‘กกต.’ ชี้!! ทำตามกฎหมายทุกขั้นตอน  หลัง ‘ชพก.’ ท้วง!! ปมแบ่งเขต กทม.

(17 มี.ค. 66) ที่สำนักคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายปกรณ์ มหรรณพ กกต.แถลงข่าวชี้แจงข้อท้วงติงจากพรรคการเมือง ถึงกรณีการแบ่งเขตเลือกตั้งเลือกตั้งใหม่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า วันนี้ กกต.จะมีการเรียกประชุมด่วน ซึ่งสืบเนื่องมาจากพิจารณาข้อมูลทุกอย่าง รวมทั้งของพรรคชาติพัฒนากล้า เมื่อมีข้อท้วงติงของพรรคการเมือง เราก็พร้อมที่จะตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง จึงมีการเรียกประชุมด่วนในเวลา 16.00 น.ของวันนี้ สำหรับเรื่องดังกล่าว เราพร้อมให้ข้อมูลและเหตุผล ซึ่งสิ่งที่มีข่าวในช่วงนี้คือการแบ่งเขตของ กกต.กทม.อาจจะมีปัญหา แต่ตนขอยืนยันว่า ผอ.กกต.กทม.และทีมงาน รวมทั้งส่วนกลางที่เกี่ยวข้องได้ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการแบ่งเขตอย่างสุดความสามารถ และได้ใช้เวลาในการพิจารณาอย่างเหมาะสม

“โดยเรื่องที่มีข้อท้วงติงของนักการเมืองนั้นบางครั้งอาจจะไม่ตรงกับข้อเท็จจริง อยากจะขอชี้แจงว่าการแบ่งเขตครั้งนี้ กกต.กทม.ยึดหลักตามรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.อย่างเคร่งครัด ซึ่งกฎหมายในมาตรา 27 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ระบุว่าให้แบ่งเขตแต่ละเขตติดต่อกัน และต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกันต่างกันไม่เกินบวกลบร้อยละ 10 ซึ่งมาจากรัฐธรรมนูญมาตรา 86 (5) บัญญัติว่าจะต้องแบ่งเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้แต่ละเขตติดต่อกัน และต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้เราปฏิบัติ” นายปกรณ์ กล่าว

นายปกรณ์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่เป็นปัญหาคือ กรุงเทพมหานครไม่สามารถกำหนดเขตปกครองเดียวให้เป็นเขตเลือกตั้งได้ เพราะค่าเฉลี่ยของประชากรของกรุงเทพมหานครในหนึ่งเขตเลือกตั้ง มีประมาณ 160,000 คน ตัวอย่างเช่น เขตปกครองในเขตคลองสามวา มีประมาณ 200,000 คน, เขตบางเขน เขตประเวศ เขตลาดกระบังมีเขตละ 180,000 คน, เขตสายไหม 200,000 กว่าคน, เขตหนองจอก เขตบางขุนเทียน มีเขตละ 180,000 กว่าคน, เขตบางแค 190,000 คน

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าทั้ง 8 เขตนี้ ไม่สามารถแบ่งเป็นเขตเดียวของการเลือกตั้งได้ เราจึงได้พิจารณาตามกฎหมายในมาตรา 21 (2) ที่กำหนดว่า ในกรณีที่ไม่สามารถทำตาม (1) ได้ เพราะราษฎรในแต่ละเขตไม่ใกล้เคียงกัน จึงให้แบ่งเขตตามสภาพของชุมชนที่มีราษฎรติดต่อกันประจำ ในลักษณะเป็นเขตชุมชนเดียวกัน โดยจะต้องให้จำนวนประชากรมีจำนวนใกล้เคียงกันมากที่สุด

นายปกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีตามที่เป็นข่าวที่ยกตัวอย่างเขต 8 และ 9 ว่าไม่มีเขตหลัก ซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าจะต้องมีเขตหลัก ซึ่งเขต 8 และ 9 มองแล้วมีเขตหลักและจำเป็นต้องเอาแขวงที่ใกล้เคียงมารวมกัน เพื่อให้จำนวนประชากรมีจำนวนใกล้เคียงกันมากที่สุด อย่างไรก็ตามเราได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 (2) อย่างเคร่งครัด ทุกเขตจะเป็นลักษณะชุมชนเดียวกัน จำนวนราษฎรจะไม่เกินหลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่ง กกต.ได้ออกหลักเกณฑ์ระเบียบที่ว่า จังหวัดแบ่งเขตโดยค่าเฉลี่ยประชากรในจังหวัดเป็นเกณฑ์ แต่ละเขตไม่ควรเกินร้อยละ 10 ของค่าเฉลี่ยประชากร หรือในกรุงเทพมหานครแต่ละเขตไม่ควรเกิน 16,000 คน

“ขอให้นักการเมืองโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครให้คำนึงถึงทั้ง 33 เขต เพราะมันเชื่อมโยงกันหมด อย่าพิจารณาเฉพาะบางเขต เพราะถ้าพิจารณาเฉพาะเขต จะไม่สามารถทำงานในภาพรวมได้เลย และตามที่มีข่าวว่ามีการยื่นร้องต่อศาลปกครองในเรื่องดังกล่าวนั้นเป็นสิทธิที่จะทำได้ตามกฎหมาย แต่ตนขอร้องต่อศาลปกครองว่าก่อนที่ท่านจะมีคำสั่งอย่างอื่นอย่างใด ทาง กกต.พร้อมที่จะชี้แจงให้ข้อมูลและตนยินดีจะไปชี้แจงด้วยตนเอง” นายปกรณ์ กล่าว


ที่มา : https://www.naewna.com/politic/718129