Thursday, 23 May 2024
เงินหยวน

IMF เพิ่มอัตราส่วนเงินหยวน ใน SDR ครั้งแรก สวนทาง เงินเยน-ปอนด์-ยูโร ที่ถูกปรับลง

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยเมื่อวันเสาร์ว่าได้เพิ่มอัตราส่วนของดอลลาร์และหยวนของจีนในการทบทวนสกุลเงินที่ประกอบขึ้นเป็นสิทธิพิเศษถอนเงิน (SDR) ซึ่งเป็นสินทรัพย์สำรองระหว่างประเทศของทางกองทุน 

การทบทวนครั้งนี้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เงินหยวนหรือเงินเหรินหมินปี้ (renminbi) เข้าร่วมตะกร้าสกุลเงินในปี 2559 ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในความพยายามของปักกิ่งในการทำให้สกุลเงินเป็นสากลมากขึ้น

IMF ได้เพิ่มน้ำหนักของสกุลเงินสหรัฐเป็น 43.38% จาก 41.73% และเงินหยวนเป็น 12.28% จาก 10.92% การถ่วงน้ำหนักของเงินยูโรลดลงเหลือ 29.31% จาก 30.93% เงินเยนลดลงเหลือ 7.59% จาก 8.33% และเงินปอนด์อังกฤษลดลงเหลือ 7.44% จาก 8.09%

กองทุนการเงินระหว่างประเทศกล่าวในแถลงการณ์ว่าคณะกรรมการบริหารได้กำหนดอัตราส่วนสกุลเงินโดยพิจารณาจากการพัฒนาการค้าและตลาดการเงินตั้งแต่ปี 2560 ถึง 2564

'หมีขาว' หนุน 'หยวน-รูเบิล' เป็นตัวกลางการค้าหลัก 'จีน-รัสเซีย' พร้อมขยายเป็นเงินสกุลหลัก เพื่อการทำธุรกรรมกับนานาประเทศ

เมื่อไม่นานมานี้ วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ลั่นหลังสีจิ้นผิง ผู้นำจีนเข้าพบ เตรียมอนุมัติใช้เงินหยวนเป็นสกุลเงินหลัก สำหรับการซื้อขายกับปะเทศในภูมิภาคเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา เพื่อคานอำนาจและตอบโต้สหรัฐอเมริกา และ นาโต้ ที่หนุนความขัดแย้งผ่านทางยูเครน

ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน กล่าวหลังจากที่ได้พบปะพูดคุยกับนายสีจิ้นผิง โดยทั้งจีนและรัฐเซียมีความสัมพันธ์เป็นพันธมิตรกันอย่างแน่นแฟ้น โดยเมื่อไม่กี่ชั่วโมงก่อน ปูติน ได้เรียกร้องให้มีการทำให้เงินหยวนของจีนเป็นสากล ซึ่งมูลค่าการค้าประมาณ 2 ใน 3 ของการค้าระหว่างรัสเซียและจีนมีการซ้อขายด้วยเงินหยวนและรูเบิล โดยประเทศรัสเซียสนับสนุนการใช้เงินหยวนในการเป็นสกุลเงินหลักสำหรับการเจรจาการค้าและธุรกรรมระหว่างประเทศระหว่างรัสเซียกับประเทศต่างๆ ในเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา

พันธมิตรของจีนและรัสเซีย ‘ไม่ใช่การเผชิญหน้า’

ทั้งนี้จีนกลายเป็นเส้นเลือดใหญ่ทางเศรษฐกิจที่สำคัญสำหรับรัสเซีย เมื่อเผชิญกับการคว่ำบาตรจากตะวันตก และตอนนี้ ความเคลื่อนไหวล่าสุดก็พร้อมที่จะกระชับความสัมพันธ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ขณะที่ในฐานะส่วนหนึ่งของการเยือนมอสโกในปัจจุบันของ สีจิ้นผิง ผู้นำทั้งสองได้ลงนามในข้อตกลงทางเศรษฐกิจอย่างน้อย 14 ฉบับเมื่อวันที่ 21 มีนาคม โดยในรายงานดังกล่าว รวมถึงประเด็นต่าง ๆ ตั้งแต่ความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ไปจนถึงการผลิตรายการโทรทัศน์ร่วมกัน การประกาศล่าสุดของปูตินระบุว่า ทั้งสองประเทศกำลังร่วมกันหาทางที่จะชดเชยการครอบงำทั่วโลกของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

