Thursday, 28 March 2024
ไตรรงค์_สุวรรณคีรี

‘ไตรรงค์’ ดึงสติ นักเรียนนอก (คอก) ซัด อย่าเห็นขี้ดีกว่าไส้ บริบทไทย-ตปท. ต่างกัน

24 พ.ย. 64 ดร. ไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี เผยแพร่บทความ เรื่อง #นักเรียนนอก (คอก) #ผู้เห็นขี้ดีกว่าไส้ มีเนื้อหา ว่า.

1.) รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขโดยนักการเมือง ก็ได้รับการประกาศใช้อย่างเป็นทางการไปเรียบร้อยแล้ว (เป็นรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งโดยใช้บัตร 2 ใบ อย่างที่รู้ ๆ กันอยู่แล้ว) เราก็ต้องรอกฎหมายลูก 2 ฉบับ คือ กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งกับกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง ทั้งหมดทั้งปวง ผลของการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่และกฎหมายลูกฉบับใหม่ทั้ง 2 ฉบับนั้น จะเป็นเครื่องพิสูจน์แสดงให้โลกได้เห็นว่า การเมืองไทยมันจะพัฒนาขึ้นหรือว่ามันจะเลวลง อันจักเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า นักการเมืองและประชาชนผู้มีและใช้สิทธิเลือกตั้งในประเทศไทยมีคุณภาพสูงขึ้นหรือต่ำลง 

ถ้าเกิดเผด็จการรัฐสภาอย่างที่เคยเกิดขึ้นหลังการใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ขึ้นมาอีกก็แสดงว่าการเมืองของเรามันเลวลง กล่าวคือ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สามารถกลั่นกรองเอาคนดีเข้าสภาได้มากกว่าคนไม่ดี ถ้าประชาชนเห็นแก่เงิน ยอมขายเสียง นักการเมืองเห็นแก่เงิน (ยอมขายตัว) มากกว่าอุดมคติและผลประโยชน์ของประชาชน การเมืองก็จะเลวลง การโกงกิน คอร์รัปชัน ก็จะมีมากขึ้น การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมก็จะทำได้ยากยิ่งขึ้น เพราะการเมืองชั่วร่วมกับราชการชั่วจะเป็นตัวถ่วงและขัดขวางความเจริญในทุก ๆ ด้าน นี่คือการมองในแง่ร้าย (เพราะมันเคยเกิดขึ้นมาแล้ว) แต่อาจจะไม่เป็นเช่นนั้นก็ได้ ถ้าทั้งประชาชนและนักการเมืองยังจำความผิดพลาดในอดีตได้ และไม่หน้าด้านทำซ้ำอีก ทุกอย่างอาจจะดีขึ้นก็ได้ ใครจะไปรู้ ก็ต้องรอดูกันต่อไป

2.) เมื่อรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับแก้ไขโดยนักการเมือง (เพียงไม่กี่มาตรา) ได้ถูกประกาศใช้บังคับแล้วก็ทำให้หวนคิดถึง ร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยประชาชนแสนกว่าคนที่ถูกรัฐสภาคว่ำไปเรียบร้อยแล้วนั้น ถ้าสมมุติว่าประเทศไทยเกิดมีรัฐธรรมนูญเช่นว่านั้นขึ้นมาจริง ๆ เราก็จะมีเพียงสภาเดียวที่มีอำนาจเหนือองค์กรอิสระและสถาบันศาลทั้งมวล มันก็จะเกิดความหายนะไม่แตกต่างจากที่ได้วิเคราะห์เอาไว้ในข้อ 1.) กล่าวคือ ประเทศไทยก็จะมีเผด็จการรัฐสภา การเมืองชั่วร่วมกับราชการชั่วก็จะกลายเป็นอุปสรรคต่อความเจริญของประเทศในทุก ๆ ทาง อาจจะหนักกว่าเดิมที่เคยเกิดขึ้นหลัง พ.ศ. 2540 เพราะการซื้อสิทธิขายเสียงจะรุนแรงยิ่งกว่าเดิม เนื่องจากมีทุนที่โกงสะสมไว้มีมากกว่าเดิม ลองดูในปัจจุบัน เพียงแค่เป็นการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ยังซื้อกันถึงเสียงละไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท

เมื่อรัฐธรรมนูญเปิดโอกาสคนมีเงินย่อมกล้าจะลงทุนในระดับพันล้านหรือหมื่นล้านเพราะถ้ามีเสียงมากพอจะจัดตั้งรัฐบาลเองได้ก็สามารถจะโกงกินได้เป็นแสน ๆ ล้าน มันต้องมีคนกล้า ด้านเสียอย่าง มีปัญหาม๊ะ?

