Tuesday, 22 April 2025
อาลีบาบา

ย้อนอดีตวันคนโสด 11.11.2018 จากอาลีบาบา ยอดขาย 2 ชั่วโมง แซง ‘เซเว่นฯ’ ไทยขายทั้งปี

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พอพูดถึงวันที่ 11 เดือน 11 หรือที่เรียกกันว่า 11.11 นั้น ทุกคนต่างพุ่งเป้าไปที่การซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ยักษ์ใหญ่อย่าง Shopee และ Lazada เพราะทั้ง 2 แบรนด์ต่างงัดกลยุทธ์ด้านการตลาดที่หลากหลาย มาดึงจูงใจลูกค้าให้เข้ามาซื้อสินค้า ผ่านแพลตฟอร์มตัวเอง อาทิ การลดกระหน่ำ, ตัดราคา 50% หรือจะเป็นแจกโค้ดส่วนลด ส่งสินค้าฟรี และโปรโมชันอื่น ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ

แต่ทราบหรือไม่ว่าการทำการตลาดในวัน 11.11 นั้นมีที่มาจากอะไร

จุดเริ่มต้น 11.11 นั้นเริ่มขึ้นจากความนึกสนุกของนักศึกษาชายจากมหาวิทยาลัยนานกิง ประเทศจีน ในยุค 90 ที่เขาเกิดไอเดียนำเลข 1 ที่สื่อความหมายถึงความโดดเดี่ยว คนเดียว มาเรียงต่อกัน 4 ตัว เป็น 11.11 จนกลายเป็นเทศกาล ‘กวงกุ่ยเจี๋ย’ (光棍节) หรือ ‘เทศกาลคนโสด’ ซึ่งงานนี้ก็ไม่มีใครคาดคิดว่ามันจะกลายเป็นวันที่ได้รับความนิยมแพร่หลาย ไปทั่วประเทศ

11.11 เริ่มแพร่หลาย และกลายเป็นอีกการตลาดที่ร้อนแรงภายใต้วิถีชีวิตของผู้คนชาวจีนที่เป็นโสดมากขึ้น และมีบุตรน้อยลง การตลาดจาก ‘วันคนโสด’ หรือ ‘Single’s Day’ จึงสอดคล้องกับพฤติกรรมของเหล่าคนโสดที่ไม่ต้องง้อและพร้อมสู่ขอของขวัญชิ้นพิเศษให้กับตัวเองได้ในวันนี้

เพียงแต่การจะเดินทางไปช็อปปิ้งตามห้างสรรพสินค้าเพียงคนเดียว ก็อาจจะดูเป็นการทำร้ายความรู้สึกตัวเองเกินไป!!

ในปี 2009 นายหม่า-ยวิ๋น หรือ แจ็ค หม่า (Jack Ma) ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ ประธานและซีอีโอของแพลตฟอร์ม ช้อปปิ้งออนไลน์ชื่อดัง อาลีบาบา (Alibaba) ที่เรารู้จักกันดี จึงเห็นช่องทางจากการตลาดคนโสดนี้ และปล่อยสุดยอดโปรโมชันขายสินค้าในวันที่ 11.11 ตั้งแต่วินาทีแรกที่เข้าสู่วันคนโสดของจีนจนกระทั่งหมดวัน และมีโปรโมชั่นนาทีทองแทบจะทุกชั่วโมง และสามารถสร้างยอดขายสูงสุดในวันเดียวได้ถึง 52 ล้านหยวน มากกว่าที่เคยทำในช่วงเวลาปกติ 10 เท่า

จากวันนั้น 11.11 ได้กลายเป็นบ่อทองให้กับอาลีบาบาในการโกยรายได้ทางออนไลน์จากนักช็อปทั้งในจีนและต่างชาติ ขณะเดียวกันก็ได้สร้างวัฒนธรรมการช็อปปิ้งออนไลน์ในวันคนโสดนี้ให้แพร่หลายไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงไทยในทุก ๆ ปี 

โดยเฉพาะในวันคนโสด 11.11 เมื่อปี 2018 ที่อาลีบาบาได้สร้างตำนานตัวเลขที่น่าตกใจ โดยสามารถโกยยอดขายในเวลา 2 ชั่วโมง ที่ว่ากันว่ามีตัวเลขยอดขายเท่ากับ 7-Eleven ไทย ขายทั้งปีกันเลยทีเดียว

