Friday, 10 May 2024
สินค้าเกษตร

“นายก” ปลื้ม ส่งออกสินค้าเกษตร ม.ค. - ส.ค. 64 ขยายตัว 11.58 เปอร์เซ็นต์ เร่งเจรจาประเทศคู่ค้า ส่งเสริมสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตรไทยสู่ตลาดโลก

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม พอใจมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 11.58  ตั้งแต่เดือนม.ค. -ส.ค.ปี 2564  ฝขณะที่ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 2 ปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 1.2 โดยสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์สำคัญของประเทศไทยที่มีมูลค่าการส่งออกปรับตัวสูงขึ้น อาทิ ทุเรียนและผลิตภัณฑ์ มูลค่าการส่งออก 103,958 ล้านบาท   มังคุดและผลิตภัณฑ์ มูลค่าการส่งออก 16,705 ล้านบาท ยางแท่ง มูลค่าการส่งออก 54,752 ล้านบาท น้ำยางข้น มูลค่าการส่งออก 32,172 ล้านบาท ยางแผ่นรมควัน มูลค่าการส่งออก 22,729 ล้านบาท มันเส้น มูลค่าการส่งออก 28,696 ล้านบาท แป้งมันสำปะหลัง มูลค่าการส่งออก 33,259 ล้านบาท ซึ่งภาพรวมมีการขยายตัวได้ดี  รวมถึงการมีตลาดส่งออกหลักที่เพิ่มมากขึ้น ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรียังมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าเจรจาขยายช่องทางการค้าเพิ่มเติมผ่านการเจรจาการค้าเสรี อาทิ  FTA อาเซียน-จีน  รวมทั้งภูมิภาคอื่น เช่น ตะวันออกกลาง เป็นต้น

“นายก” รับมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตร ม.ค. - ส.ค. 64 ขยายตัว 11.58% 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม พอใจมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 11.58%  ตั้งแต่เดือนม.ค. - ส.ค.2564 ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 2 ปี 2564 ขยายตัว 1.2% โดยสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์สำคัญของประเทศไทยที่มีมูลค่าการส่งออกปรับตัวสูงขึ้น อาทิ ทุเรียนและผลิตภัณฑ์ มูลค่าการส่งออก 103,958 ล้านบาท มังคุดและผลิตภัณฑ์ มูลค่าการส่งออก 16,705 ล้านบาท ยางแท่ง มูลค่าการส่งออก 54,752 ล้านบาท น้ำยางข้น มูลค่าการส่งออก 32,172 ล้านบาท ยางแผ่นรมควัน มูลค่าการส่งออก 22,729 ล้านบาท มันเส้น มูลค่าการส่งออก 28,696 ล้านบาท แป้งมันสำปะหลัง มูลค่าการส่งออก 33,259 ล้านบาท ซึ่งภาพรวมมีการขยายตัวได้ดี 

รวมถึงการมีตลาดส่งออกหลักที่เพิ่มมากขึ้น ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรียังมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าเจรจาขยายช่องทางการค้าเพิ่มเติมผ่านการเจรจาการค้าเสรี อาทิ FTA อาเซียน-จีน รวมทั้งภูมิภาคอื่น ๆ เช่น ตะวันออกกลาง เป็นต้น

 “นายกฯ” เพิ่มจุดแข็งสินค้าเกษตรส่งออก- อาหารถิ่น ใช้นวัตกรรมฉายรังสี เพื่อ มาตรฐาน-ความปลอดภัยในการบริโภค

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า จากตัวเลขการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่ขยายตัวต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความเชื่อมั่นในมูลค่าการส่งออกปีหน้าว่าจะยังคงขยายตัวต่ออีกแน่นอน ด้วยยุทธศาสตร์การตลาดนำการผลิต ที่กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นกลไกหลักในการดำเนินการร่วมกับส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง ควบคู่ไปกับการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับภาคการผลิต มากไปกว่านั้น 

น.ส.รัชดา กล่าวว่า นายกฯยังได้ติดตามการขับเคลื่อนการนำนวัตกรรมฉายรังสีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์เกษตร ซึ่งขณะนี้มีจำนวนผู้ประกอบการให้ความสนใจจำนวนมากขึ้นนำสินค้าผลไม้ อาหารแปรรูป อาหารแช่แข็ง สมุนไพร อาหารสุนัข มารับการฉายรังสี เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัย (ฆ่าเชื้อโรค พยาธิ แมลง)ในตัวสินค้าแล้ว ยังช่วยยืดเวลาในการเก็บรักษา เช่น ผลไม้บางอย่าง จากปกติ มีอายุแค่3-6 วัน ก็ขยายได้เป็น 1 เดือน หรืออาหารแปรรูป ก็ขยายได้อีก 1 ถึง 2 ปี จึงเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกอย่างมาก ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกต่างก็ให้การยอมรับว่าอาหารฉายรังสีมีความปลอดภัยสำหรับการบริโภค

