำหรับการเป็นตลาดกลางออนไลน์ จำนวน 739 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 6,259.39 ล้านบาท

* ธุรกิจสื่อโฆษณาผ่านช่องทางออนไลน์ (Online) และ ออฟไลน์ (Offline) จำนวน 9,877 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 47,323.49 ล้านบาท * ธุรกิจรับส่งเอกสารและสิ่งของ (Delivery) จำนวน 797 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 3,651.61 ล้านบาท * ธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์ จำนวน 28,346 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 362,115.54 ล้านบาท * ธุรกิจออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์ (Packaging) จำนวน 1,846 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 51,502.69 ล้านบาท

* ธุรกิจบริการทางการแพทย์และความงาม จำนวน 4,380 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 25,510.57 ล้านบาท * ธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ จำนวน 809 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 11,308.12 ล้านบาท * ธุรกิจเวชภัณฑ์ยาและธุรกิจขายส่งสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์ จำนวน 10,001 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 76,628.46 ล้านบาท * ธุรกิจพัฒนาโปรแกรม Software และ Application จำนวน 5,891 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 189,387.10 ล้านบาท

* ธุรกิจการเงิน Fintech และ e-Payment จำนวน 113 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 6,344.62 ล้านบาท และ * ธุรกิจตู้หยอดเหรียญ เช่น ร้านสะดวกซัก เครื่องเติมเงิน เครื่องเติมน้ำ จำนวน 452 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 2,938.77 ล้านบาท”

“ทั้งนี้ คาดว่าปี 2564 นี้ การประกอบธุรกิจของภาคธุรกิจจะมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น และเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้น โดยต้องพิจารณาถึงปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และผลกระทบจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะเกื้อหนุนให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าต่อไปได้

รวมทั้ง ขอแนะนำว่าผู้ประกอบการที่กำลังจะลงทุนประกอบธุรกิจ และกำลังมองหาธุรกิจที่น่าสนใจ ซึ่ง 12 ธุรกิจดังกล่าวข้างต้น น่าสนใจเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม นอกจากกระแสธุรกิจที่กำลังได้รับความนิยมแล้ว ความชื่นชอบและความถนัดเป็นอีกคุณสมบัติที่ต้องคำนึง เนื่องการลงทุนมีความเสี่ยง การลงทุนทำธุรกิจต้องมีรอบคอบให้มากที่สุด” รมช.พณ.กล่าวทิ้งท้าย

สู้อย่าง RS องค์กรพลิกตำรา | สนามนักสู้ EP.21

"จากข่าว 'อาร์เอส' รับทวงหนี้ ทุ่ม 920 ล้าน เทค กลุ่ม'เชษฏฐ์' บุกธุรกิจทวงหนี้ - ปล่อยเงินกู้ หลังจำนวนหนี้ด้อยคุณภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น"

ทำไมค่ายเพลงอาร์เอส ถึงหันมาลุยธุรกิจสายการเงินแบบครบวงจร มาดูว่า RS สู้ด้วยอะไร และสู้เพราะอะไร กับ คุณปอ ณัฐภูมิ รัฐชยากร

กระทรวงการคลัง เตรียมเปิดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น “เราชนะ” ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 วงเงิน 6 หมื่นล้านบาท ให้กับประชาชนทั่วไปและนิติบุคคลไม่แสวงหากำไร ดีเดย์ เริ่มขายผ่านแอปฯ ‘เป๋าตัง’ 1 ก.พ. นี้

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) แถลงข่าวการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น “เราชนะ” (We Win) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยมีวัตถุประสงค์ในการระดมทุนเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน และพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามแผนงานโครงการของรัฐบาล ซึ่งพันธบัตรออมทรัพย์เป็นตราสารหนี้ที่มีความมั่นคงให้ผลตอบแทนที่ดีในช่วงที่ตลาดการเงินมีความเสี่ยงจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ

และเป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐเพื่อการดูแลประชาชน ทุกกลุ่ม พันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น “เราชนะ” จะเริ่มจำหน่ายบนวอลเล็ต สบม. บนแอปพลิเคชันเป๋าตังเป็นที่แรกในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 และจำหน่ายผ่านธนาคารตัวแทนจำหน่ายในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป ซึ่งผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ตามความสะดวก ดังนี้

1.) รุ่นเราชนะบนวอลเล็ต สบม. วงเงินจำหน่าย 5,000 ล้านบาท รุ่นอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได (Step-up) เฉลี่ยร้อยละ 2.00 ต่อปี โดยเริ่มลงทุนได้ตั้งแต่ 100 บาท จนถึง 5 ล้านบาท ซึ่งในทุกขั้นตอนผู้ลงทุนไม่จำเป็นต้องไปธนาคาร ผู้ลงทุนสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเป๋าตังเพื่อลงทะเบียนและเตรียมโอนเงินเข้าวอลเล็ต สบม. ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จำหน่ายตั้งแต่วันที่ 1 - 19 กุมภาพันธ์ 2564

2.) รุ่นเราชนะ วงเงินจำหน่าย 55,000 ล้านบาท โดยเป็นการจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไปและนิติบุคคลไม่แสวงหากำไรผ่าน 4 ธนาคารตัวแทนจำหน่าย ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ แบบไม่จำกัดวงเงินซื้อ ตั้งแต่วันที่ 5 – 19 กุมภาพันธ์ 2564 แบ่งการจำหน่ายเป็น 2 ช่วง ดังนี้

(1) วันที่ 5-15 กุมภาพันธ์ 2564 จำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไป อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได (Step Up) โดยรุ่นอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยร้อยละ 2.00 ต่อปี และรุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยร้อยละ 2.50 ต่อปี

(2) วันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ 2564 จำหน่ายให้กับนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไรตามที่กระทรวง การคลังกำหนด รุ่นอายุ 15 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 1.80 ต่อปี

ทั้งนี้ วงเงินรุ่นเราชนะที่จำหน่ายบนวอลเล็ต สบม. และธนาคารตัวแทนจำหน่ายไม่นับรวมกัน ผู้ลงทุนจึงสามารถลงทุนได้ทั้ง 2 ช่องทาง

อย่างไรก็ตาม สบน. ตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพผู้ลงทุนและการควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงได้แจ้งให้ธนาคารตัวแทนจำหน่ายปรับวิธีการจองซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาล เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถทำธุรกรรมได้อย่างปลอดภัย ซึ่งผู้ลงทุนสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับเงื่อนไขและวิธีการซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านช่องทางต่างๆ ของธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 4 แห่ง สำหรับวอลเล็ต สบม. ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลการใช้งานได้ที่ Call Center โทร. 02-111-1111 หรือที่ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา

‘กัปตันโยธิน’ ตั้งคำถาม ‘บอร์ดฟื้นฟูการบินไทย’ เหตุใดไร้ความสามารถหาแหล่งเงินทุนเอง ต้องจ้างบริษัทหลักทรัพย์ช่วยหา เพราะต้องจ่ายค่าคอมมิสชันเพิ่ม ในขณะที่ฐานะการเงินยังย่ำแย่ รวมถึงแผนการยกเลิกการขายตั๋วผ่าน agent ยังไม่มีความชัดเจนเช่นกัน

กัปตัน โยธิน ภมรมนตรี อดีตผู้บริหารระดับสูง บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) โพสต์ผ่านเฟสบุ๊ก ‘Jothin Pamon-montri’ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564 ถึงแผนฟื้นฟูการบินไทย โดยมี ว่า  

สะพัดข่าว แผนฟื้นฟูกิจการ การบินไทย

เมื่อ 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน มีข่าวสะพัด ทั้งทาง TV และ สื่อมวลชนแขนงอื่น ๆ เรื่องแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย ส่อล้ม

ดูเหมือนจะมีปัญหาขัดแย้งกัน ในคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งมีความเห็นไม่ตรงกัน ในเรื่องที่จะจัดจ้างที่ปรึกษาด้านการเงิน และนโยบาย สายการบินไทยสมายล์ จึงมีข่าวออกมาว่า อาจเป็นไปได้ ว่าไม่สามารถส่งแผนให้ทางศาลล้มละลาย ทันตามกำหนด

เมื่อติดตามข่าว ดูเหมือน ว่าบริษัท EY (บริษัทที่ปรึกษา) ได้ทำแผนฟื้นฟูกิจการเสร็จแล้ว และได้ส่งแผนดังกล่าวให้แก่ คณะกรรมการทำแผนฯ เพื่อพิจารณา ส่วนว่าคณะทำแผนฯ จะรับแผนฟื้นฟูกิจการที่ทาง EY เสนอหรือไม่ ก็คงต้องรอวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นวันที่คณะทำแผนฟื้นฟูต้องเสนอ แผนดังกล่าวแก่ ศาลล้มละลายกลาง เพื่อพิจารณา หรือว่าจะมีการขอเลื่อนเวลาออกไปอีกครั้ง

ที่ทราบมา คือฝ่ายบริหารการบินไทยได้ ส่ง RFP ( Request for Proposal ) ไป ยัง 7 บริษัทเพื่อจะจ้างมาเป็นที่ปรึกษาด้านการเงิน ดูเหมือนมีแค่ 2 บริษัท คือ บริษัท หลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร และ ธนาคารไทยพาณิชย์ ส่งข้อเสนอมา และหลังพิจารณาข้อดีข้อเสียแล้ว บริษัท หลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร ให้ข้อเสนอที่ดีที่สุด ซึ่งข้อเสนอดังกล่าว ทาง บริษัท หลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร เสนอ ค่าตอบแทนออกเป็น สองส่วน

ส่วนที่ 1 ที่เรียกว่า Advisory Fee (ค่าให้ การปรึกษา) ชำระเป็นรายเดือน จนสิ้นสุดสัญญา

ส่วนที่ 2 ที่เรียกว่า Success Fee (ภาษาชาวบ้าน คือ ค่า กินหัวคิว) จ่ายเป็น เปอร์เซ็นต์ ตามมูลค่า ของแหล่ง เงินทุนที่จัดหามาให้ได้ และการขายหลักทรัพย์ หรือ สินทรัพย์ ก็เลยจำเป็นต้องมีคำตอบในเรื่องนี้

คำถามแรก ขอเรียนถามคุณจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล ในฐานะที่เคยเป็นรองปลัดกระทรวงคลัง ว่าไม่มีความสามารถ ที่จะช่วยหาแหล่งเงินทุนให้กับบริษัทการบินไทย เชียวหรือ จึงต้องจ้างที่ปรึกษาฝ่ายการเงิน บริษัท หลักทรัพย์ มาช่วย เร่งหา แหล่งเงินทุน ซึ่งบริษัทการบินไทยต้องเสียเงินจำนวนเปอร์เซ็นต์ ตามจำนวนทุนที่สามารถ หามาได้โดยบริษัท ที่ปรึกษา

คำถามที่ สอง บริษัทมี นโยบาย จะพยายามขายตั๋วโดยสารโดยตรง ไม่ขายผ่าน ตัวแทน (agent) เพื่อไม่ต้อง เสียค่า คอมมิชชั่น เช่นเดียวกับ การซื้อเครื่องบินในอดีต ต่อไปจะซื้อตรงกับ บริษัทผู้ผลิต เพื่อหลีกเลี่ยง ข้อ ครหา เรื่อง สินบน และเหตุใด จึงต้องไปจ้าง บริษัท หลักทรัพย์ มาช่วย ขาย หลักทรัพย์ และหรือ สินทรัพย์ ของบริษัท ซึ่งบริษัทต้องจ่ายเป็นเปอร์เซ็นต์ จากจำนวนเงิน ของ หลักทรัพย์ และ สินทรัพย์ที่ขายไป แต่ถ้าบริษัทที่ปรึกษา ไม่สามารถสรรหาแหล่งเงินทุน หรือ หาผู้มาซื้อหลักทรัพย์ หรือ สินทรัพย์ ของบริษัท ก็ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น แถมยังได้ ค่าจ้าง ที่เรียกว่า Advisor fee ทุกเดือน จน สิ้นสุดสัญญา

