Sunday, 12 May 2024
อียู

กฎใหม่ ‘อังกฤษ’ รับรองผู้ฉีดวัคซีนจากประเทศใหญ่ พร้อมข้ามกักตัว 10 วัน ทั่วโลกบ่น 'ไร้เหตุผล'

กฎการเดินทางใหม่ของอังกฤษที่รับรองเฉพาะการฉีดวัคซีนจากสหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, เกาหลีใต้ และอียู สร้างความไม่พอใจไปทั่วโลก โดยกฎการเดินทางในยุค Covid-19 ฉบับใหม่ของอังกฤษ เลือกที่จะปฏิเสธการรับรองวัคซีนที่ฉีดจากประเทศแถบละตินอเมริกา, แอฟริกา, เอเชียใต้ และอีกหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งสร้างความไม่พอใจเป็นวงกว้าง โดยหลายคนมองว่าเป็นนโยบายที่เลือกปฏิบัติและไร้เหตุผล

ภายใต้กฎการเดินทางใหม่ที่ทางการอังกฤษประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนของ AstraZeneca, Pfizer-BioNTech, Moderna หรือ Johnson&Johnson ในประเทศสหรัฐฯ, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, เกาหลีใต้ หรือประเทศในสหภาพยุโรป (EU) เท่านั้นที่จะถือว่า ‘ได้รับวัคซีนครบแล้ว’ และได้รับการยกเว้นไม่ต้องกักตัวเป็นเวลา 10 เมื่อเดินทางเข้าอังกฤษจากประเทศที่อยู่ในกลุ่มสีเหลือง

ขณะที่ผู้ได้รับวัคซีนครบถ้วนแล้วจากประเทศในแถบแอฟริกา, ละตินอเมริกา, เอเชียใต้ หรือประเทศอื่นๆ รวมทั้งอินเดีย จะถือว่า ‘ได้รับวัคซีนยังไม่ครบ’ และต้องกักตัว 10 วันเมื่อเดินทางจากประเทศในกลุ่มสีเหลืองมาถึงอังกฤษ

นอกจากนี้ ในยุโรปยังเกิดความไม่พอใจที่อังกฤษไม่ยอมรับว่าผู้ที่เคยป่วย Covid-19 และได้รับวัคซีนแล้ว 1 โดส เป็นผู้ที่ ‘ได้รับวัคซีนครบแล้ว’ และยังต้องกักตัว 10 วัน ขณะที่หลายประเทศในสหภาพยุโรปถือว่าคนกลุ่มนี้ได้รับวัคซีนครบแล้วและสามารถเดินทางท่องเที่ยวในสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อจำกัดเพียงแค่ต้องแสดงใบรับรองการฉีดวัคซีน

ทั้งนี้ ทางการอังกฤษกำหนดให้ผู้ที่หายป่วยจาก Covid-19 และมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติแล้ว ยังต้องฉีดวัคซีนที่ต้องใช้ 2 โดส อาทิ Pfizer-BioNTech หรือ Moderna ให้ครบทั้งสองโดสก่อนด้วย 

'ฝรั่งเศส' ชี้!! ยูเครนสมัครเข้าอียู ต้องใช้เวลา 15-20 ปี หากใครบอกทำได้เร็วกว่านี้ ถือว่า 'พูดไม่จริง'

เคลมองต์ โบน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการยุโรปของฝรั่งเศส เตือนว่า กระบวนการพิจารณารับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกอียู อาจใช้เวลา 15-20 ปี โดยเรื่องนี้ต้องพูดกันอย่างจริงใจ แต่ถ้าใครบอกว่าใช้เวลา 6 เดือน หนึ่งปี หรือ สองปี ถือว่ากำลังพูดไม่จริง 

