Sunday, 12 May 2024
เด็ก

‘เพื่อไทย’ ชูนโยบาย ‘ส่งเสริม-พัฒนาทรัพยากรมนุษย์’ ชี้ ‘เสรีภาพ-โอกาส’ คือกุญแจสู่ความคิดสร้างสรรค์

(13 ม.ค. 66) เมื่อเวลา 11.30 น. ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) น.ส.ณหทัย ทิวไผ่งาม กรรมการบริหารพรรค และประธานคณะทำงานด้านการส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันของประเทศและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พรรคเพื่อไทยกล่าวเนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ 2566 ว่า พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญและมีนโยบายเพื่อส่งเสริมศักยภาพและสร้างคน ด้วยความเชื่อว่าเสรีภาพและโอกาส ซึ่งเป็นแก่นหัวใจที่แท้จริงของประชาธิปไตย จะเป็นที่มาของการปลดปล่อยศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ ที่จะนำสู่การสร้างรายได้อย่างไม่สิ้นสุด และการสร้างคนจะต้องเริ่มต้นที่ครอบครัว 

ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยพร้อมทุ่มเท เพื่อส่งเสริมและสร้างคนให้ประเทศไทยแข่งขันได้อย่างมีศักดิ์ศรีในเวทีโลก เรามีเป้าเพื่อสร้างคนทำงานทักษะสูง สร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง รายได้ไม่ต่ำกว่า 200,000 บาทต่อปี มีค่าแรงไม่ต่ำกว่า 600 บาทต่อวัน ปริญญาตรีมีค่าตอบแทน 25,000 บาทต่อเดือนภายในปี 2570 เรามีแผนฟื้นเศรษฐกิจทั้งระบบ ด้วยการเฟ้นหา สร้างโอกาสศักยภาพที่ซ่อนเร้นในทุกครัวเรือน ออกมาฝึกฝนเจียระไน สร้างแนวทางชัดเจนเพื่อหารายได้ผ่านโครงการ 1 ครอบครัว 1 ศักยภาพซอฟต์พาวเวอร์

‘เชจู’ นำร่อง!! คลอด กม.ยกเลิกพื้นที่ปลอดเด็ก จูงน้องๆ กลับสู่ส่วนหนึ่งของสังคมเกาหลีใต้

รัฐบาลเกาะเชจู (Jeju Island) ซึ่งถือเป็นจังหวัดปกครองตนเองพิเศษ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวตากอากาศชื่อดังของเกาหลีใต้ เตรียมออกกฎหมายห้ามผู้ประกอบการ ที่ส่วนมากเป็นร้านอาหาร และ ร้านกาแฟ กีดกันพื้นที่ให้บริการเป็น ‘เขตปลอดเด็ก’ (No-Kids Zone) เพื่อหวังให้อิสระแก่น้อง ๆ หนู ๆ เข้ามาในพื้นที่หรือโซนต่าง ๆ ได้มากขึ้น 

โดยร่างกฎหมายฉบับนี้ หากผ่านการพิจารณาในวันที่ 19 พฤษภาคม 66 ที่จะถึงนี้ ก็จะทำให้เกาะเชจูกลายเป็นจังหวัดแรกของเกาหลีใต้ที่จะยกเลิกเขตปลอดเด็กทั้งเกาะ ซึ่งจะช่วยเสริมภาพลักษณ์การเป็นเมืองท่องเที่ยวสำหรับครอบครัวได้อย่างแท้จริง

แม้ว่ากฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้เฉพาะเกาะเชจูเท่านั้น แต่กระแสยกเลิกพื้นที่ปลอดเด็กก็เริ่มได้รับความสนใจอย่างมากจากชาวเกาหลีใต้ทั้งประเทศ และเริ่มมีการถกเถียงอย่างกว้างขวางว่า ควรยกเลิกพื้นที่ปลอดเด็กในจังหวัดอื่น ๆ ด้วยหรือไม่?