ส่วนเรื่อง สายการบินไทยสมายล์ จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการฟื้นฟู และความเห็นต่าง ระหว่างฝ่ายเสียงข้างมาก กับฝ่ายเสียงข้างน้อย กับบริษัทที่ปรึกษาทำแผนในโอกาสต่อไป ครับ


กัปตันโยธิน ภมรมนตรี

25 มกราคม 64

ที่มา : https://www.facebook.com/jothin.pamonmontri

บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ กับภารกิจการเป็นฐานการผลิตวัคซีนโควิด-19 แห่งภูมิภาคอาเซียน ดำเนินการผลิตวัคซีนโดยยึดนโยบายไม่กำไร ไม่ขาดทุน ย้ำปณิธาน “มุ่งมั่นที่จะทำให้คนไทยและทั่วโลกมีวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า”

ผลิตภัณฑ์ที่บริษัทฯ ผลิต ได้แก่ ยารักษาโรคชีววัตถุ อาทิ ยาเพิ่มเม็ดเลือดแดงให้กับผู้ป่วยที่มีอาการไตวายเรื้อรัง และยาเพิ่มเม็ดเลือดขาว ให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด โดยยาทั้ง 2 ตัวผลิตด้วยเทคโนโลยีชีวภาพชั้นสูง สามารถบำบัดรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประเทศไทยลดการพึ่งพายาจากต่างชาติ ช่วยสร้างความมั่นคงให้กับระบบสาธารณสุขของประเทศอย่างยั่งยืน

และด้วยคุณภาพและมาตรฐานระดับโลกของโรงงาน บริษัทฯ จึงได้รับการรับรองมาตรฐานสากล PIC/S GMP, ISO9001, ISO17025 และ ISO13485 อีกทั้งได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ผลิตยาและชุดตรวจโรค ให้แก่องค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 ที่ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-19 บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัดได้ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาและผลิตชุดตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 แบบ RT-PCR ซึ่งเป็นวิธีตรวจวินิจฉัยโรคตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO) และได้มอบให้หน่วยงานราชการใช้ในการตรวจคัดกรองผู้ป่วยในประเทศมากกว่า 100,000 ชุด

ก้าวสำคัญต่อมาคือ การผลิตวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และบริษัทแอสตร้าเซเนก้า ผู้ผลิตชีวภัณฑ์ชั้นนำของโลก

ในเดือนตุลาคม 2563 บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ , บริษัท เอสซีจี , แอสตร้าเซเนก้า และกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงในความร่วมมือเพื่อที่จะให้วัคซีนนี้ได้มีใช้อย่างแพร่หลายในภูมิภาคอาเซียน จากหนังสือแสดงเจตจำนงดังกล่าว ได้นำไปสู่สัญญารับจ้างผลิตระหว่าง แอสตร้าเซเนก้าและสยามไบโอไซเอนซ์

ซึ่งสัญญานี้แสดงให้เห็นว่า สยามไบโอไซเอนซ์ เป็นบริษัทที่มีความสามารถทางเทคโนโลยีชั้นสูง สามารถดำเนินการผลิตได้อย่างมีคุณภาพและมาตรฐานสากล จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีของแอสตร้าเซเนก้า ส่งผลให้สยามไบโอไซเอนซ์เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการผลิตวัคซีนของแอสตร้าเซเนก้า ที่มีมากกว่า 20 แห่งทั่วโลก

สำหรับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ของแอสตร้าเซเนก้า ใช้เทคโนโลยีในการผลิตใกล้เคียงกับการผลิตยาชีววัตถุจากเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งสยามไบโอไซเอนซ์ มีประสบการณ์ในการผลิตยาชีววัตถุด้วยเทคโนโลยีนี้ และมีผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดแล้วทั้งในประเทศและส่งออก

โรงงานของสยามไบโอไซเอนซ์ ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตระดับสากล มีศักยภาพที่จะรองรับการผลิตวัคซีนของแอสตร้าเซเนก้าได้ทุกขั้นตอน และเป็นโรงงานทีใช้เทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สามารถรองรับการขยายกำลังการผลิตได้ในอนาคต

สยามไบโอไซเอนซ์จึงเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 โดยสยามไบโอไซเอนซ์ได้ดำเนินการผลิตวัคซีนโดยยึดนโยบายไม่กำไร ไม่ขาดทุน หรือ no profit, no loss ในช่วงที่มีการระบาดนี้ ซึ่งเป็นนโยบายเดียวกันกับของแอสตร้าเซเนก้า

ภารกิจผลิตวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข จำนวนเงินประมาณ 600 ล้านบาท และจากบริษัท เอสซีจี 100 ล้านบาท เพื่อต่อยอดศักยภาพของโรงงานให้มีความพร้อมในการผลิตวัคซีนให้ได้เร็วที่สุด เมื่อผลิตวัคซีนได้สำเร็จ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จะสั่งซื้อวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 จากแอสตร้าเซเนก้า เป็นมูลค่าเท่ากับจำนวนเงินทุนที่ได้รับ เพื่อส่งมอบให้กับรัฐบาลในการดูแลสุขภาพของคนไทยต่อไป

นางนวลพรรณ ล่ำซำ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรกิตติมศักดิ์ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด กล่าวว่า “สยามไบโอไซเอนซ์มีความภาคภูมิใจที่ได้รับเลือกจากแอสตร้าเซเนก้าให้เป็นฐานการผลิตวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ที่ตรงตามมาตรฐานระดับโลก ในขณะนี้เจ้าหน้าที่ของสยามไบโอไซเอนซ์ทุกคนเร่งทำงานแข่งกับเวลา โดยที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ตัดสินใจปรับแผนการผลิตยาชีววัตถุเดิม โดยทุ่มสรรพกำลังในการผลิตวัคซีนที่ได้ตรงตามมาตรฐานของแอสตร้าเซเนก้าในเวลารวดเร็วที่สุด เพื่อที่ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชาติ เศรษฐกิจไทย รวมถึงประชาชนและเศรษฐกิจระดับภูมิภาค จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง ดังปณิธานของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ที่มุ่งมั่นที่จะทำให้คนไทยและทั่วโลกมีวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า” 

