Monday, 20 May 2024
แบ่งเขตเลือกตั้ง

'สร้างอนาคตไทย' เรียกร้อง กกต.รีบแบ่งเขตเลือกตั้ง เพื่อความเท่าเทียมและพร้อมจะเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้กลับมาลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง

วันพุธที่ 28 กันยายน 2565 นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย ในฐานะประธานภาคกรุงเทพฯ และนายสันติ กีระนันทน์ รองหัวหน้าพรรค เปิดศูนย์ประสานงานพรรค เขตยานนาวา บางคอแหลม ซึ่งมีนายพงศพัศ กตคุณวิสิทธิ์ เป็นผู้ประสานงานพรรคในพื้นที่

นายสุรนันทน์ ได้กล่าวว่า ศูนย์ประสานงานพรรค ไม่ใช่ศูนย์อำนวยการเลือกตั้ง ศูนย์ฯ จะต้องทำงานต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะไม่ได้รับการเลือกตั้ง เพราะเราตั้งใจเปิดศูนย์ฯ ขึ้นมาเพื่อเป็นตัวกลางในการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ พรรคสร้างอนาคตไทยได้มีชุดความคิดใหม่ ๆ เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แก้ปัญหาความไม่ยุติธรรมและความเหลื่อมล้ำทางการเมืองและสังคม และระหว่างพบปะประชาชน ก็ได้รับเรื่องร้องทุกข์เกี่ยวกับปัญหายาเสพติดในพื้นที่ ที่นับวันจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมไปถึงปัญหาชุมชนที่อยู่อาศัยที่ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย พรรคฯ จะนำปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ เข้าที่ประชุมเพื่อร่วมกันพิจารณาหาทางแก้ไขต่อไป โดยเฉพาะปัญหายาเสพติด เรายืนยันว่า จะต่อต้านยาเสพติดทุกประเภท  และจะร่วมกันขจัดให้หมดสิ้นไปจากสังคมไทยทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย 

นายสุรนันทน์ ยังได้เรียกร้องไปยัง กกต. อีกด้วยว่า ถึงแม้จะออกกฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ มามากมาย แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือควรรีบแบ่งเขตพื้นที่การเลือกตั้งทั้ง 400 เขตให้ชัดเจน เพราะขณะนี้ผู้ที่ลงสมัครหน้าใหม่ก็จะเสียเปรียบเจ้าของพื้นที่เดิม เนื่องจากไม่สามารถรู้ได้ว่าพื้นที่ของตัวเองมีขอบเขตแค่ไหน เพราะฉะนั้น กกต. จะต้องเร่งในเรื่องนี้ เพื่อที่ทุกคนจะได้มีโอกาสในการแนะนำตัวให้ประชาชนรู้จักอย่างเท่าเทียมกัน

‘เพื่อไทย’ จวก กกต. แบ่งเขตเลือกตั้งบิดเบี้ยว เย้ย!! ต่อไปคงต้องเรียก ส.ส.แขวง

‘เพื่อไทย’ กางตำรากฎหมายจวก กกต. แบ่งเขตเลือกตั้งบิดเบี้ยว พื้นที่เดียวกันมีผู้สมัคร 3 คน เย้ยต่อไปต้องเรียก ส.ส.แขวง โวยปชช.โดนรัฐประหารผ่านการแบ่งเขต จี้ทบทวนด่วน

(13 ก.พ. 66) ที่พรรคเพื่อไทย นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ประธานภาค กทม. พรรคเพื่อไทย นางสุภาภรณ์ คงวุฒิปัญญา ส.ส. กทม. และน.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. และโฆษกพรรค ร่วมแถลงกรณีการเสนอรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย ในเขตพื้นที่ กทม. ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งในพื้นที่ กทม. นั้น เดิมมี 5 รูปแบบ ซึ่งมากกว่าจังหวัดอื่น ๆ อยู่แล้ว ล่าสุด กกต. แบ่งออกมาเพิ่มอีกรวมเป็น 8 รูปแบบ ทำให้ประชาชนเกิดความสับสนในการเลือกตั้ง ส.ส.เขต เรียกได้ว่าเป็นการแบ่งเขตที่บิดเบี้ยว ไม่เป็นไปตามธรรมชาติของแต่ละพื้นที่ การแบ่งเขตรูปแบบที่ 6 - 8 นี้ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พรรคเพื่อไทยและพรรคอื่น ๆ ไม่เห็นด้วย เพราะจะเป็นการสร้างปัญหาให้กับประชาชน เกิดความไม่สะดวกเพราะต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ตรงกับที่อยู่อาศัย รวมถึงสร้างความลำบากต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐเอง ทำให้ไม่คุ้นเคยกับพื้นที่ซึ่งเคยทำงานมา

“การแบ่งเขตดังกล่าวยังส่งผลให้ผู้สมัครพบปัญหาว่าในเขตเดียวมีผู้สมัครถึง 3 - 4 คน ต่างพรรคต่างเบอร์กัน จะเป็นเหตุให้การเลือกตั้งครั้งต่อไปผิดพลาดบกพร่อง เกิดบัตรเสียจำนวนมาก และไม่เป็นผลดีต่อระบอบประชาธิปไตย กกต. ควรยึดตามหลักกฎหมายและความเป็นจริง ขอเรียกร้องให้ กกต. ทบทวนใหม่” โฆษกพรรคเพื่อไทย ระบุ

ด้านนายวิชาญ กล่าวว่า การแบ่งเขตรูปแบบ 6 - 8 ซึ่ง กทม.มีทั้งหมด 30 เขต จำนวนประชากรประมาณ 5 ล้านคน จากการรวบรวมความเห็นของประชาชน และพิจารณาตามหลักของ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. รวมถึงระเบียบของ กกต. เป็นเกณฑ์ เห็นว่าการแบ่งเขตแบบ 1-3 มีความชัดเจน พื้นที่มีความคาบเกี่ยวกัน การจัดรูปแบบดังกล่าวมีความสอดคล้องกว่า ไม่สร้างความสับสน มี 25 เขต จาก 30 เขต ที่ไม่ต้องแบ่งเขตเพิ่มเติมใหม่

“การแบ่งเขตแบบที่ 6 - 8 มีโอกาสสร้างความสับสนให้ประชาชนมากกว่า หากมีการแบ่งพื้นที่ตามแขวง คงเรียก ส.ส.เขต ไม่ได้ ต้องเรียกว่า ส.ส.แขวง และจะสร้างผลเสียคือบัตรเสียจะมากขึ้น จากการฟังเสียงประชาชน พรรคเพื่อไทยจึงเสนอว่ารูปแบบการแบ่งเขตแบบที่ 1 - 2 มีความเหมาะสมมากที่สุด เพราะเขตหลักๆ ยังอยู่ ไม่ถูกแบ่งแยก จึงมีความสะดวกต่อประชาชนมากกว่า” นายวิชาญ กล่าว

'ปดิพัทธ์' จี้ 'กกต.' แจงให้ชัด กรณีแบ่งเขตเลือกตั้ง ชี้ ขาดความชัดเจน ทำคนไม่ไว้ใจ ย้ำ จัดการเลือกตั้งให้โปร่งใส

(14 ก.พ. 66) นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล แสดงความเห็นกรณีมีรายงานข่าวว่าที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะหารือในวันนี้ ประเด็นการนำจำนวนราษฎรที่ไม่มีสัญชาติไทยมาคิดคำนวณจำนวน ส.ส. ที่แต่ละจังหวัดพึงมีและแบ่งเขตเลือกตั้ง เนื่องจากมีหลายฝ่ายในสังคมทักท้วง โดยประเด็นหารือรวมถึงอาจพิจารณายื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยเรื่องนี้ด้วย

นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า "ก่อนหน้านี้พรรคก้าวไกลเคยแสดงความกังวล ว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ไม่ชัดเจน อาจนำไปสู่เลือกตั้งโมฆะเช่นที่เคยเกิดขึ้นในอดีต รวมถึงตั้งคำถามว่า การนับรวมราษฎรที่ไม่มีสัญชาติไทยนั้น เป็นสิ่งที่ กกต. เคยทำมาก่อนหรือไม่ หากเคยทำมาก่อน ก็ไม่น่าต้องกังวลว่าจะมีปัญหา แต่หากไม่เคยทำมาก่อน ครั้งนี้ก็ไม่ควรทำเช่นกัน"