3) แต่ที่น่าแคลงใจที่สุดอยู่ข้อหนึ่งก็คือว่าทำไมคนไทยที่ไปเรียนในต่างประเทศที่เจริญกว่าประเทศไทย เช่น อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส จึงเกิดมีกลุ่มที่มีความคิดอยากจะลอกแบบทั้งระบบการเมืองการปกครอง วัฒนธรรม และจารีตประเพณี ของพวกฝรั่งตาน้ำข้าวมาใช้กับประเทศไทยทั้ง ๆ ที่บริบท (context) มากมายแตกต่างกันลิบลับ พวกนักเรียนนอกเหล่านั้นคงไม่ใช่เพราะพวกเขาเป็นคนโง่ไม่มีสมองคงจะต้องมีสาเหตุมาจากเหตุผลอย่างอื่น เช่น บางคนขาดประสบการณ์จึงถูกครอบโดยคนที่มีอาวุโสกว่า บางคนอาจจะไม่สามารถอ่านหัวใจคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศออก เพราะสายเลือดความเป็นนักการเมืองนักปกครองไม่มีใน DNA ของพวกเขา คือ ธรรมชาติมิได้สร้างเขามาเพื่อการนี้ก็ได้หรือว่ามีเหตุผลอื่น ๆ ที่เราไม่อาจเข้าถึงความในใจส่วนที่ลึกที่สุดของเขาได้ เช่นมาจากความรู้สึกอาฆาตมาดร้ายต่อบางสิ่งบางอย่างที่ฝังใจมาเป็นเวลานาน หรือต้องทำตามคำสั่งหรือตามความต้องการของใครที่อยู่เหนือกว่าแต่แอบอยู่ในที่มืดหรืออาจจะต้องทำตามคำสั่งของต่างชาติ (มหาอำนาจ) ที่ต้องการทำลายอธิปไตยของชาติไทยเพื่อประโยชน์บางประการของพวกเขาเพราะไม่รู้จึงต้องสันนิษฐานไว้หลาย ๆ ทาง

4.) เพราะว่าโดยหลักการแล้วการที่เราไปเรียนหนังสือในต่างประเทศนั้น เราเพียงเพื่อไปแสวงหาความรู้ในด้านต่าง ๆ ที่ประเทศเหล่านั้นเขามีมากกว่าประเทศเราหรือของเขาก้าวหน้ากว่าที่ประเทศเรามี ไม่ว่าจะด้านการเมือง การปกครอง การเศรษฐกิจ และสังคม เราไปเพื่อเรียนให้เข้าใจ นำสิ่งที่เข้าใจมาประยุกต์ใช้กับประเทศของเราเท่าที่พอเหมาะพอสม เพื่อให้ประเทศของเรามีทิศทางในการพัฒนาที่ดีขึ้นเพียงเท่านั้น

ผมเองเริ่มหัดพูดภาษาอังกฤษหลังจากที่จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว เรียกว่าเริ่มหัดพูดภาษาอังกฤษตอนอายุ 21 ปี โดย ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ในขณะนั้นได้จ้างครูฝรั่งจากสถาบัน A.U.A. มาสอนพวกเรา 10 คนที่เป็นอาจารย์ผู้ช่วย เพื่อเตรียมพร้อมด้านภาษาอังกฤษก่อนจะถูกส่งไปศึกษาต่อในต่างประเทศด้วยการสนับสนุนของมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ หลังจากเรียนภาษาอังกฤษกับ A.U.A. ได้ประมาณ 1 ปี ตัวผมเองถูกมูลนิธิดังกล่าวส่งให้ไปเรียนปริญญาโทในโครงการปริญญาโทที่มูลนิธิฯ ได้จัดตั้งไว้ที่มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นโครงการที่ใช้ศาสตราจารย์ชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงหลายท่านถูกจ้างให้มาสอน

ในปีแรกที่เข้าเรียนผมจะไม่กล้าแสดงความคิดเห็นใด ๆ ในชั้นเรียนเลย เพราะไม่มั่นใจในภาษาพูดของตนเอง ต่อเมื่อจบปริญญาโทแล้วได้ทุนต่อไปทำปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา (มหาวิทยาลัยฮาวาย) ภาษาพูดของผมก็แข็งแรงขึ้น (ประกอบกับเผอิญมีแฟนสาวเป็นชาวอเมริกันที่ต้องพูดกันทุกวัน) ผมก็เลยกลายเป็นคนที่มีปัญหากับอาจารย์ผู้สอนมากเพราะถ้าผมไม่เห็นด้วยกับที่อาจารย์สอนผมก็จะยกมือขอแสดงความเห็นในทุก ๆ เรื่อง หรือถ้าเห็นว่าอาจารย์สอนไม่ค่อยชัดเจน ผมก็ไม่เคยปล่อยให้มันผ่านไปเฉย ๆ (คุณดำรง พุฒตาล เคยไปเที่ยวที่มหาวิทยาลัยฮาวายได้ฟังกิตติศัพท์เรื่องการเป็นคนเจ้าปัญหาในชั้นเรียนของผม ท่านนำมาเขียนเล่าให้คนไทยฟัง ขณะนั้นผมเป็นโฆษกรัฐบาลของ พล.อ.เปรมฯ)

แม้ระยะหลังเมื่อผมหาเวลาว่างจากงานการเมือง พอจะสมัครเข้าไปเรียนในโครงการสั้น ๆ 3 เดือนบ้าง 6 เดือนบ้างที่มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเขาเปิดสอนผมก็เลือกไปเรียนทั้งที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard ในสหรัฐอเมริกา) มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge ในอังกฤษ) และคณะเศรษฐศาสตร์ (London School of Economics แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ)

ดร.ไตรรงค์ ชี้ในประเทศเสรีประชาธิปไตยประชาชนที่เป็นอารยะต้องมีมากกว่าประชาชนที่เป็นอนารยะ(ป่าเถื่อน) การพิจารณาของศาลทุกขั้นตอน ต้องปราศจากความกดดันใดๆ

