Sunday, 25 May 2025
เครื่องใช้ไฟฟ้า

‘ซัมซุง’ เผย 'ไทย' ฐานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ‘ใหญ่สุดในโลก’ ชี้!! 32 ปี ลงทุนร่วม​ 5​ แสนล้านดอลฯ

“ไทยซัมซุง” ฉลอง 32 ปี เดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจในไทย ชูฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าใหญ่สุดในโลก หลังลงทุนแล้วกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์ นายจุนฮวา ลี ประธาน บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบัน ไทยซัมซุงฯ ถือเป็นฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ามีกำลังผลิตสูงสุดใน 28 ประเทศทั่วโลก และมีจำนวนประเภทสินค้า (SKU) มากที่สุด แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มสินค้าหลัก ได้แก่ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ เตาอบ และเครื่องล้างจาน

โดยมีกำลังการผลิตรวมสูงถึง 10 ล้านยูนิตต่อปี คิดเป็นสัดส่วนสินค้าส่งออกถึง 90% เรียกได้ว่ากว่าครึ่งหนึ่งของเครื่องใช้ไฟฟ้าซัมซุงในครัวเรือนทั่วโลกถูกผลิตและส่งออกจากโรงงานแห่งนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มเตาอบและเครื่องล้างจานที่ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกเพียงรายเดียวในโลก

“ซัมซุงดำเนินธุรกิจเคียงคู่ประเทศไทยมาแล้วกว่า 32 ปี นับเป็นบริษัทสาขาที่ดำเนินกิจการนอกประเทศเกาหลีใต้ยาวนานที่สุด ซึ่งการที่เราสามารถพัฒนาและเติบโตอย่างมั่นคงดังเช่นทุกวันนี้ เกิดขึ้นจากแรงสนับสนุนอย่างดีของคนไทย

ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ (โรงงานศรีราชา) มีมูลค่าการลงทุนในประเทศไทยรวมแล้วกว่าห้าแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจของประเทศมาอย่างยาวนาน มีการสร้างโอกาสการจ้างงาน สร้างรายได้หมุนเวียนที่สู่ 4,000 ครอบครัว รวมถึงพนักงานจากบริษัทคู่ค้าอีกกว่า 50,000 คนทั่วประเทศ

‘สมอ.’ ร่วม ‘DSI’ บุกทลายโกดังเก็บสินค้าย่านบางขุนเทียน พบ ‘หม้ออบลมร้อน-ไดร์เป่าผม’ เพียบ รวมมูลค่า 7 ล้านบาท!!

(29 มี.ค. 66) นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา สมอ.ได้ประสานความร่วมมือกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เข้าตรวจค้นโกดังเก็บสินค้าย่านบางขุนเทียน กทม. และกระทุ่มแบน สมุทรสาคร พบสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ได้มาตรฐานกว่า 30 รายการ กว่า 23,000 ชิ้น มูลค่ารวมกว่า 7 ล้านบาท จึงยึดอายัดเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย

การลงพื้นที่ในครั้งนี้ DSI ได้นำทีมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าตรวจค้นโกดังเก็บสินค้าจำนวน 2 แห่ง แห่งแรกในพื้นที่ย่านบางขุนเทียน พบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นสินค้าควบคุมของ สมอ. ตาม พ.ร.บ. มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 เช่น หม้อหุงข้าว ไดร์เป่าผม ที่ม้วนผม หลอดไฟ และเพาเวอร์แบงก์ ฯลฯ ไม่แสดงเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. เเละไม่แสดงชื่อผู้รับใบอนุญาต จำนวนกว่า 2,900 ชิ้น มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท

แห่งที่ 2 เป็นโกดังเก็บสินค้าในอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร พบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เตาอบไฟฟ้า หม้ออบลมร้อน ไดร์เป่าผม ที่หนีบผม และโคมไฟ ฯลฯ กว่า 32 รายการ ไม่แสดงเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. และไม่แสดงชื่อผู้รับใบอนุญาต จำนวนกว่า 20,000 ชิ้น มูลค่ากว่า 6 ล้านบาท จึงยึดอายัดเพื่อดำเนินการตามกฎหมายทันที ทั้งนี้ สินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่ สมอ.ควบคุม หากไม่ได้มาตรฐานอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตของประชาชนได้

จากการตรวจสอบเบื้องต้นผู้ประกอบการทั้ง 2 ราย รายแรกเป็นผู้ประกอบการที่ไม่ได้รับใบอนุญาตนำเข้าจาก สมอ. และรายที่ 2 เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตนำเข้าจาก สมอ. ซึ่งทั้ง 2 รายนี้ มีความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 ต้องระวางโทษกรณีมีไว้เพื่อจำหน่ายสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และนำเข้าสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

‘มิตซูบิชิ อีเล็คทริค’ ผุด ‘XY Series’ ผลิตภัณฑ์ใหม่ กลุ่มอินเวอร์เตอร์ พร้อมรุกธุรกิจ B2B ครบวงจร ตั้งเป้ารักษาแชมป์ตลาดเครื่องปรับอากาศ

(20 ม.ค. 67) มิตซูบิชิ อีเล็คทริค กันยงวัฒนา เดินหน้ารักษาแชมป์อันดับ 1 ผู้นำตลาดเครื่องปรับอากาศภายในบ้าน จัดหนักแคมเปญส่งเสริมการตลาด พร้อมขยายฐานผู้บริโภคต่อเนื่อง คว้า ‘นนท์ - ธนนท์ จำเริญ’ พรีเซนเตอร์ปีที่ 2 สานต่อปรากฏการณ์ความสำเร็จจากปีที่ผ่านมาด้วยกลยุทธ์ Music Marketing เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ตอกย้ำ จุดแข็งแบรนด์คุณภาพ พร้อมเปิดตัวผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศกลุ่มอินเวอร์เตอร์รุ่นใหม่ ‘XY Series’ ที่สุดของเทคโนโลยี ‘Fast Cooling Plus’ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่ลงตัว และตู้เย็นกลุ่ม ‘Premium Series’ คุณภาพสูง โดดเด่นด้วยเทคโนโลยีถนอมอาหาร พร้อมเร่งขับเคลื่อนธุรกิจ B2B มุ่งสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

