Saturday, 18 May 2024
เชื่อมจิต

'พวงเพ็ชร' สั่งสำนักพุทธตรวจสอบ พ่อ-แม่ ‘น้องไนซ์ เชื่อมจิต’ หากพบเข้าข่าย 'หลอกลวง-หาประโยชน์' สั่งฟันทันที

(24 เม.ย. 67) ที่ทำเนียบ นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีประชาชนเรียกร้องให้สำนักงานพระพุทธศาสนาตรวจสอบ 'น้องไนซ์' เด็กอายุ 8 ขวบที่อ้างตัวเป็นบุตรพระพุทธเจ้า สอนธรรมมะด้วยการเชื่อมจิตที่ไม่มีอยู่ในคำสอน โดยได้สั่งการไปยัง นายอินทพร จั่นเอี่ยม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ลงพื้นที่บ้านพักของครอบครัวเด็กอายุ 8 ขวบ พร้อมกับนายกัณฐัศว์ พงศ์ไพบูลย์เวชย์ หรือกัน จอมพลัง เพื่อตรวจสอบโดยด่วนแล้ว ว่าการกระทำของเด็กอายุ 8 ขวบ เป็นอย่างไรและมีความเหมาะสมหรือไม่ 

นางพวงเพ็ชร กล่าวว่า ได้สั่งการให้สำนักงานพระพุทธศาสนาประสานงานกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมลงไปตรวจสอบโดยด่วน เนื่องจากมีประชาชนร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้จะต้องเข้าไปตรวจสอบกับผู้ปกครองด้วยว่ามีการป้อนข้อมูลที่ผิดให้กับลูกหรือไม่ เพราะลำพังเด็กที่มีอายุยังน้อยน่าจะยังไม่มีการนึกคิดไตร่ตรองอะไรได้มาก รวมถึงตรวจสอบว่ามีใครอยู่เบื้องหลังเพื่อหวังหาประโยชน์จากน้องไนซ์หรือไม่

“ส่วนตัวมองว่าการที่นำเรื่องพระพุทธเจ้ามาอ้างอิงเช่นนี้ ไม่ตรงกับหลักคำสอนของพุทธศาสนา อีกทั้งทำให้ประชาชนหลงเชื่อ ดังนั้นจึงให้สำนักพุทธฯ ลงพื้นที่ไปตรวจสอบ และหากมีประเด็นใดที่เข้าข่ายหลอกลวงประชาชน จะดำเนินการตามกฎหมายหรือมีพระภิกษุสามเณรรูปใดเข้าไปเกี่ยวข้องให้ดำเนินทันทีโดยไม่มีการละเว้น ขณะเดียวกันขอให้ประชาชนใช้วิจารณญาณก่อนรับฟังคำสอนดังกล่าวด้วย” นางพวงเพ็ชร กล่าว

'วราวุธ' ลั่น!! ปม 'น้องไนซ์' หากครอบครัวไม่ให้ความร่วมมือ จำเป็นต้องขอใช้อำนาจศาล เข้าตรวจสอบสภาพจิตใจเด็ก

(14 พ.ค. 67) ที่หน้าอาคารสุเมธตัวติเวชกุล มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี จ.เพชรบุรี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยถึงกรณีน้องไนซ์ ว่า ขณะนี้กระทรวง พม. ได้ส่งทีมสหวิชาชีพ ทั้งในส่วนนักจิตวิทยา และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมบ้านของน้องไนซ์ ซึ่งได้ไปดูสภาพครอบครัว การประเมินทางสภาพจิตใจของทางครอบครัวและตัวเด็ก ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถเข้าไปพูดคุยกับตัวเด็กโดยตรงได้ 

ดังนั้นทางเจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้องจึงได้ทำเรื่องร้องขอไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสุราษฎร์ธานี ถ้าหากยังไม่ได้รับความร่วมมือ จำเป็นจะต้องขออนุญาตใช้อำนาจศาลในการมีคำสั่งเข้าไปพิจารณาถึงสภาพจิตใจของตัวเด็ก รวมถึงผู้ปกครองด้วย ต้องขอนำเรียนว่ามิติการทำงานของกระทรวง พม. โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับในกรณีนี้ คือ กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) มีหน้าที่ในการปกป้องสิทธิและดูแลสวัสดิภาพของตัวเด็ก โดยที่ผ่านมาได้มีการเลี้ยงดู ได้มีการดำเนินการตามสิทธิที่เด็กคนหนึ่งพึงจะได้รับหรือไม่ ทั้งเรื่องการศึกษา การดูแลสภาพครอบครัว ด้านพัฒนาการ และการเลี้ยงดู ซึ่งหากเป็นไปตามกรณีที่กระทรวง พม. เราดูแลอยู่นั้น ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่อยู่ในขอบเขตของกฎหมายที่เขาไม่ได้ทำผิดอะไร

นายวราวุธ กล่าวว่า ส่วนในกรณีที่หลายคนมีความเป็นห่วงว่าจะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เกี่ยวกับเรื่องการหลอกลวงนั้น ตนคิดว่ากระทรวง พม. ยังไม่มีองค์ความรู้มากพอในเรื่องนี้ ที่จะไปตัดสินว่าสิ่งที่ครอบครัวนี้ได้เผยแพร่ออกไปสู่สาธารณชนนั้น เป็นเรื่องที่หลอกลวงหรือไม่อย่างไร คงต้องขอให้หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาพิจารณา ทั้งนี้ เราคำนึงถึงความปลอดภัย เรื่องพัฒนาการ และสิทธิของเด็กและเยาวชน

