Tuesday, 21 May 2024
เด็กไทยเก่ง

เด็กไทยคว้าแชมป์ หุ่นยนต์นานาชาติ ในรายการ  MakeX International Invitation Tournament 2022

ปีนี้เด็กไทยเก่งคว้าแชมป์ หุ่นยนต์นานาชาติ ในรายการ  MakeX International Invitation Tournament 2022 รายการแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติ ที่มี 8 ประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน อาทิเช่น ดูไบ อินโดนีเซีย  อินเดีย จีน ใต้หวัน ฟิลิปปินส์ แมกซิโก และอียิปต์ โดยทำการแข่งขันที่ พาราไดซ์ พาร์ค ช้อปปิ้งเซนเตอร์ ในวันที่ 25 - 27 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา โดยทำการแข่งขัน 3 รุ่น คือ รุ่น Starter ระดับประถมศึกษา , รุ่น Explorer ระดับมัธยมต้น และ Challenge ระดับมัธยมปลาย เด็กไทยทำผลงานได้ดี 

‘นาตาชา’ นักเรียนไทย-อเมริกัน ชนะรางวัลงานวิจัยยอดเยี่ยม สามารถวิเคราะห์กลไกสมองเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายได้

‘นาตาชา กุลวิวัฒน์’ ลูกครึ่งไทย-อเมริกัน วัย 16 ปี ที่กำลังศึกษาระดับชั้นมัธยมปลายในสหรัฐอเมริกา แต่ความสามารถเกินอายุ สร้างผลงานวิจัยยอดเยี่ยมจนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศในการประกวดโครงการวิจัยในงาน Regeneron International Science and Engineering Fair ได้สำเร็จ พร้อมเงินรางวัลมูลค่ากว่า 50,000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.74 ล้านบาท)

กว่าจะได้งานวิจัยที่ประสบความสำเร็จนี้ นาตาชาใช้เวลาศึกษาค้นคว้าข้อมูลเนื้อเยื่อสมองในห้องแล็บของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นานถึง 6 เดือน โดยเธอได้เปรียบเทียบตัวอย่างเนื้อเยื่อสมองของผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ซึ่งบริจาคโดยญาติของพวกเขา 10 ตัวอย่าง เปรียบเทียบกับเนื้อเยื่อสมองของผู้เสียชีวิตด้วยสาเหตุอื่นๆ และพบว่า เนื้อเยื้อสมองของผู้ที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมี ‘ไซโตไคน์’ หรือกลุ่มโปรตีนขนาดเล็กที่อักเสบอยู่เป็นจำนวนมาก

โดยทั่วไปแล้ว ‘ไซโตไคน์’ อาจเกิดการอักเสบได้ตามปกติจากการตอบสนองต่อระบบภูมิคุ้มกันเชื้อโรค แต่ร่างกายก็สามารถปลดปล่อยไซโตไคน์ได้แม้ไม่มีภัยคุกคาม เช่น ในช่วงที่มีความเครียดเรื้อรัง และนั่นอาจทำให้เกิดการอักเสบที่มากเกินไป จนส่งผลเสียต่อร่างกายได้หลายกรณี อาทิ โรคหัวใจ มะเร็ง และโรคแพ้ภูมิตัวเอง ซึ่งในงานศึกษาของ นาตาชา กุลวิวัฒน์ บ่งชี้ว่าการอักเสบเหล่านี้ส่งผลต่อโปรตีนในสมองชนิดหนึ่ง ที่ชื่อว่า ‘claudin-5’

‘Claudin-5’ มักพบในเซลล์ที่สร้างสิ่งกีดขวางระหว่างเลือดและสมอง หรือ ‘BBB’ ​​ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการควบคุมสารที่สามารถผ่านจากเลือดไปยังเซลล์สมอง โดย นาตาชา กุลวิวัฒน์พบว่า มี claudin-5 แทรกซึมอยู่ในสมองส่วนอื่นๆ เช่นในเซลล์ประสาทนิวรอน และเส้นเลือดฝอยในสมองของผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย บ่งชี้ว่า ‘ระบบ BBB ในสมองของผู้ตายเกิดอาการบกพร่อง’