พร้อมทั้งกล่าวถึงข้อเสนอของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส เพื่อตั้งประชาคมการเมืองขึ้นมา และจะสามารถรวมเอายูเครนเข้าร่วมกลุ่มได้เร็วกว่า ที่พูดเช่นนี้ เพราะไม่ต้องการเสนออะไรที่เป็นภาพมายา หรือคำโกหกกับยูเครน ข้อเสนอของผู้นำฝรั่งเศสไม่ใช่ทางเลือก และยูเครนยังสามารถยื่นสมัครเข้าเป็นสมาชิกอียูภายหลังได้อีก

ความเห็นของโบน ถือเป็นการทำลายความหวังของประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี เพื่อเร่งเข้าเป็นสมาชิกอียู ในช่วงที่มีปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน 

‘อียู’ สั่งสอบรถยนต์ไฟฟ้าของ 'จีน' หลังพบราคาถูกเกินไป หวั่นยุโรปได้รับผลกระทบ หากเป็นการขายเพื่อตัดราคาคู่แข่ง

(14 ก.ย. 66) อียูจะทำการสืบสวนการอุดหนุนรถไฟฟ้าโดยภาครัฐจีน จากการเปิดเผยของอัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปเมื่อวันพุธ (13 ก.ย.) พร้อมประกาศปกป้องอุตสาหกรรมยุโรปจาก ‘ราคาขายต่ำแบบเทียมๆ’

"เวลานี้ตลาดโลกท่วมไปด้วยรถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกกว่าของจีน และราคาของรถเหล่านั้นถูกคงไว้ในระดับต่ำแบบเทียมๆ ด้วยการอุดหนุนมหาศาลของภาครัฐ" ฟอน แดร์ ไลเอิน กล่าวระหว่างปราศรัยต่อรัฐสภายุโรปในสตาร์บวร์ก

ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปกล่าวต่อว่าการสืบสวนนี้อาจนำมาซึ่งการที่สหภาพยุโรปกำหนดจัดเก็บภาษีกับรถยนต์ไฟฟ้าเหล่านั้น ที่เชื่อว่าถูกวางจำหน่ายในราคาถูกอย่างไม่ยุติธรรม ซึ่งเป็นการขายตัดราคาบรรดาคู่แข่งสัญชาติยุโรปทั้งหลาย "ยุโรปเปิดกว้างสำหรับการแข่งขัน แต่ไม่ใช่การแข่งขันที่นำไปสู่จุดเสื่อม"

มีรายงานข่าวว่า ฝรั่งเศสคือชาติที่ผลักดันให้ ฟอน แดร์ ไลเอิน เปิดการสืบสวน ท่ามกลางความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ทั่วยุโรป ต่อกรณีที่ทวีปแห่งนี้ต้องพึ่งพิงผลิตภัณฑ์ของจีน

บรรดาผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติยุโรปต่างชื่นชมการสืบสวนในครั้งนี้ โดยมองมันในฐานะสัญญาณในทางบวก "คณะกรรมาธิการยุโรปกำลังตระหนักถึงสถานการณ์ที่ไม่สมดุลมากขึ้นเรื่อยๆ ที่อุตสาหกรรมของพวกเราต้องเผชิญ และกำลังพิจารณาอย่างเร่งด่วนต่อการแข่งขันที่บิดเบี้ยวในภาคอุตสาหกรรมของเรา" Sigrid de Vries ผู้อำนวยการทั่วไปของสมาคมผู้ผลิตยานยนต์แห่งยุโรปกล่าว

เธียร์รี เบรตอง หัวหน้าตลาดภายในของอียู กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เตือนเกี่ยวกับแนวโน้มหนึ่งที่กำลังก่อตัวขึ้น แนวโน้มที่ยุโรปกำลังถูกผลักไปเป็นผู้นำเข้าสุทธิยานยนต์ไฟฟ้าและแผงโซลาร์เซลล์

ขณะเดียวกัน พวกผู้เชี่ยวชาญบางส่วนมองว่า จีน อาจแซงหน้าญี่ปุ่น กลายเป็นชาติผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลกในปีนี้

