Thursday, 2 May 2024
สมุทรสาคร

ผู้ว่าฯ ปู คืนสู่สาคร คนแห่ต้อนรับเนืองแน่น ด้านพ่อเมืองบอกรักและคิดถึงที่สุดสมุรสาคร อีก 1 เดือนพร้อมสู้ต่อ

เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. ของวันที่ 19 มีนาคม 2564  ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล และ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์  แพทย์ผู้ให้การดูแลฯ ได้เดินทางมาที่ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมกับ นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นางชุติพร วิจิตร์แสงศรี (ภริยา) นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสมุทรสาคร และ นางสาววีราพร หรือ น้องน้ำหวาน วิจิตร์แสงศรี (บุตรสาว) เพื่อพบปะกับ นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร หัวหน้าส่วนราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชน และพี่น้องประชาชนที่มาร่วมกันต้อนรับอย่างเนืองแน่น

โดยเมื่อขบวนรถของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครมาถึง คนที่มาต้อนรับก็ปรบมือส่งเสียงดีใจ ที่ท่านเดินทางกลับมาที่สมุทรสาครด้วยใบหน้าที่สดใส มีรอยยิ้มและสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงขึ้น แม้จะยังไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ขณะที่ในส่วนของผู้ว่าราชการจังหวัดและครอบครัว ก็ได้โบกมือทักทายทุกคน พร้อมกับยกมือไหว้ขอบคุณที่ทุกคนรักและมารอต้อนรับ ก่อนที่จะเข้าห้องประชุมพันท้ายนรสิงห์ฯ เพื่อพบปะกับผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ประมาณ 30 คน

สำหรับในห้องประชุมหลังจากที่ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล และ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ ได้เล่าให้ฟังถึงอาการท่านผู้ว่าฯ และแนวทางการรักษา ตลอดจนกำลังใจที่มีส่วนสำคัญทำให้ท่านผู้ว่าฯ ฟื้นคืนร่างกายกลับมาได้โดยเร็วแล้วนั้น ทางนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ก็ได้กล่าวถึงความรู้สึกตั้งแต่เริ่มแรกที่รู้ว่าติดเชื้อโควิด – 19 จนกระทั่งนอนอยู่ในโรงพยาบาลแบบไม่รู้สึกตัว 43 วัน และต้องพักรักษาอยู่ในโรงพยาบาลศิริราชทั้งหมด 82 วัน

ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น ตนเองได้รับรู้เรื่องราวต่าง ๆ ผ่านการเล่าเรื่องจากแพทย์ผู้ให้การดูแลรักษามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องของโรงพยาบาลสนามที่ตนมุ่งหวังและเชื่อมั่นว่าจะเป็นแนวทางในการป้องกันแก้ไขสถานการณ์โควิดให้ลุล่วงไปได้อย่างแน่นอน จนกระทั่งเมื่อตนเองรู้สึกตัวและสามารถขยับร่างกายได้แล้วนั้น ก็ได้อ่านข่าวสารต่าง ๆ เกี่ยวกับโควิดที่สมุทรสาครมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้รับรู้ความเคลื่อนไหว ความมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้น น้ำใจจากทุกภาคส่วนที่หลั่งไหลสู่สมุทราสคร และความรัก ความสามัคคีของคนสมุทรสาคร ตลอดจนกำลังใจที่ส่งต่อมาให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครอย่างล้นหลาม

นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า สิ่งที่อยากจะบอกกับคนสมุทรสาครคือ “รักและคิดถึงสมุทรสาครมากที่สุด” แม้ตนเองจะไม่ใช่คนสมุทรสาคร แต่การที่ได้มาทำงานที่นี่กว่า 1 ปี ก็รักและคิดถึงที่นี่มากแม้ว่าที่นี่ไม่ใช่บ้านก็เสมือนบ้านของตนเอง โดยสถานการณ์โควิด – 19 วันนี้ เป็นบททดสอบที่สำคัญยิ่ง ซึ่งคนเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครจะต้องมีส่วนรับผิดชอบในการควบคุมสถานการณ์ ทั้งนี้ตนก็เชื่อว่าการระบาดครั้งนี้จะต้องมีจุดจบ สมุทรสาครจะต้องสามารถกลับขึ้นมายืนได้อีกครั้ง ด้วยความร่วมมือของคนสมุทรสาคร ที่จะทำให้เราสามารถต่อสู้ชนะโควิดได้ในเร็ววันนี้ ส่วนตัวนั้นขอเวลาอีกประมาณ 1 เดือนในการพักฟื้นร่างกายตามคำสั่งของแพทย์ หลังจากนั้นจะกลับมาทำงานรับใช้พี่น้องชาวสมุทรสาคร 

นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ยังบอกทิ้งท้ายด้วยอารมณ์แห่งความสุขและเรียกรอยยิ้มด้วยว่า ถ้าวันที่หายเป็นปกติสุขภาพร่างกายแข็งแรงดีแล้ว คิดว่าจะลงพื้นที่ไหนเป็นจุดแรกนั้น คงตอบไม่ได้ เพราะทุกพื้นที่สำคัญเหมือนกันหมด หากจะระบุไปที่ใดที่หนึ่งกลัวจะทำให้พื้นที่อื่นเกิดความน้อยใจ เพราะการทำงานเลือกพื้นที่ไม่ได้ คงต้องดูความเหมาะสมหรือความจำเป็นในขณะนั้น อีกอย่างหนึ่งคือ บอกไม่ได้ตอนนี้ เพราะกลัวภริยาจะรู้ ห้ามไม่ให้ไปทำงาน