นายชินจิ คามิยะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค กันยงวัฒนา จำกัด เปิดเผยว่า “ปี 2566 ที่ผ่านมา วงการธุรกิจเครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ต้องประสบปัญหาการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ล่าช้าไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ แต่อย่างไรก็ตาม จากภาวะอากาศที่ร้อนจัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่งผลให้ประมาณการได้ว่า บริษัทฯ จะสามารถสร้างยอดขายโดยรวมทั้งปีงบประมาณ 2566 (เมษายน 2566 - มีนาคม 2567) ได้เติบโตสูงกว่าปีก่อนหน้าที่ 10%”

“ในกลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก เช่น เครื่องปรับอากาศภายในบ้าน ปั๊มน้ำ และพัดลมระบายอากาศ เรายังคงสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดได้สูงสุดต่อเนื่องจากปีก่อน รวมทั้งผลการดำเนินกิจกรรมการสร้างแบรนด์ยังได้รับผลตอบรับในความไว้วางใจ โดยนิตยสารทางธุรกิจที่มีชื่อเสียง เช่น นิตยสาร Marketeer และ BrandAge ได้จัดอันดับให้ทั้งผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศภายในบ้านและปั๊มน้ำมิตซูบิชิ อีเล็คทริค เป็นแบรนด์อันดับ 1 ที่ได้รับความเชื่อถือสูงสุดในประเทศไทยต่อเนื่องจากปีก่อนเช่นกัน”

“สำหรับปี 2567 นี้ บริษัทฯ ยังคงยึดมั่นแนวทางหลักในการดำเนินธุรกิจ ผ่านการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและงานบริการ ตามพันธกิจองค์กรที่วางไว้ โดยมุ่งให้ผลิตภัณฑ์และการบริการ รวมทั้งกิจกรรมต่าง ๆ ของบริษัทฯ มอบประโยชน์ด้านการสร้างความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภคชาวไทย รวมทั้งสร้างประโยชน์ต่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางสังคมไทยได้มากยิ่ง ๆ ขึ้น”

“และในปีนี้ บริษัทฯ ยังคงตั้งเป้าหมายรักษาอัตราการเติบโตของยอดขายโดยรวมไว้ให้ได้มากกว่า 10% โดยมุ่งเน้นดำเนินการหลัก ๆ 4 ประการ เพื่อบรรลุเป้าหมาย ได้แก่

1.) กิจกรรมด้านผลิตภัณฑ์ โดยพัฒนาในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์ให้มีฟังก์ชันการทำงานที่โดดเด่นมากยิ่งขึ้น และเพิ่มความหลากหลายหรือเพิ่ม Line Up ในแต่ละตัวผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศภายในบ้าน ซึ่งจะพัฒนายกระดับประสิทธิภาพด้านการประหยัดพลังงานให้สอดรับกับมาตรฐานประหยัดพลังงานฉบับใหม่ที่ประกาศใช้ในปัจจุบัน 

2.) ในปีนี้ บริษัทฯ ได้เตรียมงบทางการตลาดไว้ ประมาณ 1,200 ล้านบาท โดยมุ่งยกระดับคุณค่าแบรนด์ เพื่อสร้างการจดจำและรับรู้ในแบรนด์ ตลอดจนมุ่งเน้นกิจกรรมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ และกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับร้านค้าให้มากยิ่งขึ้น

3.) ด้านธุรกิจเชิงพาณิชย์ บริษัทฯ ตระหนักว่าธุรกิจในกลุ่มนี้จะเป็นรากฐานการสร้างความเจริญเติบโตให้บริษัทฯ ในอนาคตได้ ดังนั้น จึงกำหนดการสร้างเสริมระบบงานการตลาดการขายที่มีความพร้อม ช่วยสนับสนุนการเจรจาการค้าในส่วนภูมิภาค ควบคู่กับการพัฒนาการนำเสนองาน ให้เป็นที่ยอมรับในการตอบโจทย์ที่ลูกค้าต้องการ หรือโซลูชันในธุรกิจระบบปรับอากาศ ระบบระบายอากาศ ซึ่งเป็นความชำนาญการพิเศษของเรา เพื่อขยายการจัดจำหน่ายในส่วนนี้ให้ได้มากยิ่งขึ้น

4.) งานบริการหลังการขาย เน้นการยกระดับความพึงพอใจของลูกค้า และพัฒนาระบบงานที่จะรับส่งข้อมูลต่าง ๆ เช่น งานซ่อมจากลูกค้าให้ได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งพัฒนาการเพิ่มทักษะฝีมือของช่างบริการ เพื่อให้สามารถส่งมอบงาน บริการหลังการขายที่มีคุณภาพดียิ่งขึ้น

จากกิจกรรมทางธุรกิจที่ได้กล่าวไปนั้น บริษัทฯ เชื่อมั่นว่าธุรกิจจะยังคงได้รับความไว้วางใจในการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ มิตซูบิชิ อีเล็คทริค อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งในปีนี้เราจะยังคงมุ่งมั่นพัฒนาการทำงานให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของเราเป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภคชาวไทยทุกคนต้องการอย่างแท้จริง”

นายประพนธ์ โพธิวรคุณ กรรมการรองผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค กันยงวัฒนา จำกัด กล่าวว่า “สำหรับกลยุทธ์ด้านบริการหลังการขายในปี 2567 นี้ บริษัทฯ วางแผนลงทุนเพิ่มเติมทรัพยากรที่จำเป็น ได้แก่ การพัฒนาเทคโนโลยีระบบ Online Service เพื่อเพิ่มศักยภาพการบริการ การพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้สามารถรองรับการบริการให้กับลูกค้ามิตซูบิชิ อีเล็คทริค ทั้งกลุ่ม B2C และ B2B ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการลงทุนในส่วนของเครื่องมือที่ทันสมัยและอุปกรณ์ อาทิ การสำรองชิ้นส่วนอะไหล่สินค้าทั้งในส่วนของสำนักงานใหญ่ และศูนย์จำหน่ายอะไหล่แต่งตั้งที่มีอยู่กว่า 40 แห่ง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าได้ว่ามีอะไหล่พร้อมบริการ พร้อมเสริมความแข็งแกร่งของศูนย์บริการแต่งตั้งที่มีอยู่ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อรองรับการบริการหลังการขายที่ได้มาตรฐานให้กับลูกค้ามิตซูบิชิ อีเล็คทริค ทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมีช่องทางที่หลากหลายให้ลูกค้าได้ติดต่อกับทางศูนย์บริการ ไม่ว่าจะเป็น Hot Line 1325 รวมถึง Facebook และ Line Official Account : มิตซูบิชิ อีเล็คทริค เป็นต้น”

