Sunday, 28 April 2024
ECONBIZ

กระทรวงคมนาคม ปักเข็ม 64 เดินหน้าดันโปรเจ็กต์มอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง มูลค่าโครงการรวมกว่า 8.3 หมื่นล้านบาท

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ในปี 64 กระทรวงคมนาคมจะผลักดัน 3 โครงการวงเงินรวมประมาณ 83,520 ล้านบาทให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย

1.) โครงการทางหลวงระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) ช่วงเอกชัย - บ้านแพ้ว ระยะทาง 16.4 กม.วงเงินก่อสร้าง 19,700 ล้านบาท ซึ่งครม. อนุมัติให้กรมทางหลวง (ทล.) ดำเนินการโดยใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์อยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ทล.วางเป้าหมายเปิดประมูลกลางปีนี้ จะเชื่อมต่อทางยกระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ระยะทางประมาณ 10 กม. วงเงินประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ที่ทล. กำลังก่อสร้าง และจะแล้วเสร็จภายในเดือนส.ค. 65

2.) โครงการมอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) ช่วงรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 18 กม. วงเงินก่อสร้าง 28,135 ล้านบาท จะเชื่อมต่อมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน - นครราชสีมา (M6) โดยสั่งการให้ ทล. เร่งศึกษาเพื่อขออนุมัติกระทรวงคมนาคมรวมทั้งครม.ภายในปีนี้

และ 3.) โครงการมอเตอร์เวย์ทางยกระดับช่วงศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (M7) ระยะทาง18.5 กม. วงเงิน 35,685 ล้านบาท จะเร่งเสนอครม.ภายในปีนี้เช่นกัน โดยใช้หลักการให้ภาครัฐร่วมลงทุนกับเอกชน( PPP ) คาดว่าจะผลักดันให้เดินหน้าได้และตอบโจทย์การจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้บริหารงานประเทศไทยตั้งแต่ครม. ยุคก่อน (ประยุทธ์ 1) จนถึงปัจจุบันรวมเวลา 6 - 7 ปีแล้ว ต้องการให้เร่งดำเนินโครงการที่ได้ลงทุนไปแล้ว และสามารถเปิดบริการได้

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดรายได้จากการเก็บค่าผ่านทางกลับเข้ามาซึ่งในส่วนของกระทรวงคมนาคม ดำเนินหลายโครงการตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี อาทิ โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - รังสิต และช่วงบางซื่อ - ตลิ่งชัน ที่เตรียมเปิดบริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบช่วงเดือน พ.ย.64 รวมถึงโครงการมอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายพัทยา - มาบตาพุด ที่เปิดให้บริการและเก็บค่าผ่านทางเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

‘ปิดทองหลังพระ’ ด้วยเศรษฐกิจพอเพียงสร้างรายได้ให้ชุมชน | BizMAX EP.30

จากข่าว "สร้างรายได้จากแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ‘ปิดทองหลังพระ’ ช่วยเพิ่มรายได้ชุมชน 426 ล้าน เล็งขยายเพิ่มอีก 9 จังหวัดพื้นที่ต้นแบบในปีนี้"

Link ข่าว : https://thestatestimes.com/post/2021022820 ​

จากเนื้อหาข่าว สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์ใช้แก้ปัญหาชุมชนในท้องถิ่น ในพื้นที่ 12 จังหวัด ช่วยสร้างรายได้เพิ่ม 426 ล้าน เล็งขยายเพิ่มอีก 9 จังหวัดในปีนี้ เศรษฐกิจพอเพียงที่ว่านั้นคืออะไรและมีแนวทางอะไรบ้าง มาร่วมวิเคราะห์กันกับ หยก THE STATES TIMES

.

ธปท.ยันยังไม่มีธนาคารกลางใดในโลกที่รับรอง cryptocurrency ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ลั่น ‘ไทยบาทดิจิทัล -THT’ ผิดกฎหมาย เตือนประชาชนอย่ายุ่งเกี่ยว อาจถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ เสี่ยงถูกใช้เป็นเครื่องมือการฟอกเงิน

จากกรณีที่ Terra Platform เตรียมออก Stablecoin ซึ่งเป็น cryptocurrency อีกชนิดหนึ่ง ในชื่อ THT เปรียบเทียบราคา 1 หน่วยของมูลค่า THT เท่ากับ 1 บาท เพื่อใช้เป็นค่าเงินแลกเปลี่ยนในรูปแบบดิจิทัล

ล่าสุด นายพฤทธิพงศ์ ศรีมาจันทร์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกฎหมาย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ภาคเอกชนมีความพยายามในการพัฒนาคริปโทเคอร์เรนซีด้วยการอิงมูลค่ากับสินทรัพย์หรือเงินตรา เพื่อให้มูลค่าผันผวนน้อยลง ซึ่งคริปโทเคอร์เรนซีประเภทนี้ รู้จักในชื่อว่า "Stablecoin"

ต่อมา ได้มีการพัฒนา Stablecoin ชนิดใหม่ที่ประยุกต์ใช้กลไกสัญญาอัจฉริยะ (Smart contract) ในการเทียบมูลค่าให้เท่ากับสกุลเงินตราต่าง ๆ โดยเริ่มมีกระแสข่าวการออก Stablecoin ชนิดหนึ่ง ชื่อ THT บน Terra Platform ที่อยู่ในต่างประเทศ ซึ่งระบุให้ 1 หน่วยของมูลค่า THT เป็น 1 บาท

