ไขข้อสงสัย ทำไมหลายประเทศถึงหันมาใช้ ‘เงินหยวน’ ของ ‘จีน’ ในวันที่ ‘เงินดอลลาร์’ ของสหรัฐฯ กำลังเริ่มเสื่อมความนิยม

เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 66 ได้มีผู้ใช้งานติ๊กต็อกท่านหนึ่ง ชื่อ ‘thailaotogether’ ได้ออกมาอธิบาย กรณีที่ สปป.ลาว ได้มีการอนุมัติใช้เงินหยวนของประเทศ เพื่อเป็นทางเลือกในการใช้จ่ายทางการค้าระหว่างประเทศ โดยได้ระบุว่า…

เงินหยวน จะมาแทนที่เงินกีบ? จีนจะมากลืนลาว ลาวจะกลายเป็นมณฑลส่วนหนึ่งของจีน? ทำไมประเด็นต่างๆ เหล่านี้ถึงได้กำลังกลายเป็นกระแสดรามาที่ถูกพูดถึงกันอย่างมากในโลกโซเชียล ชุดความคิดนี้มีที่มาอย่างไร? และทำไมประเทศในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ‘อาเซียน’ ถึงเปลี่ยนมาใช้สกุลเงินหยวนกัน

โดยประเด็นนี้เริ่มจากการที่ ผู้ว่าการแบงค์ชาติ นายบุนเหลือ สินไซวอละวง ผู้ว่าการธนาคารแห่ง สปป.ลาว และ นายอี้ กัง ผู้ว่าการธนาคารประชาชนจีน ได้ลงนามแต่งตั้งสกุลเงินหยวน เพื่อการชำระบัญชีเงินระหว่างกันของทั้ง 2 ประเทศ มีการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างกัน โดยไม่ต้องอ้างอิงเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

การอ้างอิงหมายความว่าอย่างไร? ตรงนี้สืบเนื่องจากการที่ สปป.ลาว ใช้สกุลเงินกีบในการค้าขายภายในประเทศ แต่ในบางพื้นที่ที่อยู่ใกล้ชิดติดกับประเทศไทย ในบางครั้งก็อาจจะมีการใช้สกุลเงินบาทกันได้

ทั้งนี้ทั้งนั้น สินค้าทั่วไปใน สปป.ลาว มีการซื้อขายกันโดยใช้สกุลเงินกีบ แต่ถ้าหากเป็นรถยนต์ หรือบ้าน จะใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นตัวอ้างอิง เพื่อให้มีความสอดคล้องกับสากล

การอ้างอิงของเงินตราระหว่างประเทศที่เป็นสากล คือ ‘เงินดอลลาร์สหรัฐฯ’ ที่มีความครอบคลุมเกือบทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศในภูมิภาคอาเซียนด้วย

แต่ในขณะเดียวกัน ในตอนนี้ ประเทศจีนมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ทำให้ต่างชาติมีการชำระเงิน และเกิดการค้าขายกันโดยใช้สกุลเงินหยวนมากขึ้น จนสามารถแซงหน้าสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วยสัดส่วนที่สูงถึง 48% จนทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ตกลงมาอยู่ที่อันดับ 2 ด้วยสัดส่วนที่เหลือเพียง 46%

ซึ่งสิ่งนี้ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นที่เกิดการตั้งข้อสังเกตในโซเชียลกันว่า ประเทศจีนจะมากลืนกิน สปป.ลาว แต่อย่างใด และในขณะเดียวกัน ประเทศจีนเองก็สนับสนุนให้นานาประเทศใช้สกุลเงินท้องถิ่นเป็นหลัก แต่ให้ใช้เงินหยวนในลักษณะของการอ้างอิงและชำระเงินในการค้าขายระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ที่มากขึ้น และทำให้ภูมิภาคอาเซียนมีความแข็งแรงยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่ได้มีการหันมาใช้สกุลเงินหยวนนั้น เริ่มมีเพิ่มมากยิ่งขึ้น เช่น ประเทศบราซิล ได้มีการทำข้อตกลงการค้าขายระหว่างกันกับประเทศจีน และได้มีการชำระเงินระหว่างกันโดยใช้สกุลเงินหยวนแทนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