'สำนักพุทธฯ' ชี้!! ‘เชื่อมจิต’ ไม่มีในพระไตรปิฎก อีกทั้งยังขัดหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

(17 พ.ค. 67) หลังจากที่ ทนายอนันต์ชัย ไชยเดช ประธานมูลนิธิทนายกองทัพธรรม พร้อมด้วย ทนาย ดร.ประยุทธ ประเทศเสนา หรือมหาหมี รองประธานมูลนิธิทนายกองทัพธรรม, ต้นอ้อ มูลนิธิเป็นหนึ่ง, อี้ แทนคุณ ตัวแทนผู้เสียหาย, ดร.อธิเทพ ผาทา, อ.รัก คำราม และ แพรี่ ไพรวัลย์ วรรณบุตร และ พระวิเวก นามรุ่งโรจน์ เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.มนสิช ชุนดี รอง ผกก.(สอบสวน) กก.2 บก.บก.ปอท. แจ้งความเอาผิด นายพิชญะ, น.ส.นัฐพร พ่อแม่ของน้องไนซ์ อายุ 8 ปี พร้อมแอดมินเพจ หรือผู้ควบคุมเพจเฟซบุ๊ก นิรมิตเทวาจุติ, ผู้ใช้บัญชีติ๊กต็อก @niramittavajuti และบุคคลอื่นผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งใช้ชื่อของน้องไนซ์ นำเสนอบทความพร้อมคลิปวิดีโอบิดเบือน หรือเป็นเท็จนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์หลายครั้งหลายหน

โดยแจ้งความในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก, การเรี่ยไร และฉ้อโกง พร้อมกับเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ พม. เข้ามาดูแลปัญหาดังกล่าว

เมื่อวันที่ 17 พ.ค. นายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงกรณีดังกล่าว ร่วมกับ นายอินทพร จั่นเอี่ยม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)

นายอินทพร จั่นเอี่ยม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า พศ.ไม่ได้นิ่งนอนใจ ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น และมีทีมงานเฝ้าระวัง ได้รวบรวมข้อมูลรายละเอียดข่าวสารต่าง ๆ เรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคำสอนที่ผิดเพี้ยน เราได้กราบนมัสการพระมหาเถระ เพื่อขอคำแนะนำ ซึ่งพระมหาเถระได้ให้คำแนะนำ และขอให้ใช้สติ ทำให้รอบคอบ เพราะเรื่องนี้ละเอียดอ่อน เนื่องจากส่งผลกระทบต่อเด็กและครอบครัว

นายอินทพร กล่าวต่อว่า ตนได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง เป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร การกระทำ ที่อาจจะเป็นภัย ผลกระทบต่อความมั่นคงต่อพุทธศาสนา แม้ พศ.จะไม่มีอำนาจห้าม ระงับ ยับยั้งกลุ่มบุคคลที่เผยแพร่พระธรรมคำสอนที่ผิดเพี้ยนไปจากพระไตรปิฎก แต่เราทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตลอด

นายอินทพร กล่าวต่อว่า หลังจากวันนี้ ตนจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอเข้าที่ประชุมมหาเถรสมาคม เพื่อรับทราบส่วนทางที่ประชุมมหาเถรสมาคม มีมติให้ พศ.ดำเนินการอย่างไรต่อไปนั้น ตนจะแจ้งความคืบหน้าอีกครั้งหนึ่ง

นายบุญเชิด กิตติธรางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนา จังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า เมื่อตรวจสอบข้อมูล ศึกษาที่รายละเอียดในพระไตรปิฎก ฟันธงกันตรงนี้ว่า ไม่ปรากฏการเชื่อมจิตแต่อย่างใด และการเชื่อมจิต ยังขัดหลักธรรมคุณ 6 ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีดำรัสไว้ให้เราให้ศึกษา และปฏิบัติ

ส่วนเชื่อมจิต เชื่อมได้หรือไม่นั้น นายบุญเชิด กล่าวว่า ในพระไตรปิฎกไม่มีครับ แต่จะมีบุคคลบอกว่าในพระไตรปิฎกมี ซึ่งพยายามเทียบเคียงว่า ในสมัยพุทธกาลเคยมีพระพุทธเจ้าตรัส หรือสนทนาธรรมกับพระอรหันต์เป็นการเทียบเคียง คำถามตามมาคือว่า คนที่กล่าวว่าเชื่อมจิตนั้นเป็นอรหันต์หรือไม่?

กรณีที่เด็กกล่าวอ้างว่ามีการเชื่อมจิต กล่าวอ้างว่าเป็นบุตรพระพทุธเจ้า หรือกล่าวอ้างใด ๆ ในเรื่องอภินิหาร เกี่ยวกับความเชื่อความศรัทธานั้น เป็นเรื่องจริงหรือเรื่องไม่จริง นายบุญเชิด กล่าวว่า ไม่ปรากฏในพระไตรปิฎก เมื่อพระไตรปิฎกไม่มีปรากฏ คือ ไม่จริง และในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ไม่มีเรื่องแบบนี้ในพระไตรปิฎก แต่ถ้าในคติในพระพุทธศาสนาในมหายาน จะมีความเชื่อเรื่องนี้ แต่ในประเทศไทย เรายึดหลักความเชื่อในเถรวาทเท่านั้น


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top