Thursday, 2 May 2024
สุวรรณภูมิ

รัฐบาลรับทราบแผนขยายสนามบินสุวรรณภูมิ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ว่า ที่ประชุมได้รับทราบการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก ซึ่งมีความพร้อม และเร่งทบทวนแผนแม่บทท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยให้สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) และองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมแนวทางการพัฒนา 

ทั้งนี้ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาความก้าวหน้าการดำเนินงานของ บมจ.ทอท. 3 เรื่อง ประกอบด้วย 1. ความก้าวหน้าการดำเนินงานจ้าง ICAO เพื่อศึกษาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ล่าสุด ทอท. อยู่ระหว่างการประสานกับสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาร่างข้อตกลง เพื่อให้ ICAO ศึกษาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยจะเริ่มดำเนินการได้ในเดือนม.ค. 2565 และแล้วเสร็จในเดือนต.ค.2565  

2. ผลการศึกษาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดย IATA ซึ่งที่ประชุมรับทราบผลการศึกษาที่แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 18 ส.ค.2564 สรุปว่า การคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จะฟื้นกลับมาในระดับเดียวกันกับช่วงก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งมีผู้โดยสารปีละประมาณ 65 ล้านคน ในช่วงปี 2567 – 2568 โดยเสนอให้พัฒนาส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ เพื่อให้บริการผู้โดยสารภายในประเทศและผู้โดยสารระหว่างประเทศ 

ถอดรากศัพท์คำว่า Kanbawza  อาจแปลความหมายถึง สุวรรณภูมิ 

คำว่า Kanbawza ที่คนพม่าออกเสียงว่า 'กันโบซา' นั้น หลายคนอาจจะเคยทราบว่าคำนี้มาจากชื่อในภาษาไทใหญ่ ซึ่งตำนานของคำว่ากัมโบซาในภาษาไทใหญ่นั้นต้องย้อนกลับไปถึงคริสต์ศักราชที่ 957 ในยุคที่อาณาจักรน่านเจ้ายังเรืองอำนาจอยู่ โดยมีบันทึกว่า มีเจ้าชายจากราชอาณาจักรกัมปูเจียเข้ามาปกครองดินแดนฉาน จนทำให้มีชื่อเรียกในภาษาไทใหญ่ว่ากัมโบซาในเวลาต่อมา

เมื่อนำเรื่องราวของเจ้าชายแห่งกัมปูเจียที่เข้ามาปกครองรัฐฉานใน ค.ศ. 957 มาเทียบระยะเวลาในเขมรช่วงนั้นจะพบว่าอยู่ในช่วงอาณาจักรขอม ซึ่งปกครองเขมรในขณะนั้นในช่วงปีคริสต์ศักราช 802-1203 เป็นยุคเดียวกันกับการสร้างปราสาทนครวัด

ดังนั้นหากนำไทม์ไลน์ของมาวางทาบกัน จะกล่าวได้ว่าเจ้าชายผู้แผ่อิทธิพลเข้าไปยึดดินแดนรัฐฉานในช่วงเวลาดังกล่าวก็คือ กองทัพอันเกรียงไกรของอาณาจักรขอมโบราณนั่นเอง

และหากเมื่อเราค้นหาลึกเข้าไปอีกว่าอาณาจักรขอมโบราณมาจากไหน ทาง อ.สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้เคยเขียนเรื่องนี้ลงใน มติชนประชาชื่น : สุวรรณภูมิในอาเซียน ขอมละโว้ เก่าสุดอยู่ไทย โอนขอมไปเขมร, มติชน 17 สิงหาคม 2560 ระบุว่า...

"ขอมเป็นชื่อทางวัฒนธรรม ดังนั้นไม่เป็นชื่อชนชาติหรือเชื้อชาติ จึงไม่มีชนชาติขอม หรือเชื้อชาติขอม ฉะนั้นใคร ๆ ก็เป็นขอมได้ เมื่อยอมรับนับถือวัฒนธรรมขอม…ช่วงแรก ขอมเป็นชื่อที่คนอื่นเรียก (ในที่นี้คือพวกไต-ไท) ไม่ใช่เรียกตัวเอง

