Monday, 29 April 2024
ไอทีวี

'เรืองไกร' จ่อร้อง กกต.สอบ 'พิธา-ก้าวไกล' ถือหุ้น ITV พบมีชื่อถือ 42,000 หุ้น ซ้ำบริษัทยังดำเนินธุรกิจอยู่

(9 พ.ค. 66) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า ได้ตรวจสอบพบข้อมูลที่น่าเชื่อว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น จึงต้องการให้ กกต.ตรวจสอบ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(3) บัญญัติห้ามมิให้บุคคลที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส และเมื่อตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงตามข้อมูลเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 66 ที่ทำให้เข้าใจว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ในลำดับที่ 6,121 เลขทะเบียนผู้ถือหลักทรัพย์ 4030954168 ที่อยู่ 98/26 อาคารซิลเวอร์เฮอริเทจ ซ.สุขุมวิท 38 ถ.สุขุมวิท พระโขนง คลองเตย 10110 สัญชาติไทย จำนวน 42,000 หุ้น

นายเรืองไกร ยังกล่าวอีกว่า เมื่อตรวจสอบจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบข้อมูลของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) พบว่า เป็นนิติบุคคลที่ยังดำเนินกิจการอยู่ ธุรกิจตอนจดทะเบียน ระบุการออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงยกเว้นทางออนไลน์

วัตถุประสงค์ตอนจดทะเบียน ระบุสถานีโทรทัศน์ หมวดธุรกิจ ก็ระบุว่า กิจกรรมเผยแพร่ภาพยนตร์วีดิทัศน์และรายการโทรทัศน์ โดยปีที่ส่งงบการเงิน คือ ปี 2560 ต่อเนื่องถึงปี 2564 และเมื่อขอข้อมูลบัญชีรายขื่อผู้ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ณ วันที่ 27 เม.ย. 65 นายพิธา เป็นผู้ถือหุ้นในลำดับที่ 7,138 จำนวน 42,000 หุ้น เลขที่ใบหุ้น 06680180285422 มูลค่าหุ้นละ 5 บาท

อีกทั้งเมื่อตรวจสอบข้อมูลบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จากเว็บไซต์ พบว่า บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ประกอบกิจการรับจ้างโฆษณา ประชาสัมพันธ์ทุกชนิดทุกประเภท มีรายได้ปี 2565 รวม 21 ล้านบาท และมีรายได้ปี 2564 รวม 24 ล้านบาท โดยบริษัทมีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-AGM) เมื่อวันพุธที่ 26 เม.ย. 66 จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงมีเหตุอันควรที่ กกต. จะต้องตรวจสอบนายพิธา ผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อและผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล ว่า เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(3) หรือไม่

‘จตุพร’ แนะ ‘พิธา’ คิดทบทวน  ‘เรืองไกร’ ได้ข้อมูลหุ้นไอทีวี มาจากไหน ระวัง พรรคใกล้ตัว

20 พ.ค. 2566 - นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ประเทศไทยต้องมาก่อน ตอน "ไม่น่าไว้ใจ?" ช่วงหนึ่งว่า เบื้องต้นต้องยอมรับความจริงก่อนว่า นักการเมืองและประชาชนมีความมุ่งหวังต่างกัน โดยการเมืองในครั้งหนึ่ง พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ชนะเลือกตั้งปี 2526 (ได้ 110 เสียงจากทั้งหมด 324) ต้องได้เป็นนายกฯ แต่เจอข้อมูลใหม่จึงกลายเป็นฝ่ายค้านแทน

ถัดมา การเลือกตั้งปี 2562 พรรคเพื่อไทยได้รับเลือกมาเป็นอันดับหนึ่ง เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นับคะแนนปัดเศษ จึงกลายเป็นฝ่ายค้าน อีกทั้งในช่วงนั้น พรรคเพื่อไทยเล่นการเมืองสองหน้า ไปเลือกนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่) เป็นแคนดิเดตนายกฯ ชิงกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสนอเป็นนายกฯ

นายจตุพร กล่าวว่า ขณะนั้น นายธนาธร ถูกคดีถือครองหุ้นสื่อมวลชน และพรรคเพื่อไทยรู้ว่า จะพบจุดจบทางการเมืองอยู่แล้ว จึงเชิดชูคนรุ่นใหม่เพื่อได้สร้างลักษณ์ที่ดีทางการเมือง แต่ขณะเดียวกันยังเป็นการหักหน้าคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แคนนดิเดตนายกฯ เพื่อไทย (ขณะนั้น)

อย่างไรก็ตาม ในช่วงนั้น พปชร. ไปรวบรวมพรรคมาตั้งรัฐบาล โดยพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เสนอให้นายชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาผู้แทนฯ และกำหนดเงื่อนไขแก้ รธน. 2560 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ยอม จึงเท่ากับแต่งตัวให้ ปชป. เข้าไปร่วมรัฐบาลทั้งที่หัวหน้าพรรคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศหาเสียงไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ ต้องลาออกจากหัวหน้าพรรค

ส่วนพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในปี 2562 ได้ประกาศไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยเช่นกัน แต่ยอมเข้าร่วมรัฐบาล เมื่อรับแบ่งให้ดูแลกระทรวงเกรดเอ ดังนั้น การโหวตเลือกนายกฯ ปี 2562 จึงผ่านฉลุยด้วยเสียง สว.เลือก พล.อ.ประยุทธ์ ถึง 249 เสียงจาก 500 เสียง เท่ากับเป็นเอกฉันท์ร้อยเปอร์เซ็นต์

เมื่อมาถึงการเลือกตั้งปี 2566 นายจตุพร กล่าวว่า สถานการณ์การเมืองหลังเลือกตั้งไม่แตกต่างจากปี 2562 โดยวันนี้ไม่มีรู้ว่าใคร พรรคใดเหน็บมีดไว้ข้างหลัง โดยระหว่างการหาเสียงพรรคเพื่อไทยให้เลือกตัวเองเป็นยุทธศาสตร์โค่น 3 ป. เลือกอย่างไม่มีพี่ ไม่มีน้อง แต่ผลต้องแพ้พรรคก้าวไกลที่ผู้สมัครมีแต่คนรุ่นใหม่ ดังนั้น ยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทยจึงม่ใช่ยุทธศาสตร์ของประชาชน....