หลังจากนั้น กกต. ออกมาชี้แจงว่า การประกาศจำนวนราษฎรในอดีต ก็ทำเป็นประกาศรวมที่นับทั้งคนสัญชาติไทยและคนที่ไม่มีสัญชาติไทย เพิ่งจะมาแยกคน 2 กลุ่มนี้ออกจากกันในประกาศจำนวนราษฎร วันที่ 31 ธันวาคม 2557 แต่ กกต. ยังไม่ได้ตอบคำถามของพรรคก้าวไกล ว่าแล้วการเลือกตั้งที่ผ่านมาเช่นปี 2562 ได้คิดรวมคนที่ไม่มีสัญชาติไทยมาคำนวณด้วยหรือไม่ ดังนั้น ในเมื่อ กกต. จะประชุมวันนี้ ก็ควรมีคำตอบเรื่องนี้ รวมถึงคำตอบว่าถ้า กกต. จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จะกระทบต่อไทม์ไลน์การเลือกตั้งหรือไม่

นายปดิพัทธ์ กล่าวต่อว่า ตามกฎหมาย การเลือกตั้งควรมีขึ้นไม่เกินวันที่ 7 พฤษภาคมนี้ ทั้งที่ประชาชนมีความหวังให้การเลือกตั้งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง แต่จากการทำงานของ กกต. ปัจจุบัน ไม่ได้ทำให้ประชาชนรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจได้เลย ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งเขตเลือกตั้ง ทั้งที่ทะเบียนราษฎรออกมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 แต่ตอนนี้หลายจังหวัดเริ่มพบกลไกที่ย้ายเขตเลือกตั้งเพื่อให้เกิดความได้เปรียบทางคะแนน เช่น พิษณุโลกเขต 1 มีความพยายามตัดพื้นที่ที่ตนทำงานอย่างต่อเนื่องออกไป และเอาพื้นที่ของนักการเมืองท้องถิ่นที่เป็นฝ่ายรัฐบาลมาเติมแทน นอกจากนี้ ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับระบบรายงานผลเลือกตั้งแบบ real time ทั้งที่ กกต. ได้รับงบประมาณจัดเลือกตั้งถึงเกือบ 6,000 ล้านบาท

‘ศาลรธน.’ มีมติเอกฉันท์ สูตรคำนวน ส.ส ชี้ ไม่นับรวมต่างด้าว ต้องรื้อแบ่งเขตใหม่

วุ่น! กกต.ต้องแบ่งเขตใหม่ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ชี้คำนวณจำนวนส.ส.แต่ละจังหวัด-แบ่งเขต ไม่ต้องนับรวมผู้ไม่มีสัญชาติไทย

วันนี้ (3 มี.ค. 66) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่าการกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 86 (1) ซึ่งกำหนดให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร์ที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้งนั้นคำว่า 'ราษฎร' ไม่หมายรวมถึงผู้ไม่ได้สัญชาติไทยโดยให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลตั้งแต่วันนี้ (3มี.ค.) เป็นต้นไปตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 76 วรรคหนึ่งและวรรคสาม และไม่มีผลย้อนหลังไปถึงการเลือกตั้งส.ส. ที่ผ่านมา

ทั้งนี้กรณีดังกล่าวเป็นสืบเนื่องมาจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของกกตตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรคหนึ่ง(2) ว่าการคิดคำนวณจำนวนส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดจะพึงมีโดยนำจำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรตามที่สำนักทะเบียนกลางประกาศณวันที่ 31 ธ.ค. ของปีที่ล่วงมามาใช้ในการคิดคำนวณจำนวนส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด ถูกต้องหรือไม่

‘เพื่อไทย’ โวย ‘กกต.’ แบ่งเขตไม่เป็นธรรม-ส่อผิด กม. หวั่น เลือกตั้งเป็นโมฆะ ถาม กกต.รับผิดชอบไหวหรือ?

(16 มี.ค. 66) ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม.เขตลาดกระบัง พร้อมด้วย นายสุรชาติ เทียนทอง ส.ส.กทม.เขตหลักสี่ พรรค พท.ร่วมแถลงข่าวคัดค้านแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง ของ กกต.กทม.

น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวว่า ได้เห็นประกาศจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถึง กกต. กทม.ว่าจะมีการเลือกใช้การแบ่งเขตการเลือกตั้งของ กกต.แบบที่ 1 ซึ่งเป็นแบบที่พรรค พท. กังวลใจว่า ส่อขัดต่อกฎหมายเลือกตั้ง ที่ผ่านมามีความหวังว่า กกต.จะได้ยินเสียงการทักท้วงของพรรค พท. จึงไม่ลดละความพยายามที่จะแถลงข่าวให้เสียงดังขึ้น แต่สุดท้ายมีประกาศออกมาเลือกแบบที่ 1 จึงจำเป็นต้องส่งเสียงอีกครั้ง เพราะถือเป็นการแบ่งเขตการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม เรียกว่า Gerrymandering ที่ผู้มีอำนาจจงใจเปลี่ยนแปลงเส้นเขตเลือกตั้ง เพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้พรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ผู้ที่รับผลกระทบโดยตรงมากที่สุด คือภาคประชาชน คืนวานนี้ ประชาชนร้องเรียนมาว่า ได้รับผลกระทบจากการแบ่งเขต เพราะพวกเขาได้หมายมั่นปั้นมือว่าจะเลือก ส.ส.คนนี้ให้ไปเป็นผู้แทน ให้ได้มาทำงานต่อ เพราะเคยร่วมงานใกล้ชิดกันมาก่อน