แม้ในปัจจุบัน THT จะยังไม่ได้ถูกใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน แต่ถ้า THT หรือ stablecoin ที่มีลักษณะทำนองเดียวกันถูกนำมาใช้ทดแทนเงินบาทในวงกว้าง จะทำให้เกิดการแบ่งแยกระบบเงินตราของประเทศไทยออกไปมากกว่าหนึ่งระบบ และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและความมั่นคงของระบบเงินตราของประเทศ อันเป็นรากฐานสำคัญของการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ดังนั้น จึงถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากเป็น การทำ จำหน่าย ใช้ หรือนำออกใช้ วัตถุหรือเครื่องหมายแทนเงินตราที่เป็นความผิดตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501

ทั้งนี้ ประชาชนควรระมัดระวังและไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกรรม THT เนื่องจากไม่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย รวมทั้งอาจมีความเสี่ยงที่จะถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ หรือถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการฟอกเงิน

อย่างไรก็ตาม Do Kwon ผู้ร่วมก่อตั้ง Terra Blockchain ได้โพสข้อความบนทวิตเตอร์ส่วน โดยกล่าวถึงการที่ ธปท.ออกมาเตือนเรื่อง “ไทยบาทดิจิทัล (THT)” โดยระบุว่า “พวกเขามักจะกลัวคุณ ก่อนที่จะเข้าร่วมกับคุณ และตอนนี้ก็ทำให้ธนาคารกลางต้องเฝ้าระวัง”

อย่างไรก็ตาม Do Kwon ย้ำว่า THT จะมีการนำไปใช้งาน ไม่ว่า ธปท. จะชอบหรือไม่ก็ตาม

สำหรับ THT Stablecoin จะออกบนแพลตฟอร์ม Terra ที่มีการผลิตเหรียญ stablecoin อื่น ๆ ออกมาแล้วก่อนหน้านี้ รวมถึง TerraUSD ซึ่งออกครั้งแรกในเดือนกันยายน 2020 และ TerraKRW

Terra นั้นก่อตั้งขึ้นในปี 2018 ในเกาหลีใต้ โดยได้รับเงินสนับสนุน 32 ล้านดอลลาร์จาก Binance และ Polychain ในเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา

กระทรวงการคลัง ผนึกกำลังสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดันนโยบาย ‘Made in Thailand’ สนับสนุนหน่วยงานรัฐซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศ เปิดโอกาสผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยเข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐได้มากขึ้น

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง ได้ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ผลักดันนโยบาย “Made in Thailand” เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน หันมาใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศมากขึ้น โดยส่งเสริมและช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันด้านการตลาดในประเทศได้

ซึ่งที่ประชุม ครม.ได้พิจารณาอนุมัติกฎกระทรวง กำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563 เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานราชการใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศเพิ่มขึ้น ประกาศเป็นกฎกระทรวงที่มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ประเมินว่า จากกฎกระทรวงฉบับนี้ที่สนับสนุนหน่วยงานให้ภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย คือผู้ประกอบการสามารถเพิ่มยอดขาย และหน่วยงานภาครัฐได้สินค้าที่ผลิตในประเทศไทยตามที่ต้องการ ภาครัฐมั่นใจว่าการสนับสนุนครั้งนี้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการและห่วงโซ่เอสเอ็มอี เข้มแข็งขึ้น จากยอดการซื้อจากภาครัฐ ซึ่งในแต่ละปีหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศจะใช้งบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างกว่า 1.77 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเป็นการยกระดับเสริมศักยภาพการแข่งขันและลดภาระด้านการเงินที่ต้องนำมาหมุนเวียนในธุรกิจ

สำหรับการรับรองสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย หรือ Made in Thailand ได้กำหนดสัดส่วนมูลค่าวัตถุดิบผลิตในประเทศอย่างน้อย 40% โดยคุณสมบัติของผู้ขอขึ้นทะเบียนสินค้า Made in Thailand จะเป็นผู้ประกอบการไทยหรือต่างประเทศ ที่มีโรงงานผลิตในประเทศไทย มีใบอนุญาตประกอบกิจการ มีการจดทะเบียน มีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรที่ถูกต้องในประเทศไทย และมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด

หากสินค้าใดที่ผ่านการรับรองจะได้รับเอกสารรับรองที่ ส.อ.ท. ออกให้แก่ผู้ประกอบการนำ ไปใช้แสดงคุณสมบัติสินค้า Made in Thailand กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และต่อไปในอนาคตจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมบัญชีกลางอย่างเป็นระบบ

สำหรับกลุ่มสินค้า Made in Thailand ที่มีโอกาสเข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ อาทิ วัสดุครุภัณฑ์สำนักงาน, ครุภัณฑ์การศึกษา, จอมอนิเตอร์, เฟอร์นิเจอร์, ชุดยูนิฟอร์ม, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ, อุปกรณ์ไฟฟ้าและพลังงาน, วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในงานก่อสร้าง อาทิ เหล็ก, ปูนซีเมนต์

รวมถึงจะมุ่งประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลไปยังกลุ่มผู้ค้าส่ง ค้าปลีก ที่เข้าร่วมยื่นเสนองานกับภาครัฐให้เข้าใจในกฎกระทรวงฉบับใหม่และการนำสินค้า Made in Thailand ไปเสนอต่อภาครัฐด้วย ตั้งเป้าหมายในปี 2564 จะมีผู้ยื่นขอการรับรอง Made in Thailand ไม่ต่ำกว่า 100,000 รายการสินค้า

เอกชนเริ่มทนไม่ไหว วอนรัฐบาลเร่งกระจายวัคซีนโควิด พร้อมมีแผนดำเนินงานอย่างชัดเจน หลังพบวัคซีนโควิด อืดเป็นเรือเกลือ ลั่นบริษัทเอกชนยินดีจ่ายค่าวัคซีนให้พนักงานเอง

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ทางรอดเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤติโควิด เรื่องของวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นสิ่งสำคัญต่อการเปิดประเทศ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ แต่ไทยเพิ่งเริ่มฉีดวัคซีนได้เพียงแค่ 40,000 โดสในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ส่วนแผนกระจายของรัฐบาล ทราบว่า ได้ทำสัญญาซื้อไปแล้ว 60 ล้านโดส แต่จะเริ่มฉีดให้กับคนไทยได้อย่างเต็มที่เดือนละ 10 ล้านโดสเริ่มเดือน มิ.ย.64 นั้น ถือว่า ล่าช้ามาก

ทั้งนี้หอการค้าไทยเสนอ 4 แนวทาง คือ

1.)การกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง โดยในภาคธุรกิจนั้น กลุ่มที่มีความเสี่ยงในธุรกิจบริการที่ต้องมีการติดต่อทั้งกับคนไทยและคนต่างชาติ ควรได้รับการฉีดเป็นลำดับต้น ๆ

2.) รัฐต้องมีแผนกระจายวัคซีนที่ชัดเจน เพื่อให้เอกชนสามารถบริหารจัดการธุรกิจให้สอดคล้องกับแผนการกระจายวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3.) เร่งฉีดอย่างรวดเร็ว โดยเอกชนสามารถร่วมทำแผนการกระจายวัคซีนเพื่อให้เข้าถึงประชาชนอย่างรวดเร็ว และบริษัทที่มีกำลังก็ยินดีจ่ายค่าวัคซีนให้พนักงานเอง

และ 4.) การสื่อสารสร้างความมั่นใจ โดยทุกฝ่ายต้องช่วยกันสื่อสารชี้แจงถึงความปลอดภัยของวัคซีน ซึ่งจะเป็นแนวทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยให้เร็วยิ่งขึ้น

กรมการจัดหางาน เผยข่าวดี แรงงานไทยเดินทางทำงานไต้หวัน ไม่ต้องจ่ายเงินค่ากักตัว 14 วัน เตือนอย่าหลงเชื่อ จ่ายเงินคนแอบอ้าง

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า ได้รับการประสานจากสำนักงานแรงงาน ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) ไทเป เรื่องมาตรการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด- 19 ล่าสุดกระทรวงแรงงานไต้หวัน ได้กำหนดให้นายจ้าง/บริษัทจัดหางาน เป็นผู้รับผิดชอบค่ากักตัวให้แก่แรงงานเมื่อเดินทางไปทำงานไต้หวัน โดยนายจ้าง/บริษัทจัดหางาน เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายการจัดเตรียมสถานที่กักตัว ค่าอาหารทุกมื้อ ค่าตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ค่าพาหนะรับ-ส่งจากสนามบินถึงที่พัก

นอกจากนี้ทางการยังกำหนดให้จัดห้องพักให้แรงงานห้องละ 1 คน หากไม่สามารถทำได้จะต้องเว้นระยะห่างทางสังคม 1.5 เมตร และต้องสวมหน้ากากอนามัย ติดตั้งอุปกรณ์ฆ่าเชื้อ ทั้งนี้หลังจากกักตัวครบ 14 วัน นายจ้าง/บริษัทจัดหางานต้องจัดหารถรับ - ส่งแรงงานไทยเดินทางไปตรวจโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ณ โรงพยาบาลตามที่ศูนย์ควบคุมโรคไต้หวันกำหนด โดยศูนย์ฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจโรค ในส่วนของค่าจ้างระหว่างกักตัว นายจ้างและลูกจ้างต้องตกลงกันเอง

หากนายจ้างไม่รับผิดชอบ ลูกจ้างสามารถยื่นขอรับเงินชดเชยการขาดรายได้จากกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการไต้หวันได้ ในอัตราวันละ 1,000 เหรียญไต้หวัน เฉพาะวันทำงานปกติ โดยมีกำหนดยื่นภายใน 2 ปี หลังสิ้นสุดการกักตัว ยกเว้นผู้ที่เดินทางกลับประเทศไทยหลังวันที่ 17 มีนาคม 2563 และเดินทางกลับมาทำงานที่ไต้หวันอีกครั้ง จะไม่มีสิทธิยื่นขอเงินชดเชยดังกล่าว

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชน/คนหางานที่จะเดินทางไปทำงานไต้หวันระมัดระวัง อย่าหลงเชื่อจ่ายเงินให้แก่ผู้ใดเป็นค่ากักตัว 14 วัน และเลือกเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมี 5 วิธี ได้แก่

1.) บริษัทจัดหางานจัดส่ง

2.) กรมการจัดหางานจัดส่ง(รัฐจัดส่ง)

3.) นายจ้างพาลูกจ้างไปทำงานต่างประเทศ

4.) นายจ้างส่งลูกจ้างไปฝึกงานในต่างประเทศ

5.) คนหางานเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยตนเอง เพื่อได้รับการคุ้มครองสิทธิ และสวัสดิการตามมาตรฐานที่พึ่งมี และป้องกันการตกเป็นเหยื่อของผู้ฉวยโอกาสแสวงหาผลประโยชน์

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาระบบการไปทำงานในต่างประเทศ โทรศัพท์ 02-245-6708-9 ในวันและเวลาราชการ หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694

ไทยครองแชมป์ดื่มเบียร์แห่งเอเชีย หลัง Expensivity เผยรายงาน World Beer Index 2021 หรือดัชนีเบียร์โลก ประจำปี 2021 โดยทำการรีเสิร์ชราคาเบียร์จากซูเปอร์มาเก็ตทั่วโลกผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ numbeo.com ว่า…

ใน 5 ประเทศแรกที่มีประชากรดื่มเบียร์มากสุดในเอเชีย ปี 2021 (เกณฑ์วัด: เบียร์ขวด 330 มล.) ผลปรากฎว่า ประเทศไทยครองแชมป์ โดยมีอัตราการบริโภคเฉลี่ย 142 ขวดต่อคนต่อปี ตามมาด้วย 2.) เกาหลีใต้ (130 ขวด/คน/ปี) 3.) จีน (127 ขวด/คน/ปี) 4.) ฟิลิปปินส์ (114 ขวด/คน/ปี) และ 5.) ญี่ปุ่น (88 ขวด/คน/ปี)

ขณะเดียวกันประเทศแรกที่มีค่าใช้จ่ายในการดื่มเบียร์สูงที่สุดในเอเชีย เฉลี่ย ก็ยังเป็นประเทศไทยที่ครองแชมป์อีกด้วย เฉลี่ย 686 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี 2.) เกาหลีใต้ (595 ดอลลาร์/คน/ปี) 3.) ญี่ปุ่น (544 ดอลลาร์/คน/ปี) 4.) ฟิลิปปินส์ (485 ดอลลาร์/คน/ปี) และ 5.) สิงคโปร์ (439 ดอลลาร์/คน/ปี)

นอกจากนี้ World Beer Index 2021 ยังมีรายงานผลในส่วนอื่นๆ อีก โดยประชากรดื่มเบียร์มากสุดในโลก ปี 2021 ได้แก่ 1.) สาธารณรัฐเช็ก (468 ขวด/คน/ปี) 2.) สเปน (417 ขวด/คน/ปี) 3.) เยอรมนี (411 ขวด/คน/ปี) 4.) โปแลนด์ (398 ขวด/คน/ปี) และ 5.) ออสเตรีย (389 ขวด/คน/ปี)

ประเทศที่มีค่าใช้จ่ายในการดื่มเบียร์สูงที่สุดในโลก ปี 2021 คือ 1.) เยอรมนี (1,908 ดอลลาร์/คน/ปี) 2.) โปแลนด์ (1,738 ดอลลาร์/คน/ปี) 3.) ลิธัวเนีย (1,586 ดอลลาร์/คน/ปี) 4.) ออสเตรีย (1,554 ดอลลาร์/คน/ปี) และ 5.) อังกฤษ (1,554 ดอลลาร์/คน/ปี)

ส่วนประเทศที่มีราคาเบียร์แพงสุดในเอเชีย ปี 2021 ได้แก่ 1.) จีน (7.71 ดอลลาร์/ขวด) 2.) ญี่ปุ่น (6.16 ดอลลาร์/ขวด) 3.) สิงคโปร์ (5.17 ดอลลาร์/ขวด) 4.) ไทย (4.82 ดอลลาร์/ขวด) และ 5.) มาเลเซีย (4.74 ดอลลาร์/ขวด)


ที่มา: https://www.bltbangkok.com/news/33715/?fbclid=IwAR0_lOrfe-mHhG095snyLkaeH4Nh79xYCW5P6SuHLGZDoLjjtpYSusP8RUg

Huawei จะมาขายรถยนต์ไฟฟ้าเพราะยอดขายมือถือ ‘ตกฮวบ’ | Story Telling EP.4

Huawei จะมาขายรถยนต์ไฟฟ้า เพราะยอดขายมือถือ ‘ตกฮวบ’ เกิดอะไรขึ้นกับ Huawei ทำไมถึงมีข่าวเกี่ยวโยงกับรถยนต์ไฟฟ้า

.

เศรษฐกิจเวียดนามแซงไทยแล้วจริงหรือ?? | BizMAX EP.29

จากข่าว "เวียดนาม ไม่ทำตัวเป็น 'กบต้ม' วิ่งฉิวไปต่อไม่รอใคร"

Link ข่าว : https://thestatestimes.com/post/2021022315

ประเทศเวียดนามในขณะนี้มีการแซงหน้าประเทศไทยในเรื่องของเศรษฐกิจหลายดัชนี ทั้งในเรื่องของการส่งออก #Export ทุนต่างชาติไหลเข้า #FDI (แม้ไทยยังคงมี GDP และ GDP per capita สูงกว่าเวียดนาม) แล้วประเทศไทยจะมีวิธีการแข่งขัน งัดไม้เด็ดมาสู้ทางด้านเศรษฐกิจได้อย่างไร มาร่วมวิเคราะห์กันกับ หยก THE STATES TIMES  

.