ทั้งนี้หลังจากที่ใช้เวลาในห้องประชุมประมาณ 1 ชั่วโมง เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ก็ได้มีการรับประทานอาหารร่วมกันเป็นมื้อแรกที่สมุทรสาคร โดยมีเมนูโปรดของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครคือ ข้าวผัดปู ต้มส้มปลากระบอก ปลาหมึกผัดกะปิ กุ้งซอสมะขาม ลอดช่องวัดเจษ และลำไยพวงทอง ส่วนการรับประทานอาหารนั้นก็จัดเป็นเซ็ตสำหรับแต่ละท่าน มีการเว้นระยะห่างตามมาตรการ New Normal


ภาพ/ข่าว  ชูชาต แดพยนต์ สมุทรสาคร

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปิด รพ.สนามแห่งที่ 7 ชูสมุทรสาคร “นำร่องฉีดวัคซีนเพื่อชาติ” หลังจากควบคุมสถานการณ์โรคระบาดได้ โดยพบผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 9 – 15 รายต่อวัน พร้อมปรับรูปแบบให้เป็นสถานที่ฉีดวัคซีนฯ

เมื่อเวลา 16.00 น. ของวันที่ 25 มีนาคม 2564 นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะผู้บริหาร ได้ร่วมกันทำพิธีปิดโรงพยาบาลสนาม หรือ ศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 7 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าทราย อ.เมือง จ. สมุทรสาคร ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสนามที่มีขนาด 460 เตียง เปิดรับผู้ติดเชื้อตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 มกราคม - 19 มีนาคม 2564 มีผู้ติดเชื้อเข้าใช้บริการทั้งสิ้น 761 คน ซึ่งในพื้นที่ตำบลท่าทรายนี้ นับเป็นพื้นที่พบผู้ติดเชื้อสงสุดของจังหวัดสมุทรสาคร จำนน 9,907 คน คิดเป็นเกือบร้อย ละ 50 ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด โดยหลังจากที่ปิดโรงพยาบาลสนามแห่งนี้แล้ว ก็จะปรับให้เป็นสถานที่ฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้แก่ประชาชนในจังหวัดสมุทรสาคร โดยได้เริ่มดําเนินการมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา มีผู้เข้ารับบริการฉีดวัคซีนโควิดไปแล้ว กว่า 5,000 คน

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า การเปิดโรงพยาบาลสนาม หรือศูนย์ห่วงใยคนสาคร  รองรับสถานการณ์โรคโควิด 19 เป็นอีกเหตุการณ์ในหน้าประวัติศาสตร์ที่ชาวสมุทรสาครได้ร่วมแรงร่วมใจกัน ดึงทรัพยากรที่มีอยู่เข้ามาช่วยต่อสู้กับโรคระบาดและแบ่งเบาภาระโรงพยาบาลในการดูแลผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ เป็นนวัตกรรมระดับโลกที่สำคัญต่อระบบสาธารณสุขของประเทศในการจัดการกับวิกฤต เพิ่มความมั่นใจให้ประชาชนถึงศักยภาพความเข้มแข็งและความเพียงพอของระบบสาธารณสุขที่จะรองรับผู้ ติดเชื้อจำนวนมาก โดยได้ตั้งโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ติดเชื้อถึง 10 แห่ง รวมกว่า 4 พันเตียง

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สถานการณ์ของโควิด 19 จ.สมุทรสาครมีแนวโน้มดีขึ้น จากมาตรการค้นหาและเฝ้าระวังเชิงรุก มาตรการ Bubble and Sealed ในโรงงานขนาดใหญ่ ที่นำผู้ติดเชื้อไปอยู่ในสถานที่กักกันจนปลอดเชื้อ และการตรวจหาภูมิคุ้มกัน รวมถึงมาตรการ DMHT เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ การคัดกรองอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้าสถานที่ต่าง ๆ ทำให้จำกัดการระบาดได้ ประกอบกับการได้รับวัคซีน 2 แสนโดส สำหรับ 1 แสนคน โดยได้ฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนในจังหวัดแล้ว 40,715 คน ส่งผลให้พบผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 9 - 15 รายต่อวัน จึงได้ทยอยปิดโรงพยาบาลสนาม จนถึงวันนี้นับเป็นแห่งที่ 7 รวม ทั้งหมด 2,227 เตียง ส่วนอีก 3 แห่ง 1,985 เตียง ได้แก่ ศูนย์ห่วงโยคนสาครแห่งที่ 8 หรือโรงพยาบาลสนาม 1,000 เตียง (ส่วนนต่อเติมวัฒนาแฟคตอรี่),แห่งที่ 9 (บริษัทวิท วอเตอร์ซิสเต็มดีเวลลอปเม้นท์) และแห่งที่ 10 (ที่ดินของนางเง็กเน้ย ศิริชัยเอกวัฒน์) เพียงพอรองรับเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน

แต่ทั้งนี้ “การปิดโรงพยาบาลสนามไม่ได้เป็นการประกาศว่าสถานการณ์โควิด 19 จบสิ้นหรือไม่มีการระบาดแล้ว แต่เป็นการ ส่งสัญญาณว่าต่อไปนี้การระบาดอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ เพราะระบบโรงพยาบาลมีศักยภาพและความพร้อมรองรับผู้ป่วยได้ ซึ่งบทบาทและภารกิจในการดูแลผู้ป่วยโควิดที่ยังมีอยู่จะถูกส่งต่อให้กับโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่มีศักยภาพในจังหวัดสมุทรสาคร 