จึงเป็นสาเหตุให้มีสารแปลกปลอมในเลือดไหลเข้าสู่พื้นที่การทำงานในสมอง จนเป็นพิษต่อระบบประสาท และผลการวิจัยของเธอทำให้เห็นว่า ‘ระดับ Claudin-5 ในสมองสูงขึ้นอาจทำหน้าที่เป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพของความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายได้’

และผลงานวิจัยชิ้นนี้ของเธอ ได้รับเสียงตอบรับที่ดีมากจนไดรับรางวัล Gordon E. Moore Award for Positive Outcomes for Future Generations พร้อมเงินรางวัล 50,000 ดอลลาร์ จากงาน Regeneron International Science and Engineering Fair ซึ่งถือเป็นงานแข่งขันด้านวิชาการในระดับสากลของนักเรียนระดับชั้นเตรียมอุดมศึกษา ที่จัดโดยองค์กร Society for Science

นาตาชา กุลวิวัฒน์ ลูกครึ่งสาวไทย-อเมริกัน อัจฉริยะผู้นี้ ปัจจุบันกำลังศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เล่าว่า เธอเริ่มศึกษาสาเหตุที่ทำให้คนตัดสินใจฆ่าตัวตาย จากปัจจัยด้านจิตวิทยามาก่อน เช่นอารมณ์ที่หุนหันพลันแล่น หรือความสามารถในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่ลดลง แต่ต่อมาก็ลองหันมาศึกษาจากมุมมองทางชีววิทยาของระบบประสาท เพราะไม่ค่อยมีงานวิจัยที่นำเสนอในมุมนี้

สาเหตุที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยการฆ่าตัวตาย มีแรงบันดาลใจมาจากการเป็นอาสาสมัครให้กับ American Foundation for Suicide Prevention และ กลุ่ม Out of the Darkness Walks ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ช่วยสร้างความตระหนักรู้และสนับสนุนทางใจ แก่ผู้ที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักจากการฆ่าตัวตายนั่นเอง

และงานวิจัยในขั้นต่อไปของ นาตาชา กุลวิวัฒน์ คือการศึกษาผลลัพธ์จากการรักษาด้วยยาต้านอาการอักเสบต่างๆ ว่าจะมีปฏิปฏิกิริยาอย่างไรกับ claudin-5 ในกลุ่มสัตว์ทดลอง ซึ่งเธอหวังว่างานวิจัยนี้อาจให้เบาะแสในการพัฒนาวิธีการรักษาทางเลือกในกรณีที่ระบบ BBB บกพร่องที่เสี่ยงต่อการตัดสินใจการฆ่าตัวตายของมนุษย์ได้ในอนาคต

นับเป็นผลงานวิจัยที่น่าภูมิใจของเด็กนักเรียนเชื้อสายไทย ที่ฉายแววรุ่งในสหรัฐ และนอกเหนือจากความสามารถด้านวิทยาศาสตร์แล้ว เธอยังมีผลงานหนังสือภาพ My Dreams: A Trilingual Drawing Book: English, Thai, and Chinese ที่บอกเล่าประสบการณ์ของการเติบโตมาในครอบครัว 2 ภาษา (ไทย - อังกฤษ) และยังสนใจเรียนภาษาจีนเพิ่มเติมอีกด้วย

และด้วยความรักในด้านการวาดภาพ และภาษา เธอได้รวบรวมภาพเขียนตั้งแต่สมัยเด็ก พร้อมคำบรรยายถึง 3 ภาษา (อังกฤษ, ไทย, จีน) เพื่อสนับสนุนทักษะด้านจินตนาการ และ พัฒนาภาษาไปควบคู่กันด้วย นับเป็นเยาวชนที่เก่งรอบด้านจริงๆ

‘โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย’ โชว์พลังเสียง!! สร้างชื่อให้ประเทศไทย คว้า ‘เหรียญทอง’ แข่งขันขับร้องประสานเสียงโลกที่เกาหลีใต้

เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 66 คณะนักร้อง ‘Wattana Children’s Chorus’ และคณาจารย์ โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย โชว์ขับร้องประสานเสียง ในแข่งขันขับร้องประสานเสียงโลก ที่จัดขึ้น ณ เมืองคังนึง จังหวัดคังวอน สาธารณรัฐเกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 8 กรกฎาคม – 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 จนสามารถคว้ารับรางวัล ‘เหรียญทอง’ จากการแข่งขันได้สำเร็จ

