เกาะ 986 พิกัด!! สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทย ผู้ให้บริการรายไหน? จัดเต็ม!!
ในวันที่ทิศทางยานยนต์ไฟฟ้าเริ่มชัดเจน และตลาดก็ตอบรับอย่างรวดเร็ว ค่ายรถยนต์น้องใหม่ รวมถึงค่ายเทคโนโลยีดังๆ หลายเจ้า เริ่มขอเข้ามาแทรกแซงทางโค้งเพื่อเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าของตนในประเทศไทยกันถ้วนหน้า จนสร้างความคึกคักท่ามกลางความคลื่นสึนามิย่อมๆ ของเศรษฐกิจไทย ที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนของกำลังซื้อใหม่ๆ ได้อย่างน่าสนใจ
แต่ถึงกระนั้นกระแสการตื่นตัวเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยที่เกิดขึ้น กลับสวนทางกับภาพของการใช้งานจริง นั่นก็เพราะเรายังเห็นจำนวนรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV วิ่งกันบนท้องถนนแบบจริงจัง น้อยมาก!!
แน่นอนว่าตัวแปรสำคัญของเรื่องนี้ ยังอยู่ที่ความล่าช้าในการส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าให้แก่ผู้บริโภค, ทางเลือกที่ยังมีจำกัด, ราคาที่ยังไม่สร้างแรงจูงใจให้กับผู้ใช้ส่วนมาก, ศูนย์บริการที่สามารถดูแลเมื่อเกิดปัญหาที่ยังไม่ครอบคลุม และ ‘อีกตัวแปรสำคัญ’ ที่น่าจะมีผลต่อความเบาบางของรถยนต์ไฟฟ้าบนท้องถนนมากเกือบที่สุด คือ ความกังวลของผู้ใช้รถว่าแบตเตอรี่ของตนอาจหมดลง แล้วหาสถานีชาร์จได้ลำบากนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันทุกภาคส่วนของประเทศไทยที่อยู่ในระบบนิเวศนี้ ต่างรับรู้ปัญหาดี จึงได้มีการร่วมผลักดันสร้างสถานีชาร์จขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเอาเข้าจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่คิดแค่อยากจะตั้งก็ตั้งขึ้นมาได้ เพราะการจัดตั้งสถานีชาร์จในแต่ละที่ ต้องมีการคำนึงถึงความพร้อมของกระแสไฟฟ้าของพื้นที่นั้นๆ อยู่ด้วย แต่ก็ต้องยอมรับว่าวันนี้สถานีชาร์จในบ้านเรา ก็ผุดตัวขึ้นอย่างรวดเร็วกันบ้างพอสมควรแล้ว
ว่าแต่...ในวันนี้ประเทศไทยมีสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าทั่วประเทศมากน้อยแค่ไหน?
จากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและพลังงานแห่งชาติ กระทรวงพลังงาน ระบุว่า สถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 4 มีนาคม 2565) มีจำนวน 986 สถานีทั่วประเทศ มีหัวชาร์จรวมมากกว่า 2,200 หัวชาร์จ กระจายครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ / นนทบุรี / ปทุมธานี / ภาคกลาง / ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ / ภาคเหนือ และ ภาคใต้ โดยมีจำนวนผู้ให้บริการที่ติดตั้งจุดชาร์จแล้ว ดังนี้...
>> EA ANYWHERE แบรนด์ภายใต้บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด ผลิตภัณฑ์ด้านสถานีประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า มีจำนวนสถานีอัดประจุที่บริษัทฯ เป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด 459 สถานี จำนวน 1,900 หัวชาร์จ
>> บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด มีจำนวนสถานีอัดประจุที่บริษัทฯ เป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด 120 สถานี
>> บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) มีจำนวนสถานีอัดประจุที่บริษัทฯ เป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด 108 สถานี
>> การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มีจำนวนสถานีอัดประจุที่ กฟภ. เป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด 73 สถานี
>> สถานีอัดประจุจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย มีจำนวนสถานีอัดประจุทั้งหมด 68 สถานี
>> บริษัท อีโวลท์ เทคโนโลยี จำกัด มีจำนวนสถานีอัดประจุที่บริษัทฯ เป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด 51 สถานี