ไขข้อสงสัย ทำไมหลายประเทศถึงหันมาใช้ ‘เงินหยวน’ ของ ‘จีน’ ในวันที่ ‘เงินดอลลาร์’ ของสหรัฐฯ กำลังเริ่มเสื่อมความนิยม

เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 66 ได้มีผู้ใช้งานติ๊กต็อกท่านหนึ่ง ชื่อ ‘thailaotogether’ ได้ออกมาอธิบาย กรณีที่ สปป.ลาว ได้มีการอนุมัติใช้เงินหยวนของประเทศ เพื่อเป็นทางเลือกในการใช้จ่ายทางการค้าระหว่างประเทศ โดยได้ระบุว่า…

เงินหยวน จะมาแทนที่เงินกีบ? จีนจะมากลืนลาว ลาวจะกลายเป็นมณฑลส่วนหนึ่งของจีน? ทำไมประเด็นต่างๆ เหล่านี้ถึงได้กำลังกลายเป็นกระแสดรามาที่ถูกพูดถึงกันอย่างมากในโลกโซเชียล ชุดความคิดนี้มีที่มาอย่างไร? และทำไมประเทศในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ‘อาเซียน’ ถึงเปลี่ยนมาใช้สกุลเงินหยวนกัน

โดยประเด็นนี้เริ่มจากการที่ ผู้ว่าการแบงค์ชาติ นายบุนเหลือ สินไซวอละวง ผู้ว่าการธนาคารแห่ง สปป.ลาว และ นายอี้ กัง ผู้ว่าการธนาคารประชาชนจีน ได้ลงนามแต่งตั้งสกุลเงินหยวน เพื่อการชำระบัญชีเงินระหว่างกันของทั้ง 2 ประเทศ มีการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างกัน โดยไม่ต้องอ้างอิงเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

การอ้างอิงหมายความว่าอย่างไร? ตรงนี้สืบเนื่องจากการที่ สปป.ลาว ใช้สกุลเงินกีบในการค้าขายภายในประเทศ แต่ในบางพื้นที่ที่อยู่ใกล้ชิดติดกับประเทศไทย ในบางครั้งก็อาจจะมีการใช้สกุลเงินบาทกันได้

ทั้งนี้ทั้งนั้น สินค้าทั่วไปใน สปป.ลาว มีการซื้อขายกันโดยใช้สกุลเงินกีบ แต่ถ้าหากเป็นรถยนต์ หรือบ้าน จะใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นตัวอ้างอิง เพื่อให้มีความสอดคล้องกับสากล

การอ้างอิงของเงินตราระหว่างประเทศที่เป็นสากล คือ ‘เงินดอลลาร์สหรัฐฯ’ ที่มีความครอบคลุมเกือบทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศในภูมิภาคอาเซียนด้วย

แต่ในขณะเดียวกัน ในตอนนี้ ประเทศจีนมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ทำให้ต่างชาติมีการชำระเงิน และเกิดการค้าขายกันโดยใช้สกุลเงินหยวนมากขึ้น จนสามารถแซงหน้าสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วยสัดส่วนที่สูงถึง 48% จนทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ตกลงมาอยู่ที่อันดับ 2 ด้วยสัดส่วนที่เหลือเพียง 46%

ซึ่งสิ่งนี้ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นที่เกิดการตั้งข้อสังเกตในโซเชียลกันว่า ประเทศจีนจะมากลืนกิน สปป.ลาว แต่อย่างใด และในขณะเดียวกัน ประเทศจีนเองก็สนับสนุนให้นานาประเทศใช้สกุลเงินท้องถิ่นเป็นหลัก แต่ให้ใช้เงินหยวนในลักษณะของการอ้างอิงและชำระเงินในการค้าขายระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ที่มากขึ้น และทำให้ภูมิภาคอาเซียนมีความแข็งแรงยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่ได้มีการหันมาใช้สกุลเงินหยวนนั้น เริ่มมีเพิ่มมากยิ่งขึ้น เช่น ประเทศบราซิล ได้มีการทำข้อตกลงการค้าขายระหว่างกันกับประเทศจีน และได้มีการชำระเงินระหว่างกันโดยใช้สกุลเงินหยวนแทนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