ทั้งนี้ นายวิชชุ เวชชาชีวะ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล ได้ส่งข้อความร่วมแสดงความยินดีแก่คณะนักร้อง ‘Wattana Children’s Chorus’ คณาจารย์ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ระบุว่า…

“ขอแสดงความยินดีกับนักเรียนสมาชิก ‘Wattana Children’s Chorus’ คณาจารย์ และทุกท่านที่เกี่ยวข้องซึ่งมีส่วนสนับสนุนคณะนักร้องประสานเสียงจนสำเร็จได้รับรางวัลเหรียญทองที่เกาหลีใต้ในครั้งนี้ ผมเข้าไปดูคลิปการประกวดและการแสดงที่ส่งมาให้แล้ว ไพเราะและเหมาะสมกับความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะชุดเพลงรำวงไทยที่นำมาเสนอ ได้แก่ งามแสงเดือน ยวนยาเหล และลอยกระทง ซึ่งมีท่อนที่นำทั้งสามเพลงมาสอดประสานกันนั้น ได้สะท้อนความเป็นไทยให้ผู้ชมได้เห็นความงดงามจนเป็นที่จับใจ

ในการนี้ ขอเป็นกำลังใจให้สมาชิกนักร้องประสานเสียงโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยรุ่นต่าง ๆ มุ่งฝึกฝนพัฒนาฝีมือการขับร้องด้วยความรักและความสนุกสนานต่อไป ขอให้มองการแข่งขันและการประกวดไกลไปกว่าเรื่องแพ้ชนะและรางวัล โดยสิ่งสำคัญคือการได้โอกาสสร้างมิตรภาพและการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนให้สมบูรณ์ยิ่ง ๆ ขึ้นครับ” นายวิชชุ กล่าว

เด็กไทยเจ๋ง!! คว้า 4 เหรียญเงิน ชีววิทยาโอลิมปิก เวทีประชันหัวกะทิ ดีกรีเหมือนโอลิมปิกของกีฬา

เด็กไทยสร้างชื่อให้ประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยครั้งนี้เป็นด้านวิชาการ เมื่อ 4 ตัวแทนจากประเทศไทย สามารถคว้า 4 เหรียญเงิน ชีววิทยาโอลิมปิกจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 

ต้องบอกเลยว่า เวทีนี้ไม่ง่ายเพราะเป็นการประชันหัวกะทิจากทั่วโลกมาแข่งกัน เปรียบดังโอลิมปิกของกีฬาเลยทีเดียว

ด้าน รองศาสตราจารย์ ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยว่าตามที่ได้จัดส่งผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 34 ประจำปี พ.ศ. 2566 (34th IBO 2023) ระหว่างวันที่ 3-11 กรกฎาคม 2566 ณ เมืองอัล อาอิน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จำนวน 4 คน ผลปรากฎว่าผู้แทนประเทศไทยสามารถทำได้ 4 เหรียญเงิน ดังนี้...

- นายวิภู เศรษฐวงศ์ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม กรุงเทพฯ เหรียญเงิน
- นายธนกฤต ธนสารสาคร โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพฯ เหรียญเงิน
- นางสาวณภัทร ตันติประภาส โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพฯ เหรียญเงิน
- นายสิรวิชญ์ ศรีบุญเจริญชัย โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จังหวัดระยอง เหรียญเงิน

การแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 34 ประจำปี พ.ศ. 2566 มีผู้เข้าร่วมการแข่งขันจำนวน 302 คน จาก 76 ประเทศ โดยการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกครั้งต่อไปในปีพ.ศ. 2567 เจ้าภาพคือ ประเทศคาซัคสถาน

ทั้งนี้ สสวท.จะมีพิธีแสดงความยินดีคณะผู้แทนวันพุธที่ 12 กรกฎาคมนี้ บริเวณประตู 1 ชั้น 2 อาคารผู้โดยสารขาเข้า สนามบินสุวรรณภูมิ

‘รมว.สุชาติ’ ปลื้ม!! หลังเด็กไทยคว้า 15 เหรียญ จากเวทีแข่งขันแรงงานอาเซียนครั้งที่ 13 ที่สิงคโปร์