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวทิ้งท้ายว่า หลังจากที่จังหวัดสมุทรสาคร สามารถแสดงออกถึงศักยภาพด้านการควบคุมโรคด้วยการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามหรือศูนย์ห่วงใยคนสาครที่มีมากที่สุดของประเทศและดีที่สุดของประเทศ ภายใต้การบริหารจัดการของระบบสาธารณสุขแล้วนั้น ขั้นต่อไปก็อยากจะขอเชิญชวนพี่น้องชาวจังหวัดสมุทรสาคร และผู้ที่ทำงานหรือพักอาศัยอยู่ในจังหวัดนี้ ได้ร่วมกันต่อยอดแสดงถึงความสามัคคีอีกระดับหนึ่ง ด้วยการพร้อมใจกัน “ฉีดวัคซีนเพื่อชาติ ป้องกันโควิด 19” ที่รัฐบาลจะดำเนินการจัดสรรลงมาให้จังหวัดสมุทรสาครได้รับมากที่สุด และเป็นจังหวัดนำร่องที่มีผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนมากที่สุดอีกด้วย หากทั้งนี้ประเทศไทยสามารถดำเนินการฉีดวัคซีนได้มากกว่าร้อยละ 60 เร็วเท่าไหร่ เราก็จะเปิดประเทศไทยเร็วมากยิ่งขึ้นเท่านั้น ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่พี่น้องชาวจังหวัดสมุทรสาคร จะได้ร่วมกันแสดงออกการถึงการเป็นแบบอย่างที่ดีด้วยการ “ร่วมกันฉีดวัคซีนเพื่อชาติ” เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคนี้ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่น และเพิ่มศักยภาพความปลอดภัยให้แก่บุคคลภายนอกอีกด้วย

สำหรับสถานการณ์โควิด19 จังหวัดสมุทรสาคร ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2563 - วันที่ 24 มีนาคม 2554 พบผู้ติดเชื้อ 17,195 คน จังหวัดได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนจัดหาสถานที่สร้างโรงพยาบาลสนามที่ไม่มีผลกระทบหรือสร้างความกังวลให้กับประชาชน โดยโรงพยาบาลสนามหรือศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 1 ใช้สนามกีฬาจังหวัด มี 700 เตียง เปิดใช้งานเมื่อ วันที่ 4 มกราคม 2564 รับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการมาดูอาการ 10 วัน ซึ่งในระหว่างนั้นหากมีอาการจะส่งตัวเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทันทีชูชาตแดพยนต์ทีมข่าวสมุทรสาคร

สมุทรสาคร - ศรชล.ร่วมหน่วยงานและเจ้าของเรือ เป็นสักขีพยานและกำลังใจให้แรงงานประมง ฉีดวัคซีนเข็มแรก

ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 1 (ศรชล.ภาค 1) โดย น.อ.เอกภาพ สายโสภา รอง ผอ.ศรชล.จว.สมุทรสาคร น.อ. สุรศักดิ์ กิ่มบางยาง หน.ศคท.จว.สมุทรสาคร พร้อมกำลังพล ศรชล.จว.สมุทรสาคร/ศคท.จว.สมุทรสาคร นายกสมาคมการประมง จว.สมุทรสาคร/สมาชิกสมาคมประมง จว.สมุทรสาคร และตัวแทน/เจ้าของเรือประมงพาณิชย์ จว.สมุทรสาคร ร่วมเป็นสักขีพยานและร่วมให้กำลังใจแรงงานภาคประมงทะเล จำนวน 51 ราย (แรงงานต่างด้าว 34 ราย แรงงานไทย 17 ราย) ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตราอักษรซิโนฟาร์ม (วัคซีนทางเลือก) เข็มแรก ณ รพ.นครท่าฉลอม อ.เมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร

การรับวัคซีนโควิด-19 (วัคซีนทางเลือก) ของแรงงานภาคเรือประมงพาณิชย์ จังหวัดสมุทรสาครในวันนี้ ถือว่าเป็นการรับวัคซีนของแรงงานภาคประมงทะเล จังหวัดแรก ๆ ในประเทศไทย เป็นการช่วยแก้ไขปัญหาในเรื่องการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ของแรงงานภาคเรือประมงทะเล นอกเหนือจากการขอรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 (วัคซีนหลัก) เป็นกลุ่ม/องค์กร ซึ่งทาง สมาคมการประมง จังหวัดสมุทรสาคร ได้ทำหนังสือเสนอขอความอนุเคราะห์จาก สธ.จว.สมุทรสาคร ซึ่งคาดว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก ในช่วง ส.ค. - ก.ย. 64


