Tuesday, 14 May 2024
แม่น้ำเจ้าพระยา

กรมชลฯ แจ้งแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น 0.20 - 0.40 เมตร ช่วงวันที่ 23 - 30 ต.ค.นี้

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ประเมินวิเคราะห์ปริมาณฝนตก (ONE MAP) ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) คาดการณ์ปริมาณน้ำหลากจากตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาจากแม่น้ำปิง จะทำให้มีน้ำไหลผ่านบริเวณอำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ สูงสุดประมาณ 3,000 – 3,100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในวันที่ 22 ต.ค. 2564 

ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา ด้วยการหน่วงน้ำและผันน้ำเข้าคลองต่าง ๆ ด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ในเกณฑ์ 2,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อนเจ้าพระยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบัน ประมาณ 0.20 - 0.40 เมตร ในช่วงวันที่ 23 - 30 ต.ค.นี้ 

สำหรับแม่น้ำท่าจีน น้ำที่ไหลล้นข้ามทางระบายน้ำลัน เขื่อนกระเสียว จะไหลไปสมทบกับปริมาณน้ำท่าที่เกิดจากฝนตกด้านท้ายเขื่อน ทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงแม่น้ำท่าจีน 150 - 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะบริหารจัดการโดยผันน้ำเข้าทุ่งโพธิ์พระยา เพื่อลดปริมาณน้ำหลาก ปริมาณน้ำส่วนที่เหลือจะส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำท่าจีน ตั้งแต่จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดนครปฐม และจังหวัดสมุทรสาคร มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบัน ประมาณ 0.30 - 0.50 เมตร ในช่วงวันที่ 20 – 27 ต.ค.นี้ 

เท่าพิภพ จี้!! ผู้ว่าฯ อัศวินรับผิดชอบ หลังน้ำท่วมชุมชนรอบแม่น้ำเจ้าพระยา 

เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม. เขตคลองสาน พรรคก้าวไกล ลงพื้นที่น้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนเข้าประชุมสภาฯ โดยพบว่าพี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากน้ำทะเลหนุนขึ้นสูงและไม่มีการแจ้งเตือนจากกรุงเทพมหานคร ทำให้ทรัพย์สินในบ้านได้รับความเสียหาย จากการสอบถามจากประชาชนที่น้ำท่วมเล่าว่าไม่มีการแจ้งเตือนเลย สำนักระบายน้ำ ก็บอกว่าคิดว่าจะขึ้นแค่ 1 เซนติเมตร แต่ที่จริงขึ้น 34 เซนติเมตร ทำให้ชาวบ้านขนของไม่ทัน เครื่องใช้ไฟฟ้าเสียหาย 

โดยเท่าพิภพระบุว่า แม้เหตุการณ์น้ำทะเลหนุนจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งแต่อย่างไรก็ตามกรุงเทพมหานคร ก็ควรมีการจัดทำระบบแจ้งเตือนให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่เสี่ยงเพื่อให้สามารถเตรียมตัวและรับมือกับเหตุการณ์เช่นนี้ได้ 

 

เส้นเลือดใหญ่แห่งมหานคร ‘แม่น้ำเจ้าพระยา’ อดีตคลองจากฝีมือคน สู่ แม่น้ำสายหลัก ของชาวกรุง

แม่น้ำเจ้าพระยาสายใหม่
เป็นคลองมนุษย์ขุดขึ้นในสมัยพระไชยราชาธิราช ยุคกรุงศรีอยุธยา
ต่อมา กลายเเป็นแม่น้ำใหญ่
เป็นที่ตั้งของสองราชธานี 
กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร
และกรุงเทพมหานคร
หรือแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงศิริราช พื้นที่กองทัพเรือ และวัดอรุณนั่นเอง


ที่มา : https://www.facebook.com/532544466865594/photos/a.532552690198105/4347486248704711/


👍 มาหลงกรุงไปด้วยกันได้ที่ : https://thestatestimes.com/tag/หลงกรุง

เขื่อนยกระดับน้ำ 'สิงห์บุรี-พิจิตร' และ 'ท่าเรือนครสวรรค์-พิจิตร' ช่วยลดค่าใช้จ่ายขนส่ง-เชื่อมต่อระบบราง-จัดการน้ำลงตัว

เพจ 'โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Structure' ได้โพสต์ข้อมูลโครงการเขื่อนยกระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าทางแม่น้ำ ที่มีต้นทุนการให้บริการที่ต่ำมาก รวมถึงยังสามารถการแก้ไขปัญหาแล้งของแม่น้ำเจ้าพระยาที่บางช่วงเวลาน้ำแห้งขอด ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลไว้อย่างน่าสนใจ ผ่านหัวข้อ เขื่อนยกระดับน้ำ บนแม่น้ำเจ้าพระยา 'สิงห์บุรี-พิจิตร' รองรับการขนส่งสินค้าทางเรือ ควบคู่กับการพัฒนา 'ท่าเรือนครสวรรค์' และ 'พิจิตร' ว่า...