"คำว่า ‘ขอม’ หมายถึง คนในวัฒนธรรมขอม ที่อยู่รัฐละโว้ (ลพบุรี) บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยไม่ระบุชาติพันธุ์ จะเป็นใครก็ได้ ถ้าอยู่สังกัดรัฐละโว้ในวัฒนธรรมขอม ถือเป็นขอมทั้งนั้น เมื่อมีรัฐอยุธยา คนพวกนี้กลายตัวเองเป็นคนไทย ดังนั้นช่วงหลัง ขอม หมายถึง ชาวเขมรในกัมพูชาเท่านั้น แม้เปลี่ยนนับถือศาสนาพุทธเถรวาทก็ถูกคนอื่น เรียกเป็นขอม แต่ชาวเขมรไม่เรียกตัวเองว่าขอม เพราะไม่เคยรู้จักขอมและภาษาเขมรไม่มีคำว่าขอม"

ทั้งนี้ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าชาวกัมพูชาเรียกตนเองว่า “กโรม” หรือ “ขอม” (ในความหมายว่า ชาวเขมร หรือ ชาวกัมพูชา) แต่พวกเขาเรียกตนเองอย่างชัดเจนว่า เขมร มาตั้งแต่สมัยก่อนเมืองพระนคร

และจากหลักฐานที่มีการยืนยันว่าที่เรียกชาวกัมพูชาไม่เรียกตัวเองว่า ขอม แต่เรียกตัวเองว่า เขมร ที่เก่าแก่ที่สุด คือ ศิลาจารึก Ka. 64 ซึ่งเป็นศิลาจารึกสมัยก่อนเมืองพระนคร อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 กล่าวถึงทาสชาวเขมรโบราณไว้ว่า “(๑๓) กฺญุม เกฺมร โฆ โต ๒๐. ๒๐. ๗ เทร สิ ๒” ซึ่งคำว่า “กฺญุม” ในภาษาเขมรโบราณสมัยก่อนพระนครหมายถึง ข้ารับใช้ ส่วนคำว่า เกฺมร (kmer) เมื่อรวมความหมายของคำว่า “กฺญุม เกฺมร” แล้ว น่าจะหมายถึง “ข้ารับใช้ชาวเขมร” ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่าชาวกัมพูชาเรียกตัวเองว่า เกฺมร (kmer) มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 ก่อนที่จะพัฒนามาเป็นคำว่า เขฺมร (khmer) ในช่วงเขมรสมัยเมืองพระนคร และกลายเป็น แขฺมร ออกเสียงว่า แคฺมร์ (khmaer) ดังที่ปรากฏในภาษาเขมรปัจจุบัน

อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 สุวรรณภูมิ เสร็จสมบูรณ์ คาดเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบเดือนกันยายนนี้

เมื่อวานนี้ (2 ส.ค. 66) เพจเฟซบุ๊ก ‘HFlight.net’ ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า...

ภาพ SAT-1 ล่าสุดวันนี้📷รอเปิดใช้งาน กันยายนนี้‼️

ภาพอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่ถ่ายล่าสุดวันนี้ (2 สิงหาคม 2566)🛫

เห็นได้ว่าตัวโครงสร้างอาคารภายนอก รวมถึงพื้นที่โดยรอบ (ทางขับ/taxiway และลานจอด/apron) นั้นดำเนินการแล้วเสร็จเกือบ 100% แล้ว✅ และมีการติดตั้งสะพานเทียบเครื่องบิน (งวงช้าง/aerobridge) แล้ว

ก่อนหน้านี้ทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บมจ.ท่าอากาศยานไทย ได้เคยเปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า จะมีการเปิดใช้งาน SAT-1 ในเดือนกันยายน 2566 หรือเดือนหน้านี้แล้ว (อ้างอิงจาก ไทยรัฐ วันที่ 10 มิถุนายน 2566)📰

AOT ชี้แจง ผู้โดยสารต่อแถวนาน 3 ชั่วโมง ไม่ใช่เรื่องจริง ยัน!! ใช้เวลาต่อคิว-ตรวจพาสปอร์ต ไม่เกินท่านละ 25 นาที