นายจตุพร ย้ำว่า สถานการณ์ของพรรคก้าวไกลในขณะนี้ มีความรู้สึกไม่แตกต่างจากนายธนาธรโดนคดีหุ้นสื่อมวลชน ถัดจากนั้นนำไปสู่การยุบพรรค (อนาคตใหม่) ดังนั้น วันนี้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกฯ ควรคิดกันให้ดี ๆ ด้วย

“นายพิธา ควรคิดทบทวน ว่า ไอทีวีเป็นของใคร รายละเอียดของหุ้นไอทีวีหลุดมาจากไหน ผมไม่เชื่อว่านายเรืองไกร (นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ออกจากเพื่อไทยไปเป็นปาร์ตี้ลิสต์ พปชร.) จะล้วงไปได้ง่ายๆ แต่หลุดไปถึงมือเรืองไกรได้อย่างไร ถ้านายพิธา ตีโจทย์นี้แตกจะเข้าใจว่า มีดดาบมาจากไหน เหมือนกับกรณีจูเลียส ซีซาร์ถูกบรูตัสคนใกล้ชิดชักมีดแทงจนตาย ดังนั้น กระดานการเมืองจึงมีมีดดาบซ่อนไว้มากมายในทุกพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคใกล้ตัว”

นายจตุพร เชื่อว่า ในความเป็นจริงตามกระดานการเมืองขณะนี้ การจับมือ 310 เสียงตั้ง รัฐบาลไม่ได้แล้ว เนื่องจากพรรคอีกฝ่ายหนึ่งที่ไม่ได้อยู่ร่วมใน 310 เสียงนั้นมีท่าทีไม่โหวตให้ ต้องการขึงพืดพรรคก้าวไกล อีกอย่างการปิดสวิตซ์ ส.ว. ก็เกิดขึ้นแล้ว โดย ส.ว.ปิดตัวเอง ประกาศไม่โหวตเลือกนายกฯ สิ่งนี้จึงเป็นสถานการณ์ที่ยากมากในการตั้งรัฐบาลสำเร็จ

“ถ้านายพิธา มีอันเป็นไป (ในคดีถูกร้องถือหุ้นสื่อสารมวลชน) พรรคก้าวไกลก็เสนอแคนดิเดตนายกฯ คนเดียว ดังนั้นแคนดิเดตนายกฯ จะไปถึงอันดับรองถัดไปในพรรค 310 เสียง ซึ่งเห็นชัดเจนอยู่แล้ว ยิ่งคนที่แสดงสปิริตยกให้นายพิธา เป็นนายกฯ ให้พรรคก้าวไกลตั้งรัฐบาล นั่นละตัวดี เพราะทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าไม่ง่าย นายพิธา ไม่รอดอยู่แล้ว เป็นกลเกมซ้ำรอยนายธนาธรถูกกระทำมาแล้ว”

อย่างไรก็ตาม นายจตุพร มั่นใจว่า ถ้าแคนดิเดตนายกฯ ลำดับถัดไปก็จัดตั้งรัฐบาลไม่ง่ายอยู่ดี แม้จะมีพรรคก้าวไกลร่วมด้วยหรือไม่ร่วมกลุ่มเดิม 310 เสียงก็ตาม แต่ยกเว้นเกิดการข้ามขั้วไปอีกฝ่าย ดังนั้น คนคิดเรื่องนี้เป้นเกมต้องหน้าด้านที่สุดชนิดเลิกมองกระจกไปเลย อาจอายหน้าตัวเอง

“แล้วสูตรที่คนสงสัยมาแต่ต้นจะเกิดขึ้นหรือไม่ แม้วันนี้จะยังไม่เกิด แต่มีร่องรอยจะเกิดขึ้น ดังนั้น กระดานการเมืองขณะนี้ จึงต้องดูกันนานๆ ดูกันอย่างมีความอดทนจะได้พบการเมืองแบบเขี้ยว เสือ สิงห์ กระทิง แรด ผสมปนเปเป็นพันธุ์การเมืองที่ดำรงอยู่มาต่อเนื่องมา 90 ปีและเด่นชัดหลัง 14 ตุลาคมถึงปัจจุบัน”

นายจตุพร กล่าวว่า ขณะนี้พรรคก้าวไกล เต็มไปด้วยเรื่องราวมากมาย ดังนั้น 310 เสียงจึงอยู่ผิดที่จน ส.ว. 250 ไม่โหวตเลือกนายกฯให้ ดังนั้นการจัดตั้งรัฐบาลของนายพิธา จึงยากจะเกิดขึ้นได้เลย เพราะเข้าสู่สภาวะ “เด็ดล็อก” แล้ว ยกเว้นมีบางพรรคที่จะงดใช้กระจกส่องหน้าตัวเองชั่วคราว แล้วแหกข้ามมาอีกขั้วหนึ่ง แม้วันนี้ยังไม่เกิดก็ตาม แต่ต้องอดทนรอดูกัน

มิ.ย.นี้ ศาลปกครองสูงสุด นัดอ่านคำพิพากษา ซึ่งอาจจะกระทบต่อการเดินหน้า จัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล 

