Sunday, 6 April 2025
เชาว์มีขวด

‘เชาว์’ สะกิตใจสมาชิก ‘ปชป.’ ร่วมปฏิรูปพรรคครั้งใหญ่  ลั่น!! ถึงเวลา ‘ถอย’ เพื่อ ‘ถอด’ บทเรียน และก้าวไปข้างหน้า

‘สัจจัง เว อัมตะ วาจา’... วาจาจริงเป็นสิ่งไม่ตาย นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกรัฐบาล ได้หยิบยกเอาคำขวัญของพรรคประชาธิปัตย์มาสะท้อนการเมืองภายในพรรคประชาธิปัตย์ในสถานการณ์เปลี่ยนผ่านจากยุคตกต่ำที่สุดที่คณะกรรมการบริหารพรรค คนของพรรคจะต้องรักษาคำพูด รับผิดชอบต่อคำพูดที่ให้ไว้กับประชาชน โดยได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก เป็นเครื่องสะกิดเตือนในชาวประชาธิปัตย์ไว้อย่างน่าสนใจยิ่งเรื่อง ถึงชาวพรรคประชาธิปัตย์ ได้เวลาถอยเพื่อถอดบทเรียน มีเนื้อหาระบุว่า…

ตนเขียนจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ในฐานะสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ท่ามกลางวิกฤติความตกต่ำของพรรคอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน กระทั่งการเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมาพรรคได้ ส.ส.มาเพียง 25 คน จนนำไปสู่การ แสดงความรับผิดชอบต่อผลการเลือกตั้งด้วยการลาออก จากตำแหน่งหัวหน้าพรรคของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ส่งผลให้กรรมการบริหารพรรค ต้องพ้นตำแหน่งไปโดยปริยายด้วย

“ผมเชื่อว่าหลายคน ทั้งที่เป็นสมาชิกพรรคและไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค คงจับตาดูว่า ก้าวต่อไปของประชาธิปัตย์จะเดินไปทิศทางไหน เพราะ 78 ปี บนเส้นทางการเมือง และการต่อสู้ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เราผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านมรสุมมาหลายครั้ง แต่ไม่มีครั้งไหนที่รุนแรงเท่านี้ เพราะต้องยอมรับความจริงว่า ความตกต่ำของพรรคที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องถูกดิสรัปจากการสื่อสารสมัยใหม่ ที่ถูกนำมาใช้ในทางการเมืองเท่านั้น อุดมการณ์การเมือง ซึ่งเคยเป็นจุดแข็งที่สุดของพรรคก็ถูกตั้งคำถามอย่างมาก นับจากที่ประชุมพรรคตัดสินใจมีมติร่วมรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สวนทางกับคำมั่นที่อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้ไว้กับประชาชน จนท่านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องลาออกจาก ส.ส.เพื่อรักษาจุดยืนทางการเมือง

ผมยังจำคำพูดวันนั้นของท่านอภิสิทธิ์ได้ดี ท่านบอกว่า “ยิ่งใหญ่กว่ามติพรรค คือ สัญญาประชาคมที่ให้ไว้กับพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ” ท่านบอกด้วยว่า ในวันนั้นท่านเหลือทางเดียวที่จะรักษาเกียรติภูมิไม่เฉพาะตัวเอง แต่เป็นเกียรติภูมิของตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคที่มีคำขวัญว่า สจฺ จํ เว อมตา วาจา ที่จะต้องรักษาคำพูด และรับผิดชอบกับคำพูดที่กล่าวไว้กับพี่น้องประชาชน” นายเชาว์ ระบุ

อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุต่อไปว่า ที่เท้าความไปไกล เพื่อตอกย้ำว่า ถึงเวลาที่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ทั่วประเทศ ต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของพรรค เราไม่เหมือนพรรคเฉพาะกิจ ที่ตั้งขึ้นมาแล้วก็ดับสูญไปตามตัวบุคคล แต่ประชาธิปัตย์ เป็นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงา เป็นที่พักพิงให้ประชาชนมาเนิ่นนาน เราจะกลับไปอยู่ในจุดที่ประชาชนศรัทธาไว้วางใจอีกครั้งได้อย่างไร ในสถานการณ์ ที่เรากำลังขาดบุคลากรที่โดดเด่น บวกกับสถานการณ์การเมืองที่เปลี่ยนไป จำเป็นต้องเฟ้นหาผู้นำทางที่มีประสบการณ์ มีความรู้ความสามารถ ที่สำคัญต้องมากบารมี บททดสอบนี้จึงไม่ใช่แค่ ส.ส.เท่านั้นที่จะเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของพรรค ซึ่งผมทราบมาว่า วันที่ 21 มิถุนายนนี้ กรรมการบริหารพรรคจะมีประชุมเพื่อกำหนดวันเลือกตั้งผู้บริหารชุดใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเป็นวันที่ 9 กรกฎาคม 2566

