Saturday, 22 March 2025
ECONBIZ

รัฐเร่งเครื่องยานยนต์ไฟฟ้า ดันมาตรฐานอีวีเพิ่มรองรับ 

นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ที่ประชุม กมอ. ได้เห็นชอบมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มอีก 19 มาตรฐาน เพื่อรองรับนโยบายการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของรัฐบาล หลังจากได้มีการประกาศใช้แล้วจำนวน 116 มาตรฐาน 

สำหรับมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าที่ประกาศเพิ่มอีก 19 มาตรฐาน เช่น มาตรฐานจักรยานยนต์ไฟฟ้า มาตรฐานระบบแบตเตอรี่ในรถยนต์ไฟฟ้า มาตรฐานระบบการสื่อสารระหว่างรถยนต์ไฟฟ้ากับโครงข่ายไฟฟ้า มาตรฐานระบบขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้า มาตรฐานระบบเบรกของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และมาตรฐานวิธีทดสอบที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า

ด้าน นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า ในปี 2565 สมอ. มีแผนจัดทำมาตรฐานอีกจำนวน 19 มาตรฐาน ได้แก่มาตรฐานเรือไฟฟ้า ชิ้นส่วนสำหรับดัดแปลงรถจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า  ระบบจอดอัตโนมัติของรถยนต์  และระบบแบตเตอรี่ของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น โดยจะเร่งดำเนินการออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลด้านอีวีให้เป็นรูปธรรม 

พิษสงครามรัสเซีย-ยูเครน ดันราคาสินค้าเกษตรพุ่ง

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. ประเมินราคาสินค้าเกษตรในเดือนมีนาคม 2565 โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน เป็นสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้นมากที่สุด ราคา 8.58 – 9.02 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 3.12 – 8.41%

ทั้งนี้เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจในต่างประเทศที่เริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ความต้องการบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงสูงเกินกว่ากำลังการผลิต ประกอบกับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย – ยูเครน ส่งผลต่ออุปทานน้ำมันของโลก ทำให้หันมาใช้พืชพลังงานอย่างปาล์มน้ำมันทดแทน จึงทำให้ราคาปาล์มน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น 

ส่วนสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ ราคา 11,503 – 11,850 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.50 – 3.54%, น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคา 18.65 – 18.80 เซนต์/ปอนด์ (13.32-13.45 บาท/กก.) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.65 – 1.45%, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคา 8.99 – 9.02 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.11 – 0.45 

‘CG บราซิล’ ยกย่อง Thailand Pavilion ยอดเยี่ยม นำเสนอเรื่องดี ร้อยเรียงเนื้อหางานเก่ง เต็มสิบไม่หัก

กลายเป็นอีกความน่าภาคภูมิใจ หลังจากเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 65 ที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทาง General Elias Rodrigues Martins Filho-Commissioner General for Brazil Pavilion ได้เข้าเยี่ยมชมอาคารแสดงประเทศไทย โดยมี ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการฯ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า (depa) ในฐานะ Thailand Pavilion Director และ ดร.จักกนิตต์ คณานุรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมกำลังคนดิจิทัล ให้การต้อนรับ

ในการนี้ General Elias Rodrigues Martins Filho ได้กล่าวแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสที่อาคารแสดงประเทศไทยมียอดผู้เข้าชมผ่าน 1 ล้านคนไปเมื่อช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พร้อมชมเชยว่าความสำเร็จดังกล่าวเป็นผลจากการเตรียมการอย่างดีตั้งแต่แนวคิดในการนำเสนอ การร้อยเรียงข้อมูลที่ประยุกต์ “สายน้ำ” เป็นผู้ดำเนินเรื่องเพื่อสะท้อนการพัฒนาประเทศจากความรุ่งเรืองในอดีตสู่ปัจจุบันและต่อเนื่องไปในอนาคต รวมถึงการออกแบบอาคาร การบริหารจัดการกิจกรรมตลอดระยะเวลาการจัดงาน ตลอดจนการคัดเลือกเยาวชนไทยมาทำหน้าที่ Thailand Pavilion Ambassador เพื่อส่งมอบความประทับใจให้กับผู้เข้าชมอาคารทุกคน

'กอบศักดิ์' ชวนคิด!! สงครามค่าเงิน เกมสงครามคู่ขนาน แนวรบที่น่าติดตามจากสงคราม 'ยูเครน-รัสเซีย'