ประเทศต่อมาคือ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ที่กำลังมีการพิจารณาการซื้อขายน้ำมันกันอยู่ โดยก่อนหน้านี้ ทั้ง 2 ประเทศนี้ จะใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นสกุลเงินกลางในการค้าขายระหว่างประเทศ ซึ่งในขณะนี้ทั้ง 2 ประเทศกำลังพิจารณาอนุมัติการใช้สกุลเงินหยวน เพื่อใช้ในการค้าขายระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม หากประเทศซาอุดีอาระเบีย ไปทำการค้าขายน้ำมันกับอีกทางภูมิภาคหนึ่ง หรือประเทศสหรัฐอเมริกา ก็จะมีการทำข้อตกลงในการใช้สกุลเงินอื่นระหว่างกัน หรืออาจใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะมีความเป็นสากลมากที่สุด และขณะเดียวกัน หากประเทศซาอุดีอาระเบีย มาทำการค้าขายกับประเทศไทย ก็คงมีการทำข้อตกลงร่วมกันในการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ หรืออาจะเป็นสกุลเงินอื่นๆ ก็เป็นได้ ขึ้นอยู่กับว่าสกุลเงินใดให้ประโยชน์สูงสุดกับทั้ง 2 ประเทศ

ล่าสุด ประเทศอาร์เจนตินา เพิ่งได้มีการทำข้อตกลงกับประเทศจีนในการใช้สกุลเงินหยวนในการค้าขายระหว่างประเทศ เนื่องจากประเทศจีนได้มีการทำสัญญากับประเทศอาร์เจนตินา ว่าหากประเทศอาร์เจนตินาใช้สกุลเงินหยวน และได้ทำการสั่งซื้อสินค้าจากประเทศจีน ประเทศจีนจะอนุมัติการขนส่งสินค้าภายใน 90 วัน ซึ่งก่อนหน้านี้ต้องใช้เวลาในการอนุมัตินานถึง 180 วัน ทำให้สิ่งนี้จึงกลายเป็นผลประโยชน์ทางการค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีประเทศฝรั่งเศสที่ได้ทำข้อตกลงร่วมกันกับประเทศจีน ในการซื้อขายน้ำมัน และแก๊สธรรมชาติ โดยใช้สกุลเงินหยวนในการชำระทางการค้า

นี่คือสิ่งที่ประเทศจีนพยายามจะทำให้ต่างประเทศหันมาใช้สกุลเงินหยวน ซึ่งการทำข้อตกลงในการใช้เงินหยวนเพื่อการค้าขายนี้ ทำให้ประเทศจีนประสบผลสำเร็จ จนสามารถก้าวขึ้นเป็นอันดับ 1 ในการทำการค้าขายกับต่างประเทศในที่สุด

และหากลองมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย จะเห็นว่าประเทศไทยเองก็ได้มีการทำสัญญาหรือข้อตกลงร่วมกันกับประเทศจีน ในการใช้สกุลเงินหยวน ซึ่ง ณ ขณะนั้น มี 3 ประเทศที่มีการทำข้อตกลงร่วมกัน คือ ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย อีกทั้งประเทศจีนเองก็มีความต้องการให้ประเทศในภูมิภาคอาเซียนหันมาใช้สกุลเงินหยวน ทำให้ในตอนนี้ ประเทศในแถบเอเชีย และประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง ซึ่งประกอบไปด้วย ประเทศไทย ลาว เมียนมา และกัมพูชา มีการทำข้อตกลงที่จะใช้เงินหยวนในการค้าขายระหว่างกัน

