Tuesday, 7 May 2024
เหมืองโปแตซ

‘หม่อมปลื้ม’ ปลื้ม!! เดินหน้าโครงการเหมืองโปแตซ ยก ‘สุริยะ’ ตัวจริงพาฉลุย!! แนะอย่าแคร์เอ็นจีโอแขวะ

ถือเป็นความเคลื่อนไหวจากภาครัฐ โดยเฉพาะผลงานที่ถูกขับเคลื่อนโดยกระทรวงอุตสาหกรรม จนทำให้พิธีกรฝีปากกล้าอย่าง ‘หม่อมปลื้ม’ หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล ผู้ดำเนินรายการ ‘The Daily Dose’ ที่ออกมาเชียร์ให้รัฐบาลเดินหน้าสุดซอยกับโครงการเหมืองโปแตซ โดยหม่อมปลื้มได้ลงรายละเอียด ระบุว่า...

ข่าวดี!! ครม.อนุมัติ ‘เอเชีย แปซิฟิค’ บริษัทในเครืออิตาเลียนไทย เดินหน้าเหมืองโปแตซ อุดรฯ ลงทุน 3.6 หมื่นล้านบาท เตรียมให้ประทานบัตร กำลังการผลิตปีละ 2 ล้านตัน เพื่อลดการพึ่งพาปุ๋ยต่างประเทศเสียที

ทุกวันนี้ประเทศไทยนำเข้าปุ๋ยปีละ 4 ล้านตัน มูลค่า 60,000 ล้านบาท เป็นปุ๋ยโปแทชเซียมประมาณ700,000 ตัน คิดเป็น 9,000 ล้านบาทต่อปี ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตโปแตซเซียมสูงมาก ซึ่งคาดว่าไทยมีสำรองแร่โปแตชสูงสุดเป็นอันดับ 4 ของโลกอยู่ที่ 400,000 ล้านตัน รองจากแคนาดา, เบลารุส และเยอรมนี

สำหรับพื้นที่พบแร่โปแตชขนาดใหญ่ในไทยมี 2 แหล่ง คือ ‘แอ่งสกลนคร’ ประกอบด้วย จังหวัดสกลนคร, หนองคาย, อุดรธานี และ นครพนม

และ ‘แอ่งโคราช ประกอบด้วย จังหวัดขอนแก่น, กาฬสินธุ์, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด, ยโสธร, อุบลราชธานี, ศรีสะเกษ, นครราชสีมา และ ชัยภูมิ

แน่นอนว่าตอนนี้ ‘กระทรวงอุตสาหกรรม’ ได้อนุมัติประทานบัตรให้กับเอกชน 2 ราย คือ บริษัท ไทยคาลิจำกัด จ.นครราชสีมา และ บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) จ.ชัยภูมิ เพื่อเข้ามาดำเนินโครงการเหมืองโปแตซ ที่จะนำไปสู่การผลิตปุ๋ยใช้เองในประเทศได้แล้ว

โดยล่าสุดกระทรวงอุตสาหกรรมเสนอโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเมื่อวันที่ (28 มิ.ย.) ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นโครงการของบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตชคอร์ปอเรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์จำกัด (มหาชน) หรือ ไอทีดี ซึ่งเข้าไปซื้อกิจการบริษัทเอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่นจำกัด เมื่อปี 2549

สำหรับเรื่องของการเคาะโครงการเหมืองโปแตช ‘อุดร’ นั้น นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ครม.เห็นชอบโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยขั้นตอนจากนี้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จะไปเร่งออกประทานบัตร เพื่อเป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนปุ๋ยช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป

ถึงตรงนี้ ผมขอปรบมือให้ครับ!! โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับรัฐมนตรีอย่างคุณสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และ คุณสมศักดิ์ เทพสุทิน

เขา 2 คนเป็นคนที่อยู่เงียบๆ แต่ทำงานจริง เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการอนุมัติโครงการสำคัญต่อประเทศ อย่างโครงการเหมืองโปแตซนี้ ที่ได้รับการอนุมัติจากคุณสุริยะ มันสำคัญมากๆ

(กลับมาที่เนื้อหาต่อ) ทั้งนี้ในส่วนของโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ถือเป็นเหมืองแร่ขนาดใหญ่โดยเหมืองดังกล่าว มีแผนการผลิต 2 ล้านตันต่อปี โดยประเมินว่า จะมีปริมาณการผลิตตลอดอายุโครงการ 25 ปี อยู่ที่ 33.67 ล้านตัน เบื้องต้นมีมูลค่าการลงทุนของโครงการประมาณ 36,000 ล้านบาท โดยที่ผ่านมา บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ยื่นขอประทานบัตรไปแล้ว

ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และส่วนราชการตามกฎหมายถึงโครงการดังกล่าวแล้ว รวมทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังได้พิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมแล้วด้วย ซึ่งก็พบว่าเป็นไปตามข้อกำหนด ดังนั้นจึงได้เสนอเข้ามาใน ครม. เพื่อพิจารณาเห็นชอบ

หลังจากโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ได้ผ่านการเห็นชอบจาก ครม.แล้ว ขั้นตอนต่อไปจะไปเร่งออกประทานบัตร ซึ่งภาคเอกชนก็อยากทำไห้เร็ว คาดว่า อย่างเร็วที่สุดภายใน 6 เดือน หรือ 1 ปีก็คงเริ่มต้นดำเนินการได้ โดยจะค่อยๆ เริ่มทำไป ซึ่งเหมืองแร่แห่งนี้มีปริมาณการผลิตอยู่ที่ 2 ล้านตันต่อปี

ส่วนอีก 2 บริษัทที่ได้รับประทานบัตรทำเหมืองแล้ว คือ บริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) จังหวัดชัยภูมิ อยู่ระหว่างให้กระทรวงการคลังดำเนินการเริ่มการเพิ่มทุน ขณะที่บริษัท ไทยคาลิ จำกัด จังหวัดนครราชสีมา อยู่ระหว่างการขุดอุโมงค์เพื่อเริ่มทำเหมืองตามขั้นตอน แต่ยังไม่ได้เปิดการทำเหมืองได้ โดยในส่วนของกำลังการผลิตเหมืองโพแทชในประเทศไทยทั้งหมด หากสามารถเปิดเหมืองทั้ง 3 แห่งได้นั้น จะอยู่ที่ 3.2 ล้านตันต่อปีเลยทีเดียว

'พิมพ์ภัทรา' หารือ 'กมธ.อุตสาหกรรม' กรุยทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยก!! 'เปลี่ยนยุค EV - เหมืองโปแตซ - ฮาลาลสากล' วาระใหญ่

(9 พ.ย.66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร นำเสนอแผนการขับเคลื่อนนโยบายอุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน การปรับภารกิจเข้าสู่ดิจิทัลอย่างเป็นระบบ (Digital Government) การบูรณาการการกำกับดูแลโดยใช้กลไกทางกฎหมาย และกองทุนพัฒนาอุตสาหกรรม ตลอดจนแผนการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัด ในโอกาสที่คณะกรรมาธิการฯ เดินทางเข้าพบ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นสำหรับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในชั้นกรรมาธิการต่อไป

โดยที่ประชุมได้หารือในประเด็นต่างๆ อาทิ การส่งเสริมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเดิมให้สามารถปรับไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า สำหรับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพความพร้อม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และการนำเสนอแนวโน้มทิศทางอุตสาหกรรมโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการที่ยังไม่พร้อมปรับแผนการผลิต รวมทั้งการสนับสนุนแหล่งเงินทุนสำหรับการเปลี่ยนผ่านจากกองทุนพัฒนาอุตสาหกรรม และการส่งเสริมการทำเหมืองโพแตซ ให้สามารถผลิตปุ๋ยได้เองภายในประเทศ ซึ่งช่วยลดรายจ่ายจากการนำเข้าปุ๋ยปีละกว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยในส่วนนี้คณะกรรมาธิการฯ ได้เน้นย้ำให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่ ประกอบธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ และบริหารความสัมพันธ์ให้สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างเป็นสุข

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งมาตรการควบคุมดูแลกากอุตสาหกรรม พร้อมชื่นชมการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง โดยขอให้พิจารณาเกณฑ์การรับรองมาตรฐานให้เหมาะสม และมีความรวดเร็วเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือกับคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ในการยกระดับหน่วยงานดำเนินการขึ้นเป็น กรมอุตสาหกรรมฮาลาล

"อย่างไรก็ดี กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมให้ความร่วมมือกับ คณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ในการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน รวมทั้งการรับฟังเสียงสะท้อนจากภาคประชาชนเพื่อยกระดับการขับเคลื่อนนโยบายอย่างเต็มศักยภาพ" นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวทิ้งท้าย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top