พอดีมีลูกเพจส่งข้อมูลเรื่องการทำเขื่อนยกระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าทางแม่น้ำ ที่มีต้นทุนการให้บริการที่ต่ำมาก รวมถึงการแก้ไขปัญหาแล้งของแม่น้ำเจ้าพระยาที่บางช่วงเวลาน้ำแห้งขอดอีกด้วย จึงมีการวางแผนในการพัฒนาเขื่อนยกระดับแม่น้ำเจ้าพระยา 2 จุด คือ...

1. เขื่อนบน กม.345 ในเขตอำเภอพยุหะคีรี นครสวรรค์

2. เขื่อนล่าง กม.205 ในเขตอำเภอพรหมบุรี สิงห์บุรี

เป้าหมายเพื่อให้เรือกินน้ำลึกไม่เกิน 3 เมตร ที่ใช้ในการขนส่งข้าวสาร, น้ำตาล, ถ่านหิน และปุ๋ย สามารถให้บริการได้จนถึงท่าเรือตะพานหิน จังหวัดพิจิตร 

>> ว่าแต่ทำไมต้องพัฒนาการขนส่งทางแม่น้ำ???

รู้รึเปล่าว่าการขนสินค้าทางแม่น้ำ สูงถึง 9.5% โดยมีต้นทุนการขนส่งที่ต่ำที่สุด เพียง 0.64 บาท/ตัน/กิโลเมตร

แต่กลับกัน แม่น้ำเจ้าพระยา สามารถใช้ประโยชน์ในการขนส่งสินค้าได้สูงสุดในบางฤดูกาล ได้แค่อ่างทอง หรือเพียง 180 กิโลเมตร จากปากแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ลดต่ำลง

ดังนั้น จึงทำให้มีโครงการก่อสร้างเขื่อนเพื่อยกระดับน้ำใน 'แม่น้ำเจ้าพระยา' และ 'แม่น้ำน่าน' ขยายพื้นที่ให้บริการขนสินค้าทางเรือไปได้ถึง ท่าเรือตะพานหิน จังหวัดพิจิตร ที่ กม. 475 จากปากแม่น้ำเจ้าพระยา

>> รายละเอียดโครงการ

ในโครงการมีการก่อสร้างเขื่อนเพื่อยกระดับน้ำ 2 จุด คือ...

1. เขื่อนบน กม.345 ในเขตอำเภอพยุหะคีรี นครสวรรค์ ระดับกักเก็บน้ำ 20.50 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง

2. เขื่อนล่าง กม.205 ในเขตอำเภอพรหมบุรี สิงห์บุรี ระดับกักเก็บน้ำ 8.50 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง

โดยทั้ง 2 จุด จะมีประตูเรือสัญจร เพื่อยกเรือขึ้นตามความสูงของระดับน้ำในแต่ละขั้น

ควบคู่กับการทำประตูระบายน้ำ ซึ่งรองรับการระบายน้ำได้มากกว่า 2,400 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เพื่อช่วยระบายในช่วงฤดูน้ำหลาก

โดยทั้ง 2 เขื่อน จะมีการติดตั้ง โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำไว้เพื่อใช้ประโยชน์จากการไหลของผ่าน ที่กำลังการผลิต 10 และ 8 mW

นอกจากการทำเขื่อนแล้วก็ต้องมีการขุดลอกร่องน้ำ ในแม่น้ำเจ้าพระยา ลึก 5-6 เมตร กว้าง 40-56 เมตร เพื่อให้รองรับการขนส่ง สินค้าทางเรือ

>> พัฒนาแม่น้ำแล้ว ก็ต้องมีท่าเรือในการขนส่งสินค้าที่สอดคล้อง โดยมีการพัฒนาท่าเรือในการขนส่งสินค้า 2 ท่า คือ...

1. ท่าเรือนครสวรรค์ (ท่าข้าวกำนันทรง) ใกล้กับสถานีรถไฟปากน้ำโพ พร้อมกับมีทางรถไฟเข้าท่าเรือเพื่อขนส่งสินค้าเชื่อมต่อกับเรืออีกด้วย

โดยมีสินค้าหลักที่ตั้งเป้าคือ ข้าว, มันสำปะหลัง และอาหารสัตว์ รวม 4 ล้านตัน/ปี

2. ท่าเรือตะพานหิน จังหวัดพิจิตร ซึ่งพัฒนาต่อจากท่าเรือเดิม พร้อมกับการพัฒนาการเชื่อมต่อ และเปลี่ยนถ่ายทางรถไฟ 

โดยมีสินค้าหลักคือถ่านหิน กว่า 4 ล้านตัน/ปี รองรับการขนส่งถ่านหินเพื่อสนับสนุนโรงไฟฟ้าแม่เมาะในอนาคต

‘ภูมิใจไทย’ ผุดไอเดีย ‘ผันน้ำยวม’ เติมน้ำให้เขื่อนภูมิพล ช่วยเกษตรกรสู้ภัยแล้ง ลั่น!! ‘ภท.’ ยืนเคียงข้างเกษตรกรไทย

(25 ก.พ. 66) นายวีระกร คำประกอบ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.นครสวรรค์ พรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงนโยบายเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันภัยแล้งของพรรคภูมิใจไทยว่า จากการศึกษาพบว่า ลุ่มน้ำเจ้าพระยาต้องการน้ำ 18,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อปี แบ่งเป็น

3,500 ล้าน ลบ.ม.สำหรับขับไล่น้ำเค็ม และรักษาระบบนิเวศเพื่อไม่ให้น้ำเค็มเข้าใน กทม. หรืออาจจะขึ้นไปถึงพระนครศรีอยุธยาได้, 2,500 ล้าน ลบ.ม. สำหรับผลิตน้ำประปา

3,000 ล้าน ลบ.ม.สำหรับภาคอุตสาหกรรม โดยส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมอาหารที่ใช้ปริมาณน้ำค่อนข้างมาก

1,000 ล้าน ลบ.ม.สำหรับการปศุสัตว์

ที่กล่าวไปรวมกัน 10,000 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี และยังมีส่วนของภาคการเกษตร ชาวนา ชาวไร่ ที่ต้องการน้ำอีกประมาณปีละ 8,000 ล้าน ลบ.ม.

“เพราะฉะนั้น ปีหนึ่ง เราต้องใช้น้ำ 18,000 ล้าน ลบ.ม. แต่ในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เฉลี่ยประมาณปีละ 4,000 ล้าน ลบ.ม. และในช่วงที่เกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ ลุ่มน้ำเจ้าพระยาขาดแคลนน้ำถึง 8,000 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ทำให้เกิดภาวะภัยแล้ง คำถามมีว่า จะเอาน้ำที่ไหนมาช่วยเหลือพี่น้องชาวนาชาวไร่” นายวีระกร ระบุ

นายวีระกร ซึ่งเป็นอดีตรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวต่อว่า พรรคภูมิใจไทย จึงได้เสนอทางออก โดยการผันน้ำจากลำน้ำยวม ที่มีต้นน้ำ อยู่ที่ อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน และไหลลงใต้ไปลงแม่น้ำเมยแล้วออกนอกประเทศ ไปยังแม่น้ำสาละวิน ที่ไหลไปเข้าประเทศเมียนมา โดยแทนที่เราจะปล่อยน้ำออกไปนอกประเทศ เราก็ปิดประตูน้ำที่ปากแม่น้ำยวม และตั้งสถานีสูบน้ำข้ามภูเขาสูงประมาณ 160 เมตร เพื่อไหลลงน้ำแม่งูด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่

นายวีระกร อธิบายต่อว่า เพื่อให้น้ำไหลลงเขื่อนภูมิพล จ.ตาก ซึ่งปัจจุบันเขื่อนภูมิพลสามารถกักเก็บน้ำ ได้ 13,500 ล้าน ลบ.ม. แต่ตลอดระยะเวลาที่เกิดเอลนีโญ ช่วงปี 2555-2563 มีน้ำเฉลี่ยอยู่ไม่เกิน 5,000 ล้าน ลบ.ม. เพราะฉะนั้น เขื่อนภูมิพล ยังมีพื้นที่สามารถกักเก็บน้ำได้อีกประมาณ 8,500 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี เมื่อเราปิดไม่ให้น้ำยวมไหลออกไปนอกประเทศ แล้วสูบน้ำมายังเขื่อนภูมิพล โดยน้ำยวมจะสามารถสูบข้ามเขามาได้ประมาณปีละ 2,000 กว่าล้าน ลบ.ม.

นายวีระกร กล่าวอีกว่า ปริมาณน้ำ 2,000 กว่าล้าน ลบ.ม.จากแม่น้ำยวมก็ถือว่า ยังไม่เพียงพอ และอาจจะต้องมีเฟส 2 โดยการต่อท่อจากแม่น้ำสาละวิน บริเวณชายแดน จ.แม่ฮ่องสอน เอามาลงประตูน้ำที่ปิดตรงปากแม่น้ำยวม เมื่อเป็นเช่นนี้ ในอนาคต เราก็จะมีน้ำยวมมาช่วยให้กับพี่น้องประชาชนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ขาดแคลนน้ำประมาณปีละ 4,000-8,000 ล้าน ลบ.ม. ได้อย่างเพียงพอ โดยเราจะสูบน้ำเฉพาะในหน้าฝน ซึ่งเป็นช่วงที่พี่น้องในพื้นที่ลุ่มน้ำยวมเดือดร้อนจากน้ำท่วม แต่ในหน้าแล้งเราจะไม่แตะต้องเลย

“เป็นการผันน้ำ เพื่อเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนภูมิพล และเป็นการเติมน้ำต้นทุนให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวนากว่า 27 จังหวัด ในลุ่มน้ำภาคกลางทั้งหมด ที่จะเป็นนโยบายหลักของพรรคภูมิใจไทย ในการทำให้พี่น้องชาวนา ชาวไร่ ได้มีน้ำเพียงพอในการทำการเกษตร นี่คือ คำสัญญาของพรรคภูมิใจไทย ที่ขอยืนเคียงข้างพี่น้องเกษตรกรไทย” นายวีระกร ระบุ