ภาพ/ข่าว สนง.ศรชล.ภาค 1

นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน

สมุทรสาคร – อาลัย “นางฟ้าชุดขาว” ทำงานหนักดูแลผู้ป่วย ติดโควิด-19 เสียชีวิต

เมื่อเวลา 14.00 น. ของวันที่ 2  สิงหาคม 2564 ที่วัดศรีเมือง ม.3 ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.สมุทรสาครนางชุติพร วิจิตร์แสงศรี นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานในพิธีณาปนกิจศพนางสาวอุไรวรรณ จันทรปลิน อายุ 45 ปี พยาบาลวิชาชีพ ปฏิบัติงานอยู่ที่หอผู้ป่วยอายุรกรรมชาย 1 โรงพยาบาลสมุทรสาคร ที่เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยมีพระครูสาครสิริวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดศรีเมือง เจ้าคณะตำบลบ้านเกาะ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ร่วมด้วย นายแพทย์นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร นายแพทย์อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร  แพทย์พยาบาลโรงพยาบาลสมุทรสาคร พร้อมญาติพี่น้องเข้าร่วมพิธีประมาณ 80 คน โดยภายในงานมีแพทย์พยาบาลโรงพยาบาลสมุทรสาครได้ร่วมร้องเพลงมาร์ชพยาบาล เพื่อเป็นการอาลัยผู้ตายและส่งดวงวิญญาณไปสู่สรวงสวรรค์

สำหรับบรรยากาศภายในงานเป็นไปด้วยความโศกเศร้าของญาติพี่น้องเนื่องจากครอบครัวผู้เสียชีวิตที่อยู่กันมีจำนวน 9 คนและมีผู้ติดเชื้อโควิด 7 คนซึ่งขณะนี้กำลังรักษาตัวอยู่ โดยทางด้านเพื่อนพยาบาลรุ่น 6 วิทยาลัยพยาบาลพระจอมเก้าเพชรบุรี กล่าวว่า พวกตนรู้สึกเสียใจมากคือไม่คิดว่ามันเป็นความจริง  มันเกิดขึ้นกับเพื่อนเราจริง ๆ ใช่ไหม ไม่มีใครอยากให้มันสูญเสีย ด้วยโรคที่เราดูแลคนไข้หรือว่าดูแลคนอื่นแล้วเราต้องมาเป็น เขาก็ต้องจากไป ซึ่งตนอยากให้ทางภาครัฐจัดวัคซีนให้เร็วเพื่อจะป้องกันได้เร็ว เพราะเราไม่รู้เลยว่าใครที่เดินมาจะเป็น บางคนก็ปกปิดข้อมูล บางคนก็บอกไม่บอกพอมาถึงก็เป็นแล้วมานอนรวมกัน คือเราไม่รู้เพราะตอนนี้มันเป็นโรคอุบัติใหม่ ไม่มีใครรู้อะไรดีที่สุด แต่เราอยากให้เขาดูแลเราให้ดีที่สุดเพราะเราต้องดูแลคนไข้

ส่วนทางด้านนายแพทย์อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร  กล่าวว่าสำหรับสวัสดิการในการดูแลช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตนั้น ทางผู้เสียชีวิตมีสิทธิ์หลายอย่างที่โรงพยาบาลดูแลให้ รวมทั้งประกันชีวิต ทางเจ้าหน้าที่จะรวบรวมทั้งหมดให้ และในส่วนโรงพยาบาลเองก็มีเงินที่ทางโรงพยาบาลได้รวบรวมไว้แล้วเพื่อให้แก่ญาติของผู้เสียชีวิตต่อไป


ภาพ/ข่าว  ชูชาต แดพยนต์  ทีมข่าวสมุทรสาคร

สมุทรสาคร - อนุทิน เปิด รพ.สนาม FAI ในโรงงาน เพื่อแยกผู้ติดเชื้อโควิดป้องกันแพร่สู่ชุมชน

เมื่อเวลา 15.00 น. ของวันที่ 4 สิงหาคม 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะเดินทางมาตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสนามในโรงงาน ( Factory isolation / FAI ) ณ บริษัท ปัญจพล ไฟเบอร์คอนเทนเนอร์ จำกัด (สาขาบางปลา) ต.บ้านเกาะ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร โดยมีนายธีรพัฒน์ คัชมาตย์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นายศรัณยู เตชะวิบูลย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ปัญจพล ไฟเบอร์คอนเทนเนอร์ จำกัด พร้อมส่วนราชการภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมต้อนรับ 

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 ของประเทศไทย ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจังหวัดสมุทรสาคร ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นอันดับที่ 2 รองจากกรุงเทพมหานคร ประกอบกับเป็นจังหวัดที่มีจำนวนโรงงานและสถานประกอบการจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดความแออัดของผู้ติดเชื้อในหน่วยบริหารหลักทั้งโรงพยาบาลรัฐทั้ง3แห่ง และโรงพยาบาลเอกชนอีก1 แห่งในจังหวัดสมุทรสาคร ดังนั้นแนวคิดของการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในโรงงาน( Factory isolation ) นับเป็นการแบ่งเบาภารกิจของโรงพยาบาล โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ทั้งการจัดทำสถานที่ จัดหาอุปกรณ์และเครื่องมือที่จำเป็นเพื่อดูแลพนักงานและเจ้าหน้าที่ของตนเองที่มีการติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือผู้ติดเชื้อที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียว จัดระบบการดูแลรักษาพยาบาลของผู้ติดเชื้อโดยประสานความร่วมมือของโรงพยาบาลที่มีหน้าที่ดูแลผู้ประกันตนตามหลักประกันสุขภาพและนับเป็นความเสียสละของผู้ประกอบการโรงงาน แสดงถึงความร่วมมือต่อนโยบายภาครัฐในการควบคุมโรคและสนับสนุนระบบการรักษาพยาบาลของประเทศไทย