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า สงครามค่าเงิน กับ รัสเซีย

อีกแนวรบที่น่าติดตาม จากสงครามยูเครน-รัสเซีย คือ สงครามค่าเงิน

เรียกว่าเป็น สมรภูมิ ที่ต่อสู้กันรุนแรงมากอีกสมรภูมิหนึ่ง

ซึ่งเป็นสนามรบที่จะมีนัยต่อไปอีกมาก เพราะค่าเงินที่สูงขึ้น หมายความว่า ต้นทุนของสินค้าต่างๆ ในรัสเซีย จะเพิ่มสูงขึ้น และจะมีนัยไปต่อถึงเงินเฟ้อที่ล่าสุดสูงถึง 8.73% ให้เพิ่มขึ้นได้อีก 7-10% สร้างความลำบากในการครองชีพให้กับคนรัสเซีย และบั่นทอนเสถียรภาพทางการเมืองของรัสเซีย

ล่าสุด สู้กันมา 4 วัน ยังสู้กันไม่จบ

ตั้งแต่วันจันทร์เป็นต้นมา ค่าเงินวิ่งอยู่ระหว่าง 120 รูเบิล/ดอลลาร์ และ 97 รูเบิล/ดอลลาร์ หรือเหวี่ยงขึ้นลงประมาณ 15-20%

หมัดที่ออกกันมา ก็เรียกว่าไม่ธรรมดา

เริ่มจากการ Sanctions ปกติ ที่ทำให้ค่าเงินอ่อนจาก 70 รูเบิล/ดอลลาร์ เป็น 85-90 รูเบิลต่อดอลลาร์

ตามมาด้วยการประกาศ Freeze เงินสำรองของรัสเซียที่อยู่ในโลกตะวันตก เมื่อเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา 

ทำให้เงินสำรองรัสเซียที่สะสมไว้ตั้งแต่หลังการผนวกไครเมีย ที่เคยอยู่ที่ 3.5 แสนล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2015 เพิ่มเป็น 6.43 แสนล้านดอลลาร์ ในปัจจุบัน บางส่วนไม่สามารถนำออกมาสู้ศึกค่าเงินได้ 

ไม่น่าแปลกใจ หลังมาตรการดังกล่าว ค่าเงินรูเบิลทิ้งดิ่งจาก 85 รูเบิล/ดอลลาร์ไปสู่ระดับ 117 รูเบิล/ดอลลาร์ ทันที

และก็หมุนเวียน ขึ้นลงอยู่ระหว่าง 97-120 รูเบิล/ดอลลาร์

หลายคนถามว่า "ถ้าเงินสำรองถูกยึดแล้ว รัสเซียสู้อย่างไร"

คำตอบ "มาตรการ Capital Control" ในรูปแบบต่างๆ ที่ถูกทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง
- ปิดตลาดหลักทรัพย์ ไม่ให้นักลงทุนขาย เงินก็ติดอยู่ในนั้น
- การประกาศห้ามไม่ให้นักลงทุนต่างประเทศ ขายสินทรัพย์ในรัสเซีย
- การบังคับให้ผู้ส่งออก ต้องเอาเงินตราต่างประเทศ 80% ที่ได้มา ออกมาขายในตลาด ไม่ให้เก็บไว้
- การออกค่า Commission 30% สำหรับการแลกเปลี่ยนเงิน
- ล่าสุด คือการที่กำลังจะจ่ายชำระคืนหนี้ไม่ได้ ซึ่งอาจจะต้องประกาศหยุดการชำระหนี้ 

ศิริกัญญา’ ห่วงวิกฤต 'รัสเซีย-ยูเครน' ทำราคาน้ำมันพุ่ง หวั่น!! 2 มาตรการตรึงราคาภาครัฐท่าจะเอาไม่อยู่ 

‘ศิริกัญญา’ ห่วงวิกฤต 'รัสเซีย-ยูเครน' ทำราคาน้ำมันพุ่ง ซ้ำเติมปัญหาปากท้องประชาชน ย้ำ 2 มาตรการตรึงราคาเอาไม่อยู่ เหตุรัฐบาลเมินแก้กฎหมายบริหารหนี้สาธารณะ ปิดประตูทางรอดทางการคลังของประเทศ

4 มี.ค. 65 ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) แสดงความกังวลปัญหาค่าครองชีพของประชาชนที่จะมากขึ้น สืบเนื่องจากกรณีปัญหาสงครามระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน ว่า ส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกปรับสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่อง เมื่อวานนี้ (3 มี.ค. 65) น้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) พุ่งขึ้นมาปิดที่ 114.59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่ เดือน พ.ค. 54 ขณะราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) พุ่งขึ้นมาปิดที่ 119.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ยังไม่ต้องพูดถึงราคาก๊าซธรรมชาติ ราคาอาหารสัตว์ และปุ๋ย ที่ตบเท้าเรียงแถวกันขึ้นพร้อมๆ กันย่อมกระทบกับเศรษฐกิจไทยและค่าครองชีพประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม

“ถึงแม้ว่าสงครามอาจไม่ยืดเยื้อยาวนาน แต่ก็ไม่มีใครทราบว่าจะจบลงในรูปแบบใด และการแซงก์ชั่นหรือคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจะจบลงพร้อมกับสงครามหรือไม่ ราคาพลังงานและสินค้าต่างๆ จะกลับมาเป็นปกติเมื่อใด รัฐบาลยังคงมีเป้าหมายที่จะตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 30 บาท/ลิตร และแย้มมาว่าจะอุดหนุนราคาน้ำมันเบนซินไปพร้อมๆ กัน แต่ ณ วันนี้ปั๊มต่างๆ ปรับราคาดีเซลขึ้นไปเกิน 30 บาทกันหมดแล้ว แม้จะเป็นเป้าหมายที่ดี แต่เริ่มเกิดความไม่มั่นใจว่าจะทำอย่างไร และยังมีคำถามคาใจที่ยังไม่มีคำตอบคือจะเอาเงินมาจากไหน ประชาชนส่วนนึงยังเฝ้ารอคำตอบชัดๆ ถึงมาตรการ” รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลระบุ

ศิริกัญญา ยังกล่าวต่อไปว่า มาตรการที่มีอยู่ตอนนี้มี 2 ส่วน ส่วนแรก คือใช้เงินจากกองทุนน้ำมัน ซึ่งติดลบอยู่ 20,000 ล้านบาทแล้วในปัจจุบัน ข่าวแว่วมาว่าจะใช้เงินอุดหนุนจากกองทุนเพิ่มอีกเป็น 4 บาท/ลิตร ในสถานการณ์ที่กองทุนยังกู้เงินจากสถาบันการเงินไม่ได้ เนื่องจากติดปัญหาการเปลี่ยนสถานะจากนิติบุคคลเป็นองค์การมหาชน จึงยังไม่ได้รับรองบัญชี ทำให้วงเงินที่ครม.เคยอนุมัติไว้ 30,000 ล้าน ยังไม่มีเม็ดเงินจริงๆ เข้ากองทุนเลยแม้แต่บาทเดียว ยังคงต้องลุ้นกันต่อว่าจะกู้ได้เมื่อไหร่ เพราะถึงแม้จะเปลี่ยนสถานะได้ กว่าจะกู้ผ่านก็ยังต้องใช้เวลาอีก 2-3 สัปดาห์สำหรับธนาคารในการดำเนินการ ข้อจำกัดคือเงินที่ใช้อุดหนุนอยู่จะตกราว 8,000 ล้านบาทต่อเดือน หากกู้เพิ่มได้จริง 30,000 ล้าน ก็ไม่เพียงพอ ส่วน ครม. ยังมีช่องให้อนุมัติเพิ่มได้อีกเพียง 10,000 ล้าน หลังจากนี้หากจะกู้เพิ่มคงต้องแก้กฎหมายกองทุนน้ำมันที่กำหนดเพดานการกู้ไว้

‘อุตตม’ จี้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ ให้ทันความเปลี่ยนแปลงโลก - ปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน

นายอุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ก่อตั้งพรรคสร้างอนาคตไทยเปิดเผยว่า สวัสดีครับ เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้ให้สัมภาษณ์กับทางสถานีโทรทัศน์ TNN เรื่องทิศทางของโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี (Eastern Economic Corridor) ต่อจากนั้นก็มีโอกาสบรรยายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กับผู้อบรมหลักสูตรผู้นำการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลด้านธุรกิจท่องเที่ยว ที่จัดโดยสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต

ประเด็นหนึ่งที่ผมได้แชร์ความเห็นในทั้งสองกิจกรรมนั้น ก็คือทั้งอีอีซี และภาคการท่องเที่ยว จะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

ซึ่งโจทย์สำคัญที่เรากำลังเผชิญในปัจจุบัน คือ โครงสร้างเศรษฐกิจที่มีอยู่นั้น นับวันจะอ่อนพลังลง จนไม่สามารถที่จะช่วยแก้ไขปัญหาสั่งสมของประเทศ เช่น ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน รวมทั้งไม่มีพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ทั้งนี้หากเราเดินต่อด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจแบบเดิมๆ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง เราจะเผชิญกับการที่อนาคตของประเทศจะเต็มไปด้วยความเสี่ยงและความไม่แน่นอน ตลอดจนไม่สามารถก้าวทันโลก และไม่สร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับประชาชน

ผมขอสรุปประเด็นหลักๆ เกี่ยวกับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ซึ่งไม่เอื้อต่อการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ดังนี้

1.) เศรษฐกิจฐานรากของประเทศยังไม่เข้มแข็ง ประชากรส่วนใหญ่ที่อยู่ในระดับฐานราก ยังต้องเผชิญปัญหาความยากจน เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ขาดโอกาสในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้เพียงพอกับการดำรงชีพ 

