Monday, 29 April 2024
แก้จน

'เพื่อไทย' ชี้!! 8 ปี คนจนเพิ่มเป็น 20 ล้านคน  ซัด!! รัฐแก้จนล้มเหลว หากทำไม่ได้ พท.จะทำเอง

นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม.และโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แก้ไขปัญหาความยากจนมาตลอดระยะเวลา 8 ปี เหตุใดยิ่งแก้ยิ่งจน บัตรคนจนเพิ่มขึ้นจาก 10 ล้านคน ทะยานสู่ 20 ล้านคนแล้วในปีนี้ 

นอกจากนี้ช่วงปลายปี 2563 ยังได้ตั้ง “คณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนฯ” (คจพ.) อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จึงอดสงสัยไม่ได้ว่าแผนแก้จนของพลเอกประยุทธ์ ที่ประกาศจะเริ่มดำเนินการในเดือนกันยายน ปี 2565 จะสำเร็จหรือไม่   

'นิพิฏฐ์' แซะ!! 'เต้น' หวังเพื่อไทยแลนด์สไลด์ ระวังซ้ำรอย 'ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์' หนีออกนอกประเทศ

วันที่ 8 ส.ค. 65 นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย โพสต์เฟซบุ๊กสวนกลับกรณีที่ นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย กล่าวพาดพิง ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ดร.อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย ในการปราศรัยที่ภาคเหนือ โดยระบุว่า แลนด์สไลด์หรือครับ ระวังมิดจมหัวนะ ตนได้ฟัง นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ไปพูดที่ภาคเหนือ บอกให้เลือกพรรคเพื่อไทยแบบแลนด์สไลด์ ถ้าพูดแค่นั้น ตนก็ไม่ว่าไร แต่นายณัฐวุฒิกลับพาดพิงไปถึง ดร.สมคิด, ดร.อุตตม และคุณสนธิรัตน์ ว่า ตอนบุคคลทั้งสามอยู่พรรคพลังประชารัฐ ท่านเหล่านี้เคยพูดว่า จะทำให้คนจนหมดไป ซึ่งที่เขาพูดนั้น ความหมายก็คือ จะทำให้คนไทยพ้นจากเส้นความยากจน และหากได้ทำอย่างจริงจัง ก็สามารถทำได้ แต่บุคคลทั้งสามพูดได้ไม่นานก็ต้องลาออกจากรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ เขาลาออกทำไม ทำไมไม่อยู่ทำนโยบายแก้ปัญหาความยากจนให้ถึงเวลาเลือกตั้งเถอะ ตนจะพูดให้ฟัง 

นายนิพิฏฐ์ ระบุอีกว่า เวลานี้ ดูเหมือนณัฐวุฒิจะ 'คึก' เป็นพิเศษ นั่งดีดลูกคิดรางแก้ว เหมือนว่าก่อนเลือกตั้ง พูดอย่างนี้ ปากอย่างนี้ ถูกใจเจ้านาย กำลังจะถูกรางวัลที่ 1 ยังไงยังงั้น ส่วนเรื่องแลนด์สไลด์ หรือ? เป็นไปได้ ตนไม่ดูแคลนหรอก แต่ณัฐวุฒิ อย่าลืมว่า เวลาฝนตกแล้วแลนด์สไลด์ มันจะมีน้ำ มีดิน มีโคลน ไหลลงมา เขาจึงเรียกว่า 'แลนด์สไลด์' ในทางธรณีวิทยา มวลดินจะฝังกลบทุกสิ่งทุกอย่างบนเส้นทางที่มันแลนด์สไลด์ลงไป 

‘ปชป.’ ชู นโยบายกระตุ้น ศก. อัดฉีดเงิน 1 ล้านล้านบาท ยัน!! แก้จนได้โดยไม่ต้องแจกแบบสุดโต่ง ไม่เพิ่มหนี้รัฐฯ 