ที่มา : https://www.naewna.com/politic/713530

‘สามเสนวิลล่า’ ต้นตำรับ ‘เบียร์วุ้นแก้วแช่’ ร้านเก่าแก่กว่า 40 ปี เปิดสาขาใหม่ใน นนทบุรี

‘สามเสนวิลล่า’ ชื่อนี้ คือตำนานที่สืบทอดกันมายาวนานกว่า 40 ปี วันนี้ The states times จะขอพามาที่จ.นนทบุรี เพื่อแนะนำหนึ่งในสาขาของร้านอาหารสามเสนวิลล่า ซึ่งมีบรรยากาศที่แตกต่างไปจากเดิม เป็นร้านที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ แต่ยังคงความคลาสสิคไว้ ไม่ว่าจะเป็น รสชาติอาหาร และ เบียร์วุ้นแก้วแช่ สูตรต้นตำรับ

ร้านสาขานี้ ใช้ชื่อว่า Samsen Villa Life (สามเสนวิลล่าไลฟ์) สาขา The River อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นสาขาที่มีวิวสวยงาม บรรยากาศเหมาะแก่การนั่งชิลกับเพื่อนและครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง

โดยร้านตกแต่งสไตล์ลอฟท์ ดูเรียบง่ายและทันสมัย แบ่งเป็น ส่วนด้านในเป็นห้องกระจกติดแอร์ ส่วนด้านนอกเป็นโต๊ะติดริมน้ำเจ้าพระยา มองได้ไกลๆ พื้นที่ดูโปร่งโล่งนั่งสบาย เป็นร้านที่เหมาะต่อการนั่งกินอาหารและจิบเครื่องดื่ม อย่าง เบียร์วุ้นเเก้วเเช่ พร้อมชมบรรยากาศริมน้ำชิล ชิล อย่างมาก 

ร้าน Samsen Villa Life เปิดทุกวัน จันทร์-ศุกร์ 16.00 - 24.00 น. | เสาร์ - อาทิตย์ 11.00 - 24.00 น.
พิกัด : ริมแม่น้ำเจ้าพระยา (สะพานพระนั่งเกล้า) ตำบล ไทรม้า เมือง นนทบุรี 11000
Line : @Samsenlife 
โทร : 095-516-4581

อุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินลอดใต้แม่น้ำแห่งแรกของไทย แค่ 2 นาที เชื่อมความเจริญสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

'บิ๊กตู่' ชวนประชาชนนั่งข้ามเจ้าพระยาผ่านรถไฟฟ้าใต้ดินลอดอุโมงค์แม่น้ำเจ้าพระยา ความสำเร็จในรัฐบาลชุดนี้ ที่ใช้เวลาเพียง 2 นาที เชื่อมฝั่งธน-เกาะรัตนโกสินทร์ สู่มหานครแห่งความสุข 

(20 ส.ค.66) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เร่งผลักดันโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและขนส่งของประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยได้ติดตามทุกโครงการของรถไฟฟ้ามหานคร ให้การก่อสร้างเป็นไปตามแผนและมีความสำเร็จให้ตรงตามเวลาตามเป้าหมาย

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ทั้งนี้หนึ่งในสายรถไฟฟ้าที่เป็นเส้นทางการเดินทางและใกล้แหล่งท่องเที่ยวชุมชนเก่าคือ สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วง หัวลำโพง-บางแค เป็นโครงการเชื่อมต่อจากรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ไปฝั่งธนบุรี ความพิเศษของเส้นทางระหว่างสถานีสนามไชยกับสถานีอิสรภาพ เป็นเส้นทางผ่านอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกของประเทศไทย เป็นระยะทางประมาณ 200 เมตร โดยพล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นประธานในพิธีเปิดเดินเครื่องหัวเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา (Eastbound TBM Launching Ceremony) โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายฯ สัญญา 2 ช่วงสถานีสนามไชย - สถานีท่าพระ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2558 กระทั่งแล้วเสร็จสามารถเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา

ตรงนี้เป็นเส้นทางที่สะดวกในการเชื่อมระหว่างพระนคร (เกาะรัตนโกสินทร์) ไปยังฝั่งธนบุรี และเป็นจุดแหล่งท่องเที่ยวสำคัญระดับโลกของไทย แหล่งสถานศึกษา 3 มหาวิทยาลัย (ม.ศิลปากร วังท่าพระ-ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์-คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล วังหลัง) และโรงพยาบาลขนาดใหญ่หลายแห่ง จึงทำให้เส้นทางนี้สามารถลดปัญหาการจราจร ประชาชนเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยเป็นอย่างมาก

“โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงสถานีสนามไชย-สถานีอิสรภาพ รถไฟฟ้าจะต้องผ่านอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งใช้เวลาเพียง 2 นาที แต่ต้องก่อสร้างด้วยเทคนิคพิเศษ เนื่องจากเป็นการขุดอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีความลึกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20 เมตร และตัวอุโมงค์รถไฟฟ้าขุดลึกลงไปจากก้นแม่น้ำอีก 10 เมตร หรือลึก 30 เมตรจากผิวดิน โดยในบางช่วงที่ลึกที่สุดจะลึกไปถึง 38 เมตรเทียบเท่าตึก 10 ชั้น โดยที่บริเวณจุดกลางแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีความลึก 30.86 เมตรใต้ท้องน้ำและลึก 9.71 เมตรจากใต้ท้องน้ำถึงหลังอุโมงค์ พิกัดจุดกลางแม่น้ำเจ้าพระยาห่างจากสถานีสนามไชย 323.92 เมตร“ น.ส.ทิพานัน กล่าว

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายฯ นี้ ผ่านย่านเมืองเก่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จึงมีความตั้งใจที่จะให้มีแผนพัฒนาให้มีการออกแบบสถาปัตยกรรมที่วิจิตรทั้งภายนอกและภายในให้สอดรับกับบริบทในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งมีความสวยงามมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมผสมเข้าไปด้วย เช่น สถานีวัดมังกร, สถานีสนามไชย, สถานีอิสรภาพ, สถานีสามยอด จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าแวะชมไปด้วย

“การเชื่อมความเจริญใต้น้ำเจ้าพระยา ขยายความเจริญสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งฝั่งธนบุรีและเกาะรัตนโกสินทร์ ฝั่งพระนคร เป็นการเชื่อมสู่มหานครแห่งความสุข เชื่อมคนสองฝั่งเมืองเข้าด้วยกันอย่างลงตัวเป็นความทันสมัยที่ไม่หลงลืมวัฒนธรรมความเป็นไทยที่จะสอดแทรกไว้ตามสถานีต่างๆ ถือเป็นวิสัยทัศน์ที่อนุมัติงบประมาณและเป็นผลงานการพัฒนาของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีความมุ่งมั่นให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบรถไฟฟ้าได้มากขึ้น และยกระดับเชื่อมการเดินทาง ล้อ-ราง-เรือ ได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น พร้อมกับส่งเสริมการท่องเที่ยวและการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วย” น.ส.ทิพานัน กล่าว

‘บ้านตานิด’ ร้านอร่อยชื่อดังริมน้ำเจ้าพระยา กลิ่นอายพื้นบ้าน บรรยากาศดี อาหารเด็ด เดินทางสะดวกทั้งทางเรือ-ทางบก

อยากอร่อยกับเมนูไทยพื้นบ้าน เหมือนที่เคยลิ้มลองในวัยเด็ก สัมผัสบรรยากาศริมน้ำ กลิ่นอายวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยก่อนที่อาศัยการคมนาคมทางน้ำเป็นหลัก ให้มาที่ ร้านบ้านตานิด ร้านอาหารไทยชื่อดังแห่งอำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเดิมคือบ้านพักอาศัยของครอบครัวเจ้าของร้าน อีกทั้งยังเคยเป็นปั๊มน้ำมันเรือทางน้ำ (ปั๊มเชลล์) สมัยที่ยังไม่มีถนนตัดผ่านย่านนี้เลย

การมาร้านบ้านตานิดในปัจจุบันนี้ ยังคงมาได้ทั้งทางเรือส่วนตัวและทางบก จากกรุงเทพฯ ให้ขึ้นทางด่วนขั้นที่ 2 (ศรีรัช) ต่อด้วยทางพิเศษอุดรรัถยาหรือทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด มาลงที่ทางออก ถนนสาย 346 (บางพูน-รังสิต) เลือกไปทาง ปทุมธานี จากนั้นให้ข้ามแม่น้ำมาตามทางในกูเกิลแมพอีก 10 กม. จนเข้าถนนสาย 4004 หรือถนนเทศบาล 1 (ให้ค้นในกูเกิลแมพว่า ร้านบ้านตานิด) ไปสุดทางที่ริมน้ำตรงตำบลกระแชง อำเภอสามโคก ซึ่งจะมีลานจอดกว้างๆ ให้ถามคนโบกได้เลยว่าร้านบ้านตานิดจอดตรงไหน หรือถ้าอยากเห็นบ้านเรือนและชุมชนใกล้ริมน้ำ สามารถลัดเลาะมาตามถนนเส้นเล็กๆ จากตัวจังหวัดปทุมธานีอีกเส้นทางหนึ่งได้ด้วย

ร้านบ้านตานิดอยู่ในบ้านไม้เก่าแก่ทาสีเขียวที่รักษาสภาพไว้เป็นอย่างดี ส่วนที่นั่งกินข้าวจะอยู่ตรงชานบ้านด้านนอกมีหลังคาคลุมและริมท่าน้ำ ซึ่งจะมีท่าจอดเรือส่วนตัวด้วย โดยก่อนเข้าร้าน ลูกค้าจะต้องถอดรองเท้าและสวมรองเท้าแตะที่จัดไว้ให้เดินเข้าไปอีกที

ก่อนอื่นขอบอกว่ามาร้านบ้านตานิดต้องโทรจองโต๊ะล่วงหน้า เพราะได้รับความนิยมมาก ยิ่งถ้ามาวันสุดสัปดาห์ให้โทรจองก่อนหลายๆ วันเลย

เจ้าของร้านนั้นคือเพื่อนของพี่รอบิ้นรุ่นพี่ของปิ่นโตเถาเล็กเองชื่อว่า พี่มด ซึ่งนำบ้านพักอาศัยของครอบครัวมาทำเป็นร้านอาหาร แต่ก่อนนั้นนอกจากจะเป็นปั๊มน้ำมันเรือแล้ว ยังเป็นร้านขายเครื่องอุปโภคบริโภครวมถึงสินค้าต่างๆ เช่นน้ำมันยาง ชัน ปูนขาวอีกด้วย พอมีการตัดถนนจึงเลิกกิจการเปลี่ยนเป็นบ้านอยู่อาศัยอย่างเดียว

จากนั้นคุณแม่พี่มดก็หันมาทำพริกแกงขายโดยใช้ชื่อว่า บ้านพริกแกง ที่ร้านนี้จึงเก่งเรื่องแกงต่างๆ เพราะทำพริกแกงเอง ใช้วิธีการบดและตำด้วยมือ

จนกระทั่ง พ.ศ. 2559 พี่มดกับน้องสาวจึงได้ดัดแปลงบ้านเป็นที่พักเล็กๆ สำหรับคนที่จะมาเรียนศิลปะ ขายอาหารเฉพาะคนที่จองมาเท่านั้น เป็นเมนูซึ่งพี่มดชอบกินเองที่บ้านอยู่แล้ว พอมีเพื่อนฝูงลูกค้าบอกต่อเยอะจึงหันมาทำร้านอาหารเป็นหลัก (แทบไม่ได้ทำเรื่องห้องพักแล้ว) นำชื่อวาณิชย์ของคุณพ่อมาตั้งเป็นชื่อร้านบ้านตานิด

ผมชอบของกินร้านนี้มาก เพราะเป็นอาหารไทยพื้นบ้านที่คนกรุงเทพฯรุ่นผมคุ้นเคยเป็นอย่างดี เมนูห้ามพลาดมีมากมาย อย่างเช่น ต้มกะทิสายบัวปลาสลิด (240 บาท+) พี่มดบอกว่าเป็นคนไม่ชอบกินปลาทู จึงใส่ปลาสลิดแทน เคล็ดลับความเค็มหอมมาจากการใช้ปลาเค็มแทนกะปิ เมนูนี้ต้องรีบกินตอนร้อนๆ จะอร่อยมาก

ถ้าชอบรสเผ็ดหน่อยให้สั่ง แกงส้มชะอมไหลบัวกุ้งสด (260-320 บาท+) พริกแกงทำเองรสเข้มข้นครบทุกรสเหมือนที่กินตอนเด็กจริงๆ พี่มดจะต้มกุ้งแล้วนำไปบดใส่ในน้ำแกงจนน้ำข้นคลั่ก โดยเลือกใช้กะปิบังดาษจากเมืองตรังหอมอร่อย

อีกเมนูที่สุดยอดมากๆ คือ ผัดสามเหม็น (240-280 บาท+) ผัดวุ้นเส้นใส่ชะอม สะตอ และกระเทียมดอง กลิ่นหอมฟุ้งเป็นพิเศษเพราะมีเคล็ดลับคือจะซอยเครื่องกระเทียม หอมและพริกสดเมื่อลูกค้าสั่งเท่านั้นทุกๆ จาน

ของไม่เผ็ดต้อง พะโล้ไข่เค็ม (220-280 บาท+) อร่อยไม่ซ้ำใคร ใส่เครื่องสามเกลอ (รากผักชี กระเทียม พริกไทย) เยอะๆ และมีอบเชยกับเครื่องยาจีนด้วย ทำรสหวานนำ แต่จะได้ความเค็มอร่อยลงตัวจากไข่เค็มมาผสมกัน ซึ่งต้องซื้อจากเจ้าประจำในตลาด อ.ต.ก.เท่านั้น (ไม่เค็มเกินไป) นำมาต้มค้างคืน

ส่วนผัดผักที่ห้ามพลาดคือ ผักบุ้งไทยผัดกะปิกุ้งกรอบ (220 บาท+) กุ้งทะเลสดกรอบสมชื่อ พี่มดซื้อจากเจ้าประจำที่ตลาดสามโคก ซื้อเช้าขายบ่าย ซื้อบ่ายขายเย็น และผัดผักบุ้งไทยได้รสชาติถึงใจ เนื่องจากพอผัดเสร็จจะหยอดน้ำพริกกะปิเพิ่มความหอมเข้มอีก 1 ช้อนลงไป

