รถโดยสารไฟฟ้ายกระดับคุณภาพชีวิต เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม EA ร่วม ‘ไทยสมายล์บัส’ สร้างเครือข่ายขนส่งไร้มลพิษ เชื่อมต่อทุกการเดินทาง ด้วยรถโดยสารไฟฟ้า

ถือเป็นอีกผลิตผลแห่งเครือข่ายขนส่งไร้มลพิษ จากกลุ่มบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA ที่ปัจจุบันค่อยๆ เข้ามาช่วยเปลี่ยนระบบขนส่งสาธารณะภายในบ้านเรา เพื่อสังคมน่าอยู่ให้กับประเทศ ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาฝุ่น pm 2.5 ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น 

ไม่นานมานี้ บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด ผู้ให้บริการ รถโดยสารพลังงานไฟฟ้า ได้เปิดการให้บริการรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า (EV) สาย 2-38 (สาย 8 เดิม) ภายใต้แนวคิด ‘We Come To Change Fast 8 To Feel Good เรามาเพื่อเปลี่ยนความรู้สึกให้ดีขึ้น’ โดยมี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน พร้อมด้วย นางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด, นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน), นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) และนายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็ก พ้อยท์ จำกัด (มหาชน) ให้การต้อนรับ ณ อู่บึงกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร 

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เปิดเผยว่า ปัจจุบัน EA ได้มีการร่วมมือกับ ไทยสมายล์บัส โดยนำผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม EA อย่างรถโดยสารไฟฟ้าที่ผลิตโดยคนไทยและได้นำเทคโนโลยี Fast Charge ที่เรียกว่า Ultra Fast Charge ซึ่งสามารถชาร์จรถขนาดใหญ่แบบนี้ได้ในเวลาเพียง 15-20 นาทีเข้ามาให้บริการ

นอกจากนี้ EA ยังร่วมมือกับบริษัทครอบครัวขนส่ง ซึ่งเดินเรืออยู่ในคลองแสนแสบ โดยเข้าไปช่วยเปลี่ยนให้เป็นเรือไฟฟ้าทั้งหมด และมีการทำหัวรถจักรไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ เป็นต้น

“สิ่งเหล่านี้ เป็นโครงข่ายของคมนาคมที่ทาง EA อยากช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ในราคาที่ไม่แพง อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด ช่วยประหยัดพลังงานจากรูปแบบเดิมๆ ในทางอ้อมก็ทำให้ต้นทุนการขนส่งถูกลง ลดภาระของประชาชนทั่วไปได้ตามลำดับ”

สำหรับตัวรถไฟฟ้าสาย สาย 2-38 (สาย 8 เดิม) ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% ขนาด 32 เบาะนั่ง มีพื้นที่สำหรับกลุ่มคนพิการ 2 ที่นั่ง, มีระบบรองรับการขึ้นลงสำหรับผู้ใช้รถเข็นวีลแชร์, ระบบการจำกัดความเร็วที่ไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง, มีระบบไฟแอลอีดีแสดงสถานะรถ ความเร็ว และเวลา นอกจากนี้ช่วยลดปัญหาฝุ่น PM2.5 อีกด้วย

โดยการเปิดเดินรถโดยสารดังกล่าว ถือเป็นการคิกออฟการให้บริการรถโดยสารสาธารณะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เริ่มให้บริการมาแล้วตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม ที่ผ่านมา จำนวน 40 คัน ซึ่งในเฟสแรกที่มีรถทั้งหมดจำนวน 153 คัน นอกจากนี้รถทุกคันยังได้ติดตั้งเครื่องเก็บค่าโดยสารแบบ E-Ticket ที่จะเริ่มใช้แบบ 100% ในเดือนกันยายนควบคู่กับการใช้เงินสด เป็นการเติมเงินไม่จำกัดขั้นต่ำ ผ่านระบบที่บริษัทพัฒนาขึ้นมาเอง และหลังจากนี้ก็จะมีการเริ่มทยอยเปลี่ยนรถโดยสารทั้งหมดที่ บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด ประมูลมาได้เป็นรถไฟฟ้ารวมทั้งหมด 71 เส้นทาง เชื่อมต่อการเดินทางแบบระบบเครือข่าย ‘รถ-เรือ-ราง’ แบบครบวงจรต่อไป