‘นาตาชา’ นักเรียนไทย-อเมริกัน ชนะรางวัลงานวิจัยยอดเยี่ยม สามารถวิเคราะห์กลไกสมองเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายได้

‘นาตาชา กุลวิวัฒน์’ ลูกครึ่งไทย-อเมริกัน วัย 16 ปี ที่กำลังศึกษาระดับชั้นมัธยมปลายในสหรัฐอเมริกา แต่ความสามารถเกินอายุ สร้างผลงานวิจัยยอดเยี่ยมจนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศในการประกวดโครงการวิจัยในงาน Regeneron International Science and Engineering Fair ได้สำเร็จ พร้อมเงินรางวัลมูลค่ากว่า 50,000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.74 ล้านบาท)

กว่าจะได้งานวิจัยที่ประสบความสำเร็จนี้ นาตาชาใช้เวลาศึกษาค้นคว้าข้อมูลเนื้อเยื่อสมองในห้องแล็บของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นานถึง 6 เดือน โดยเธอได้เปรียบเทียบตัวอย่างเนื้อเยื่อสมองของผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ซึ่งบริจาคโดยญาติของพวกเขา 10 ตัวอย่าง เปรียบเทียบกับเนื้อเยื่อสมองของผู้เสียชีวิตด้วยสาเหตุอื่นๆ และพบว่า เนื้อเยื้อสมองของผู้ที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมี ‘ไซโตไคน์’ หรือกลุ่มโปรตีนขนาดเล็กที่อักเสบอยู่เป็นจำนวนมาก

โดยทั่วไปแล้ว ‘ไซโตไคน์’ อาจเกิดการอักเสบได้ตามปกติจากการตอบสนองต่อระบบภูมิคุ้มกันเชื้อโรค แต่ร่างกายก็สามารถปลดปล่อยไซโตไคน์ได้แม้ไม่มีภัยคุกคาม เช่น ในช่วงที่มีความเครียดเรื้อรัง และนั่นอาจทำให้เกิดการอักเสบที่มากเกินไป จนส่งผลเสียต่อร่างกายได้หลายกรณี อาทิ โรคหัวใจ มะเร็ง และโรคแพ้ภูมิตัวเอง ซึ่งในงานศึกษาของ นาตาชา กุลวิวัฒน์ บ่งชี้ว่าการอักเสบเหล่านี้ส่งผลต่อโปรตีนในสมองชนิดหนึ่ง ที่ชื่อว่า ‘claudin-5’

‘Claudin-5’ มักพบในเซลล์ที่สร้างสิ่งกีดขวางระหว่างเลือดและสมอง หรือ ‘BBB’ ​​ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการควบคุมสารที่สามารถผ่านจากเลือดไปยังเซลล์สมอง โดย นาตาชา กุลวิวัฒน์พบว่า มี claudin-5 แทรกซึมอยู่ในสมองส่วนอื่นๆ เช่นในเซลล์ประสาทนิวรอน และเส้นเลือดฝอยในสมองของผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย บ่งชี้ว่า ‘ระบบ BBB ในสมองของผู้ตายเกิดอาการบกพร่อง’

จึงเป็นสาเหตุให้มีสารแปลกปลอมในเลือดไหลเข้าสู่พื้นที่การทำงานในสมอง จนเป็นพิษต่อระบบประสาท และผลการวิจัยของเธอทำให้เห็นว่า ‘ระดับ Claudin-5 ในสมองสูงขึ้นอาจทำหน้าที่เป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพของความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายได้’

และผลงานวิจัยชิ้นนี้ของเธอ ได้รับเสียงตอบรับที่ดีมากจนไดรับรางวัล Gordon E. Moore Award for Positive Outcomes for Future Generations พร้อมเงินรางวัล 50,000 ดอลลาร์ จากงาน Regeneron International Science and Engineering Fair ซึ่งถือเป็นงานแข่งขันด้านวิชาการในระดับสากลของนักเรียนระดับชั้นเตรียมอุดมศึกษา ที่จัดโดยองค์กร Society for Science

นาตาชา กุลวิวัฒน์ ลูกครึ่งสาวไทย-อเมริกัน อัจฉริยะผู้นี้ ปัจจุบันกำลังศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เล่าว่า เธอเริ่มศึกษาสาเหตุที่ทำให้คนตัดสินใจฆ่าตัวตาย จากปัจจัยด้านจิตวิทยามาก่อน เช่นอารมณ์ที่หุนหันพลันแล่น หรือความสามารถในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่ลดลง แต่ต่อมาก็ลองหันมาศึกษาจากมุมมองทางชีววิทยาของระบบประสาท เพราะไม่ค่อยมีงานวิจัยที่นำเสนอในมุมนี้

สาเหตุที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยการฆ่าตัวตาย มีแรงบันดาลใจมาจากการเป็นอาสาสมัครให้กับ American Foundation for Suicide Prevention และ กลุ่ม Out of the Darkness Walks ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ช่วยสร้างความตระหนักรู้และสนับสนุนทางใจ แก่ผู้ที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักจากการฆ่าตัวตายนั่นเอง

และงานวิจัยในขั้นต่อไปของ นาตาชา กุลวิวัฒน์ คือการศึกษาผลลัพธ์จากการรักษาด้วยยาต้านอาการอักเสบต่างๆ ว่าจะมีปฏิปฏิกิริยาอย่างไรกับ claudin-5 ในกลุ่มสัตว์ทดลอง ซึ่งเธอหวังว่างานวิจัยนี้อาจให้เบาะแสในการพัฒนาวิธีการรักษาทางเลือกในกรณีที่ระบบ BBB บกพร่องที่เสี่ยงต่อการตัดสินใจการฆ่าตัวตายของมนุษย์ได้ในอนาคต

นับเป็นผลงานวิจัยที่น่าภูมิใจของเด็กนักเรียนเชื้อสายไทย ที่ฉายแววรุ่งในสหรัฐ และนอกเหนือจากความสามารถด้านวิทยาศาสตร์แล้ว เธอยังมีผลงานหนังสือภาพ My Dreams: A Trilingual Drawing Book: English, Thai, and Chinese ที่บอกเล่าประสบการณ์ของการเติบโตมาในครอบครัว 2 ภาษา (ไทย - อังกฤษ) และยังสนใจเรียนภาษาจีนเพิ่มเติมอีกด้วย

และด้วยความรักในด้านการวาดภาพ และภาษา เธอได้รวบรวมภาพเขียนตั้งแต่สมัยเด็ก พร้อมคำบรรยายถึง 3 ภาษา (อังกฤษ, ไทย, จีน) เพื่อสนับสนุนทักษะด้านจินตนาการ และ พัฒนาภาษาไปควบคู่กันด้วย นับเป็นเยาวชนที่เก่งรอบด้านจริงๆ


เรื่อง : ยีนส์ อรุณรัตน์
อ้างอิง : Yahoo News