(21 ก.ย. 66) ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) กล่าวว่า ตามที่มีการเผยแพร่ภาพผู้โดยสารหนาแน่นบริเวณจุดตรวจลงตราหนังสือเดินทาง ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ในสื่อสังคมออนไลน์ พร้อมระบุว่าใช้เวลานานกว่า 3 ชั่วโมง นั้น AOT ในฐานะผู้บริหาร ทสภ.และมีท่าอากาศยานอีก 5 แห่งในความรับผิดชอบ ได้แก่ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ ขอชี้แจงว่า โพสต์ดังกล่าวไม่เป็นความจริง 

โดย AOT ได้ตรวจสอบการให้บริการของ ทสภ.จากกล้องวงจรปิดในช่วงระหว่างวันที่ 1 - 31 สิงหาคม 2566 พบว่า กระบวนการผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศใช้เวลาสูงที่สุดเพียง 40 นาที และเวลารอคิวน้อยที่สุดใช้เวลาเพียง 12 นาที เฉลี่ยโดยรวมผู้โดยสารใช้เวลาประมาณ 25 นาที 

ทั้งนี้ ในช่วง Peak Hour ผู้โดยสารจะใช้เวลารอคิวเพื่อตรวจหนังสือเดินทางเฉลี่ย 15 นาที และใช้เวลาหน้าเคาน์เตอร์ตรวจหนังสือเดินทาง 60 วินาทีต่อคน ซึ่งระยะเวลาดังกล่าว ทสภ.สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามคำแนะนำขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) ที่ท่าอากาศยานควรปฏิบัติใน Annex 9 เรื่องระยะเวลาการไหลเวียนผู้โดยสารขาเข้า - ขาออก โดยแนะนำให้กระบวนการผู้โดยสารขาเข้าไม่ควรเกิน 45 นาที และผู้โดยสารขาออกไม่ควรเกิน 60 นาที

สำหรับท่าอากาศยานอีก 5 แห่ง AOT ได้มีการกำหนดให้การดำเนินงานในขั้นตอนกระบวนการผู้โดยสารระหว่างประเทศขาเข้า - ขาออกมีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นไปตามคำแนะนำของ ICAO เพื่อให้เป็นมาตรฐานสากลเช่นกัน 

ดร.กีรติ กล่าวในตอนท้ายว่า AOT มุ่งเน้นการบริหารจัดการท่าอากาศยานให้ผู้โดยสารได้รับความพึงพอใจและได้เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการให้ดียิ่งขึ้น ส่งผลให้ผู้ใช้บริการท่าอากาศยานมีความเชื่อมั่น ได้รับความสะดวก สบาย เกิดความประทับใจ เพื่อส่งมอบประสบการณ์การเดินทางที่ดีแก่ผู้เดินทางตามวิสัยทัศน์ของ AOT ในการเป็นผู้ดำเนินการและจัดการท่าอากาศยานที่ดีระดับโลก

'นายกฯ เศรษฐา' ชมเปาะ 'ทักษิณ' วิสัยทัศน์กว้างไกล วางโครงสร้าง 'สุวรรณภูมิ' ไว้ดี 'ต่อเติมง่าย-เซฟงบเยอะ'

(29 ก.ย.66) ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1 : SAT-1) แบบ Soft Opening ณ อาคาร SAT-1 ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ AOT และเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ

นายกรัฐมนตรีกล่าวระหว่างเดินก่อนเป็นประธานพิธีเปิดอาคาร SAT-1 ว่า สนามบินสุวรรณภูมิหลาย 10 ปีที่แล้ว ในการก่อสร้างสนามบิน โชคดีที่เราสร้างอุโมงค์และสิ่งต่างๆ ไว้ก่อน ทำให้การต่อเติมเป็นไปได้ง่ายขึ้น ซึ่งงบประมาณสมัยก่อนในการดำเนินการสร้างอุโมงค์ก็มีราคาถูก ตอนนี้สามารถเชื่อมต่อกับ SAT-1 ได้ดี ทำได้เร็วและเป็นประโยชน์มาก ซึ่ง สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ทำไว้ก่อน ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ทำให้ตอนนี้ประหยัดงบประมาณได้มาก

นายกฯ กล่าวว่า ปัจจุบันถือว่าดีมาก และบังเอิญที่ประจวบเหมาะกับเวลาที่เราเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ผ่านการท่องเที่ยว ถือว่าการท่าฯ ทำไว้ดีมาก ส่วนรถไฟฟ้า (APM) เชื่อมต่อจากสนามบินแห่งที่ 1 มา SAT-1 ระยะทาง 1 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 1.5 นาที ซึ่งเมื่อวันที่ 28 กันยายน ได้เปิดวันแรกทดสอบนักท่องเที่ยวแล้ว

จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้เดินเยี่ยมชมนิทรรศการการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิตั้งแต่เริ่มต้น

'สุริยะ' สั่ง 'ทอท.' เร่งแก้ระบบ ตม.สุวรรณภูมิ หลังระบบตรวจคนเข้าเมืองติดขัด แนะ!! ดึงระบบ Manual ช่วย พร้อมดูแล 'อาหาร-เครื่องดื่ม' แก่ผู้โดยสาร

(24 ม.ค. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีระบบตรวจคนเข้าเมือง (Biometrics) ท่าอากาศยานสุวรรณูมิเกิดขัดข้อง วันนี้ (24 ม.ค. 67) ว่า ได้สั่งการไปยังบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3 เรื่องเร่งด่วนต่อกรณีดังกล่าว ประกอบด้วย 

1.ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขระบบตรวจคนเข้าเมืองเกิดขัดข้องโดยด่วน เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางของผู้โดยสาร 

2.มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ เพื่อดำเนินการตรวจคนเข้าเมืองด้วยระบบ Manual 

และ 3.มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเตรียมอาหาร และเครื่องดื่ม คอยให้บริการผู้โดยสารอย่างเต็มที่

ด้านนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวถึงกรณีที่ระบบตรวจคนเข้าเมือง (Biometrics) เกิดขัดข้อง และอยู่ระหว่างการแก้ไข ขณะนี้ตนได้ลงพื้นที่พบว่าเป็นผลกระทบในส่วนของช่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ หรือ Automatic Channel ไม่สามารถตรวจได้ ทำให้เกิดคิวสะสมบริเวณจุดตรวจคนเข้าเมือง

อย่างไรก็ตาม ทอท.ได้สั่งการให้บุคลากรของ ทอท.อำนวยความสะดวกผู้โดยสาร อีกทั้งได้เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบข้อมูลตรวจคนเข้าเมืองด้วยระบบ Manual และใช้ระบบ APPS ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ คัดกรองบุคคลที่อาจมีหมายจับ และ Overstay เพื่อเร่งระบายผู้โดยสารโดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้กระทบต่อการขึ้นเครื่อง

“ตอนนี้พบว่ามีความแออัดอยู่หน้าด่านบ้าง มีคิวสะสม แต่ก็พบว่าขั้นตอนตรวจคนเข้าเมืองใช้เวลาไม่นาน เพราะ ทอท.ได้เพิ่มบุคลากรเข้ามาอำนวยความสะดวก และทางตำรวจตรวจคนเข้าเมืองได้เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่มาให้บริการด่านตรวจคนเข้าเมืองทุกช่องบริการ ซึ่งสามารถลดความแออัดไปได้มาก และพบว่าขณะนี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อเที่ยวบินใด” นายกีรติ กล่าว

‘เศรษฐา' ประกาศตั้งเป้า ‘สุวรรณภูมิ’ ติดท็อป 1 ใน 20 ของโลกภายใน 5 ปี ขอเวลา 6 เดือนจะไม่เห็นภาพผู้โดยสารต้องมารอต่อคิวอีก

(1 ม.ค.67) ที่ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง แถลงวิสัยทัศน์ ‘IGNITE THAILAND, AVIATION HUB’ เพื่อประกาศถึงศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค โดยมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมรวมถึง ผู้บริหารเอโอที และสายการบินต่างๆเข้าร่วม

นายเศรษฐา กล่าวว่า สัปดาห์ก่อนในการแถลงวิชั่นงาน Ignite Thailand ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางไว้ 8 ด้าน หนึ่งในนั้นคือ การทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ของภูมิภาค ตนมีความเชื่อ รัฐบาลมีความเชื่อว่าศักยภาพของประเทศไทยพร้อมมากที่จะถูกระเบิดออกมา ฉายแววออกมาให้ชาวโลกรู้ว่าศักยภาพของเรามีมากขนาดไหน และก่อนที่เราจะอัปเกรด AVIATION HUB เราต้องยอมรับว่าเรามีปัญหาอะไรบ้าง 10 ปีที่แล้วสนามบินสุวรรณภูมิเป็นสนามบินที่อยู่ในอันที่ 13 ของโลก แต่ปัจจุบันอยู่อันดับที่ 68 ของโลกตกมา 55 อันดับ เพื่อนบ้านเราไม่ได้มีการลงทุนอะไรเลยอย่างมาเลเซียแต่อันดับสูงกว่าเรา ไม่ต้องพูดถึงสิงคโปร์หรือฮ่องกง

