Wednesday, 19 March 2025
ECONBIZ

ข่าวดี! เกาหลีรับแรงงานไทยทำงานกิจการอุตสาหกรรมการผลิต และกิจการเกษตรและปศุสัตว์ กว่า 6 พันคน

กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดรับสมัครทดสอบภาษาเกาหลีและทักษะการทำงาน (Point System) ครั้งที่ 11 เพื่อไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลี ในประเภทกิจการอุตสาหกรรมการผลิต โควตา 5,671 คน และประเภทกิจการเกษตรและปศุสัตว์ โควตา 342 คน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานไทย และกระทรวงแรงงานสาธารณรัฐเกาหลี ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดส่งแรงงานไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลีตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (Employment Permit System for Foreign Workers: EPS) กำหนดให้กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานเป็นหน่วยงานผู้ทำหน้าที่รับสมัคร คัดเลือกและจัดส่งคนหางานไปทำงาน โดยคนหางานที่จะเดินทางไปทำงานต้องผ่านการทดสอบภาษาเกาหลี (EPS-TOPIK) และทักษะการทำงาน ตามที่สำนักบริการพัฒนาบุคลากรแห่งเกาหลี (Human Resources Development Service of Korea: HRD Korea) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการจัดสอบกำหนด

โดยครั้งนี้ได้ประกาศรับสมัครทดสอบภาษาเกาหลีและทักษะการทำงาน (Point System) ครั้งที่ 11 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์การบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ (e-Service) และชำระเงินค่าสมัครสอบแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) เพื่อสมัครไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลีตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (EPS) ประเภทกิจการอุตสาหกรรมการผลิต ให้โควตาผู้สอบผ่าน 5,671 คน แบ่งเป็น เพศชาย 2,836 คน เพศหญิง 2,835 คน กำหนดรับสมัครระหว่างวันที่ 24 -28 มีนาคม 2565 และประเภทกิจการเกษตรและปศุสัตว์ ให้โควตาผู้สอบผ่าน 342 คน แบ่งเป็นเพศชาย 171 คน และเพศหญิง 171 คน กำหนดรับสมัครระหว่างวันที่ 20 - 22 เมษายน 2565 

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมแรงงานไทยให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศมาโดยตลอด เพราะนอกจากแรงงานไทยสามารถมีรายได้ดูแลครอบครัว ยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองได้แล้ว รายได้และประสบการณ์ที่นำกลับมายังมีส่วนในการพัฒนาประเทศด้วย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าว

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ผู้ที่ประสงค์จะสมัครไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลี สามารถสมัครสอบได้ที่เว็บไซต์ toea.doe.go.th ลงทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์การบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรอกข้อมูลเพื่อลงทะเบียนคนหางาน โดยสามารถศึกษาวิธีการลงทะเบียน คุณสมบัติผู้สมัครและเอกสารที่เกี่ยวข้อง ที่เมนูข่าวประชาสัมพันธ์ หัวข้อ ประกาศรับสมัครทดสอบภาษาเกาหลีและทักษะการทำงาน (Point System) ครั้งที่ 11  EPS โดยเลือกสมัครสอบได้ประเภทงานเดียวเท่านั้น ซึ่งแรงที่สนใจสมัครทดสอบภาษาเกาหลีฯ ต้องยื่นคำขอการสมัคร โดยคนหางานกรอกข้อมูลการสมัครและแนบเอกสารผ่านระบบออนไลน์ เลือกศูนย์สอบ ซึ่งมีสถานที่สอบให้เลือก 2 ศูนย์ คือ ศูนย์สอบกรุงเทพมหานคร และศูนย์สอบอุดรธานีทำการตรวจสอบผลการอนุมัติ โดยตรวจสอบผลการพิจารณา และพิมพ์ใบแจ้งชำระเงินค่าสมัคร เพื่อชำระเงินค่าสมัครสอบ จำนวน 830 บาท ภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งสามารถชำระเงินค่าสมัครสอบได้ 4 ช่องทาง ได้แก่ 1.เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย 2.ATM / ADM 3.Internet Banking 4.ต่างธนาคาร Cross Bank Bill Payment จากนั้นตรวจสอบสถานะ สมัครสอบ การชำระเงิน และหมายเลขผู้สมัครสอบ และพิมพ์บัตรประจำตัวผู้สมัครสอบ 

หลักฐานและเอกสารที่ใช้ประกอบการสมัคร มีดังนี้
1. รูปถ่ายหน้าตรง พื้นหลังสีขาว รวบผมให้เห็นใบหูและไม่สวมเสื้อสีขาว ไม่สวมหมวก ไม่สวมแว่นตา ถ่ายไว้ไม่เกิน 3 เดือน (ประเภทไฟล์เป็น JPG และความละเอียด 10-15KB)
2. ถ่ายหนังสือเดินทางที่ยังไม่หมดอายุ (ถ้ามี) ต้องชัดเจน ระบุวัน เดือน ปีเกิดให้ครบถ้วน (ประเภทไฟล์เป็น JPG ความละเอียด 60 - 100 KB)
3 . ถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนที่ยังไม่หมดอายุ ต้องชัดเจน และระบุวัน เดือน ปีเกิดให้ครบถ้วน (ประเภทไฟล์เป็น JPG ความละเอียด 60-100 KB)