28 ส.ค.2565-ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเรื่อง “ใครกันแน่ที่เถื่อน” ระบุว่า เมื่อตอนนายโจไบเดน (Joe Biden) ได้รับเลือกตั้งด้วยเสียงส่วนใหญ่ (Electoral Vote) ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายของสหรัฐอเมริกา  รัฐสภาจะต้องรับรองผลการเลือกตั้งดังกล่าวเสียก่อน โจ ไบเดน จึงจะสามารถเข้าพิธีสาบานตนเป็นประธานาธิบดีคนที่ 46 ได้  แต่ผู้แพ้เลือกตั้งคือ นาย โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ได้ปลุกระดมกล่าวหาว่าเขาถูกโกงการเลือกตั้งทั้ง ๆ ที่คณะกรรมการเลือกตั้งและศาลได้พิจารณาวินิจฉัยแล้วว่า “ไม่มีการโกง” แต่ด้วยคำโกหกดังกล่าวของนายทรัมป์ได้ปลุกเร้าให้ผู้สนับสนุนตัวเขาได้ก่อม็อบเดินขบวนเข้าไปยึดอาคารรัฐสภา เพื่อขัดขวางการรับรองผลการเลือกตั้ง (เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564) จึงเกิดมีการทำลายข้าวของในรัฐสภา ทำร้ายเจ้าหน้าที่และตำรวจสภาฯจนเกิดการยิงกันตายไปหลายศพและถูกจับกุมไปดำเนินคดีกันเป็นจำนวนมาก

การกระทำของ #ม็อบคนเถื่อน เหล่านั้นได้ทำลายชื่อเสียงและเกียรติภูมิของสหรัฐอเมริกาในฐานะผู้นำการปกครองในระบอบประชาธิปไตยไปทั่วโลก เพราะเป็นการเปิดเผยให้เห็นว่า มีคนอเมริกันจำนวนไม่น้อยที่ยังมีจิตใจป่าเถื่อนไม่มีความเป็นอารยะ กล่าวคือพร้อมจะใช้ความรุนแรงกับทุกฝ่ายโดยไม่ยำเกรงและเคารพกฎหมาย เพียงเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตนต้องการ แม้ว่าสิ่งนั้นจะสวนทางกับความต้องการส่วนใหญ่ของประชาชนในประเทศก็ตาม จึงเรียกได้เต็มปากว่าพวกนี้เป็นพวกบูชาระบบ “อนาธิปไตย” ไม่ใช่บูชาระบบ “ประชาธิปไตย” ตามอารยธรรมที่พวกเขาใช้ประกาศกันในการหาเสียงระหว่างการเลือกตั้ง (ซึ่งมันสะท้อนออกมาในรูปของนโยบายต่างประเทศและนโยบายกลาโหมตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงปัจจุบัน)

มีอยู่หลายครั้งในหลายๆ ประเทศที่เมื่อศาลสถิตยุติธรรม หรือศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำพิพากษา ที่ไม่ตรงกับผลประโยชน์ที่พวกตนต้องการ ผู้ถูกศาลลงโทษ (ส่วนใหญ่เป็นนักการเมือง) ก็จะแหกปากตำหนิติเตียนศาลฯว่าเป็นผู้ที่มิได้มาจากการเลือกตั้งเหมือนพวกตน มีความชอบธรรมอะไรจึงมาพิพากษาลงโทษพวกตนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ถ้าหยุดคิดเสียสักหน่อยก็ควรจะได้สติกันว่าการเลือกตั้งนั้นเป็นเพียงการบ่งบอกถึงความชอบหรือไม่ชอบของประชาชน แต่จะนำผลการเลือกตั้งนั้นมาใช้กับกระบวนการยุติธรรมย่อมไม่ได้ เพราะการพิจารณาของทุกศาลทุกแบบล้วนอาศัยหลักกฎหมายที่ประกอบด้วยทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงไม่มีอะไรเกี่ยวกับความชอบหรือไม่ชอบของประชาชน ถ้าศาลฯลงโทษผู้ใดก็โปรดเชื่อเถอะว่าศาลได้ใช้ดุลยพินิจด้วยความรอบคอบตามหลักข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง เพราะมีหลักกฎหมายที่ใช้กันทั่วโลกมาเป็นพันปีแล้วอยู่ข้อหนึ่งก็คือ “บุคคลจะไม่ต้องรับโทษถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดเอาไว้”

ในประเทศเสรีประชาธิปไตยประชาชนที่เป็นอารยะต้องมีมากกว่าประชาชนที่เป็นอนารยะ(ป่าเถื่อน) ประเทศทั้งหลายถึงสามารถเดินหน้าไปได้ด้วยความราบรื่น โดยอาศัยคนส่วนใหญ่ยังยึดหลักนิติธรรมเป็นใหญ่เอาไว้ด้วยความมั่นคง การพิจารณาของศาลทุกขั้นตอน (ของทุกๆศาล) ต้องปราศจากความกดดันใดๆ ของทุกๆ ฝ่ายทั้งจากนักการเมือง พรรคการเมือง และกลุ่มม็อบทุกชนิด

'ไตรรงค์' ประกาศลาออกจากสมาชิกปชป. ทิ้ง 38 ปีไว้เบื้องหลัง ขอมีลมหายใจเป็นของตัวเอง

(27 ต.ค. 65) ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า #ผมขอมีลมหายใจเป็นของตนเอง #ใส่เสื้อฟ้าเป็นครั้งสุดท้าย #38ปีกับพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อ 15:00 น. ของวันนี้ (27  ตุลาคม 2565) ผมได้ให้เลขาส่วนตัวไปยื่นใบลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์และทุกตำแหน่งในพรรคประชาธิปัตย์แล้วครับ