แบบนี้ก็มีด้วย!! นักลงทุนตลาดหุ้นสหรัฐฯ เบนเป้า หันมายื่นฟ้อง ‘แจ็ค หม่า’ หลังยื่นฟ้องอาลีบาบากรุ๊ปไม่เป็นผล ปมราคาหุ้นอาลีบาบาตกหนัก ทำสูญเงินมหาศาล

เพจ “ลึกชัดกับผิงผิง” สื่อที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศจีน โพสต์ข้อความระบุว่า ปี 2021 นักลงทุนหุ้นสหรัฐฯ หลายคนยื่นฟ้องกลุ่มอาลีบาบาต่อศาลเขตภาคใต้นครนิวยอร์ก ด้วยสาเหตุที่ราคาหุ้นอาลีบาบาตกหนัก ทำให้พวกเขาสูญเสียมหาศาล แต่ไม่เป็นผล 

วันที่ 22 เมษายน 2022 นักลงทุนดังกล่าวแก้ไขหนังสือฟ้องร้อง โดยมีเป้าหมายที่นายแจ็ค หม่าผู้ก่อตั้งกลุ่มอาลีบาบา ทั้งๆ ที่นายแจ็ค หม่าลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการอาลีบาบาตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2019  แล้ว 

เป็นเรื่องน่าขำยิ่ง เพราะตอนที่ค่าหุ้นอาลีบาบาพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก บรรดานักลงทุนพากันดีใจใหญ่ ปัจจุบันราคาหุ้นตกอย่างหนัก จึงรู้สึกไม่พอใจก็เลยไปฟ้องร้อง ตลาดหุ้นมีกติกาแบบนี้หรือ? 

เหตุใดที่ทำให้ราคาหุ้นบริษัทนิวไฮเทคจีนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯตกลงอย่างฮวบฮาบ 

ช่วงรัฐบาลทรัมป์ จีนกับสหรัฐฯเกิดข้อขัดแย้งทางการค้า สหรัฐฯออกมาตรการจำนวนหนึ่งเพื่อทำลายล้างบริษัทจีน ปี 2020 วุฒิสภาสหรัฐฯ ผ่าน “กฎหมายสืบสวนความรับผิดชอบบริษัทต่างประเทศ” โดยพุ่งเป้าต่อบริษัทจีนอย่างชัดเจน หลังจากนั้น ราคาหุ้นบริษัทนิวไฮเทคจีนที่มีอาลีบาบาเป็นตัวแทนตกลงอย่างอวบฮาบต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา 

แต่นักลงทุนหุ้นสหรัฐฯ ที่ฟ้องร้องนายแจ๊ค หม่าไม่ได้เอ่ยถึงเบื้องหลังสำคัญนี้ในหนังสือร้องเรียนดังกล่าว 

ต้นเดือนมีนาคมปีนี้ คณะกรรมการแลกเปลี่ยนพันธบัตรสหรัฐฯ หรือ SEC จัดบริษัทจีน 5 บริษัทเข้าไว้ในบัญชี “รายชื่อบริษัทที่จะไล่ออก” วันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา รายชื่อนี้ได้เพิ่มบริษัทจีนอีก 19 บริษัท คาดว่าในอนาคตบริษัททุนจีน 191 บริษัทจะถูกขึ้นบัญชีดำทั้งหมด ทำให้นักลงทุนพากันเทขายหรือไม่ซื้อหุ้นบริษัทจีนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ

สื่อผู้ดี เผย ‘แจ็ค หม่า’ อาศัยที่ญี่ปุ่นนาน 6 เดือนแล้ว หลัง ‘รัฐบาลจีน’ เข้ากวาดล้างธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี

‘แจ็ค หม่า’ ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา บริษัทอีคอมเมิร์ซชั้นนำของโลก อาศัยอยู่ในกรุงโตเกียวของญี่ปุ่นมาเกือบ 6 เดือนแล้ว หลังจากไม่ได้ปรากฏตัวต่อสาธารณะ ภายหลังจากที่ทางการจีนกวาดล้างภาคธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี

หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทมส์ รายงานว่า ‘แจ็ค หม่า’ ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา บริษัทอีคอมเมิร์ซชั้นนำของโลก ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมากับครอบครัวของเขาที่กรุงโตเกียวและเมืองอื่น ๆ ของญี่ปุ่น และบอกว่าหม่าแวะเวียนไปที่โมสรส่วนบุคคลหลายแห่งในกรุงโตเกียวอยู่เป็นประจำ จนกลายเป็นผู้สนใจสะสมศิลปะสมัยใหม่ของญี่ปุ่นรวมถึงการหาแนวทางขยายผลประโยชน์ทางธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน นอกจากนั้น ยังมีผู้พบเห็นเขาไปปรากฏตัวในสถานที่อื่น ๆ อีกเช่น เกาะมายอร์กาในสเปนเมื่อปีที่แล้ว รวมถึงการเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ และอิสราเอล

‘ไมเคิล อีวานส์’ ประธานบริษัทอาลีบาบา ยัน ‘แจ็ก หม่า’ ยังมีชีวิตอยู่ มีความสุขดี กำลังสอนหนังสืออยู่ที่โตเกียว

เฟซบุ๊ก ทันข่าว Today ได้โพสต์ข้อความถึง ชีวิตและความเป็นอยู่ของบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่าง  ‘แจ็ก หม่า’ โดยได้ระบุว่า ...

นายไมเคิล อีวานส์ ประธานบริษัทอาลีบาบา ซึ่งเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีและอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีน เผย “แจ็ก หม่า” ผู้ก่อตั้งอาลีบาบานั้น “ยังมีชีวิตอยู่” และ “มีความสุขดี” เนื่องจากมีกระแสคาดเดาเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของเขา หลังธุรกิจถูกรัฐบาลจีนปราบปรามอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา

▪️ นายหม่ายังมีชีวิตอยู่ กำลังสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียว และใช้เวลาในจีนมากขึ้น นายอีวานส์ระบุท่ามกลางการประชุมวีว่า เทค (Viva Tech) ณ กรุงปารีส

▪️สื่อ CNBC ระบุว่า อีวานส์ตอบคำถามของนายมอริส เลวี ประธานบริษัทพับลิซิส (Publicis) ซึ่งเป็นบริษัทโฆษณาของฝรั่งเศส โดยกรณีดังกล่าวตอกย้ำว่าสาธารณชนยังคงสนใจเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของนายหม่า

▪️ ธุรกิจด้านเทคโนโลยี รวมทั้ง อาลีบาบา ของนายหม่าถูกรัฐบาลควบคุมอย่างเข้มงวดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เขาลดบทบาทลงและหายจากสังคมไปช่วงหนึ่ง

'อาลีบาบา' เปิดตัว 'Qwen 2.5' ท้าชน DeepSeek อ้างเหนือกว่าทุกด้าน

(29 ม.ค.68) ดูเหมือนศึกโมเดลปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะยิ่งเดือดดาลมากขึ้น เมื่อ อาลีบาบา (Alibaba) ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีน เปิดตัว Qwen 2.5 โมเดล AI รุ่นใหม่ที่อ้างว่ามีประสิทธิภาพเหนือกว่า DeepSeek-V3 ซึ่งกำลังได้รับความสนใจอย่างมากในวงการ

การเปิดตัว Qwen 2.5-Max ในช่วงวันแรกของเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นเวลาที่ชาวจีนส่วนใหญ่ใช้เวลาพักผ่อนกับครอบครัว เป็นสัญญาณที่ชัดเจนถึงแรงกดดันจากการเติบโตของ DeepSeek สตาร์ตอัป AI สัญชาติจีนที่เพิ่งเปิดตัวโมเดลใหม่ในช่วงสามสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบกับคู่แข่งต่างชาติ แต่ยังสะเทือนวงการเทคโนโลยีในประเทศจีนด้วย

หน่วยธุรกิจคลาวด์ของอาลีบาบาประกาศผ่าน WeChat อย่างเป็นทางการว่า "Qwen 2.5-Max มีประสิทธิภาพเหนือกว่า GPT-4o, DeepSeek-V3, และ Llama-3.1-405B ในแทบทุกด้าน" โดยเปรียบเทียบกับโมเดล AI แบบโอเพนซอร์สจาก OpenAI และ Meta

Qwen 2.5-Max มีขนาดโมเดลใหญ่ถึง 405 พันล้านพารามิเตอร์ ซึ่งช่วยให้ประมวลผลข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพและเข้าใจบริบทข้อมูลได้ดียิ่งขึ้น โดยการเปิดตัวนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามราคา AI ที่จะทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี AI ในราคาที่ถูกลง