(29 ก.ค. 66) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีมอบเกียรติบัตร เงินรางวัลแก่เยาวชน และโล่ขอบคุณผู้สนับสนุนการแข่งขันฝีมือแรงงานอาเซียน ครั้งที่ 13 ที่สาธารณรัฐสิงคโปร์ โดยมีนายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และคณะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ร่วมในพิธี ณ ห้องประชุม ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในนามรัฐบาล และ ฯพณฯ ท่านนายกรัฐมนตรี ผมขอแสดงความยินดีกับผู้เข้าแข่งขันฝีมือแรงงานอาเซียน ครั้งที่ 13 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ที่ประสบความสำเร็จได้คว้ารางวัลเหรียญเงิน จำนวน 3 รางวัล เหรียญทองแดง จำนวน 3 รางวัล อีกทั้งรางวัลเหรียญฝีมือยอดเยี่ยม จำนวน 9 รางวัลกลับมายังประเทศไทย ซึ่งมีผลคะแนนรวมเป็นที่ 4 ในระดับอาเซียน และขอชื่นชมเยาวชนทั้ง 24 คน ผู้เชี่ยวชาญ 22 คน ที่ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ รวมไปถึงขอขอบคุณผู้สนับสนุนทุกท่านที่ให้การสนับสนุนตลอดมาทั้งด้านงบประมาณ สถานที่ บุคลากร วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ และเครื่องจักรที่ทันสมัยในการเก็บตัวฝึกซ้อม ซึ่งมีเป้าหมายเดียวกันกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิต สังคม และระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างเต็มความสามารถจนประสบความสำเร็จในครั้งนี้

ในวันนี้ทางกระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จึงจัดพิธีมอบเกียรติบัตร และเงินรางวัลให้แก่เยาวชน โดยเหรียญเงิน จะได้รับเงินรางวัลจำนวน 75,000 บาท เหรียญทองแดง จำนวน 40,000 บาท และเหรียญฝีมือยอดเยี่ยม (รางวัลชมเชย) จำนวน 20,000 บาท ในส่วนของน้อง ๆ ที่พลาดเหรียญรางวัลในการแข่งขันครั้งนี้ จะได้รับเงินรางวัลเป็นทุนการศึกษารายละ 10,000 บาท เพื่อเป็นกำลังใจและเกียรติประวัติให้แก่น้อง ๆ  พร้อมทั้งมีการมอบโล่ขอบคุณให้แก่ผู้สนับสนุนทั้ง 29 แห่ง ที่ทำให้การส่งเยาวชนเข้าร่วมแข่งขันสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า การพัฒนาฝีมือแรงงานผ่านการแข่งขันฝีมือแรงงานทั้งในระดับชาติ อาเซียน เอเชีย และระดับนานาชาติ ถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการชี้วัดระดับความสำเร็จในการพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะเป็นหน่วยงานหลักในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กร สมาคมต่าง ๆ ในการนำความรู้และประสบการณ์จากการแข่งขันมาพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรม และการศึกษาด้านอาชีพให้แก่สถาบันการศึกษาที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนให้มีความทันสมัยตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคบริการโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องเน้นพัฒนาทักษะในสาขาที่เกี่ยวกับระบบอัตโนมัติ ดิจิทัล และการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งโลกแห่งอนาคต ข้อมูลถือเป็นทรัพย์สินที่มีค่าสำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ การแข่งขันฝีมือแรงงานเป็นการเพิ่มโอกาสในการจ้างงานทั้งในและต่างประเทศ และที่สำคัญจะส่งผลให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของแรงงานไทย

นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเสริมว่า การแข่งขันฝีมือแรงงานอาเซียน ครั้งที่ 13 นี้ จะประสบความสำเร็จไม่ได้เลย หากไม่มีพันธมิตรที่ดีทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนทั้ง 29 แห่ง ประกอบด้วย