ผมลาออก #ทั้งๆที่ยังรักพรรคประชาธิปัตย์อยู่ แต่ผมไม่ได้รักที่ตัวตึก หรือตัวบุคคล ผมไม่เคยยึดมั่นในสิ่งลวงตาเหล่านั้นที่ผมรักก็คือ “อุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์” ที่ได้ประกาศไว้ในวันก่อตั้งพรรคเมื่อปี พ.ศ.2489 จึงได้เข้าเป็นสมาชิกมาตลอดเวลา 38ปี

อย่างไรก็ดี ผมก็ยังเชื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงสอนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุและปัจจัย อุดมการณ์ ปี 2489 ทั้ง 10 ข้อ จึงต้องมีการปรับปรุงให้เข้ากับยุคให้เข้ากับบริบทใหม่ๆของประเทศและของโลก ที่สำคัญที่สุดก็คือเพื่อล้อมกรอบมิให้ผู้บริหารหรือสมาชิกแสดงท่าทีที่ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดในอุดมการณ์ เช่นต้องไม่มีใครมีท่าทีทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าพรรคฯตั้งตัวเป็นศัตรูกับทหารของชาติเพราะทหารในปัจจุบันแตกต่างไม่เหมือนกับทหารสมัยก่อนแล้ว ส่วนศัตรูของอุดมการณ์ต้องเขียนใหม่ให้ชัดว่าไม่ใช่เฉพาะเผด็จการทหารแต่หมายรวมถึงเผด็จการรัฐสภาด้วย และในนโยบายต่างประเทศต้องเขียนใหม่ให้ชัดว่าเราจะเป็นมิตรกับทุกประเทศแม้ว่าระบอบการเมืองการปกครองจะแตกต่างจากของของเราที่กำลังใช้อยู่ เป็นต้น แต่ต้องทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้อธิปไตยของชาติต้องถูกครอบงำโดยประเทศอื่นอย่างเด็ดขาด ซึ่งทั้งหมดนี้ผมได้พูดให้สมาชิกและผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ฟังโดยละเอียดแล้วเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2565 ที่โรงแรม Kantary Hill จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งก็ดูเหมือนว่าพรรคฯ ก็ได้พยายามปรับปรุงจุดยืนและท่าทีคล้ายๆอย่างที่ผมเคยแนะนำไว้อยู่บ้างคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับพรรคประชาธิปัตย์

แต่ก็ยังมีพรรคการเมืองอื่น ๆ อีกหลายพรรคที่มีจุดยืนด้านอุดมการณ์ที่ตรงกับใจของผม ที่ผมอยากสนับสนุนโดยเฉพาะมีอยู่หลายพรรค ที่เกิดใหม่จากคนที่ต้องออกจากพรรคประชาธิปัตย์ด้วยเหตุผลที่ไม่สามารถจะบอกใครได้ (เพราะเกรงใจกัน) แต่เมื่อไปตั้งพรรคใหม่ขึ้นมาก็ได้มีการประกาศจุดยืนแห่งอุดมการณ์พร้อมมีนโยบายปฏิรูปหลายประการเหล่านี้ทำให้ผมเห็นด้วยและอยากสนับสนุน

ผมจึง #อยากขอโอกาสมีลมหายใจเป็นของตนเองสักครั้งหนึ่งในบั้นปลายชีวิตทางการเมืองของผม เพื่อจะได้สนับสนุนพรรคการเมืองใหม่ ๆ (ที่ใหม่กว่าพรรคประชาธิปัตย์) การแสดงออกจะได้สามารถทำได้อย่างเปิดเผย จะได้ไม่รู้สึกว่าผมแอบเป็นกบฏลับ ๆ ต่อพรรคประชาธิปัตย์เพราะผมยังรักและสนับสนุนอุดมการณ์ประชาธิปัตย์แต่ก็จะสนับสนุนพรรคการเมืองอื่น ๆ ทุกพรรคที่ผมเห็นด้วยกับอุดมการณ์และนโยบาย จะยินดีให้ความช่วยเหลือตามที่ถูกร้องขอโดยไม่หวังผลอะไรเป็นการตอบแทนใดๆทั้งสิ้นเพราะว่าแก่แล้ว

#หมายเหตุ จนถึงปัจจุบันนี้ได้มีพรรคการเมืองใหม่ๆมาขอคำปรึกษาไปแล้วถึง 5 พรรคครับ

ส่วนการสนับสนุนช่วยเหลือหลายๆพรรคควรจะทำอย่างไรนั้น มันเป็นศิลปะที่ผมเรียนรู้มาและจะลองนำมาปฏิบัติดูในรูปแบบที่ว่า #ต้องรวมมิตรและแยกศัตรูในเชิงอุดมการณ์ให้ชัดเจน ถ้าได้ผลก็ดีถ้าไม่ได้ผลก็ไม่เป็นไรเพราะผมยึดถือคำว่า #สันโดษ ตามภาษาพระที่สันโดษแปลว่าได้ก็ดีไม่ได้ก็ได้ (ไม่ใช่ตามภาษาคนที่หมายถึงการอยู่คนเดียว) และผมเป็นเพียงคนตัวเล็กๆคนหนึ่งจึงไม่คิดว่าทำให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องเสียหายเพราะพรรคฯเขามีบุคลากรมากอยู่แล้วส่วนมากก็มีความสามารถตามความเห็นของผู้บริหาร และผมก็ไม่เคยจะทำร้ายพรรคฯ หรือพูดจาใดๆ ให้พรรคฯต้องเสียหายและเสียน้ำใจกัน

