Wednesday, 14 May 2025
เพาะปลูก

เกษตรฯ เร่งพัฒนาเมล็ดพันธุ์ช่วยเกษตรกรรีบเพาะปลูก

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร ได้วางแผนการเตรียมความพร้อมด้านเมล็ดพันธุ์ให้กับเกษตรกร โดยได้ดำเนินการพัฒนาและขยายเครือข่ายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสม เพื่อเป็นการกระจายเมล็ดพันธุ์ดีสู่เกษตรกร ช่วยลดต้นทุนการผลิตด้านเมล็ดพันธุ์ และเป็นการพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกร ให้เป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ได้เองตรงตามคุณภาพมาตรฐานเมล็ดพันธุ์เพื่อนำไว้ใช้เองหรือจำหน่ายในชุมชน 

โดยคัดเลือกกลุ่มเกษตรกรที่มีศักยภาพ จัดอบรมให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ และการตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ โดยมีนักวิชาการเกษตรของกรมวิชาการเกษตรเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำเพื่อพัฒนาให้เป็นเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์มืออาชีพ

ทั้งนี้ ในปี 2565 การพัฒนาและขยายเครือข่ายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ได้ดำเนินการคัดเลือกกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวเขียวพันธุ์ชัยนาท 3 ซึ่งเป็นพันธุ์รับรองของกรมวิชาการเกษตร จำนวน 5 กลุ่ม ใน 5 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ พิจิตร เพชรบูรณ์ ลพบุรี และอำนาจเจริญ มีเกษตรกรทั้งหมด 48 ราย พื้นที่ดำเนินการ 235 ไร่ โดยเกษตรกรได้ดำเนินการปลูกถั่วเขียวในฤดูแล้งแล้ว นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวในจังหวัดอุทัยธานีอีก 1 กลุ่ม โดยจะเริ่มปลูกในเดือนเมษายน 2565 ซึ่งถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 3 มีคุณสมบัติให้ผลผลิตสูง 232 กิโลกรัมต่อไร่ การสุกแก่ของฝักสม่ำเสมอใกล้เคียงกัน มีขนาดเมล็ดใหญ่ เหมาะสำหรับการเพาะถั่วงอก การแปรรูปเป็นวุ้นเส้น สามารถปลูกได้ทุกภาคของประเทศ

‘รัดเกล้า’ เผย!! ครม.ไฟเขียวขยายเวลา 2 โครงการใหญ่ชลประทาน เหตุเพราะปัญหาและอุปสรรคจากสถานการณ์โควิด19

(11 พ.ค.67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินโครงการตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอขออนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินโครงการชลประทานขนาดใหญ่ จำนวน 2 โครงการ สาเหตุเนื่องจากปัญหาและอุปสรรคจากสถานการณ์ Covid - 19 ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทางให้อยู่ในวงจำกัด ส่งผลให้ผู้รับจ้างประสบปัญหาขาดแคลนวัสดุก่อสร้างเครื่องจักร เครื่องมือไม่เพียงพอ และไม่สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าสถานที่ก่อสร้างได้ นอกจากนี้ ในส่วนของโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวงฯ ยังมีสาเหตุมาจากสภาพภูมิประเทศ และการใช้ประโยชน์ที่ดินเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จึงมีความจำเป็นที่ต้องแก้ไขแบบก่อสร้างเพื่อให้มีความสอดคล้องกับสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบัน และลดผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ ประกอบกับในขั้นตอนการจัดหาที่ดินมีเจ้าของทรัพย์สินบางส่วนไม่ยอมรับราคาค่าทดแทนทรัพย์สินที่ภาครัฐกำหนดและไม่ยินยอมให้เข้าใช้พื้นที่ รวมถึงที่ดินบางแปลงติดปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย ซึ่งจากปัญหาอุปสรรคดังกล่าว กษ. โดยกรมชลประทานจึงได้อนุมัติให้มีการขยายอายุสัญญาและอนุมัติงดค่าปรับจากการแก้ไขแบบแก้ไขสัญญา และให้ได้รับสิทธิ์กำหนดอัตราค่าปรับร้อยละ 0 ตามมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงแพร่ระบาดโรค Covid - 19 ของทั้ง 2 โครงการด้วยแล้ว

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากข้อเท็จจริงและสภาพปัญหาดังกล่าว กษ. (กรมชลประทาน) จึงมีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการชลประทานขนาดใหญ่ภายใต้กรอบวงเงินโครงการเดิมจำนวน 2 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวง จังหวัดชลบุรี เสนอขออนุมัติขยายระยะเวลาจากเดิม 14 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2553–2566) เป็น 17 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2553–2569) และโครงการกิ่วคอหมา จังหวัดลำปาง จากเดิม 19 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2548–2566) เป็น 22 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2548–2569) 

“โครงการชลประทานขนาดใหญ่เป็นไปเพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำ ทั้งสำหรับพื้นที่เพาะปลูก การอุปโภค บริโภค การอุตสาหกรรม ปศุสัตว์ รักษาสมดุลของระบบนิเวศ และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ รวมทั้งยังสามารถใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ได้ในอนาคตอีกด้วย” รองโฆษกฯ กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top