“น่าแปลกใจที่ทั้งพรรคเต็มไปด้วยความเงียบงัน ไม่มีการเปิดตัวผู้อาสามาเป็นหัวหน้าพรรคหรือเลขาธิการพรรคคนใหม่ ไม่มีการรณรงค์หาเสียงเหมือนอดีตที่ผ่านมาที่เราเคยเป็นต้นแบบระบบประชาธิปไตยภายในพรรค มีการแข่งขันกันอย่างเสรีเหมือนทุกครั้ง แต่กลับมีกระแสเล็ดลอดซุบซิบในในวงแคบ ๆ ว่า มีการ ล็อกสเปก บุคคลที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ไว้แล้ว โดยกลุ่มอดีตผู้บริหารที่กุมเสียงว่าที่ ส.ส.ชุดปัจจุบันได้กว่า 17 คน ซึ่งตามข้อบังคับพรรคจะให้น้ำหนักโหวต ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ โดยมีเป้าต้องการที่จะร่วมรัฐบาล ตนทราบมาว่าหลายคนอึดอัดกับท่าที ที่กำลังเป็นอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ขณะนี้ เพราะทุกคนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงภายในพรรคเสมือนการปฏิรูปพรรคครั้งใหญ่ เป็นการถอยเพื่อถอดบทเรียน รับฟังเสียงจากสมาชิกส่วนใหญ่ให้มีส่วนร่วมด้วย ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสสุดท้ายที่ควรกระทำ เพราะถ้าหวังร่วมรัฐบาลเพียงอย่างเดียวโดยไม่สนใจรักษาจุดยืนของพรรค การเลือกตั้งครั้งต่อไปเราอาจจะไม่มีที่ยืนในสภาฯ แม้แต่ที่เดียว” นายเชาว์ ระบุทิ้งท้าย

อุดมการณ์ 10 ข้อของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ใช้มาตั้งแต่ยุคก่อตั้งพรรคสมัยนายควง อภัยวงศ์ เมื่อ 78 ปีทีีผ่านมา ชาวประชาธิปัตย์ต้องหยิบขึ้นมาพิจารณาไตร่ตรอง โดยเฉพาะ 3 ข้อสำคัญ ต่อต้านเผด็จการ ไม่ทุจริตคอรัปชั่น และกระจายอำนาจ

การตัดสินใจโดยมติพรรคนำประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นจุดเริ่มต้นของความเสื่อมถอยของประชาธิปัตย์หรือไม่ สังคมภายนอกมองว่า ‘กอดขาเผด็จการ ร่วมรัฐบาล’ โดยลืมวาจา ลืมคำพูดที่ให้ไว้กับประชาชน

ถ้าชาวประชาธิปัตย์ยอมรับความจริง สิ่งที่เชาร์นำเสนอมานั่นคือความจริง ถ้าชาวประชาธิปัตย์หวังจะนำพาพรรคให้ฟื้นกลับคืนมาเฟื้องฟูอีกครั้ง จะต้องนั่งลงตรึกตรอง สุมหัวคิดถอดบทเรียนจากอดีตที่ผ่านมา เพื่อหาทางออกร่วมกันภายใต้การมีส่วนร่วมของชาวประชาธิปัตย์ทั่วประเทศ ไม่ใช่สุมหัวคิด ล็อคสเปกผู้นำพรรคที่กระสันต์อย่างเป็นรัฐบาล โดยไม่ใส่ใจต่อสภาพของพรรค และอนาคตของพรรค เชื่อว่า ถ้าประชาธิปัตย์ยังเดินไปภายใต้การกุมบังเหียนของคนบางกลุ่มจากขั้วอำนาจเก่า ล็อคสเปกผู้นำพรรคตามที่เชาร์ให้ข้อมูลมา ยิ่งจะทำให้ประชาธิปัตย์ตกต่ำลงไปอีก และการเลือกตั้งครั้งหน้าอาจจะเป็นพรรคต่ำสิบ และอนาคตจะไม่มีที่ยืน ไม่แตกต่างจากพรรคกิจสังคม พรรคความหวังใหม่ ที่เคยยิ่งใหญ่ แต่ถึงเวลาก็ดับสลายไป

แต่ความเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาธิปัตย์ ที่สืบทอดเจตนารมณ์-อุดมการณ์ของผู้ก่อตั้งพรรคมายาวนาน 78 ปี สภาพเช่นนั้นไม่ควรเกิดขึ้น เพียงแต่ชาวประชาธิปัตย์กล้าหาญพอที่จะลุกขึ้นมาประกาศจุดยืน แนวทางของพรรค และกล้าพอที่จะปฏิรูปพรรคครั้งใหญ่หรือไม่ในสถานการณ์ที่ภูมิทัศน์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไป

วันนี้ประชาธิปัตย์ขาดบุคลากรที่ทรงคุณภาพที่จะเข้ามานำพาพรรค ถามว่าตำแหน่งหัวหน้าว่างมาเดือนกว่า จนถึงวันนี้มีใครกล้าลุกขึ้นมาประกาศตัวลงชิงหัวหน้าพรรคสักคนไหม ยังไม่เห็นมี มีแต่ข่าวลือว่า น่าจะเป็นคนนั้นคนนี้ลงชิง แต่ข้อเท็จจริง คือไม่มีใครเปิดตัวออกมาเลยแม้แต่คนเดียว เงียบสนิทอย่างที่เชาร์ว่าจริงๆ เหลือเวลาไม่ถึงเดือนจะเลือกหัวหน้าพรรคแล้ว ถ้าเป็นสมัยก่อนประชาธิปไตยจะเบ่งบานสพลั่งเต็มหัวใจชาวประชาธิปัตย์ เดินสายพบปะ แสดงวิสัยทัศน์กับบรรดาโหวตเตอร์กับครึกโครม

สถานการณ์ที่เงียบงันของประชาธิปัตย์ ดูวิเวกวังเวงวิโหวเหวเหลือเกิน เศร้าสร้อย หดหู่ใจ เจ้าหน้าที่พรรคยังซุบซิบกันเลยว่า ถ้าคนนี้ลงสมัครเป็นฉัน ฉันก็ไม่เลือก และถ้าเขามาเราจะอยู่กันอย่างไร?

ร้องไห้เถิด ถ้าจะร้องเพื่อจะลุก ถอยเถอะ ถ้าจะถอยเพื่อทบทวน และก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างหาญกล้าและท้าทาย ถอยมาดับเครื่อง เช็คเครื่อง สตาร์ท เดินรถใหม่

เรื่อง : นายหัวไทร

‘ทนายเชาร์’ ขย่ม ‘เฉลิมชัย’ รักพรรคจริงเลิกกินรวบ  เสนองดใช้ข้อบังคับพรรค เลิกใช้สัดส่วน 70 % ของ ส.ส.ชี้ขาดใครนั่ง หน.พรรค 

อีกรอบแล้วที่เชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (Chao Meekhuad ) หัวเรื่อง "1 เสียง 1 โหวต ทางออก ฟื้น ปชป. " อันเป็นข้อเสนอที่แหลมคมยิ่ง หวังให้เป็นทางออกจากวิกฤติของประชาธิปัตย์ และทิ่มแทงตรงๆไปยัง “ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน”อดีตเลขาธิการพรรค ที่ถูกมองว่า แม้นจะประกาศเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต หากประชาธิปัตย์ได้น้อยกว่าเดิม แต่เงาดำทมึนยังคลุมงำประชาธิปัตย์อยู่

การเลือกตั้งปี 2562 ประชาธิปัตย์เริ่มปรากฏชัดถึงความถดถอย ได้ ส.ส.มาแค่ 52 ที่นั่ง จากเดิมที่เคยได้เป็น 100 เริ่มถดถอยในช่วงที่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”เป็นหัวหน้าพรรค และมี “จุติ ไกรฤกษ์” เป็นเลขาธิการพรรค อันเกิดจากสารพัดปัญหารุมเร้า โดยเฉพาะการชุมชุมของกลุ่ม นปช.จนไม่มีเวลามาบริหารราชการแผ่นดิน และอภิสิทธิ์ ต้องหอบหิ้วตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหนีม็อบครั้งแล้วครั้งเล่าจนแทบเอาชีวิตไม่รอด 

เฉลิมชัยก้าวขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ในยุค “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” การเลือกตั้งปี 2566 เฉลิมชัยลั่นวาจาครั้งแล้วครั้งล่าว ถ้าประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.น้อยกว่าเดิม จะเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต วันนั้นมาถึงแล้ว ประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.มาเพียง 25 ที่นั่งในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา “เฉลิมชัย”จึงน่าจะวางมือทางการเมือง และจัดวางตัวเองให้เป็นอาจารย์ใหญ่ เหมือน “เนวิน ชิดชอบ” ผู้อยู่เบื้องหลังภูมิใจไทย

เชาร์ระบุว่า พรรคประชาะปัตย์ มีกำหนดประชุมใหญ่ วาระสำคัญคือการเลือกผู้บริหารชุดใหม่ มาแทนชุดเดิม ที่พ้นตำแหน่งไป จากการลาออกของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เพื่อรับผิดชอบต่อความพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าการชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคในคราวนี้ แตกต่างไปจากอดีตที่เคยมีมา แทบจะไม่มีใครเสนอตัวออกมาชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเลย ยกเว้น นายอลงกรณ์ พลบุตร สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะคนในพรรครู้ดีแก่ใจว่า ตำแหน่งหัวหน้าพรรค รวมถึงผู้บริหารทั้งหมด ในตอนนี้ อยู่ในอาณัติของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีตเลขาธิการพรรคฯ ที่กุมเสียง สส.ในมือราว 20 คน จากทั้งหมด 25 คน สั่งให้ใครเป็นหัวหน้าพรรคคนนั้นก็จะได้เป็น 

เชาร์ อธิบายว่า เนื่องจากข้อบังคับพรรคให้น้ำหนัก ส.ส.เป็นสัดส่วนถึง 70 % ขององค์ประชุมที่ประชุมใหญ่ในการลงคะแนน ข้อบังคับพรรคไม่ได้ผิดอะไร ที่ให้ความสำคัญกับ ส.ส.ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน แต่ในอดีตก็มีการแก้ไขสัดส่วนคะแนนเสียง ส.ส. มาตลอดเพื่อให้สมดุลเข้ากับสถานการณ์แต่ละยุค ซึ่งตอนแก้ข้อบังคับเมื่อปี 61 ก่อนหน้านี้พรรคมีส.ส.เกินหลักร้อยมาตลอด และใครก็ไม่เคยคาดคิดว่าจะตกต่ำเหลือแค่ 25 คนในยามนี้ จากพรรคขนาดใหญ่ กลายเป็นพรรคขนาดกลาง และกำลังเป็นพรรคขนาดเล็ก ถือเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้จึงไม่สมควรที่จะให้ส.ส. 25 คน มากุมชะตากรรมพรรคเพียงลำพัง 