“ขณะเดียวกันได้เตรียมแผนพัฒนาบุคลากรช่างเทคนิคให้มีความรู้ความสามารถ ผ่านการรับรองในสาขาช่างเครื่องปรับอากาศและการพาณิชย์ขนาดเล็ก ระดับ 1 ซึ่งปัจจุบันช่างเทคนิคของศูนย์บริการมิตซูบิชิ อีเล็คทริค สำนักงานใหญ่ ได้ผ่านการทดสอบหลักสูตรดังกล่าวทั้งหมด และในปีนี้ ยังคงเดินหน้ายกระดับความสามารถของช่างเทคนิค ศูนย์บริการแต่งตั้งทั่วประเทศให้มีศักยภาพและมาตรฐานเดียวกัน

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศไทยสู่มาตรฐานสากล สานต่อ ‘โครงการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง สาขาวิชาไฟฟ้ากำลัง สาขาเครื่องทำความเย็นและปรับอากาศ (ระบบทวิภาคี)’ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 12 ร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคชั้นนำต่าง ๆ โดยมีช่างผู้เชี่ยวชาญของบริษัทฯ เป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี ด้านเครื่องทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศ ให้กับนักศึกษาของวิทยาลัยเทคนิค ให้มีความรู้และทักษะวิชาชีพ เมื่อจบหลักสูตรแล้วสามารถนำความรู้ไปประกอบวิชาชีพได้ต่อไป

ด้านกลุ่มธุรกิจ B2B เรามีความพร้อมทั้งในด้านผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศ และระบบปรับอากาศที่เหมาะสมสำหรับที่อยู่อาศัย และกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่แบบครบวงจร มีทีมงานวิศวกรโครงการและช่างเทคนิคมืออาชีพ รวมถึงสำนักงานสนับสนุนลูกค้าโครงการระบบปรับอากาศซิตีมัลติ (CMS) เพื่อให้บริการทั้งก่อนและหลังการขายในพื้นที่ต่าง ๆ และพร้อมที่จะทำงานร่วมกับตัวแทนจำหน่าย ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงส่งมอบงาน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จและเติบโตไปด้วยกัน”

นายชิซุโอะ นาคาสึคาสะ กรรมการและผู้จัดการทั่วไปส่วนการตลาดและการขาย บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค กันยงวัฒนา จำกัด เปิดเผยว่า “ด้านยอดขายเครื่องปรับอากาศภายในบ้านของบริษัทฯ ในปีงบประมาณ 2566 เชื่อมั่นว่าจะสามารถสร้างการเติบโตได้ถึง 30% สำหรับกลยุทธ์การตลาดในปี 2567 นี้ เรายังคงมุ่งมั่นดำเนินมาตรการต่าง ๆ อย่าง แข็งขันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการขาย สำหรับกลุ่ม B2C ได้กำหนดกลยุทธ์การขายเป็นรายผลิตภัณฑ์อย่างชัดเจน โดยกลุ่มเครื่องปรับอากาศภายในบ้าน เน้นเสนอเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนไทย ที่เย็นเร็ว รู้ใจ ประหยัดไฟยิ่งขึ้น และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ในกลุ่มตู้เย็นจะเน้นส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ที่สูงด้วยคุณภาพและเสริมสร้างการรับรู้ ความน่าสนใจในคุณค่าของผลิตภัณฑ์ที่ยกระดับสูงขึ้นในตู้เย็นกลุ่ม ‘Premium Series’

นอกจากนี้ ในธุรกิจ B2B จะมุ่งเน้นไปที่ระบบงานหลัก ๆ เพื่อให้บรรลุการเติบโตของธุรกิจส่วนนี้ต่อไป ได้แก่ ทำการขยายขอบเขตธุรกิจ (ขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์) และเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับยอดขายในช่องทางจัดจำหน่าย CAD (City-Multi Sales Authorized Dealer) โดยบริษัทฯ พร้อมจะสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการนำเสนอโซลูชันต่าง ๆ ที่เหมาะสมให้กับลูกค้าได้ต่อไป”

“ในปีนี้ บริษัทฯ ได้วางแผนสื่อสารการตลาดครบวงจร ทั้งการเปิดตัวภาพยนตร์โฆษณาชุดใหม่ ผ่านพรีเซนเตอร์ปีที่ 2 ‘นนท์ - ธนนท์ จำเริญ’ พร้อมสานต่อกลยุทธ์ Music Marketing ที่ประสบความสำเร็จในด้านการสร้างการรับรู้และมีส่วนร่วมกับแบรนด์อย่างมากในปีที่ผ่านมา โดยในปีนี้ยังคงเน้นทำกิจกรรมกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เริ่มเข้าสู่วัยทำงานถึงกลุ่มลูกค้า ผู้มีรายได้ระดับปานกลางเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะทางโซเชียลมีเดียและแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยเน้นสร้างคอนเทนต์ที่สามารถเข้าถึงลูกค้าในแต่ละกลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันได้ทำการสื่อสารผ่านช่องทางทั้ง Offline และ Online Media ควบคู่กันไป พร้อมทั้งเสริมความแข็งแกร่งทางการขายโดยร่วมจัดแคมเปญ กิจกรรมส่งเสริมการขายต่าง ๆ ร่วมกับร้านค้าตัวแทนจำหน่ายควบคู่ต่อเนื่องต่อไปด้วยเช่นกัน”