ทั้งนี้ หาก กกต.ยืนยันที่จะใช้การแบ่งเขตแบบที่ 1 ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ท้ายที่สุดอาจทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะทั้งประเทศ กกต.ต้องกำหนดเขตเลือกตั้งและจำนวน ส.ส.แต่ละเขตเลือกตั้งกันใหม่ แล้วจัดการเลือกตั้งใหม่ รวมไปถึงจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคง ความมีเสถียรภาพของประเทศชาติ ความขัดแย้งทางการเมือง และงบประมาณแผ่นดิน

น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวต่อว่า หากการเลือกตั้งเป็นโมฆะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะรักษาการนายกฯ ต่อไปจนกว่าการเลือกตั้งจะเสร็จ ซึ่งนานเท่าใดก็ไม่มีใครรู้ หมายความว่าผู้มีอำนาจนำประเทศชาติ และประชาชนเป็นตัวประกันให้กับความเสียหายนี้ใช่หรือไม่ หาก กกต.ไม่ดูดีดูดาย พิจารณาคำท้วงติงของพรรค พท. หากเกิดอันตรายเสียหายขึ้น กกต.จะรับผิดชอบไหวหรือ ถ้าหากการเลือกตั้งเป็นโมฆะ

ทั้งนี้ พรรค พท.พร้อมสู้ทุกกติกาที่มีความยุติธรรมหรือที่ถูกกำหนดขึ้น พรรค พท.จะเดินหน้าต่อเพื่อให้เกิดการเลือกตั้งให้ได้ ให้พี่น้องประชาชนได้ออกมาใช้สิทธิ์ใช้เสียง นำประชาธิปไตยกลับมา และทำให้ประชาชนเห็นว่าพรรคการเมืองที่พวกเขาสนับสนุนได้ใช้พลังประชาชน ไม่โอนอ่อนผ่อนตาม ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจที่ไม่เป็นธรรมเหล่านั้น

‘อรรถวิชช์’ ร้องศาลปกครอง เพิกถอนแบ่งเขตเลือกตั้ง กทม. ชี้ วิธีแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หวั่น ทำประชาชนสับสน

(16 มี.ค. 66) ดร.อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวถึงการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ของกรุงเทพมหานครว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 27 (1) กำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งเขตให้ ‘รวมอำเภอต่าง ๆ เป็นเขตเลือกตั้ง’ ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีอำเภอหลักอยู่ในเขตเลือกตั้ง แต่ปรากฎว่าการแบ่งเขตที่ออกมา มีการรวมเฉพาะแขวงโดยไม่มีเขต (อำเภอ) หลัก มาเป็นเขตเลือกตั้งใหม่

ตัวอย่างเช่น เขตเลือกตั้งที่ 8 ประกอบด้วย แขวงทุ่งสองห้องของเขตหลักสี่ และแขวงลาดยาว แขวงจตุจักร แขวงจอมพล ของเขตจตุจักร, เขตเลือกตั้งที่ 9 ประกอบด้วย แขวงอนุสาวรีย์ของเขตบางเขน และแขวงจันทรเกษม แขวงเสนานิคม ของเขตจตุจักร และแขวงตลาดบางเขนของเขตหลักสี่ และยังมีเขตเลือกตั้งอื่น ๆ ที่เป็นการรวมเฉพาะแขวง โดยไม่มีเขตหลักถึง 13 เขตเลือกตั้ง ได้แก่เขตเลือกตั้งที่ 8, 9, 12, 13, 17, 18, 19, 21, 26, 27, 28, 29 และ 30 ซึ่งเป็นการรวมแขวงต่าง ๆ เป็นเขตเลือกตั้ง ไม่ได้รวมอำเภอต่าง ๆ เป็นเขตเลือกตั้ง ขัดต่อหลักเกณฑ์ตามมาตรา 27 (1)

‘กกต.’ ชี้!! ทำตามกฎหมายทุกขั้นตอน  หลัง ‘ชพก.’ ท้วง!! ปมแบ่งเขต กทม.