2.) เครื่องยนต์หลักในโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย ได้แก่ ภาคการส่งออก ซึ่งมีสัญญาณว่าจะเริ่มอ่อนกำลังลง เพราะความได้เปรียบของสินค้าเราในตลาดโลกลดลง เริ่มก้าวไม่ทันคู่แข่ง ความได้เปรียบเดิมๆ เช่น เรื่องค่าแรง ข้อเท็จจริงคือ ค่าแรงในประเทศนับวันสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันหลายประเทศในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ก็กำลังเร่งขึ้นมาเป็นคู่แข่งหรือแซงหน้าสินค้าส่งออกที่สำคัญของเราไปแล้ว

3.) นอกจากการส่งออกแล้ว การท่องเที่ยวถือเป็นเครื่องยนต์หลักทางเศรษฐกิจ ที่สร้างรายได้เข้าประเทศมาโดยตลอด กล่าวได้ว่าการท่องเที่ยวไทยมีศักยภาพสูงมาก ไม่แพ้ประเทศอื่น อย่างไรก็ดี ในโลกที่พฤติกรรมผู้บริโภคและเทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การท่องเที่ยวต้องไม่พึ่งพาเพียงการโปรโมชั่น เพื่อหวังผลในเชิงปริมาณเป็นหลักเท่านั้น

4.) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ มีความก้าวหน้าในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งพัฒนา ไม่เพียงโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ เช่น ถนน ระบบราง การขนส่งทางน้ำ และอากาศ แต่เราต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ที่จะเป็นพลังในโลกยุคใหม่ด้วย

5.) ทั้งนี้ในระบบเศรษฐกิจใดๆ ก็ตาม คน คือหัวใจสำคัญ ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งพัฒนาคน ให้สามารถตอบโจทย์การปรับโครงสร้างและขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจในโลกใหม่ ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันสถานการณ์

ประเทศไทยมีจุดแข็งในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ กำลังคน ซึ่งโครงสร้างเศรษฐกิจที่จะสามารถใช้ประโยชน์จากศักยภาพของจุดแข็งที่เรามีได้อย่างเต็มที่นั้น จำเป็นต้องอาศัยเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลัก และโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับการพัฒนาด้วยเป้าหมายยุทธศาสตร์ ที่สอดคล้องเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน

ด้านการผลิตสินค้าเพื่อส่งออก มีความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องมีความสามารถพัฒนาการผลิตสินค้ามูลค่าสูงขึ้นกว่าเดิม ตลอดห่วงโซ่การผลิต นั้นคือ เป็นสินค้าที่มีเทคโนโลยี และนวัตกรรม ทั้งเป็นสินค้าและกระบวนการผลิตที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งในระดับเศรษฐกิจฐานรากไปพร้อมกัน ทำให้เกิดการจ้างงาน การสร้างอาชีพ และการพัฒนาชุมชน โดยเฉพาะชุมชนในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศอย่างครอบคลุม

ขอยกตัวอย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ที่ผ่านมาถือว่าอยู่ในระดับต้นๆ ของโลก แต่ขณะนี้ทั่วโลกกำลังมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยเฉพาะการใช้พลังงานสะอาด หรือพลังงานสีเขียว พลังงานไฟฟ้า ฯลฯ เราจึงสมควรเร่งกำหนดทิศทางการปรับเปลี่ยน ยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศ เพื่อให้ยังคงบทบาทที่เข้มแข็งในเวทีโลกต่อไปได้ในอนาคต

โดยให้มีความชัดเจน ว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์และที่เกี่ยวเนื่อง จะมีเป้าหมายอย่างไร และเกิดขึ้นในรูปแบบใด เพื่อให้ไทยจะยังเป็นที่น่าสนใจของลูกค้า นักลงทุน พันธมิตร ผู้ประกอบการ แต่หากไม่มีการปรับหรือยกระดับที่เหมาะสม การย้ายฐานการผลิตจากประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญก็อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถของเศรษฐกิจประเทศ รวมถึงอนาคตของบุคลากรจำนวนมากที่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์และที่เกี่ยวเนื่อง

ในทำนองเดียวกัน อุตสาหกรรมอื่นๆของประเทศ จำเป็นต้องได้รับการทบทวนยกระดับ ควบคู่ไปกับการสร้างอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะเป็นเครื่องยนต์ใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ โลจิสติกส์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การแพทย์ครบวงจร การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สินค้าจากเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น

สำหรับการท่องเที่ยวนั้น ในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ เราควรมุ่งเน้นพัฒนาการท่องเที่ยวที่จะมีบทบาทสูง ต่อการช่วยยกระดับความเข้มแข็งของชุมชนฐานราก โดยเราสามารถวางยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน ให้เกิดการท่องเที่ยวภาคชนบทอย่างกว้างขวาง และมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับภาคเกษตร และการผลิตสินค้าชุมชน เพื่อให้โอกาสชุมชนนำศักยภาพทั้ง 3 ด้านที่มีอยู่ มาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ 