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมในการพัฒนายกระดับความสุขสบายในการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ผ่านผลิตภัณฑ์ที่สูงด้วยคุณภาพ ความน่าเชื่อถือ ความทนทาน พร้อมนวัตกรรม และการประหยัดพลังงาน ได้ตามค่ามาตรฐานใหม่ที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยกำหนดขึ้น โดยผลิตภัณฑ์หลัก ๆ ที่เปิดตัวในปีนี้ ได้แก่

• เครื่องปรับอากาศมิตซูบิชิ อีเล็คทริค มิสเตอร์สลิม ระบบอินเวอร์เตอร์ ในรุ่น XY Series ด้วยเทคโนโลยีล่าสุด ‘Fast Cooling Plus’ ที่ทำความเย็นได้อย่างรวดเร็วเมื่อเครื่องปรับอากาศทำงาน มาพร้อมเซนเซอร์ตรวจจับโดยคำนวนจากอุณหภูมิภายในห้องนั้น เพื่อปรับความเย็นและลมเย็นจากเครื่องปรับอากาศให้เหมาะสมที่สุด เพื่อให้ผู้ใช้ได้รับความสบายสูงสุดและเหมาะกับสภาพในขณะนั้นได้อย่างอัตโนมัติ รวมทั้งรุ่น GY Series ที่ได้รับการออกแบบใหม่ให้มีดีไซน์หรูหราขึ้น และมีประสิทธิภาพการประหยัดพลังงานที่สูงมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เครื่องปรับอากาศระบบอินเวอร์เตอร์ทุกรุ่น ได้พัฒนาให้คุณภาพอากาศภายในห้องดียิ่งขึ้นด้วยการเพิ่ม ‘V-Air Filter’ และ ‘PM2.5 Filter’ แผ่นกรองฝุ่นที่ออกแบบมาเป็นพิเศษเฉพาะ สามารถกำจัดไวรัส แบคทีเรีย และดักจับฝุ่น PM 2.5 ได้อย่างดี ซึ่งล้วนเป็นฟังก์ชันที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อความใส่ใจในสุขภาพของผู้ใช้เป็นสำคัญ

• ตู้เย็นมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ‘Premium Series’ คุณภาพสูง ทนทาน โดดเด่นด้วยเทคโนโลยีถนอมอาหาร มีให้เลือกถึง 7 รุ่น ใน 5 ซีรีส์ อาทิ ตู้เย็นแบบ 2 ประตูรุ่นใหม่ ‘HS Series’ โดดเด่นด้วยช่องแช่แข็งที่มีขนาดความจุใหญ่ขึ้น และเพิ่มความสะดวกในการใช้งานด้วยการออกแบบให้ช่องแช่อเนกประสงค์พิเศษและช่องแช่ผักอยู่ในตำแหน่งส่วนกลางของตัวตู้เย็น ทำให้ผู้ใช้หยิบจับอาหารในช่องชั้นต่าง ๆ ได้สะดวก นอกจากนี้ ที่ช่องแช่อเนกประสงค์พิเศษในตู้เย็น ‘Premium Series’ ของมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ยังออกแบบให้สามารถปรับตั้งค่าอุณหภูมิได้ (โดยเลือกโหมด Chill หรือ Soft Freezing) ซึ่งเป็นฟังก์ชันพิเศษที่สามารถลดเวลาทำละลายเนื้อสัตว์หรือเนื้อปลาได้อย่างมาก สามารถนำออกไปปรุงอาหารได้ในทันที ถือว่าเป็นตู้เย็นที่ถนอมอาหารได้ยาวนานขึ้น และในตู้เย็นแบบ 4 ประตู ได้เพิ่มสีใหม่ ‘Glass Dark Silver’ ดูหรูหราและสวยงามมากยิ่งขึ้น

• พัดลมมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ตั้งพื้นกึ่งตั้งโต๊ะ รุ่นใหม่ เพิ่มสองสีใหม่ คือ ฟ้าพาสเทล และเขียวพาสเทล พร้อมดีไซน์ตะแกรงหน้าแบบเรียบ สามารถส่งลมได้แรงขึ้น ไกลขึ้น และพัดลมรุ่น R12-MC มีใบพัดที่ออกแบบใหม่ สามารถถอดและทำความสะอาดได้ง่าย เพียงคลิกเดียว นอกจากนี้ พัดลมมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ทุกรุ่น ยังมีความปลอดภัยสูงตามมาตรฐาน Premium Safety พร้อมรับประกันมอเตอร์ 5 ปี

• ปั๊มน้ำ มิตซูบิชิ อีเล็คทริค ยกระดับความน่าเชื่อถือไปอีกขั้น ด้วยการขยายระยะเวลาการรับประกันมอเตอร์ถึง 11 ปี พร้อมประสิทธิภาพการกระจายความร้อนสูงด้วยโครงสร้างมอเตอร์อะลูมิเนียมที่ทนทานและมีความปลอดภัยสูงตามมาตรฐาน Premium Safety

“อีกกลยุทธ์หนึ่งที่เรามุ่งเน้น คือ การสร้างการรับรู้ในแบรนด์ มิตซูบิชิ อีเล็คทริค อย่างต่อเนื่อง โดยต่อยอดแนวคิดจากปี 2566 ‘ไม่หยุดทำ แค่คำว่าดี’ โดยในปีนี้ เราจะนำเสนอแนวคิดใหม่ คือ ‘แอร์ที่ใช่ ใส่ใจทุกรายละเอียด’ ซึ่งสะท้อนถึงการให้ความใส่ใจในทุกรายละเอียดและเสริมสร้างเอกลักษณ์ของแบรนด์อย่างต่อเนื่อง จากแนวคิดดังกล่าว บริษัทฯ จึงได้ผลิตภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์ขึ้นใหม่ 3 เรื่อง ผ่านการนำเสนอโดยพรีเซนเตอร์ คุณนนท์ ธนนท์ ที่สื่อให้เห็นถึงเจตนารมย์ของมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ที่จะมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง รวมทั้งแนะนำจุดเด่นต่าง ๆ ด้วยเนื้อหาที่ง่ายต่อการจดจำในผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศมิตซูบิชิ อีเล็คทริค มิสเตอร์สลิม ให้แก่ผู้บริโภค”