ทั้งนี้หากพูดถึงบริบทของการกั้นโซนเป็นพื้นที่ปลอดเด็กแล้ว ในหมู่คนไทยอาจจะไม่ค่อยคุ้นชินสักเท่าไรนัก แต่ที่เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่มีหลักการเคารพสิทธิส่วนบุคคลสูง โดยเฉพาะการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก

นั่นก็เพราะชาวเกาหลีใต้จำนวนไม่น้อย จะรู้สึกไม่พอใจที่มีเด็กเล็ก ๆ ส่งเสียงดังรบกวนใน ห้องสมุด, หอศิลป์, ร้านอาหาร, คาเฟ่ หรือสถานที่ที่ขายบรรยากาศความเป็นส่วนตัว โดยให้เหตุผลว่า “เพราะลูกคุณไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน”

จากผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ใหญ่จำนวน 1,000 คน โดยสถาบัน Hankook Research ในเดือนพฤศจิกายนปี 2564 พบว่า 71.1% ของกลุ่มตัวอย่างเห็นว่า การกำหนดพื้นที่ให้บริการเป็นเขตปลอดเด็ก เป็นสิทธิ์ของผู้ประกอบการโดยคำนึงถึงกลุ่มลูกค้าของตนเป็นสำคัญ

ดังนั้นจึงมีสถานประกอบการมากกว่า 540 แห่งทั่วประเทศ ที่ระบุว่าเป็นเขตปลอดเด็ก ซึ่งในเกาะเชจูมีมากถึง 78 แห่ง หรือคิดเป็น 14.4% ของพื้นที่ปลอดเด็กทั้งหมด และเมื่อเทียบขนาดพื้นที่ และ ประชากรบนเกาะเชจู ก็พบว่าเกาะเชจูมีพื้นที่ซึ่งเป็นเขตปลอดเด็กสูงมาก

อย่างไรซะ ทางการท้องถิ่นของเกาะเจจู ก็มักได้รับการร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางพร้อมเด็กเล็กอยู่เสมอว่าถูกปฏิเสธการให้บริการ หรือไม่ให้เข้าสถานที่หากพาเด็กเล็กมาด้วย จึงเกิดคำถามขึ้นว่า นี่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อเด็กด้วยหรือไม่ และยังเป็นการกีดกันทางสังคมต่อเด็กเล็ก

นี่จึงเป็นที่มาในการพิจารณากฎหมายใหม่ฉบับนี้ เพื่อปกป้องสิทธิเด็กในการถูกเลือกปฏิบัติ และการละเมิดสิทธิเด็ก โดยเล็งเห็นความสำคัญในการสร้างสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ดี ให้เด็กรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่มีการยอมรับ และเอื้ออาทรต่อกัน

รัฐบาลของเกาะเชจูยังมองว่า นี่เป็นการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวแบบครอบครัว ที่เด็กสามารถเข้าถึงได้ทุกพื้นที่อย่างไม่ถูกกีดกั้น และแทนที่จะกีดกันเด็กออกจากพื้นที่บริการ ควรส่งเสริมให้ความรู้แก่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ในการอบรมบุตรหลานให้สามารถใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกับผู้อื่นได้อย่างเหมาะสมจะดีกว่า

ดังนั้น เชจู จึงกลายเป็นจังหวัดนำร่องในการใช้กฎหมายยกเลิกเขตปลอดเด็ก ที่กำลังเป็นประเด็นในสังคมของเกาหลีใต้ ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ส.ส. หญิงอย่าง ‘ยอง ฮเย-อิน’ จากพรรค Basic Income Party ก็ได้อุ้มลูกชายวัย 2 ขวบขึ้นเวทีแถลงข่าวในวันเด็กของเกาหลีใต้ เพื่อประกาศจุดยืนต่อต้านการสงวนพื้นที่ปลอดเด็กในเกาหลีใต้ทั่วประเทศ เพื่อไม่ให้เด็กเล็ก หรือผู้ปกครองที่ต้องมีภาระเลี้ยงลูกเล็กรู้สึกเป็นส่วนเกินในพื้นที่สาธารณะในเกาหลี