“ปัญหาในสนามบินถ้าเราไม่มีการปรับวุ่นวายแน่นอน และจะเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่าเวลาเรามีปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นมันบั่นทอนศักยภาพของประเทศ เรื่องของไฟล์ทที่มาต่อที่นี่ก็น้อยลงหากมีการจัดตารางบินใหม่ เครื่องบินที่มาเปลี่ยนผ่านที่นี่รู้หรือไม่ว่ามีเพียงแค่ 1% ขณะที่สิงคโปร์มีถึง 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ ระยะเวลา 2-3 ชั่วโมง ระหว่างรอเปลี่ยนเครื่องก็สามารถเห็นสิ่งดีๆของไทยได้ หากเข้ามาอยู่ 7-8 ชั่วโมง ได้เข้าไปในเมืองกลับมาเกิดความประทับใจก็อาจมีแพลนมาประเทศไทย แต่วันนี้ถ้าไม่มีการทำอะไรอย่าว่าจะขึ้นเลย 68 ก็ตกลงไปได้” นายเศรษฐา กล่าว

นายเศรษฐา กล่าวว่า สำหรับสุวรรณภูมิมีพื้นที่ 20,000 ไร่ เมื่อปลายปีที่แล้วก็มีการเปิดใช้อาคารเทียบเครื่องบิน SAT1 ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ของรัฐบาลเมื่อ 17 ปีที่แล้ว ที่ได้มีการวางโครงสร้างไว้ แต่ก็ยังยอมรับว่ามีปัญหาอยู่บ้าง แต่ทั้งนี้จะมีการเปิดให้ครบ 100% ภายในไตรมาส 2 ของปี 2567 รองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 45 ล้านคน เป็น 60 ล้านคนต่อปี ซึ่งจะทำให้เครื่องบิน บินขึ้นลงได้เป็น 90 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และอนาคตก็เตรียมที่จะสร้างอาคาร SAT2 วันนี้เรามีศักยภาพเพียงแต่เราจะต้องฉายแสงออกมาให้ได้ และมั่นใจหลังจาก 6 เดือนนี้ต่อไปเราจะไม่เห็นผู้โดยสารที่รอคิวนาน สุวรรณภูมิไม่ใช่แค่เทคแคร์คนอย่างเดียว แต่ต้องดูเรื่องของสินค้าด้วย เพราะเป็นสิ่งสำคัญ

นายเศรษฐา กล่าวว่า ตนมั่นใจเราจะทำให้ก้าวแรกของผู้โดยสารที่เดินทางเข้าสู่สุวรรณภูมิและต่อโยงไปประเทศต่างๆ พร้อมทั้งสินค้าจะเกิดความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดอนเมืองก็เป็นอีกหนึ่งสนามบินที่สำคัญรัฐบาลจะเปลี่ยนให้สนามบินดอนเมืองเป็น Point to Point แอร์พอร์ต จุดเด่นคือสะดวกรวดเร็ว ครบครัน รับผู้โดยสารให้มากยิ่งขึ้น จะสร้างอาคาร อินเตอร์เนชั่นแนลใหม่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรับผู้โดยสารมากขึ้นปัจจุบันมีการรับผู้โดยสารอยู่ที่ 30 ล้านคน จะเพิ่มให้เป็น 50 ล้านคน และสร้างอาคารจอดรถเพิ่มให้สามารถจอดรถเพิ่มขึ้นเป็น 5 เท่า ประมาณ 7,600 คัน ส่วนมาสเตอร์แผนจะมีการสร้างสนามบินอันดามัน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวของภูเก็ต พังงา กระบี่ และจังหวัดใกล้เคียง และจะมีการพัฒนาสะพานสารสินเพื่อรองรับรถได้มากขึ้นและให้เรือขนาดใหญ่สามารถผ่านได้ ส่วนทางภาคเหนือก็จะมีสนามบินล้านนา เพื่อรองรับผู้โดยสารอีก 20 ล้านคนต่อปี