ประเทศต่อมาคือ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ที่กำลังมีการพิจารณาการซื้อขายน้ำมันกันอยู่ โดยก่อนหน้านี้ ทั้ง 2 ประเทศนี้ จะใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นสกุลเงินกลางในการค้าขายระหว่างประเทศ ซึ่งในขณะนี้ทั้ง 2 ประเทศกำลังพิจารณาอนุมัติการใช้สกุลเงินหยวน เพื่อใช้ในการค้าขายระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม หากประเทศซาอุดีอาระเบีย ไปทำการค้าขายน้ำมันกับอีกทางภูมิภาคหนึ่ง หรือประเทศสหรัฐอเมริกา ก็จะมีการทำข้อตกลงในการใช้สกุลเงินอื่นระหว่างกัน หรืออาจใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะมีความเป็นสากลมากที่สุด และขณะเดียวกัน หากประเทศซาอุดีอาระเบีย มาทำการค้าขายกับประเทศไทย ก็คงมีการทำข้อตกลงร่วมกันในการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ หรืออาจะเป็นสกุลเงินอื่นๆ ก็เป็นได้ ขึ้นอยู่กับว่าสกุลเงินใดให้ประโยชน์สูงสุดกับทั้ง 2 ประเทศ

ล่าสุด ประเทศอาร์เจนตินา เพิ่งได้มีการทำข้อตกลงกับประเทศจีนในการใช้สกุลเงินหยวนในการค้าขายระหว่างประเทศ เนื่องจากประเทศจีนได้มีการทำสัญญากับประเทศอาร์เจนตินา ว่าหากประเทศอาร์เจนตินาใช้สกุลเงินหยวน และได้ทำการสั่งซื้อสินค้าจากประเทศจีน ประเทศจีนจะอนุมัติการขนส่งสินค้าภายใน 90 วัน ซึ่งก่อนหน้านี้ต้องใช้เวลาในการอนุมัตินานถึง 180 วัน ทำให้สิ่งนี้จึงกลายเป็นผลประโยชน์ทางการค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีประเทศฝรั่งเศสที่ได้ทำข้อตกลงร่วมกันกับประเทศจีน ในการซื้อขายน้ำมัน และแก๊สธรรมชาติ โดยใช้สกุลเงินหยวนในการชำระทางการค้า

นี่คือสิ่งที่ประเทศจีนพยายามจะทำให้ต่างประเทศหันมาใช้สกุลเงินหยวน ซึ่งการทำข้อตกลงในการใช้เงินหยวนเพื่อการค้าขายนี้ ทำให้ประเทศจีนประสบผลสำเร็จ จนสามารถก้าวขึ้นเป็นอันดับ 1 ในการทำการค้าขายกับต่างประเทศในที่สุด

และหากลองมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย จะเห็นว่าประเทศไทยเองก็ได้มีการทำสัญญาหรือข้อตกลงร่วมกันกับประเทศจีน ในการใช้สกุลเงินหยวน ซึ่ง ณ ขณะนั้น มี 3 ประเทศที่มีการทำข้อตกลงร่วมกัน คือ ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย อีกทั้งประเทศจีนเองก็มีความต้องการให้ประเทศในภูมิภาคอาเซียนหันมาใช้สกุลเงินหยวน ทำให้ในตอนนี้ ประเทศในแถบเอเชีย และประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง ซึ่งประกอบไปด้วย ประเทศไทย ลาว เมียนมา และกัมพูชา มีการทำข้อตกลงที่จะใช้เงินหยวนในการค้าขายระหว่างกัน

นอกจากนี้ ประเทศจีนยังได้สร้างระบบในการชำระ เรียกว่า ‘ระบบให้บริการชำระเงินและเคลียริ่งข้ามพรมแดน สำหรับสถาบันการเงินในประเทศและต่างประเทศ’ หรือที่เรียกว่า ‘CIPT’ ขึ้นมา เป็นระบบกลางที่ช่วยให้สามารถชำระเงินระหว่างประเทศกันได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

ซึ่งก่อนหน้านี้ ทั่วโลกชำระเงินในการค้าขายระหว่างกันด้วยระบบสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งขึ้นตรงกับมหานครนครนิวยอร์ก ในประเทศสหรัฐอเมริกา และได้มีการหักค่าธรรมเนียมในการให้บริการสูงมาก เพราะเหตุนี้เอง จึงทำให้ประเทศจีนมีความต้องการที่จะทำให้ประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น โดยการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการซื้อขายภายในประเทศเป็นหลัก และใช้สกุลเงินหยวนในการอ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงิน ในการค้าขายระหว่างประเทศ