FTI Poll เผย ‘ปรับขึ้นค่าไฟ-ก๊าซ’ หวั่นกระเทือนเศรษฐกิจ ดันราคาสินค้าพุ่ง กระทบต้นทุนธุรกิจ-วิถีชีวิต ปชช.อ่วม

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 15 ในเดือนมีนาคม 2565 ภายใต้หัวข้อ ‘ปรับขึ้นค่าไฟ-ก๊าซ กระทบเศรษฐกิจแค่ไหน’ พบผู้บริหาร ส.อ.ท. มองว่า กรณีภาครัฐจะมีการพิจารณาปรับอัตราค่าไฟฟ้าและราคาก๊าซฯ ขึ้นต่อเนื่องนั้น จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และยังเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูงในขณะนี้ จนทำให้ผู้ประกอบการมีความจำเป็นจะต้องปรับราคาสินค้าขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชน 

ดังนั้น จึงเสนอขอให้ภาครัฐพิจารณาคงอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ในรอบเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2565 เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบดังกล่าว นอกจากนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท. ยังได้แนะให้ภาคอุตสาหกรรมเร่งปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อประหยัดพลังงาน และหันมาผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใช้เองภายในโรงงานอุตสาหกรรม 

ทั้งนี้ จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 150 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มีสรุปผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 15 จำนวน 6 คำถาม ดังนี้…

1.) ปัจจุบันค่าไฟฟ้าและพลังงานคิดเป็นสัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนการผลิต
อันดับที่ 1 : 10 - 20% >> 38.7%
อันดับที่ 2 : น้อยกว่า 10% >> 25.3% 
อันดับที่ 3 : 20 - 30% >> 20.7% 
อันดับที่ 4 : มากกว่า 30% >> 15.3%

2.) กรณีภาครัฐมีการปรับค่าไฟฟ้าและราคาก๊าซฯ* ขึ้นต่อเนื่อง จะกระทบต่อเศรษฐกิจในระดับใด
อันดับที่ 1 : มาก >> 56.7% 
อันดับที่ 2 : ปานกลาง >> 34.7%
อันดับที่ 3 : น้อย >> 8.6%

3.) ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าและราคาก๊าซฯ* ในเรื่องใด ที่ภาครัฐควรให้ความสำคัญ 
อันดับที่ 1 : ราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นจากต้นทุนพลังงานที่อยู่ระดับสูง >> 87.3%
อันดับที่ 2 : ภาระค่าครองชีพของประชาชน >> 82.0%
อันดับที่ 3 : เร่งอัตราเงินเฟ้อให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น >> 51.3%
อันดับที่ 4 : กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวหรือหยุดชะงัก >> 41.3%

“โฆษกรัฐบาล” ฟุ้ง เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง เผย ทุนสำรองระหว่างประเทศ ถึงเดือนม.ค.กว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯยัน มีเงินคงคลังพอใช้จ่าย

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจ ว่า ตัวเลขทางเศรษฐกิจ ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทย มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ทั้งด้านฐานะการคลังและฐานะการเงิน โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะ สิ้นเดือนธ.ค. 2564 อยู่ที่ร้อยละ 59.88 ต่อจีดีพี โดยอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง  ทุนสำรองระหว่างประเทศถึงสิ้นเดือนม.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 242,772.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  และมีสัดส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศ ต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้น สูงถึง 3 เท่า ดุลบัญชีเดินสะพัดปี 2565 คาดว่าจะกลับมาเกินดุลได้เล็กน้อยตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ดังนั้นรัฐบาลยังมีเงินคงคลังเพียงพอต่อการใช้จ่ายที่จำเป็น และความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลยังอยู่ในเกณฑ์ดี 

นายธนกร กล่าวว่า วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อตลาดหลักทรัพย์ไทย ในช่วงที่ผ่านมายังค่อนข้างน้อยและเป็นไประยะสั้น โดยปกติตลาดหลักทรัพย์จะมีความผันผวนตามสถานการณ์ ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบเกิดขึ้นเป็นระยะ นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา สถานะเงินทุนสุทธิของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าในตลาดหลักทรัพย์ที่ 81,356.8 ล้านบาท สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังคงมีความแข็งแกร่ง เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาทิศทางค่าเงินบาทโดยรวมยังปรับตัวแข็งค่าขึ้นที่ร้อยละ 2.10 จากต้นปี 2565 จากแผนการเปิดประเทศและตามสถานะเงินลงทุนสุทธิของนักลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้าในตลาดหลักทรัพย์และตลาดพันธบัตรไทย ด้านการส่งออก ในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา พบว่าการส่งออกในเดือนนี้ขยายตัว 8 เปอร์เซ็นต์ หรือมีมูลค่า 21,258.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ส่วนมูลค่านำเข้าขยายตัว 20.5 เปอร์เซ็นต์ หรือมีมูลค่า 23,785 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