อย่างไรก็ดีผมก็ยังคงต่อต้านและปฏิเสธทั้งพรรคการเมืองและนักการเมืองที่ใช้โวหารแบบปลิ้นปล้อน โกหกตอแหล ใส่ความ หลอกลวง หน้าอย่างหลังอย่างเป็นพวกเล่นการเมืองเพื่อหวังผลทางการเมืองมากกว่าผลประโยชน์ของชาติที่ควรจะเป็นผลประโยชน์สูงสุด เพราะผมเห็นว่า คนเช่นนี้ลงมาเล่นการเมืองเพื่อประโยชน์ของตนเองและพรรคพวก โดยการอ้างชาติและประชาธิปไตยเพื่อเป็นการบังหน้าและให้ประชาชนหลงผิดในสาระสำคัญเท่านั้น

โดยเนื้อแท้แล้วคนเช่นนี้เป็นพวกที่พร้อมจะขายชาติเพื่อแลกเงินพร้อมจะทำลายและบิดเบือนคำสอนอันเป็นหัวใจของศาสนาต่างๆเพียงเพื่อให้ได้คะแนนเสียงจากคนที่โง่ๆ ตลอดจนเป็นพวกที่พร้อมจะทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ (ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง) เพื่อเปลี่ยนระบบการเมืองการปกครองของประเทศให้เป็นระบอบสาธารณรัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุขซึ่งเป็นระบบที่แสนจะไม่เหมาะกับบริบทและประวัติศาสตร์ของชาติไทยหากแต่จะนำมาซึ่งความแตกแยกที่รุนแรง  ศีลธรรมจะตกต่ำการไร้ยางอายในการทำชั่วจะมีมากขึ้นเหมือนอย่างหลายประเทศทั้งในเอเชียและในละตินอเมริกา

เพราะผมเห็นว่า #อธิปไตยและเอกราชของชาติอาจจะเกิดความเสียหายได้ ถ้าประเทศต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของนักการเมืองที่มีคุณสมบัติเลวๆดังกล่าวข้างต้นก็โดยที่นักการเมืองอย่างนั้นจะเป็นคนที่เห็นแก่ลาภ (เงิน) ยศ และสรรเสริญของตนเองและพรรคพวกมากกว่าเกียรติยศและศักดิ์ศรีของประเทศชาติ ที่พูดเช่นนี้ก็เพราะได้เห็นตัวอย่างมาแล้วว่าครั้งหนึ่งพวกเขาได้เคยแอบทำการตกลงลับๆที่จะอนุญาตให้มหาอำนาจบางประเทศ มาตั้งฐานทัพในประเทศเพื่อจะได้สะสมอาวุธไว้ข่มขู่บางประเทศที่พวกเขาแย่งชิงความยิ่งใหญ่ในการเป็นเจ้าโลกกันอยู่ในปัจจุบันนี้

'ไตรงรงค์' ยันไม่เคยระแวง 'ภูมิธรรม' และชื่นชม 'บิ๊กตู่' คนรัฐประหารที่เป็นคนดีแนะ!! นักการเมืองรุ่นใหม่อย่าหยิบคำ 'ทรราช' มาประณามโดยไม่รู้ความเป็นมา

(31 ต.ค.66) ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า...

เรื่องนี้ผมก็เพิ่งรู้… เจอคนดี ผมก็ต้องบอกว่าดี เจอคนพูดจาไม่ดี ผมก็ตักเตือน

วานนี้ ผมได้มีโอกาสฟังการเสวนาทางการเมืองที่ช่อง The Nation (ช่อง22) จัดขึ้น แล้วได้นำเทปมาออกอากาศอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเนื้อหาที่ได้ยินนั้นน่าสนใจและเป็นครั้งแรกเหมือนกันที่ผมเคยได้ยินเรื่องนี้ ผมจึงได้ข้อสรุป และเขียนมาให้ทุกท่านอ่านตามนี้ครับ

นายภูมิธรรม เวชยชัย จากพรรคเพื่อไทย คือคนที่พยายามอธิบายให้ประชาชนได้เข้าใจว่า การจัดรัฐบาลผสมที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำนั้น มันก็คือการนำพรรคต่าง ๆ ที่พอจะรับความคิดหรือนโยบายที่แตกต่างกันในบางส่วน รัฐบาลผสมในปัจจุบันของไทยเป็นรัฐบาลสลายขั้ว สลายสี …แต่ก็มีบางคนแย้งว่าไม่ใช่เป็นการสลายขั้ว สลายสีจริง เพราะยังมีพรรคก้าวไกลที่ดูเสมือนเป็นขั้วอีกขั้วหนึ่งที่มีความเห็นในเรื่องต่าง ๆ แทบจะขาวเป็นดำกับรัฐบาลในปัจจุบัน และตอนนี้ก็เป็นพรรคฝ่ายค้านที่มีความเข้มแข็ง …แต่พรรคต่าง ๆ ที่ให้ความเคารพต่อความเห็นต่างในบางส่วนก็สามารถทำงานร่วมกันได้ แต่ทุกพรรคที่ร่วมรัฐบาลกันก็เพราะ ล้วนมีความเห็นและนโยบายในส่วนใหญ่ที่ไม่ค่อยแตกต่างกัน เช่น…