“จากกลยุทธ์การตลาดต่าง ๆ เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจ และเพิ่มทางเลือกที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ บริษัทฯ มั่นใจว่าจะช่วยสานต่อความสำเร็จในการทำตลาดของมิตซูบิชิ อีเล็คทริค และผลักดันยอดขายให้เติบโตได้ตามเป้าหมาย รวมถึงผลักดันให้ผลิตภัณฑ์มิตซูบิชิ อีเล็คทริค ได้เข้าสู่ตลาดอย่างกว้างขวาง เพื่อนำเสนอให้ผู้บริโภคได้ใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น ซึ่งบริษัทฯ มั่นใจว่า สิ่งนี้จะยังประโยชน์สู่สังคมโดยรวมในที่สุดได้” นายชิซุโอะ นาคาสึคาสะ กล่าวทิ้งท้าย

‘จีน’ ชูอุตสาหกรรม ‘รีไซเคิล’ เน้นเครื่องใช้ไฟฟ้า-เฟอร์นิเจอร์เก่า หนุนสร้างต้นแบบธุรกิจรักษ์โลก กระตุ้น ปชช.คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

เมื่อไม่นานนี้ สำนักข่าวซินหัว, ปักกิ่ง รายงานว่า  รัฐบาลจีนตั้งเป้าหมายบ่มเพาะการเติบโตของอุตสาหกรรมรีไซเคิลระดับชาติ ซึ่งมุ่งเน้นเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านและเฟอร์นิเจอร์เก่า หรือไม่ใช้แล้ว เพื่อกระตุ้นการบริโภคผลิตภัณฑ์ใหม่อันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการพัฒนาอันดีของภาคธุรกิจรีไซเคิล

หนังสือเวียนจาก 9 หน่วยงานรัฐบาลของจีน รวมถึงกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า จีนดำเนินงานเพื่อเพิ่มปริมาณการรีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน และเฟอร์นิเจอร์เก่าหรือไม่ใช้แล้วอีกร้อยละ 15 ภายในปี 2025 เมื่อเทียบกับปี 2023 พร้อมมุ่งเพิ่มการวางมาตรฐานของภาคธุรกิจรีไซเคิล

การปรับปรุงเครือข่ายการรีไซเคิลของประเทศ บ่มเพาะธุรกิจรีไซเคิลขนาดใหญ่ สร้างสรรค์ต้นแบบการรีไซเคิล และวางมาตรฐานของแนวปฏิบัติการรีไซเคิล จะเป็น 4 พันธกิจหลักของจีนในการส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมรีไซเคิลระดับชาติ

เมืองกลุ่มหนึ่งของจีนจะมีระบบตัวอย่างการรีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน และเฟอร์นิเจอร์เก่าหรือไม่ใช้แล้ว ซึ่งได้รับการยอมรับระดับชาติภายในปี 2025 พร้อมกับส่งเสริมแนวปฏิบัติอันดีทั่วประเทศ จัดตั้งกลุ่มผู้ประกอบการชั้นนำ และกำหนดข้อบังคับและมาตรฐานที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นของอุตสาหกรรมรีไซเคิล

อนึ่ง ข้อมูลจากรัฐบาลจีนระบุว่า มีการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านทั่วจีนในปี 2023 มากกว่า 3 พันล้านชิ้น โดยครัวเรือนทั่วประเทศมีเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และโทรทัศน์เป็นจำนวนมาก

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 ก.พ.ผ่านมา โฆษกกระทรวงพาณิชย์แถลงข่าวว่าครัวเรือนชาวจีนเป็นตลาดขนาดใหญ่ และขับเคลื่อนการเติบโตของการซื้อขายเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ทำให้การเสริมสร้างอุตสาหกรรมรีไซเคิลมีนัยสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการยกระดับการบริโภคของประเทศ

'รมว.ปุ้ย' เข้ม!! มาตรฐาน 'เครื่องใช้ไฟฟ้าทำให้ของเหลวร้อน-ภาชนะสแตนเลส' เร่ง 'สมอ.' ทำความเข้าใจ 'ผู้ผลิต-นำเข้า' ก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้

(20 มิ.ย.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ได้มีมติเห็นชอบให้เครื่องใช้ไฟฟ้าทำให้ของเหลวร้อน เช่น หม้อหุงข้าว, หม้อต้มไฟฟ้า และกระติกน้ำร้อน เป็นต้น และภาชนะสแตนเลส 7 รายการ ได้แก่ หม้อ, กระทะ, ตะหลิว, ช้อน, ส้อม, ถาดหลุมใส่อาหาร และปิ่นโต เป็นสินค้าควบคุมนั้น ดิฉันได้เร่งรัดให้ สมอ.เร่งดำเนินการให้มาตรฐานมีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งขณะนี้มาตรฐานดังกล่าวอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียและผู้เกี่ยวข้องได้มีโอกาสชี้แจงแสดงความคิดเห็น 

นอกจากนี้ ยังได้กำชับให้ สมอ. ทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการทั้งผู้ทำและผู้นำเข้าที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้มาตรฐานดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 1,300 ราย เตรียมความพร้อมในการยื่นขออนุญาต ก่อนที่มาตรฐานจะมีผลบังคับใช้ปลายปี 2567 นี้ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ  

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อห่วงใยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สมอ. จึงได้จัดการสัมมนาขึ้น ณ โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้มาตรฐานได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกำหนดในมาตรฐานและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเตรียมความพร้อมในการยื่นขอรับใบอนุญาตตามมาตรฐานดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว รวมถึงการตรวจติดตามภายหลังได้รับใบอนุญาตด้วย ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ทำและนำเข้าสินค้าดังกล่าวทั้ง 2 รายการ กว่า 1,300 ราย และหลังจากที่มาตรฐานดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายแล้ว ผู้ประกอบการทุกรายจะต้องยื่นขอรับใบอนุญาตจาก สมอ. ก่อนทำและนำเข้า โดย สมอ. ได้เตรียมการเพื่อรองรับการยื่นขออนุญาตจากผู้ประกอบการ สามารถยื่นขอผ่านระบบ E-License ได้ที่เว็บไซต์ สมอ. www.tisi.go.th 

สำหรับการทดสอบผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ได้เตรียมห้องแล็บเพื่อการทดสอบ ได้แก่ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, บริษัท เอสจีเอส ประเทศไทย จำกัด, บริษัท โกลบอล คอมไพลแอ็นซ์ (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท แจแปน อิเลคทริคอล เทสติ้ง ลาบอราตอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท โกลบอล คอมไพลแอ็นซ์ (ไทยแลนด์) จำกัด และสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ผู้ประกอบการจึงเชื่อมั่นได้ว่า การยื่นขออนุญาตจะสามารถดำเนินการได้โดยสะดวก และจะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ

‘รมว.ปุ้ย’ แนะ!! ‘ส่งออกเหล็ก-เครื่องใช้ไฟฟ้า’ ส่องมาตรการใหม่อินเดีย หลังผุดมาตรฐาน ‘ควบคุมสินค้านำเข้าล่าสุด’ 91 รายการ

(11 ก.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้แจ้งเตือนให้ผู้ประกอบการกลุ่มผลิตภัณฑ์เหล็กและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ส่งออกสินค้าไปยังประเทศอินเดียให้ตรวจสอบและศึกษามาตรการการนำเข้าให้ถี่ถ้วน เนื่องจากอินเดียได้ออกมาตรการควบคุมการนำเข้าเหล็กและเครื่องใช้ไฟฟ้า จำนวน 91 รายการ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการส่งออกสินค้าดังกล่าวของไทย

ทั้งนี้ ได้กำชับให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ในฐานะที่เป็นหน่วยงานกลางในการปฏิบัติตามพันธกรณีความตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (TBT) ของ WTO และเป็นผู้แทนประเทศไทยในการเจรจาต่อรอง

ด้านอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าระหว่างประเทศ ทั้งนี้ อินเดียเป็นคู่ค้าที่สำคัญของประเทศไทย ที่มีมูลค่าการส่งออกในเดือนพฤษภาคม 2567 มากกว่า 36,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นอันดับที่ 6 รองลงมาจากสหรัฐอเมริกา, จีน, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย และเวียดนาม 

ดังนั้น จึงขอให้ผู้ประกอบการกลุ่มผลิตภัณฑ์เหล็กและเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้ง 91 รายการ ที่จะส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังประเทศอินเดีย ศึกษามาตรการดังกล่าวอย่างรอบคอบ เพื่อให้ปฏิบัติตามมาตรการทางการค้าของอินเดียได้อย่างถูกต้อง และไม่เสียโอกาสทางการค้า 

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการ สมอ. กล่าวว่า สมอ.ได้แจ้งเตือนให้ผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ ได้รับทราบมาตรการทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานสินค้าของประเทศต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นข้อกำหนดของ WTO ที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกจะต้องเผยแพร่มาตรการทางการค้าต่อสาธารณชน และแจ้งให้ประเทศสมาชิกอื่น ๆ ทราบเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงมาตรการ เพื่อลดข้อกีดกันทางการค้า 

สำหรับมาตรการทางการค้าของประเทศอินเดียในครั้งนี้ เป็นการควบคุมคุณภาพ ผลิตภัณฑ์เหล็กและเครื่องใช้ไฟฟ้าจำนวน 91 รายการ ให้เป็นไปตามมาตรฐานของอินเดียที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้เร็ว ๆ นี้ ครอบคลุมผลิตภัณฑ์เหล็ก 6 รายการ ประกอบด้วย

- เหล็กกล้าแผ่นแถบรีดร้อนและรีดเย็นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการแปรรูป 
- เหล็กกล้าแผ่นแถบ  แผ่นตัด และแผ่นบางสำหรับงานท่อ 
- เหล็กกล้าทรงแบนเคลือบสังกะสี สำหรับงานรถยนต์ 
- เหล็กกล้าแผ่นตัด แผ่นบาง และแผ่นแถบเคลือบสังกะสีผสมอะลูมิเนียมและแมกนีเซียม 
- โลหะผสมโมลิบดีนัม 
- โลหะผสมเหล็กวานาเดียม 

นายวันชัย กล่าวอีกว่า เครื่องใช้ไฟฟ้า ครอบคลุมสินค้า 85 รายการ เช่น ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า เครื่องล้างจาน หม้อหุงข้าว เตาอบ เครื่องดูดฝุ่น เตาปิ้งย่าง เตารีด และไดร์เป่าผม เป็นต้น โดยผู้ประกอบการไทยที่จะส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังประเทศอินเดีย จะต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตจากสำนักงานมาตรฐานอินเดีย และแสดงเครื่องหมายมาตรฐานที่ตัวสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาต 

'อีเลคโทรลักซ์' เปิดสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ในกรุงเทพฯ ตั้งเป้า 'เพิ่มกำลังการผลิต-ขยายตลาด' ดึงดูดลูกค้ากลุ่มพรีเมี่ยม

(2 ก.ย. 67) เมื่อไม่นานมานี้ นายอเล็กซิส ริชาร์ด ผู้จัดการทั่วไป อีเลคโทรลักซ์ประเทศไทย กล่าวว่า อีเลคโทรลักซ์ กรุ๊ป ประกาศเปิดสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกตะวันออกกลางแอฟริกาอย่างเป็นทางการที่กรุงเทพมหานคร เนื่องด้วยประเทศไทยเป็นตลาดหลักของอีเลคโทรลักซ์กรุ๊ปในภูมิภาค ทำให้สำนักงานใหญ่แห่งใหม่นี้มีบทบาทสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ของบริษัท ในฐานะประตูสู่การดำเนินธุรกิจการค้าต่างๆ ของเอเชีย อีกทั้งยังตั้งอยู่ใกล้โรงงานผลิตที่ระยองและตลาดอื่นๆ ในเอเชียที่เติบโตอย่างรวดเร็ว รวมถึงมีศูนย์วิจัย R&D ที่สิงคโปร์ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจอีเลคโทรลักซ์ ตลอดจนสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดและผู้บริโภคในภูมิภาคนี้ได้อย่างรวดเร็ว

