‘เชจู’ นำร่อง!! คลอด กม.ยกเลิกพื้นที่ปลอดเด็ก จูงน้องๆ กลับสู่ส่วนหนึ่งของสังคมเกาหลีใต้

รัฐบาลเกาะเชจู (Jeju Island) ซึ่งถือเป็นจังหวัดปกครองตนเองพิเศษ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวตากอากาศชื่อดังของเกาหลีใต้ เตรียมออกกฎหมายห้ามผู้ประกอบการ ที่ส่วนมากเป็นร้านอาหาร และ ร้านกาแฟ กีดกันพื้นที่ให้บริการเป็น ‘เขตปลอดเด็ก’ (No-Kids Zone) เพื่อหวังให้อิสระแก่น้อง ๆ หนู ๆ เข้ามาในพื้นที่หรือโซนต่าง ๆ ได้มากขึ้น 

โดยร่างกฎหมายฉบับนี้ หากผ่านการพิจารณาในวันที่ 19 พฤษภาคม 66 ที่จะถึงนี้ ก็จะทำให้เกาะเชจูกลายเป็นจังหวัดแรกของเกาหลีใต้ที่จะยกเลิกเขตปลอดเด็กทั้งเกาะ ซึ่งจะช่วยเสริมภาพลักษณ์การเป็นเมืองท่องเที่ยวสำหรับครอบครัวได้อย่างแท้จริง

แม้ว่ากฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้เฉพาะเกาะเชจูเท่านั้น แต่กระแสยกเลิกพื้นที่ปลอดเด็กก็เริ่มได้รับความสนใจอย่างมากจากชาวเกาหลีใต้ทั้งประเทศ และเริ่มมีการถกเถียงอย่างกว้างขวางว่า ควรยกเลิกพื้นที่ปลอดเด็กในจังหวัดอื่น ๆ ด้วยหรือไม่?

ทั้งนี้หากพูดถึงบริบทของการกั้นโซนเป็นพื้นที่ปลอดเด็กแล้ว ในหมู่คนไทยอาจจะไม่ค่อยคุ้นชินสักเท่าไรนัก แต่ที่เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่มีหลักการเคารพสิทธิส่วนบุคคลสูง โดยเฉพาะการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก

นั่นก็เพราะชาวเกาหลีใต้จำนวนไม่น้อย จะรู้สึกไม่พอใจที่มีเด็กเล็ก ๆ ส่งเสียงดังรบกวนใน ห้องสมุด, หอศิลป์, ร้านอาหาร, คาเฟ่ หรือสถานที่ที่ขายบรรยากาศความเป็นส่วนตัว โดยให้เหตุผลว่า “เพราะลูกคุณไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน”

จากผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ใหญ่จำนวน 1,000 คน โดยสถาบัน Hankook Research ในเดือนพฤศจิกายนปี 2564 พบว่า 71.1% ของกลุ่มตัวอย่างเห็นว่า การกำหนดพื้นที่ให้บริการเป็นเขตปลอดเด็ก เป็นสิทธิ์ของผู้ประกอบการโดยคำนึงถึงกลุ่มลูกค้าของตนเป็นสำคัญ

ดังนั้นจึงมีสถานประกอบการมากกว่า 540 แห่งทั่วประเทศ ที่ระบุว่าเป็นเขตปลอดเด็ก ซึ่งในเกาะเชจูมีมากถึง 78 แห่ง หรือคิดเป็น 14.4% ของพื้นที่ปลอดเด็กทั้งหมด และเมื่อเทียบขนาดพื้นที่ และ ประชากรบนเกาะเชจู ก็พบว่าเกาะเชจูมีพื้นที่ซึ่งเป็นเขตปลอดเด็กสูงมาก

อย่างไรซะ ทางการท้องถิ่นของเกาะเจจู ก็มักได้รับการร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางพร้อมเด็กเล็กอยู่เสมอว่าถูกปฏิเสธการให้บริการ หรือไม่ให้เข้าสถานที่หากพาเด็กเล็กมาด้วย จึงเกิดคำถามขึ้นว่า นี่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อเด็กด้วยหรือไม่ และยังเป็นการกีดกันทางสังคมต่อเด็กเล็ก

นี่จึงเป็นที่มาในการพิจารณากฎหมายใหม่ฉบับนี้ เพื่อปกป้องสิทธิเด็กในการถูกเลือกปฏิบัติ และการละเมิดสิทธิเด็ก โดยเล็งเห็นความสำคัญในการสร้างสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ดี ให้เด็กรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่มีการยอมรับ และเอื้ออาทรต่อกัน

รัฐบาลของเกาะเชจูยังมองว่า นี่เป็นการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวแบบครอบครัว ที่เด็กสามารถเข้าถึงได้ทุกพื้นที่อย่างไม่ถูกกีดกั้น และแทนที่จะกีดกันเด็กออกจากพื้นที่บริการ ควรส่งเสริมให้ความรู้แก่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ในการอบรมบุตรหลานให้สามารถใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกับผู้อื่นได้อย่างเหมาะสมจะดีกว่า

ดังนั้น เชจู จึงกลายเป็นจังหวัดนำร่องในการใช้กฎหมายยกเลิกเขตปลอดเด็ก ที่กำลังเป็นประเด็นในสังคมของเกาหลีใต้ ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ส.ส. หญิงอย่าง ‘ยอง ฮเย-อิน’ จากพรรค Basic Income Party ก็ได้อุ้มลูกชายวัย 2 ขวบขึ้นเวทีแถลงข่าวในวันเด็กของเกาหลีใต้ เพื่อประกาศจุดยืนต่อต้านการสงวนพื้นที่ปลอดเด็กในเกาหลีใต้ทั่วประเทศ เพื่อไม่ให้เด็กเล็ก หรือผู้ปกครองที่ต้องมีภาระเลี้ยงลูกเล็กรู้สึกเป็นส่วนเกินในพื้นที่สาธารณะในเกาหลี

ยอง ฮเย-อิน ชี้ว่า ปัจจุบันเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีมีอัตราเด็กเกิดใหม่ต่ำที่สุดในโลก ในขณะที่รัฐบาลเกาหลีใต้กำลังรณรงค์ให้ครอบครัวชาวเกาหลีมีลูกมากขึ้น แต่กลับมีเขตปลอดเด็กอยู่หลายร้อยแห่งทั่วประเทศ หรือแม้แต่หอสมุดแห่งชาติ ยังห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปีเข้าใช้บริการ ซึ่งเป็นการสร้างสังคมที่มีทัศนคติเชิงลบต่อเด็กเล็ก

ส.ส. หญิงแม่ลูกอ่อน จึงเสนอให้ยกเลิกเขตปลอดเด็ก และเปลี่ยนเกาหลีให้เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับเด็กเป็นอันดับแรก หรือ 'First Kids Korea' นั่นเอง  

ก็เรียกว่าเป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจที่คงต้องตามดูกันต่อไปว่า สังคมที่เคารพสิทธิส่วนบุคคลอย่างเข้มข้นอย่างเกาหลีใต้ จะเปิดพื้นที่ให้แก่เด็กเล็กที่จะเติบโตเป็นคนรุ่นใหม่ของชาติกว้างขึ้นแค่ไหน? อย่างไร? ต่อไป... 


เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์

อ้างอิง: Korea Times / Yahoo News