'ก้าวไกล' ฉะ 10 มาตรการเร่งด่วนรัฐบาล ช่วยน้อยเหมือนไม่ช่วย สะท้อนรัฐบาลถังแตก

น.ส. ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณี 10 มาตรการเร่งด่วนที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงวานนี้ (22 มี.ค. 65) ว่า เป็นการรับสารภาพว่า รัฐบาลเงินหมดหน้าตัก ไม่สามารถตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตรได้ถึงเดือน พ.ค. ตามที่เคยให้สัญญาไว้ และจะสิ้นสุดการตรึงราคาสิ้นเดือนเม.ย.นี้ รวมถึงจะทยอยขึ้นราคาก๊าซหุงต้มตามมา จึงออกมาตรการช่วยเหลือแบบกะปริบกะปรอยแก้ขัด ส่วนใหญ่เป็นการต่ออายุมาตรการเดิม ก้อนใหญ่สุดคือลดเงินสมทบประกันสังคม แต่รัฐบาลไม่ยอมใช้คืนกองทุน ทำสถานะการเงินกองทุนกระง่อนกระแง่น เสี่ยงขาดทุนเร็วขึ้น

ก.ล.ต. คลอดเกณฑ์คุมใช้ ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ ห้ามใช้ ‘ชำระค่าสินค้าหรือบริการ’ เริ่ม 1 เม.ย.นี้

ก.ล.ต. ออกหลักเกณฑ์ในการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลแล้ว ยันไม่สนับสนุนหรือส่งเสริมใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ

ก.ล.ต. ออกหลักเกณฑ์ในการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อไม่ให้สนับสนุนหรือส่งเสริมการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ ตามที่ ธปท. และ ก.ล.ต. ได้หารือร่วมกันและเห็นความจำเป็นในการกำกับดูแล สำหรับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ให้บริการอยู่ก่อนแล้ว ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 

ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้หารือร่วมกันถึงประโยชน์และความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัล และเห็นความจำเป็นในการกำกับดูแลและควบคุมการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ

เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงความเสี่ยงต่อประชาชนและธุรกิจ อาทิ ความเสี่ยงจากการสูญมูลค่าที่เกิดจากความผันผวนของราคา ความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หรือการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน

คณะกรรมการ ก.ล.ต. จึงพิจารณาใช้อำนาจตามกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำกับดูแลการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจไม่ให้มีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นเป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากอาจส่งผลให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ในวงกว้างนอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุน

โดยคณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบหลักการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในการจำกัดการให้บริการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ ซึ่งปรับปรุงตามข้อเสนอแนะที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง (ระหว่างวันที่ 25 มกราคม ถึง 8 กุมภาพันธ์ 2565)  ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น และออกประกาศเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล สรุปสาระสำคัญดังนี้

(1) ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภท ต้องไม่ให้บริการหรือกระทำการอันมีลักษณะที่เป็นการสนับสนุนหรือส่งเสริมการชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น การโฆษณา การชักชวนหรือแสดงตนว่าพร้อมให้บริการชำระค่าสินค้าหรือบริการแก่ร้านค้า หรือการจัดทำระบบหรือเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการชำระค่าสินค้าและบริการ การเปิดกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อวัตถุประสงค์ในการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ เป็นต้น   

(2) กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลพบว่า ลูกค้าใช้บัญชีที่เปิดไว้เพื่อการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้าและบริการ ผู้ประกอบธุรกิจต้องแจ้งเตือนเกี่ยวกับการใช้บัญชีผิดวัตถุประสงค์และไม่ตรงกับเงื่อนไขการให้บริการ และดำเนินการแก่ลูกค้าที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการให้บริการ ซึ่งรวมถึงระงับการให้บริการชั่วคราว ยกเลิกการให้บริการหรือดำเนินการอื่นใดในทำนองเดียวกัน  

ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 และสำหรับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการตาม (1) และ (2) อยู่ก่อนแล้ว ให้ผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติให้เป็นไปตามที่หลักเกณฑ์กำหนดภายใน 30 วันนับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ

คำถาม-คำตอบ

กรณีการออกเกณฑ์ในการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อไม่ให้สนับสนุนหรือส่งเสริมการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ(Means of Payment)  

1.) การนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment) จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อประชาชน และส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและระบบเศรษฐกิจอย่างไร 

คำตอบ

หากมีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการในวงกว้าง จะมีความเสี่ยงต่อผู้เกี่ยวข้องในมิติต่าง ๆ ดังนี้ 

(1.)  เสถียรภาพระบบการชำระเงิน 

หากสินทรัพย์ดิจิทัลถูกนำมาใช้เพื่อชำระค่าสินค้าบริการอย่างแพร่หลาย อาจส่งผลต่อการดูแลระบบการชำระเงินให้มีประสิทธิภาพ มั่นคงและปลอดภัย เนื่องจากสินทรัพย์ดิจิทัลส่วนใหญ่ถูกพัฒนาจากเทคโนโลยีสาธารณะแบบกระจายศูนย์ (public blockchain) ทำให้ไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลและไม่มีการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยไว้ หากเกิดปัญหา ผู้ใช้บริการอาจไม่ได้รับความคุ้มครอง นอกจากนี้ ยังทำให้มีระบบการชำระเงินหลายระบบ (fragmentation) และซ้ำซ้อน อาจสร้างความสับสนหรือทำเกิดต้นทุนหากผู้บริโภคต้องใช้หลายระบบ ทำให้ต้นทุนการชำระเงินโดยรวมของประเทศสูงขึ้นและส่งผลต่อเนื่องมายังการพัฒนาเศรษฐกิจการเงินด้วย 