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันจะมีการยกระดับสนามบินเมืองรองทั่วประเทศ เช่น สนามบินน่าน ศรีสะเกษ นครราชสีมา ให้กลายเป็นสนามบินหลักให้ได้ ควบคู่กับพัฒนาครัวไทยสู่การเป็นครัวโลก ผ่านการผลิตอาหารบนเครื่องบินที่ดีที่สุดในโลก และระบบการทำงานภายในสนามบินก็สำคัญ จะมีการขยายอุตสาหกรรมการซ่อมบำรุงรักษาเป็นศูนย์กลางการบำรุงรักษา ทั้งเครื่องบินพาณิชย์และเครื่องบินส่วนตัว ต่อยอดระบบขนส่งและคลังสินค้า รวมถึงการต่อยอดความร่วมมือทั้งจากสายการบินต่างๆ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสมาคมโรงแรม เพื่อพัฒนาการบิน เส้นทางการบิน จำนวน และประเภทเครื่องบินส่วนตัวและการบริการ

“การเดินทางไปยุโรปครั้งนี้ผมจะไปคุย โดยประเทศไทยจะอธิบายให้ฟังทั้งหมดในเรื่องดีๆว่ามีอะไรบ้าง แต่สัปดาห์หน้าที่เดินทางไปนี้เป็นแค่ออเดิร์ฟไปโฆษณาว่าปีหน้าเราจะมีอะไรบ้าง ซึ่งผมรับรองได้ว่าเขาจะต้องชอบและพอใจ และจะเดินทางมาไทยมากยิ่งขึ้น” นายกฯ กล่าว

นายกฯ กล่าวว่า สำหรับสายการบินไทย สายการบินแห่งชาติ เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทุกคน การพัฒนาต่อไปจะไปไม่ได้ถ้าสายการบินไทยไม่แข็งแรง ต้องมีการบริหารให้เหมาะสม ทั้งลักษณะเครื่องบิน จะต้องมีการพัฒนาระบบตั๋วที่หลายประเทศใช้ระบบออนไลน์ วันนี้เราต้องพูดตรงไปตรงมาว่าการบินไทยมีตัวแทนขายตั๋วเยอะ เขามีการกั๊กตั๋ว แต่ขึ้นเครื่องไปบางทีว่างอันนี้เป็นเรื่องที่เราไม่อยากพูด แต่วันนี้ไม่ได้มาว่ากัน เราต้องพัฒนาให้ดีขึ้น หลายสายการบินใช้ออนไลน์บุคกิ้งบริหารราคาตั๋วเพื่อกำไร ตรงนี้เราต้องให้ความสำคัญ เข้าใจอย่างตรงจุด เรื่องเหล่านี้เราคาดหวังว่าการบินไทยต้องทำได้ และการจัดตารางไฟล์ทต้องมาพูดกัน เราทราบกันดีการบินไทยอยู่ระหว่างการฟื้นฟูหลังจากเกิดโควิด19 ในวันนี้รักษาตัวเองให้ดี หากหลุดพ้นจากแผนฟื้นฟูแล้วเรามาให้น้ำใจผู้โดยสารทุกคนที่ให้ความเชื่อมั่นเรา ทั้งนี้เราต้องมีความทะเยอทะยานให้การบินไทยติดอันดับโลกอย่างน้อยต้องติดอันดับ 3 ของเอเชีย คนไทยต้องภาคภูมิใจ

“การที่ผมแอบไปตรวจ ไม่ได้จ้องจับผิด เพื่อให้เห็นการทำงาน ไม่ได้ดูแค่หน้างาน แต่ดูหลังบ้านด้วย และได้มีการพูดคุยเรื่องการบริหารคนให้เขามีจิตใจที่ดีขึ้น ให้เขาเกิดความตั้งใจในการทำงาน ผมคิดว่าความสุขเป็นอะไรที่ส่งต่อกันได้ เริ่มต้นจากผู้ให้บริการถ้ามีความสุขเวลาส่งต่อการให้บริการผู้โดยสารก็จะส่งต่อความสุขนั้นได้ ความสุขเป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่ดี หลายท่านอาจถามว่าอะไรคือประโยชน์ของศูนย์การบิน สิ่งที่พูดมาทั้งหมดคิดว่าคงจะเห็นในเรื่องเศรษฐกิจที่พยายามพัฒนาอย่างก้าวกระโดด วันนี้เราจะต้องเอาชนะให้ได้ หากเราโปรโมทการท่องเที่ยวอย่างมโหฬาร สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่อยากสนับสนุนให้การบินมีเพิ่มมากขึ้น” นายเศรษฐา กล่าว