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นที่ว่า การที่ สปป.ลาวใช้สกุลเงินหยวน จะทำให้สกุลเงินกีบนั้นหายไป และ สปป.ลาวจะถูกกลืนกินชาติ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีนแต่อย่างใด หากมองให้ลึกลงไป ในบางประเทศที่มีการอนุมัติใช้สกุลเงินหยวนในการอ้างอิงการซื้อขาย หรือแลกเปลี่ยนกันนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับแต่ละประเทศ ส่งผลให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยกันทั้งสิ้น

นอกจากนี้ สาเหตุที่ทำให้สกุลเงินกีบของ สปป.ลาว อ่อนค่าลงนั้น สืบเนื่องมาจากหลายๆ ประเทศได้หันมาใช้สกุลเงินหยวนกัน เนื่อกจากมีความกลัวว่าสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะไม่มีเสถียรภาพ เพราะการที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ไหลออกนอกประเทศ อาจส่งผลให้สกุลเงินต่างๆ ที่มีการทำการค้าขายกันนั้นอ่อนค่าลงนั้นเอง

อีกทั้งขณะเดียวกัน ประเทศสหรัฐฯ ยังได้มีการคว่ำบาตรประเทศรัสเซีย รวมถึงประเทศคู่ค้าที่เป็นพันธมิตรกับประเทศรัสเซีย นั่นคือ ประเทศจีน และ สปป.ลาว นอกจากนี้ ประเทศไทยเองก็ยังได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เพราะทุกวันนี้ ค่าเงินบาทของไทยนั้นอ่อนค่าลงเล็กน้อย ซึ่งถือว่ายังน้อยกว่าเมื่อเทียบ สปป.ลาว ที่สกุลเงินกีบนั้นอ่อนค่าลงอย่างเห็นได้ชัด

เพราะฉะนั้น นี่จึงเป็นอีกหนึ่งในมาตรการของ สปป.ลาว ที่คิดจะใช้สกุลเงินหยวนเข้ามาแทนที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ที่มากขึ้น เกิดเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้ง ยังเป็นการทำให้มีเงินหลั่งไหลเข้าไปในประเทศมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

เรื่องนี้นับได้ว่า เป็นทั้งเรื่องที่ไกลตัว และใกล้ตัว เพราะเมื่อใดก็ตามที่ประเทศเพื่อนบ้านของเรามีความแข็งแรง ประเทศของเราก็มีความแข็งแรงมากขึ้นเช่นกัน จึงสามารถมองได้ว่า วิธีการนี้คือ หลักการคิดของประเทศจีน ที่ต้องการให้ประเทศในภูมิภาคอาเซียน สามารถพึ่งพาตัวเองและพึ่งพากันเองได้ ก่อนที่จะไปพึ่งพาประเทศในภูมิภาคอื่นๆ จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมประเทศจีนถึงอยากให้แต่ละประเทศในอาเซียนนั้นหันมาใช้เงินหยวน

‘ปากีฯ’ จ่ายเงินค่าน้ำมันดิบรัสเซียเป็น ‘เงินหยวน’ จากเดิมที่ทำธุรกรรมเป็น ‘เงินดอลลาร์’ ส่วนใหญ่

ปากีสถานชำระเงินค่าน้ำมันดิบที่ได้รับการส่งมอบชุดแรกจากรัสเซีย ด้วยสกุลเงินหยวนของจีน ตามรายงานของรอยเตอร์เมื่อเร็ว ๆ นี้ อ้างอิงคำกล่าวของ มูซาดิค มาลิก รัฐมนตรีการปิโตรเลียมของปากีสถาน ส่วนหนึ่งในความพยายามลดพึ่งพิงดอลลาร์สหรัฐ

น้ำมันดิบดังกล่าวถูกลำเลียงมาถึงนครการาจีเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงที่ทางรัสเซียและปากีสถานบรรรลุกันเมื่อเดือนมกราคม และคำสั่งแรกภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นในเดือนเมษายน

มาลิก ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดด้านราคาหรือส่วนลดในการจัดซื้อครั้งนี้ แต่รายงานของรอยเตอร์ระบุว่า มันเป็นการชำระด้วยสกุลเงินหยวน ซึ่งการทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินของจีน ถือเป็นการปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญของปากีสถาน ในด้านนโยบายการชำระเงินขาออก จากเดิมที่ทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินดอลลาร์เป็นส่วนใหญ่