(2.) เสถียรภาพทางการเงิน และความสามารถในการดูแลภาวะการเงินของประเทศ

การเกิดหน่วยวัดมูลค่า (unit of account) หรือหน่วยการตั้งราคาที่นอกเหนือจากสกุลเงินบาท จะเป็นต้นทุนในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนและธุรกิจ จากการแลกเปลี่ยนไป-มาระหว่างสกุลต่าง ๆ นอกจากนี้ ความต้องการถือครองสกุลเงินบาทที่ลดลง จะลดทอนประสิทธิภาพของการส่งผ่านนโยบายการเงิน ในการดูแลระดับราคาสินค้า รวมถึงลดความสามารถของ ธปท. ในการดูแลให้ภาวะการเงินสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา นอกจากนี้ หากเกิดวิกฤตสภาพคล่องในประเทศ ธปท. จะไม่สามารถเข้าช่วยเหลือด้านสภาพคล่องให้แก่สถาบันการเงินต่าง ๆ ในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่เงินบาทได้

มุมมองความเสี่ยงข้างต้นสอดคล้องกับมุมมองของผู้กำกับดูแลในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ และมาเลเซีย โดยที่ผ่านมา มีบางประเทศจำกัดการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในขอบเขตเพื่อการลงทุนเป็นหลัก เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม ขณะที่หลายประเทศอยู่ระหว่างการพิจารณาการกำกับดูแลที่เหมาะสมเช่นกัน 

(3.) ผู้ใช้หรือรับชำระสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งก็คือประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจ 

(3.1) ความเสี่ยงจากความผันผวนของมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งทำให้ยอดใช้จ่ายของผู้ใช้ หรือรายรับของผู้รับชำระมีความไม่แน่นอนสูง แม้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลบางรายมีบริการที่ช่วยแลกสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเงินบาทก่อนส่งมอบแก่ร้านค้า แต่ยังอาจมีต้นทุนแฝง เช่น ค่าธรรมเนียมในการแปลงสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อป้องกันความผันผวน ที่อาจเก็บจากผู้ใช้หรือผู้รับชำระได้ 

(3.2) ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมีโอกาสที่ผู้ใช้บริการจะถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ เกิดการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล หรือระบบหยุดชะงักทำให้เสียโอกาส 

(3.3) ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมาย ด้วยลักษณะของสินทรัพย์ดิจิทัลที่สามารถโอนหรือรับโอนจากกระเป๋าส่วนตัว (private wallet) ที่ผู้ใช้บริการไม่ต้องพิสูจน์ยืนยันตัวตน จึงมีโอกาสที่สินทรัพย์ดิจิทัลจะถูกใช้เพื่อการฟอกเงิน และเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนทางการเงินให้กับการก่อการร้าย รวมถึงการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีต่าง ๆ เป็นต้น

2 แนวทางนี้ สะท้อนว่าหน่วยงานภาครัฐไม่สนับสนุนอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลหรือไม่

คำตอบ

ประเด็นที่หน่วยงานกำกับดูแลฯ กังวล คือ ความเสี่ยงจากการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการอย่างแพร่หลายที่กล่าวถึงข้างต้น ขณะที่ระบบชำระเงินปัจจุบันของไทยมีประสิทธิภาพสูงอยู่แล้ว ทำให้การนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ในการชำระค่าสินค้าและบริการไม่ได้เพิ่มประโยชน์มากนักให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ 

อย่างไรก็ดี ธปท. และ ก.ล.ต. รวมถึงหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ เล็งเห็นประโยชน์ของเทคโนโลยีต่าง ๆ เบื้องหลังสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น blockchain และให้ความสำคัญและสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อต่อยอดนวัตกรรม และไม่ได้ปิดกั้นการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ในการลงทุน สะท้อนจากการที่ไทยเป็นประเทศแรก ๆ ของโลกที่มีกฎหมายรองรับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดย ก.ล.ต. เพื่อกำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้เหมาะสม และคุ้มครองประโยชน์ของผู้ใช้บริการมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ ธปท. เป็นธนาคารกลางแห่งแรก ๆ ที่เริ่มพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC) เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานเพื่อใช้ต่อยอดนวัตกรรมทางการเงิน และส่งเสริมการพัฒนาบริการทางการเงินใหม่ ๆ เช่น การจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านเทคโนโลยี blockchain หรือการออกหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์โดยใช้ blockchain เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบการเงินด้วย 

กรุงไทย จับมือ กนอ.จัดสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม 

นายกิตติพัฒน์ เพียรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารกรุงไทยเปิดเผยว่า ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อส่งเสริมมาตรการสนับสนุนทางการเงินเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน การใช้พลังงานทางเลือก และพลังงานทดแทน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน 

อีกทั้งยังเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรหรือระบบจัดการของเสีย ช่วยลดการใช้พลังงานและทรัพยากรให้เป็นไปอย่างคุ้มค่า เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และขับเคลื่อนธุรกิจให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพตามแนวทางการขับเคลื่อน BCG Model ของรัฐบาล เป็นการสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

รมว.เฮ้ง เร่ง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ปล่อยเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย หนุนสถานประกอบการ Upskill Reskill ลูกจ้าง โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ปล่อยกู้ปลอดดอกเบี้ยต่อเนื่องถึง ส.ค. 65 ช่วยสถานประกอบกิจการใช้หมุนเวียนในการพัฒนาทักษะฝีมือลูกจ้าง 