(24 เม.ย. 66) ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งนำโดยนายพิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์, ม.ร.ว.ศศิพฤนท์ จันทรทัต และนายเกียรติ สิทธีอมร ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และทีมนโยบายพรรคฯ ร่วมกันแถลงนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยโดยไม่เพิ่มหนี้สาธารณะ

ทั้งนี้ ม.ร.ว.ศศิพฤนท์ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ของพรรคประชาธิปัตย์ ‘สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ’ จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลไกการอัดฉีด 1 ล้านล้านบาทเข้าระบบ โดยไม่มีการแจกเงินแบบสุดโต่ง ไม่เพิ่มหนี้สาธารณะ ไม่รีดภาษีจากผู้มีรายได้น้อย แต่จะทำให้จีดีพีเติบโตได้ไม่น้อยกว่า 5% และช่วยแก้ปัญหาความยากจน โดยสิ่งที่จะต้องทำทันที คือ การปรับโครงสร้างตลาดเงินตลาดทุน โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์ จะต้องสร้างกติกาให้ผู้ที่มีฐานะปานกลางและบริษัทรายย่อย สามารถระดมทุนผ่านไอพีโอในตลาดหลักทรัพย์ง่ายขึ้น โดยไม่จำกัดขนาด ฐานะการเงิน หรือผลประกอบการ ซึ่งจะทำให้บริษัทเหล่านั้นขยายใหญ่ขึ้น มีรายได้เพิ่ม เสียภาษีได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มงบประมาณในการดูแลกลุ่มฐานราก

ม.ร.ว.ศศิพฤนท์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ เราสนับสนุนจัดตั้งธนาคารที่มีลักษณะเป็นไมโครไฟแนนซ์ เพื่อนำเงินทุนหมุนเวียนเข้าสู่กลุ่มฐานรากและธุรกิจเอสเอ็มอีทั่วประเทศ โดยธนาคารนี้สามารถดำเนินการผ่านไปรษณีย์ไทยมาเป็นสาขาของธนาคารดังกล่าว เพราะไปรษณีย์ไทยมีสำนักงานที่ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศอยู่แล้ว รวมถึงจะต้องสนับสนุนการระดมทุนขนาดใหญ่เพื่อเป็นกองทุนสำหรับการก่อสร้างบรรดาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเราสามารถโน้มน้าวหรือเชิญชวนผู้เงินฝากในระบบสถาบันการเงิน ที่ปัจจุบันมีกว่า 18 ล้านล้านบาท โดยเอามาเพียง 1.2 ล้านล้านบาท เปลี่ยนจากเงินฝากมาเป็นการลงทุนในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อีกทั้ง ควรกระจายการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานไปตามพื้นที่ต่างๆของประเทศ เพื่อกระจายความเจริญ และจะทำให้แรงงานทำงานในพื้นที่ตัวเองได้ ไม่ต้องย้ายถิ่น

ม.ร.ว.ศศิพฤนท์ กล่าวว่า ส่วนการแก้หนี้สินเกษตรกร จะส่งเสริมเกษตรกรให้ความรู้และมีคุณภาพ จนสามารถกลายเป็นนักธุรกิจ หรือที่เรียกว่านักธุรกิจเกษตร รวมถึงต้องเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้ครอบคลุมมากขึ้น และเรามีนโยบายจัดตั้งธนาคารหมู่บ้านและชุมชน แห่งละ 2 ล้านบาท นำไปปล่อยกู้ในกับคนในชุมชนเพื่อนำไปทำทุนค้าขาย โดยไม่ต้องมีหลักประกัน กู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า