นายธนกร กล่าวว่า การส่งออกของไทย ขยายตัวเป็นบวกในเดือนแรก มาจากความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในรูปแบบ กรอ.พาณิชย์  รวมถึงการฟื้นความสัมพันธ์การค้าระหว่างซาอุดีอาระเบีย และประเมินว่า ปัญหาสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนจะยังไม่กระทบกับการส่งออกไทยในช่วงเดือนก.พ.เนื่องจาก รัสเซียและยูเครน ไม่ใช่ประเทศคู่ค้าหลักของไทย โดยปี 2564 ไทยได้ส่งออกสินค้าไปรัสเซีย และยูเครน มูลค่า 32,507.68 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.38 ของมูลค่าการส่งออกรวม และ 4,228.78 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.05 ของมูลค่าการส่งออกรวม หรือเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่ 36 และ 74 ของไทย ตามลำดับ ด้านการนำเข้าสินค้า จากรัสเซียและยูเครน มีมูลค่า 55,659.65 ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 0.65 ของมูลค่านำเข้ารวม และ 8,199.64 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.09 ของมูลค่าการนำเข้ารวม ตามลำดับ หรือคิดเป็นประเทศคู่ค้าด้านการนำเข้าลำดับที่ 26 และ 57 ของไทย 

 

กนอ. เผย ญี่ปุ่น ไม่ทิ้งฐานการผลิตในไทย!! พร้อมทุ่มลงทุนอีอีซีต่อเนื่อง มุ่งอุตฯ ยานยนต์ไฟฟ้า

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้ร่วมประชุมกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ซึ่งมีการนำผลการสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมลงทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยของหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ (JCCB) มาหารือ พบว่า อุตสาหกรรมที่บริษัทญี่ปุ่นสนใจลงทุนในพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมและเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มากที่สุดถึง 49% คือ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์สมัยใหม่ 

นอกจากนี้ 37% ยังระบุด้วยว่า สนใจที่จะลงทุนต่อไป แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่มีอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ค่าดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจ (Diffusion Index) ของ JCCB ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 ที่ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 41 จากเดิมช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ที่อยู่ที่ 14 โดยขึ้นสูงสุดในรอบ 9 ปี ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (Minister of Economy, Trade and Industry) หรือ เมติ ได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เพื่อหารือถึงแนวทางการลงทุนใหม่ๆ โดยญี่ปุ่นมีแผนการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศส่งเสริมการใช้และผลิตรถยนต์อีวี ปักหมุดการเป็นตลาดระดับโลก รวมถึงเป็นฐานการลงทุนขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ที่ทันสมัย

ส่งออกม.ค.บอก 8% จับตาสงครามยูเครน-รัสเซีย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ตัวเลขการส่งออกเดือนม.ค.65 มีมูลค่า 21,258.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 8% คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 708,312 ล้านบาท ซึ่งถือว่ายังขยายตัวได้ดี เมื่อเทียบกับม.ค.2564 ที่ขยายตัวแค่ 0.1% โดยมีปัจจัยบวกที่ช่วยสนับสนุนให้การส่งออกเดือนม.ค.2565 เป็นบวกถึง 8% เพราะมีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชน ที่เดินหน้าต่อไปอย่างเข้มข้น ภาคการผลิตทั่วโลกยังขยายตัว และปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เริ่มดีขึ้น 

สำหรับตลาดที่ขยายตัวสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.อินเดีย เพิ่ม 31.9% 2.รัสเซีย เพิ่ม 31.9% 3.สหราชอาณาจักร เพิ่ม 29.7% 4.เกาหลีใต้ เพิ่ม 26.8% 5.สหรัฐฯ เพิ่ม 24.1% 6.แคนาดา เพิ่ม 13.6% 7.อาเซียน 5 ประเทศ เพิ่ม 13.2% 8.จีน เพิ่ม 6.8% 9.ลาตินอเมริกา เพิ่ม 5.0% 10.สหภาพยุโรป เพิ่ม 1.4% ขณที่ยอดการนำเข้ามีมูลค่า 23,785 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 20.5% ซึ่งเป็นผลมาจากการนำเข้าวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิต และการนำเข้าน้ำมันที่ราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยขาดดุลการค้าในเดือนม.ค.65 คิดเป็นมูลค่า 2,526.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

กกร.ปรับจีดีพีไทยใหม่ปีนี้โตแค่ 2.5-4.5%

นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ส่งผลให้กิจกรรมเศรษฐกิจช่วงต้นปีชะลอตัวเล็กน้อย แต่ผลกระทบโดยรวมคาดว่าไม่รุนแรง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังสามารถดำเนินต่อไปได้ตามปกติ โดยกกร. ได้ปรับกรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2565 ใหม่ เป็น 2.5-4.5% จากเดิม 3.0-4.5% และคงการส่งออกโต 3-5% และปรับอัตราเงินเฟ้อจาก 1.5-2.5% เป็น 2-3%