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญในการดูแลสถานประกอบกิจการ พี่น้องผู้ใช้แรงงาน ให้ได้รับการพัฒนาสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาศักยภาพด้านทักษะฝีมือแรงงาน

โดยมอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ขับเคลื่อนนโยบายสำคัญจัดการความเสี่ยงด้วยแนวทางเยียวยาความเดือดร้อนของกำลังแรงงานของประเทศ โดยให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการที่ต้องการพัฒนาทักษะฝีมือของลูกจ้างเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงาน สามารถกู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ปลอดดอกเบี้ย (ดอกเบี้ย 0%) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมฝีมือแรงงาน ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน หรือเข้ารับการประเมินรับรองความรู้ความสามารถ

นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้จัดสรรงบประมาณจากเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานให้สถานประกอบกิจการกู้ยืมแบบไม่มีดอกเบี้ยต่อเนื่องจนถึง 31 สิงหาคม 2565 ในวงเงินกู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 1,000,000 บาท ในปี 2565 ได้จัดสรรเงินไว้จำนวน 30 ล้านบาท สำหรับให้ผู้ประกอบกิจการกู้ยืมไปใช้ในการพัฒนาทักษะ หรือนำไปใช้ในการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติให้แก่พนักงาน แบบไม่มีดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 - 31 สิงหาคม 2565 

กอช. เปิดรับสมัครสมาชิก 100 บาท รับเงินสมทบจากรัฐสูงสุด 100% 

นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เปิดเผยว่า กอช. จัดโปรโมชันพิเศษ “แอปดีมีคืน” สำหรับสมาชิกใหม่ที่สมัครผ่านแอปพลิเคชัน กอช. เริ่มต้นออมเงินเพียง 100 บาท ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป รับ M-Coupon มูลค่า 50 บาท สามารถนำไปซื้อสินค้าที่ร่วมรายการได้ที่ร้านเซเว่น - อีเลฟเว่น ทุกสาขาทั่วประเทศ เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพสำหรับสมาชิก กอช. 

นอกจากนี้ เงินออมกับ กอช. ยังได้รับเงินสมทบจากรัฐในเดือนถัดไป สูงสุด 100% ตามช่วงอายุ ไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินในวัยเกษียณ 

'เพื่อไทย’ สอน ‘ประยุทธ์’ ลดต้นทุนพลังงาน หลัง 'น้ำมัน-ก๊าซ-ไฟฟ้า' ขึ้นไม่หยุด

‘ทีมเศรษฐกิจเพื่อไทย’ สอน ‘ประยุทธ์’ น้ำมัน-ก๊าซ-ไฟฟ้าขึ้นไม่หยุด จัดการให้ถูกลงได้ถ้าคิดเป็น แนะวิธีลดต้นทุนช่วยค่าครองชีพประชาชน

21 มี.ค. 65 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ราคาน้ำมันได้กลับมาเป็นขาขึ้นใหม่หลังจากราคาลงไปต่ำกว่า $100 ต่อบาร์เรลอยู่ไม่กี่วันแล้วกลับขึ้นมาอยู่ที่ $110 ต่อบาร์เรล และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอีกถ้าสงครามรัสเซียยูเครนยังยืดเยื้อและถ้ามีการแซงชันรัสเซีย รัฐบาลมีแนวโน้มที่จะเลิกพยุงราคาดีเซลต่ำกว่า 30 บาท ในไม่ช้า และค่าไฟฟ้ากำลังจะปรับราคาขึ้นเป็นหน่วยละ 4 บาทเริ่มเดือนพฤษภาคม จากราคาเดิมที่หน่วยละ 3.78 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้นมากและเป็นการปรับขึ้นมากที่สุดเท่าที่เคยปรับขึ้นมา ราคาก๊าซหุงต้มจะปรับขึ้นโดยถัง 15 กิโลกรัม. จาก ราคา 318 เป็น 333 บาทในวันที่ 1 เมษายนนี้ และจะปรับทั้งหมด 3 ครั้ง ราคาจะขึ้นไปถึง 363 บาท ซึ่งจะหนักมาก ประชาชนจะอยู่กันได้ยาก ถ้าราคาพลังงานปรับขึ้นสูงมากขนาดนี้ อีกทั้งราคาสินค้ากำลังจะเรียงหน้าขึ้นราคากันอีกจากการแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไม่ไหว โดยเอสเอ็นอีประกาศจะขึ้นราคาแล้วภายใน 3-6 เดือนนี้

สถานการณ์สงครามรัสเซียยูเครนจะกระทบกับห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ในสินค้าจำนวนมากกว่า 200 ชนิด ทำให้ราคาสูงขึ้น ทั้งราคาปุ๋ย ราคาอาหารสัตว์ ราคาแร่ธาตุต่างๆ เช่น เหล็ก นิกเกิล ไททาเนียม อะลูมิเนียม พาลาเดียม ฯลฯ รวมถึง แร่ธาตุหายากที่ใช้ผลิตไมโครชิปด้วย ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะทำให้ระดับราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น และเงินเฟ้อจะยิ่งสูงขึ้น อีกทั้งสินค้าจำเป็นหลายชนิดได้เริ่มขึ้นราคากันแล้ว เช่น ไข่ไก่ บะหมี่สำเร็จรูป นมข้นหวาน มะนาว ฯลฯ และจะมีสินค้าต่างๆ ขึ้นราคาเพิ่มขึ้นกันอีก