น.ส.รัชดา กล่าวว่า เพื่อต่อยอดการดำเนินการดังกล่าว รัฐบาลได้ขยายการส่งเสริมไปยังกลุ่มผู้ประกอบการอาหารพื้นถิ่น เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าที่มีเอกลักษณ์ มีมาตรฐานความปลอดภัย และยืดอายุการเก็บรักษา เป็นการเพิ่มโอกาสการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏในพื้นที่ภาคกลาง จัดกิจกรรม Product Champion  เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการฉายรังสีอาหารสร้างมูลค่าให้กับอาหารพื้นถิ่น อาทิ ปลาร้า ปลาเค็ม ปูเค็ม กบแดดเดียว กะปิ ผัดไทย แกงส้ม กล้วยตาก ผลไม้ดอง เป็นต้น

อย่างน้ำพริกปลาร้าทรงเครื่อง เมื่อเชื้อโรคและสารปนเปื้อนในน้ำพริกได้ถูกจัดการผ่านการฉายรังสี จะมีอายุการเก็บรักษาได้นานออกไปอีก 1-2 ปี หรือปลาวงอบแห้งฉายรังสี สามารถยืดอายุการเก็บรักษาเพิ่มได้เป็น 12 - 18 เดือน สำหรับปี 2565  สทน. มีแผนขยายโครงการไปยังพื้นที่ภาคใต้ โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏในท้องถิ่นเช่นเดียวกับพื้นที่ภาคกลาง และยังมีแผนการดำเนินงานที่ขยายต่อไปยังภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามลำดับ เพื่อพัฒนาอาหารพื้นถิ่นให้มีมาตรฐานและความปลอดภัยทั่วทั้งประเทศ  

'ธ.ก.ส.'เปิดข้อมูลสินค้าเกษตรพาเหรดขึ้นราคายกแผง

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ประเมินราคาสินค้าเกษตรในเดือนม.ค. 2565 โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 9,966 - 10,075 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.17 - 2.27% เนื่องจากฮ่องกงมีความต้องการใช้ข้าวหอมมะลิเพื่อใช้ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ประกอบกับภาครัฐดำเนินโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี เพื่อชะลอการขายข้าวที่ออกสู่ตลาดในช่วงที่ผ่านมา เช่นเดียวกับข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 8,160 - 8,460 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.18 - 4.90% เนื่องจากผลผลิตข้าวเปลือกเหนียวนาปีออกสู่ตลาดน้อยลง 

ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาอยู่ที่ 9.08 - 9.16 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.85 - 1.73% เนื่องจากสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 1 เข้าสู่ช่วงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 2 (ข้าวโพดหลังนา) ทำให้ปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ออกสู่ตลาดน้อยโดยมีผลผลิตเพียง 2.59% ของปริมาณผลผลิตทั้งปี ขณะที่ ยางพาราแผ่นดิบชั้น 3 ราคาอยู่ที่ 54.95 - 55.90 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 3.46 - 5.25% เนื่องจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ส่งผลให้มีความต้องการใช้ถุงมือยางในอุตสาหกรรมทางการแพทย์เพื่อใช้ในการรักษาโรคไวรัสโควิด-19 หรือฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ให้กับคนไข้เพิ่มขึ้น 

ด้าน สุกร ราคาอยู่ที่ 77.56 - 81.29 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.45 - 6.31% เนื่องจากความต้องการเนื้อสุกรของร้านอาหารและผู้บริโภคเพื่อใช้ในการบริโภคในช่วงเทศกาลปีใหม่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่มีผลผลิตสุกรมีแนวโน้มลดลงจากการที่ผู้เลี้ยงสุกรจะชะลอการผลิตเพราะต้นทุนการผลิตที่สูง กุ้งขาวแวนนาไม ราคาอยู่ที่ 163.73 - 164.39 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.45 - 0.85% เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตกุ้งขาวแวนนาไมออกสู่ตลาดน้อย และโคเนื้อ ราคาอยู่ที่ 98.00 - 101.00 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.29 – 3.36% เนื่องจากบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลปีใหม่  