รัสเซียลงนามในข้อตกลงน้ำมันกับปากีสถาน ส่วนหนึ่งในความพยายามกระจายลู่ทางการส่งออกของพวกเขา หลังจากถูกอียู จี7 และบรรดาชาติพันธมิตรกำหนดมาตรการคว่ำบาตรร่วมกันในเดือนธันวาคม เช่นเดียวกับมาตรการควบคุมเพดานราคาไว้ไม่เกิน 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

มอสโกปรับเปลี่ยนกระแสน้ำมันมุ่งหน้าสู่ประเทศต่าง ๆ อย่างเช่นอินเดีย และจีน และตกลงชำระเงินด้วยสกุลเงินอื่น ๆ แทนดอลลาร์ สืบเนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรที่ตัดขาดมอสโกจากระบบการเงินของตะวันตก

อ้างอิงจากรายงานข่าวก่อนหน้านี้ ปากีสถานตกลงซื้อน้ำมันดิบรัสเซียในราคาราว 50 ถึง 52 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เมื่อปีที่แล้ว ประเทศแห่งนี้นำเข้าน้ำมันดิบ 154,000 บาร์เรลต่อวัน แต่ในนั้น 80% เป็นการนำเข้าจากซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประเทศอื่น ๆ ในอ่าวอาหรับ

การนำเข้าพลังงานมีสัดส่วนมากที่สุดในการชำระเงินขาออกของปากีสถาน พวกเขาหวังว่าน้ำมันดิบลดราคาของรัสเซียจะช่วยรักษาเสถียรภาพด้านราคาน้ำมันในประเทศ ซึ่งกำลังเผชิญหนี้ภายนอกระดับสูง ค่าเงินอ่อนค่า และทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับต่ำมาก

‘อาร์เจนตินา’ ใช้ ‘เงินหยวน’ จ่ายหนี้ IMF สะท้อน!! เงินดอลลาร์เริ่มเสื่อมมนต์ขลัง

(3 ก.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงาน อาร์เจนตินาเลือกใช้ ‘หยวน’ เป็นครั้งแรก ในการชำระหนี้บางส่วนแก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เมื่อวันศุกร์ (30 มิ.ย.) กลายเป็นอีกหนึ่งชาติในหลาย ๆ ประเทศที่เพิ่มสัดส่วนของสกุลเงินจีนในเศรษฐกิจของตนเอง พร้อมกับลดพึ่งพิงดอลลาร์สหรัฐ ความเคลื่อนไหวที่พวกผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ามันจะเร่งให้ ‘หยวน’ กลายเป็นสกุลเงินสากลเร็วยิ่งขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะเป็นการแสดงผลลัพธ์ให้บรรดาเศรษฐกิจเกิดใหม่ได้เห็น ในขณะที่พวกเขาต้องเผชิญกับวิกฤตเลวร้ายจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อระดับสูงของสหรัฐฯ โดยเวลานี้มีบรรดาเศรษฐกิจเกิดใหม่หลายชาติเพิ่มเติม ที่ปักหมุดหันเข้าหาเงินหยวนและละทิ้งดอลลาร์ เพื่อผละหนีความเสี่ยงต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังคาดหมายด้วยว่ามันจะเร่งให้หยวนกลายเป็นสกุลเงินสากลมากยิ่งขึ้นและมีการใช้หยวนในตลาดระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น

ตามรายงานของสำนักข่าวซินหัว อาร์เจนตินาได้ชำระหนี้แก่ไอเอ็มเอฟด้วยสกุลเงินหยวน ในมูลค่าเทียบเท่ากับ 1,000 ล้านดอลลาร์ และอีก 1,700 ล้านดอลลาร์ จะจ่ายในรูปแบบ Special Drawing Rights (สิทธิถอนเงินพิเศษ) ซึ่งคือสินทรัพย์ประเภทหนึ่งที่เปรียบเสมือนเงินสกุลหนึ่ง ที่สร้างขึ้นโดยไอเอ็มเอฟ

ธนาคารกลางอาร์เจนตินาแถลงก่อนหน้านี้ ว่าจะอนุญาตให้สถาบันการเงินต่าง ๆ ใช้เงินหยวนของจีนในฐานะสกุลเงินสำหรับเงินฝากและเงินออมส่วนบุคคลหรือนิติบุคคลที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อกระตุ้นให้มีการใช้เงินหยวนมากยิ่งขึ้น โดยที่สถาบันการเงินทั้งหลายจะสามารถเปิดได้ทั้งสมุดเช็ค หรือบัญชีเงินฝากในรูปแบบของสกุลเงินจีน