นายเศรษฐา กล่าวด้วยว่า หลายท่านที่มาเห็นการบริการที่ประทับใจก็จะเห็นออเดิร์ฟให้กับเขาว่าในปีหน้าอาจจะอยากมาเที่ยวที่ไทย แต่ทั้งนี้จะต้องมีการสร้างความยั่งยืนดึงดูดสายการบิน และส่งเสริมการผลิตในประเทศไทย สนับสนุนบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“ผมขอประกาศว่า 1 ปีจากนี้สนามบินสุวรรณภูมิจะต้องเป็น 1 ใน 50 ของโลก และ 1 ใน 20 ของโลกภายใน 5 ปี พี่น้องที่อยู่ในฐานรากให้ความหวังเยอะมาก เรามีความฝันทุกวันอยากให้มันเป็นจริง อยากให้มันเกิดขึ้นมาได้ ผมขอประกาศวันนี้เราตื่นแล้ว ฝันดีแล้ว วันนี้ตื่นขึ้นมาร่วมกันให้ความฝันเป็นความจริง ทุกท่านที่อยู่ในที่นี้จะมีส่วนร่วมทำให้เราถึงจุดมุ่งหมายนั้นได้ ขอขอบคุณและให้กำลังใจทุกคน เพื่อให้ศักยภาพที่สำคัญที่สุดคืออัปเกรด AVIATION HUB เป็นความจริง” นายเศรษฐา กล่าว

'สื่ออังกฤษ' ยก สนามบิน 'โหน่ยบ่าย' ดีที่สุดใน 'เอเชีย-อาเซียน' ส่วน 'ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ' ติดกลุ่ม 10 อันดับแย่ที่สุด

(3 มี.ค.67) เพจ 'BTimes' ได้รายงานว่า บิสสิเนส แทรเวลเลอร์ (Business Traveller) สื่อผลิตเนื้อหาและข้อมูลด้านการเดินทางและท่องเที่ยวชื่อดังระดับโลกจากอังกฤษมีอายุมาถึง 48 ปี และได้รับการยอมรับจากนักเดินทางและนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยเฉพาะนักธุรกิจและนักบริหาร เปิดเผยรายงานผลการจัดอันดับสนามบินนานาชาติดีที่สุดและแย่เลวร้ายที่สุดในทวีปเอเชียประจำปี 2023 พบว่า สนามบินนานาชาติทึ่ดีที่สุด ได้แก่ สนามบินโหน่ยบ่าย กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ขณะที่สนามบินที่แย่ที่สุด ได้แก่ สนามบินนานาชาติดอนเมือง กรุงเทพ ประเทศไทย ส่วนสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ อยู่อันดับที่ 7 จากทั้งหมด 10 อันดับสนามบินนานาชาติที่แย่ที่สุด 

สำหรับสนามบินนานาชาติที่ดีที่สุด 10 อันดับในทวีปเอเชีย ปี 2023 มีดังนี้... 

อันดับ 1 สนามบินโหน่ยบ่าย (ฮานอย) เวียดนาม 6.80 คะแนน 
อันดับ 2 สนามบินชางฮี สิงคโปร์ 6.63 คะแนน 
อันดับ 3 สนามบินเช็คแลปก๊อก ฮ่องกง 6.48 คะแนน 
อันดับ 4 สนามบินฮาหมัด กาตาร์ 6.44 คะแนน 
อันดับ 5 สนามบินนาริตะ (โตเกียว) ญี่ปุ่น 6.23 คะแนน 
อันดับ 6 สนามบินฮาเนดะ (โตเกียว) ญี่ปุ่น 5.82 คะแนน 
อันดับ 7 สนามบินเกมเปโควทา (เบงกาลูรู) อินเดีย 5.56 คะแนน 
อันดับ 8 สนามบินไท่หยวน ไต้หวัน 5.29 คะแนน 
อันดับ 9 สนามบินฉัตรปตี ศิวาจี มหาราช (มุมไบ) อินเดีย 5.22 คะแนน 
และอันดับ 10 สนามบินอินทิรา คานธี (นิวเดลี) อินเดีย 4.60 คะแนน 

