Saturday, 18 May 2024
สุราพื้นบ้าน

‘ส.ส.เพื่อไทย’ ซัด!! ‘รบ.ประยุทธ์’ เอื้อนายทุนผลิตสุรา ยก ‘รบ.ทักษิณ’ เทียบ ดันสุราพื้นบ้าน ทำเศรษฐกิจโต

วันนี้ (8 พ.ย. 65) ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นพ.กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ ส.ส.มหาสารคาม คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า การกระตุ้นและการพัฒนาเศรษฐกิจให้ประเทศมีความมั่นคง คือการพัฒนาฐานรากของประเทศให้มีความแข็งแรง การพัฒนาส่งเสริมสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่รัฐบาลไทยรักไทยทำไว้แต่เดิมนั้น เป็นการกระตุ้นด้านเศรษฐกิจจากรากหญ้าสู่ยอดไผ่ ประชาชนแข็งแรง เศรษฐกิจดี ประเทศชาติก็แข็งแรง อย่างเช่น พ.ร.บ.สุรา รัฐบาลควรส่งเสริมสนับสนุนภูมิปัญญาท้องถิ่นในด้านนี้ มากกว่าผูกขาดเพื่อเอื้อกลุ่มทุนใหญ่เท่านั้น เมื่อปี 2544 รัฐบาลนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร มีนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน หนึ่งในนั้นคือการส่งเสริมให้มีการผลิตสุราแช่ชนิดสุราผลไม้ สุราแช่พื้นเมืองและสุรากลั่น ล้วนแต่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทยที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ จำหน่ายสุราพื้นเมือง ส่งผลให้มีโรงงานสุราเกิดขึ้นจำนวนมากในชุมชนต่างๆ 

‘รมว.ปุ้ย’ สั่ง ‘สมอ.’ เร่งแก้ไข-ปรับปรุง ‘สุราพื้นบ้าน’ เน้นคุณภาพให้ได้มาตรฐาน หนุนเป็น Soft Power

(12 ก.พ.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย โดยให้ปรับโครงสร้างภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงสุราชุมชน เพื่อส่งเสริมให้คนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ใช้จ่ายและซื้อสินค้าภายในประเทศมากขึ้น ทั้งนี้ ได้มีการปรับอัตราภาษีสุราพื้นบ้าน เช่น กระแช่ สาโท สุราแช่พื้นบ้านอื่น ๆ และสุราแช่ที่ใช้วัตถุดิบเป็นข้าวที่มีแรงแอลกอฮอล์ไม่เกิน 7 ดีกรี เป็น 0 % รวมทั้งให้กรมสรรพสามิตทบทวนเรื่องกฎหมายที่ช่วยสนับสนุนสุราพื้นบ้านด้วย

“นโยบายดังกล่าวถือเป็นการสร้างโอกาสในการขายสินค้าและสร้างรายได้ให้แก่อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก และผู้ผลิตชุมชนที่ผลิตสุราพื้นบ้าน ดิฉันจึงได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งแก้ไขปรับปรุงมาตรฐานสุราพื้นบ้าน เพื่อยกระดับสินค้าชุมชนให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน และมีความปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ผลิตชุมชน พร้อมทั้งผลักดันให้ผลิตภัณฑ์สุรากลั่นชุมชนและสุราแช่พื้นบ้านเป็นซอฟท์พาวเวอร์ เพื่อเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์การเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยว หรือเป็นศูนย์กลางด้านร้านอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทย เกิดการกระจายรายได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในระดับชุมชนอีกด้วย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน สมอ. มีมาตรฐานสุรากลั่นชุมชนและสุราแช่พื้นบ้าน ที่เป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) จำนวน 6 มาตรฐาน ได้แก่ สุรากลั่นชุมชน สาโท ไวน์ผลไม้ ไวน์สมุนไพร อุ และ เมรัย โดยมีผู้ผลิตชุมชนได้รับการรับรองมาตรฐาน มผช. แล้ว จำนวน 66 ราย กระจายอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ แต่เนื่องจากมาตรฐานดังกล่าวได้ประกาศใช้มาระยะหนึ่งแล้ว สมอ. จึงต้องดำเนินการทบทวนและปรับปรุงให้ทันสมัยสอดคล้องกับเทคโนโลยีการผลิตในปัจจุบัน และสอดคล้องตามประกาศของกรมสรรพสามิต รวมทั้งตามมาตรฐาน มอก. สุรากลั่นและสุราแช่ ที่ปรับแก้ไขมาตรฐานไปก่อนหน้านี้ด้วย โดยมีสาระสำคัญของการแก้ไขมาตรฐาน เช่น  มาตรฐานสุรากลั่นชุมชน แก้ไขข้อกำหนดวัตถุเจือปนอาหาร กรดเบนโซอิก ซึ่งเป็นวัตถุกันเสีย จากเดิม ‘ไม่เกิน 250 มิลลิกรัมต่อลิตร’ แก้เป็น ‘ไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อลิตร’ มาตรฐานไวน์สมุนไพร แก้ไขข้อกำหนดสารปนเปื้อน ตะกั่ว จากเดิม ‘ไม่เกิน 0.2 ไมโครกรัมต่อลิตร’ แก้เป็น ‘ไม่เกิน 0.1 ไมโครกรัมต่อลิตร’ มาตรฐานเมรัย แก้ไขเกณฑ์ข้อกำหนดสารเอทิลคาร์บาเมต (กรณีผสมสุรากลั่น) จากเดิม ‘ไม่เกิน 400 ไมโครกรัมต่อลิตร’ แก้เป็น ‘ไม่เกิน 200 ไมโครกรัมต่อลิตร’ เนื่องจากสารดังกล่าวหากมีมากเกินไปจะทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ เป็นต้น

นอกจากนี้ สมอ. ยังได้แก้ไขข้อกำหนดในด้านอื่น ๆ ด้วย เพื่อให้ประชาชนสามารถบริโภคสุรากลั่นชุมชนและสุราแช่พื้นบ้านได้อย่างปลอดภัย โดยทั้ง 6 มาตรฐานได้แก้ไขแล้วเสร็จ พร้อมประกาศใช้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 นี้ เพื่อให้ผู้ผลิตชุมชนที่ผลิตสุรากลั่นชุมชนและสุราแช่พื้นบ้าน สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการผลิต เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าให้มีความปลอดภัยได้มาตรฐาน สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคได้ต่อไป เลขาธิการ สมอ. กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top