เดือนมิถุนายนนี้ อย่ากะพริบตากับการกลับมาของสถานีข่าวไอทีวี ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษาที่เป็นข้อพิพาทระหว่างสำนักงานปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.)กับบริษัทไอทีวี ซึ่งศาลปกครองกลางพิพากษาให้บริษัทไอทีวี ชนะคดี

ถ้าศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง ไอทีวีอาจจะกลับมาเป็นสถานีโทรทัศน์ใหม่ก็เป็นได้ ซึ่งปัจจุบันไอทีวียังคงสถานะความเป็นบริษัทผลิตสื่ออยู่ ตามวัตถุประสงค์เพื่อสู้คดีกับ สปน. ส่วนจะผลิตสื่ออย่างอื่นด้วยหรือไม่ เช่นสื่อออนไลน์ เป็นต้น

ไม่ใช่แค่ไอทีวีอาจจะกลับมา แต่เป็นเครื่องยืนยันว่า ไอทีวียังเป็นสื่ออยู่หรือไม่ด้วย และอาจจะกระทบต่อการเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล ที่จะดัน “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นนายกรัฐมนตรี

แต่พิธาติดปัญหาถือหุ้นไอทีวีอยู่ในนามชื่อของตัวเอง แม้จะอ้างว่าเป็นมรดกก็ตาม แต่โดยหลักแล้ว หุ้นมรดกปกติจะต้องมีวงเล็บต่อท้ายชื่อผู้ถือหุ้นว่า “มรดก”

ถ้าพิธาถูกตัดสินโดยศาลรัฐธรรมนูญว่า มีความผิดฐานถือหุ้นสื่อ ก็จะมีปัญหาในการจัดตั้งรัฐบาลต่อไป แต่ยังมีปัญหาอื่นๆตามมาอีกมากมาย เพราะพิธาถือหุ้นนี้มาตั้งแต่ปี 2549 หลังจากพ่อเขาเสีย จะมีผลในทางลบต่อการลงสมัครรับเลือกตั้งปี 2562 ด้วยหรือไม่

และมีผลต่อการรับรองผู้สมัครทั้งระบบเขต และบัญชีรายชื่อด้วยหรือไม่ แปลความได้ว่า การรับรองผู้สมัครไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยหรือไม่ ที่สำคัญคือระเบียบพรรคก้าวไกลก็ลอกมาจากรัฐธรรมนูญ ห้ามสมาชิกพรรคเป็นเจ้าของสื่อ หรือถือหุ้นสื่อด้วย พิธาก็ไม่มีสิทธิ์เป็นสมาชิกพรรคก้าวไกลตั้งแต่ต้นใช่หรือไม่

แต่เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาพรรคก้าวไกล มี ส.ส.ทั้งระบบเขต และบัญชีรายชื่อรวมกัน 151 ที่นั่ง 151 ที่นั่งนี้จะโมฆะหรือเปล่า อันจะนำไปสู่การทำให้การเลือกตั้งทั้งหมดเป็นโมฆะไปด้วย ต้องจัดเลือกตั้งใหม่หรือเปล่า

ถ้าพิจารณาตามข้อมูลที่รับรู้รับทราบกันก่อนหน้าบวกกับประเด็นใหม่ไอทีวี จึงไม่ใช่เรื่องง่ายในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แม้จะมีคะแนนมหาชนจำนวนมาก แต่กฎหมายก็ต้องเป็นกฎหมาย…จริงไหมครับ

‘ไพศาล’ ยัน!! ไอทีวีไม่ใช่สื่อ ใช้เรื่องนี้สอย ‘พิธา’ ไม่ได้ เนื่องจากช่องถูกยึดคลื่นสัญญาณ ตั้งแต่เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว!!

เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 66 นายไพศาล พืชมงคล อดีตที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับเรื่องหุ้นสื่อไอทีวี ผ่านเฟซบุ๊ก ‘Paisal Puechmongkol’ โดยมีรายละเอียดว่า “เรื่องหุ้นสื่อไอทีวี ประเด็นชี้ขาดเรื่องหนึ่ง คือ ‘ไอทีวี’ เป็นสื่อและทำธุรกิจสื่อหรือไม่?

1.) ตั้งร้านชื่อรุ่งฟ้าอาภรณ์ แต่ที่ทำคือขายข้าวมันไก่ ร้านนี้เป็นร้านข้าวมันไก่ ทำการขายข้าวมันไก่ จึงไม่ใช่ร้านตัดเสื้อผ้าฉันใด ไอทีวีก็ฉันนั้น

2.) ไอทีวีเป็นสื่อประเภทวิทยุโทรทัศน์ จะทำธุรกิจได้ต้องอาศัยปัจจัยสำคัญ 2 อย่าง คือใบอนุญาตให้ประกอบกิจการโทรทัศน์วิทยุ และคลื่นสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งเป็นของรัฐ ถ้าไม่มีสองสิ่งนี้แล้ว ก็ทำธุรกิจสื่อไม่ได้

3.) ไอทีวีทำสัญญาร่วมการงานกับรัฐฯ คือ สำนักปลัดสำนักนายกทำธุรกิจสื่อวิทยุโทรทัศน์ จึงได้รับอนุญาตให้ทำวิทยุโทรทัศน์ และคลื่นสัญญาณจากทางราชการ

4.) ต่อมาสำนักนายกฯ ได้ยกเลิกสัญญาร่วมการงาน และยึดเอาคลื่นวิทยุสัญญาณ กลับมาเป็นของรัฐทำให้ไอทีวี ทำสื่อไม่ได้ และเลิกทำสื่อตั้งแต่บัดนั้น เรียกว่า ‘ไอทีวี’ จอดำตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา โดยไม่ได้ทำธุรกิจอื่นใดอีก ความเป็นสื่อและการประกอบธุรกิจสื่อจึงสิ้นสุดลง ตั้งแต่เกือบ 20 ปีที่ผ่านมาแล้ว!!!