นอกจากนี้ ประเทศจีนยังได้สร้างระบบในการชำระ เรียกว่า ‘ระบบให้บริการชำระเงินและเคลียริ่งข้ามพรมแดน สำหรับสถาบันการเงินในประเทศและต่างประเทศ’ หรือที่เรียกว่า ‘CIPT’ ขึ้นมา เป็นระบบกลางที่ช่วยให้สามารถชำระเงินระหว่างประเทศกันได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

ซึ่งก่อนหน้านี้ ทั่วโลกชำระเงินในการค้าขายระหว่างกันด้วยระบบสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งขึ้นตรงกับมหานครนครนิวยอร์ก ในประเทศสหรัฐอเมริกา และได้มีการหักค่าธรรมเนียมในการให้บริการสูงมาก เพราะเหตุนี้เอง จึงทำให้ประเทศจีนมีความต้องการที่จะทำให้ประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น โดยการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการซื้อขายภายในประเทศเป็นหลัก และใช้สกุลเงินหยวนในการอ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงิน ในการค้าขายระหว่างประเทศ

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นที่ว่า การที่ สปป.ลาวใช้สกุลเงินหยวน จะทำให้สกุลเงินกีบนั้นหายไป และ สปป.ลาวจะถูกกลืนกินชาติ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีนแต่อย่างใด หากมองให้ลึกลงไป ในบางประเทศที่มีการอนุมัติใช้สกุลเงินหยวนในการอ้างอิงการซื้อขาย หรือแลกเปลี่ยนกันนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับแต่ละประเทศ ส่งผลให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยกันทั้งสิ้น

นอกจากนี้ สาเหตุที่ทำให้สกุลเงินกีบของ สปป.ลาว อ่อนค่าลงนั้น สืบเนื่องมาจากหลายๆ ประเทศได้หันมาใช้สกุลเงินหยวนกัน เนื่อกจากมีความกลัวว่าสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะไม่มีเสถียรภาพ เพราะการที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ไหลออกนอกประเทศ อาจส่งผลให้สกุลเงินต่างๆ ที่มีการทำการค้าขายกันนั้นอ่อนค่าลงนั้นเอง

อีกทั้งขณะเดียวกัน ประเทศสหรัฐฯ ยังได้มีการคว่ำบาตรประเทศรัสเซีย รวมถึงประเทศคู่ค้าที่เป็นพันธมิตรกับประเทศรัสเซีย นั่นคือ ประเทศจีน และ สปป.ลาว นอกจากนี้ ประเทศไทยเองก็ยังได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เพราะทุกวันนี้ ค่าเงินบาทของไทยนั้นอ่อนค่าลงเล็กน้อย ซึ่งถือว่ายังน้อยกว่าเมื่อเทียบ สปป.ลาว ที่สกุลเงินกีบนั้นอ่อนค่าลงอย่างเห็นได้ชัด

เพราะฉะนั้น นี่จึงเป็นอีกหนึ่งในมาตรการของ สปป.ลาว ที่คิดจะใช้สกุลเงินหยวนเข้ามาแทนที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ที่มากขึ้น เกิดเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้ง ยังเป็นการทำให้มีเงินหลั่งไหลเข้าไปในประเทศมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

เรื่องนี้นับได้ว่า เป็นทั้งเรื่องที่ไกลตัว และใกล้ตัว เพราะเมื่อใดก็ตามที่ประเทศเพื่อนบ้านของเรามีความแข็งแรง ประเทศของเราก็มีความแข็งแรงมากขึ้นเช่นกัน จึงสามารถมองได้ว่า วิธีการนี้คือ หลักการคิดของประเทศจีน ที่ต้องการให้ประเทศในภูมิภาคอาเซียน สามารถพึ่งพาตัวเองและพึ่งพากันเองได้ ก่อนที่จะไปพึ่งพาประเทศในภูมิภาคอื่นๆ จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมประเทศจีนถึงอยากให้แต่ละประเทศในอาเซียนนั้นหันมาใช้เงินหยวน