การที่อาลีบาบาสามารถพัฒนา Qwen 2.5 ที่อ้างว่ามีประสิทธิภาพเหนือกว่า DeepSeek-V3 ในเวลาที่รวดเร็ว เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงศักยภาพในการวิจัยและพัฒนาของอาลีบาบา

Qwen 2.5 มีหลากหลายโมเดลให้เลือกใช้ เช่น Qwen 2.5-Max, Qwen 2.5-Chat, และ Qwen 2.5-Turbo ซึ่งแต่ละโมเดลมีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป ทำให้ผู้ใช้สามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม โดยสามารถเข้าถึงผ่าน API บนแพลตฟอร์มคลาวด์ของอาลีบาบา

อย่างไรก็ตามหากเทียบระหว่าง AI ของอาลีบาบา กับ DeepSeek มีส่วนที่ต่างกันคือ DeepSeeek เน้นการพัฒนา AGI และขายโมเดลในราคาถูก ขณะที่ อาลีบาบา ใช้กลยุทธ์นำ AI ไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจ และให้บริการผ่านแพลตฟอร์มคลาวด์ ทำให้การแข่งขันระหว่างทั้งสองไม่เพียงแค่เรื่องของประสิทธิภาพของโมเดล แต่ยังเกี่ยวข้องกับกลยุทธ์ทางธุรกิจและการเข้าถึงตลาดอีกด้วย

ก่อนหน้านี้ DeepSeek ได้สร้างความฮือฮาในซิลิคอนวัลเลย์ หลังเปิดตัวผู้ช่วย AI ใช้โมเดล DeepSeek-V3 เมื่อวันที่ 10 มกราคม และตามมาด้วย DeepSeek-R1 เมื่อวันที่ 20 มกราคม ส่งผลให้หุ้นเทคโนโลยีในสหรัฐร่วงลงอย่างหนัก เนื่องจากต้นทุนการพัฒนาต่ำกว่าคู่แข่ง ทำให้นักลงทุนเริ่มตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าของการลงทุนใน AI ของบริษัทยักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯ

กระแสความสำเร็จของ DeepSeek ยังจุดชนวนให้เกิดการแข่งขันในวงการ AI ของจีนอย่างเร่งด่วน โดยเพียงสองวันหลังจากการเปิดตัว DeepSeek-R1 บริษัท ByteDance เจ้าของ TikTok ได้ปล่อยอัปเดตโมเดล AI ตัวใหม่ พร้อมเคลมว่ามีประสิทธิภาพเหนือกว่าโมเดล o1 ของ OpenAI ในการทดสอบ AIME ซึ่งเป็นเกณฑ์วัดความสามารถของ AI ในการประมวลผลคำสั่งที่ซับซ้อน

‘รัฐบาลจีน’ ดึง ‘แจ๊ก หม่า - เหลียง เหวินเฟิง’ ร่วมประชุม ส่งสัญญาณ!! รัฐหนุนภาคเอกชน

(15 ก.พ. 68) จีนเชิญแจ๊ก หม่า (Jack Ma) ผู้ร่วมก่อตั้งอาลีบาบา กรุ๊ป (Alibaba Group) และเหลียง เหวินเฟิง (Liang Wenfeng) ผู้ก่อตั้งดีปซีก (DeepSeek) เข้าร่วมประชุมกับผู้บริหารระดับสูงที่อาจจะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้า ซึ่งคาดว่าสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนจะเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วยเช่นกัน

ตารางนัดหมายการประชุมยังถูกปกปิดเป็นความลับและยังไม่มีความชัดเจนจนถึงปัจจุบัน แต่การพบปะกันระหว่างสี จิ้นผิง และแจ๊ก หม่า ส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะมีการสนับสนุนภาคเอกชนมากขึ้น หลังปล่อยให้เผชิญความระส่ำระสายมานานหลายปี

แจ๊ก หม่า นักธุรกิจรายใหญ่ของจีนผู้ซึ่งกล้าพูดตรงไปตรงมา กลายเป็นเหยื่อรายสำคัญที่ได้รับผลกระทบจากการปราบปรามภาคอสังหาฯเมื่อปี 2020 ของสี จิ้นผิง เมื่อรัฐบาลจีนช็อกผู้คนทั่วโลกด้วยการสกัดแผน IPO ของแอนท์ กรุ๊ป (Ant Group) ฟินเทคยักษ์ใหญ่ของแจ๊ก หม่า ซึ่งทำให้แจ๊ก หม่า สูญเงิน 35,000 ล้านดอลลาร์ในพริบตา และต้องหายจากหน้าสื่อไปหลายเดือน 