ดันสหกรณ์ช่วยกระจายสินค้าเกษตรในปี 65

น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ว่าโครงการปรับโครงสร้างการผลิต การรวบรวม และการแปรรูปของสถาบันเกษตรกรรองรับผลผลิตทางการเกษตร ขณะนี้สามารถเบิกจ่ายได้ 1,583 ล้านบาท หรือร้อยละ 93.5 ของงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาล 1,629 ล้านบาท 

สำหรับสหกรณ์ที่เข้าโครงการ 240 แห่ง ใน 59 จังหวัด โดยขณะนี้เกือบทุกแห่งสามารถที่จะรวบรวมผลผลิตทางการเกษตรได้เพิ่มขึ้น ในฤดูกาลผลิตปี 2565 นี้ จะใช้ระบบสหกรณ์เหล่านี้เข้าไปช่วยขับเคลื่อนเสริมกลไกตลาดที่สำคัญในการกระจายผลผลิตและเป็นแก้มลิงชะลอผลผลิตทางการเกษตรกรณีผลผลิตล้นตลาด ซึ่งในปีที่ผ่านมาการใช้ระบบสหกรณ์ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

'รัฐ' กร้าว!! สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตร-อาหารของไทย เข้าสู่ระบบมาตรฐานความปลอดภัยที่สากลยอมรับ

ไม่นานมานี้ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเร่งขับเคลื่อนพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารเข้าสู่ระบบมาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งเกษตรอินทรีย์เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่ต้องเร่งดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นสอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคในประเทศและสถานการณ์โลก ที่ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ล่าสุดรัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ทบทวนมาตรฐานสินค้าเกษตร (Good Agricultural Practices: GAP) พืชอาหาร และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ให้ครอบคลุมส่วนที่ใช้ขยายพันธุ์พืชและแมลงที่บริโภคได้ รวมทั้งสอดคล้องกับมาตรฐานอาเซียน รวมถึงการตรวจรับรองแหล่งผลิตพืชตามมาตรฐาน GAP โดยในปี 2565 มีผู้ยื่นขอการรับรอง 84,098 แปลง เกษตรกร 59,040 ราย โดยได้รับการรับรองมาตรฐาน GAPแล้ว จำนวน 74,152 แปลง เกษตรกร 50,209 ราย พร้อมมีการจัดทำฐานข้อมูลด้านการเกษตรปลอดภัยร่วมกับสมาชิกที่ได้รับใบรับรองมาตรฐาน GAP ในปี 2565 สหกรณ์ 47 แห่ง เกษตรกร 1,126 ราย ใน 22 จังหวัด และส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสมตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) แล้ว 65,358 ไร่

‘อลงกรณ์’ เร่งเจรจาเขตการค้าเสรี กับ อียู - อังกฤษ ดันไทยขึ้นแท่น Top 10 มหาอำนาจด้านอาหารของโลก

(28 ก.พ. 66) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวปาฐกถาเปิดงานเสวนาบนเวทีของงานแถลงข่าวประจำปี NRF 2023 Annual Press conference ‘Big Move’ ภายใต้ประเด็นเสวนา ‘ปัญหาและโอกาสสู่ทางออก ของการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทย ในตลาดยุโรปและอังกฤษ’ โดยมี คุณแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NRF คุณอิทธิพล เลิศศักดิ์ธนกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ Exim Bank และคุณณัฐศักดิ์ มนัสรังษี K Fresh เข้าร่วม ณ ลิโด้ คอนเนคท์ (ห้องลิโด้ 1) สยามสแควร์ซอย 3

โดยการจัดงานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้วิทยากรผู้เชี่ยวชาญภาครัฐได้แสดงความคิดเห็น และแชร์ประสบการณ์ให้แก่ผู้ประกอบการรายใหญ่ และรายย่อยในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของไทย เพื่อร่วมต่อยอดความคิดและร่วมหาทางแก้ปัญหา อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการผลักดัน สินค้าเกษตรและอาหารไทยไปสู่ตลาดยุโรปและอังกฤษโดยเฉพาะบริษัทชั้นแนวหน้าของไทย เช่น เอ็นอาร์เอฟ (NRF) ที่มีเป้าหมายขยายเครือข่ายซูเปอร์มาร์เก็ตสินค้าอาหารไทยและเอเซีย ในอังกฤษและยุโรป ซึ่งมีมูลค่าตลาดนี้ 10 พันล้านดอลลาร์ หรือกว่า 3 แสนล้านบาท

นายอลงกรณ์ กล่าวปาฐกถาว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ และผู้ประกอบการเอกชน ในการส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยไปสหภาพยุโรปและอังกฤษ ซึ่งเป็นตลาดคู่ค้าอันดับ 4 ของไทย จึงให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เร่งเปิดทางสร้างโอกาสให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการส่งออกสินค้าไปอียูและอังกฤษ

โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้ลงนามเอ็มโอยู กับกระทรวงสิ่งแวดล้อมอาหารและกิจการชนบทของอังกฤษ เพื่อขยายความร่วมมือทางการเกษตรทุกมิติรวมทั้งการขจัดอุปสรรคทางการค้าสินค้าเกษตรและอาหารเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ เร่งเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) 3 กรอบสำคัญ คือ

เอฟทีเอไทย-อียู
เอฟทีเอไทย-อังกฤษ
เอฟทีเอไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA)

ซึ่งมีสมาชิก 5 ประเทศ คือ รัสเซีย, คาซัคสถาน, เบลารุส, อาร์เมเนีย และคีร์กีซสถาน เป็นก้าวใหม่ก้าวใหญ่ของภาครัฐ ผสมผสานกับบิ๊กมูฟของภาคเอกชนในวันนี้ จึงมั่นใจว่าประเทศไทยจะบรรลุความสำเร็จที่ตั้งเป้าหมาย เป็นมหาอำนาจทางอาหารท็อปเทนของโลกภายในปี 2030 เป็นอาหารปลอดภัย (Food Safety) ที่มีการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของสำนักงาน มกอช.ตั้งแต่ฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร (Farm 2 Tables) ภายใต้การพัฒนาเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาภาวะโลกร้อน สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งสหภาพยุโรปและอังกฤษ ตลอดจนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ทางเรือ ทางอากาศและทางบก โดยเฉพาะการขนส่งทางรางบนเส้นทางรถไฟสายไทย-จีน-ลาว-ยุโรป

สำหรับโอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทย ทั้งในเรื่องการรักษาและขยายส่วนแบ่งการตลาดในสินค้าหลักที่มีฐานการตลาดอยู่เดิม ได้แก่

1.) สินค้าปศุสัตว์ - ไก่แปรรูปและไก่หมักเกลือ (สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์) โดยในปี 2565 ประเทศไทยส่งออกไก่แปรรูปไปยังสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร มูลค่า 38,000 ล้านบาท ซึ่งขยายตัวจากปี 2564 ถึงร้อยละ 69

2.) สินค้าพืชผักผลไม้สดผลไม้แปรรูป และข้าว (สหราชอาณาจักร อิตาลี เนเธอร์แลนด์) สับปะรดกระป๋อง และน้ำสับปะรดกระป๋อง และผลไม้กระป๋อง (เนเธอร์แลนด์และเยอรมนี)

3.) สินค้าประมงและสัตว์น้ำ (แช่แข็งและแปรรูป) ปลาหมึกแช่แข็ง (อิตาลี) ปลาทูน่ากระป๋อง (เนเธอร์แลนด์)

4.) ยางพาราและผลิตภัณฑ์ (เยอรมนี เนเธอร์แลนก์ สเปน เบลเยียม อิตาลี)

‘พท.’ ชูนโยบายเชิงรุก เร่งเจรจาการค้า ตอบโจทย์เศรษฐกิจ หวังขยายฐานตลาดสินค้าไทยสู่เวทีโลก สร้างเม็ดเงินให้ชาติ

(28 เม.ย. 66) พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญด้านต่างประเทศที่จะเชื่อมไทยเชื่อมโลก เปิดตลาดสินค้าเกษตรใหม่ ๆ เร่งเจรจาการค้า กอบกู้เกียรติภูมิประเทศในเวทีโลก เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์อย่างแท้จริง

นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงนโยบายต่างประเทศของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า จะเป็นนโยบายเชิงรุกที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจ ให้เป็นการต่างประเทศที่กินได้ เกิดประโยชน์ตกถึงมือประชาชน

ถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล จะมีแนวนโยบายดังนี้
1.) ฟื้นฟูบทบาทของไทยในเวทีโลก บนพื้นฐานของกฎบัตรสหประชาชาติ กฎหมายระหว่างประเทศและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

2.) กำหนดท่าทีของประเทศอย่างสมดุลในพลวัติภูมิรัฐศาสตร์โลก โดยไทยจะเป็นผู้ส่งเสริมสันติภาพ และความรุ่งเรืองอย่างแข็งขันในประชาคมโลก เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย

3.) ปกป้องผลประโยชน์ของคนไทย และธุรกิจไทยในต่างประเทศอย่างเข้มแข็ง

4.) หนังสือเดินทางไทยแข็งแรง เดินทางง่ายได้ทั่วโลก เร่งเจรจายกเว้นวีซ่าให้พาสปอร์ตไทย