ยอง ฮเย-อิน ชี้ว่า ปัจจุบันเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีมีอัตราเด็กเกิดใหม่ต่ำที่สุดในโลก ในขณะที่รัฐบาลเกาหลีใต้กำลังรณรงค์ให้ครอบครัวชาวเกาหลีมีลูกมากขึ้น แต่กลับมีเขตปลอดเด็กอยู่หลายร้อยแห่งทั่วประเทศ หรือแม้แต่หอสมุดแห่งชาติ ยังห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปีเข้าใช้บริการ ซึ่งเป็นการสร้างสังคมที่มีทัศนคติเชิงลบต่อเด็กเล็ก

ส.ส. หญิงแม่ลูกอ่อน จึงเสนอให้ยกเลิกเขตปลอดเด็ก และเปลี่ยนเกาหลีให้เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับเด็กเป็นอันดับแรก หรือ 'First Kids Korea' นั่นเอง  

ก็เรียกว่าเป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจที่คงต้องตามดูกันต่อไปว่า สังคมที่เคารพสิทธิส่วนบุคคลอย่างเข้มข้นอย่างเกาหลีใต้ จะเปิดพื้นที่ให้แก่เด็กเล็กที่จะเติบโตเป็นคนรุ่นใหม่ของชาติกว้างขึ้นแค่ไหน? อย่างไร? ต่อไป... 

'สมศักดิ์ เจียม' ซัด!! ผู้ใหญ่ใช้ปากเด็กสื่อสาร อยากแสดงความคิดเห็นเอง แต่ขี้ขลาด

(10 ก.ค. 66) รศ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

เด็กอายุ 10 ขวบ ย่อมจะมีความคิดเห็นได้ คุยกับเพื่อน คุยกับผู้ใหญ่ แต่เราไม่ถือว่า การคุยเหล่านี้ต้องมีรับผิดชอบตามมา อาจจะเปลี่ยนใจ อาจจะเลิก ฯลฯ ดังนั้น เราจึงไม่ให้เด็กขนาดนี้ไปแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ เพราะอย่างหลังต้องมีความรับผิดชอบ

ผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบแล้ว ให้เด็กไปพูด #เท่ากับเป็นผู้ใหญ่ที่ขี้ขลาด คืออยากจะแสดงความคิดเห็นดังกล่าว แต่ให้เด็กพูด บอกว่า "ก็เรื่องของเด็ก" ครั้นฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย จะทำอะไรเด็กก็ไม่ได้ จะทำอะไรผู้ใหญ่ก็ไม่ได้ เพราะไม่ได้พูดเอง "ก็เด็กมันพูด" โดยสรุปแล้ว นับเป็นผู้ใหญ่ที่ขี้ขลาดและไร้ความรับผิดชอบโดยแท้

'อี้ แทนคุณ' ประณาม 'พิธา-ก้าวไกล' นำเด็ก 10 ขวบเอี่ยวการเมือง หลังให้ขึ้นเวทีกล่าว Hate Speech ขัดอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

(10 ก.ค. 66) ดร.แทนคุณ จิตต์อิสระ รักษาการประธานคณะกรรมการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาคระหว่างเพศ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีพรรคก้าวไกลนำเด็ก 10 ขวบขึ้นไปพูดบนเวทีการเมือง เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ถือเป็นการกระทำที่สิ้นคิดไร้สำนึกทางสิทธิมนุษยชน ขัดหลักการสากล ว่าด้วยสิทธิเด็กที่องค์กรสหประชาชาติก็ให้ความสำคัญ กับหลักการ 'กันเด็กออกจากการเมือง' และ 'เด็กต้องได้รับความคุ้มครองจากการแสวงประโยชน์กับเด็กในทุกรูปแบบจากรัฐ' 

โดยหลักการอนุสัญญา ว่าด้วยสิทธิเด็กที่จัดทำขึ้นในปี พ.ศ.2532 เป็นข้อตกลงด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ได้รับการรับรองมากที่สุดในโลกถึง 196 ประเทศ ข้อตกลงฉบับประวัติศาสตร์นี้คือ การที่ผู้นำทั่วโลกได้มาร่วมให้สัญญากับเด็กๆ ทุกคนให้ได้รับความคุ้มครองดูแลอย่างเต็มที่ โดยประเทศไทยลงนามภาคยานุวัติรับรอง เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2535 นั่นหมายความว่า รัฐบาลมีพันธะผูกพันที่จะดำเนินการให้เด็กๆ ทุกคนในประเทศให้ได้รับสิทธิตามอนุสัญญาฯ ดังกล่าว 

