Thursday, 16 May 2024
ไอทีวี

โบว์ ณัฏฐา’ ชี้ มีความพยายาม เบนความสนใจ กรณีหุ้นไอทีวี ทั้งที่ ความจริงมีแค่ ไอทีวีเป็นสื่อ - พิธาถือหุ้น

วันนี้ (14 มิ.ย. 66) นางสาวณัฏฐา มหัทธนา หรือโบว์ นักกิจกรรมอิสระ และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ที่ชื่อ ‘โบว์ ณัฏฐา มหัทธนา - Nuttaa Mahattana’ เกี่ยวกับเรื่องที่ ไอทีวี ยังคงดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของบริษัท มีการส่งงบการเงินและเสียภาษีอยู่ โดยระบุว่า…

สิ่งที่ระบุในรายงานผู้ถือหุ้นไอทีวี เป็นความจริงเกี่ยวกับธุรกิจ คือบริษัทยังดำเนินการตามวัตถุประสงค์บริษัท ส่งงบการเงินและเสียภาษีอยู่ 

ซึ่งวัตถุประสงค์บริษัทมี 45 ข้อ ไอทีวีอาจไม่ได้ดำเนินการตามข้อ 40 ที่ว่าด้วยการประกอบการวิทยุโทรทัศน์ แต่ยังดำเนินการตามข้อ 41 ที่ว่าด้วยการผลิตสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ ตามที่ระบุในงบการเงินตั้งแต่ปี 65 

เรื่องทั้งหมดเป็นกิจการของบริษัทที่เกิดขึ้นตามปกตินานก่อนจะมีเรื่องการร้องเรียนคุณสมบัติคุณพิธาปมถือหุ้นสื่อ ก่อนคุณพิธาจะได้รับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดทนายกฯของพรรคก้าวไกล ก่อนจะมีการเลือกตั้งและรู้ผลกัน

การพยายามสร้างทฤษฎีสมคบคิดต่างๆนานา คือความพยายามเบี่ยงเบนความสนใจจากข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาในคดีที่เกี่ยวกับคุณสมบัติ ส.ส. และแคนดิเดทนายกฯตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีแค่ …

- ไอทีวี เป็นสื่อฯหรือไม่?
- คุณพิธาถือหุ้นไอทีวีขณะสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่?
เท่านี้เอง.

'พิธา' ย้อนถาม 'กกต.' 2 ปมหุ้นไอทีวี สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ "เป็นธรรมหรือไม่?"

(15 ส.ค.66) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า...

เมื่อวานนี้มีข่าวออกมาว่าคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน ของ กกต. มีมติว่าจะให้ยกคำร้องผมในคดีอาญามาตรา 151 เรื่องการรู้อยู่แล้วว่าไม่มีคุณสมบัติสมัครรับเลือกตั้ง แต่ยังลงสมัคร จากการถือหุ้นไอทีวี โดยคณะกรรมการสืบสวนมีเหตุผลสำคัญว่า บริษัทไอทีวีไม่มีการดำเนินกิจการอยู่และไม่มีรายได้จากการเป็นสื่อ จึงไม่ถือว่าผมมีความผิด 

ผมยืนยันอีกครั้งว่า คดีหุ้นไอทีวีของผม เป็นที่น่าสงสัยว่าเป็นการจงใจกลั่นแกล้งทางการเมืองหรือไม่ เพราะผมถือหุ้นนี้มาตลอดเวลาที่ทำงานการเมือง เป็น สส. มา 4 ปี แต่เพิ่งจะเกิดการร้องเรียนกันขึ้นในเวลาที่ผมเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และมีการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้าการเสนอชื่อผมต่อสภาไม่กี่วัน รวมถึงมีหลักฐานความผิดปกติมากมายที่บ่งชี้ว่ามีความพยายามปลุกปั้นให้บริษัทไอทีวีซึ่งเลิกกิจการสื่อไปนานกว่า 10 ปี กลับมาเป็น ‘หุ้นสื่อ’ ให้ได้ 

มาวันนี้ ที่มีการเปิดเผยมติของคณะกรรมการไต่สวนออกสู่สาธารณะแล้วว่าผมไม่ผิด ทำให้มีประเด็นคำถามที่ผมขอถามไปยัง กกต. ดังนี้

1. คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนดังกล่าว ซึ่งทำคดีมาตรา 151 (คดีอาญา) มีมติก่อนที่ กกต. จะพิจารณาส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ถึงแม้ว่า กกต จะอ้างว่า การพิจารณาของคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน เป็นคนละกระบวนการกับการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่คณะกรรมการสืบสวนฯ ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่รวบรวมพยานหลักฐานและเรียกพยานบุคคลมาสอบข้อเท็จจริง ได้เห็นข้อเท็จจริงว่า ไอทีวีมิได้ประกอบกิจการสื่อและมิได้มีรายได้จากกิจการสื่อมวลชนในขณะที่ผมสมัครรับเลือกตั้งแต่อย่างใด แต่กกต. กลับยังยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยละเลยข้อเท็จจริงบางประการที่คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนได้หยิบยกมาพิจารณา และละเลยแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่เคยวางหลักเรื่องการมีรายได้และที่มาของรายได้เป็นเกณฑ์ว่าบริษัทใดเป็นสื่อหรือไม่