5.) นโยบายต่างประเทศที่กินได้ เชื่อมโลกเชื่อมไทย เปิดตลาด เพิ่มรายได้จากการค้าชายแดน เร่งเจรจาข้อตกลงทางการค้า FTA กับอียูและอังกฤษ ผลักดัน soft power ทางการทูตไทย และพลัง soft power ด้านอื่น ๆ ของไทย

‘พาณิชย์ฯ’ เผยตัวเลขส่งออกไทย ก.ย.66 พลิกบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง

(24 ต.ค.66) นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนกันยายน 2566 ว่า การส่งออก มีมูลค่า 25,476 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวร้อยละ 2.1 ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากตลาดคาดว่า หดตัวร้อยละ 1.75-2.00

ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 23,383 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 8.3 ส่งผลให้เดือนกันยายน ไทยเกินดุลการค้า 2,093 ล้านดอลลาร์

ขณะที่ในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.66) การส่งออก มีมูลค่ารวม 213,069 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 3.8 การนำเข้า มีมูลค่ารวม 218,902 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ 9 เดือนแรกปีนี้ ไทยขาดดุลการค้า 5,833 ล้านดอลลาร์

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การส่งออกของไทย ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยได้รับแรงหนุนจากการส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้ไปจีน อาทิ ทุเรียน และมังคุด รวมทั้งการส่งออกข้าวที่ขยายตัวได้ดีในตลาดแอฟริกาใต้และอินโดนีเซีย ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมดาวรุ่งที่ขยายตัวต่อเนื่อง ยังคงเป็นสินค้าที่เติบโตตามเมกะเทรนด์ เช่น โซลาร์เซลล์ และโทรศัพท์มือถือ

‘อิหร่าน’ ส่งออกอาหาร-สินค้าทางการเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 21 ยก ‘อิรัก-อัฟกัน-UAE-รัสเซีย-ปากีฯ’ คู่ค้าด้านอาหารที่สำคัญ

สภาอุตสาหกรรม เหมืองแร่ และการพาณิชย์ของอิหร่าน ประกาศว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปีปฏิทินอิหร่าน 1402 (21 มีนาคม - 22 กันยายน 2566) มีการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ปศุสัตว์ การประมง และอาหารมากกว่า 3.5 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าราว 2,428 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ไซยิดรูฮุลลอฮ์ ลาตีฟี โฆษกคณะกรรมการพัฒนาการค้า Khaneh Sanat กล่าวว่า ร้อยละ 94 ของน้ำหนัก และร้อยละ 84 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศได้ส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านในช่วงเวลาดังกล่าว โดยมี อิรัก อัฟกานิสถาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รัสเซีย และปากีสถาน เป็นจุดหมายปลายทางการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารที่สำคัญที่สุดของอิหร่าน 

ลาตีฟี กล่าวด้วยว่า สินค้าส่งออกที่สำคัญที่สุดในกลุ่มผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร ได้แก่ ผลิตภัณฑ์นมที่มีมูลค่า 345 ล้านดอลลาร์ มะเขือเทศ มูลค่า 159 ล้านดอลลาร์ และผลิตภัณฑ์ประมงที่มีมูลค่ามากกว่า 140 ล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกอื่น ๆ ของอิหร่านในภาคส่วนนี้ ได้แก่ ถั่วพิสตาชิโอ, แตงโม, ไข่ไก่, หญ้าฝรั่ง, อินทผาลัม, ลูกเกด, มะเขือเทศเข้มข้น, มันฝรั่ง, แอปเปิ้ล และลูกพีช เป็นต้น

โดย ลาตีฟี ได้เน้นย้ำว่า การส่งออกมีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะที่เป็นแรงผลักดันและกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และบรรดาผู้กำหนดนโยบายและบรรดาผู้ผลิตควรคำนึงถึงคุณภาพ ความต่อเนื่องของอุปทาน, ราคาที่สามารถแข่งขันได้ ตลอดจนรสนิยม และความยืดหยุ่นของตลาดเป้าหมาย การจัดระเบียบองค์กรต่าง ๆ อย่างเหมาะสม และการใช้วิทยาการความรู้ที่ทันสมัย, บรรจุภัณฑ์, การขนส่งที่เหมาะสม และการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็ให้ความสนใจกับการพัฒนาของตลาดประเทศเพื่อนบ้าน และเพิ่มการส่งออกไปยังตลาดที่ห่างไกล หากดำเนินงานในลักษณะนี้ก็จะสามารถทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเงินตราที่เหมาะสมได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top