‘สุริยะ’ สั่งการ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ออกมาตรการเยียวยาลูกหนี้เงินทุนกว่า 2,300 กิจการ ลูกหนี้ชั้นดีพักชำระได้สูงสุด 12 เดือน สร้างสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ ให้ผ่านพ้นภาวะวิกฤต

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ตระหนักและห่วงใยผู้ประกอบการธุรกิจภาคอุตสาหกรรม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โรคโควิด-19 ระลอกใหม่ จึงได้สั่งการให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เร่งออกมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19  ซึ่งเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ

รวมถึงผู้ประกอบการที่เป็นลูกหนี้เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทยใน 7 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ 1.อาหาร 2.เครื่องดื่ม 3. ผ้าและเครื่องแต่งกาย 4. ของใช้และเครื่องประดับตกแต่ง 5. ศิลปะประดิษฐ์และของที่ระลึกที่สะท้อนวิถีชีวิตภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น 6. สมุนไพรที่ไม่ใช่ยาและอาหาร และ 7. อุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่สนับสนุนเกื้อกูลกลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือ SMEs ซึ่งมีจำนวนกว่า 2,300 กิจการ ผ่าน 3 มาตรการ ประกอบด้วย

  • พักชำระหนี้สำหรับลูกหนี้รายเดิมที่ชำระเงินปกติ โดยให้สิทธิ์พักชำระเงินต้นไม่เกิน 12 เดือนโดยชำระเฉพาะดอกเบี้ย และมีสิทธิ์ขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ไม่เกิน 12 เดือน
  • พักชำระหนี้สำหรับลูกหนี้รายเดิมที่มีหนี้ค้างชำระไม่เกิน 6 งวด โดยให้สิทธิ์พักชำระเงินต้นไม่เกิน 6 เดือน โดยชำระเฉพาะดอกเบี้ย และมีสิทธิ์ขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ไม่เกิน 6 เดือน
  • สินเชื่อสำหรับผู้ขอกู้รายใหม่ วงเงินตั้งแต่ 100,000 บาทขึ้นไป ต่อราย/กิจการ ได้รับสิทธิ์พักชำระเงินต้นไม่เกิน 6 เดือน (ชำระเฉพาะดอกเบี้ย) โดยคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี

สำหรับมาตรการทางการเงิน ถือเป็นหนึ่งในวัคซีนเอสเอ็มอีที่เป็นเครื่องมือที่ กสอ. ใช้ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาวการณ์ต่าง ๆ โดยในส่วนของเงินทุนฯ ได้มีการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการด้านการเงินในการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ (Financial Literacy) ประกอบด้วย

1. สำหรับผู้ต้องการขอสินเชื่อ เป็นการเตรียมตัวก่อนขอสินเชื่อ รู้จักข้อมูลบัญชี ภาษี การวิเคราะห์และวางแผนทางการเงิน และธุรกิจ

2. สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการแก้ปัญหาหนี้ค้างชำระ โดยการตรวจสภาพการเงิน วางแผนชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ และการจัดการธุรกิจในภาวะวิกฤต ซึ่งเงินทุนนั้น นอกจากการช่วยเหลือในเรื่องดอกเบี้ยและสินเชื่อแล้ว กสอ. ยังทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้ประกอบการที่มีต้นทุนทางแนวคิดในการประกอบธุรกิจให้สามารถเข้าถึงนักลงทุนที่มีศักยภาพ เพื่อการต่อยอดอุตสาหกรรมอย่างมั่นคง ทั้งยังส่งเสริมการสร้างเครือข่าย ทั้งในระดับท้องที่และระดับของอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการช่วยเหลือ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ สร้างนิเวศอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งเพื่อก้าวข้ามภาวะวิกฤตได้อีกทางหนึ่ง

โดยผู้ประกอบการที่สนใจสามารถขอรับสิทธิ์ได้ที่ กลุ่มบริหารเงินทุนฯ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2202 4409-10 หรือที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคทั้ง 11 แห่ง ตั้งแต่วันนี้ จนถึง วันที่ 31 มีนาคม 2564 หรือ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2202 4414-18 หรือ เข้าไปที่ www.dip.go.th  

ฝืนต่อไม่ไหว!!  ‘เซ็นทรัล’ ประกาศปิด ‘เซ็นทรัลป่าตอง’ ชั่วคราว ตั้งแต่ 1 ก.พ.นี้ จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น หลังเจอพิษโควิด กระหน่ำการท่องเที่ยวภูเก็ตชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด ผู้บริหารห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ได้ทยอยส่งจดหมายถึงผู้เช่าพื้นที่และผู้เกี่ยวข้อง โดยหนังสือดังกล่าวมีเนื้อหา เป็นการแจ้ง การปิดห้างเซ็นทรัลป่าตอง ชั่วคราว

พร้อมระบุสาเหตุว่าเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์โควิด-19 กระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตจนชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง และส่งผลกระทบโดยตรงต่อบริษัท ฝ่ายบริหารจึงมีความเห็นให้ปิดกิจการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

 

 

LPN Wisdom คาดตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2564 มีแนวโน้มติดลบ 3% ถึงเติบโตประมาณ 10% ขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ระลอกใหม่

ประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LPN Wisdom: LWS) บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือบริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) กล่าวถึงทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2564 ว่า

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ที่ส่งผลต่อเนื่องต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2564 LPN Wisdom ได้มีการปรับการคาดการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2564 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้มีการคาดการณ์ว่าสถานการณ์อสังหาฯ ในปี 2564 จะมีแนวโน้มทรงตัวหรือเติบโตได้ประมาณ 3-5% และการเปิดตัวโครงการใหม่มีแนวโน้มที่จะเปิดตัวเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10% เมื่อเทียบกับปี 2563 เนื่องจากการคาดการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่มีแนวโน้มที่รุนแรงกว่าการแพร่ระบาดในรอบแรก ทำให้บริษัทต้องมีการปรับการคาดการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2564

โดยแบ่งออกเป็น 3 สถานการณ์ (Scenario) ซึ่งคาดการณ์ว่า ตลาดอสังหาฯ จะติดลบ 3% ถึงเติบโตได้ 10% ทั้งนี้ขึ้นกับความสามารถในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ของรัฐบาล