2. การที่คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนมีมติว่า หุ้นไอทีวีไม่ใช่หุ้นสื่อ นอกจากจะสอดคล้องกับแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ก็สอดรับกับความเห็นของประชาชนทั่วไปอีกด้วย ดังนั้น การสั่งให้ผมหยุดปฏิบัติหน้าที่ ทั้ง ๆ ที่ไอทีวี และอินทัช ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ล้วนแต่มีเอกสารงบการเงินยืนยันว่า ไอทีวีหยุดประกอบกิจการ และไม่มีรายได้จากการประกอบกิจการสื่อ ประกอบกับคดีหุ้นสื่อ (นอกจากคดีคุณธนาธร) ของ สส. ปี 2563 ประมาณ 60 คน ศาลก็ไม่ได้สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด แต่ในคดีผม กลับสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ผมจึงขอให้สังคมพิจารณาว่าการสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ผม มีความเป็นธรรมหรือไม่

‘ศาล รธน.’ นัดชี้ชะตา ‘พิธา’ ถือหุ้นไอทีวี 24 ม.ค.67 แถมระทึกต่อ!! เตรียมไต่สวนคดีแก้ ม.112 จันทร์หน้า

(20 ธ.ค.66) ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งว่าได้ไต่สวนพยานในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่จากกรณี เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชนใดๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง สส.แบบบัญชีรายชื่อ โดยมีพยานรวม 3 ปากคือนายแสวง บุญมีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และนายคิมห์ สิริทวีชัย ตอบข้อซักถามของศาลและของคู่กรณีคดีเป็นอันเสร็จสิ้นการไต่สวน ศาลนัดฟังคำวินิจฉัยในวันพุธที่ 24 ม.ค 2567 เวลา 14:00 น.

ส่วนคดีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความของพระพุทธะอิสระ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่าการกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 1 และ พรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ...เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งและยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่ ศาลฯ ได้มีการอภิปรายเพื่อเตรียมการไต่สวนในวันจันทร์ที่ 25 ธ.ค.เวลา 9.30 น. 

‘สว.สมชาย’ ฟันธง!! ‘ไอทีวี’ ยังเป็นสื่่อ เชื่อ ‘พิธา’ ตกม้าตายซ้ำรอย ‘ธนาธร’

(23 ม.ค. 67) นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ทำไมหุ้น ไอทีวี ยังเป็นหุ้นสื่อมวลชน และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อาจขาดคุณสมบัติ และมีลักษณะต้องห้าม เห็นพรรคการเมือง และผู้นำทางความคิดของพรรคก้าวไกลออกมาสื่อสารกับสังคมต่อเนื่อง อาจทำให้สังคมไขว้เขว หรือทำให้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เบี่ยงเบน ขาดความน่าเชื่อถือ ตนเสนอความเห็นส่วนตัว ดังนี้ 

1.บริษัท ไอทีวี ยังคงเป็นสื่อ โดยมีสถานะความเป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีวัตถุประสงค์ จดแจ้งไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเกี่ยวกับสื่อ รวม 5 ข้อ จนถึงปัจจุบันไอทีวียังไม่มีการจดทะเบียนเลิกบริษัท หรือจดยกเลิกวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับสื่อดังกล่าว สอดรับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 14/2562 วินิจฉัยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ขาดคุณสมบัติ และมีลักษณะต้องห้าม ในคดีการถือหุ้น บริษัทวีลัคมีเดีย ที่อ้างว่า ปิดกิจการแล้ว แต่ไม่จดทะเบียนยกเลิกบริษัท ศาลเห็นว่า ยังสามารถประกอบกิจการสื่อมวลชนได้ตลอดเวลา ตราบใดที่ไม่ได้จดเลิกบริษัท

นายสมชาย ระบุว่า 2.บริษัท ไอทีวี ชนะคดีเบื้องต้นแล้ว 2 ยก รัฐต้องคืนคลื่นความถี่ ชดใช้ค่าเสียหาย โดยไอทีวีถูกปิดสถานี และยึดคลื่นคืน เมื่อ 17 ปีก่อน ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ ขอให้สำนัดปลัดสำนักนายกฯ ชดเชยความเสียหายตามสัญญาเข้าร่วมงานฯ - คณะอนุญาโตตุลาการ ชี้ขาดให้ไอทีวีชนะ ได้รับเงินเยียวยา คืนคลื่นความถี่ - สปน.นำคดีสู่ต่อ ศาลปกครองกลาง แต่ศาลพิพากษายกคำร้อง - สปน.ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อ - สถานะปัจจุบัน ศาลปกครองสูงสุด ยังไม่มีคำพิพากษาในคดีนี้ 