นอกจากนี้ทางด้าน นายอนุทินฯกล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เดินหน้านโยบายการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) หากผลเป็นบวกสนับสนุนการดูแลรักษาที่บ้าน (Home Isolation) และการดูแลที่ชุมชน (Community Isolation) ส่วนสถานประกอบการหรือโรงงานได้ให้จัดทำโรงพยาบาลสนามในโรงงานและศูนย์พักคอย เพื่อแยกผู้ติดเชื้อออกมา ช่วยลดการแพร่เชื้อในโรงงานและในชุมชน สำหรับ บริษัท ปัญจพล ไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์ จำกัด ได้ใช้อาคารโรงงานของตนเองมาดำเนินการเป็นโรงพยาบาลสนามและศูนย์พักคอยขนาด 100 เตียง รองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งในโรงงานตนเองและชุมชนบางปลาโดยรอบ มีบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลวิชัยเวชมาช่วยดูแล ผ่านการประเมินตามมาตรฐานของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ถือว่ามีความปลอดภัยต่อชุมชนโดยรอบ

ทั้งนี้ โรงพยาบาลสนามในโรงงานของสมุทรสาคร ขณะนี้มีจำนวน 1,140 แห่ง รวม 33,365 เตียง มีการใช้งานแล้ว 3,179 เตียง คงเหลือ 30,186 เตียง ขณะที่การดูแลผู้ติดเชื้อในชุมชนมีจำนวน 34 แห่ง รวม 4,000 กว่าเตียง ทำให้มีพื้นที่แยกกักโดยเฉพาะ ช่วยลดอัตราการใช้เตียง ทำให้มีเตียงรองรับผู้ติดเชื้ออาการรุนแรง โดยการดูแลรักษาในทุกระบบใช้แนวทางตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขเหมือนกันทั้งหมด

ส่วนเรื่องของวัคซีนไฟเซอร์นั้น นายอนุทินฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า รัฐบาลพยายามจัดหาวัคซีนชนิด mRNA  มาฉีดบู๊สเตอร์ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ นับตั้งแต่ อสม.ขึ้นมา ซึ่งก็ต้องเป็นไปตามที่ได้มีการนำเข้า และการฉีดวัคซีนชนิดนี้จะต้องขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้ที่เข้ารับการฉีดด้วย แต่ที่ผ่านมามีบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากฉีดบู๊สเข็ม 3 ด้วยวัคซีนแอสตราเซเนกาไปแล้วและได้ผลดีมาก


ภาพ/ข่าว  ชูชาต แดพยนต์ ทีมข่าวสมุทรสาคร

สมุทรสาคร - Kick Off สร้างเกราะป้องกันด้วยวัคซีน (Pfizer) ในเด็กนักเรียน ส่วนผู้ติดเชื้อรายวัน 145 ราย

เมื่อเวลา 08.30 น. ของวันที่ 4 ตุลาคม 2564 ที่โรงเรียนเทศบาลบ้านมหาชัย (อนุกูลราษฎร์) หรือโรงเรียนเทศบาล 8 ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานเปิดโครงการ Kick Off การสร้างเกราะป้องกันด้วยวัคซีนในเด็กนักเรียน โดยการฉีดวัคซีน Pfizer ให้กับนักเรียนที่มีอายุ 12 – 17 ปี มีนายประกิจ สาระเทพ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร นายกเทศมนตรีเทศบาลนครสมุทรสาครและคณะ ศึกษาธิการจังหวัด บุคลากรทางด้านสาธารณสุข  ผู้มีเกียรติ คณะครู และผู้ปกครองที่ได้นำเด็กนักเรียนของโรงเรียนเทศบาลบ้านมหาชัยจำนวน 909 คน มาเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มแรกในวันแรก และเป็นโรงเรียนำร่องแห่งแรกของจังหวัดสมุทรสาครที่มีการฉีดวัคซีนให้กับนักเรียน

นายประกิจ สาระเทพ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ได้รายงานว่า เนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ซึ่งมาตรการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ วัคซีนโควิด-19 นั้น เป็นมาตรการในการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ได้ และที่ผ่านมาจังหวัดสมุทรสาคร ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับกลุ่มประชาชน จำนวนทั้งสิ้น 585,601 คน ครอบคลุมประชากรร้อยละ 61.44  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประชากรที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทั้งนี้เพื่อให้การได้รับวัคซีนโควิด 19 ครอบคลุมทุกกลุ่มประชากร โดยเฉพาะเด็กนักเรียนที่มีอายุ 12-17 ปี ลดความเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ประเทศไทยจึงมีนโยบายให้วัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อไฟเซอร์ (Pfizer) สำหรับกลุ่มเด็กนักเรียนที่มีอายุ 12 - 17 ปี

ผ่านสถาบันการศึกษาในรูปแบบวัคซีนนักเรียน (School-based vaccination) ซึ่งในส่วนของจังหวัดสมุทรสาคร จากการสำรวจความประสงค์ของผู้ปกครองผ่านสำนักศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาคร พบว่า ผู้ปกครองมีความประสงค์ให้บุตรหลานเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 จำนวนทั้งสิ้น 27,000 คน จากที่มีเด็กนักเรียนในกลุ่มอายุ 12 – 17 ปี อยู่ทั้งหมดประมาณ 33,000 คน ซึ่งภาพรวมหากฉีดได้ครบตามจำนวนที่แจ้งความประสงค์ไว้ ผนวกกับเด็กนักเรียนกลุ่มเปราะบางที่ได้รับการฉีดวัคซีนชนิดเดียวกันไปก่อนหน้านี้แล้ว ก็จะมีเด็กนักเรียนอายุ 12 – 17 ปี ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด Pfizer มากกว่าร้อยละ 80 ส่วนที่เหลือก็จะรณรงค์ให้ผู้ปกครองสมัครใจนำบุตรหลานมาเข้ารับการฉีดวัคซีนต่อไป