5.) ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไอทีวีก็ไม่ได้ทำธุรกิจสื่อใดๆ อีกเลย จึงไม่ได้เป็นสื่อและไม่ได้ทำธุรกิจสื่อด้วย

6.) ไอทีวีได้ดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายจากสำนักงานปลัดสำนักนายกฯ จึงยังเลิกบริษัทไม่ได้ เพราะรอรับค่าเสียหาย และชนะคดีตลอดมา ซึ่งศาลฎีกาจะตัดสินคดีในที่สุดในไม่กี่วันข้างหน้านี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไอทีวีมีรายได้จากดอกเบี้ยของเงินฝาก และมีค่าเช่า จากการนำเอาอุปกรณ์ให้เช่า ซึ่งไม่ใช่กิจการสื่อ

ดังนั้น ตั้งแต่ 20 ปีที่ผ่านมา ไอทีวีจึงไม่ใช่สื่อ และไม่ได้ประกอบธุรกิจสื่อ และไม่ได้ทำธุรกิจใดๆ 

ดังนั้น หุ้นของไอทีวีจึงไม่ต้องห้ามผู้สมัครรับเลือกตั้งที่จะถือหุ้นดังกล่าว ต่อให้ใครถือหุ้นไอทีวีสักเท่าใดก็ไม่ผิด ไม่ขาดคุณสมบัติในการเลือกตั้ง

เมื่อประเด็นสำคัญนี้ ยุติว่าไอทีวีไม่ใช่สื่อแล้ว ไม่ได้ประกอบธุรกิจสื่อแล้ว ก็สอยนายพิธา ไม่ได้
เงิบๆๆๆ”

‘โบว์ ณัฏฐา’ ชำแหละรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี ชี้!! เป็นข้อเท็จจริงที่นำสืบได้ ไม่มีผลต่อ ‘พิธา’ ปมถือหุ้นสื่อ

วันที่ (12 มิ.ย. 66) คุณโบว์ ณัฏฐา มหัทธนา นักกิจกรรมอิสระ และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ชื่อ ‘Bow Nuttaa Mahattana’ ถึงกรณี ความถูกต้องของรายงานการประชุม เพื่อการตรวจสอบความโปร่งใสของไอทีวี โดยระบุว่า…

แม้การตั้งคำถามเกี่ยวกับความถูกต้องของรายงานการประชุมจะทำได้และควรทำ เพื่อการตรวจสอบความโปร่งใสของบริษัทมหาชน แต่จะไม่มีผลกับการวินิจฉัยประเด็น ‘การถือหุ้นสื่อ’ (ส่วนที่ว่าไอทีวีเป็นสื่อหรือไม่) ของคุณพิธานัก (หากถูกส่งคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญหลังรับรอง ส.ส.) เพราะ

1.) หากศาลให้ความสำคัญกับพฤติกรรมการประกอบกิจการ ว่าไอทีวียังมีการผลิตสื่ออยู่หรือไม่ ก็ต้องแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงอยู่แล้ว

2.) หากศาลให้ความสำคัญกับวัตถุประสงค์ของบริษัท ตามเอกสารจดทะเบียนบริษัท ก็มีปรากฏอยู่แล้ว และไม่เคยถูกเปลี่ยน

จึงต้องพิจารณาว่าความเป็นสื่อนั้น นับตามนิตินัยจากเอกสาร หรือพฤตินัยเฉพาะช่วงเวลา หรือประกอบกัน

คำตอบในเอกสารรายงานการประชุม จึงเป็นเพียงการยืนยันว่า บริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ตามวัตถุประสงค์อย่างกว้างๆ เท่านั้น ไม่ได้เจาะจงว่าทำอะไรแน่ชัด ซึ่งวัตถุประสงค์ทั้งหมดมีถึง 45 ข้อ

(ส่วนคดี ม.151 เป็นอีกประเด็น จะตั้งต้นได้ต้องวินิจฉัยประเด็นนี้ให้ชัดก่อน)
ที่มาเอกสารอ้างอิง : https://www.isranews.org/.../118460-inves09-545-4.html

ส่วนความเห็นส่วนตัวโบว์ที่พูดมาตลอด คือ กฎหมายนี้ไม่ควรมีอยู่แต่แรก ไม่สมเหตุสมผลทั้งในเชิงหลักการและการปฏิบัติ ทันทีที่ทำได้ควรแก้ไขค่ะ

นอกจากนี้ คุณโบว์ ยังได้โพสต์ข้อความอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า “ประเด็น คือ ไม่ว่าจะเขียนอย่างไร คำตอบต่อคำถามนั้นในรายงานการประชุมก็ไม่มีผลต่อคดีคุณพิธา เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่นำสืบได้อยู่แล้ว คำตอบตามเอกสารนี้จึงไม่ได้ให้คุณให้โทษกับใคร ไม่ว่าคนที่โยนคำถามจะมีเจตนาพิเศษอะไรหรือไม่ก็ตาม

ด้อมส้ม อย่าอ่านโพสต์นี้ด้วยอคติ (หรือไม่อ่านแต่พิมพ์ด่า) เพราะไม่มีส่วนไหนที่เป็นโทษกับคุณพิธาค่ะ ประเด็นคือ รายงานการประชุมนี้ ไม่สามารถให้คุณให้โทษกับคุณพิธาได้ในทางคดี

INTUCH เร่งสอบปมประชุมผู้ถือหุ้น ‘ไอทีวี’ หลังคลิปรายงานประชุมไม่ตรงกับเอกสาร

(12 มิ.ย. 66) จากกรณีการเปิดคลิปประชุมผู้ถือหุ้น 'ไอทีวี' เรื่องธุรกิจสื่อ ไม่ตรงกับเอกสารรายงานการประชุม จนเป็นที่จับจ้องต่อสาธารณชนอยู่ ณ ขณะนี้ โดยบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH มีหนังสือชี้แจง กรณีดังกล่าวที่เกี่ยวข้องไอทีวี ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้หุ้นใหญ่ในสัดส่วน 52.92% ปรากฏตามสื่อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประชุมผู้ถือหุ้นของไอทีวีที่ผ่านมา 

โดย INTUCH ได้รับทราบข้อมูล และได้ให้ทางคณะกรรมการและฝ่ายจัดการของไอทีวี ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าวที่เกิดขึ้นและหากมีประเด็นใดๆ ที่จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ทางไอทีวีจะดำเนินการให้เร็วที่สุด เพื่อให้มีความโปร่งใสเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ก่อนหน้านี้ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ มีการร้องเรียน กกต. เรื่องการถือหุ้นสื่อ หรือหุ้นไอทีวี ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเตดนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ต่อมาเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นายพิธาได้มีการโอนหุ้นดังกล่าวออกไปแล้วนั้น

จนกระทั่งข่าว 3 มิติ ได้มีการเปิดคลิปวิดีโอการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี ซึ่งได้รับข้อมูลมาจากหนึ่งในผู้ถือหุ้นไอทีวี ที่เข้าร่วมประชุมสามัญประจำปี ผู้ถือหุ้นไอทีวี เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 เพื่อให้ตรวจสอบว่า บันทึกการประชุมที่มีการเผยแพร่เป็นเอกสาร ไม่ตรงกับการประชุมที่มีการถ่ายทอดผ่านอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีการบันทึกเป็นคลิปวิดีโอไว้

โดยเฉพาะช่วงคำถามว่า ไอทีวี ยังดำเนินกิจการสื่อหรือไม่ จึงอยากให้ตั้งคำถามไปยังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นห่วงว่าจะส่งผลกระทบต่ออนาคตของไอทีวีที่อาจจะกลับมาดำเนินกิจการต่อไป หลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา กรณี สปน. ยกเลิกสัมปทานสถานีโทรทัศน์ไอทีวี

ทั้งนี้มีการเปิดคลิปการประชุมระบุเสียงว่า “ในเดือนธันวาคม สิ้นปีนี้ บริษัทจะเปิดให้ผู้ถือหุ้นเสนอวาระล่วงหน้า สำหรับการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีถัดไป โดยผู้ถือหุ้นสามารถอ่านคำแนะนำและวิธีการเสนอวาระ ในเว็บไซต์ของบริษัท www.itv.co.th หรือติดต่อสอบถามฝ่ายเลขานุการของบริษัทได้”
 
“ไม่ทราบว่าผู้ถือหุ้นมีข้อซักถามอื่นๆ อีกรึเปล่าครับ”

“มีคำถามมาจาก คุณภาณุวัฒน์ ขวัญยืน มาด้วยตัวเองนะครับ มีการดำเนินกิจการเกี่ยวกับสื่อหรือทีวีไหมครับ”

“ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ก็รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อน”

“จากคุณวิรัตน์ คล่องประกิจ หากคดีความต่างๆ จบสิ้นเรียบร้อย บริษัทจะมีปันผลไหม บริษัทจะมีแผนการดำเนินงานธุรกิจต่อไป จะเข้าตลาดหลักทรัพย์อีกหรือเปล่า บริษัทมีแผนจะชำระบัญชี หรือกิจการอื่นๆ แก่ผู้ถือหุ้นหรือไม่”

“ขอเรียนอย่างนี้ ผมว่าผลของคดีเป็น เขาเรียกว่าอะไรเป็นจุดสำคัญที่สุดของบริษัท ถ้าผลคดียังไม่ได้ออกมา มันเป็นไปได้ยากมากที่เราจะดำเนินการใดๆ กับไอทีวี ณ ขณะนี้ อย่างในอดีตที่ผ่านมา เราได้ว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงินมาดู Option ต่างๆ ทางเลือกต่างๆ ก็ยังไม่ได้มีทางเลือกใดๆ ที่เหมาะสม ณ ขณะนี้ ทั้งหมดทั้งมวลต้องรอผลทางคดี ถ้าผลคดีสิ้นสุดลงแล้ว ทางบริษัทจะพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสมให้กับทางผู้ถือหุ้นต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพิจารณา จะจ่ายเงินปันผลอย่างไร จะดำเนินธุรกิจต่อไปหรือไม่อย่างไร หรือจะชำระบัญชีอย่างไรทางเราจะพิจารณาทางเลือกที่มีทั้งหมดและเลือกทางเลือกที่เหมาะสมให้ผู้ถือหุ้นต่อไป”

‘ปรเมษฐ์ ภู่โต’ ชี้สาระสำคัญคดี ‘พิธา’ ไอทีวี ยังถือว่าเป็นสื่อ ส่วนเรื่องคลิป-รายงานประชุม ต้องไปพิสูจน์กันอีกเรื่อง

นายปรเมษฐ์ ภู่โต นักข่าวสื่อมวลชนอาวุโส และผู้ดำเนินรายการคุยถึงแก่น ซึ่งออกอากาศทางช่อง NBT ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคก้าวไกล ถึงกรณีการถือครองหุ้นไอทีวี โดยมีใจความว่า ...

คิดเอง จากข่าว....
ถ้าเอาตามที่ นางสดศรี สัตยธรรม อดีต กกต. ออกมาให้ความเห็น สาระสำคัญแห่งคดี น่าจะอยู่ที่ Itv ยังไม่ได้ไปจดเลิกกิจการ หรือเปลี่ยนวัตถุประสงค์ ดังนั้นจึงยังถือว่า เป็นบริษัทที่ยัง "ประกอบกิจการสื่อ" 

ส่วนเรื่องคลิปการประชุมผู้ถือหุ้น ไม่ตรงกับ รายงานการประชุมที่เป็นเอกสารนั้นเป็นคนละประเด็น

ประเด็นสำคัญคือ

1.พิธา ถือหุ้น Itv ณ วันสมัครรับเลือกตั้งจริง

2.บริษัท ItV ยังคงเป็นบริษัท ที่ถือว่าดำเนินการสื่อจริง
แม้ว่าวันนี้จะไม่มีสถานีโทรทัศน์ Itv แพร่ภาพอยู่ก็ตาม แต่ บริษัท ยังคงมีความประสงค์จะประกอบกิจการสื่อ ตามวัตถุประสงค์ ไม่ได้มีการแจ้งยกเลิก

3.พิธา รู้ว่า ตัวเองถือหุ้นสื่อ ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้าม แต่ก็ยังไปสมัคร 

4.ถ้าจะสู้ว่า ก็รู้ว่าถือหุ้น แต่คิดว่าItv ไม่ได้เป็นสื่ออีกแล้ว

ฟังขึ้นหรือไม่ กะอีแค่ให้คนไปคัดเอกสาร ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อมาตรวจสอบให้แน่ใจ มันยากตรงไหน

5.ส่วนคลิปที่ข่าว3มิติ ที่ไม่ตรงกับเอกสารรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น ตัดต่อ หรือ ไม่ เป็นคนละส่วนที่ต้องไปพิสูจน์ความจริง

อาจจะมีผลในแง่สนับสนุนคำกล่าวของพิธาที่ว่า มีขบวนการฟื้นItv เพื่อสกัดไม่ให้เป็นนายกฯ 
แต่ไม่น่าจะมีผลต่อคดี

จบ....สวัสดี
 

‘สุริยะใส’ ผ่าปมคลิปบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี ชี้!! ข้อมูลมัดตัวแน่น คลิปและเอกสาร ขัดแย้งกันชัดเจน

เมื่อไม่นานนี้ ได้มีเอกสารรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566 ที่ลงนามโดย นายคิมห์ สิริทวีชัย ประธานในที่ประชุม โดยระบุว่า มีผู้ถือหุ้นรายหนึ่งถามในที่ประชุมว่า “ไอทีวียังประกอบกิจการสื่อหรือไม่?” ซึ่งในบันทึกการประชุมระบุไว้ว่า “ปัจจุบันยังดำเนินกิจการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และมีการส่งงบการเงิน และยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ”

จนกระทั่ง เมื่อไม่นานนี้ ได้มีการนำเอาคลิปวิดีโอบันทึกการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นไอทีวี ประจำปี 2566 บริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 ออกมาเปิดเผย โดยในคลิปวีดิโอดังกล่าว มีเสียงคำถามที่ถามโดยผู้ถือหุ้นว่า “บริษัท ไอทีวี มีการดำเนินงานเกี่ยวกับสื่อ หรือไม่” โดย นายคิมห์ สิริทวีชัย ประธานคณะกรรมการบริษัท ในฐานะประธานในที่ประชุม ให้ตอบว่า “ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใดๆ นะครับ ก็รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อนนะครับ”

ซึ่งทำให้ข้อมูลที่ถูกเปิดเผยออกมาล่าสุด มีความขัดแย้งกับเอกสารรายงานการประชุมที่ถูกเปิดเผยออกมาก่อนหน้านี้ จนทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อเรื่องดังกล่าวในสังคมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในทวีตเตอร์ ที่ได้มีการพูดถึงประเด็นดังกล่าวอย่างแพร่หลาย และมีการติดแฮชแท็ก #หุ้นitv ไปแล้วมากกว่า 1 แสนทวีต

ล่าสุด วันนี้ (12 มิ.ย. 66) ผศ.ดร.สุริยะใส กตะศิลา คณบดี วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ออกมาโพสต์คลิปผ่านสื่อโซเชียลติ๊กต็อกส่วนตัว ชื่อ ‘suriyasai_k’ โดยได้พูดถึงประเด็นดังกล่าวนี้ ว่า…

“เรื่องหุ้นไอทีวีของคุณพิธา นับวันจะยิ่งเป็นมหากาพย์ และได้กลายเป็นมหากาพย์ของการเมืองไทยไปแล้ว และดูเหมือนไม่มีท่าทีจะจบลงง่ายๆ ประเด็นเก่าหลุดไป ก็มีประเด็นใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาอีกตลอดเวลา จนล่าสุดก็ได้มีประเด็นบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้นหลุดออกมาเป็นคลิปวิดีโอจากสื่อมวลชนแขนงหนึ่ง และได้มีการแชร์กันอย่างแพร่หลายในโลกออนไลน์ ณ ขณะนี้”

นอกจากนี้ ผศ.ดร. สุริยะใส ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า คลิปวิดีโอบันทึกการประชุมที่หลุดออกมานั้น มีรายละเอียดคนละอย่างกับที่บันทึกในเอกสาร ซึ่งในบันทึกการประชุมรูปแบบเอกสาร โดยเฉพาะในช่วงคำถามที่ผู้ถือหุ้นถามถึงประเด็นที่ว่า ไอทีวียังประกอบกิจการอยู่หรือไม่นั้น ในเอกสารได้ระบุไว้อย่างชัดเจน ว่า คำตอบคือ ยังประกอบกิจการสื่ออยู่ปกติ แต่ในคลิปวิดีโอที่หลุดออกมาโดยสื่อมวลชนแขนงหนึ่ง ไม่ได้กล่าวแบบนั้น และยังกล่าวตรงกันข้าม ว่า ไม่ได้ดำเนินกิจการอะไร ยังต้องรอศาลปกครองตัดสินในคดีที่เป็นคู่ขัดแย้งกับสํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจจะมีคำตัดสินออกมาในปลายเดือน มิ.ย.นี้