เชาร์เสนอให้ที่ประชุมใหญ่ลงมติสามในห้าขององค์ประชุมของที่ประชุมใหญ่ให้ยกเว้นข้อบังคับข้อ 87 (1),(2) ที่ให้ถือเกณฑ์คำนวณคะแนนเสียงในการเลือกตั้งสัดส่วน สส. 70 % และสมาชิกอื่นที่เป็นองค์ประชุม 30 % เสีย โดยให้ใช้เสียงข้างมากของผู้ลงคะแนนเสียง เพื่อให้ทุกคะแนนเสียงขององค์ประชุมที่ประชุมใหญ่ มีหนึ่งเสียง หนึ่งโหวตเท่ากันในการกำหนดชะตาครั้งสำคัญของพรรค

"ถ้ารักพรรคจริง ต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมตัดสิน ไม่ใช่ใช้ข้อได้เปรียบจากข้อบังคับพรรคมาจ้องกินรวบพรรคอย่างที่เป็นอยู่ คนชอบพูดว่าผมเป็นคนของนายกฯอภิสิทธิ์ ผมไม่ปฏิเสธว่าเคารพรักท่าน แต่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคสำหรับผม จะชื่ออะไรก็ได้ สำคัญที่คน ๆ นั้น ต้องมีบารมี มีเจตจำนงค์ทำ พรรคให้เป็นพรรค ไม่ใช่คิดแต่ใช้พรรคเป็นบันไดในการแสวงหาอำนาจ เรามีบทเรียนมามากพอแล้วกับการละทิ้งคำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน”

เชาร์ย้ำว่า ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่เปราะบาง ประชาธิปัตย์ต้องเข้มแข็งเพื่อเป็นหลักให้กับบ้านเมือง ส่วนจะไปถึงจุดนั้นได้หรือไม่ ชี้วัดกันที่การเลือกหัวหน้าพรรควันที่ 9 ก.ค. ที่ผมยืนยันว่า ต้องยกเว้นข้อบังคับ เลิกสัดส่วน 70 % ของสส. เป็นให้ทุกคะแนนมีค่าเท่ากัน 

อย่างที่เชาร์กล่าวไว้ ทำไมการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ครั้งคราวนี้ถึงเงียบเชียบ ที่ปรากฏตัวชัดแล้วมีแค่ “อลงกรณ์ พลบุตร” รองหัวหน้าพรรค 4 สมัย และ 30 ปี ยึดมั่นอยู่กับอุดมการณ์ประชาธิปัตย์ไม่เปลี่ยนแปลง แม้จะแพ้การเลือกตั้งชิงหัวหน้าพรรค ที่บางคนพอแพ้ก็ทิ้งพรรคไป ไม่ว่าจะเป็น “หมอวรงค์ เดชกิจวิกรม” ออกไปตั้งพรรคไทยภักดี พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ออกไปตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ กรณ์ จาติกวณิชย์ ออกไปตั้งพรรคกล้า 

หันซ้ายมองขวาในประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นคนเก่า หรือคนใหม่ ยังไม่เห็นใครว่าจะนำพาพรรคประชาธิปัตย์กลับไปยืนอยู่แถวหน้าได้ แต่พอจะเห็นเค้าอยู่บ้างสำหรับ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” แม้ว่าจะไม่ใหม่นัก แต่ไม่เก่าจนเกินไป และเป็นคนมีบารมี มีอุดมการณ์ประชาธิปัตย์ และมีจุดยืนชัดเจน และแม้จะลาออกจาก ส.ส.คราวนั้น ก็ยังเป็นสมาชิกประชาธิปัตย์อยู่ และเชื่อว่า ถ้าอภิสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้ง ก็จะมีแรงสนับสนุนจาก “ชวน หลีกภัย”บัญญัติ บรรทัดฐาน-นิพนธ์ บุญญามณี” รวมถึงโหวตเตอร์สายอดีต ส.ส. อดีตรัฐมนตรี ประธานสาขา และตัวแทนพรรคอยู่ไม่น้อย ยิ่งถ้ายกเว้นข้อบังคับตามข้อเสนอของทนายเชาร์ โหวตเตอร์สาย ส.ส.อาจจะเหวี่ยงหลุดแห มาทางอภิสิทธิ์บ้างก็ได้

แม้บนบกจะดูคลื่นลมเงียบสงบ แต่เชื่อว่าใต้น้ำ ประชาธิปัตย์กำลังเกิดภาวะน้ำวน มีการเคลื่อนไหวที่พอเห็นร่องรอยอยู่บ้าง

'เชาว์ มีขวด' ขยับเกม นัดระดมพลคนรัก ปชป. จี้!! งดใช้ข้อบังคับพรรค ใช้สัดส่วน ส.ส.ชี้ชะตา

เมื่อไม่นานมานี้ นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ออกโรงรอบสาม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Chao Meekhuad’ เรื่อง จากใจ ถึงใจ คนรัก ปชป. วันที่ 8 ก.ค.เจอกันที่ลานพระแม่ธรณีฯ พรรคประชาธิปัตย์ โดยมีเนื้อหาระบุว่า

หลังจากที่ได้เสนอแนวคิดในการฟื้นฟูพรรคประชาธิปัตย์โดยเรียกร้องให้สมาชิกพรรคมีส่วนในการกำหนดชะตากรรมของพรรคผ่านเฟซบุ๊กไปแล้วสามครั้ง ปรากฏว่า ได้รับเสียงตอบรับจำนวนมาก จึงขอขอบคุณสมาชิกพรรคทั้งอดีตและปัจจุบันรวมทั้งผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกแต่มีความห่วงใยต่อพรรคประชาธิปัตย์ แม้ช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมาบางท่านอาจจะไม่เลือกคนของพรรค แต่ก็ยังมีความห่วงใยต่อช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์ จึงถือเป็นเรื่องดีที่ทุกคนจะได้กลับมาร่วมกันพัฒนาพรรคให้เติบโตเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