จึงเห็นว่า นายพิธา น่าจะขาดคุณสมบัติ และมีลักษณะต้องห้าม เพราะคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และศาลปกครองกลาง ให้ไอทีวี เป็นผู้ชนะคดี ได้รับการเยียวยา และคืนสัมปทานคลื่นความถี่โทรทัศน์ ไอทีวี จึงอยู่ในฐานะที่พร้อมประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ได้ 

3.บริษัทไอทีวี ไม่ได้ประกอบกิจการแล้ว แต่ยังมีบริษัทลูกประกอบกิจการสื่อ มีรายรับ จากบริษัทอาร์ตแวร์มีเดีย ที่ไอทีวี เป็นผู้ถือหุ้น 99% โดยมีผลประกอบกิจการจดทะเบียนทำสื่อโฆษณา รายการให้เช่าเครื่องมือ ลิขสิทธิ์ และอื่น ๆ ฯลฯ ที่ถือได้ว่าเป็นธุรกิจสื่อ

นายสมชาย กล่าวว่า 4.นายพิธา ถือหุ้นไอทีวี เพียงแค่เล็กน้อย ทำไมจึงผิด ศาลรัฐธรรมนูญ เคยมีคำวินิจฉัยที่ 12-14/2553 ในคดีถือหุ้นสื่อและหุ้นสัมปทานรัฐ ที่วินิจฉัยให้ รมต. สส. สว.พ้นจากสมาชิกภาพ และเคยวินิจฉัยไว้ว่า หุ้นสื่อและหุ้นสัมปทานเป็นลักษณะต้องห้ามแม้ถือหุ้นเพียง1หุ้น ก็ขาดคุณสมบัติ  การที่นายพิธา อ้างว่าถือหุ้นไอทีวีเพียง 42,000 หุ้น จาก 1,206,697,400 หุ้น คิดเป็น 0.0035 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีอํานาจสั่งการบริษัท ข้อโต้แย้งนี้นายพิธาจึงฟังไม่ขึ้น ไม่อาจหักล้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่เคยวางแนวไว้เดิม พร้อมน้อมรับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีที่ศาลจะมีคำวินิจฉัย คดีการถือหุ้นสื่อไอทีวี ไม่ว่าจะออกมาในแนวทางใด

ศาลพิพากษา 'ไอทีวี' ชนะคดีข้อพิพาท สปน. บอกเลิกสัญญา ไม่ต้องชำระหนี้กว่า 2 พันลบ. และไม่มีภาระต่อกันอีกต่อไป

(25 ม.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ออกหนังสือชี้แจงผู้ถือหุ้น ระบุว่า บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ขอแจ้งผลคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดกรณีข้อพิพาทระหว่างบริษัท และสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) กรณีที่ไอทีวีได้ยื่นข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2550 เพื่อให้พิจารณาว่าการบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ UHF (สัญญาเข้าร่วมงาน) ในวันที่ 7 มีนาคม 2550 ของ สปน. ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น

หนังสือถึงผู้ถือหุ้น ลงวันที่เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 ระบุเรื่องศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ที่ได้พิพากษายกคำร้องของ สปน. ด้วยเหตุว่า คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการนั้น ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ซึ่งมีผลให้คดีนี้ถึงที่สุด โดยบริษัทและ สปน. ต่างไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระต่อกันอีกรวมจำนวนทั้งสิ้น 2,890,345,205.48 บาท (สองพันแปดร้อยเก้าสิบล้านสามแสนสี่หมื่นห้าพันสองร้อยห้าบาทสี่สิบแปดสตางค์)

ทั้งนี้ จากผลของคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว ส่งผลให้บริษัท ไม่มีหนี้ที่ต้องชำระ หรือ
ภาระหน้าที่ หรือความรับผิดตามสัญญาเข้าร่วมงาน หรือภาระผูกพันใด ๆ กับ สปน. อีกต่อไป ทั้งนี้ บริษัทจะเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาทิศทางของไอทีวีต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การอ่านคำพิพากษากรณีที่ไอทีวีได้ยื่นข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2550 เพื่อให้พิจารณาว่าการบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ UHF (สัญญาเข้าร่วมงาน) ในวันที่ 7 มีนาคม 2550 ของ สปน. ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น ศาลปกครองสูงสุด ได้มีการนัดอ่านคำพิพากษา เมื่อเวลา 10.00 น. ของวันที่ 25 มกราคม 2567


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top