มูลนิธิเอสซีจี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา, มหาวิทยาลัยรังสิต, วิทยาลัยดุสิตธานี, คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี, อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, วิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น, วิทยาลัยเทคนิคระยอง, วิทยาลัยเทคนิคสงขลา, วิทยาลัยการอาชีพบ้านไผ่, วิทยาลัยการอาชีพพล, วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค), วิทยาลัยเทคโนโลยีโปลิเทคนิคล้านนา เชียงใหม่, วิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ (SBAC) วิทยาเขตสะพานใหม่, ร้านโอเอซิสซาลอน, โรงเรียนออกแบบทรงผมอาดัม, สถาบันธงชัยแฮร์เทรนนิ่งเซ็นเตอร์, ศูนย์การเรียนรู้การเขียนโปรแกรมและนวัตกรรมหุ่นยนต์ EasyKids Robotics, บริษัท เมช แมคคานิสซึ่ม ดีไซน์ จำกัด, บริษัท โค้วยู่ฮะมอเตอร์ จำกัด, บริษัท สแกนเนอร์สสามมิติ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท Autodesk Asia Pte.Ltd, บริษัท เฟสโต้ จำกัด, โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ชะอำ บีช รีสอร์ท หัวหิน, โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว, บริษัท เอเอสที มอเตอร์ จำกัด, บริษัท โตโยต้า ขอนแก่น จำกัด และบริษัท แอสเวลล์ โซลูชั่นส์ จำกัด

ในการสนับสนุนด้านงบประมาณ สถานที่ บุคลากร วัสดุ อุปกรณ์ที่ทันสมัยในการฝึกซ้อมของน้อง ๆ เยาวชน ในฐานะผู้จัดส่งน้อง ๆ เข้าแข่งขัน ขอขอบคุณทุกท่านกับความสำเร็จนี้เป็นอย่างยิ่ง และหลังจากนี้ขอให้ชาวไทยร่วมส่งแรงใจให้กับน้อง ๆ เยาวชนที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ต่อไป เพื่อเข้าแข่งขันฝีมือแรงงานเอเชีย ครั้งที่ 2 ณ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน–1 ธันวาคม 2566 และไปแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 47 ณ สาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 10-15 กันยายน 2567 ต่อไป

ทีม ‘Alacritas Dart’ 6 เยาวชนอัจฉริยะ ตัวแทนประเทศไทย ไปแข่งใช้ความรู้-ทักษะด้าน STEM สร้างรถแข่งขัน ที่สิงคโปร์

เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 66 6 เยาวชนไทย จากทีม ‘Alacritas Dart’ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวเเทนทีมประเทศไทยที่จะไปเเข่งในงาน F1 in School World Final 2023 ณ ประเทศสิงคโปร์ ในระหว่างวันที่ 8-15 กันยายน 2566 ประชันกับทีมเข้าแข่งขันกว่า 68 ทีม จากตัวแทนทั่วโลก

โดยการแข่งขันรายการนี้ จะให้ผู้เข้าแข่งขันใช้ความรู้และทักษะด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมและคณิตศาสตร์ (STEM) ในการสร้างรถแข่งขัน (ขนาดเล็ก) แข่งบนทางยาว 20 เมตร ภายใต้ข้อกำหนดของคณะกรรมการ ซึ่งจะมีรางวัล 18 ด้านต่างให้กับผู้เข้าแข่งขัน เช่น ด้านความเร็ว การนำเสนอ ความสวยงาม เป็นต้น

Here we go! ✈️ Our team is at the airport, buzzing with excitement as we're about to take off for the competition. Singapore, here we come!! 🏆😄

‘น้องต้นไม้’ นักเรียนนิวตัน Year 11 คว้า 1 เหรียญทอง 3 เหรียญเงิน ในการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก 2023 ที่เมืองปักกิ่ง ประเทศจีน

ขอแสดงความยินดีกับ ‘น้องต้นไม้’ นักเรียนนิวตันจาก Year 11 ที่สามารถคว้ารางวัลจากการแข่งขัน The Robot Challenge 2023 Global Robotic Competition ที่เมืองปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน มาได้ถึง 4 รางวัลด้วยกัน 👏🏻🏆

A hearty CONGRATULATIONS to N'Tonmai, Kittipat Srilekarat, from Year 11! He has truly showcased his robotic prowess by securing an impressive array of awards at the Robotchallenge 2023 Global Robotic Competition in Beijing, China! 🇨🇳🤖

N'Tonmai's achievements include :
🥈Silver Award in both the Line Follower Senior and Line Follower Adult categories
🥇First Prize in the Line Follower Enhanced Senior category
🥈Second Prize in the Line Follower Enhanced Adult category! 🌟🏆

Let's celebrate N'Tonmai's exceptional talent and his incredible success on the global robotics stage. These achievements are a testament to his dedication and the innovative spirit fostered at Newton Sixth Form! 🚀👏🌟