มีหลายคนประสานมายังผมต้องการให้ช่วยนัดวันพบปะกันระหว่างสมาชิก เพื่อแสดงจุดยืนก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 9 กรกฎาคม โดยได้ข้อสรุปว่า จะนัดเจอกันในวันเสาร์ที่ 8 กรกฎาคม เวลา 09.00 น. ณ ลานพระแม่ธรณี พรรคประชาธิปัตย์ โดยเริ่มต้นด้วยการสักการะขอพรพระแม่ธรณีบีบมวยผม ต่อจากนั้นก็จะเปิดเวทีเสวนาเล็ก ๆ เพื่อให้สมาชิกได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันตลอดทั้งวัน จึงประกาศเชิญชวนทุกท่านที่สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมนี้ได้ตามวันเวลาข้างต้นครับ

“ขอยืนยันว่าการพบปะกันในหมู่คนรักพรรค ปรารถนาที่จะเห็นการฟื้นฟูพรรคให้กลับมาเป็นสถาบันทางการเมืองในครั้งนี้ มิได้มีวาระซ่อนเร้นเพื่อผลักดันใครเป็นหัวหน้าพรรค แต่ต้องการเห็นพรรคกลับสู่เส้นทางที่ถูกต้องในทางการเมือง เปิดโอกาสให้ทุกเสียงในที่ประชุมใหญ่ ได้ร่วมชี้ชะตากำหนดอนาคตพรรค ด้วยการงดเว้นการใช้ข้อบังคับที่กำหนดให้ สัดส่วนของ ส.ส.คิดเป็น 70 % ขององค์ประชุมทั้งหมด เป็นทุกคนมีหนึ่งเสียงเท่ากัน ผมเชื่อว่าถ้าลดเพดานความอยากลง หลายคนจะเห็นความจริงตรงหน้ามากขึ้นว่า หัวหน้าพรรคคนต่อไปมีความสำคัญต่อพรรค มากกว่าการเป็นหุ่นเชิดให้ใครใช้เพื่อก้าวสู่อำนาจเท่านั้น

‘ทนายเชาว์’ ขย่มครั้งที่สองเสนอให้พรรคงดใช้ข้อบังคับพรรคในที่ประชุมใหญ่ ข้อที่กำหนดให้น้ำหนักกับ ส.ส.ถึง 70% ในการลงคะแนน ทนายเชาว์จึงเสนอให้งดใช้ขัอบังคับพรรคข้อนี้ และให้ทุกคนมีเสียงเท่ากับ 1 คน 1 เสียง และเปิดฉากที่สามด้วยการนัดแฟนพันธุ์แท้ของประชาธิปัตย์เจอกันวันเสาร์นี้ ก่อนการประชุมใหญ่ 1 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคทั่วไป ที่ยังรักพรรคประชาธิปัตย์ได้แสดงพลัง แสดงความคิดเห็นกันทั้งวันบริเวณลานพระแม่ธรณีบีบมวยผม

‘เชาว์ มีขวด’ ยกโมเดล พปชร. แก้วิกฤติพรรค หวังใช้แก้ปัญหาใน ปชป. หลังมี สส. แหกมิติพรรคโหวตนายกฯ

(24 ส.ค. 66) นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ‘ทนายเชาว์ มีขวด’ ระบุว่า…

ปล่อยมือเถอะครับ แล้วจากกันด้วยดี
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์ในการโหวตให้ความเห็นชอบนายเศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทย ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวานนี้ กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างสนุกปากว่าประชาธิปัตย์เละเป็นโจ๊ก เนื่องจากมี สส.กลุ่มของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีตเลขาธิการพรรค จำนวน 16 คน ได้โหวตสวนมติพรรคที่ให้งดออกเสียง เป็นเห็นชอบ

ที่ผมโฟกัสเฉพาะสส. 16 คน ไม่พูดถึง 2 อดีตหัวหน้าพรรคฯ ที่โหวตสวนมติเหมือนกัน แต่เป็นการลงคะแนนไม่เห็นชอบนั้น ก็เพราะทั้งคู่ได้แจ้งต่อที่ประชุมแล้วถึงจุดยืนที่ขอใช้เอกสิทธิ์ สส.ในกรณีนี้ แต่ สส. 16 คน ซึ่งเป็นจำนวนเดียวกับที่เคยตกเป็นข่าวว่า นายเดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา ใช้ต่อรองกับนายทักษิณ ชินวัตร ดีลร่วมรัฐบาลที่ฮ่องกง

เหตุการณ์ประหลาดเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นสถาบันหลักในทางการเมืองมายาวนานกว่า 78 ปี และยังมีจุดยืนทางการเมืองคนละขั้วกับพรรคเพื่อไทยอย่างชัดเจนในการต่อต้านระบอบทักษิณต่อสู้ห้ำหั่นกันมากว่าสองทศวรรษ ถึงขนาดนายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรค กล่าวภายหลังการประชุมรัฐสภาว่า ไม่น่าเชื่อว่า สส.ของพรรคจะโหวตออกมาอย่างนี้ ซึ่งก็ไม่ต่างไปจากสมาชิกพรรคที่มีความห่วงใย ในอนาคตของพรรคว่าถึงคราวจะสูญพันธุ์ตามที่หลายคนได้พูดถึงหรือไม่