#อยากให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ต้องพอเหมาะพอสมกับบริบทต่าง ๆ ของประเทศ ที่สำคัญก็คือต้องไม่กระทบต่ออธิปไตยของชาติ ไม่กระทบต่อเสถียรภาพในความมั่นคงของชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์

#ลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนให้ลดน้อยถอยลง เป็นสิ่งที่ทุกพรรคล้วนอยากทำทุกอย่างให้ ทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

#พัฒนาระบบยุติธรรมให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คืออีกสิ่งที่ทุกพรรคต้องการ โดยเฉพาะการปฏิรูปตำรวจ อัยการ และการทำงานของกรมราชทัณฑ์ ที่ล้วนมีส่วนทำให้ระบบยุติธรรมของเราได้ตกต่ำถึงที่สุดนับตั้งแต่ตั้งประเทศไทยมา เป็นต้น

ซึ่งเรื่องที่ผมบอกว่าเป็นเรื่องที่ผมก็เพิ่งเคยรู้คือ คุณภูมิธรรม ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์และผม มีอะไรที่คล้าย ๆ กันกว่าที่คิด เราเคยได้รับประสบการณ์ที่ไม่พึงประสงค์กันทั้งสิ้น กล่าวคือ พวกเราล้วนถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นอันตรายต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ โดยคณะรัฐประหารที่ทำโดยพลเรือเอก สงัด ชะลออยู่ ที่ยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 และอีกสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือในห้วงเวลาที่เราต่อสู้ เราไม่เคยทิ้งประชาชน ในวันที่แกนนำหลาย ๆ คนชวนคุณภูมิธรรมให้หนีเมื่อมีข่าววงในเข้ามาว่าทหารจะส่งคนเข้ามาปราบคณะประท้วงซึ่งตอนนั้นปักหลักกันในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คุณภูมิธรรมปฏิเสธที่จะหนีด้วยเหตุผลว่า “มันไม่แฟร์ ผมเป็นคนปลุกระดมเขามา ผมหนีเอาตัวรอดคนเดียวไม่ได้ ผมต้องตายเคียงข้างพวกเขา”… ซึ่งในที่สุด เมื่อการต่อสู้ไปถึงขีดสุด คุณภูมิธรรมก็ต้องหนีเข้าป่า ดร.ป๋วย ต้องลี้ภัยไปอยู่อังกฤษ  ผมต้องลี้ภัยไปอยู่ประเทศญี่ปุ่น

ทั้งนี้ ผมขอใช้จังหวะนี้อธิบายให้หลาย ๆ คนที่เข้าใจผิดด้วย การที่คนอย่าง ดร.ป๋วย ตัวผมเอง คุณภูมิธรรม และคนอื่นๆ ที่ต้องหนีเข้าป่านั้น ก็เพื่อความปลอดภัยของตนเองทั้งๆ ที่มิได้มีความคิดเป็นคอมมิวนิสต์นะครับ #ผมไม่ใช่คอมมิวนิสต์ ใครที่เกิดทันในช่วงนั้น จะเข้าใจถึงระดับความรุนแรงของการปราบปราม (เด็กรุ่นใหม่อาจจะยังไม่เคยเจอความรุนแรงขนาดที่เราเคยเจอ เช่น การเอาร่างไปแขวนต้นมะขาม) พวกเราที่เป็นกลุ่มนักสู้ จำเป็นต้องทำบางอย่าง ด้วยเหตุผลเพื่อมิให้ถูกจับกุมหรือถูกทำร้ายร่างกาย และคร่าชีวิตโดยพวกขวาจัดที่สนับสนุนคณะปฏิวัติในขณะนั้นเพียงเท่านั้น (แต่ก็อาจจะมีบางส่วนนะครับ ที่เมื่อเข้าป่าไปอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยแล้ว ก็ได้ซึมซับปรัชญาและแนวคิดของ คาร์ลมาคส์ เลนิน และ เมาเซตุง มาแบบที่ว่าไม่สามารถสกัดให้หลุดออกไปได้จากความจดจำของเขา (ที่พระพุทธเจ้าเรียกว่า“สัญญา”) …หลาย ๆ คนก็ยังมีการแสดงออกในทางการเมืองยุคปัจจุบัน ที่ประชาชนคนไทยทุกท่านก็น่าจะพอสังเกตได้ว่าคือใครบ้าง

ที่แน่ๆ คือผมไม่เคยระแวงในความเป็นคอมมิวนิสต์ของคนอย่างคุณภูมิธรรม และอีกหลายๆ คน เช่น คุณเสกสรร ประเสริฐกุล คุณหมอพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช คุณเทิดภูมิ ใจดี และคุณจิระนันท์ พิตรปรีชา ซึ่งบางคนนี้ก็กลายมาเป็นบุคคลสำคัญในคณะรัฐบาลชุดปัจจุบัน (แต่ผมก็ยังระแวงอีกหลายๆ คนที่มิได้อยู่ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ไม่ว่าจะอยู่ในพรรคร่วมรัฐบาล หรืออยู่ในพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งยังไม่สามารถสลัดความคิดที่ท่องมาจากความคิดของ คาร์ลมาคส์ เลนิน และเมาเซตุง จึงกลายเป็นตัวสร้างความแตกแยกความสามัคคีของคนในชาติ อยู่ในปัจจุบัน)... เมื่อมีคนมีอุดมการณ์เหล่านี้ในคณะรัฐบาล เราน่าจะมั่นใจได้ระดับหนึ่งว่าจะประเทศไทยจะยังคงเดินหน้าต่อไปด้วยระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  ผมก็ฝากความหวังไว้ด้วยนะครับว่าทุกๆ ท่านจะบริหารบ้านเมืองกันอย่างดี อย่าปล่อยให้มีการโกงกินกันจนประชาชนทนไม่ไหว ต้องให้เกิดการรัฐประหารอีกเลยนะครับ เพราะในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เราก็โชคดีเพียงแค่ครั้งเดียวที่คนรัฐประหารเป็นคนดี รักชาติ และมีใจเป็นนักพัฒนาเช่นท่าน ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่สร้างความเจริญให้กับประเทศอย่างมหาศาลตั้งแต่เข้าสู่อำนาจ… แต่นอกนั้นนะครับ การรัฐประหารอื่นๆ ที่ผ่านมาก็มาคู่กับความรุนแรงและการโกงกินทั้งนั้นครับ