ฝรั่งเศสมีความกังวลอย่างยิ่งว่า ยุโรปจะตกเป็นฝ่ายตามหลังถ้าไม่ดำเนินการเชิงรุกมากกว่านี้ ยามที่ต้องเผชิญหน้ากับความเคลื่อนไหวต่างๆ ของจีน ที่มีการกีดกันทางการค้ามากกว่า

ก่อนหน้านี้ ฝรั่งเศสได้แถลงมาตรการต่างๆ ที่จะมอบการอุดหนุนยานยนต์ไฟฟ้าใหม่ บนพื้นฐานของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเหล่าผู้ผลิต ซึ่งมันจะทำให้รถยนต์ของจีนเจองานที่ยากลำบากมากขึ้น เนื่องจากบ่อยครั้งที่ผู้ผลิตสัญชาติจีนมักพึ่งพิงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน

ฟอน แดร์ ไลเอิน เรียกร้องให้อียูกำหนดแนวทางของตนเองในการรับมือกับจีน แต่บรรดามหาอำนาจยักษ์ใหญ่ของยุโรปบางส่วนอยากให้ดำเนินการอย่างระมัดระวัง เพื่อหลีกเลี่ยงถูกตัดขาดความสัมพันธ์ทางธุรกิจ

แม้แสดงออกด้วยคำพูดที่แข็งกร้าว แต่ ฟอน แดร์ ไลเอิน กล่าวเช่นกันว่า มันเป็นเรื่องสำคัญสำหรับยุโรปที่ต้องธำรงไว้ซึ่งการติดต่อสื่อสารและการทูตกับจีน "เพราะว่ายังมีหัวข้อต่างๆ ที่เราสามารถและมีความร่วมมือระหว่างกัน ลดความเสี่ยง ไม่ใช่เพิ่มเป็นทวีคูณ นี่คือท่าทีของฉันที่มีต่อพวกผู้นำจีน ณ ที่ประชุมซัมมิตอียู-จีน ในช่วงปลายปี"

‘อียู’ เล็งยึดทรัพย์ ‘รัสเซีย’ ไปซื้ออาวุธป้อนยูเครน ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

เมื่อวานนี้ (20 มี.ค.67) วังเครมลินชี้ว่าสหภาพยุโรป (อียู) จะละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน หากว่าพวกเขาใช้ยึดทรัพย์สินของรัสเซียที่อายัดไว้ นำไปจัดหาอาวุธป้อนแก่ยูเครน

ทั้งนี้ บรรดาประเทศสมาชิกอียูถกเถียงกันมานานหลายเดือนว่าจะทำอย่างไรกับทรัพย์สินของรัสเซียที่อายัดไว้ โดยที่ โจเซฟ บอร์เรล หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศ ผลักดันแผนการหนึ่งในวันพุธ (20 มี.ค.) ให้นำดอกเบี้ยที่ได้จากทรัพย์สินของรัสเซียที่อายัดไว้ นำไปป้อนแก่เคียฟ

"พวกประเทศยุโรปทราบดีว่าความเสียหายจากการตัดสินใจลักษณะนี้จะส่งผลกระทบอย่างไรกับเศรษฐกิจของพวกเขา ภาพลักษณ์ของพวกเขา ชื่อเสียงของพวกเขาในฐานะผู้รับประกันที่น่าเชื่อถือ" ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกวังเครามลินกล่าว "พวกเขาจะตกเป็นเป้าหมายของการดำเนินคดีไปอีกหลายทศวรรษ"

มาเรีย ชาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย กล่าวในวันพุธ (20 มี.ค.) ว่าหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่มอสโกจะต้องทำการตอบโต้การชิงทรัพย์และลักขโมยอย่างโจ่งแจ้งครั้งนี้

พวกเจ้าหน้าที่อียูประมาณการว่าข้อเสนอล่าสุดนี้ จะได้เงินทุนราว 3,000 ล้านยูโรต่อไป สำหรับนำไปช่วยเหลือยูเครน