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.พ. 64 อยู่ที่ 49.4 จาก 47.8 ในเดือน ม.ค.ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน หลังสถานการณ์โควิดเริ่มซา พร้อมได้อานิสงส์มาตรการรัฐหนุน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือน ก.พ.64 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการกลับมาปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือนนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 63 เป็นต้นมา โดยปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 47.8 เป็น 49.4 หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มปรับตัวลดลง รวมทั้งมีการเริ่มต้นการฉีดวัคซีนเกิดขึ้น และจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเริ่มลดลงอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ หากการฉีดวัคซีนในประเทศมีแผนการที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้นและการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศดำเนินการได้กว้างขวางขึ้นในอนาคต เศรษฐกิจไทยน่าจะเริ่มฟื้นตัวเด่นชัดขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปีนี้เป็นต้นไป และจะทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปีนี้เป็นต้นไปด้วยเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ประเมินว่า ผู้บริโภคจะเริ่มกลับมาจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น แต่ต้องติดตามผลสัมฤทธิ์ของการควบคุมโควิด-19 ในไทยว่าจะคลี่คลายลงได้เร็วแค่ไหน รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะออกมาเยียวยาผลกระทบรอบใหม่ของรัฐบาลในช่วงไตรมาสที่ 2 จาก โครงการ “เราชนะ” “คนละครึ่ง” และ “ม33เรารักกัน” ว่าจะสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยได้มากน้อยเพียงใด และสถานการณ์ทางการเมืองของไทยจะดีขึ้นหรือแย่ลง อย่างไรหลังจากการปรับครม.ไปแล้ว

ในห้องแนะแนว Clubhouse วันก่อนมีการสนทนาที่น่าสนใจระหว่าง โจ้ - ธนา เธียรอัจฉริยะ ซึ่งได้พูดคุยร่วมกับ เอ๋ - นิ้วกลม (สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์) และ พี่ตุ้ม - หนุ่มเมืองจันท์ (สรกล อดุลยานนท์) ร่วมกับ คุณตัน ภาสกรนที เจ้าของ อิชิตัน กรุ๊ป

มีอยู่ประเด็นหนึ่งภายใต้บทสนทนาของทั้ง 4 ซึ่งกล่าวถึงเส้นทางความสำเร็จแบบตัน โดยเพจ ‘เขียนไว้ให้เธอ’ ได้มีการหยิบยกส่วนหนึ่งมาโพสต์เป็นข้อความที่ชวนคิดต่อคนทำงานในยุคนี้อย่างมากว่า…

คุณตันทำอย่างไรถึงถีบตัวขึ้นมาจากการเป็น ‘จับกัง’ ซึ่งอยู่ ‘ล่างสุด’ ของห่วงโซ่อาหารได้?

คุณตันผู้ซึ่งบอกก่อนเลยว่าเป็นคนการศึกษาน้อย ‘รูปไม่หล่อ พ่อไม่รวย’ มีต้นทุนชีวิตที่ต่ำมาก ๆ นั้น ใช้วิธีอาสาสมัครทำทุกอย่างที่คนอื่นไม่ทำ ตอนเป็นจับกังแบกของอยู่ ใครใช้ไปส่งของก็ไปส่ง กลับมาก็มาบริการทำงานให้หัวหน้า ใช้อะไรก็ทำหมด เงินเดือนเท่าเดิม ไม่เคยเกี่ยงงาน

พอมีโอกาส มีตำแหน่งว่าง หัวหน้าก็ยื่นโอกาสเป็นเซลล์ให้ เป็นเซลล์ต้องขี่เวสป้าได้ คุณตันขี่ไม่เป็นก็รับไว้ก่อน แล้วไปหัดขี่มอเตอร์ไซด์เอา

พอได้เป็นเซลล์ก็ทำตรงข้ามคนอื่นเสมอ คนอื่นมาสายกลับเร็ว คุณตันไปเร็วกลับช้า งานอะไรใครใช้ ช่วยอะไรได้ทำหมด

ประสบการณ์ที่ทำหลายแผนก เจอคนหลายคน ทำให้เรียนรู้และก้าวหน้า ซึ่งความคิดของคุณตันในตอนนั้น ก็คือ เงินที่คุณตันหาคือ ‘เงินอนาคต’ วันนี้ได้น้อย แต่ประสบการณ์และโอกาสที่ได้นั้นคือเงินอนาคต และก็เป็นแบบนั้นจริง ๆ

เพจ ‘เขียนไว้ให้เธอ’ โพสต์ต่ออีกว่า ผมมานึกถึงสีหน้าคุณตันที่มีหลักคิดแบบนั้น เวลาหัวหน้าใช้งานที่ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของตัวเอง เช่น ให้ไปส่งของ หรือหาอาสาสมัครทำงานเวลาแปลกๆ หรือแม้กระทั่งถามว่าขี่มอเตอร์ไซด์เป็นหรือเปล่า ผมคิดว่าพอได้ยินคำสั่งหรือคำถามเหล่านั้น คุณตันน่าจะดูตื่นเต้น ‘ตาโต’ และรีบยกมืออาสาก่อนคนอื่นอย่างแน่นอน เพราะเหมือนเห็นเงินอนาคตกองอยู่ สีหน้าคุณตันคง น่าจะทำให้หัวหน้าสังเกตเห็นและชอบเรียกใช้เพราะไม่เกี่ยงงาน มีอะไรก็จะนึกถึงตลอดแน่ ๆ