ด้านนายรณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า การฉีดวัคซีนในวันนี้เป็นวันแรกเริ่มของกลุ่มเด็กนักเรียน ซึ่งสมุทรสาครมีกลุ่มเป้าหมายอยู่ประมาณ 33,000 คน สมัครใจเข้ารับการฉีดวัคซีนแล้วจำนวน 27,000 คน สำหรับการฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กนักเรียนนี้จะทำให้จังหวัดสมุทรสาครพร้อมที่จะกลับมาเปิดเทอมกันอีกครั้งในรูปแบบออนไซด์ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นต้นไป ขณะที่ในภาพรวมของจังหวัดสมุทรสาครนั้น เรื่องของการให้บริการฉีดวัคซีน กับการเข้ารับบริการฉีดวัคซีนไม่ใช่ปัญหาหลัก ส่วนที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุดคือ เรื่องของจำนวนและระยะเวลาของวัคซีนที่จะจัดส่งมายังจังหวัดสมุทรสาคร หากมาได้ครบและเป็นไปตามวันเวลาที่กำหนด ก็จะทำให้จังหวัดสมุทรสาครเดินแผนฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ตามเป้าหมายอย่างแน่นอน

ด้านนายแพทย์อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร กล่าวด้วยว่า แผนเดินหน้าฉีดวัคซีนให้กับเด็กนักเรียนนั้น จะใช้รูปแบบวัคซีนนักเรียน หรือ School-based vaccination คือ การเข้าไปฉีดให้กับนักเรียนภายในรั้วโรงเรียนตามวันและเวลาที่ได้รับการนัดหมายไว้ โดยจะฉีดให้แล้วเสร็จภายใน 1 สัปดาห์ จากนั้นเข็ม 2 จะเริ่มฉีดอีก 3 สัปดาห์ภายหลังจากนี้ ส่วนคำแนะนำสำหรับผู้ปกครองและนักเรียนที่ฉีดวัคซีนไปแล้วคือ เรื่องของผลข้างเคียงมักจะเกิดภายใน 30 นาทีหลังการฉีดวัคซีนไปแล้ว แต่ทั้งนี้ก็ขอให้ยังเฝ้าสังเกตอาการต่อเนื่องอีกระยะหากมีอาการเจ็บหน้าอก หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม ใจสั่น หรือมีอาการผิดปกติใด ๆ ที่สงสัยได้ว่าจะเป็นผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน ก็ขอให้รีบแจ้งทางโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้านทันที และอีกส่วนหนึ่งคือการออกกำลังกายหนัก ในช่วง 1 สัปดาห์แรกนี้ขอให้ระงับไว้ก่อน

 

ศรชล. ร่วมสืบชะตาทะเลอ่าวไทยตอนบน ครั้งที่ 10 สร้างขวัญกำลังใจพี่น้องชาวประมง!!

นาวาเอก เอกภาพ สายโสภา รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (รอง ผอ.ศรชล.) จังหวัดสมุทรสาคร และกำลังพลศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วย รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด ประมงจังหวัด ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการ เข้าร่วมกิจกรรม "สืบชะตาทะเลอ่าวไทยตอนบน สมุทรสาคร ครั้งที่ 10" จัดโดยสมาคมการประมงสมุทรสาคร ณ อาคารเอนกประสงค์ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร 

โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจในการประกอบอาชีพประมงให้กับพี่น้องชาวประมงในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร และสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทะเลและทรัพยากรทางทะเลสมุทรสาคร ให้คงอยู่สืบไป ตลอดจนบำเพ็ญกุศลให้กับชาวประมงผู้วายชนม์ และสัตว์ทะเลน้อยใหญ่ที่เสียชีวิตเพื่อการบริโภค โดยมี นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร/ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล จังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานในพิธี

สมุทรสาคร - ศรชล. ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินการตามนโยบายการยกระดับการปฏิบัติงาน ในการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) และการปราบปรามการค้ามนุษย์ ในพื้นที่สมุทรสาคร

พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ และ รอง ผอ.ศรชล มอบหมายให้ พลเรือเอก เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามการดำเนินการตามนโยบาย การยกระดับการปฏิบัติงานของ ศรชล. ในการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) และการปราบปรามการค้ามนุษย์ ในจังหวัดสมุทรสาคร ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย กรรมการบริหารจากหน่วยงานหลักของ ศรชล. และหน่วยงานด้านความมั่นคงต่าง ๆ ได้แก่ กรมเจ้าท่า กรมประมง กรมศุลกากร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกองบังคับการตำรวจน้ำ รวมถึง นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ในฐานะผู้อำนวยการ ศรชล.จังหวัดสมุทรสาคร เข้าร่วมประชุมหารือ