สถานการณ์แรก (Best Case Scenario) รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้เร็วภายในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์และวัคซีนสามารถเข้าถึง 50% ของประชากรไทยภายในปี 2564 ในกรณีนี้ คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวประมาณ 4-5% จะทำให้มีมูลค่าการเปิดตัวโครงการใหม่ของอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 13-15% และจำนวนหน่วยอสังหาริมทรัพย์เปิดตัวใหม่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 9-10% เนื่องจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในตลาดหลายรายได้ระบายหน่วยคงค้างไปได้จำนวนมากในปี 2563 จะเริ่มเปิดตัวโครงการใหม่เพิ่มขึ้น ขณะที่ในด้านของกำลังซื้อ คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสแรกปี 2564 โดยประมาณการว่า จะมีอัตราการระบายอสังหาริมทรัพย์จะอยู่ที่ 6,500 หน่วยต่อเดือน หรือขยายตัวประมาณ 10% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2563

สถานการณ์ที่สอง (Base Case Scenario) รัฐสามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ภายในเดือนเมษายน ในกรณีนี้คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวประมาณ 2-3% ด้านตลาดอสังหาริมทรัพย์คาดว่า มูลค่าอสังหาริมทรัพย์เปิดตัวใหม่จะเพิ่มขึ้นประมาณ 5-6% และจำนวนหน่วยอสังหาริมทรัพย์เปิดตัวใหม่จะเพิ่มขึ้นประมาณ 7-9% และกำลังซื้อจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564 คาดการณ์ว่าอัตราการระบายอสังหาริมทรัพย์จะอยู่ที่ 6,000-6,300 หน่วยต่อเดือน หรือขยายตัวประมาณ 0-5%

และ สถานการณ์ที่สาม (Worst Case Scenario) เป็นกรณีที่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ หรือควบคุมสถานการณ์ได้หลังไตรมาส 2 ของปี 2564 จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยทรงตัวหรือเติบโตต่ำกว่า 2% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ทั้งการเปิดตัวโครงการใหม่และกำลังซื้อในตลาด โดยคาดกว่าจะทำให้มูลค่าการเปิดตัวอสังหาริมทรัพย์เปิดตัวใหม่มีแนวโน้มที่จะติดลบต่อเนื่องจากปี 2563 โดยคาดว่าจะติดลบประมาณ 15-18% และจำนวนหน่วยอสังหาริมทรัพย์เปิดตัวใหม่จะติดลบประมาณ 8-12% จากความเชื่อมั่นที่ลดลงของผู้ประกอบการ ในด้านอุปสงค์ คาดว่าอัตราการระบายอสังหาริมทรัพย์จะลดลง 3-5% เหลือเฉลี่ย 5,700-5,800 หน่วยต่อเดือน

ขณะที่ภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2563 มีการเปิดตัวโครงการใหม่ลดลงจากปี 2562 ประมาณ 37% หรือจากเปิดตัว 111,000 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 448,000 ล้านบาท เหลือ 70,000 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 276,000 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการเปิดตัวอสังหาริมทรัพย์ในช่วงไตรมาส 2 โดยเน้นเปิดตัวบ้านพักอาศัย และชะลอการเปิดตัวคอนโดมิเนียม

โดยในปี 2563 ผู้ประกอบการอสังหาฯ หลายบริษัทได้มีการปรับแผนการเปิดตัวโครงการใหม่จากคอนโดมิเนียมมาเป็นการเปิดตัวบ้านพักอาศัยมากขึ้น ทำให้ในปี 2563 มีการเปิดตัวโครงการบ้านพักอาศัยคิดเป็นสัดส่วน 63% เพิ่มขึ้นจาก 42% ในปี 2562 หรือมีการเปิดตัวบ้านพักอาศัยในปี 2563 ทั้งสิ้น 44,001 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 205,578 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 เพียง 4%

ในขณะที่การเปิดตัวคอนโดมิเนียมในปี 2563 มีจำนวนหน่วยเปิดตัวลดลงถึง 60% ขณะที่มูลค่าเปิดตัวลดลง 70% จากเปิดตัวทั้งหมดในปี 2562 คิดเป็นจำนวน 64,639 เหลือ 26,125 หน่วยในปี 2563 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการหันมาระบายหน่วยคงค้างคอนโดมิเนียมที่มีจำนวน 94,000 หน่วยในปลายปี 2562 และชะลอการเปิดตัวคอนโดมิเนียมใหม่

ประพันธ์ศักดิ์ กล่าวว่า ในขณะที่กำลังซื้อในปี 2563 มีอัตราการระบายอสังหาริมทรัพย์อยู่ที่ 6,000 หน่วยต่อเดือน ลดลงจากปี 2562 25% เหตุผลสำคัญที่ทำให้กำลังซื้อในปี 2563 ลดลงไม่มากเมื่อเทียบกับการเปิดตัวโครงการใหม่ที่ลดลงมาก เป็นผลมาจากการเร่งระบายสินค้าในสต๊อกของผู้ประกอบการโดยใช้กลยุทธ์ด้านราคา (Price War)

“การคาดการณ์ตลาดอสังหาฯ ในปี 2564 ยังเป็นเรื่องยาก เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระลอกใหม่ ส่งผลต่อความไม่แน่ใจในรายได้ในอนาคตของผู้บริโภค ทำให้แนวโน้มตลาดอสังหาฯ ในไตรมาสแรกของปี 2564 น่าจะทรงตัว ส่งผลให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ บางรายเริ่มออกมาตรการทางการตลาดเพื่อกระตุ้นกำลังซื้ออย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลไม่ประกาศปิดประเทศ (Lockdown) เหมือนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2563 ทำให้ภาคธุรกิจยังคงสามารถดำเนินธุรกิจได้ รักษาการจ้างงานในประเทศไว้ได้บางส่วน ประกอบกับการที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะกระตุ้นตลาดอสังหาฯ โดยการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% และลดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่ยังมีแนวโน้มต่ำ น่าจะเป็นปัจจัยที่มีส่วนช่วยในการกระตุ้นกำลังซื้อ เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย”

