‘เชาว์ มีขวด’ ชี้ คดีจำนำข้าวคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ส่วน ‘นรวิชญ์–ภูมิธรรม’ แค่สร้างวาทกรรมเบี่ยงประเด็น
‘เชาว์ มีขวด’ ชี้ คดีจำนำข้าว คำพิพากษาศาลสูงสุดถึงที่สุดแล้ว ‘ยิ่งลักษณ์’ ขอเปิดคดีใหม่ไม่ได้ พร้อมตอกกลับ ‘นรวิชญ์–ภูมิธรรม’ แค่สร้างวาทกรรมเบี่ยงประเด็น
(23 พ.ค.68) นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'ทนายเชาว์ มีขวด' แสดงความเห็นกรณีที่ นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าคดีจำนำข้าวยังสามารถขอพิจารณาใหม่ได้ คดีจำนำข้าวยิ่งลักษณ์ ขอพิจารณาคดีใหม่ได้หรือไม่ ว่า...
กรณีนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจจาก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เปิดเผยหลังฟังคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดว่า เตรียมรวบรวมข้อมูลเพื่อรื้อคดีใหม่ภายใน 90 วัน เพื่อขอความเป็นธรรมให้กับอดีตนายกฯ โดยชี้ว่าหลังการรัฐประหาร 22 พ.ค. 57 มีข้าวคงเหลือในคลัง 18.9 ล้านตัน ถ้าหากรัฐขายข้าวได้ราคาสูงกว่าอนุกรรมการปิดบัญชีคำนวณไว้ ก็สามารถหักทอนกับที่ยิ่งลักษณ์ต้องรับผิดชอบได้
ด้าน ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้กล่าวถึงกรณีนี้และเชื่อว่าหลักฐานจากการระบายข้าวค้างสต็อกในสมัยที่ตนเป็น รมว.พาณิชย์ ซึ่งสามารถขายข้าว 10 ปีได้ในราคากิโลกรัมละ 18 บาท จะเป็นข้อต่อสู้สำคัญในคดีของยิ่งลักษณ์ เพื่อพิสูจน์ว่าข้าวไม่ได้เสียหายตามที่กล่าวหา และไม่ได้เน่าเสียอย่างที่มีการโจมตีในอดีต โดยยืนยันว่าการขายข้าวดังกล่าวไม่ใช่เรื่องการเมือง
การออกมาให้ความเห็นของสองบุคคลดังกล่าว ทำให้สังคมสับสน ว่าคดีนางสาวยิ่งลักษณ์ยังสามารถขอพิจารณาคดีใหม่ได้หรือไม่ และ สามารถนำข้าวคงเหลือในคลัง 18.9 ล้านตันมาหักทอนกับที่ยิ่งลักษณ์ต้องรับผิดชอบได้หรือไม่
คดีนี้ ประเด็นสำคัญที่ศาลได้หยิบยกขึ้น พิจารณาวินิจฉัย คือ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) จํานวน 4 ฉบับ มีความเสียหายเป็นจํานวนเงินทั้งสิ้น 20,057,723,761.66 บาท ซึ่งยิ่งลักษณ์ทราบปัญหาแเล้วจากการส่งหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบดำเนินโครงการทั้งจาก สตง.และป.ป.ช. แต่กลับไม่ติดตามกำกับดูแล เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กบข.) เพียงครั้งเดียว ส่งผลให้มีปัญหาระบายข้าวไม่ทัน ศาลฯ จึงเห็นว่า ยิ่งลักษณ์ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นเหตุ กระทรวงการคลัง ได้รับความเสียหาย ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ กระทรวงการคลัง ตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง ประกอบกับมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่งพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 จำนวนเงิน 10,028 ล้านบาท
ประเด็นสำคัญในคดีที่ศาลฯ วินิจฉัยจึงไม่ใช่ ประเด็นว่า มีข้าวเหลือทั้งโครงการในคลัง 18.9 ล้านตัน ถ้าหากรัฐขายข้าวได้ราคาสูงกว่าอนุกรรมการปิดบัญชีคำนวณไว้ก็สามารถหักทอนกับที่ยิ่งลักษณ์ต้องรับผิดชอบได้ ซึ่งเป็นคนละส่วนกัน และไม่ถือว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่เพราะข้อมูลข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปและปรากฏอยู่ในสำนวนคดีนี้แล้ว
“ผมจึงเห็นว่า คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดถึงที่สุดแล้วตาม พรบ ตาม พรบ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. 2542 มาตรา 73 ที่บัญญัติว่า “คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดให้เป็นที่สุด และไม่เข้าเงื่อนไขเรื่องการขอพิจารณาคดีใหม่ตามมาตรา 75 ”
การออกมาให้ความเห็นของนายนรวิทย์และนายภูมิธรรม มองเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจาก “ความพยายามสร้างกระแสทางการเมืองเพื่อเบี่ยงเบนประเด็นจากสาระของคดี” มากกว่าจะเป็นข้อเสนอที่ตั้งอยู่บนฐานกฎหมายและข้อเท็จจริง เพราะในข้อเท็จจริงแล้ว คดีนี้ไม่ได้ตัดสินที่จำนวนข้าวเหลือหรือราคาขายย้อนหลัง แต่ตัดสินที่ ความรับผิด ปล่อยปละละเลยไม่ควบคุม การทุจริตในโครงการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ศาลได้วินิจฉัยโดยมีพยานหลักฐานชัดเจน
ดังนั้น การหยิบยกประเด็นราคาขายข้าวย้อนหลังมาเชื่อมโยงกับความรับผิดของอดีตนายกรัฐมนตรีในคดีนี้ จึงเป็นการสื่อสารที่ต้องการเบี่ยงเบนประเด็น และอาจสร้างความเข้าใจผิดแก่สาธารณชน โดยเฉพาะเมื่อคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดได้วางหลักไว้ชัดเจนว่าไม่สามารถหักล้างหรือขอพิจารณาใหม่ได้ เว้นแต่จะมี “พยานหลักฐานใหม่ที่ศาลยังไม่เคยรับรู้และอาจเปลี่ยนผลแห่งคดี” ซึ่งไม่ปรากฏในกรณีนี้ หากจะต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในทางสังคม ควรตั้งอยู่บนฐานของข้อเท็จจริงและหลักกฎหมาย มิใช่การสร้างวาทกรรมที่อาจกลายเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของระบบยุติธรรม