14 ตัวสุดท้าย!! ‘โลมาอิรวดี’ แห่งทะเลสาบสงขลา นับถอยหลังสู่วันสูญพันธุ์
จากกรณีที่ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขียนในเฟซบุ๊กระบุว่า ทะเลสาบสงขลาคือสถานที่แห่งแรกในโลกที่โลมาอิรวดีในน้ำจืดจะสูญพันธุ์ โดยขณะนี้เหลืออยู่เพียง 14 ตัว จากเดิมที่เคยมีอยู่ 100 กว่าตัว โลกนี้มีโลมาอิรวดีอยู่ในน้ำจืดเพียง 5 แห่ง อินเดีย 140 ตัว อินโดนีเซีย 90 ตัว พม่า 80 ตัว กัมพูชา 90 ตัว และไทย 14 ตัว
"ทะเลสาบสงขลาคือสถานที่แห่งแรกในโลกที่โลมาอิรวดีในน้ำจืดจะสูญพันธุ์ มันไม่มีอะไรจะเถียงได้ด้วยตัวเลขที่เห็น เพื่อนธรณ์บางคนอาจบอกว่า ลาวสูญพันธุ์ไปก่อนแล้วนะ ดร.ก้องเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญสัตว์ทะเลหายากของไทย อธิบายให้ผมฟัง ประชากรโลมาในแม่น้ำโขงของลาว/กัมพูชา เป็นกลุ่มเดียวกัน ว่ายไปว่ายมา หากเราอนุรักษ์ในกัมพูชาไว้ได้ ในอนาคตยังมีหวังที่โลมาจะกลับเข้าไปในลาว ผิดจากทะเลสาบสงขลา ผิดกันที่ว่า ของเราจบแล้ว…จบเลย ไม่มีมาจากไหนอีก ปิดฉากสุดท้ายของประวัติศาสตร์ 6,000 ปี"
ผศ.ดร.ธรณ์ ระบุว่า อะไรคือ 6 พันปี นานมาแล้ว ระดับน้ำทะเลในแถบนี้สูงขึ้นเรื่อยๆ จนสูงสุดเมื่อ 6 พันปีก่อน โลมาอิรวดี สัตว์เฉพาะเขตอินโดแปซิฟิก หากินตามชายฝั่งไปทั่ว โลมาฝูงหนึ่งเข้ามาอยู่ในทะเลเหนือแผ่นดินพัทลุง/สงขลา ระดับน้ำทะเลเริ่มลดต่ำลง จนทะเลกลายเป็นทะเลสาบ เหลือเพียงช่องแคบๆ ที่ยังเชื่อมต่ออยู่กับทะเลข้างนอก แต่โลมายังมีความสุขอยู่ในทะเลสาบที่นี่ไม่มีผู้ล่าลูกๆ ของพวกเธอ ยังมีปลากินเยอะแยะเลย ทะเลสาบสงขลาในสมัยก่อนที่สมบูรณ์สุดขีด โลมาออกลูกหลานจนเป็นร้อยๆ ตัว แล้วมนุษย์ก็เข้ามา สมัยก่อน ความต้องการไม่มาก โลมายังมีความสุข พวกเธอว่ายไล่เลาะเลียบเรือลำน้อยของชาวประมง เราอยู่ด้วยกันได้ ทว่า…คนมีมากขึ้น จับปลามากขึ้น