พล.ร.ต.อิทธิพัทธ์ กวินเฟื่องฟูกุล โฆษก ศรชล. กล่าวว่า การติดตามการดำเนินการตามนโยบายฯ ในครั้งนี้มีเรื่องสำคัญที่ต้องติดตามประกอบด้วย การดำเนินการตามนโยบายการปฏิบัติงานของ ศรชล. ประจำปี งป.65 ที่สำคัญ คือการดำรงความต่อเนื่องในการกำกับดูแลหน่วยงานที่ดูแลรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และการแก้ไขการทำการประมงผิดกฎหมาย รวมถึงการปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อยกระดับการรายงานสถานการณ์ ด้านการค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในส่วนของประเทศไทย จากปีที่ผ่านมาให้ปรับระดับขึ้น จากระดับบัญชี 2 กลุ่มประเทศเฝ้าระวัง (TIER2 WATCH LIST) ต่อไป

โดยทางรัฐบาลได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการต่อต้านการค้ามนุษย์ ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติ นอกจากนี้จะมี ตัวแทนมูลนิธิความยุติธรรมสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation: EJF) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชน (NGO) โดยมีพันธกิจหลัก คือ การรักษาสิ่งแวดล้อมและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะประเด็นการละเมิดสิทธิแรงงาน การค้ามนุษย์ การทำลายสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรม ตลอดจนการต่อต้านการทำประมง IUU ร่วมสังเกตการณ์การติดตามการดำเนินการตามนโยบายฯ ของ ศรชล. ในครั้งนี้ด้วย

 

'จุรินทร์' เดินหน้าเปิดตัว 4 ปชป.สมุทรสาคร ชู!! 'ไม่เอาล้มเจ้า-ไม่เอายาเสพติด-เร่งฟื้นประมง'

'จุรินทร์' ควง 'สาธิต' เปิดตัว 4 ปชป.สมุทรสาคร ชาวบ้านเชียร์ลั่นเป็นนายก! ประกาศเดินหน้าฟื้นประมง ไม่เอาล้มเจ้า ไม่เอายาเสพติด

เมื่อ 22 ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วย นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรค ซึ่งดูแลภาคกลาง และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกันนำ 'จุรินทร์ ออนทัวร์' มาที่จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อเปิดตัวผู้สมัครทั้ง 4 เขต ประกอบด้วย เขต 1 นายชวพล วัฒนพรมงคล นักการเมืองรุ่นใหม่ เป็นรองนายกเทศมนตรีนครสมุทรสาคร เป็นรองประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร, เขต 2 นายภูดิส แก้วตระกูลโชติ วิศวกรหนุ่ม อดีตรองนายก อบต.ท่าทราย, เขต 3 นายธนวัฒน์ ทองโต (สจ.ช้าง) เป็นทนายความ และ เขต 4 นายนิติรัฐ สุนทรวร อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เขต 3

โดยนายจุรินทร์ กล่าวว่า ตนและพรรคประชาธิปัตย์ มีความรู้จักมักคุ้นกับคนในพื้นที่มาเป็นเวลานาน จึงได้เตรียมการเรื่องพื้นที่โดยเฉพาะการปรับตัวให้เข้ากับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะการเลือกตั้งเที่ยวหน้าจะไม่เหมือนครั้งที่แล้วที่เป็นการเลือกตั้งด้วยบัตรใบเดียว นำคะแนนพรรคกับคะแนนคนมามัดรวมกันเป็นข้าวต้มมัด แต่การเลือกตั้งเที่ยวหน้า จะแยกเป็นบัตร 2 ใบเพราะเป็นร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่แก้ไขเสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้การเลือกตั้งเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น ให้เสรีภาพกับประชาชนในการเลือกคนกับพรรคได้

นอกจากนี้พรรคประชาธิปัตย์ยังได้เตรียมนโยบายไว้ชัดเจนแล้ว โดยในภาพรวมเราจะมุ่งหน้าทำงานทั้งด้านการเมืองและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปด้วยกัน ไม่แยกเฉพาะการเมืองทิ้งเศรษฐกิจ หรือทำแต่เศรษฐกิจทิ้งการเมือง เพราะเศรษฐกิจกับการเมืองจะต้องเดินไปด้วยกัน เวลาแก้ปัญหาเศรษฐกิจก็ต้องแก้ปัญหาการเมืองไปด้วย เพราะฉะนั้นนโยบายทางการเมืองของประชาธิปัตย์ จึงมีจุดยืนชัดเจน คือยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นอกจากนั้นประชาธิปไตยที่ประชาธิปัตย์ต้องการเห็น ก็จะต้องเดินหน้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจ หรือเรียกง่ายๆ ว่า 'ประชาธิปไตยท้องอิ่ม' เพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถลืมตาอ้าปากทางเศรษฐกิจได้ภายใต้กลไกการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่วนล้มเจ้านั้น ประชาธิปัตย์ไม่เอา

นายจุรินทร์ยังกล่าวอีกด้วยว่า เศรษฐกิจสมุทรสาคร จะต้องเดินหน้าด้วยเศรษฐกิจ 3 ขา

ขาที่ 1 อุตสาหกรรม เพราะเป็นตัวจักรขับเคลื่อนที่สำคัญทางเศรษฐกิจของสมุทรสาคร

ขาที่ 2 เกษตรกรรม มีความสำคัญกับชาวสมุทรสาครโดยเฉพาะบ้านแพ้วซึ่งปลูก มะพร้าว ลำไย กล้วยไม้ มะนาว และมีพืชผลการเกษตรอื่นๆ ที่เราจะทิ้งฐานการเกษตรไม่ได้เพราะยังทำเงินให้เศรษฐกิจฐานรากของจังหวัด