'บรรพบุรุษ' กด Like!! 'บอนชอน' ขอแจมช่วงตรุษจีน ส่ง ‘ไก่ไหว้เจ้า’ ทอดทั้งตัว รสซอยการ์ลิค

บอนชอน ร้านไก่ทอดชื่อดังเปิดให้พรีออเดอร์ ‘ไก่ไหว้เจ้า’ ต้อนรับเทศกาลตรุษจีนที่กำลังจะมาถึง โดยรายละเอียดระบุว่า เป็นไก่บอนชอนทอดทั้งตัว (ไม่มีเครื่องใน) ทาเคลือบด้วยซอสซอยการ์ลิค รสเข้มข้น

รายละเอียดระบุว่า ผู้ที่สนใจสามารถสั่งจองไก่ได้ถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ และรับสินค้าในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ โดยราคาไก่ไหว้เจ้าทอดดังกล่าวมีราคาอยู่ที่ตัวละ 688 บาท

แต่มันก็จะแปลกๆ นิด ไก่อะไรไม่มีตา!!

‘บิ๊กตู่’ สั่งด่วนกำหนดแนวทางให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางเรือ ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งด้านปริมาณการค้าที่ลดลง ตู้สินค้าขาดแคลน และค่าระวางการส่งออกที่เพิ่มขึ้น

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม ร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพิจารณากำหนดแนวทางให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางเรือ ซึ่งได้รับผลกระทบการประกอบกิจการในช่วงภาวะวิกฤตจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

แนวทางช่วยเหลืออย่างเช่น การอนุญาตให้เรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่กว่าที่กำหนดไว้เดิมสามารถเข้าเทียบท่าได้เพื่อขนส่งสินค้าในปริมาณที่มากขึ้น การผ่อนปรนการเรียกเก็บค่าบริการท่าเทียบเรือ

“กระทรวงพาณิชย์ได้สะท้อนปัญหาของผู้ส่งสินค้าทางเรือและผู้ส่งออกต่อที่ประชุม ครม. ล่าสุดนายกรัฐมนตรีจึงมีข้อสั่งการให้หาทางช่วยเหลือผู้ประกอบการ และได้มอบหมายให้ให้กระทรวงคมนาคมกำกับติดตามการดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว”

ทั้งนี้ที่ผ่านมารัฐบาลได้ทยอยออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือทั้งประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 ตามแนวนโยบายของ นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้การช่วยเหลือครอบคลุมประชาชนมากที่สุด

และล่าสุดรัฐบาลได้รับทราบถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการกลุ่มผู้ส่งสินค้าทางเรือ ซึ่งเป็นกลุ่มกลไกสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในภาคการนำเข้าและส่งออก ว่า ขณะนี้ได้รับผลกระทบหลายด้านโดยเฉพาะจากปริมาณการค้าที่ลดลงจากผลกระทบของโรคโควิด-19 ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน ผู้ส่งออกเองก็ประสบปัญหาค่าระวางของการส่งออกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกในระยะยาว

กรมส่งเสริมการค้าฯ วิเคราะห์นโยบายด้านการค้าของสหรัฐฯ ยุค ‘โจ ไบเดน’ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ คาดสร้างโอกาสการร่วมมือทางการค้าการลงทุนของธุรกิจสหรัฐฯ ในไทย และช่วยเพิ่มให้ไทยเข้าไปลงทุนในสหรัฐฯ ได้ดีขึ้น

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภายหลังจากนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ ได้เข้าพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการและลงนามในคำสั่งบริหารและคำสั่งอื่นๆ รวม 15 ฉบับ

ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการประเมินนโยบายด้านการค้าของสหรัฐฯ หลังจากนี้ น่าจะส่งผลดีทำให้ความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ กับกลุ่มประเทศเอเชียดีขึ้น สร้างโอกาสการร่วมมือทางการค้าการลงทุนของธุรกิจสหรัฐฯ ในไทย และช่วยเพิ่มให้ไทยเข้าไปลงทุนในสหรัฐฯ ได้ดีขึ้น

ด้วยเหตุนี้ กระทรวงพาณิชย์ จึงได้มีการวางแผนการทำงานในปี 2564 โดยเดินหน้าขยายตลาดส่งออกในสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเน้นไปที่สินค้าที่มีศักยภาพ คือ อาหารสำเร็จรูป อาหารเสริม สินค้าที่เกี่ยวกับการทำงานที่บ้าน เช่น เฟอร์นิเจอร์ ของแต่งบ้าน วัสดุแต่งสวน สินค้าสัตว์เลี้ยง เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ออกกำลังกาย เกมส์และความบันเทิงภายในบ้าน และสินค้าป้องกันส่วนบุคคลที่จะมีความต้องการจนกว่าโควิด-19 จะคลี่คลาย โดยตั้งเป้าหมายปีนี้จะขยายตัวที่ 4%

แต่อย่างไรก็ตามยังต้องระวังผลกระทบจากนโยบายของสหรัฐฯ ที่เน้นพึ่งพาการผลิตในประเทศมากขึ้น ทำให้อาจมีการใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีเพิ่มขึ้นตามมา เช่นเดียวกับกลุ่มสินค้าต่างๆ เช่น สินค้ากลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า รวมไปถึงการติดตามนโยบายด้านการเงินการคลังของสหรัฐฯ ที่จะมีผลต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่มีผลต่อค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิดด้วย

กระทรวงพาณิชย์ เดินหน้ายุทธศาสตร์ ตลาดนำการผลิต ส่งทัพการ์ตูนคาแรกเตอร์ - แอนิเมชันไทย เจาะตลาดญี่ปุ่น ปูทางขยายธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ของไทยได้รับความนิยมมากขึ้นในตลาดญี่ปุ่นประกอบด้วยนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ในการเดินหน้ายุทธศาสตร์ "ตลาดนำการผลิต”และแผนงานการพัฒนาศักยภาพทางการตลาดให้กับการบริการและอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ สำนักพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจบริการ ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว"