จนถึงเวลานี้ ยังไม่มีคำชี้แจงจากกลุ่ม สส. ทั้ง 16 คน ถึงเหตุผลใดที่ให้พวกท่านตัดสินใจทำเช่นนั้น แต่ผมคิดว่าการฝ่าฝืนมติพรรคที่ตัวเองเป็นผู้กำหนดขึ้นเองคล้อยหลังเพียงหนึ่งวัน จากงดออกเสียงเป็นเห็นชอบ จะชี้แจงแก้ตัวอย่างไรคงฟังไม่ขึ้น เพราะการกระทำของพวกท่านหมดความชอบธรรมที่จะยกเหตุผลใดมาอธิบายนอกจากเห็นแก่ประโยชน์เฉพาะหน้าจากการเข้าร่วมรัฐบาล โดยที่พวกท่านลืมหลักการไปว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือในการแสวงหาอำนาจ โดยไม่คำนึงถึงอุดมการณ์และความรู้สึกของประชาชนที่เป็นผู้สนับสนุนพรรคมาอย่างยาวนาน

ผมเข้าใจดีว่าในวันที่พรรคอ่อนแอ หลายคนคิดแค่กอบโกยให้ได้มากที่สุด ทิ้งไว้เพียงซากปรักหักพัง เพราะไม่คิดที่จะอยู่ต่อแล้วในอนาคต แต่อยากให้ตระหนักสักนิดว่ายังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่คิดทิ้งพรรค หวังที่จะกอบกู้ สู้ไปด้วยกันแม้ในวันที่พรรคอ่อนล้าโรยแรง มีโมเดลที่พรรคพลังประชารัฐเคยทำ เมื่อครั้งมีความเห็นต่างจนไม่อาจหาข้อยุติได้ สุดท้ายร้อยเอกธรรมนัส เดินจากไป ปล่อยมือเถอะครับ แล้วจากกันด้วยดี”

‘เชาว์’ ซัดแรง!! ‘ประชาธิปัตย์’ ยุคผู้นำไร้สัจจะ ต่อไปจะกล้าก้มหน้ากราบพระแม่ธรณีได้อย่างไร?

(10 ธ.ค. 66) ‘เชาว์ มีขวด’ อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความน่าสนใจเกี่ยวกับการรักษาสัจจะของผู้นำทางการเมือง ผู้นำของพรรคประชาธิปัตย์…

โดย เชาว์ กล่าวนำว่า พรรคประชาธิปัตย์ในวันที่ผู้นำพรรคไม่มี ‘สจฺจํ เว อมตา วาจา’

“ผมไม่บอกว่าจะได้กี่เขต แต่วันที่พรรคมีวิกฤต ผมประกาศไว้ชัดเจนแล้ว ว่ารอบนี้ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ได้ต่ำกว่า 52 ที่ ผมเลิกเล่นการเมืองทั้งชีวิต เลิกเล่นนะ ไม่ใช่หยุดเล่น เลิกคือหันหลังเดินออกไปเลย”

เริ่มต้นเรื่องราวที่อยากบันทึกไว้ ด้วยคำพูดของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนปัจจุบัน ที่กล่าวไว้ในหลายเวทีหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ช่วงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เพื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ วันที่ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ ไม่มี ‘สจฺจํ เว อมตา วาจา’ เพราะจากที่เคยบอกจะวางมือทางการเมือง กลับมารับหน้าที่กุมบังเหียนพรรค ด้วยเหตุผลว่า…

“ผมมีความจำเป็นครับ และผมก็อยากจะเห็นพรรคเดินไปข้างหน้า ผมจะทำทุกอย่างให้พรรคมีเอกภาพ ผมจะทำให้พรรคซึ่งมีอยู่แล้วนี้ ยึดมั่นในหลักการและอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ และที่สำคัญเมื่อสักครู่ที่ผมคุยกับท่านหัวหน้าอภิสิทธิ์ก็คือ ผมยืนยันกับหัวหน้าอภิสิทธิ์ว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยเป็นพรรคอะไหล่”

ก้าวแรกของเส้นทางหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายเฉลิมชัย ก็ได้ทำลายหลักการ และคำขวัญของพรรค ‘สจฺจํ เว อมตา วาจา’ คำสัตย์แลเป็นวาจาไม่ตาย ไปเรียบร้อยแล้ว เพราะท่านไม่ได้รักษาสัจจะ สัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน

ผมไม่ได้รังเกียจนายเฉลิมชัยเป็นการส่วนตัว แต่การที่นายเฉลิมชัยตระบัดสัตย์ต่อคำพูดตนเองที่ให้ไว้ต่อสาธารณะ แล้วก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ เป็นสิ่งที่ไม่สง่างามในทางการเมือง และเป็นการทำลายพรรคประชาธิปัตย์ เพราะทุกคำพูดของนายเฉลิมชัย นับตั้งแต่วันนี้คือ ‘คำพูดของพรรคประชาธิปัตย์’ นายเฉลิมชัยพูด ก็คือพรรคพูด เพราะฉะนั้น ตราบใดที่นายเฉลิมชัยยังเป็นผู้นำพรรค พรรคประชาธิปัตย์ก็จะไม่มีความน่าเชื่อถือต่อสาธารณะอีกต่อไป