ปัจจุบัน อียูอายัดทรัพย์สินต่างๆ ที่ธนาคารกลางรัสเซียถือครองอยู่ในสหภาพยุโรป อยู่ราว 200,000 ล้านยูโร ส่วนหนึ่งในมาตรการคว่ำบาตรลงโทษที่กำหนดเล่นงานมอสโก ต่อกรณีส่งทหารรุกรานยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 โดยเงินทุนส่วนใหญ่ถือครองโดย Euroclear องค์กรที่ทำหน้าที่รับฝากหลักทรัพย์ ชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ระหว่างประเทศ ที่มีสำนักงานในเบลเยียม

ภายใต้แผนของอียู 90% ของเงินที่ดึงออกมาจากดอกเบี้ยจะถูกนำไปป้อนเข้าสู่กองทุนหนึ่งเพื่อใช้สำหรับเป็นทุนสำรองค่าใช้จ่ายด้านอาวุธสำหรับยูเครน ส่วนอีก 10% ที่เหลือ จะถูกป้อนเข้าสู่งบประมาณของอียู ซึ่งพวกเขาจะนำไปใช้เพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมป้องกันตนเองของยูเครน

ความพยายามผลักดันของอียูในการควานหางบประมาณเพิ่มเติมสำหรับยูเครน มีขึ้นในขณะที่แพ็กเกจสนับสนุนมูลค่า 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากอเมริกา ชาติผู้หนุนหลังรายใหญ่ที่สุดของเคียฟ ยังคงติดแหง็กอยู่ในสภาคองเกรส

ท่ามกลางอาวุธที่ลดน้อยถอยลงในสงครามที่ยืดเยื้อมานานกว่า 2 ปี ส่งผลให้กองกำลังยูเครนกำลังตกเป็นรองในแนวหน้าต่างๆ และประสบปัญหาในการสกัดการรุกคืบของรัสเซีย

รายงานข่าวระบุว่า พวกผู้นำอียูเตรียมหารือกันเกี่ยวกับข้อเสนอนี้ ณ ที่ประชุมซัมมิต ในบรัสเซลส์ ในวันที่ 21 มี.ค. และพวกเจ้าหน้าที่เชื่อว่าเงินจะเริ่มถูกส่งป้อนเข้าไปช่วยยูเครนในเดือนกรกฎาคม หากว่าสามารถบรรลุข้อตกลงอย่างรวดเร็

พวกเจ้าหน้าที่อียูยืนยันว่าแผนของเขาฟังดูเหมือนมีความชอบธรรมตามกฎหมาย เพราะว่าดอกเบี้ยที่อยู่ในเป้าหมายของพวกเขาเป็นรายได้จากการรับฝากสินทรัพย์ ผลจากมาตรการคว่ำบาตร และไม่ได้เป็นของรัสเซีย

สมาชิกบางชาติของอียู อย่างเช่นเยอรมนี มีความระมัดระวังอย่างยิ่งต่อความเคลื่อนไหวใดๆ ที่อาจบ่อนทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างแดนต่อระบบการเงินของยุโรป แต่ในขณะเดียวกัน บรัสเซลส์ก็ถูกกดดันจากยูเครนและสหรัฐฯ ให้ดำเนินการมากกว่าที่เป็นอยู่ และทำการยึดทรัพย์สินทั้งหมดของรัฐบาลรัสเซีย มูลค่า 200,000 ล้านยูโร

‘ยูเครน’ ส่งสัญญาณ เปิดทางทหารอียูสู้รบกับรัสเซียแทน ขู่!! หากปล่อยยูเครนพ่ายแพ้ ‘ปูติน’ จะไม่หยุดแค่นั้น

ความขัดแย้งระหว่างมอสโกกับเคียฟอาจไปถึงจุดที่บรรดาชาติสมาชิกอียูจำเป็นต้องประจำการทหารในยูเครน เพื่อต้านทานการรุกคืบของรัสเซีย จากความเห็นของดมิทรี คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครนเมื่อช่วงต้นสัปดาห์