ทั้งนี้ สนามบินโหน่ยบ่าย (ฮานอย) เวียดนาม ที่ได้ 6.80 จาก 10 คะแนนในครั้งนี้นั้น ถูกยกย่องหลายด้านโดยเฉพาะระบบการจัดคิวผู้โดยสารที่ใช้บริการที่สนามบินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

สำหรับสนามบินนานาชาติที่เลวร้ายที่สุด 10 อันดับในทวีปเอเชีย ปี 2023 (คะแนนน้อยที่สุด คือยอดแย่ที่สุด จากคะแนนเต็ม 10) มีดังนี้...

อันดับ 1 สนามบินคูเวต คูเวต 1.69 คะแนน 
อันดับ 2 สนามบินอัลมาตี คาซัคสถาน 2.62 คะแนน 
อันดับ 3 สนามบินคิง อับดุลาซิ ซาอุดีอาระเบีย 2.72 คะแนน 
อันดับ 4 สนามบินนินอย อาคีโน ฟิลิปปินส์ 2.78 คะแนน 
อันดับ 5 สนามบินอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรต 2.88 คะแนน 
อันดับ 6 สนามบินเชนไน อินเดีย 3.00 คะแนน 
อันดับ 7 สนามบินสุวรรณภูมิ ไทย 3.25 คะแนน 
อันดับ 8 สนามบินดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรต 3.36 คะแนน 
อันดับ 9 สนามบินกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย 3.36 คะแนน 
และอันดับ 10 สนามบินดอนเมือง ไทย 3.45 คะแนน

เมื่อพิจารณาเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน พบว่า สนามบินนานาชาติที่ดีที่สุดในอาเซียนยังคงเป็นของสนามบินหน่อยไบ๋ (ฮานอย) เวียดนาม ตามด้วยสนามบินชางฮี สิงคโปร์ ขณะที่สนามบินนินอย อาคีโน ฟิลิปปินส์ เป็นสนามบินที่แย่ที่สุดในอาเซียน โดยมีสนามบินดอนเมือง กรุงเทพ ประเทศไทยรั้งรองสุดท้ายของอันดับสนามบินแย่ที่สุดในอาเซียน 

สนามบินคูเวต คูเวต ที่ได้คะแนนต่ำที่สุดที่ 1.69 จาก 10 คะแนน ส่งผลเป็นสนามบินนานาชาติที่ยอดแย่ที่สุดของโลก ที่สำคัญ เป็นเพียงสนามบินเดียวในทวีปเอเชียที่ทำคะแนนได้ต่ำกว่า 2 คะแนน พบว่า ผู้โดยสารแสดงความไม่พอใจอย่างมากกับกลิ่นเหม็น หรือกลิ่นที่ไม่พึงปรารถนาภายในสนามบิน นอกจากนี้ มีปัญหาด้านขั้นตอนการบริการผู้โดยสารขึ้นเครื่องที่ช้ามาก 

ทั้งนี้ บิสสิเนส แทรเวลเลอร์ (Business Traveller) ทำการจัดอันดับรายงานดังกล่าวจากการเก็บข้อมูลโดยตรงจากการแสดงความคิดเห็นของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินจากทุกสนามบินทั่วโลกผ่านแอร์ไลน์ควอลิตึ้ดอทคอม นอกจากนี้ ยังเป็นสื่อชั้นนําสําหรับนักเดินทางเพื่อธุรกิจที่มีการผลิตเนื้อหาถึง 14 ประเทศสำคัญ ได้แก่ สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา, เอเชีย-แปซิฟิก, ตะวันออกกลาง, จีน, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, เดนมาร์ก, ฮังการี, แอฟริกา, รัสเซีย, โปแลนด์, อิสราเอล และอินเดีย รวมถึงเว็บไซต์ต่างๆ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top