คำถามที่ต้องคิดต่อจากนี้ คือ

1.) หากคลิปวิดีโอบันทึกการประชุมนี้เป็นความจริง แสดงว่าเอกสารฉบับนั้น เป็นของปลอม และมีคนไปแก้บันทึกการประชุม ซึ่งตรงนี้ก็ต้องมาไล่เรียงกันว่า ใครบ้าง ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง มีตัวละครเกี่ยวคนที่ต้องดำเนินคดีกันอย่างถึงที่สุด

2.) หากคลิปวิดีโอบันทึกการประชุมนั้นไม่ใช่ของจริง ก็ต้องมาตรวจสอบว่ามีการตัดต่อคลิปวิดีโอหรือไม่ และความจริงหรืออะไร เพราะมีผู้ที่ตั้งข้อสังเกตว่า เสียงและภาพในคลิปวิดีโอบันทึกการประชุมนั้น มีความไม่สอดคล้องกัน ไม่ตรงกัน 100% จึงตั้งข้อสงสัยว่าอาจจะมีการตัดต่อหรือไม่

ซึ่งก็เป็นเรื่องที่จะต้องมีการตรวจสอบกันต่อไป ว่าคลิปวิดีโอที่ถูกปล่อยออกมานั้น เป็นของจริงหรือผ่านการตัดต่อ และถ้าหากเป็นคลิปวิดีโอจริงที่ไม่ผ่านการตัดต่อ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับเอกสารบันทึกการประชุมก่อนหน้านั้น ซึ่งมีรายละเอียดไม่ตรงกัน

“ประเด็นที่สำคัญที่สุด คือ สมมติว่า บันทึกที่เป็นเอกสารนั้นเป็นของปลอมก็ไปไล่จับผู้ที่ทำการแก้ไขกันต่อไป และหากคลิปวิดีโอที่ปล่อยออกมานั้นเป็นของจริง คดีจะหายไปหรือไม่? อย่าลืมนะครับว่า คดีที่มีการสอบสวนอยู่ ณ ขณะนี้ คือ “คุณพิธาถือหุ้นสื่อไอทีวีอยู่หรือไม่?” คำตอบคือ “ยังถือหุ้นอยู่จริง” และคำถามที่ว่า “ไอทีวี ยังเป็นสื่ออยู่หรือไม่?” ตรงนี้ผมไม่ทราบ แต่ ไอทีวียังไม่ได้แจ้งยกเลิกการประกอบกิจการ ซึ่งหมายความว่า ไอทีวีจะกลับมาประกอบกิจการเมื่อไรก็ได้ เพราะฉะนั้น ในประเด็นนี้ยังไม่สามารถตัดออกไปได้ อาจจะเป็นคนละประเด็นกับคลิปบันทึกการประชุมว่าเป็นของจริงหรือของปลอม แต่คดีการถือหุ้นสื่อนี้ ยังคงอยู่ บางคนอาจจะบอกว่าคดีจะเบาลง แต่ผมว่าก็คงจะเบาลงเพียงระดับหนึ่งเท่านั้น ยังคงต้องติดตามกันต่อไป เพราะเรื่องนี้จะยังไม่จบลงง่ายๆ ครับ” ผศ.ดร.สุริยะใส กล่าวทิ้งท้าย

‘อลงกรณ์’ ฟันธง ‘พิธา’ รอดคดีหุ้นไอทีวี เชื่อ จบในชั้นกกต. ภายใน 45 วัน

นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรัฐมนตรีและอดีตส.ส.หลายสมัยเขียนเฟซบุ๊กวิเคราะห์คดีหุ้นไอทีวี ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์เรื่อง “กรณีหุ้นไอทีวี จบในชั้น กกต. เรื่องง่ายๆไม่มีอะไรซับซ้อน” โดยสรุปว่านายพิธาไม่ได้เป็นเจ้าของหุ้นไอทีวี จึงไม่เข้าข่ายการกระทำความผิดตามมาตรา151 และชี้ว่าคดีนี้จะจบลงในชั้น กกต. ภายใน45วันโดยมีข้อความดังนี้

ผมติดตามเรื่องหุ้นไอทีวี และมีความเห็นส่วนตัวในฐานะอดีต ส.ส.และอดีตรัฐมนตรี
จึงขออนุญาตแสดงความเห็นตามข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงในข้อเขียนสั้นๆเรื่อง
”กรณีหุ้นไอทีวี จบในชั้น กกต. เรื่องง่าย ๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน” ดังนี้ครับ

“กรณีหุ้นไอทีวี จบในชั้น กกต.
เรื่องง่าย ๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน”

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มีการระบุไว้ในมาตรา 98(3) ซึ่งว่าด้วยคุณสมบัติที่ห้ามลงสมัคร ส.ส. โดยระบุว่า “ห้ามเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ”

ดังนั้นกฎหมายลูกคือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 แก้ไขเพิ่มเติม 2566 จึงบัญญัติมาตรา 151 ความว่า “..ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่า ตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร …(ลักษณะต้องห้ามเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นสื่อ)

กรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ถือครองเป็นเจ้าของหุ้นไอทีวี จะเข้าข่ายการกระทำความผิดตามมาตรา 151ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 แก้ไขเพิ่มเติม 2566 หรือไม่ เรื่องนี้มีหลายมุมมอง แต่สำหรับผมมีความเห็นดังนี้ครับ

1.ประเด็นหุ้นไอทีวี.ไม่มีอะไรซับซ้อนเพราะมีคำถามเดียวที่ต้องพิสูจน์คือ หุ้นไอทีวี เป็นของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หรือเป็นของกองมรดกที่นายพิธาเป็นผู้จัดการมรดก เป็นปมสำคัญที่สุด