โดยในปี 2567 อีเลคโทรลักซ์ เปิดตัวสินค้าใหม่ถึง 85 ชนิดในปีนี้ ครอบคลุมเครื่องใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะตลาด premium โดยปัจจุบัน มีสินค้า highlight คือ เครื่องซักผ้าฝาหน้าขนาด 9-11 กิโลกรัม โดยตั้งเป้า market share ตลาดเครื่องซักผ้าฝาหน้าอยู่ที่ 25% ภายในปีนี้ ส่วนเครื่องดูดฝุ่นตั้งเป้า market share อยู่ที่ 15% ภายในปีนี้ สำหรับตู้เย็นเน้นจำหน่ายตู้เย็นหลายประตู หรือ multi door  โดยตั้งเป้า market share อยู่ที่ 5% ของตลาดตู้เย็นทั้งหมด ตั้งเป้าว่าจะขยายฐานลูกค้าตู้เย็นหลายประตูและเครื่องใช้ไฟฟ้าบิ้วท์อินในครัว การเปิดสำนักงานใหญ่ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกตะวันออกกลางแอฟริกา อีเลคโทรลักซ์มองว่าประเทศไทยเป็นตลาดสำคัญและมีความพร้อมเป็นอย่างมาก ด้วย location เป็นศูนย์กลางของเอเชีย ทั้งการมีความพร้อมในด้านฐานการผลิต โรงงานที่จังหวัดระยอง ศูนย์วิจัย Global R&D และยังเป็นประเทศที่เป็นศูนย์รวมของนานาชาติ มีศักยภาพในการดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถหลากหลายสัญชาติให้มาทำงานที่ประเทศไทยได้ และทำให้พนักงานของเราทั้งจากโรงงานที่ระยอง ศูนย์วิจัย Global R&D และสำนักงานใหญ่ ทำงานได้ใกล้ชิดกันมากขึ้นอีกด้วย

นายวิเทอร์ มายอา รองประธานฝ่ายการขายภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกตะวันออกกลางแอฟริกา อีเลคโทรลักซ์กรุ๊ป กล่าวว่า จังหวัดระยองเป็นฐานการผลิตที่สำคัญสำหรับอีเลคโทรลักซ์กรุ๊ป และตลาดในประเทศไทยเป็นตลาดที่ใหญ่ที่อันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งการทำตลาดในประเทศไทยมานานกว่า 47 ปี ถือว่ามีรากฐานที่มั่นคงแข็งแรงมากเมื่อเทียบกับแบรนด์จากประเทศอื่นๆ การก่อตั้งสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ในกรุงเทพฯจะช่วยให้ใกล้ชิดกับโรงงานผลิตได้มากขึ้น และสามารถมองโอกาสการเติบโตในด้านของทรัพยากรบุคคลด้วย

ปัจจุบัน โรงงานที่ระยองสามารถผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ 1.5 ล้านหน่วยต่อปี โดยมีสัดส่วนในการส่งออก 70% ไปยัง 56 ประเทศทั่วโลกและภายในปี 2026 มีการวางแผนขยายการผลิต โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อีก 20% โดยแผนการเติบโตของอีเลคโทรลักซ์ คือ การเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยมีเป้าหมายในการสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ลูกค้าที่มีอยู่เดิม และดึงดูดลูกค้าใหม่ โดยเฉพาะลูกค้าใน premium market และลูกค้าที่สนใจด้านความยั่งยืน และลูกค้าที่ต้องการใช้สินค้าที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

“การเปิดสำนักงานใหญ่ของภูมิภาคของเราในกรุงเทพฯ ถือเป็นก้าวสำคัญของกลยุทธ์สร้างการเติบโตทางธุรกิจของอีเลคโทรลักซ์ ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ที่มุ่งมั่นในการมอบประสบการณ์ด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนอันยอดเยี่ยมให้แก่ลูกค้าและผู้บริโภคตอกย้ำถึงความสำคัญของประเทศไทยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกตะวันออกกลางและแอฟริกา ซึ่งประเทศไทยมีอัตราการแข่งขันสูง สามารถดึงดูดบุคลากรที่มีศักยภาพในการทำงานหลากหลายสัญชาติ เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมกับการตั้งสำนักงานและใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากขึ้น” ทั้งนี้ อีเลคโทรลักซ์กรุ๊ปที่ได้ร่วมสร้างการเติบโตให้ประเทศไทยมายาวนานตลอด 47 ปี โดยจะช่วยให้เกิดการสร้างงานหรือเพิ่มพนักงานที่ทำงานในระดับภูมิภาคมากถึง 130 ตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นสายงานการตลาด สายงานบริหารผลิตภัณฑ์ หรือสายงานฟังก์ชั่นสนับสนุนการดำเนินงาน อีเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย ส่งมอบนวัตกรรมจากสวีเดนเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของชีวิตผู้คนมากมาย ด้วยความทุ่มเทของพนักงาน 2,800 คน จาก 26 ประเทศ ซึ่งมาประจำการอยู่ที่กรุงเทพฯ และโรงงานผลิตของบริษัทที่ระยอง 

นอกจากความสำเร็จทางด้านธุรกิจและการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนอย่างจริงจัง อีเลคโทรลักซ์ยังเดินหน้าสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ตามแนวคิด ”Shape living for the better” ให้กับผู้คนทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยผ่านการดำเนินงานในหลายมิติ อาทิ 

•    โรงงานที่ระยองเป็นหนึ่งในฐานการผลิตเชิงกลยุทธ์ของอีเลคโทรลักซ์ ผลิตเครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้า ตู้เย็น และเตาประกอบอาหาร เพื่อส่งออกไปยัง 56 ประเทศทั่วโลก โดยจัดจำหน่ายภายใต้ 10 แบรนด์ ซึ่งรวมถึงแบรนด์ อีเลคโทรลักซ์ (Electrolux) เวสติ้งเฮ้าส์ (Westinghouse) และฟริจิแดร์ (Frigidaire)
•    ในปี 2566 ร้อยละ 25 ของพลังงานที่โรงงานระยองใช้มาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนจากพลังงานแสงอาทิตย์ นอกจากนี้ โรงงานยังได้การรับรองจากสถาบันระดับสากล “การบริหารจัดการของเสียไปสู่การฝังกลบเป็นศูนย์” (Zero Waste to Landfill) ซึ่งหมายถึงการส่งของเสียไม่เกินร้อยละ 1 จากโรงงานไปสู่การฝังกลบ
•    โรงงานระยองได้เปลี่ยนรถโฟล์คลิฟท์ที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันดีเซลหรือก๊าซแอลพีจี เป็นรถโฟล์คลิฟท์ระบบแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน จำนวนมากถึง 133 คัน ซึ่งถือว่าช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงถึง 500 ตันต่อปี หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 21,000 ต้น 