นายพิชัย กล่าวว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องหันกลับมาพิจารณาแล้วว่าจะทำอย่างไรเพื่อช่วยเหลือและลดค่าครองชีพของประชาชนเพื่อให้ประชาชนอยู่รอดได้ คำแนะนำเพียงให้เปิดแอร์ที่ 27 องศา ควบคู่เปิดพัดลม และไม่ใช้เตารีด ไดร์เป่าผมในห้องที่เปิดแอร์ และหมั่นล้างแอร์ รวมถึงใช้รถเท่าที่จำเป็น ก่อนหน้านี้ แม้จะเป็นเรื่องดี แต่เป็นเรื่องที่เก่ามาก และจะไม่สามารถช่วยประชาชนให้มีชีวิตรอดจากภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ในภาวะเช่นนี้ได้

อยากแนะนำให้พลเอกประยุทธ์ ได้พิจารณาลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชนที่เป็นสาเหตุหลักที่ต้นทุนสินค้าต่างๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถทำได้จริงดังนี้

'มาคาเลียส' จับมือพันธมิตรโรงแรมดังใกล้กรุง อัดโปรโมชั่นแรงดักกำลังซื้อก่อนสงกรานต์

มาคาเลียส (Makalius) สตาร์ตอัปธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์ชั้นนำของประเทศไทย เผยภาพรวมการท่องเที่ยวไทยเริ่มฟื้นตัว ปัจจัยหลักจากภาครัฐคลายล็อกดาวน์ พร้อมเดินหน้าฉีดวัคซีนโควิด-19 เกินกว่าครึ่ง ส่งผลให้คนไทยออกมาท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น เพราะมั่นใจในสถานการณ์ปัจจุบัน เตรียมอัดโปรโมชั่นแรง ดักกำลังซื้อคนไทยเตรียมเที่ยวช่วงสงกรานต์

นางสาวณีรนุช ไตรจักร์วนิช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มาคาเลียส ประเทศไทย จำกัด (Makalius) กล่าวว่า “ภายหลังจากภาครัฐบาลได้มีมาตรการเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 รวมถึงการคลายล็อกดาวน์ในช่วงต้นปี 2565 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ประชาชนเริ่มเกิดความมั่นใจและออกมาท่องเที่ยวกันเพิ่มมากขึ้น ทำให้ภาพรวมการท่องเที่ยวภายในประเทศเกิดการฟื้นตัวตามลำดับ จากการสำรวจอัตราการซื้อของผู้บริโภคมาคาเลียส พบว่า กว่า 50% เริ่มหันมาจองวอเชอร์ที่พักสำหรับการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น จากเดิมจะเน้นไปที่การจองวอเชอร์รับประทานอาหารบนเรือสำราญ ซึ่งที่พักยอดนิยมส่วนใหญ่จะไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก ได้แก่ เกาะช้าง กาญจนบุรี พัทยา หัวหิน เป็นต้น ส่วนอัตราการซื้อวอเชอร์ในแต่ละครั้งเฉลี่ยที่ 5,000-10,000 บาทต่อครั้ง และยังคงรูปแบบการท่องเที่ยวกับกลุ่มคนใกล้ชิด อย่างคู่รักและครอบครัว อีกทั้งยังเลือกที่พักที่มีบริการครบจบในสถานที่เดียว

'สมอ.'​ เข้ม!! มาตรฐาน 'หน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว'​ ป้องกันแพร่เชื้อ​ อ้างอิงตามมาตรฐานสากล

สมอ. เข้ม!! มาตรฐานหน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว ให้สอดคล้องตามสินค้าที่จำหน่ายในท้องตลาด เพิ่มความเข้มข้นในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคมากยิ่งขึ้น โดยอ้างอิงตามมาตรฐานสากล เพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตนได้กำชับให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งออกมาตรฐานหน้ากากอนามัย รวมทั้งอุปกรณ์ป้องกันอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง หากมาตรฐานฉบับใดไม่ทันสมัยก็ให้ทบทวนแก้ไขปรับปรุง เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ผลิตสินค้าให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน มีความปลอดภัยต่อการนำไปใช้ และลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรค โดยให้ครอบคลุมการใช้งานทุกประเภท ทั้งเพื่อป้องกันฝุ่น pm 2.5 ป้องกันโรคติดต่ออื่นๆ ที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ รวมถึงป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปสู่ผู้อื่น โดยเฉพาะโรคโควิด-19 ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกวัน หน้ากากอนามัยจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประชาชนที่ต้องใส่เมื่อออกนอกเคหสถาน ทำให้ปริมาณความต้องการใช้หน้ากากอนามัยเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

ดร.จุลพงษ์ ทวีศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา กมอ. ได้มีมติเห็นชอบมาตรฐานหน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว มอก.2424-25xx ที่ สมอ. ได้แก้ไขใหม่ จากมาตรฐานเดิม มอก.2424-2562 เพื่อให้สอดคล้องกับสินค้าที่วางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด ที่มีหลากหลายรูปแบบ และหลากหลายประเภท รวมทั้งสอดคล้องกับมาตรฐานต่างประเทศ เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคทางการค้าการส่งออกของผู้ประกอบการไทยในอนาคต โดยเร่งรัดให้ สมอ. ดำเนินการประกาศเป็นสินค้าควบคุมในคราวเดียวกัน ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้ภายในปีนี้ 