2.การพิจารณาข้อกฎหมายเรื่องหุ้นไอทีวี ของนายพิธาคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์โดยเฉพาะ บรรพ 6 ว่าด้วยมรดก

3.จากการประมวลข้อเท็จจริงอย่างรอบคอบโดยปราศจากอคติจากทุกฝ่ายได้ความว่า นายพิธาถือหุ้นในนามผู้จัดการมรดกไม่ใช่ถือในนามส่วนตัวและในฐานะทายาทได้สละมรดกแล้วซึ่งมีผลว่าไม่ได้เป็นเจ้าของหุ้นตั้งแต่ปี2550 

4.เมื่อพิจารณาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงจึงสรุปได้ว่า นายพิธาไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 151 

5.ดังนั้นประเด็นเรื่องหุ้นไอทีวี จะปิดสำนวนในชั้น กกต. ภายใน 30 วันหรือ 45 วัน
การพิจารณาประเด็นหุ้น ไอทีวี. ต้องยึดหลักความยุติธรรมโปร่งใสเป็นบรรทัดฐานในการวินิจฉัย อย่าทำให้เป็นคดีการเมือง

ผมสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งแข่งขันกับนายพิธาและพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แต่เป็นหน้าที่ที่เราต้องช่วยผดุงความยุติธรรมเมื่อเห็นว่ามีความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นกับใครก็ตามแม้แต่คู่แข่งทางการเมือง เพราะความยุติธรรมที่เที่ยงธรรมจะไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกในบ้านเมือง การบริหารประเทศด้วยหลักนิติรัฐและนิติธรรมสำคัญที่สุดสำหรับประเทศไทยในวันนี้และวันข้างหน้าครับ.
 

ผู้ลงนามบันทึกรายงานประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี พบนั่ง ‘เอ็มดี INTUCH’ ควบบอร์ด ถือหุ้น 0.0006%

วันที่ (13 มิ.ย. 66) จากกระแสข่าวใหญ่ในแวดวงการเมืองและตลาดทุนไทย โยงปมการถือหุ้นสื่อของนายทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ล่าสุดปรากฏคลิปวิดีโอเกี่ยวกับเทปบันทึกการรายงานผลการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ‘ITV’ ที่มีเนื้อหาไม่ตรงกับเอกสารรายงานการประชุม

โดยสปอตไลต์ยิงตรงไปที่บุคคลรายนามว่า ‘นายคิมห์ สิริทวีชัย’ ซึ่งเป็นประธานการประชุมผู้ถือหุ้น ITV และเป็นผู้เซ็นลงนามรับรองในเอกสารรายงานการประชุม โดยที่คำตอบในคลิปวิดีโอค่อนข้างย้อนแย้งกับเอกสารรายงานผลการประชุมผู้ถือหุ้น เนื่องจากมีเนื้อหาคนละเรื่อง หรือคนละความหมายกันเลย

ทำให้ชื่อ ‘นายคิมห์ สิริทวีชัย’ กลายเป็นที่สนใจของคนในสังคม โดยติดอันดับรายชื่อที่ถูกค้นหาบน Google Trends มากที่สุด วันนี้ประชาชาติธุรกิจจึงจะพาไปเปิดประวัติ ‘นายคิมห์ สิริทวีชัย’ ว่าบุคคลท่านนี้เป็นใคร และมีความสัมพันธ์กับใครและบริษัทไหนกันบ้าง

โดยจากการสืบค้นข้อมูลพบว่า ‘นายคิมห์ สิริทวีชัย’ ปัจจุบันอายุ 54 ปี จบการศึกษาสูงสุดคือระดับปริญญาโท ด้านบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้อำนวยการ บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) และได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2557 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการกำกับดูแลกิจการและการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีสัดส่วนการถือหุ้น INTUCH อยู่ที่ 0.0006%

ทั้งนี้ ยังพบว่าเป็นกรรมการอยู่ใน บมจ.ไทยคม (THCOM) บมจ.ไอทีวี (ITV), บจก. อาร์ตแวร์ มีเดีย, Shenington Investments Pte Ltd, บจก. ลิตเติ้ล เชลเตอร์, บจก. ไอ.ที.แอพพลิเคชั่นส์ แอนด์ เซอร์วิส, บจก. อินทัช มีเดีย, บจก. ทัชทีวี, บจก. สเปซ เทค อินโนเวชั่น นอกจากนี้ เคยเป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน และรองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานบริหารการลงทุนของ INTUCH อีกด้วย

และที่สำคัญผ่านการอบรมจากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และอื่น ๆ ประกอบด้วย

1.) DCP : Directors Certification Program รุ่น 116/2552
2.) Harvard#1 Executive Learning Sustainment Program ปี 2561-2562
3.) Harvard Leadership Development Program, Harvard Business Publishing ปี 2560-2561
4.) SFLP : Strategic Financial Leadership Program ปี 2562 โดยสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย
5.) หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) รุ่นที่ 21

ทั้งนี้ สำหรับ INTUCH ปัจจุบันมีผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 คือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF จำนวน 1,320.91 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 41.19% โดย GULF ได้เทกโอเวอร์ INTUCH ผ่านการทำคำเสนอซื้อหุ้น INTUCH ที่ราคาหุ้นละ 65 บาท เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 ในสัดส่วน 23.32% โดยใช้เงินลงทุนจำนวน 48,611 ล้านบาท ตอนนั้นเมื่อรวมกับหุ้น INTUCH ที่ GULF ถืออยู่ก่อนแล้วสัดส่วน 18.93% ทำให้ GULF กลายเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ด้วยสัดส่วน 42.25% ของหุ้นที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด

 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top