#หมายเหตุ ผมอยากฝากแง่คิดให้กับคนรุ่นใหม่ที่ชอบอ่านหนังสือและเชื่อในสิ่งที่ตนอ่าน… พวกเอกสาร ข้อเขียน หนังสือ และ ตำราของ คาร์ลมากซ์ เลนิน และเมาเซตุง ทั้งสิ้นที่เป็นต้นน้ำของลัทธิคอมมิวนิสต์ ผมก็เคยอ่านมามากแล้วเช่นเดียวกันนะครับ แต่ผมไม่เคยตกเป็นทาสของมัน เพราะผมประมวลแล้วว่ามันไม่เหมาะกับบริบทของสังคมไทย อาจเลือกมาใช้บางอย่างได้ เช่นเดียวกับระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยม ก็ควรจะเลือกเฉพาะที่เหมาะสมกับประเทศไทย #อย่าเป็นขี้ข้าทางความคิดของพวกนักคิดตะวันตก จนไม่เหลือความเป็นตัวของตัวเองกันเลยครับ

เพิ่มเติมอีกสักนิดเกี่ยวกับการใช้ภาษาของนักการเมืองรุ่นใหม่ด้วยนะครับ คำว่า “ทรราช” ต้องมีองค์ประกอบ 2 ประการคือ “ฆ่า” และ “โกง” นะครับ… หลายๆ ท่านยังไม่เคยเกิดขึ้นมาในยุคที่มีทรราชจริงๆ เช่น ฮิตเลอร์ จอมพลสฤษดิ์ เป็นต้น แม้ว่าท่านประยุทธ์จะทำรัฐประหารก็จริง แต่ไม่เคยสั่งฆ่าคนที่ออกมาเดินขบวนด่าท่าน และตัวท่านเองไม่เคยโกงกิน …ถ้าผู้นำคนใดไม่ได้ทำทั้งคู่  ก็ไปซี้ซั้วเรียกเขาว่าทรราชไม่ได้นะครับ  และแถมอีกนิดว่าการที่ท่านพาครอบครัวไปเที่ยวญี่ปุ่นด้วยเงินบริสุทธิ์ที่ท่านอดออมด้วยน้ำพักน้ำแรง ก็ไม่ใช่เรื่องที่ใครควรที่จะมาประณามนะครับ

'ดร.ไตรรงค์' ชี้!! นักการเมืองไทยต้องเรียนรู้จาก 'ซุนวู' เมื่อมีอำนาจ คิดทำสิ่งใดต้องปรึกษาผู้รู้ ลด-เลี่ยงหายนะที่จะเกิดกับประเทศชาติ

(20 พ.ย. 66) นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ประธานที่ปรึกษาพรรครวมไทยสร้างชาติ โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง สิ่งที่นักการเมืองไทยต้องเรียนรู้จาก ‘ซุนวู’ ระบุว่า…

ซุนวู เป็นปราชญ์ที่เกิดในสมัยชุนชิวของจีน (ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่เล่าจื้อและขงจื้อจะถือกำเนิดขึ้นในโลกนี้) เขาเป็นนักการทหารที่เขียนตำราพิชัยสงครามที่ปัจจุบันได้รับการแปลเป็นหลายภาษา เช่น ไทย, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, ญี่ปุ่น, เยอรมัน, และรัสเซีย ฯลฯ

ซุนวู (Sun Wu) เป็นเพื่อนรักของขุนพลหวู่จื่อซี (Wu-Zi-Xu) ซึ่งเป็นผู้ได้ชักชวนซุนวูให้เข้ารับราชการในแคว้นหวู๋ (Wu) จนได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายพลและเสนาธิการในกองทัพของกษัตริย์แคว้นหวู๋ ที่มี เหอ หลิวเป็นกษัตริย์ (King He Lu)

กษัตริย์ เหอ หลิว ได้ใช้ตำราพิชัยสงครามของซุนวู และรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับทั้งสองนายพลโดยมีซุนวูเป็นเสนาธิการ จนสามารถตีแคว้นเย่ว์ (Yué) ได้ แต่แคว้นฉู่ (Chu) ยังยืนหยัดอยู่ได้แม้จะต้องเสียเมืองหลายเมืองให้กับแคว้นหวู๋ เหตุที่ไม่สามารถยึดแคว้นฉู่ (Chu) ได้ทั้งหมดก็เพราะ กษัตริย์ไม่เชื่อฟังคำแนะนำของทั้งสองนายพลที่ให้หยุดทำสงครามก่อนเพราะทหารตายไปมาก ที่เหลือก็หมดแรง 