นอกจากนี้ กมอ. ยังได้เห็นชอบมาตรฐานอื่นๆ อีกรวม 49 มาตรฐาน เช่น มาตรฐานมือจับประตูและราวจับสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ เครื่องชั่งและบรรจุข้าวสาร เครื่องเรียงขวดพลาสติก ดวงโดมไฟฟ้า สายไฟฟ้าสำหรับอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า น้ำตาลทราย และแป้งมันสำปะหลัง เป็นต้น

ด้าน นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรฐานฉบับเดิม มอก.2424-2562 ครอบคลุมเฉพาะหน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียวที่ใช้ป้องกันอนุภาค เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากบุคคลหนึ่งไปสู่บุคคลหนึ่ง ได้แก้ไขเป็น มาตรฐานหน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว มอก.2424-25xx โดยมีสาระสำคัญของการแก้ไข เพื่อให้สอดคล้องกับสินค้าที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด ที่มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบจีบ แบบถุงหรือแบบปากเป็ด และแบบถ้วย โดยเพิ่มความเข้มข้นรายการทดสอบประสิทธิภาพการหายใจมากขึ้น และมีการแบ่งประเภทและระดับการป้องกันใหม่ตามวัตถุประสงค์การใช้งาน  

'เกษตรฯ' ดันแผนบริหารผลไม้ภาคตะวันออกรับฤดูกาลเก็บเกี่ยว

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในช่วงระหว่างนี้เรื่อยไปจนถึงประมาณเดือนกันยายน เป็นช่วงที่ผลไม้ภาคตะวันออกให้ผลผลิต ผลไม้สำคัญหลายชนิดโดยเฉพาะทุเรียน มังคุด และเงาะ ปีนี้ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา คาดว่าผลผลิตทุเรียนปีนี้อยู่ที่ประมาณ 744,549 ตัน มังคุด 210,864 ตัน และเงาะ 210,646 ตัน 

มีสาเหตุเนื่องมาจากหลากหลายปัจจัย ทั้งสภาพอากาศที่เหมาะสม จำหน่ายได้ราคาดีตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา จูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกและบำรุงรักษาผลไม้ดังกล่าวกันมากขึ้นเพื่อให้ได้ผลผลิตดีมีคุณภาพ และเพื่อเป็นการรักษาคุณภาพมาตรฐานของผลผลิตไม้ผลภาคตะวันออกตลอดทั้งฤดูกาล โดยในปี 2564 ที่ผ่านมานั้นไทยสามารถส่งออกผลไม้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แม้จะเผชิญกับปัญหาการขนส่งโลจิสติกส์จากค่าระวางที่สูงขึ้น การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และการปิดด่านหลายครั้งจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 

ดังนั้นในปี 2565 นี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้กำหนดเป้าหมายในการส่งออกผลไม้ภาคตะวันออกเพื่อเพิ่มศักยภาพการส่งออก สร้างความเชื่อมั่นสู่ผู้บริโภคในประเทศและต่างประเทศและการส่งออกผลไม้ต้อง Zero COVID เท่านั้น โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ทำแนวทางและวิธีการปฏิบัติร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับสั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัดตั้งชุดเฉพาะกิจร่วมกับฝ่ายปกครองในพื้นที่ เพื่อสกัดกั้นทุเรียนอ่อนในจังหวัดแหล่งผลิตที่สำคัญ 

'สภาอุตฯ' ชงรัฐ!! เปิดประเทศ ผ่อนปรนมาตรการรับนทท. เชื่อ!! เกี่ยวรายได้กว่า 6 แสนล้านถึง 1 ล้านล้านบาท

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยจะเสนอต่อที่ประชุม ศบศ.ในวันพรุ่งนี้ (18 มี.ค. 65) เพื่อพิจารณามาตรการในการเปิดประเทศ เช่น ยกเลิกมาตรการ Test & Go รวมทั้ง การกักตัวและการตรวจหาเชื้อ COVID-19 ด้วยวิธี RT-PCR (Real Time PCR) โดยปรับมาให้ผู้เดินทางเข้าประเทศแสดงวัคซีนพาสปอร์ต (Vaccine Passport) หรือหลักฐานการฉีดวิคซีน 2 เข็ม ก่อนเข้าประเทศเท่านั้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ เสริมสร้างบรรยากาศด้านการท่องเที่ยวของไทย และช่วยดึงเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวเข้ามาประคองเศรษฐกิจในช่วงเวลาเราที่ได้รับผลกระทบทั้งจากการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ที่ผ่านมา และแรงกดดันทางเศรษฐกิจจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ตามจากผลกระทบของการติดเชื่อโอมิครอนที่มีอาการรุนแรงไม่มากนัก ประกอบกับการปรับกลยุทธ์ของภาครัฐที่เตรียมจะปรับให้ COVID-19 เป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) จึงคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 จะขยายฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปช่วงครึ่งปีหลัง โดยตลอดทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยอยู่ที่ 5.58 - 6 ล้านคน และหากคิดเร็วๆ จะพบว่า รายจ่ายเฉลี่ยต่อหัวที่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาใช้จ่ายในไทยนั้นอยู่ที่ประมาณ 100,000 บาทต่อหัว ซึ่งเท่ากับว่าเราจะมีรายได้เข้าประเทศถึง 558,000 – 600,000 ล้านบาท โดยเฉพาะระหว่างเดือนมีนาคมจนถึงเมษายนนั้น ถือเป็นช่วง High Season ที่นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมเดินทางมาประเทศไทย หากเราเร่งปรับเงื่อนไขต่างๆ ให้สะดวกขึ้น รวมทั้ง การผ่อนปรนกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้กลับสู่ภาวะปกติไม่ว่าจะเป็น การประชุม, สัมมนา, การจัดนิทรรศการ และกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ก็มีส่วนสำคัญที่จะเสริมสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวได้อีกทางหนึ่ง