ส่วนขาที่ 3 คือ การเดินหน้าด้วยการประมง ซึ่งภายใต้หลักคิดของประชาธิปัตย์คือการพื้นฟื้นประมงกลับคืนมาให้เจริญเติบโตก้าวหน้าไปด้วยกันได้ ทั้งประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ โดยรูปธรรมที่เกิดขึ้นในอนาคต คือ การแก้ไข พ.ร.ก.ประมง ที่บังคับใช้ในปัจจุบัน เนื่องจากมีความเคร่งครัดจนทำให้ธุรกิจประมงเดินหน้าต่อไปไม่ได้

"แม้เราจะยอมรับกติกา IUU แต่ต้องเป็นไปอย่างเหมาะสมกับประเทศไทย และไม่มีผลในการบั่นทอนกิจการการประมงของประเทศด้วย ซึ่งเรื่องนี้มีจุดสมดุลของมันอยู่ ดังนั้นในการเลือกตั้งเที่ยวหน้า จึงหวังว่าพี่น้องประชาชนจะสนับสนุนผู้สมัครของพรรคทุกคน และให้เราปักธงประชาธิปัตย์ในจังหวัดสมุทรสาครได้อีกครั้งหนึ่ง"

จากนั้นมีเสียงจากชาวบ้านที่เข้าร่วมการเปิดตัวผู้สมัคร ได้ตะโกนให้กำลังใจ นายจุรินทร์ หัวหน้าพรรค และผู้สมัครของพรรค ว่า “ประชาธิปัตย์จงเจริญ ขอให้ท่านได้เป็นนายก เพื่อมาฟื้นประมงสมุทรสาคร” ท่ามกลางเสียงปรบมืออย่างกึกก้อง

หลังจากนั้นหัวหน้าพรรค ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า จากการเลือกตั้งที่ผ่านมา เราก็ได้ ส.ส. มาอย่างต่อเนื่องหลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่ท่านณรงค์ สุนทรวร ท่านอเนก ทับสุวรรณ มาถึง น.ต.สุธรรม ระหงส์ มาจนถึง นิติรัฐ สุนทรวร เพียงแต่ครั้งที่แล้วเราเว้นไปครั้งเดียว แต่เที่ยวหน้าก็ไม่ได้แปลว่าเราจะไม่มีโอกาส และการเปิดตัวครบทั้ง 4 เขตในวันนี้ถือว่าประชาธิปัตย์เป็นพรรคแรกๆ ที่มีความพร้อมเปิดตัวครบ

“เราก็มั่นใจว่าเสียงตอบรับจากประชาชนมีแน่นอน และมั่นใจว่าเรามีโอกาสที่จะปักธงได้อีกครั้งที่จังหวัดสมุทรสาคร เพราะชาวบ้านกับเรามีความสัมพันธ์กันมานาน ท่านอเนก ทับสุวรรณก็ยังอยู่กับพรรค และสมาชิกของเราก็สนับสนุนอยู่ รวมทั้งคนรุ่นใหม่ๆ ที่เดินเข้ามาเป็นสมาชิกก็มีจำนวนมากที่เข้ามาช่วยกัน” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว

พร้อมกับตอบผู้สื่อข่าวถึงจุดขายใหม่ของพรรค ที่เน้นการแก้ไขเศรษฐกิจคู่กับการเมืองว่า เป็นจุดขายที่เราได้ประกาศมาก่อนหน้านี้แล้วว่า การแก้ปัญหาเศรษฐกิจกับการเมืองต้องแก้ควบคู่กันไป ต้องเป็นประชาธิปไตยท้องอิ่ม

“นี่เป็นสิ่งที่ผมมั่นใจว่าประชาชน และประเทศไทยยามนี้ต้องการ และต้องการเห็นความชัดเจนในรายละเอียดของนโยบายที่จะตามมาว่า ประชาธิปไตยท้องอิ่มประกอบด้วยอะไรบ้าง ที่จะทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น และทำให้คนไทยทั้งประเทศท้องอิ่มขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น นี่คือจุดยืนที่เราประกาศชัดเจน และจุดยืนประชาธิปัตย์ที่เราก็แสดงออกด้วยการพูดจามาก่อนหน้านี้ก็คือ เรายึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และที่สำคัญคือ ไม่เอาล้มเจ้า ไม่เอายาเสพติด ซึ่งเป็นจุดที่ผมคิดว่ามีความสำคัญ และสังคมก็ต้องการเห็นการเดินหน้าที่มีความชัดเจนในสิ่งเหล่านี้” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การประกาศจุดยืนลักษณะนี้จะเป็นการแบ่งข้างประชาชนหรือไม่ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า "ไม่ได้แบ่งข้างหรอก แต่เป็นการแสดงจุดยืนในทางการเมืองที่พรรคการเมืองต้องมีความชัดเจนในเรื่องจุดยืนทางการเมือง"

ดิ่งลงบ่อ เกิดอุบัติเหตุ!! เครื่องบินเล็กตก หลังนิคมฯ สินสาคร พบตาย 1 เจ็บ 1  จนท. เร่งตรวจสอบหาสาเหตุ

เครื่องบินเล็กตก หลังนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร จ.สมุทรสาคร มีผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บ

(8 มี.ค.66) ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการจังหวัดสมุทรสาคร รายงานอุบัติเหตุ เครื่องบินเล็กตก บริเวณวังกุ้ง ถนนโคกขาม-สันดาบ หลังนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร ต.โคกขาม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เบื้องต้น มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 ราย และเสียชีวิต 1 ราย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top