ส่วนถ้าเป็นเครื่องจิ้มต่างๆ ให้สั่ง หลนปลากุเลาหอม (260-340 บาท+) ซึ่งพี่มดทำแบบโบราณใส่ข้าวหมากเพิ่มความหอม โดยจะใช้ทั้งปลากุเลาให้ความหอมและปลาอินทรีให้ความเค็ม นอกจากนี้ ก็มี น้ำพริกกะปิกุ้งสด (280-380 บาท+) อีกเมนูโบราณที่ใส่น้ำพริกกะปิก็คือแกงรัญจวนเนื้อ (260-320 บาท+) ใส่เนื้อน่องลายตุ๋นและแตงโมอ่อนด้วย ไม่กินเนื้อก็มีแกงรัญจวนหมูอีกอย่าง

ของไม่เผ็ดมีหลากหลาย เมนูยอดนิยมคือหมูกรอบคั่วพริกเกลือ (280-380 บาท+) ใส่พริกไทยอ่อน คั่วถึงเครื่องพริกขี้หนูหอมๆ อีกทั้ง ปลาเนื้ออ่อนทอดราดกระเทียม (380-480 บาท+) ตัวเล็กๆ ทอดราดน้ำปลาผสมน้ำตาล ซึ่งกระเทียมที่ร้านจะเจียวเอง เวลากินให้จิ้มน้ำจิ้มซีฟู้ด เนื้อย่างจิ้มแจ่ว (240-320 บาท+) ใส่มะขามเปียก สันคอหมูย่าง (240-320 บาท+) และ หนำเลี้ยบหมูสับคั่วพริกแห้ง (220-280 บาท+) มีแม้กระทั่ง กุ้งแม่น้ำเผา (สอบถามขนาดและราคาได้เลย) ส่วนเครื่องดื่มถ้ามาวันเสาร์-อาทิตย์ให้สั่ง น้ำมะยงชิดปั่น กระท้อนปั่น และ มะม่วงปั่น (145 บาท+ ทุกอย่าง)

ลืมบอกไปว่าที่ร้านบ้านตานิด ถ้ามาวันธรรมดาจะคิดค่าบริการเพิ่ม 5% แต่ถ้ามาวันเสาร์-อาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์จะคิดค่าบริการ 10%

ขอย้ำว่าเนื่องจากร้านบ้านตานิดคือร้านดังที่ได้รับความนิยมมาก ก่อนไปหลายๆ วันต้องโทรไปจองโต๊ะไว้ล่วงหน้าดีที่สุด มิฉะนั้นอาจจะต้องรอโต๊ะนานเป็นชั่วโมง ร้านบ้าน

ตานิดเปิดบริการตามช่วงมื้ออาหาร กลางวัน 11 โมงครึ่งถึงบ่าย 3 โมง ส่วนมื้อเย็นเปิดตอน 5 โมงเย็นถึง 2 ทุ่ม หยุดทุกวันอังคาร โทรจองโต๊ะได้ที่ 08-1835-0660

‘เรือเก็บขยะ Solar power’ สิ่งประดิษฐ์จากเนเธอร์แลนด์มาไทย เดินเครื่องเก็บขยะในแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ ก.พ. 67 - ม.ค. 68

(21 มี.ค. 67) เพจ ‘Salika’ ได้เผยแพร่บทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรือเก็บขยะ สิ่งประดิษฐ์จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ได้เดินทางมาถึงประเทศไทย และเริ่มภารกิจเก็บขยะในแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยระบุว่า…

“เรือเก็บขยะ ‘The Ocean Cleanup’ สิ่งประดิษฐ์คิดค้นจากเด็กวัยรุ่นอายุเพียง 20 ปี จากประเทศเนเธอร์แลนด์ เก็บขยะมาทั่วโลก ขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์จากแผงโซลาร์เซลล์ หรือ Solar power และทำงานด้วยระบบอัตโนมัติตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องใช้แรงงานมนุษย์ในการควบคุม สามารถเก็บขยะได้วันละ 50,000-100,000 ชิ้น 

“ตอนนี้เรือเก็บขยะ Solar power ได้มาเก็บขยะที่แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสะพานแขวนพระราม 9 ประเทศไทย เป็นเวลา 1 ปี เพื่อช่วยดักเก็บขยะก่อนไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทย โดยจะดำเนินการดักเก็บขยะในแม่นํ้าเจ้าพระยาบริเวณสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา ถนนพระราม 3 เขตบางคอแหลม ตั้งแต่เดือนก.พ. 67 - ม.ค. 68 ซึ่งขยะที่จัดเก็บได้จะนำไปศึกษาวิจัยปริมาณขยะพลาสติกในแม่นํ้าเจ้าพระยาต่อไป 

“โดยแม่นํ้าเจ้าพระยาถือเป็น 1 ในแม่นํ้า 15 สายของโลกที่จะมีนวัตกรรมเรือดักเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์มาปฏิบัติการ เพื่อลดขยะและเสริมสร้างความตระหนักให้กับสาธารณชนในการลดการทิ้งขยะลงแม่นํ้า ปัจจุบันองค์กร The Ocean Cleanup (TOC) แห่งราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ถือเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรด้านเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมชั้นนำระดับโลก”