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นตามหลังการเดินทางเยือนจีนของ เซอร์จิโอ มาสซา รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาร์เจนตินา พร้อมด้วยคณะผู้แทนคนอื่น ๆ ของรัฐบาล เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งระหว่างนั้นได้มีการลงนามแผนความร่วมมือส่งเสริมข้อริเริ่มเข็มขัดและเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ที่เสนอโดยจีน โดยที่ความร่วมมือด้านการเงินและประเด็นการคลังคือแก่นกลางของแผนดังกล่าว

หลิว หยิง นักวิจัยจากสถาบันศึกษาการเงินฉงหยาง แห่งมหาวิทยาลัยเหรินหมินในจีน ให้สัมภาษณ์กับโกลบอลไทม์สในวันอาทิตย์ (2 ก.ค.) ว่า "อาร์เจนตินาเลือกใช้หยวนมากขึ้นในการต่อสู้กับวิกฤตหนี้ และหมดหวังต่อสถานะของดอลลาร์สหรัฐในประเทศ ซึ่งมันจะแสดงผลลัพธ์ให้บรรดาชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่น ๆ ที่เผชิญกับปัญหาคล้ายกันได้เห็น"

บรรดาชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่และเศรษฐกิจกำลังพัฒนาทั้งหลายกำลังประสบปัญหาต่าง ๆ ในนั้นรวมถึงการเสื่อมค่าของสกุลเงิน กระแสทุนและวิกฤตหนี้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมีต้นตอจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ

"การดีดตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ คือปัจจัยที่ก่อความกังวลอย่างยิ่ง เพราะว่ามันเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของปฏิกิริยาคลื่นความช็อก ซึ่งสามารถก่อผลกระทบที่อันตรายโดยเฉพาะกับระบบการเงินและเศรษฐกิจในชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่และกำลังพัฒนา" ธนาคารโลกระบุในเอกสารที่เผยแพร่เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา

เมื่อเปรียบเทียบกัน อัตราแลกเปลี่ยนที่ค่อนข้างเสถียรของหยวน เป็นปัจจัยให้สกุลเงินจีนเป็นที่ต้องการ ในแง่ของคุณสมบัติหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในฐานะสกุลเงินสากล "การตัดสินใจของอาร์เจนตินาในการใช้เงินหยวน คืออีกก้าวย่างของการลดพึ่งดอลลาร์"

ขณะที่มากมายหลายชาติกำลังหาทางเลือกอื่น ๆ นอกเหนือจากสกุลเงินสหรัฐฯ เพื่อลดพึ่งพิงดอลลาร์ การก้าวมาเป็นสกุลเงินสากลของหยวนได้มีความก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ต้นปี โดยล่าสุดเมื่อเดือนที่แล้ว ปากีสถานได้จ่ายเงินด้วยสกุลเงินหยวนเป็นครั้งแรกในการชำระหนี้ในข้อตกลงนำเข้าน้ำมันกับรัสเซีย

ในรัสเซีย หยวนกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ กว่า 70% ของการทำธุรกรรมทางการค้าระหว่างรัสเซียกับจีน เป็นการค้าขายด้วยสกุลเงินรูเบิลและหยวน และมีมากมายหลายประเทศกำลังเรียกร้องให้ดำเนินการทำธุรกรรมทางการค้าด้วยสกุลเงินท้องถิ่นของตนเอง

‘ธ.กลางจีน’ เข้ม!! เสถียรภาพการแลกเปลี่ยน ‘เงินหยวน’ หวังเบรกบริษัทนักเก็งกำไร ทำค่าเงินหยวนเสื่อมราคา

(12 ก.ย. 66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อวันจันทร์ (11 ก.ย.) ที่ผ่านมา ได้มีแถลงการณ์จากธนาคารประชาชนจีน หรือธนาคารกลางของจีน ระบุว่าจีนมีศักยภาพ ความเชื่อมั่น และเงื่อนไขในการรักษาอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนโดยพื้นฐานให้มีเสถียรภาพ

ธนาคารฯ เผยว่าหน่วยงานทางการเงินจะดำเนินการในกรณีที่จำเป็น แก้ไขการดำเนินการด้านเดียวและการดำเนินนโยบายตามวัฏจักรเศรษฐกิจ จัดการกับการหยุดชะงักของคำสั่งซื้อของตลาด และป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนสูงขึ้นมากเกินไป (overshooting)