ในขณะเดียวกัน ผมก็จะนึกถึงน้อง ๆ หลายคนที่พอได้ยินคำพูดที่ไม่ถูกใจ ที่อาจจะเกิดจากงานที่ไม่ชอบทำ กำลังเบื่อ ๆ ไม่อยากทำอะไรที่ไม่ใช่ของตัวเอง ไม่ชอบทำงานฟรี ๆ เงินได้เท่าเดิม คิดเล็กคิดน้อย ชอบเทียบกับเพื่อน แถมไวกับความรู้สึกตัวเองแล้วออกอาการ ‘ชักสีหน้า’ มีความไม่พอใจเล็ก ๆ

พอสังเกตเห็น คิ้วเริ่มชนกัน หรือมีคำพูด คำอ้างที่ไม่อยากทำ รับมาแบบเสียไม่ได้ หรือทำไปบ่นไปให้เข้าหู เวลามีงานด่วน งานเร่ง หรืองานที่ต้องแก้ปัญหา

ถ้าหลีกเลี่ยงน้อง ๆ เหล่านี้ได้ ผมก็จะหลีกเลี่ยง เพราะเสียความรู้สึกเวลาเห็นสีหน้าที่ไม่ค่อยพอใจ และในลักษณะคล้ายกัน ถ้ามีโอกาส มีงานที่อยากส่งเสริม น้อง ๆ เหล่านี้ ก็จะเป็นกลุ่มท้าย ๆ ที่นึกถึงเช่นกัน

ทัศนคติวิธีคิดเรื่องเงินอนาคตของคุณตันนั้น มีส่วนสำคัญมาก ๆ ต่อปฏิกริยาที่แสดงออกทางสีหน้า ซึ่งเป็นที่ชอบใจของหัวหน้า

ฉะนั้นไม่ว่าเราจะคิดอะไรต่อการใช้งานของหัวหน้า ไม่ว่างานนั้นจะแฟร์หรือไม่แฟร์ ทำไมคนอื่นไม่โดนบ้าง เป็นงานเกินหน้าที่ หรืออะไรก็ตาม สีหน้าที่แสดงออก ณ วินาทีนั้น มีความสำคัญมากๆ ที่จะสร้างภาพจำของเราต่อหัวหน้า ซึ่งจะส่งผลต่อเวลาที่โอกาสมาถึงว่าเราจะอยู่ในใจของผู้ใหญ่ก่อนคนอื่นหรืออยู่ท้ายสุด

พูดง่าย ๆ ก็คือ ในโลกปัจจุบัน ต่อให้เราไม่เห็นด้วยแค่ไหน ก็ควรทำ ‘หน้า’ ที่ดูตอบรับ ดูรับฟัง และพยายามก่อน แล้วหาทางไปแก้ปัญหาทีหลัง ยังจะดีเสียกว่า

โดยเฉพาะกับผู้ที่เพิ่งเริ่มงานได้ไม่นาน ยังเป็น ‘จูเนียร์’ อยู่ หนทางที่เราจะก้าวหน้าในองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ไม่ว่าจะรู้สึกอย่างไร อย่า ‘ชักสีหน้า’ โดยเด็ดขาด เพราะไม่งั้น ก็จะแพ้คนอย่างคุณตันที่เจอปัญหาแล้ว ‘ตาโต’ เสมอ

เมื่อเจอ ‘งาน’ หรือ ‘ปัญหา’ จะ ‘ชักสีหน้า’ หรือ ‘ตาโต’ ก็ลองเลือกเอา


ที่มา: https://www.facebook.com/101815121284197/posts/291639775635063/

รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เล็งเสนอศบค. เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เริ่ม 1 เม.ย. 64 ลดเวลากักตัวคนฉีดวัคซีนแล้วเหลือ 7 วัน ส่วนคนที่ยังไม่ฉีดกัก 10 วัน นำร่อง 6 จังหวัดท่องเที่ยว ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ ชลบุรี และพังงา

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) วันที่ 19 มี.ค.นี้ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะเสนอให้พิจารณาเกี่ยวกับการลดจำนวนวันกักตัวท่องเที่ยวต่างชาติจาก 14 วัน แยกเป็น

1.) นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว เมื่อเดินทางเข้าประเทศไทยต้องสวอปหาเชื้อก่อนเป็นครั้งแรก เข้ากักตัวในโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการแอเรีย ควอรันทีน เพียง 7 วัน แต่ไม่ต้องอยู่เฉพาะในห้องพัก สามารถออกมาทำกิจกรรมภายในบริเวณที่กำหนดได้ แล้วค่อยสวอปหาเชื้อเป็นครั้งที่ 2 ถ้าไม่เจอเชื้อถึงจะสามารถออกไปท่องเที่ยวได้

2.) นักท่องเที่ยวที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนมา ต้องสวอปหาเชื้อก่อนเป็นครั้งแรก แล้วเข้ากักตัว 10 วัน ก่อนสวอปเชื้ออีกครั้ง จากนั้นถึงจะสามารถท่องเที่ยวได้

ทั้งนี้ จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.นี้ และรัฐบาลจะออกไทม์ไลน์อย่างชัดเจนว่าทุก ๆ 2 เดือนนับจากนี้จนถึงสิ้นปี 64 จะผ่อนปรนได้ขนาดไหนและอย่างไร โดยนำร่อง 6 จังหวัดท่องเที่ยว ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า) เชียงใหม่ ชลบุรี (พัทยา และจอมเทียน) และพังงา (เขาหลัก) ที่เพิ่งเพิ่มมาล่าสุด เนื่องจากมีความต้องการจากนักท่องเที่ยวกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียน

‘จุรินทร์’ เตรียม "ลงนามข้อตกลงขายข้าว 1 ล้านตันต่อปี" หลังครม.อนุมัติร่าง MOU การค้าข้าว ไทย - อินโดนีเซีย เพิ่มโอกาสส่งออกข้าวไทยเจาะตลาดอินโด

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้กระทรวงพาณิชย์จัดทำ MOU ว่าด้วยการค้าข้าวระหว่างกระทรวงพาณิชย์ ของไทย กับ กระทรวงการค้าแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยรัฐบาลอินโดนีเซียได้แจ้งความประสงค์ขอจัดทำ MOU และได้ประชุมหารือประเด็นดังกล่าวผ่านระบบ Video Conference กับกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เมื่อช่วงปลายปี 2563 โดยสาระสำคัญของ MOU ดังกล่าวระบุว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงจะซื้อขายข้าวปริมาณไม่เกิน 1 ล้านตันต่อปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การผลิตของทั้งสองประเทศและระดับราคาในตลาดโลก ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะต้องมีการเจรจาและทำสัญญากันต่อไป โดยที่ MOU ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 4 ปี

"รัฐบาลอินโดนีเซียขอทำ MOU โดยเป็นข้าว 15% - 25% กับรัฐบาลไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสำรองข้าว เพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศ หากเกิดเหตุการณ์ที่ปริมาณผลผลิตข้าวภายในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลอินโดนีเซียมีนโยบายพึ่งพาตนเองด้านอาหาร (self-sufficiency policy) ส่งเสริมการปลูกข้าวภายในประเทศ เพื่อให้เพียงพอและนำเข้าเท่าที่จำเป็น แต่ในบางปีอินโดนีเซียประสบปัญหาผลผลิตข้าวได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด - 19 จึงมีความจำเป็นต้องนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ เพื่อบริโภคและเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวภายในประเทศ "

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การทำข้อตกลง หรือ MOU ดังกล่าว จะเป็นโอกาสให้รัฐบาลอินโดนีเซียนำเข้าข้าวจากไทย ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณการส่งออกข้าวไทยไปยังตลาดอินโดนีเซียให้มากขึ้น รวมทั้งยังเป็นการรักษาความสัมพันธ์และความร่วมมือ ทางการค้าข้าวอันดีระหว่างไทยและอินโดนีเซียที่มีมาอย่างยาวนานด้วย

ทั้งนี้กรมการค้าต่างประเทศ รายงานว่า ในปี 2563 ไทยส่งออกข้าวไป อินโดนีเซีย ปริมาณ 89,406 ตัน มูลค่า 2,262 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ 46.23

ญี่ปุ่นจ่อพัฒนา ‘Gatebox’ เพื่อนสาวเสมือนจริง ขนาดเท่าคน ตอบโจทย์คนเหงา = ธุรกิจบริการ คาดเปิดขายช่วงแรกให้ฟากธุรกิจก่อน แต่ก็อาจจะขายให้คนทั่วไปด้วย

เว็บไซต์ SoraNews24 นำเสนอข่าวว่า Gatebox หรือเพื่อนสาวเสมือนกำลังจะถูกพัฒนาให้มีขนาดใหญ่เท่าขนาดคนจริง

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา Gatebox บริษัทเทคโนโลยีของญี่ปุ่นได้ปล่อยผลิตภัณฑ์ ที่มีชื่อว่า Gatebox หรือ ‘อุปกรณ์อัญเชิญตัวละคร’ ซึ่งมีรูปร่างคล้ายเครื่องชงกาแฟขนาดกะทัดรัด สามารถตั้งบนโต๊ะทำงานของคุณได้ โดย GateBox จะสร้างภาพ 3 มิติของตัวละครที่คุณชอบ มาคอยดูแลและให้กำลังใจคุณ (ส่วนใหญ่จะเป็นหนุ่ม ๆ) ในทุก ๆ วัน เช่น ปลุกคุณในตอนเช้า เปิดปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า และสามารถสนทนาโต้ตอบกับคุณได้ตลอดทั้งวัน

ที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์ GateBox ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยมีการอัปเดตซอฟต์แวร์ครั้งใหญ่เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา และล่าสุดทางบริษัทฯ มีแผนจะเปิดตัวเวอร์ชันใหม่ของ Gatebox ที่ใช้ชื่อว่า ‘Gatebox Grande’ ซึ่งเป็น Gate box ที่เพิ่มขนาดขึ้น ให้มีความสูงราว 165 เซนติเมตร หรือเท่าขนาดคนจริง

อย่างไรก็ตาม ด้วยขนาดของ Gatebox Grande ที่มีขนาดใหญ่กว่า Gatebox รุ่นเดิม โดยมีระบบแสดงผลขนาดใหญ่ และมีขนาดเครื่องที่สูงราว 2 เมตร น่าจะเหมาะกับภาคธุรกิจ ในฐานะผู้ต้อนรับเสมือนจริง เช่น ติดตั้งในร้านค้า สถานบันเทิง พิพิธภัณฑ์ โรงภาพยนตร์ สถานที่จัดงานต่างๆ และธุรกิจอื่น ๆ เป็นอันดับแรก

แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่จะเปิดขายให้กับคนทั่วไปที่มีกำลังทรัพย์และพื้นที่เหลือเฟือ (ภายในอพาร์ตเมนต์ของคนโสด) เพราะคาดว่าจะมีราคาที่สูงมากเช่นกัน (ราคารุ่นแรกร่วม 5 หมื่นบาท)