การที่พรรคก้าวไกลนำเด็ก 10 ขวบขึ้นเวทีสัมภาษณ์โดยมีการพูด Hate Speech ซึ่งเป็นเแนวคิดเดียวกันกับสิ่งที่พรรคก้าวไกลและขบวนการปลุกปั่นทางสังคมและการเมืองส่งผลต่อเด็กและเยาวชนตามปรากฏในโซเชียลมีเดียต่างๆ ดังที่คนเคยตั้งข้อสังเกตไว้แล้วก่อนหน้านี้ ตนจึงขอให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และรัฐสภา ได้เข้ามามีส่วนในการตรวจสอบพฤติกรรมของ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โดยเฉพาะนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่จัดเวทีดังกล่าวที่มีการนำเด็กมา สัมภาษณ์ทางการเมืองบนเวทีดังกล่าว ซึ่งเป็นที่แน่ชัดว่าเป็นเวทีการเมืองของพรรคก้าวไกล

นอกจากนี้ ยังขอเรียกร้องไปยังขบวนการภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิเด็ก ให้มาช่วยเหลือดูแล ดำเนินการกับกรณีดังกล่าวโดยเร่งด่วนอย่านิ่งเฉยหายเงียบเหมือนกรณี ส.ส.ทำร้ายแฟนสาว เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิของเด็ก ไม่ให้ถูกพรรคการเมืองใดนำไปเป็นเครื่องมือทางการเมืองอีกต่อไป

‘จีน’ ออกกฎใหม่!! ตัดอินเทอร์เน็ตเยาวชนช่วงกลางคืน หวังลดการเสพติดหน้าจอ - เข้าถึงข้อมูลไร้ประโยชน์

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้ใช้งานบล็อกดิสชื่อ ‘Blockพูดได้byข้าวน้อยฯ’ ได้โพสต์บทความเกี่ยวกับมาตการของรัฐบาลจีนที่ใช้ดูแลเด็กและเยาวชนภายในประเทศ โดยระบุว่า…

เป็นที่ทราบกันดีว่า สองสามปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับปัญหาการเข้าถึงข้อมูลที่ไม่มีประโยชน์ในอินเทอร์เน็ตของเด็กและวัยรุ่นเป็นอย่างมาก

มีการปราบปรามผู้ผลิตสื่อบันเทิงทางอินเทอร์เน็ต ที่รัฐบาลจีนมองว่าส่งเสริมทัศนคติที่ผิดสำหรับเด็กและเยาวชน รวมทั้งมีการออกกฎหมายจำกัดเวลาเล่นเกมออนไลน์ของเด็กและวัยรุ่นจีนลงเหลือเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์

เกมออนไลน์ใหม่ ๆ ในจีน ก็ถูกชะลอการพิจารณาจากทางการ จนทำให้ราคาหุ้นของบริษัทเทคโนโลยีที่เกี่ยงข้องกับวงการเกมตกลงไปตาม ๆ กัน

ไม่เพียงเท่านั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม รัฐบาลจีนเพิ่งประกาศกฎใหม่ ที่ถูกผลักดันโดย Cyberspace Administration of China ให้มีการบังคับเกี่ยวกับเวลาการใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือของเด็กและวัยรุ่นจีน

โดยกฎที่ออกมามีเนื้อหาโดยสรุปคร่าว ๆ ได้ว่า...รัฐบาลจะทำการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตบนมือถือของเด็กและวัยรุ่นจีนที่มีอายุตั้งแต่ 6-18 ปี ในช่วงเวลาตั้งแต่ 22.00 น. ถึง 6.00 น. ของทุกคืน ซึ่งการบังคับใช้ในแต่ละช่วงอายุ จะมีจำนวนชั่วโมงการตัดเน็ตมือถือที่ไม่เท่ากัน เช่น เด็กอายุต่ำกว่า 8 ขวบ จะถูกตัดเน็ตมือถือ 40 นาที ต่อคืน ส่วนเด็กที่มีอายุระหว่าง 16 - 17 ปี จะถูกตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตบนมือถือนานถึง 2 ชั่วโมงต่อคืน...

กฎการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตสำหรับเด็กและเยาวชน ที่ทางการจีนได้ประกาศออกมาในครั้งนี้ ถือว่าเป็นกฎการควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ตที่อาจกล่าวได้ว่า เข้มงวดที่สุดในโลกเลยทีเดียว

คุณแม่แชร์ประสบการณ์ ‘เลี้ยงลูกด้วยไอแพด’ ทุกข์ใจ!! ลูกอดทนต่ำ-ถอนผมตัวเอง-ค่ารักษาทะลุหมื่น

เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 66 ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ‘ข้าว ฟาไฉ’ ได้ออกมาโพสต์ข้อความแชร์ประสบการณ์ การเลี้ยงลูกด้วยไอแพด พบสมองส่วนเหตุผลของเด็กไม่ทำงาน มีอาการดึงผมจนผมร่วงเป็นหย่อมเสียค่ารักษาหลักหมื่น โดยผู้โพสต์ได้ระบุข้อความว่า…

"รีวิวเลี้ยงลูกด้วยไอแพด ค่ายา+ค่าจิตแพทย์เดือนละ 2,500 ค่าพบนักจิตบำบัด ชม.ละ 2,000 พบนักจิตอาทิตย์ละครั้ง เฉลี่ยค่ารักษาเดือนละ 10,000++

น้องเริ่มได้เล่นไอแพดและจอหลัง 4-5 ขวบมาแล้ว พัฒนาการน้องปกติ ไม่ช้า และไม่ได้สมาธิสั้น เรียนได้คะแนนดี พูดภาษาอังกฤษได้ดี แต่อาการของน้องคือ สมองส่วนเหตุผลไม่ทำงาน เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เหมือนน้องไม่เคยต้องรอ และอดทนรออะไรเลย ทำให้ป่วยเป็นโรค tic disorder และ tourette syndrome อาการแตกต่างกันไปในแต่ละเคส มีตั้งแต่กระพริบตาถี่ ๆ ทำเสียงแปลก ๆ ถอนผมและถอนขน อาการของน้องคือถอนผม เวลาเครียดหรือเผลอ จนผมหายเป็นหย่อม ๆ ค่ายา 2,500 คือราคาถูกแล้ว ถ้าใช้ยานอก เฉลี่ยเดือนละ 6,000++"

อย่างไรก็ตาม พบว่า มีชาวเน็ตจำนวนมากที่ประสบเหตุการณ์เดียวกัน อีกทั้งทางฝั่งครูโรงเรียนอนุบาลก็เข้ามาแสดงความคิดเห็นว่า เจอเด็กเป็นโรคแบบนี้ประมาณ 1-5 คน และอาการของน้องที่เป็นแบบนี้ถือว่าเยอะและไม่ปกติ การเลี้ยงดูของคนรอบตัว ทั้งคุณพ่อคุณแม่ ปู่ย่าตายาย สำคัญมาก บางคนคุณพ่อคุณแม่พาไปบำบัดก็ดีไป แต่ในเด็กบางรายนั้น คุณพ่อคุณแม่กลับคิดว่าลูกของตัวเองพูดเก่ง คุณครูก็ทำได้แค่ช่วยเหลือปรับพฤติกรรมบ้างเท่านั้น

‘โบว์ ณัฏฐา’ เตือน ‘หยก’ เป็น ‘นางสาวแล้ว’ อีกไม่นานจะบรรลุนิติภาวะ หวังว่าจะรู้ตัว-กลับบ้าน ก่อนใช้ประโยชน์คำว่า ‘เด็ก’ ไม่ได้อีก

(19 ก.ย. 66) น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือโบว์ พิธีกรรายการวิเคราะห์ข่าว และนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์ทวิตเตอร์ Bow Nuttaa Mahattana ระบุว่า…