ทั้งนี้ สารสนเทศของคณะมุขมนตรีจีน (State Council Information Office) ไม่ได้ตอบสนองต่อคำถามเกี่ยวกับการประชุมดังกล่าวจากทางรอยเตอร์ เช่นเดียวกับตัวแทนของดีปซีกและอาลีบาบา

ปัจจุบัน รัฐบาลจีนดำเนินวิธีการที่ชวนวิวาทน้อยลง หลังเศรษฐกิจจีนเติบโตชะลอตัวและบริษัทต่าง ๆ อย่างอาลีบาบาปรับตัวให้สอดคล้องกับแนวทางการผลักดันทางปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของสี จิ้นผิง

ขณะที่ เหลียง เหวินเฟิง กลายเป็นผู้นำด้านเอไอเพียงคนเดียวที่ได้รับเลือกให้เข้าร่วมวงประชุมเปิดระหว่างผู้ประกอบการกับผู้มีอำนาจสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศอย่าง หลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ในวันที่ 20 มกราคม 2025 ด้านแจ๊ก หม่า ก็เริ่มค่อย ๆ ปรากฏตัวในที่สาธารณะมากขึ้น ได้มอบสุนทรพจน์เกี่ยวกับเอไอแก่พนักงานแอนท์ กรุ๊ป เมื่อเดือนธันวาคม 2024

‘Apple’ เลือกใช้ AI ของ 'อาลีบาบา' หวังเพิ่มทางรอดธุรกิจ ในสมรภูมิ!! 'สงครามการค้า' ระหว่าง ‘สหรัฐฯ - จีน’

(16 ก.พ. 68) แอปเปิล (Apple) กำลังพยายามปรับโฉมใน “จีน” ครั้งใหญ่ด้วย เทคโนโลยี AI ที่จะเปิดตัวภายในกลางปี 2568 เพื่อเพิ่มยอดขายใจตลาดสำคัญ เดิมพันครั้งใหญ่ในการเพิ่มยอดขาย แต่ Apple ต้องเผชิญกับอุปสรรคสำคัญในการเปิดตัวฟีเจอร์ดังกล่าวในประเทศจีน เนื่องจากกฎระเบียบของรัฐบาลจีนไม่อนุญาตให้ Apple นำความร่วมมือกับ OpenAI ผู้ผลิต ChatGPT เข้ามาในประเทศได้

เมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา “โจ ไช่” ประธานของอาลีบาบา (Alibaba) เปิดเผยว่า บริษัทจะร่วมมือกับ Apple ในด้านเทคโนโลยี AI สำหรับ iPhone ที่จำหน่ายในประเทศจีน 

ถึงแม้ความร่วมมือกับ Alibaba จะช่วยให้ Apple เข้าใกล้เป้าหมายการเปิดตัว Apple Intelligence ในประเทศจีนมากขึ้น แต่ก็ยังมีอุปสรรคด้านกฎระเบียบบางประการที่ต้องก้าวผ่านไปให้ได้ อาจเป็นเหตุผลให้ Apple Intelligence ซึ่งเป็น AI ที่บริษัทได้พัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี 2566 จึงยังไม่ได้เปิดตัวสู่ตลาดต่างประเทศที่สำคัญที่สุดของ Apple

ก่อนหน้านี้ Apple ทดสอบโมเดลและหารือถึงความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำด้าน AI ของจีนหลายราย เช่น Baidu, ByteDance, Moonshot, Zhipu และ Tencent รวมถึงทดสอบโมเดลของ DeepSeek ด้วยเช่นกัน  

หลังจากที่ประธานาธิบดี “โดนัล ทรัมป์” ได้ประกาศมาตรการเก็บภาษีศุลกากรรอบใหม่กับจีน 10% ซึ่งเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดของ Apple ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่า Apple จะได้รับการยกเว้นจากภาษีศุลกากรครั้งนี้หรือไม่ ในขณะเดียวกันทางการจีนกำลังดำเนินการตรวจสอบค่าธรรมเนียมและนโยบายการดำเนินงานต่างๆ ของ App Store