ได้จัดโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการรับรู้คาแรกเตอร์การ์ตูนและแอนิเมชันของไทย (Cartoon Characters & Animation) ในเขตพื้นที่ภายในกรุงโตเกียวและนอกเขตกรุงโตเกียว หรือโครงการ Thai Cartoon Project ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เดือนกันยายน 2564 โดยเปิดรับสมัครผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่วันที่ 11 - 27 มกราคม 2564 เพื่อส่งเสริม Thai Licensing Character และ Animation ไทย

โดยในปี 2564 มีกิจกรรมจัดขึ้นภายใต้โครงการฯ ดังกล่าว อาทิ การจัดกิจกรรม Pop up Exhibition เพื่อจัดแสดงคอนเทนท์และสินค้าการ์ตูนคาแรคเตอร์ไทย ในโตเกียว 1 แห่ง และเมืองรอง 1 แห่ง การกิจกรรมประชาสัมพันธ์โครงการและคาแรคเตอร์ไทยผ่านสื่อออนไลน์ เช่น สื่อ SNS (Instagram /Twitter @thaicharatokyo) และสื่อสิ่งพิมพ์ เพื่อเผยแพร่คอนเทนท์ การ์ตูนคาแรคเตอร์ไทยเป็นภาษาญี่ปุ่นเพื่อให้เข้าถึงชาวญี่ปุ่นได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้ง กิจกรรมพิเศษต่างๆ เช่น การวาดภาพสด (Live Drawing) ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อเป็นเวทีให้ผู้ประกอบการการ์ตูนคาแรคเตอร์ไทยได้พบปะกับชาวญี่ปุ่นโดยตรง

สำหรับ โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการรับรู้ Cartoon Characters และ Animation ไทย ได้จัดขึ้นต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 5 ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้อุตสาหกรรม Digital Contents ซึ่งรวมถึง Cartoon Characters และ Animation ไทยในประเทศญี่ปุ่น เป็นการ

ปูทางในการบุกเบิกตลาด เนื่องจากมีกลุ่มชาวญี่ปุ่นที่ชื่นชอบการ์ตูนคาแรคเตอร์ไทยติดตามโครงการผ่านสื่อ SNS เพิ่มขึ้นทุกปี และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นหนึ่งในโครงการของกรมฯ ที่เปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการการ์ตูนคาแรคเตอร์ไทยได้เข้าตรงถึงตลาดกลุ่มเป้าหมาย เพื่อขยายธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศต่อไป

สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ควบคุมสินค้า หน้ากากอนามัย ถุงมือสำหรับใช้ทางการแพทย์ น้ำเย็น เครื่องเล่นสนามสาธารณะ ยกระดับจากมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ภาคทั่วไป เป็นภาคบังคับ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ได้มีมติเห็นชอบให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ควบคุมสินค้า 7 รายการ คือ หน้ากากอนามัย ถุงมือสำหรับใช้ทางการแพทย์ น้ำเย็น เครื่องเล่นสนามสาธารณะ ทั้งชิงช้า กระดานลื่น ม้าหมุน และอุปกรณ์โยก ยกระดับจากมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือมอก. ภาคทั่วไป ไปเป็นมอก. ภาคบังคับ เพื่อให้ผู้ผลิต และผู้นำเข้าทุกราย จะต้องจำหน่าย หรือนำเข้าสินค้าที่มีตราสัญลักษณ์มอก.ภาคบังคับเท่านั้น

ทั้งนี้ในการออกมาควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมครั้งนี้ เป็นเพราะในปัจจุบันที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ผู้ประกอบการได้นำหน้ากากอนามัย และถุงมือสำหรับใช้ทางการแพทย์ออกมาขายเป็นจำนวนมาก และพบว่า มีสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานปะปนอยู่ในท้องตลาดเป็นจำนวนมาก ส่งผลต่อความปลอดภัยของประชาชนที่ซื้อไปใช้

ขณะเดียวกันได้เห็นชอบมาตรฐานอื่นๆ อีกรวม 76 มาตรฐาน เช่น มาตรฐานอุปกรณ์ป้องกันดวงตาและใบหน้าสำหรับป้องกันหยดและละอองของเหลว หรือเฟสชิลด์ ผ้าป้องกันแบคทีเรีย ยางล้อรถยนต์และยางล้อจักรยานยนต์ เสื้อชูชีพ อาหารกระป๋อง หัวฝักบัวอาบน้ำ สายฝักบัวอาบน้ำ และเครื่องสำอางด้วย

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เผยโควิด-19 ระบาด ระลอกใหม่ ฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมร่วงครั้งแรกในรอบ 8 เดือน วอนรัฐบาลใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเข้มข้น พร้อมเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นผู้บริโภคและคู่ค้า

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนธ.ค.63 อยู่ที่ระดับ 85.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 87.4 ในเดือนพ.ย.63 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน และความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงในทุกองค์ประกอบ ทั้งคำสั่งซื้อโดยรวม, ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต, ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

โดยมีปัจจัยลบจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ที่มีความรุนแรงกว่ารอบแรก และขยายวงกว้างไปในหลายจังหวัด ส่งผลให้ภาครัฐออกคำสั่งปิดสถานที่บางแห่ง และกำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุดในจังหวัดที่มีการระบาดสูง รวมทั้งงดจัดกิจกรรมปีใหม่และขอความร่วมมือประชาชนชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด อีกทั้งขอให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนและข้าราชการทำงานที่บ้าน (Work From Home) เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19

ด้านภาคการส่งออก ผู้ประกอบการยังคงประสบปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้ส่งออกสินค้าได้น้อยลงและสูญเสียรายได้จากการส่งออก ขณะที่การแข็งค่าของเงินบาทยังเป็นปัจจัยเสี่ยงกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการส่งออก นอกจากนี้ ในเดือนธันวาคมมีวันทำงานน้อย เนื่องจากมีวันหยุดในช่วงเทศกาลปีใหม่ ทำให้ภาคการผลิตลดลงจากเดือนก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม สินค้าที่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์เพื่อป้องกันโควิด-19 ยังคงขยายตัวต่อเนื่องตามอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่การก่อสร้างโครงการภาครัฐและการลงทุนใน EEC ส่งผลดีต่อสินค้าวัสดุก่อสร้าง