ด้านนายพิสิฐ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์เสนอให้เพิ่มอายุการเกษียณ ทั้งภาครัฐและเอกชนไปอีก 5 ปี ต่อไปแรงงานจะลดน้อยลง เนื่องจากโครงสร้างประชากรต่อจากนี้จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น จึงต้องให้ผู้สูงอายุได้มีงานทำ แต่ผู้สูงอายุต้องให้มีการตรวจสุขภาพเพราะต้องมีสุขภาพที่สมบูรณ์ และทำงานตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาหรือไกด์ นอกจากนี้ต้องปรับแก้ระบบประกันสังคมให้ยืดหยุ่นขึ้น แก้โครงสร้างให้เป็นระบบคล้ายกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ผู้ประกันตนสามารถเลือกบำเหน็จหรือบำนาญ สนับสนุนให้ไรเดอร์เข้าสู่ระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 ได้ พร้อมแก้มาตรา 39 ให้ยืดหยุ่นมากขึ้นไม่เสียสิทธิ์ที่ได้จากมาตรา 33 โดยต้องทำให้ครอบคลุมทั่วถึง เพื่อเราจะได้ไม่ต้องไปพึ่งพาแรงงานต่างประเทศมากเกินไป

“ขณะนี้ ทุกพรรคยองรับว่าต้องดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น เพราะเราจะปล่อยให้มีคนจนกลุ่มใหม่เกิดขึ้นไม่ได้ คนที่้สูงอายุน่าสงสารเพราะกฎหมายบีบบังคับไม่ให้เขาทำงาน ต้องออกจากงาน จึงเป็นสิ่งที่น่ากลัวมากทำให้คนไม่มีงานทำ ซึ่งประชาธิปัตย์เราคิดเรื่องนี้ว่าจะต้องแก้ไขโดยด่วน ดังนั้นหากประชาธิปัตย์มีโอกาสได้เข้าไปบริหารประเทศ เราจะปรับอายุการเกษียณในทุกกลุ่มอีก 5 ปี อย่างน้อย เพื่อยืดอายุการทำงาน เพราะเชื่อว่าผู้สูงอายุมีประสบการณ์ มีความรู้ มีความสามารถอยู่ หากปล่อยให้ออกจากงานก็น่าเสียดาย เชื่อว่าผู้สูงอายุอยากทำงานมากกว่าแบมือขอเงินไม่กี่พันบาทจากรัฐ ซึ่งประชาธิปัตย์จะมีการเพิ่มเงินให้ผู้สูงอายุด้วย แต่เราจะไม่ประกาศตัวเลข เพราะเราไม่ต้องการไปแข่งกับใคร บางพรรคอาจจะประกาศ 3 พัน 5 พัน 8 พัน หรือหนึ่งหมื่นก็ได้ ซึ่งเป็นการแข่งขันกันแบบไม่มีสาระ แต่ประชาธิปัตย์จะดูตามความเป็นจริงว่า อนาคตข้างหน้าเราจะช่วยผู้สูงอายุปีต่อปีต่อเนื่องได้อย่างไร” นายพิสิฐ กล่าว

ส่วนข้อกังวลในเรื่องการตั้งธนาคารชุมชนและหมู่บ้าน จะเกิดปัญหาเหมือนกองทุนหมู่บ้านที่มีบางแห่งพบความไม่โปร่งใส และอาจสร้างหนี้เสียได้ นายพิสิฐ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์เสนอให้มีธนาคารชุมชนและหมู่บ้าน เพื่อให้ชุมชนและหมู่บ้านตัดสินใจเองได้ แต่จะอยู่ในระบบการควบคุมตรวจสอบได้ โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสินในชุมชนไปเข้าเป็นเหมือนพี่เลี้ยงกำกับดูแลให้ดำเนินงานตามพ.ร.บ.สถาบันการเงิน จึงเชื่อว่า จะไม่เกิดปัญหาเหมือนโครงการในอดีต

‘อนุทิน’ ยก ‘แก้จน’ เป็นวาระแห่งชาติ ขจัดปัญหาปากท้องคนไทย ชี้!! ไม่ใช่ทำให้ทุกคนรวย แต่ ปชช.ต้องพ้นทุกข์-คุณภาพชีวิตดีขึ้น