“แทนที่ บุ้ง จะสนับสนุนให้ หยก กลับบ้าน บุ้งกลับสนับสนุนให้หยกออกจากบ้าน แล้วย้ายมาอยู่กับตัวเอง และเปิดบัญชีบริจาคให้คนโอนเงินสนับสนุนกิจกรรมของกลุ่มทะลุวัง เพื่อจะป่วนไปทั่ว สะสมคดีความ ดับอนาคต .. อีกสองสามปีหยกก็จะบรรลุนิติภาวะ ไม่มีคำว่าเด็กเป็นเกราะคุ้มกันอีกต่อไป ในวันที่คดีความของบุ้งสิ้นสุดและเดินเข้าคุก .. หวังว่าหยกจะรู้ตัว กลับบ้าน หรือยอมเข้ากระบวนการช่วยเหลือของรัฐ ไม่ใช้คำว่าเด็กสิ้นเปลืองเกินไปจนหมดเวลา

ถ้าหยกอายุต่ำกว่า 9 ปี รัฐจะสามารถดำเนินคดีพ่อแม่ข้อหาทอดทิ้งบุตรได้ แต่เมื่ออายุเกิน 9 ปี กระบวนการช่วยเหลือจึงซับซ้อนกว่านั้น และยากขึ้นไปอีกเมื่อเด็กไม่ให้ความร่วมมือ จนถึงยากที่สุดเมื่อมีกลุ่มการเมืองคอยจับผิดและพร้อมจะมีปัญหากับหน่วยงานรัฐ ในขณะที่มีเด็กอีกมากมายที่ต้องการและสมควรได้รับการช่วยเหลือและทุ่มเททรัพยากร

ความร่วมมือของหยกเองซึ่งเป็น ‘นางสาว’ แล้วไม่ใช่ ‘เด็กหญิง’ จึงเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการคลี่คลายปัญหาด้วย แต่ที่ผ่านมา หยก ปฏิเสธทุกอย่าง เพราะมีแนวร่วมและกลุ่มการเมืองคอยทำให้เขาเชื่อว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นคือความกล้าหาญที่น่ายกย่อง … แต่สุดท้ายคนที่จะต้องรับผลของการตัดสินใจเลือกนั้นคือตัวหยกเอง และโดยลำพัง ในวันที่ไม่เหลือคำว่าเด็กไว้ให้ใครหาประโยชน์อีกต่อไป”

‘จีน’ มุ่งสร้างเสริมสุขภาพจิตที่ดีใน ‘กลุ่มเด็ก-วัยรุ่น’ ปกป้องเด็กจากภาวะวิตกกังวล - โรคซึมเศร้า

(12 ต.ค. 66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน เปิดเผยว่าหน่วยงานภาครัฐและภาคสังคมของจีนดำเนินความพยายามร่วมกันเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตในหมู่เด็กและวัยรุ่นตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

อนึ่ง จีนเฉลิมฉลองวันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) ครั้งที่ 32 ซึ่งตรงกับเมื่อวันอังคาร (10 ต.ค.) ภายใต้หัวข้อ ‘การส่งเสริมสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่น’

หลี่ต้าชวน เจ้าหน้าที่จากคณะกรรมการฯ กล่าวระหว่างงานแถลงข่าวที่จัดขึ้นเมื่อวันจันทร์ (9 ต.ค.) ระบุว่ากุญแจสำคัญในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตของวัยรุ่น คือการให้ความสำคัญกับการป้องกันเป็นอันดับแรก และดำเนินการป้องกันและควบคุมในสังคมวงกว้าง อีกทั้งเน้นย้ำความสำคัญในการจัดให้งานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในบริการสังคม บริการสาธารณสุข และระบบประกันสังคม

ข้อมูลการสำรวจสุขภาพจิตที่ครอบคลุมวัยรุ่นมากกว่า 30,000 คน ซึ่งจัดทำโดยสถาบันจิตวิทยา สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์ของจีน ในปี 2022 พบว่าร้อยละ 14.8 ของผู้ตอบแบบสำรวจมีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าในระดับต่าง ๆ โดยจำเป็นต้องมีการเข้าช่วยเหลือและการปรับเปลี่ยนที่มีประสิทธิภาพและทันเวลา