ส่วนความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน รุนแรงและยืดเยื้อกว่าที่คาด และมีแนวโน้มเผชิญหน้ากันมากขึ้น ซึ่งทำให้ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้นมาก โดยราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นสูงสู่ระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในภาพรวม

อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในหลายด้าน ทั้งเงินเฟ้อ การส่งออก รวมถึงการท่องเที่ยว โดยเงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นมากตามทิศทางราคาพลังงาน โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจสูงกว่าระดับ 3% ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์และกำลังซื้อในประเทศ ขณะที่การส่งออกได้รับผลกระทบทางตรงจากตลาดรัสเซียและยูเครนไม่มาก เนื่องจากไม่ใช่คู่ค้าหลัก แต่อาจจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจคู่ค้าอื่นที่ชะลอลง โดยเฉพาะสหภาพยุโรป

‘ออริจิ้น’ เปิดแผนธุรกิจ 3 ปี ปั้นบริษัทลูก ดันเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ สร้างอาณาจักรแสนล้าน

‘ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้’ เปิดแผนธุรกิจ 3 ปี โตแบบพหุจักรวาล ‘Origin Multiverse’ ชู 3 ขั้นตอน Expanding-Growing-Connecting ปั้นธุรกิจโลจิสติกส์ เฮลท์แคร์ ประกันภัย พลังงาน การเงิน ร้านอาหาร กัญชง ดันบริษัทลูกเข้าจดทะเบียน ตลท. สร้าง Market Cap แสนล้านในปี 68 

นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI กล่าวว่า ในปี 65 นี้ บริษัทเตรียมสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้วยแผนการดำเนินงานภายใต้แนวคิด ‘ORIGIN MULTIVERSE’ หรือแผนการเติบโตแบบพหุจักรวาล ซึ่งประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 การขยายธุรกิจใหม่ ซึ่งเป็นการต่อยอดการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ไปสู่ธุรกิจใหม่ 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ กลุ่มที่อยู่อาศัยเพื่อการขาย กลุ่มธุรกิจสร้างรายได้ประจำ กลุ่มธุรกิจบริการ และกลุ่มเมกะเทรนด์ระยะยาว โดยทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจนี้ ประกอบด้วย ธุรกิจย่อยที่ทยอยเปิดตัวตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เช่น โลจิสติกส์ เฮลท์แคร์ ประกันภัย พลังงาน การเงิน ร้านอาหาร กัญชง และยังอาจมีจักรวาลย่อยๆ และจะทยอยเพิ่มขึ้นในอนาคต

ขั้นตอนที่ 2 คือแยกกันเติบโตแบบคู่ขนาน เพื่อให้ทุกบริษัทย่อยมีเส้นทางการเติบโตแบบคู่ขนานในธุรกิจของตัวเอง ผ่านการจัดทัพผู้บริหารมืออาชีพในธุรกิจนั้นๆ และยังมีแผนจะผลักดันให้บริษัทลูกเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยในปีนี้จะนำร่องเข้าจดทะเบียนด้วย บริษัท พรีโม เซอร์วิส โซลูชั่น จำกัด บริษัท วัน ออริจิ้น จำกัด และบริษัท แอลฟา อินดัสเทรียล โซลูชั่น จำกัด บริษัทร่วมทุนกับบริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้นำบริษัท บริทาเนีย จำกัด (มหาชน) เข้า IPO ไปแล้วในช่วงปลายปี 64 คาดว่าภายในปี 68 ออริจิ้นและทุกบริษัทที่เข้าจดทะเบียนจะกลายเป็นอาณาจักรที่มีมูลค่าตลาดรวมกันมากกว่า 1 แสนล้านบาท

ครม. เคาะ MOU แรงงานไทย-ซาอุฯ คาด 7 มี.ค.นี้ ทั้ง 2 ฝ่าย ร่วมลงนาม

ครม. เห็นชอบร่างข้อตกลงแรงงานไทย-ซาอุดีอาระเบีย ต่อยอดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-ซาอุฯ พร้อมขยายตลาดแรงงานไทยในตะวันออกกลาง

1 มีนาคม 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. เห็นชอบร่างข้อตกลงด้านแรงงานระหว่างกระทรวงแรงงานกับกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคมแห่งซาอุดีอาระเบีย จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างข้อตกลงว่าด้วยการจัดหาแรงงาน และร่างข้อตกลงว่าด้วยการจัดหาแรงงานทำงานบ้าน โดยอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้ลงนามข้อตกลงในนามของฝ่ายไทย ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคมซาอุดีอาระเบีย หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย

ทั้งนี้ ร่างข้อตกลงแรงงานทั้ง 2 ฉบับ มีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อสร้างความมั่นใจในการจัดหาแรงงานไทย (แรงงานทั่วไป/แรงงานที่ทำงานบ้าน) ไปทำงานในซาอุดีอาระเบียอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีจริยธรรม และมีประสิทธิภาพ คุ้มครองสิทธิของนายจ้างและลูกจ้าง โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันดำเนินการนำไปสู่ระบบที่เป็นที่ยอมรับ ทั้งการจัดหาแรงงาน การจัดส่งแรงงานไปทำงาน และการส่งแรงงานกลับประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่าการจัดหาแรงงานเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายและมีจริยธรรม ซึ่งแรงงานและนายจ้างจะมีสิทธิรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ และสามารถดำเนินมาตรการทางกฎหมายกับสำนักงานจัดหางาน บริษัทจัดหางาน หรือตัวแทนจัดหางาน ในกรณีละเมิดกฎหมาย กฎระเบียบ และข้อกำหนดที่ใช้บังคับ

รัสเซียขึ้นดอกเบี้ยรวดเดียว 9.5% เป็น 20% จี้ พาณิชย์เตรียมรับมือของแพงระลอกใหม่

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีธนาคารกลางรัสเซียเพิ่มอัตราดอกเบี้ยกว่าเท่าตัวว่า เมื่อวานธนาคารกลางรัสเซียได้ประกาศเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายกว่าเท่าตัว จาก 9.5% เป็น 20% โดยส่วนตัวไม่เคยเห็นประเทศระดับนี้ทำเช่นนี้มาก่อน สะท้อนถึงระดับวิกฤตในสถานะการเงินของรัสเซีย ก่อนหน้านี้ค่าเงินรูเบิลได้ปรับลดลงไปถึง 30% ในวันเดียว และมีชาวรัสเซียแห่ถอนเงินออกจากบัญชีธนาคารตลอดทั้งวัน ซึ่งนอกจากการที่หลายธนาคารของรัสเซียถูกถอนออกจากระบบโอนเงิน SWIFT แล้ว ที่เจ็บไม่แพ้กันคือการระงับการเข้าถึงเงินสำรองระหว่างประเทศ (ในส่วนที่อยู่ต่างประเทศ) ที่รัสเซียอุตส่าห์สะสมไว้กว่า USD 600,000 ล้าน เป็นสาเหตุที่รัฐบาลรัสเซียมีคำสั่งให้ผู้ประกอบการแปลงเงินดอลลาร์ในมือเป็นเงินรูเบิล สะท้อนถึงการขาดแคลนเงินดอลลาร์อย่างชัดเจน!

เที่ยวบินฟื้นสัมพันธ์!! ต้อนรับเที่ยวบินปฐมฤกษ์จากซาอุฯ ฟื้นความสัมพันธ์หลังหยุดบินมาไทย 32 ปี

ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิต้อนรับเที่ยวบินปฐมฤกษ์สายการบิน Saudi Arabian Airlines ฟื้นความสัมพันธ์ “ไทย - ซาอุดีอาระเบีย” หลังจากไม่ได้ทำการบินมายังประเทศไทยเป็นเวลา 32 ปี 

28 ก.พ. 65 นายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 18.05 น. ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ให้การต้อนรับเที่ยวบินปฐมฤกษ์จากราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เส้นทาง กรุงริยาด - ทสภ. โดยสายการบิน Saudi Arabian Airlines เที่ยวบิน SV846 ซึ่งถือเป็นเที่ยวบินประวัติศาสตร์ที่ประเทศซาอุดีอาระเบียมีเส้นทางการบินมายังประเทศไทยอีกครั้ง หลังจากไม่ได้ทำการบินมายังประเทศไทยเป็นเวลา 32 ปี 

อย่างไรก็ตามโดยในส่วนของ ทสภ. ได้จัดให้มีอุโมงค์น้ำ (Water Salute) ต้อนรับในช่วงที่เครื่องบินกำลังเคลื่อนตัวเข้าหลุมจอด G5 พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ร่วมต้อนรับกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รวมทั้งจัดของที่ระลึกพิเศษมอบให้แก่ผู้โดยสารที่เดินทางมากับเที่ยวบินดังกล่าว

นายกิตติพงศ์ กล่าวว่า สำหรับการอำนวยความสะดวกต้อนรับผู้โดยสารในเที่ยวบินดังกล่าวในวันนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดย ทสภ. ได้มีการประสานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (COVID-19) ทสภ., ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ, กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2, สำนักงานศุลกากรท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, เจ้าหน้าที่โรงแรม และสายการบิน Saudi Arabian Airlines ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ เพื่อร่วมอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารที่เดินทางมากับเที่ยวบินจำนวน 56 คน 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top