 อีเลคโทรลักซ์ตอกย้ำจุดยืนในฐานะผู้นำด้านการดูแลเสื้อผ้าอย่างยั่งยืน ด้วยการเปิดตัวกลุ่มผลิตภัณฑ์ Electrolux UltimateCare รุ่นใหม่ล่าสุด นอกจากนี้ยังมีเครื่องดูดฝุ่นรุ่นด้ามจับน้ำหนักเบาผลิตจากวัสดุรีไซเคิล
•    โครงการจัดอบรมเยาวชนเพื่อให้เป็นฮีโร่ด้านอาหาร หรือ “Food Heroes” ของมูลนิธิอีเลคโทรลักซ์ฟู้ด ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนในแต่ละประเทศในการเลือกทำและทานอาหารตามแนวทางยั่งยืนม
“การตั้งสำนักงานใหญ่ของภูมิภาคแห่งใหม่นี้ จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นจุดศูนย์กลางที่สำคัญของอีเลคโทรลักซ์กรุ๊ป มุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพและความเชี่ยวชาญของพนักงานระดับภูมิภาคที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานระดับโลก และสนับสนุนโอกาสเติบโตในการทำงาน” นายวิเทอร์ กล่าว

'บีโอไอ' ไฟเขียว!! ไฮเออร์' ลงทุนไทย 1.3 หมื่นล้าน จ้างงานคนไทย 3 พันตำแหน่ง ยกระดับไทยสู่ฐานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะแห่งใหม่นอกประเทศจีน

(19 ก.ย. 67) นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการ ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากบอร์ดบีโอไอ ได้อนุมัติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตเครื่องปรับอากาศอัจฉริยะ ของบริษัท ไฮเออร์ แอพพลายแอนซ์ แมนูแฟคเจอร์ จำกัด ภายใต้แบรนด์ 'Haier' ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่จากประเทศจีน ซึ่งมียอดขายอันดับ 1 ของโลกติดต่อกัน 15 ปี (ตั้งแต่ปี 2552 - 2566) จากการจัดอันดับโดยยูโรมอนิเตอร์

โครงการนี้จะมีกำลังการผลิตเครื่องปรับอากาศอัจฉริยะที่มีระบบเซ็นเซอร์และอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งตรวจจับและรับข้อมูลได้ และสามารถเชื่อมต่อกับ Smart Phone และอุปกรณ์อื่น ๆ ผ่านเครือข่าย Wi-Fi จำนวน 6 ล้านเครื่องต่อปี มีเงินลงทุนสูงถึง 13,400 ล้านบาท ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 200 ไร่ ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 3 จังหวัดชลบุรี โดยเฟสแรกจะเร่งลงทุนและติดตั้งกำลังการผลิต 3 ล้านเครื่องให้แล้วเสร็จ พร้อมเริ่มผลิตภายในเดือนกันยายน 2568 และจะเปิดเต็มโครงการภายในปี 2570 มีแผนการจ้างงานบุคลากรไทยกว่า 3,000 คน โครงการนี้จะเป็นการผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก มีมูลค่าการส่งออกกว่า 32,000 ล้านบาทต่อปี 

“ไฮเออร์ได้ตัดสินใจลงทุนครั้งใหญ่เพื่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ โดยเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเครื่องปรับอากาศอัจฉริยะที่ใหญ่ที่สุดนอกประเทศจีน เนื่องจากเห็นว่าประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้ามีความเสถียรและเพียงพอต่อความต้องการ ห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง รวมทั้งพื้นที่ตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ที่มีความพร้อมด้านโลจิสติกส์ ทั้งท่าเรือและเส้นทางคมนาคมที่สะดวกเพื่อสนับสนุนการส่งออก อีกทั้งมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐ ถือเป็นความสำเร็จในการดึงดูดโครงการลงทุนที่มีคุณภาพ ซึ่งจะช่วยสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทย ทั้งด้านการสร้างงาน การพัฒนาบุคลากร การใช้วัตถุดิบในประเทศ และเพิ่มมูลค่าการส่งออกของไทยในตลาดโลก” นายนฤตม์ กล่าว

นอกจากโรงงานแห่งใหม่ที่จังหวัดชลบุรี ที่ผ่านมากลุ่มไฮเออร์ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า หม้อหุงข้าวไฟฟ้า กระติกน้ำร้อนไฟฟ้า คอมเพรสเซอร์สำหรับตู้เย็น เป็นต้น ภายใต้ชื่อบริษัท ไฮเออร์ อีเล็คทริค (ประเทศไทย) จำกัด รวม 9 โครงการ เงินลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่เขตอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมขยายกิจการผลิตตู้เย็นในพื้นที่โรงงานเดิมด้วย  

ปัจจุบันประเทศไทยเป็นฐานการผลิตชั้นนำของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน และเป็นสินค้าส่งออกอันดับต้น ๆ ของไทย โดยผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากพัฒนาการของเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้ง AI, 5G และ IoT ที่เปลี่ยนมาตรฐานการใช้ชีวิตในโลกสมัยใหม่ที่ผู้บริโภคสามารถเชื่อมต่อและควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ภายในบ้านผ่านระบบอินเตอร์เน็ต 

การส่งเสริมการยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าไปสู่ 'เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ' เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญของบีโอไอ โดยตั้งแต่ปี 2566 - มิถุนายน 2567 มีโครงการในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนยื่นขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอ จำนวน 144 โครงการ เงินลงทุนรวม 98,550 ล้านบาท โดยกว่าร้อยละ 80 เป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ นอกจากไฮเออร์แล้ว ยังมีแบรนด์ชั้นนำต่าง ๆ ที่มีฐานการผลิตในประเทศไทย เช่น มิตซูบิชิ, โซนี่, ไดกิ้น, ซัมซุง, อีเลกโทรลักซ์, ไมเดีย เป็นต้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top