(17 มี.ค. 66) ที่สำนักคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายปกรณ์ มหรรณพ กกต.แถลงข่าวชี้แจงข้อท้วงติงจากพรรคการเมือง ถึงกรณีการแบ่งเขตเลือกตั้งเลือกตั้งใหม่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า วันนี้ กกต.จะมีการเรียกประชุมด่วน ซึ่งสืบเนื่องมาจากพิจารณาข้อมูลทุกอย่าง รวมทั้งของพรรคชาติพัฒนากล้า เมื่อมีข้อท้วงติงของพรรคการเมือง เราก็พร้อมที่จะตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง จึงมีการเรียกประชุมด่วนในเวลา 16.00 น.ของวันนี้ สำหรับเรื่องดังกล่าว เราพร้อมให้ข้อมูลและเหตุผล ซึ่งสิ่งที่มีข่าวในช่วงนี้คือการแบ่งเขตของ กกต.กทม.อาจจะมีปัญหา แต่ตนขอยืนยันว่า ผอ.กกต.กทม.และทีมงาน รวมทั้งส่วนกลางที่เกี่ยวข้องได้ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการแบ่งเขตอย่างสุดความสามารถ และได้ใช้เวลาในการพิจารณาอย่างเหมาะสม

“โดยเรื่องที่มีข้อท้วงติงของนักการเมืองนั้นบางครั้งอาจจะไม่ตรงกับข้อเท็จจริง อยากจะขอชี้แจงว่าการแบ่งเขตครั้งนี้ กกต.กทม.ยึดหลักตามรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.อย่างเคร่งครัด ซึ่งกฎหมายในมาตรา 27 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ระบุว่าให้แบ่งเขตแต่ละเขตติดต่อกัน และต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกันต่างกันไม่เกินบวกลบร้อยละ 10 ซึ่งมาจากรัฐธรรมนูญมาตรา 86 (5) บัญญัติว่าจะต้องแบ่งเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้แต่ละเขตติดต่อกัน และต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้เราปฏิบัติ” นายปกรณ์ กล่าว

นายปกรณ์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่เป็นปัญหาคือ กรุงเทพมหานครไม่สามารถกำหนดเขตปกครองเดียวให้เป็นเขตเลือกตั้งได้ เพราะค่าเฉลี่ยของประชากรของกรุงเทพมหานครในหนึ่งเขตเลือกตั้ง มีประมาณ 160,000 คน ตัวอย่างเช่น เขตปกครองในเขตคลองสามวา มีประมาณ 200,000 คน, เขตบางเขน เขตประเวศ เขตลาดกระบังมีเขตละ 180,000 คน, เขตสายไหม 200,000 กว่าคน, เขตหนองจอก เขตบางขุนเทียน มีเขตละ 180,000 กว่าคน, เขตบางแค 190,000 คน

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าทั้ง 8 เขตนี้ ไม่สามารถแบ่งเป็นเขตเดียวของการเลือกตั้งได้ เราจึงได้พิจารณาตามกฎหมายในมาตรา 21 (2) ที่กำหนดว่า ในกรณีที่ไม่สามารถทำตาม (1) ได้ เพราะราษฎรในแต่ละเขตไม่ใกล้เคียงกัน จึงให้แบ่งเขตตามสภาพของชุมชนที่มีราษฎรติดต่อกันประจำ ในลักษณะเป็นเขตชุมชนเดียวกัน โดยจะต้องให้จำนวนประชากรมีจำนวนใกล้เคียงกันมากที่สุด

นายปกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีตามที่เป็นข่าวที่ยกตัวอย่างเขต 8 และ 9 ว่าไม่มีเขตหลัก ซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าจะต้องมีเขตหลัก ซึ่งเขต 8 และ 9 มองแล้วมีเขตหลักและจำเป็นต้องเอาแขวงที่ใกล้เคียงมารวมกัน เพื่อให้จำนวนประชากรมีจำนวนใกล้เคียงกันมากที่สุด อย่างไรก็ตามเราได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 (2) อย่างเคร่งครัด ทุกเขตจะเป็นลักษณะชุมชนเดียวกัน จำนวนราษฎรจะไม่เกินหลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่ง กกต.ได้ออกหลักเกณฑ์ระเบียบที่ว่า จังหวัดแบ่งเขตโดยค่าเฉลี่ยประชากรในจังหวัดเป็นเกณฑ์ แต่ละเขตไม่ควรเกินร้อยละ 10 ของค่าเฉลี่ยประชากร หรือในกรุงเทพมหานครแต่ละเขตไม่ควรเกิน 16,000 คน