ทั้งนี้ แถลงการณ์เผยว่าการริเริ่มและการดำเนินนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นทำให้เศรษฐกิจจีนกำลังสะสมแรงขับเคลื่อน ซึ่งสิ่งนี้เป็นรากฐานมั่นคงสำหรับการรักษาอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนให้คงที่ในระดับที่เหมาะสมและสมดุล

สำหรับแถลงการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นภายหลังธนาคารกลางจีน เริ่มเข้มงวดในการตรวจสอบการซื้อดอลลาร์จำนวนมากโดยบริษัทในประเทศ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สกุลเงินหยวนจีนเผชิญกับแรงกดดันด้านค่าเสื่อมราคาที่เพิ่มขึ้น โดยบริษัทต่างๆ ที่ต้องการซื้อเงินดอลลาร์ 50 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป จะต้องได้รับอนุมัติจาก ธนาคารกลางจีน ซึ่งจะมีการประชุมกับธนาคารพาณิชย์บางแห่งในช่วงสุดสัปดาห์เกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อไปอีกด้วย
.

จีนเผยยอดใช้ 'เหรินหมินปี้' ข้ามพรมแดน 9 เดือนแรกปี 66 โต 24% เป็นระดับสูงสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา ชี้!! ทิศทางข้างหน้ายังสดใส

(30 ต.ค. 66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ธนาคารประชาชนจีนหรือธนาคารกลางของจีน รายงานว่าการชำระเงินและการรับเงินข้ามพรมแดนด้วยสกุลเงินเหรินหมินปี้ (RMB) หรือสกุลเงินหยวนของจีน ช่วงเดือนมกราคม-กันยายน รวมอยู่ที่ 38.9 ล้านล้านหยวน (ราว 194.5 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 เมื่อเทียบปีต่อปี

รายงานระบุว่าการค้าสินค้าข้ามพรมแดนที่ชำระเงินด้วยสกุลเงินเหรินหมินปี้ครองสัดส่วนร้อยละ 24.4 ของการค้าสินค้าข้ามพรมแดนที่ชำระเงินด้วยสกุลเงินภายในประเทศและสกุลเงินต่างชาติ ซึ่งเพิ่มขึ้น 7 จุด เมื่อเทียบปีต่อปี และเป็นระดับสูงสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา

สกุลเงินเหรินหมินปี้ยังคงทำหน้าที่เป็นสกุลเงินเพื่อการเงินได้ดีขึ้น ขณะที่มีการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับแนวปฏิบัติต่าง ๆ เช่น การให้กู้ยืมในต่างประเทศโดยธนาคารภายในประเทศ และการออกพันธบัตรภายในประเทศโดยสถาบันในต่างประเทศ ส่วนการลงทุนด้วยสกุลเงินเหรินหมินปี้และสภาพแวดล้อมทางการเงินยังคงดีขึ้นต่อเนื่อง

การซื้อขาย ณ ตลาดสกุลเงินเหรินหมินปี้นอกชายฝั่งมีความคึกคักเพิ่มขึ้น โดยยอดคงเหลือของเงินฝากสกุลเงินเหรินหมินปี้ ณ ตลาดนอกชายฝั่งกลุ่มหลักอยู่ที่ราว 1.5 ล้านล้านหยวน (ราว 7.5 ล้านล้านบาท) เมื่อนับถึงสิ้นปี 2022 ซึ่งกลับสู่ระดับสูงเป็นประวัติการณ์

ธนาคารฯ จะทำงานเกื้อหนุนการค้าและการลงทุน ปรับปรุงระบบและโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับการลงทุนข้ามพรมแดนด้วยสกุลเงินเหรินหมินปี้ การเงินและการชำระเงินเพื่อธุรกรรม และสนับสนุนการพัฒนาอันดีของตลาดสกุลเงินเหรินหมินปี้นอกชายฝั่ง

‘จีน’ ออกมาตรการหนุน ‘ต่างชาติ’  ดันให้ลงทุนด้าน ‘วิทย์-เทคโนฯ’ 

(21 เม.ย.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า กลุ่มหน่วยงานทางการจีนออกเอกสารแจกแจงมาตรการชุดใหม่ ซึ่งส่งเสริมบรรดาสถาบันในต่างประเทศเข้ามาลงทุนในกลุ่มผู้ประกอบการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภายในประเทศจีน

เอกสารข้างต้นร่วมออกโดยกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานรัฐบาลอีก 9 แห่ง ประกอบด้วย 16 มาตรการที่มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการบริการจัดการ การสนับสนุนทางการเงิน การแลกเปลี่ยนและความร่วมมือ รวมถึงยกระดับกลไกการถอนตัว

จีนจะอนุมัติคำขอของนักลงทุนต่างชาติประเภทสถาบันที่ใช้สกุลเงินดอลลาร์และมีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ (QFII) รวมถึงนักลงทุนต่างชาติประเภทสถาบันที่ใช้สกุลเงินหยวนและมีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ (RQFII) ตามกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนั้นจีนจะสนับสนุนสถาบันในต่างประเทศเข้ามาลงทุนในกลุ่มผู้ประกอบการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภายในประเทศผ่านโครงการหุ้นส่วนจำกัดต่างชาติที่มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ (QFLP)

กองทุนร่วมลงทุนภายในประเทศที่จัดตั้งโดยสถาบันจากต่างประเทศจะได้รับการกำกับดูแลอย่างเท่าเทียมกับกองทุนร่วมลงทุนภายในประเทศที่จัดตั้งโดยนักลงทุนภายในประเทศ

จีนจะส่งเสริมสถาบันจากต่างประเทศที่มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ออกตราสารหนี้สกุลเงินหยวนในจีนและลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงขยับขยายโครงการนำร่องทั่วประเทศที่เกื้อหนุนการเงินข้ามพรมแดน

ขณะเดียวกันจีนจะสนับสนุนธนาคารภายในประเทศเพิ่มความร่วมมือกับสถาบันจากต่างประเทศด้วย

'ผู้ว่าแบงก์ชาติไทย' จับมือ 'แบงก์ชาติจีน' เซ็น MOU ลดพึ่งดอลลาร์ฯ ส่งเสริมทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินท้องถิ่น

(23 พ.ค. 67) สำนักข่าวซินหัว ได้รายงานว่าเมื่อวันที่ 21 พ.ค.67 ผู้ว่าการธนาคารกลางของจีน และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือของธนาคารกลางทั้งจีนและไทยเพื่อส่งเสริมการทำธุรกรรมทวิภาคีด้วยสกุลเงินท้องถิ่น 

สอดคลัองกับธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประชาสัมพันธ์การเดินทางไปของนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมคณะผู้บริหาร ธปท. ไปยังประเทศจีน ระบุว่านายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมคณะผู้บริหาร ธปท. ได้พบปะกับ นายพาน กงเชิ่ง ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน (People’s Bank of China) ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 โดยมีการหารือแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือด้านการเงินและธนาคารระหว่างสองประเทศ รวมถึงการสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่น และการเชื่อมโยงการชำระเงินระหว่างกัน

ในโอกาสนี้ ผู้ว่าการธนาคารกลางทั้งสองแห่งได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ว่าด้วยการส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่น ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและการเข้าถึงการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการชำระค่าสินค้าและบริการ ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายของ ธปท. ที่มุ่งสร้างระบบนิเวศทางการเงินให้เอื้อต่อการค้าและการลงทุนในภูมิภาค

ทั้งนี้ ในช่วงหลายเดือนผ่านมานั้น สำนักข่าวชั้นนำทั่วโลก ได้รายงานว่ารัฐมนตรีกระทรวงคลัง และผู้ว่าการธนาคารกลางในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แสดงท่าทีในการหาทางออกที่แต่ละประเทศสมาชิกจะลดการพึ่งพิงการใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ในขณะเดียวกันก็เป็นการส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นเพื่อทำธุรกรรมในการชำระเงินด้านการค้าระหว่างกันด้วย

ที่ผ่านมา รัฐบาลประเทศจีน พยายามผลักดันการใช้สกุลเงินหยวนในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศมากขึ้น เพื่อที่จะลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และผลักดันให้เงินหยวนขึ้นไปเป็นสกุลเงินหลักของโลก พร้อมกันนั้นก็ได้ส่งเสริมให้พันธมิตรและคู่ค้าของจีนใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการทำธุรกรรมมากขึ้น อย่างเช่น รัสเซีย, อินเดีย และประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มบริกส์ (BRICS) สำหรับการลงนามความร่วมมือระหว่างจีนกับไทยในครั้งนี้ คาดว่าเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของจีนเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกันนั้น


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top