'ดร.ไตรรงค์' ชี้!! นักการเมืองไทยต้องเรียนรู้จาก 'ซุนวู' เมื่อมีอำนาจ คิดทำสิ่งใดต้องปรึกษาผู้รู้ ลด-เลี่ยงหายนะที่จะเกิดกับประเทศชาติ

(20 พ.ย. 66) นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ประธานที่ปรึกษาพรรครวมไทยสร้างชาติ โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง สิ่งที่นักการเมืองไทยต้องเรียนรู้จาก ‘ซุนวู’ ระบุว่า…

ซุนวู เป็นปราชญ์ที่เกิดในสมัยชุนชิวของจีน (ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่เล่าจื้อและขงจื้อจะถือกำเนิดขึ้นในโลกนี้) เขาเป็นนักการทหารที่เขียนตำราพิชัยสงครามที่ปัจจุบันได้รับการแปลเป็นหลายภาษา เช่น ไทย, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, ญี่ปุ่น, เยอรมัน, และรัสเซีย ฯลฯ

ซุนวู (Sun Wu) เป็นเพื่อนรักของขุนพลหวู่จื่อซี (Wu-Zi-Xu) ซึ่งเป็นผู้ได้ชักชวนซุนวูให้เข้ารับราชการในแคว้นหวู๋ (Wu) จนได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายพลและเสนาธิการในกองทัพของกษัตริย์แคว้นหวู๋ ที่มี เหอ หลิวเป็นกษัตริย์ (King He Lu)

กษัตริย์ เหอ หลิว ได้ใช้ตำราพิชัยสงครามของซุนวู และรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับทั้งสองนายพลโดยมีซุนวูเป็นเสนาธิการ จนสามารถตีแคว้นเย่ว์ (Yué) ได้ แต่แคว้นฉู่ (Chu) ยังยืนหยัดอยู่ได้แม้จะต้องเสียเมืองหลายเมืองให้กับแคว้นหวู๋ เหตุที่ไม่สามารถยึดแคว้นฉู่ (Chu) ได้ทั้งหมดก็เพราะ กษัตริย์ไม่เชื่อฟังคำแนะนำของทั้งสองนายพลที่ให้หยุดทำสงครามก่อนเพราะทหารตายไปมาก ที่เหลือก็หมดแรง 

แต่กษัตริย์กลับไปฟังคำแนะนำของขุนนางสอพลอที่ไม่เคยมีทฤษฎีและประสบการณ์ในการทำสงคราม แคว้นฉู่ได้รับความช่วยเหลือจากกองทหารที่ยังเหลือของแคว้นเย่ว์ จึงสามารถรบชนะกองทัพของแคว้นหวู๋ (Wu) กษัตริย์ต้องนำทัพพ่ายแพ้กลับแคว้นของตนอย่างน่าอับอาย

อยู่ต่อมาเมื่อกษัตริย์ของแคว้นเย่ว์เสียชีวิตลง โกวเจี้ยน (Gou Jian) บุตรชายขึ้นเป็นกษัตริย์ กษัตริย์เหอ หลิว ฉวยโอกาสยกทัพ 100,000 คน เพื่อไปตีแคว้นเย่ว์อีก โดยไม่ฟังคำคัดค้านของทั้งสองขุนพลที่เห็นว่าประเพณีจีนในสมัยนั้น แม้จะเป็นศัตรูกันแต่เขาจะไม่ยกทัพไปโจมตีแคว้นที่กษัตริย์เพิ่งเสียชีวิต เพราะเป็นการซ้ำเติมประชาชนที่กำลังเศร้าโศกกับการจากไปของกษัตริย์อันเป็นที่รักของเขา และถ้าใครฝืนประเพณีนี้ แคว้นอื่น ๆ ก็จะประณามและจะยกทัพมาช่วยแคว้นเย่ว์ อีกทั้งทหารของตนก็ยังไม่หายเหนื่อย

ผลของการไม่ฟังคำแนะนำของผู้ชำนาญทั้งทฤษฎีและประสบการณ์ โดยอวดดีประกาศยกทัพไปเองไม่ต้องให้ขุนพลทั้งสองไปร่วมนำทัพอย่างที่เคยทำมา ผลปรากฏว่ากองทัพของแคว้นหวู๋ต้องพ่ายแพ้กลับมาอย่างยับเยิน ตัวกษัตริย์เหอ หลิวได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องยกทัพกลับมาตายที่แคว้นหวู๋ ก่อนหมดลมหายใจ ได้สั่งเสียบุตรชายคือ ฟูชา (Fu Cha) ที่จะขึ้นเป็นกษัตริย์แทนว่า “จงอย่าลืมว่า กษัตริย์โกว เจี้ยน เป็นผู้ฆ่าบิดาของเจ้า (Don’t forget it’s Gou Jian who kill your father)” 

แต่เอาจริง ๆ เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า คนที่ฆ่ากษัตริย์ เหอ หลิว นั้นไม่ใช่ใครอื่น แต่ก็คือตัวของเขาเอง เพราะมีทิฐิมานะสูง ใช้อำนาจเป็นใหญ่กว่าเหตุผลที่ทั้งสองขุนพล คือ หวู่จื่อซี และ ซุนวู ได้ถวายคำแนะนำและห้ามปรามเอาไว้แล้วว่า องค์ประกอบทุกอย่างไม่เหมาะที่จะยกทัพไปตีแคว้นเย่ว์จึงถูกแคว้นต่าง ๆ รุมกันประชาทัณฑ์ยกทัพมาช่วยแคว้นเย่ว์ จนกษัตริย์ เหอ หลิว ต้องพ่ายแพ้และเสียชีวิตอย่างน่าอับอายในที่สุด

นักการเมือง เมื่อมีอำนาจก็เช่นเดียวกัน ในการขับเคลื่อนนโยบายใด ๆ จำเป็นต้องเปิดใจรับฟังทั้งจากผู้เชี่ยวชาญทางทฤษฎีและจากผู้มีประสบการณ์ในการบริหารประเทศมาก่อน แล้วเอามาชั่งน้ำหนักดูว่า ถ้าเราขืนดันทุรังด้วยทิฐิมานะ ทั้ง ๆ ที่แอบเฉลียวใจอยู่แล้วว่า อาจจะเกิดความเสียหายแก่ประเทศไม่ทางใดก็ทางหนึ่งก็ควรจะทำลายกิเลสและทิฐิมานะนั้นของตนเสียโดยการกระทำ ‘อตัมมยตา’ ตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำ ไว้ (ท่านพุทธทาสภิกขุ แปลว่า ‘กูไม่เอาด้วยกับมึง’) เมื่อจิตอยู่ในสภาวะปกติแล้วก็ค่อยมาพิจารณาตัดสินใจนโยบายที่จะออกมาก็จะเข้ารูปเข้ารอยและมีเหตุผลมากยิ่งขึ้น

ความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นก็สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ ไม่ต้องประสบกับความหายนะเหมือนอย่างกษัตริย์ เหอ หลิว แห่งแคว้นหวู๋ของประเทศจีนโบราณ ดั่งเล่าให้ฟังมาแล้วข้างต้น

#หมายเหตุ รายละเอียดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์จีนที่เล่ามา สามารถจะหาอ่านได้ในหนังสือชื่อ ‘The Unbroken Chain’ ร่วมกันเขียนโดย ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี และศาสตราจารย์วู (Trairong Suwankiri และ Professor Wu Ben Li. ค.ศ.2016 พิมพ์ที่ China International Culture Press Hongkong. หน้า 94-109