‘ต้นกล้า ก้าวไกล’ เผย ไม่หวั่นแบ่งเขตพิศดาร ซัด!! กกต.แบ่งเขตแบบเล่นเก้าอี้ดนตรี

(18 มี.ค. 66) นายจรยุทธ จตุพรประสิทธิ์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม.(ยานนาวา-บางคอแหลม) พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวถึงการแบ่งเขตเลือกตั้งล่าสุดโดย คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าการแบ่งเขตครั้งนี้ มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยยะสำคัญหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร แม้ว่าในเขตยานนาวา-บางคอแหลม ที่ตนลงสมัคร จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ แต่สำหรับหลายเขต มีทั้งที่ถูกเพิ่มพื้นที่และลดพื้นที่ลงจนเกิดความสับสนทั้งในหมู่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งและว่าที่ผู้สมัครเอง

นายจรยุทธ กล่าวต่อว่า การแบ่งเขตเช่นนี้ อาจ มองได้ว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ของพรรคใดพรรคหนึ่ง ให้ได้คะแนนเสียงได้เปรียบกว่าพรรคอื่น ๆ หรือไม่ และยังมีความน่ากังวลอีกประการหนึ่ง คือการทำหน้าที่ของ ส.ส. ในอนาคตจะยากลำบากขึ้นไปอีก จากการแบ่งเขตที่ไม่สอดคล้องกับสภาพของพื้นที่ ประชากร และความเป็นจริง

‘ปชป.’ กระแสดี พร้อมปรับทัพ รับมือแบ่งเขตใหม่ ด้าน ‘องอาจ’ มั่นใจ!! ปักธงชัยสนาม กทม.ได้แน่นอน

(19 มี.ค. 66) นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ดูแล กทม.และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ กทม. เปิดเผยว่า คาดว่า นายกรัฐมนตรีจะยุบสภาภายใน 2-3 วันนี้ หลังจากนั้นจะเข้าสู่โหมดของการเลือกตั้งเต็มรูปแบบ ซึ่งพรรค ปชป.ใน กทม. ได้เตรียมความพร้อมรองรับการยุบสภาฯ อยู่แล้ว ไม่ว่านายกฯ จะยุบสภาฯ วันไหน ก็พร้อมจะเดินหน้าทำตามกติกา กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. และกฎหมายพรรคการเมืองทันที

ทั้งนี้ พรรคฯ ได้เตรียมยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง ส.ส. กทม. พร้อมนโยบายที่ตอบโจทย์ชาว กทม. รวมถึงผู้สมัคร ส.ส. กทม. ที่ผสมผสานกันระหว่างอดีต ส.ส. กทม. และคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ไว้ครบถ้วน

‘อรรถวิชช์’ ย้ำ!! แบ่งเขตแบบนี้ ประชาชนสับสน ส.ส.ทำงานยากขึ้น ลดความผูกพันผู้คนในพื้นที่

(7 เม.ย. 66) ดร.อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวหลังศาลปกครองพิพากษายกฟ้องคดี กกต. ประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง กทม. ไม่ขัดต่อกฎหมายว่า ถือเป็นสร้างบรรทัดฐานใหม่ เห็นได้ชัดว่า การเลือกตั้งรอบนี้ กกต. ยึดหลักเกณฑ์ค่าเฉลี่ย 10% คำนวณหา ส.ส. 1 คนต่อจำนวนราษฎร เป็นครั้งแรก ซึ่งตนได้เน้นย้ำว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าว ส่งผลให้ละลายเขตเลือกตั้ง และ ศาลมีดุลยพินิจว่า การจะใช้หลักเกณฑ์คำนวณหา ส.ส.นั้น ล้วนเป็นอำนาจของ กกต. ในการกำหนดเกณฑ์ 10% โดยถือหลักจำนวนราษฎรสำคัญกว่า การนำอำเภอมาใช้แบ่งเขตเลือกตั้ง ก็แปลว่าในอนาคตการเดินลงพื้นที่ของ ส.ส. จะลำบากมากขึ้น เพราะเขตเลือกตั้งต่อจากนี้จะถูกแบ่งเขตได้ตลอดเวลา


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top