เจิ้งอี้ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชเด็กจากโรงพยาบาลปักกิ่ง อันติ้ง สังกัดมหาวิทยาลัยการแพทย์นครหลวง ระบุว่าเด็กและวัยรุ่นอยู่ในช่วงที่มีการพัฒนาด้านสุขภาพจิตอย่างรวดเร็ว ภาวะทางจิตของพวกเขามีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากปัจจัยทางชีวภาพ สภาพจิตใจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

เย่ไห่เซิน นักจิตวิทยาคลินิกประจำโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในมณฑลหูหนานทางตอนกลางของจีน ระบุว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มมีอาการทางสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยความผิดปกติทางจิต อาทิ ความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า พบได้เด่นชัดในเด็กและวัยรุ่น

คณะกรรมการฯ ดำเนินมาตรการหลายรายการเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งรวมถึงการออกแนวปฏิบัติส่งเสริมบริการด้านสุขภาพจิต โดยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ อีก 16 หน่วยงาน อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ ออกแผนปฏิบัติการระยะเวลา 3 ปี เพื่อปรับปรุงงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตของนักเรียน

แผนดังกล่าวกำหนดความรับผิดชอบของรัฐบาลระดับต่างๆ ในการสร้างเสริมสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่น อีกทั้งเน้นย้ำการประสานงานระหว่างหน่วยงานและความพยายามร่วมกันระหว่างสถาบันทางการแพทย์ โรงเรียน และครอบครัว

ขณะเดียวกัน รัฐบาลกลางได้จัดสรรกองทุนพิเศษเพื่อสนับสนุนการป้องกันและการรักษาความผิดปกติทางจิตที่พบบ่อย พร้อมทั้งสนับสนุนโครงการนำร่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต

หลี่กล่าวว่าการทดลองต่าง ๆ ถูกจัดขึ้นทั่วประเทศเพื่อเดินหน้าบริการด้านจิตวิทยาสาธารณะภายใต้การสนับสนุนของคณะกรรมการฯ โดยปัจจุบันหมู่บ้านและชุมชนร้อยละ 96 โรงเรียนประถมและมัธยมร้อยละ 95 ตลอดจนวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยทั้งหมดในพื้นที่นำร่องเหล่านี้ สามารถเข้าถึงบริการด้านจิตวิทยาสาธารณะได้แล้ว

อนึ่ง จีนยังทุ่มเทความพยายามอย่างต่อเนื่องในการเพิ่มการจัดสรรทรัพยากร การสนับสนุนทางการเงิน และการพัฒนาบุคลากรทั่วประเทศ เพื่อสร้างหลักประกันที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นสำหรับการส่งเสริมสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่น

รู้จัก พ.ร.บ. 2546 กฎหมายของเด็ก ที่ไม่ใช่เรื่องเด็กๆ หากยังไม่เกิน 18 ต้องระแวดระวังและเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม

ในปี พ.ศ. 2566 มีจำนวนสถิติเด็กนักเรียนในประเทศประมาณ 6.5 ล้านคน 

ในกระแสแห่งโลกดิจิทัล เด็กสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างง่ายดาย ทั้งสะดวก และมีราคาถูก ซึ่งมีทั้งด้านดีและด้านมืด การสอดส่อง ดูแล คอยให้คำปรึกษาของพ่อแม่ ผู้ปกครอง จึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้เด็กไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดี และทำให้เด็กสามารถเจริญเติบโต เป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในภายหน้า 

พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 เป็นกฎหมายที่ส่งเสริม คุ้มครอง และป้องกัน การปฏิบัติต่อเด็ก เพื่อเป็นหลักประกันว่าเด็กจะได้รับการอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน และมีพัฒนาการที่เหมาะสม

โดยกำหนดให้ เด็ก หมายถึง บุคคลที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี เว้นแต่ผู้ที่บรรลุนิติภาวะโดยการสมรส ให้มีคณะกรรมการคุ้มครองเด็กในระดับชาติและในระดับจังหวัด การปฏิบัติต่อเด็กไม่ว่ากรณีใด ต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ มีข้อกำหนดการให้ความช่วยเหลือ วิธีการสงเคราะห์เด็ก เพื่อพัฒนาและฟื้นฟูต่อไป