สิ่งที่สร้างความยุ่งยากมากกว่านั้นคือ การที่ Apple ถูกดึงเข้ามาอยู่ในสถานะผู้ต่อรองในสงครามการค้าโดยไม่เต็มใจ โดยมีรายงานว่า Apple ถูกรวมอยู่ในรายชื่อบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ที่อาจถูกจับตามองจากทางการจีน ในฐานะส่วนหนึ่งของการเจรจาต่อรองกับรัฐบาลทรัมป์

หลังจากที่สหรัฐฯ เริ่มเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนในอัตรา 10% ไม่นาน ปักกิ่งได้ตอบโต้ด้วยการเปิดการสอบสวน Google ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ Alphabet Inc. แม้การสอบสวนดังกล่าวจะถือเป็นเพียงการส่งสัญญาณเตือนเท่านั้น เนื่องจาก Google มีธุรกิจในจีนเหลืออยู่น้อยมาก แต่ในกรณีของ Apple นั้นแตกต่างออกไป เพราะบริษัทยังคงพึ่งพารายได้ส่วนใหญ่จากตลาดผู้บริโภคในจีน

เมื่อปีที่แล้ว หน่วยงานกำกับดูแลชั้นนำของจีนได้ระบุกับ Financial Times ว่า Apple จำเป็นต้องร่วมมือกับบริษัทจีนเพื่อให้สามารถผ่านขั้นตอนการอนุมัติได้ง่ายยิ่งขึ้น 

การผนึกกำลังด้าน AI ระหว่าง Alibaba และ Apple เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับ Apple ซึ่งกำลังเผชิญกับยอดขาย iPhone ที่ลดลงในประเทศจีน ท่ามกลางการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากคู่แข่งท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Huawei

นักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมชี้ให้เห็นว่า การขาดคุณสมบัติ AI ขั้นสูง ซึ่งเป็นจุดขายที่สำคัญของสมาร์ตโฟนรุ่นล่าสุด เป็นจุดอ่อนที่สำคัญสำหรับ Apple ในตลาดจีน

Apple สูญเสียตำแหน่งผู้นำในตลาดสมาร์ตโฟนจีนให้กับผู้ผลิตในประเทศ แสดงให้เห็นถึงการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดจีน และความท้าทายที่ Apple กำลังเผชิญอยู่ โดย Canalys พบว่ายอดขาย iPhone ในประเทศจีนลดลงถึง 17% ในปี 2024 

อีกหนึ่งความท้าทายที่ Apple เผชิญคือ การที่ฟีเจอร์ AI ใหม่ ๆ จะสามารถกระตุ้นให้ผู้บริโภคยอมจ่ายเงินซื้อผลิตภัณฑ์ของ Apple หรือไม่ เนื่องจากผู้บริโภคในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น

นักวิเคราะห์บางคนคาดการณ์ว่า Apple Intelligence จะช่วยส่งเสริมให้บริษัทประสบความสำเร็จในประเทศจีนในช่วงที่ยอดขายสมาร์ทโฟนของบริษัทลดลงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงจากผู้ผลิตสมาร์ทโฟนในประเทศ เช่น Huawei, Xiaomi และ Vivo

Ethan Qi รองผู้อำนวยการบริษัท Counterpoint กล่าวว่า ตลาดสมาร์ทโฟนของจีนมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวในไตรมาสสุดท้ายของปี 2024 โดยยอดขายโดยรวมลดลง 3.2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องจากผู้บริโภค “ระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น” และหลังจากมีข่าวลือเกี่ยวกับข้อตกลงระหว่าง Apple และ Alibaba นักวิเคราะห์จาก Jefferies ระบุว่า ข้อตกลงนี้ไม่น่าจะช่วยกระตุ้นยอดขาย iPhone 17 ในประเทศจีนได้

อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช้ครั้งแรกที่ทั้ง 2 บริษัททำธุรกิจร่วมกัน ในปี 2557 ทิม คุก CEO ของ Apple ได้กล่าวถึงความเป็นไปได้ในการ "แต่งงาน" ระหว่าง Apple Pay และแพลตฟอร์มการชำระเงินของ Alibaba อย่าง Alipay โดยแสดงความชื่นชมต่อผู้ก่อตั้งบริษัทอย่าง Jack Ma เขาบอกว่าเขาชอบทำงานร่วมกับ "คนที่ผลักดันเรา และเราก็ชอบผลักดันพวกเขา"


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top