'สำนักพุทธฯ' ชี้!! ‘เชื่อมจิต’ ไม่มีในพระไตรปิฎก อีกทั้งยังขัดหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

(17 พ.ค. 67) หลังจากที่ ทนายอนันต์ชัย ไชยเดช ประธานมูลนิธิทนายกองทัพธรรม พร้อมด้วย ทนาย ดร.ประยุทธ ประเทศเสนา หรือมหาหมี รองประธานมูลนิธิทนายกองทัพธรรม, ต้นอ้อ มูลนิธิเป็นหนึ่ง, อี้ แทนคุณ ตัวแทนผู้เสียหาย, ดร.อธิเทพ ผาทา, อ.รัก คำราม และ แพรี่ ไพรวัลย์ วรรณบุตร และ พระวิเวก นามรุ่งโรจน์ เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.มนสิช ชุนดี รอง ผกก.(สอบสวน) กก.2 บก.บก.ปอท. แจ้งความเอาผิด นายพิชญะ, น.ส.นัฐพร พ่อแม่ของน้องไนซ์ อายุ 8 ปี พร้อมแอดมินเพจ หรือผู้ควบคุมเพจเฟซบุ๊ก นิรมิตเทวาจุติ, ผู้ใช้บัญชีติ๊กต็อก @niramittavajuti และบุคคลอื่นผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งใช้ชื่อของน้องไนซ์ นำเสนอบทความพร้อมคลิปวิดีโอบิดเบือน หรือเป็นเท็จนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์หลายครั้งหลายหน

โดยแจ้งความในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก, การเรี่ยไร และฉ้อโกง พร้อมกับเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ พม. เข้ามาดูแลปัญหาดังกล่าว

เมื่อวันที่ 17 พ.ค. นายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงกรณีดังกล่าว ร่วมกับ นายอินทพร จั่นเอี่ยม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)

นายอินทพร จั่นเอี่ยม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า พศ.ไม่ได้นิ่งนอนใจ ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น และมีทีมงานเฝ้าระวัง ได้รวบรวมข้อมูลรายละเอียดข่าวสารต่าง ๆ เรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคำสอนที่ผิดเพี้ยน เราได้กราบนมัสการพระมหาเถระ เพื่อขอคำแนะนำ ซึ่งพระมหาเถระได้ให้คำแนะนำ และขอให้ใช้สติ ทำให้รอบคอบ เพราะเรื่องนี้ละเอียดอ่อน เนื่องจากส่งผลกระทบต่อเด็กและครอบครัว

นายอินทพร กล่าวต่อว่า ตนได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง เป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร การกระทำ ที่อาจจะเป็นภัย ผลกระทบต่อความมั่นคงต่อพุทธศาสนา แม้ พศ.จะไม่มีอำนาจห้าม ระงับ ยับยั้งกลุ่มบุคคลที่เผยแพร่พระธรรมคำสอนที่ผิดเพี้ยนไปจากพระไตรปิฎก แต่เราทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตลอด

นายอินทพร กล่าวต่อว่า หลังจากวันนี้ ตนจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอเข้าที่ประชุมมหาเถรสมาคม เพื่อรับทราบส่วนทางที่ประชุมมหาเถรสมาคม มีมติให้ พศ.ดำเนินการอย่างไรต่อไปนั้น ตนจะแจ้งความคืบหน้าอีกครั้งหนึ่ง

นายบุญเชิด กิตติธรางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนา จังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า เมื่อตรวจสอบข้อมูล ศึกษาที่รายละเอียดในพระไตรปิฎก ฟันธงกันตรงนี้ว่า ไม่ปรากฏการเชื่อมจิตแต่อย่างใด และการเชื่อมจิต ยังขัดหลักธรรมคุณ 6 ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีดำรัสไว้ให้เราให้ศึกษา และปฏิบัติ

ส่วนเชื่อมจิต เชื่อมได้หรือไม่นั้น นายบุญเชิด กล่าวว่า ในพระไตรปิฎกไม่มีครับ แต่จะมีบุคคลบอกว่าในพระไตรปิฎกมี ซึ่งพยายามเทียบเคียงว่า ในสมัยพุทธกาลเคยมีพระพุทธเจ้าตรัส หรือสนทนาธรรมกับพระอรหันต์เป็นการเทียบเคียง คำถามตามมาคือว่า คนที่กล่าวว่าเชื่อมจิตนั้นเป็นอรหันต์หรือไม่?

กรณีที่เด็กกล่าวอ้างว่ามีการเชื่อมจิต กล่าวอ้างว่าเป็นบุตรพระพทุธเจ้า หรือกล่าวอ้างใด ๆ ในเรื่องอภินิหาร เกี่ยวกับความเชื่อความศรัทธานั้น เป็นเรื่องจริงหรือเรื่องไม่จริง นายบุญเชิด กล่าวว่า ไม่ปรากฏในพระไตรปิฎก เมื่อพระไตรปิฎกไม่มีปรากฏ คือ ไม่จริง และในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ไม่มีเรื่องแบบนี้ในพระไตรปิฎก แต่ถ้าในคติในพระพุทธศาสนาในมหายาน จะมีความเชื่อเรื่องนี้ แต่ในประเทศไทย เรายึดหลักความเชื่อในเถรวาทเท่านั้น