(20 พ.ย. 66) ที่รัฐสภา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่องวาระแห่งชาติ ‘นโยบายแก้จนของประเทศ’ ในงานสัมมนาเรื่องการแก้ปัญหาความยากจน วิถีความสำเร็จและความเป็นอยู่ที่ดี จัดโดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำวุฒิสภา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตอนหนึ่งว่า นโยบายแก้จน ต้องเป็นวาระแห่งชาติ ทั้งชาตินี้และชาติหน้า ที่ผ่านมาในการหาเสียงไม่มีรัฐบาลใดไม่คิดแก้ปัญหาความยากจน ดังนั้น เมื่อประกาศเป็นวาระแห่งชาติแล้วต้องแก้ไขให้ได้ ไม่ใช่ให้เป็นวาระที่ต้องทำแบบถาวร เมื่อตนมีโอกาสทำงานที่กระทรวงมหาดไทย ต้องทำทุกอย่างเพื่อกำจัดความยากจน และเป็นภารกิจและวาระแรกของตนที่ตั้งใจจะทำ

“ถ้าตั้งใจแก้ปัญหา โดยให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทำปัญหาปากท้องให้ดีขึ้นเยอะๆ เมื่อมีคนพูดว่ามาแก้ความจน ผมก็ท้อ เพราะต้องแก้ทุกอย่างจะแก้ได้อย่างไร มีแค่พูดกันไป โยนกันมา แต่ผมมองว่าการแก้ปัญหาความยากจน ไม่ใช่ให้ทุกคนรวย เพราะความรวยมีหลายระดับ แต่ต้องทำให้ประชาชนพ้นทุกข์ขั้นพื้นฐาน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พ้นความลำบาก ซึ่งนโยบายแก้จนของประเทศไทยต้องเป็นวาระแห่งชาติ โดยสนับสนุนสวัสดิการด้านต่างๆ ยกระดับการศึกษา เพิ่มรายได้ด้วยนวัตกรรมที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ผมเชื่อว่าจะสามารถลดความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และพัฒนาให้เติบโตที่ยั่งยืนได้” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า กระทรวงมหาดไทยพร้อมสนับสนุนภารกิจต่างๆ รวมถึงนโยบายที่จะแก้ปัญหาตามอำนาจและหน้าที่ โดยตนขอให้สัญญาประชาคม และยืนยันความพร้อมทำเรื่องดังกล่าวให้สำเร็จ ทั้งนี้ แผนการทำงานนอกจากต้องสนับสนุนเรื่องปัจจัย 4 ให้ประชาชนแล้ว ยังต้องเติมเต็มปัจจัยที่ 5 คือการศึกษาของเยาวชนที่มีคุณภาพ ขณะเดียวกันต้องหาทางลดรายจ่ายของประชาชน เช่น สนับสนุนให้น้ำประปาดื่มได้ เพื่อประชาชนไม่ต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อน้ำบริโภค นอกจากนั้นแล้วตนยังมองในประเด็นการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการอพยพย้ายถิ่นที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเปิดกว้างให้ประชากรคุณภาพจากต่างชาติเข้ามาในประเทศ

นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า สำนักสถิติระบุว่า ประชาชนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีมากที่สุดและเป็นผู้ที่มีรายได้น้อยที่สุด ดังนั้น การแก้ปัญหา คือ การหาที่ดินทำกินและพัฒนาแหล่งน้ำให้ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรม โดยตนฐานรองนายกฯ ที่ดูแลกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมจะใช้นวัตกรรมเพื่อใช้การบริหารจัดการน้ำ อีกทั้งต้องทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย

“ผมกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ ถือเป็นเพื่อร่วมรุ่นกันที่มีสายสัมพันธ์ ได้พูดคุยกันและมีแนวคิดแนวทางเดียวกัน ซึ่งจะใช้เวลาเท่ากับอายุของรัฐบาลนี้ ทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์มากที่สุด ผมอาจจะขอเยอะ อาจจำเป็นต้องแลกกัน ทั้งงบประมาณที่ใช้ หรือโครงการที่ใช้ ผมจะใช้ความสัมพันธ์เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนและบ้านเมือง” นายอนุทิน กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top