สำหรับ Gatebox เวอร์ชั่นก่อนหน้าไซส์ จะเป็นตัวการ์ตูนสาวที่เคลื่อนไหวได้อย่างอิสระในแท่งแก้ว สามารถโต้ตอบกับเราได้อย่างเป็นธรรมชาติ เนื่องจากใช้เทคโนโลยี AI ที่คอยเรียนรู้พฤติกรรมประจำวันของเรา รวมถึงตัวเสื้อผ้าที่สวมใส่ยังเปลี่ยนไปตามช่วงเวลาในแต่ละวันได้เองอัตโนมัติ แถมยังสามารถรายงานสภาพอากาศ, เป็นนาฬิกาปลุก และควบคุมการเปิดปิดของอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านตามเวลาที่กำหนด

ขณะเดียวกัน ยังสามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนได้ ทำให้คุณสามารถติดต่อสื่อสารกับ Gatebox ได้เหมือนมีเพื่อนสาวจริง ๆ แม้จะอยู่นอกบ้าน ซึ่งจะคอยถามไถ่สารทุกข์สุกดิบและอยู่ข้าง ๆ คุณในทุกช่วงเวลา

ส่วน GateboxGrande ก็มีความสามารถคล้ายกัน เช่น สามารถตรวจจับมนุษย์ได้และตัวละครสามารถตอบโต้กับผู้คนได้ เช่น กล่าวต้อนรับผู้มาเยือนเมื่อพวกเขาเข้าใกล้ และขอบคุณพวกเขาเมื่อพวกเขาออกจากร้านไป เพื่อสร้างความรู้สึกว่ามีตัวละครอยู่จริง ไม่ใช่แค่วิดีโอที่ถูกบันทึกไว้


ที่มา : 

https://www.khaosod.co.th/lifestyle/news_6096297

https://soranews24.com/2021/03/08/virtual-anime-wife-gadgets-go-life-size-with-gatebox-grande

รัฐบาลเตรียมเปิดตัวโครงการ “SME คนละครึ่ง” ช่วยลดภาระค่าบริการทางธุรกิจ เพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน คาดเริ่มเปิดโครงการฯ กลางปีนี้

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผยรัฐบาลเตรียมมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยเพิ่มเติม ในลักษณะร่วมกันจ่ายกับ SME (Co-payment) มีสัดส่วนตั้งแต่ร้อยละ 50 - 80 สำหรับค่าใช้จ่ายในการขอทดสอบผลิตภัณฑ์ จดทะเบียนหรือขอใบรับรองมาตรฐานต่าง ๆ และการปรึกษาทางธุรกิจ เช่น มาตรฐานการบัญชี มาตรฐานสินค้าเกษตร (มกอช.) มาตรฐานอาหาร (อย.) ซึ่งที่ผ่านมาการขอรับบริการทางธุรกิจต่างๆ มีค่าใช้จ่ายสูง เป็นต้นทุนสำคัญของการประกอบการ และกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของเอสเอ็มอีไทยด้วย

โดย คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบโครงการดังกล่าวแล้ว คาดว่าจะเริ่มเปิดตัวโครงการ SMEs’ Co-payment ในกลางปีนี้ ซึ่งนอกจากจะลดภาระค่าใช้จ่ายแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ เอสเอ็มอีไทยที่มีอยู่กว่า 3.1 ล้านราย สามารถตัดสินใจเลือกพัฒนาคุณภาพและขอรับมาตรฐานสินค้าและบริการที่ตรงความต้องการของแต่ละอุตสาหกรรมแต่ละราย สร้างโอกาสใหม่ ๆ ทางการตลาดด้วยผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมาตรฐานสากลด้วย

ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้ริเริ่มแนวทางเพื่อสร้างทางเลือกให้กับ SME ในการพัฒนาธุรกิจของตนเองให้ได้ตรงตามความต้องการได้มากขึ้น สสว. จากผู้ให้บริการทางธุรกิจ (Business Development Service: BDS) โดยสสว. จะให้การเงินสนับสนุนแบบร่วมจ่าย (co-payment) โดยมีค่าใช้จ่ายที่สามารถขอรับการสนับสนุน ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการอบรมพัฒนาความรู้ด้านธุรกิจ ค่าใช้จ่ายในการทดสอบและรับรองมาตรฐาน ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การทดลองผลิตระดับอุตสาหกรรมและการออกแบบ ค่าใช้จ่ายในการขยายโอกาสทางการตลาด ค่าใช้จ่ายในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา รวมทั้งค่าตอบแทน เช่น ค่าที่ปรึกษา ค่าผู้เชี่ยวชาญ ค่าวินิจฉัย เป็นต้น โดยคุณสมบัติของเอสเอ็มอีต้องเป็นธุรกิจที่มีการยื่นชำระภาษีและขึ้นทะเบียนสมาชิกกับ สสว.

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเปิดเผยอีกว่า ล่าสุดรัฐบาลได้มีการปรับกฎเกณฑ์ด้วยการออกกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 เพื่อเอื้อให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 22 ธ.ค. 2563

นอกจากนี้แล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังได้มีการหารือเพื่อปรับปรุงโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Softloan) ให้มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้เข้าถึงซอฟท์โลนได้ง่ายและมีวงเงินกู้สูงขึ้น รวมทั้งแนวทาง asset warehousing เพื่อช่วยเหลือไม่ใช้ทรัพย์สินธุรกิจที่ยังมีศักยภาพต้องถูกยึดหรือปิดตัวลง ซึ่งรายละเอียดจะนำสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในเร็ววันนี้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top