#CharacterMatters #TheNewtonSixthForm #Newtonians 
--------------
THE NEWTON SIXTH FORM
การแบ่งระดับชั้นเรียน⁣
NEWTON Junior : ป.1-ป.6
เทียบเท่า Year 2-7 หรือ GRADE 1-6

NEWTON Senior : IGCSE, A-LEVEL :⁣ ม.1-ม.6 ⁣
เทียบเท่า Year 8-13 หรือ GRADE 7-12⁣

‘สอวน.’ ร่วมยินดี ‘นักเรียนสายวิทย์’ ชั้น ม.ต้น กวาดเหรียญเพียบ จากการแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 20

เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 66 ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ จรัส สุวรรณเวลา รองประธานมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการ และพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.), รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการมูลนิธิ สอวน. และ รศ.เย็นใจ สมวิเชียร กรรมการและเหรัญญิกมูลนิธิ สอวน. ร่วมแสดงความยินดีกับผู้เข้าแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ครั้งที่ 20 (20th IJSO) ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน กรุงเทพ ซึ่งการแข่งขันในครั้งนี้มีประเทศเข้าร่วม 55 ประเทศ จำนวน 497 คน (นักเรียนและอาจารย์ควบคุมทีม)
.
🏅ผลการแข่งขัน ‘20th IJSO’ ประเทศไทยได้รับ 4 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน และยังได้รับรางวัลคะแนนปฎิบัติการสูงสุด ประเภททีม อันดับ 2 ได้แก่…
.
💐ด.ญ.อิ่มสุข พูนวศิน โรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย 🥇รางวัลเหรียญทอง และคะแนนปฎิบัติการ สูงสุด ประเภททีม อันดับ 2
.
💐ด.ช.ณัฐนันท์ เจนยงศักดิ์ โรงเรียนแสงทองวิทยา 🥇รางวัลเหรียญทอง และคะแนนปฎิบัติการ สูงสุด ประเภททีม อันดับ 2
.
💐ด.ช.ปัญญ์ แซ่จาง โรงเรียนแสงทองวิทยา 🥇รางวัลเหรียญทอง และคะแนนปฎิบัติการ สูงสุด ประเภททีม อันดับ 2
.
💐ด.ช.สิรวิชญ์ มุสิกะโสภณ โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)🥇เหรียญทอง🥇
.
💐ด.ช.ปัณณ์ เจนกุลประสูตร โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย🥈เหรียญเงิน🥈
.
💐ด.ช.ชนธรร พฤมนตร์ โรงเรียนแสงทองวิทยา🥈เหรียญเงิน🥈
.
อาจารย์ผู้ควบคุมทีม
1.) รศ.ดร.ชัชวาล ใจซื่อกุล (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
2.) รศ.ดร.กิตติวิทย์ มาแทน (มหาวิทยาลัยมหิดล)
3.) ผศ.ดร.นันทิชา ลิ้มชูวงศ์ (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ)
.
อาจารย์สังเกตการณ์
1.) ผศ.ดร.สุจินต์ สุวรรณะ (มหาวิทยาลัยมหิดล)

‘น้องโอโม่’ นักเรียนคนเก่ง แห่งสกลนคร สอบติด 15 สาขา 9 ม.ดัง เจ้าตัวเผยเคล็ดลับ ‘เลือกสาขาที่ชอบ-รักษาเกรดเฉลี่ย-หมั่นสะสมผลงาน’

จากกรณีเพจ Sci project.skr โพสต์คลิปนายฐิติพันธ์ วะเศษสร้อย หรือ ‘น้องโอโม่’ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล จังหวัดสกลนคร ยื่น Portfolio เพื่อเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยโดยปรากฏว่าติด 15 สาขา 9 มหาวิทยาลัย ซึ่งกลายเป็นคลิปไวรัล พร้อมด้วยเสียงชื่นชมในความเก่งและความสามารถของนักเรียนรายนี้นั้น

ล่าสุดวันนี้ (25 ก.พ. 67) ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปยังนายฐิติพันธ์ วะเศษสร้อย หรือ ‘โอโม่’ นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 6/1 โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล ซึ่งได้เผยว่า กิจกรรมในคลิปที่ถูกแชร์บนโลกออนไลน์นั้น เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นกิจกรรมหน้าเสาธงที่โรงเรียนจัดขึ้น เพื่อจะประกาศชื่อมหาวิทยาลัยที่นักเรียนสอบติด ไม่ว่าจะเป็นคณะไหน สาขาวิชาอะไร ก็จะมีการประกาศทั้งหมด