‘เรือด่วนเจ้าพระยา’ เปิดตัวเรือโดยสาร 'ธงทอง' เส้นทางนนทบุรี-สาทร 25 บาทตลอดสาย ให้บริการแล้ว

เรือด่วนเจ้าพระยา เปิดตัวเรือด่วนเจ้าพระยา 301 และ 302 โดยจะให้บริการเป็นเรือโดยสาร 'ธงทอง' เส้นทางนนทบุรี-สาทร จอดรับ-ส่งทั้งหมด 12 ท่าเรือหลัก เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้า ราคา 25 บาทตลอดสาย พร้อมให้บริการแล้ววันนี้

(2 เม.ย. 67) นาวาตรีเจริญพร เจริญธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด ผู้ให้บริการเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยา เส้นทางปากเกร็ด-วัดราชสิงขร ได้เปิดเผยว่า เรือด่วนเจ้าพระยารูปแบบใหม่ ซึ่งก็คือ เรือด่วนเจ้าพระยา 301 และ 302 จะให้บริการเป็นเรือโดยสาร ‘ธงทอง’ เส้นทางนนทบุรี-สาทร สำหรับช่วงเช้าและเย็น และเส้นทางพรานนก-สาทร สำหรับช่วงกลางวัน เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางอย่างสะดวกและรวดเร็ว

สำหรับเส้นทางนนทบุรี-สาทร ในช่วงเช้าและเย็น เรือด่วนเจ้าพระยาธงทองจะจอดรับ-ส่งที่ท่าเรือหลักเพียง 12 ท่า และเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้า ได้แก่ นนทบุรี, พระราม 7, บางโพ (เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้า MRT บางโพ), เกียกกาย, เทเวศร์, พรานนก, ท่าช้าง, ท่าเตียน, ราชินี (เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้า MRT สนามไชย), ราชวงศ์, สี่พระยา และสาทร (เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้า BTS สะพานตากสิน)

ส่วนเส้นทางพรานนก-สาทร ในช่วงกลางวัน เรือด่วนเจ้าพระยาธงทองจะจอดรับ-ส่งที่ท่าเรือหลักเพียง 7 ท่า และเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้า ได้แก่ พรานนก, ท่าช้าง, ท่าเตียน, ราชินี (เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้า MRT สนามไชย), ราชวงศ์, ไอคอนสยาม และสาทร (เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้า BTS สะพานตากสิน)

ตารางเวลาให้บริการเรือด่วนเจ้าพระยาธงทอง

>> จันทร์-ศุกร์ (เช้า-เย็น)
- นนทบุรี-สาทร 06.30 | 07.30 น.
- สาทร-นนทบุรี 17.30 | 17.55 น.

>> จันทร์-ศุกร์ (กลางวัน)
- พรานนก-สาทร 13.10-16.40 น.
- สาทร-พรานนก 12.40-15.40 น.

สำหรับเรือด่วนเจ้าพระยา 301 และ 302 เป็นเรือโดยสารชั้นเดียว มีความยาว 28 เมตร ความกว้าง 3.80 เมตร รองรับผู้โดยสารได้ 150 คน ใช้เหล็กเป็นวัสดุตัวเรือ มีความแข็งแรงทนทาน ง่ายต่อการบำรุงรักษา ตัวเรือได้รับการออกแบบถูกต้องตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัยของกรมเจ้าท่าและใช้หลักนาวาสถาปัตย์ร่วมกับแบบจำลองในคอมพิวเตอร์ รูปทรงเรือถูกออกแบบมาเพื่อลดการเกิดคลื่นโดยเฉพาะ ทั้งยังประหยัดพลังงานมากกว่าเดิม

ทั้งนี้ ค่าโดยสารเรือธงทอง ราคา 25 บาทตลอดสาย หากชำระค่าโดยสารด้วยบัตรแรบบิท จะได้รับส่วนลดทันที 2 บาทต่อเที่ยว เหลือเพียง 23 บาทเท่านั้น ซึ่งเป็นโปรโมชั่นพิเศษสำหรับผู้ที่ใช้บัตรแรบบิทจ่ายค่าโดยสาร โดยโปรโมชั่นนี้ขยายเวลาไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.67 อีกทั้งยังสามารถใช้สิทธิ์ได้กับเรือด่วนเจ้าพระยาทุกธง ทุกเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นธงส้ม ธงเหลือง ธงเขียวเหลืองและธงแดง

ติดตามข้อมูลข่าวสารตารางเวลาให้บริการและเส้นทางที่อัปเดตจากทางเรือด่วนเจ้าพระยาผ่านช่องทางเพจเฟซบุ๊ก Chao Phraya Express Boat - เรือด่วนเจ้าพระยา หรือที่ LINE: @cpxcare


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top