“ผมไม่แน่ใจว่า นายเฉลิมชัย จะก้มกราบพระแม่ธรณีบีบมวยผม บริเวณลานที่ทำการพรรค ซึ่งมีคำขวัญ ‘สจฺจํ เว อมตา วาจา’ อันแปลว่า ‘คำสัตย์แล เป็นวาจาไม่ตาย’ ที่จารึกอยู่ใต้ฐานพระแม่ธรณีฯ ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ของพรรคอย่างไม่ละอายได้อย่างไร ในเมื่อท่านไม่ได้มีวาจาสัตย์จริง ทุกคำพูดที่พ่นออกมาว่าจะฟื้นฟูพรรค สำหรับผมไม่มีความน่าเชื่อถือแม้แต่น้อย เพราะวันนี้คำว่า ‘พรรค’ ถูกทำลายจากคำว่า ‘พวก’, ‘อุดมการณ์’ ถูกทำลายเพราะความกระสันในอำนาจและผลประโยชน์ ไม่น่าแปลกใจที่นายเฉลิมชัย จะไม่กล้าฟันธงว่า พร้อมเป็นฝ่ายค้านไม่ร่วมรัฐบาล เพราะบางคนเห็นแสงรำไร กับ 2 โควตารัฐมนตรีในรัฐบาลที่ยังว่างอยู่”

เป็นที่รับรู้กับว่า ‘เชาว์  มีขวด’ ก้าวเข้าสู่วงการทางการเมืองจากการชักชวนของ ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ ให้เข้ามาทำหน้าที่รองโฆษกพรรคในสมัยที่อภิสิทธิ์นั่งเป็นหัวหน้าพรรค และถือว่าทำหน้าที่ได้ดี เมื่ออภิสิทธิ์ถอยออกไป เชาว์ก็ลดบทบาทตัวเองลง ไปประกอบอาชีพทนายความเหมือนเดิม

‘ทนายเชาว์’ แนะฟ้องศาลเอาผิด คกก. คัดเลือกฯ เหตุเลือก ‘กิตติรัตน์’ นั่ง ปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ ทั้งที่มีลักษณะต้องห้าม

(12 พ.ย.67) ‘ทนายเชาว์’ ชี้ ‘กิตติรัตน์’ ขาดคุณสมบัตินั่ง ปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ แนะฟ้องศาลฯ เอาผิด คกก.คัดเลือก ฐานจงใจเลือกคนมีลักษณะต้องห้าม เหตุพ้นตำแหน่งทางการเมืองไม่ถึง 1 ปี เชื่อส่งผลทำคนติดคุกได้ ชี้ตำแหน่ง 'ที่ปรึกษาของนายกฯ' แม้ไม่ใช่ ขรก.การเมือง แต่ถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

นายเชาว์ มีขวด ทนายความ โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก ระบุว่า 'กิตติรัตน์' ขาดคุณสมบัตินั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ผมไม่เข้าใจว่าเหตุใดคณะกรรมการคัดเลือก 7 คน จึงมีมติเลือกนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ และเตือนไว้เลยว่า ใครก็ตามที่ลงคะแนนให้นายกิตติรัตน์ นั่งเก้าอี้ตัวนี้ ท่านเตรียมสู้คดีในชั้นศาล ที่อาจต้องจบที่เรือนจำได้เลย

ที่พูดแบบนี้ก็เพราะ ระเบียบว่าด้วยการประชุมของคณะกรรมการคัดเลือก การเสนอชื่อ การพิจารณาและการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 กำหนดไว้ชัดเจนในหมวดที่ 2 การเสนอชื่อ การพิจารณาและการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ไว้ในข้อ 16 (4) ว่า ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี

โดยเจตนารมณ์ของระเบียบฯ ที่กำหนดไว้เช่นนี้

ต้องการให้ บุคคลที่จะได้รับคัดเลือกเป็น ประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย มีความเป็นกลาง ไม่มีส่วนได้เสีย หรือ เกี่ยวข้อง กับการเมือง 

แต่นายกิตติรัตน์ เคยเป็นประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี  ตามคำสั่ง สำนักนายกรัฐมนตรีที่ 214 / 2566 เรื่องแต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี  โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินพ.ศ. 2535 มีทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษา และพิจารณาเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่าง ๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย

โดยให้ส่วนราชการสนับสนุนงานของที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีตามที่ได้รับการร้องขอและให้สำนักเลขาธิการนายกดนตรีอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามระเบียบของราชการโดยให้เบิกจ่ายจากสำนักเลขานายกรัฐมนตรี

เห็นได้ชัดว่าตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีของนายกิตติรัตน์ แม้โดยนิตินัยจะไม่ได้เป็นข้าราชการการเมือง โดยเลี่ยงใช้คำว่าที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี แต่โดยพฤตินัย ตามคำสั่ง สำนักนายกรัฐมนตรีที่ 214 / 2566 ระบุให้ นายกิตติรัตน์ ทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษา และพิจารณาเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่าง ๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย และให้ส่วนราชการสนับสนุนงานของที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีตามที่ได้รับการร้องขอและให้สำนักเลขาธิการนายกฯ อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามระเบียบของราชการโดยให้เบิกจ่ายจากสำนักเลขานายกรัฐมนตรี

ตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ของนายกิตติรัตน์ จึงอยู่ในความหมายของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามความใน ข้อ 16 (4) ของระเบียบว่าด้วยการประชุมของคณะกรรมการคัดเลือกฯ เพราะนายกิตติรัตน์ ยังพ้นตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกฯ ไม่ถึงหนึ่งปี โดยพ้นตำแหน่งไปในวันที่นายเศรษฐา ทวีสิน หลุดตำแหน่งนายกฯ เมื่อวันที่ 14 ส.ค.67 เท่ากับเพิ่งพ้นหน้าที่มาเพียงแค่ไม่ถึงสามเดือน

ถ้าเราปล่อยให้นายกิตติรัตน์ ได้เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ด้วยข้ออ้างว่าตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกฯ ไม่ใช่ข้าราชการการเมือง จึงไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย ต่อไประเบียบฯ เรื่องห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาเป็นประธานหรือกรรมการแบงก์ชาติ เว้นพ้นตำแหน่งแล้ว 1 ปี จะกลายเป็นหมันใช้บังคับในทางปฏิบัติไม่ได้ เพราะการเมืองใช้วิธีศรีธนญชัยเล่นแร่แปรธาตุทางกฎหมาย

ผมยืนยันว่าในทางกฎหมายแม้ตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกฯ จะไม่ใช่ข้าราชการการเมือง แต่หน้าที่ที่ทำตามคำสั่งนายกฯ ถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างแน่นอน กรณีนี้ผมเสนอให้มีการฟ้องศาลฯ เอาผิดคณะกรรมการคัดเลือก จงใจเลือกคนที่ไม่มีคุณสมบัติเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ไปให้สุดจะได้รู้ว่าต้องไปหยุดที่คุกหรือไม่

‘ทนายเชาว์’ แฉเงินสะพัด ‘ร่อนพิบูลย์’ หัวละ 500 บาท แบ่งสายเดินแจกเงินโจ๋งครึ่ม อย่างไม่เกรงกฎหมายบ้านเมือง

'เชาว์' แฉเงินสะพัด 'ร่อนพิบูลย์' แบ่งสายเดินแจกเงินโจ๋งครึ่ม สงสัย กกต.หายไปไหน ปลุกคนคอนกำจัดวงจรอุบาทว์ รับเงินไม่กา สกัดกาฝากดูดเลือด ปชช.

(31 ม.ค.68) นายเชาว์ มีขวด ทนายความ โพสต์ Facebook Chao Meekhuad เรื่อง โค้งสุดท้าย 'ร่อนพิบูลย์' เมืองคอน เงินสะพัดแจกหัวละ 500! มีเนื้อหาระบุว่า 

ขณะนี้ผมทราบว่ามีขบวนการทุจริตการเลือกตั้ง สจ. เขตเลือกตั้งที่ 2 อำเภอร่อนพิบูลย์ มีการล่ารายชื่อประชาชนมาหลายวันแล้ว ทำกันโจ่งแจ้ง ใช้หัวคะแนนซึ่งเป็นผู้นำท้องที่ผู้นำชุมชน วันนี้เริ่มแบ่งสายเดินแจกเงินชาวบ้านคนละ 500 บาท โดยไม่เกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง

ผมไม่ทราบว่า กกต. ซึ่งมีหน้าที่จับทุจริตเลือกตั้ง หายหัวไปไหนกันหมด เพราะมีการกระทำกันอย่างโจ่งแจ้ง แต่พวกท่านใส่เกียร์ว่าง หรือ พวกท่านรู้เห็นเป็นใจ เพราะผมทราบมาว่ามีนักการเมืองระดับชาติเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการซื้อเสียง

เป็นเรื่องที่เลวร้ายมากที่เกิดขึ้นกับอำเภอร่อนพิบูลย์ เห็นประชาชนเป็นผักเป็นปลาตีค่าแค่คนละ 500 บาท เพื่อเป็นบันไดเข้าสู่อำนาจ แล้วถอนทุนโกงกินงบประมาณภาษีของพี่น้องประชาชน คือวงจรอุบาทว์ทางการเมือง ทำให้ภาพพจน์ของอำเภอร่อนพิบูลย์เสียหาย ถ้าทำสำเร็จ ต่อไปอำเภอร่อนพิบูลย์อาจจะถูกเรียกอำเภอร่อนพิบูลย์ 500 

“เรื่องนี้ผมจึงรับไม่ได้และขอเรียกร้องไปที่พี่น้องประชาชนที่รับเงินจากนักการเมืองที่ใช้เงินซื้อเสียง อย่าไปกาคะแนนให้ เพราะถ้าการคะแนนให้ เท่ากับ สนับสนุนให้เขาเข้าไปโกง เป็นวงจรอุบาทว์ทางการเมืองไม่รู้จักจบสิ้น อยากได้ตัวแทนประชาชน สุดท้ายอาจได้แค่กาฝากเข้าไปดูดเลือดชาวบ้านกลายเป็นห่วงโซ่แห่งความชั่วร้าย ฉุดรั้งไม่ให้บ้านเกิดของเราพัฒนา ทุกท่านสามารถกำจัดวงจรอุบาทว์ได้ด้วยการไม่เลือกคนที่ทุจริตเลือกตั้ง”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top