กรมบัญชีกลางออกหลักเกณฑ์และอัตราการเบิกค่ารักษาโควิด-19

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลาง ยกเลิกหนังสือกรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด ที่ กค 0416.4/ว 273 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2563 และกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลสถานพยาบาลของเอกชน กรณีผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
 
กรณีได้รับการประเมินเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดงและสีเหลือง) 
-สามารถเข้ารักษาได้ที่สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งทั่วประเทศ โดยอัตราการเบิกจ่ายเงินเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตฯ (UCEP Plus)
- การเบิกค่ารักษาพยาบาลครอบคลุมการรักษาตั้งแต่ต้นจนสิ้นสุดการรักษา 
- หากมีประกันภัย ต้องใช้สิทธิการเบิกจ่ายจากประกันภัยก่อน ส่วนที่เกินจากสิทธิจึงจะสามารถเบิกได้ 

รมว.เฮ้ง ยัน ค่าจ้างขั้นต่ำยังไม่ได้ข้อสรุป ขึ้นเท่าไหร่อยู่ที่ไตรภาคี 

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณี
ที่สื่อโซเซียลได้เผยแพร่ข่าวประกาศ!!! เตรียมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 บาท เป็น 492 บาท (รอการอนุมัติตัวเลข) นั้นว่า ข่าวดังกล่าวบิดเบือนไม่เป็นความจริง เนื่องจากข้อเท็จจริงในการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละครั้งนั้น มีคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นผู้แทนองค์กรไตรภาคีทั้ง 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง พิจารณาและปรึกษาหารืออย่างรอบคอบก่อนจะได้ข้อยุติร่วมกัน แม้ว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 จนถึงปัจจุบันแล้ว ในปี 2565 คณะกรรมการค่าจ้างได้กำหนดแผนการทบทวนความเหมาะสมของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนการให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดและคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกรุงเทพมหานคร ดำเนินการจัดประชุมเพื่อพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดและกรุงเทพมหานครให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2565 ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปแต่อย่างใด จากนั้นคณะกรรมการค่าจ้างจะพิจารณาข้อมูลทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2565

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า โดยปกติข้อเท็จจริงในการขึ้นค่าจ้างนั้น มีระบบไตรภาคีเป็นผู้พิจารณา ถึงความเหมาะสมตามหลักเกณฑ์สากลของไอแอลโอ ซึ่งเป็นผู้กำหนด ดำเนินการด้วยหลักเกณฑ์ที่มีเหตุมีผลสามารถตอบสังคมได้ ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำของไทยอยู่ในระดับต้น ๆ ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ สูงกว่าเวียดนาม มาเลเซีย เมียนมา นักลงทุนหลายประเทศจึงเลือกที่จะย้ายฐานการผลิตเพื่อไปหาแหล่งค่าจ้างที่ถูกกว่า ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเคยให้สัมภาษณ์และตอบกระทู้สดในสภาไปแล้วว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นเรื่องของภาวะเงินเฟ้อกี่เปอร์เซ็นต์ บวกกับค่าครองชีพแต่ละจังหวัดนั้น ๆ ถ้าจะขึ้นทั้ง 40% 30% ผมเชื่อว่าไม่มีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และค่าแรงคนงานของประเทศไทยส่วนมากพี่น้องคนไทยมีทักษะความสามารถได้ค่าแรงสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว ค่าแรงขั้นต่ำที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันส่วนมากกว่า 80% เป็นส่วนของคนต่างด้าว 3 สัญชาติที่เข้ามาทำงานเป็นกรรมกร

ถ้าเราจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 กว่าเป็น 400 กว่าเกือบ 40% ผมเชื่อว่าไม่มีบริษัทไหนอยู่รอดในสถานการณ์เช่นนี้ เพราะบริษัทต่างๆ รักษาการจ้างงานมา 2 ปี ขาดทุนจ่ายเงินให้ค่าจ้างแรงงาน เพื่อรักษาการจ้างงาน เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจะตัดทิ้ง 40% มันเป็นไปไม่ได้ ไม่มีเหตุผล การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมีการปรับแน่นอน แต่จะต้องพิจารณาตามภาวะเงินเฟ้อกับค่าครองชีพแต่ละจังหวัดด้วย ขอให้ทุกคนรอฟังข่าวจากกระทรวงแรงงานเท่านั้น ส่วนข่าวที่ปรากฏออกมาตามสื่อโซเซียลนั้นมาจากกลุ่มเรียกร้องค่าแรง 

ซึ่งเป็นข่าวบิดเบือนไม่เป็นความจริง ผมได้เรียกกลุ่มที่เรียกร้องค่าแรงมาหารือแล้วและได้อธิบายเหตุผลไปทั้งหมดแล้วว่า นายจ้างเคยจ่ายค่าจ้างเดือนละ 1,000,000 บาท ขาดทุนมา 2 ปี พอเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวกลับต้องมาจ่ายค่าจ้างเพิ่มขึ้นเป็น 1.3 - 1.4 ล้านบาท

รู้ไหม? ชื่อเดิมของ 'มาม่า' คือ 'เพรซิเดนท์'

'ยำมาม่า, มาม่าผัด, ลาบมาม่า หรือแม้แต่การต้มมาม่า' นั้น คงเป็นเมนูติดใจของใครหลายคนมานานจากซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อ 'มาม่า'

แต่ทราบหรือไม่ว่าเดิมที 'มาม่า' นั้นชื่อว่า 'เพรซิเดนท์' ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับบริษัทไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบันที่เป็นผู้ผลิต 'มาม่า'

แล้วชื่อ 'มาม่า' เกิดขึ้นมาได้อย่างไร? 