ระหว่างให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ข่าวการเมืองสหรัฐฯ ‘โพลิติโก’ เมื่อวันจันทร์ (25 มี.ค.) คูเลบา คร่ำครวญต่อกรณีที่ตะวันตกลดความช่วยเหลือด้านการทหารที่มอบแก่เคียฟในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

"กรุณามอบแพทริออตให้เรา" คูเลบากล่าว อ้างถึงระบบขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศที่ผลิตโดยสหรัฐฯ ซึ่งเขาเน้นย้ำว่ามีความจำเป็นต่อเคียฟ สำหรับเล็งเป้าหมายสกัดฝูงบินขับไล่ของรัสเซีย ที่พึ่งพาระเบิดนำวิถีทางอากาศเป็นหลัก "มอสโกพึ่งพากระสุนอัปเกรดของพวกเขามากยิ่งขึ้น และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมทหารยูเครนถึงสูญเสียฐานที่มั่นต่าง ๆ"

เป็นอีกครั้งที่ คูเลบา แสดงความเสียใจที่บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรีพับลิกันยังคงขัดขวางความพยายามของรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ผลักดันเงินช่วยเหลือก้อนใหม่ 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่จะมอบแก่ยูเครน กระนั้นเขาปฏิเสธตอบคำถามกรณีเยอรมนี อีกชาติพันธมิตรลังเลจัดหาขีปนาวุธพิสัยไกล ‘ทอรัส’ แก่เคียฟ โดยบอกว่าเขา "เหนื่อยหน่ายกับคำถามนี้"

อย่างไรก็ตาม เขาหลีกเลี่ยงวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส หลังจากเมื่อเดือนที่แล้ว ผู้นำแดนน้ำหอมบอกว่าเขาไม่ตัดความเป็นไปได้ของการส่งทหารจากบรรดาชาติสมาชิกนาโตเข้าไปยังยูเครน

"เรายินดีที่ได้เห็นประธานาธิบดีมาครง มีวิวัฒนาการไปในทิศทางนั้น" รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครนกล่าว แม้ความเห็นของผู้นำฝรั่งเศส นำมาซึ่งระลอกคลื่นเสียงปฏิเสธจากบรรดาผู้นำรัฐสมาชิกนาโตอื่น ๆ ซึ่งเน้นย้ำว่าไม่มีแผนส่งทหารตะวันตกไปยังยูเครน

"เคียฟไม่เคยร้องขอทหารสู้รบจากยุโรปในภาคสนาม แต่พวกผู้นำอียูอาจจำเป็นต้องรับแนวคิดนี้ เมื่อวันนั้นมาถึง" คูเลบากล่าว "ผมทราบดีว่าเหล่าชาติยุโรปไม่คุ้นเคยกับแนวคิดแห่งสงคราม แต่ยุโรปไม่อาจอยู่ในความประมาท ไม่ว่ากับตัวเองหรือกับเด็ก ๆ ของพวกเขา เพราะว่าหากยูเครนพ่ายแพ้ ปูติน (ประธานาธิบดีรัสเซีย) จะไม่หยุดแค่นั้น"

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ระบุว่าคำกล่าวอ้างของเคียฟและบรรดาผู้สนับสนุนต่างชาติที่บอกว่ารัสเซียจะเล็งเป้าเล่นงานรัฐสมาชิกนาโต เป็นเรื่องไร้สาระ อย่างไรก็ตาม ในการให้สัมภาษณ์อีกครั้ง ผู้นำรายนี้เน้นย้ำว่ามอสโกจะปฏิบัติกับทหารตะวันตกในฐานะ ‘พวกแทรกแซง’ หากพวกเขาเข้าประจำการในยูเครน และจะตอบโต้อย่างสาสม

รองประธานรัฐสภารัสเซีย ปิออตร์ ตอลสตอย เตือนมาครง เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ต่อการสู้รบโดยตรงกับรัสเซียในสนามรบว่า "เราจะสังหารทหารฝรั่งเศสทุกรายที่ย่างเท้าเข้าสู่แผ่นดินยูเครน"


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top