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 92.7 จากระดับ 94.1 ในเดือนพ.ย.63 เนื่องจากผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลต่อความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวช้า ทำให้ผู้ประกอบการมีการปรับแผนการดำเนินกิจการเพื่อรับมือสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการขอให้ภาครัฐเร่งควบคุมสถานการณ์โควิด-19 โดยเร็วและเร่งออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งผู้ประกอบการและประชาชนให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม

ประธาน ส.อ.ท. ยังได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ให้เร่งควบคุมการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการบังคับใช้มาตรการต่างๆ อย่างเข้มงวด, เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและประเทศคู่ค้า เกี่ยวกับความปลอดภัยในสินค้าอาหารของไทย และเร่งออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 ทั้งผู้ประกอบการและประชาชนให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม

มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ อาทิ มาตรการเสริมสภาพคล่องจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดกิจการชั่วคราวตามคำสั่งของแต่ละจังหวัด หรืออาจให้พักชำระหนี้ชั่วคราว รวมทั้งให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพิ่มวงเงินค้ำประกัน SMEs เป็น 50% หรือมาตรการอื่นๆ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ

มาตรการช่วยเหลือประชาชน อาทิ เพิ่มวงเงินใช้จ่ายโครงการคนละครึ่ง เป็น 5,000 บาท พร้อมขยายระยะเวลาโครงการฯ และสนับสนุนให้มีโครงการคนละครึ่งเฟส 3 พร้อมขยายฐานจำนวนผู้ได้รับสิทธิ

รวมทั้งสนับสนุนให้มีโครงการช้อปดีมีคืน ในปี 2564 เพื่อกระตุ้นการบริโภคของประชาชนในกลุ่มที่ต้องเสียภาษี โดยคืนภาษีจากเดิมสูงสุด 30,000 เป็น 50,000 บาท เพื่อนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปี 2564

‘โครงการบ้านผีเสื้อ’ ของประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 32 หลังสหภาพยุโรปประกาศแพลตฟอร์ม โครงการต้นแบบด้านไฮโดรเจน ชูจุดเด่นกลุ่มอาคารบ้านพักแห่งแรกของโลกที่ผลิตไฟฟ้าใช้เอง

โครงการบ้านผีเสื้อของประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 32 โครงการต้นแบบด้านไฮโดรเจนทั่วโลกบนแพลตฟอร์ม Hydrogen Valley ของ Mission Innovation ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่นำเสนอโครงการชั้นนำที่เรียกว่า "Hydrogen Valleys" เพื่อกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้พัฒนาโครงการที่ส่งไปถึงผู้กำหนดนโยบายทั่วโลก

จากการประกาศโครงการไฮโดรเจนชั้นนำของโลกโดยคณะกรรมาธิการยุโรป มีโครงการบ้านผีเสื้อที่พัฒนาโดย Enapter หนึ่งในบริษัทไฮโดรเจนที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกในขณะนี้ ติดอันดับด้วย

สำหรับโครงการนี้สร้างขึ้นในปี 2015 เป็นกลุ่มอาคารบ้านพักแห่งแรกของโลกที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ควบคู่กับระบบกักเก็บพลังงานไฮโดรเจน ผลิตไฟฟ้าใช้เองทั้งหมด ที่สำคัญโครงการบ้านผีเสื้อเป็นเพียงโครงการเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น Hydrogen Valley และเป็นหนึ่งในไม่กี่โครงการที่มีการใช้งานจริง จาก Hydrogen Valley อื่น ๆ ที่ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา

ทั้งนี้ แนวคิด Mission Innovation ริเริ่มจากการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 21 (COP21) ที่กรุงปารีส เมื่อปี 2015 เพื่อกระตุ้นและขับเคลื่อนนวัตกรรมพลังงานสะอาดในระดับโลก การเปิดตัวแพลตฟอร์มในวันนี้ถือเป็นการเริ่มต้นการแก้ไขปัญหาความท้าทายด้านนวัตกรรม 1 ใน 8 ด้าน นำโดยประเทศออสเตรเลีย เยอรมนี และสหภาพยุโรป ในฐานะผู้นำร่วมของเป้าหมายด้านพลังงานทดแทนและไฮโดรเจนสะอาด

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า “ประเทศไทยตั้งเป้าให้มีสัดส่วนพลังงานทดแทน 30% ภายในปี 2037 ทั้งนี้ ความท้าทายไม่ใช่แค่การผลิตพลังงานสะอาดเพียงอย่างเดียว แต่ประเทศไทยเห็นว่าการกักเก็บพลังงานมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้เราจึงยินดีที่ทราบว่าประเทศไทยมีโครงการบ้านผีเสื้อ อยู่ในแพลตฟอร์ม Hydrogen Valley ของ Mission Innovation และหวังว่าบ้านผีเสื้อจะไม่เป็นเพียงโครงการเดียวแต่เป็นโครงการแรกของอีกหลาย ๆ โครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต"

นายจอร์จ ชมิดท์ เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย ระบุว่า "ประเทศไทยเป็นที่ตั้งของโครงการเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นคือ โครงการบ้านผีเสื้อ อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นโครงการที่แสดงให้เห็นว่าพลังงานไฮโดรเจนสามารถนำมาใช้ได้แล้วในวันนี้ เป็นต้นแบบของ Enapter บริษัทสัญชาติเยอรมันที่เป็นตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือระหว่างไทย-เยอรมัน"

โครงการบ้านผีเสื้อ เป็นกลุ่มอาคารบ้านพักที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ควบคู่กับระบบกักเก็บพลังงานแบบไฮบริดไฮโดรเจนร่วมกับแบตเตอรี่และเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน โครงการต้นแบบนี้พัฒนาโดยนายเซบาสเตียน ยุสตุส ชมิดท์ ผู้ก่อตั้งบริษัท Enapter ผู้ผลิตอิเล็กโทรไลเซอร์เทคโนโลยี AEM ที่ติดตั้งอยู่ในโครงการบ้านผีเสื้อ ทำงานโดยการผลิตไฮโดรเจนจากน้ำและพลังงานแสงอาทิตย์


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top