ย้อนไปเมื่อ ช่วงปี 2500 – 2510 ซึ่งเป็นยุคที่สังคมไทยมีความเป็นเมืองมากขึ้น รสนิยมและวิถีชีวิตด้านการรับประทานอาหารของคนไทยเริ่มเปลี่ยนไปมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น

โดยในช่วงเริ่มต้น 'มาม่า' เป็นสินค้าที่มีราคาใกล้เคียงกันกับอาหารหรือก๋วยเตี๋ยวในช่วงเวลานั้น

'สุริยะ' สั่ง 'ดีพร้อม' ปั้น CIV Leader รับวิถี Now Normal คิกออฟ 'บ้านปลายบาง' ต้นแบบชุมชนนำร่องการท่องเที่ยว

กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้านโยบายขับเคลื่อนการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ภายหลังอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเริ่มฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง เตรียมพร้อมของวิสาหกิจชุมชนในการเร่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวในประเทศ พร้อมสั่งการกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม พัฒนาต่อยอดผู้นำชุมชนให้เป็นผู้นำหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือ CIV Leader นำร่อง 20 ชุมชน เพื่อรองรับวิถีชีวิตปัจจุบันที่สามารถอยู่ร่วมกับสภาพการเปลี่ยนจากโควิด-19 ได้อย่างเป็นปกติ (Now Normal) โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมพัฒนาชุมชนตามสภาพปัจจุบัน ซึ่งคำนึงถึงต้นทุนของชุมชน และศักยภาพของแรงงานที่เดินทางกลับภูมิลำเนา และการส่งเสริมพัฒนาสินค้าชุมชนตามพฤติกรรมลูกค้า พร้อมชู “ชุมชนท่องเที่ยวบ้านปลายบาง” ตัวอย่างชุมชนนำร่องการท่องเที่ยวที่มีการปรับตัวไว พลิกวิกฤตพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์พื้นถิ่น สร้างรายได้อย่างยั่งยืน โดยคาดว่าจะสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 300 ล้านบาท

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศถือได้ว่าเริ่มฟื้นตัวขึ้น จากปริมาณนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่ และอัตราการเข้าพักในโรงแรมในเดือนมกราคมที่เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีที่ผ่านมา เป็นภาพสะท้อนโอกาสทางธุรกิจที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้ามสำหรับหลายกิจการที่รอคอยให้เครื่องจักรการท่องเที่ยวกลับมาเดินเครื่องเต็มกำลังอีกครั้ง ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน เพราะถือเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก จึงได้สั่งการกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ขยายผลการดำเนินงานโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village : CIV) หรือ หมู่บ้าน CIV ที่ประสบความสำเร็จจากการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา สร้างรายได้มั่นคงให้กับ 250 ชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ 

ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า การขับเคลื่อนหมู่บ้าน CIV ในปีนี้ ดีพร้อมเน้นการดำเนินงานภายใต้นโยบาย “DIProm CARE: ดีพร้อม แคร์” ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ปัญหาชุมชนที่จะลงลึกถึงความต้องการเฉพาะในแต่ละพื้นที่ พร้อมการส่งเสริมที่ตรงจุด ด้วยทีมบุคลลากรคุณภาพที่เชี่ยวชาญองค์ความรู้ในด้านการจัดการอุตสาหกรรมและการพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ อีกทั้ง ได้ปรับรูปแบบเพื่อรองรับวิถีชีวิตปัจจุบันที่สามารถอยู่ร่วมกับสภาพการเปลี่ยนจากโควิด-19 ได้อย่างเป็นปกติ (Now Normal) ประกอบด้วย... 

>> Now Village หรือ การส่งเสริมพัฒนาชุมชนตามสภาพความเป็นปัจจุบัน คือ การสำรวจความพร้อมและผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ของชุมชน ซึ่งถือเป็นต้นทุนเดิมในการพัฒนา และการสำรวจต้นทุนที่เกิดขึ้นใหม่ คือ การเปลี่ยนแปลงของประชากรในชุมชน เพราะในช่วงการแพร่ระบาดที่ผ่านมามีแรงงานฝีมือจำนวนมากที่ตกงานและเดินทางกลับภูมิลำเนาที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน หากสามารถใช้ศักยภาพของแรงงานเหล่านี้ในการพัฒนาสินค้าและบริการของชุมชน จะทำให้สร้างรายได้เพิ่มขึ้นและชุมชนเกิดความยั่งยืนในอนาคต 

>> Now Customer หรือ การส่งเสริมพัฒนาสินค้าชุมชนตามพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้า หรือนักท่องเที่ยวในปัจจุบันที่หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น และความต้องการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปด้วยมาตรการการควบคุมโรค ที่เข้มงวดการเดินทางระหว่างประเทศ ทำให้การท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มขึ้น และนักท่องเที่ยวบางส่วนงดการเดินทางท่องเที่ยว แต่ยังคงมีความต้องการซื้อสินค้าชุมชน หรือสินค้าที่เป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่น การพัฒนาสินค้าและบริการในความปกติปัจจุบัน จึงต้องพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในกลุ่มนี้ 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top