โดยตอนนั้น ได้ยื่นสมัครไป 9 มหาวิทยาลัย แต่เป็นหลายสาขาวิชา โดยแต่ละมหาวิทยาลัยสามารถติดได้มากกว่า 1 สาขาวิชา สรุปรวมแล้วตนสมัครติด 15 สาขาวิชาจาก 9 มหาวิทยาลัย ทั้งนี้อยากขอบคุณทุกคนที่สนับสนุนและขอบคุณทุกคนที่ให้การชื่นชม

จริงๆ แล้วการที่ตนติดรอบที่ 1 ของการยื่นแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) ครั้งสุดท้าย จะเป็นรอบที่ยังไม่ใช้คะแนนสอบ แต่ตนใช้เป็นผลงานยื่นเข้าสมัคร ส่วนใหญ่จะเป็นผลงานที่พัฒนามาตั้งแต่สมัยมัธยมชั้นปีที่ 4 เรื่องเกี่ยวกับโครงงานวิทยาศาสตร์และทางด้านนวัตกรรมการวิจัยที่ทำกับชมรม Sci project.skr ของโรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล โดยมีนางเสาวรจนี จันทวงค์, นายวิริทธิ์พล วิเศษฐี เป็นครูที่ปรึกษาโครงงาน และนางนันทิชา ธาตุระหัน, ดร.กิตติยา มุกดาประเสริฐ เป็นครูที่ปรึกษาประจำชั้น ซึ่งโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ทำขึ้นมาใช้ระยะเวลาประมาณมากกว่า 1 ปี หรืออาจจะหลายเดือน เพื่อพัฒนาแข่งขันตามรายการต่างๆ แล้วตนก็ได้รางวัลในระดับภูมิภาคไปจนถึงระดับประเทศ พร้อมสะสมผลงานเหล่านั้นถ่ายทอดออกมาเป็นแฟ้มผลงาน เพื่อยื่นสมัครเข้ามาหาวิทยาลัย

ขณะเดียวกันมีการเรียนควบคู่กันไปในโรงเรียนอีกด้วย คือการรักษาเกรดเฉลี่ยให้ได้สูงที่สุด พร้อมกับตั้งใจทำตรงนั้นให้ดีที่สุด พอถึงช่วงเวลาที่ต้องยื่นแฟ้มสะสมผลงาน จะใช้เกรดเฉลี่ยกับผลงานต่างๆ ที่สะสมระยะเวลาตลอด 3 ปี แล้วนำไปยื่นเข้ามาหาวิทยาลัย

อยากฝากให้รุ่นน้องทุกคนให้เล็งเห็นถึงความตั้งใจทำผลงาน หรืออาจจะตั้งใจเตรียมตัวสอบ เพื่อให้ตัวเองได้เข้าไปในคณะที่ตนอยากเรียนมากที่สุด ตอนนี้ตนได้ตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกเรียนที่ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพราะพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ทั้งหมด และเป็นความชอบส่วนตัว ซึ่งหากจบออกมาก็จะเป็นเภสัชกร

ส่วน 15 สาขา 9 มหาวิทยาลัย มีดังนี้

1.) สาขาเทคนิคการแพทย์ คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2.) สาขาวิทยาศาสตรบัณฑิต คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
3.) สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
4.) สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ทุนเพชรพระจอมเกล้าฯ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)
5.) เภสัชศาสตรบัณฑิต คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

6.) สัตวแพทยศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
7.) วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเคมี ทุน STEAMs-Creation project คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
8.) สาขาวิศกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)
9.) สาขาวิศกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)
10.) สาขาฟิสิกส์วัสดุและเครื่องมือการแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

11.) สาขาฟิสิกส์ทฤษฎีและการวิเคราะห์ข้อมูล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)
12.) สาขาวิศกรรมกระบวนการชีวภาพ คณะวิศกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
13.) วิทยาศาสตร์บัณฑิต คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
14.) สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
15.) สาขารังสีเทคนิค คณะรังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยรังสิต


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top