เด็กที่ได้รับการทารุณกรรม ต้องได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก มีการแยกตัวเด็กจากผู้กระทำ และต้องได้รับเยียวยาทั้งทางร่างกายและจิตใจเด็กอย่างเร่งด่วน

มีข้อกำหนดห้ามมิให้กระทำการใด ๆ กับเด็ก ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม เช่น การทารุณกรรมเด็ก การละเลยไม่ให้สิ่งจำเป็นแก่การดำรงชีพ การบังคับขู่เข็ญให้เด็กไปเป็นขอทาน การแสวงหาประโยชน์ทางการค้าจากเด็ก การยินยอมให้เด็กเล่นการพนัน เข้าไปในสถานที่ต้องห้าม หรือการขายสุราหรือบุหรี่ให้แก่เด็ก หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน ปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มีข้อกำหนดสำหรับผู้ปกครอง เช่น ห้ามทอดทิ้งเด็กไว้ในสถานรับเลี้ยงโดยมีเจตนาทิ้งเด็ก ต้องดูและให้สิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต ห้ามปฏิบัติต่อเด็กที่เป็นการขัดขวางการเจริญเติบโต

โลกในอนาคตข้างหน้า เป็นโลกของเด็กในยุคนี้ หากเด็กได้รับการดูแล อบรม ให้การศึกษา ปลูกฝังการรู้จักหน้าที่และเคารพในสิทธิของบุคคลอื่น เพื่อให้เด็กได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สังคมของโลกยุคหน้าย่อมเป็นสังคมที่ดี ผู้คนจะดำรงชีวิตอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขแน่นอน

‘UN’ เผย ‘เด็ก-สตรี’ ถูกฆ่าตายเกือบ 8.9 หมื่นคนในปี 2022 ร้อยละ 55 เป็นฝีมือคนในครอบครัว สะท้อน ‘บ้าน’ ไม่ใช่ที่ปลอดภัย

เมื่อวานนี้ (22 พ.ย. 66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ผลการวิจัยใหม่จากสหประชาชาติ (UN) เปิดเผยว่ามีผู้หญิงและเด็กผู้หญิงทั่วโลกถูกฆ่าในปี 2022 เกือบ 89,000 ราย ซึ่งถือเป็นตัวเลขรายปีที่สูงที่สุดในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา

รายงานจากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) และองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) ชี้ว่าเหตุจูงใจฆาตกรรมผู้หญิง (femicide) เพิ่มขึ้น แม้เหตุฆาตกรรมโดยรวมลดลง

ร้อยละ 55 ของเหตุจูงใจฆาตกรรมผู้หญิงในปี 2022 มาจากฝีมือสมาชิกครอบครัวหรือคู่ชีวิต ขณะร้อยละ 12 ของเหตุฆาตกรรมผู้ชายเกิดขึ้นที่บ้าน ซึ่งจุดต่างนี้ตอกย้ำว่า ‘บ้าน’ ห่างไกลจากการเป็นพื้นที่ปลอดภัยของผู้หญิงและเด็กผู้หญิง

กาดา วาลี ผู้อำนวยการบริหารสำนักงานฯ กล่าวว่าเหตุจูงใจฆาตกรรมผู้หญิงที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจเป็นเครื่องเตือนใจว่ามนุษยชาติยังคงต้องต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมที่หยั่งรากลึกและความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง

วาลีเสริมว่ารัฐบาลต่าง ๆ ต้องลงทุนในกลุ่มสถาบันที่มีความครอบคลุมและความพร้อมมากขึ้นเพื่อยุติการยกเว้นโทษ เสริมสร้างเกราะป้องกัน และช่วยเหลือเหยื่อ เริ่มตั้งแต่ผู้รับมือแนวหน้าจนถึงฝ่ายตุลาการ เพื่อยุติความรุนแรงก่อนสายเกินไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top