แต่กษัตริย์กลับไปฟังคำแนะนำของขุนนางสอพลอที่ไม่เคยมีทฤษฎีและประสบการณ์ในการทำสงคราม แคว้นฉู่ได้รับความช่วยเหลือจากกองทหารที่ยังเหลือของแคว้นเย่ว์ จึงสามารถรบชนะกองทัพของแคว้นหวู๋ (Wu) กษัตริย์ต้องนำทัพพ่ายแพ้กลับแคว้นของตนอย่างน่าอับอาย

อยู่ต่อมาเมื่อกษัตริย์ของแคว้นเย่ว์เสียชีวิตลง โกวเจี้ยน (Gou Jian) บุตรชายขึ้นเป็นกษัตริย์ กษัตริย์เหอ หลิว ฉวยโอกาสยกทัพ 100,000 คน เพื่อไปตีแคว้นเย่ว์อีก โดยไม่ฟังคำคัดค้านของทั้งสองขุนพลที่เห็นว่าประเพณีจีนในสมัยนั้น แม้จะเป็นศัตรูกันแต่เขาจะไม่ยกทัพไปโจมตีแคว้นที่กษัตริย์เพิ่งเสียชีวิต เพราะเป็นการซ้ำเติมประชาชนที่กำลังเศร้าโศกกับการจากไปของกษัตริย์อันเป็นที่รักของเขา และถ้าใครฝืนประเพณีนี้ แคว้นอื่น ๆ ก็จะประณามและจะยกทัพมาช่วยแคว้นเย่ว์ อีกทั้งทหารของตนก็ยังไม่หายเหนื่อย

ผลของการไม่ฟังคำแนะนำของผู้ชำนาญทั้งทฤษฎีและประสบการณ์ โดยอวดดีประกาศยกทัพไปเองไม่ต้องให้ขุนพลทั้งสองไปร่วมนำทัพอย่างที่เคยทำมา ผลปรากฏว่ากองทัพของแคว้นหวู๋ต้องพ่ายแพ้กลับมาอย่างยับเยิน ตัวกษัตริย์เหอ หลิวได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องยกทัพกลับมาตายที่แคว้นหวู๋ ก่อนหมดลมหายใจ ได้สั่งเสียบุตรชายคือ ฟูชา (Fu Cha) ที่จะขึ้นเป็นกษัตริย์แทนว่า “จงอย่าลืมว่า กษัตริย์โกว เจี้ยน เป็นผู้ฆ่าบิดาของเจ้า (Don’t forget it’s Gou Jian who kill your father)” 

แต่เอาจริง ๆ เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า คนที่ฆ่ากษัตริย์ เหอ หลิว นั้นไม่ใช่ใครอื่น แต่ก็คือตัวของเขาเอง เพราะมีทิฐิมานะสูง ใช้อำนาจเป็นใหญ่กว่าเหตุผลที่ทั้งสองขุนพล คือ หวู่จื่อซี และ ซุนวู ได้ถวายคำแนะนำและห้ามปรามเอาไว้แล้วว่า องค์ประกอบทุกอย่างไม่เหมาะที่จะยกทัพไปตีแคว้นเย่ว์จึงถูกแคว้นต่าง ๆ รุมกันประชาทัณฑ์ยกทัพมาช่วยแคว้นเย่ว์ จนกษัตริย์ เหอ หลิว ต้องพ่ายแพ้และเสียชีวิตอย่างน่าอับอายในที่สุด

นักการเมือง เมื่อมีอำนาจก็เช่นเดียวกัน ในการขับเคลื่อนนโยบายใด ๆ จำเป็นต้องเปิดใจรับฟังทั้งจากผู้เชี่ยวชาญทางทฤษฎีและจากผู้มีประสบการณ์ในการบริหารประเทศมาก่อน แล้วเอามาชั่งน้ำหนักดูว่า ถ้าเราขืนดันทุรังด้วยทิฐิมานะ ทั้ง ๆ ที่แอบเฉลียวใจอยู่แล้วว่า อาจจะเกิดความเสียหายแก่ประเทศไม่ทางใดก็ทางหนึ่งก็ควรจะทำลายกิเลสและทิฐิมานะนั้นของตนเสียโดยการกระทำ ‘อตัมมยตา’ ตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำ ไว้ (ท่านพุทธทาสภิกขุ แปลว่า ‘กูไม่เอาด้วยกับมึง’) เมื่อจิตอยู่ในสภาวะปกติแล้วก็ค่อยมาพิจารณาตัดสินใจนโยบายที่จะออกมาก็จะเข้ารูปเข้ารอยและมีเหตุผลมากยิ่งขึ้น

ความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นก็สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ ไม่ต้องประสบกับความหายนะเหมือนอย่างกษัตริย์ เหอ หลิว แห่งแคว้นหวู๋ของประเทศจีนโบราณ ดั่งเล่าให้ฟังมาแล้วข้างต้น

#หมายเหตุ รายละเอียดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์จีนที่เล่ามา สามารถจะหาอ่านได้ในหนังสือชื่อ ‘The Unbroken Chain’ ร่วมกันเขียนโดย ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี และศาสตราจารย์วู (Trairong Suwankiri และ Professor Wu Ben Li. ค.ศ.2016 พิมพ์ที่ China International Culture Press Hongkong. หน้า 94-109


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top