Thursday, 16 May 2024
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

‘ดร.อานนท์’ รวบรวมเสียงสะท้อน จากนักเรียนเตรียมพัฒน์ ถึงพฤติกรรมของ ‘หยก’

วันที่ 23 มิ.ย.2566 - ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นกรณีน้องหยก ธนลภย์ อายุ 15 ปีว่า ผมให้น้องศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการลงไปถามน้องนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 4 และชั้นอื่น ทั้งที่เรียนห้องเดียวกันกับหยกและต่างห้อง น้องๆ ได้แสดงความคิดเห็นมาดังนี้ ลองฟังเสียงจากน้องๆ เตรียมพัฒน์กันนะครับ ผมว่าน่าสนใจมากครับ
ความเห็นน้องๆในโรงเรียน

-เอือมระอากับพฤติกรรมของน้อง และกลุ่มที่อยู่หน้าโรงเรียน
-เพื่อนๆในห้องไม่คุยกับหยก
-บรรยากาศการเรียนการสอน อาจารย์จะตักเตือน ตำหนิ เพราะน้องทำผิดกฎโรงเรียน มันทำให้นักเรียนคนอื่นเสียเวลาเรียน
เพื่อนในห้องจะรู้สึกว่าทำไมต้องมาเสียเวลากับคนแบบนี้
-เพื่อนๆในห้องแยกโต๊ะหยกออกไปนั่งแยกคนเดียว
-มีคนเตือนหยกแต่หยกไม่ฟัง
-ทำให้เดือดร้อนกับคนที่เดินเข้ามาในโรงเรียน นักเรียนบางคนรู้สึกกลัว หวาดระแวงกับบุคคลที่อยู่หน้าโรงเรียน
-นักเรียนหลายคนรู้สึกไม่โอเคกับการที่มีนักข่าวมารอหน้าโรงเรียนเต็มไปหมด
-พ่อแม่หลายคนเป็นห่วงลูกระหว่างการเดินเข้า-ออกภายในโรงเรียน
-อยากให้โรงเรียนtake action
-รู้สึกไม่พอใจที่มาเหยียดหยามยาม ครู และบุคลากรในโรงเรียน
-เรามีสิทธิที่เราจะแสดงออก มีความคิดที่แปลกใหม่ในปัจจุบัน เรามีสิทธิที่จะผลักดันทุกเรื่องให้เกิดขึ้นได้แต่ ในการผลักดันนั้น มันจะต้องมองทุกๆคนในสังคมการที่คนรุ่นใหม่บางคนมองว่าคนรุ่นเก่ามีความคิดที่โบราณ แต่ผมคิดว่าสิ่งที่เขาลืมคิดไปคือแล้วคนโบราณเหล่านั้นไม่ใช่คนที่อยู่ในประเทศไทยหรอ? ไม่ใช่คนที่มีสิทธิเหมือนกับพวกคุณหรอ เด็กรุ่นใหม่บางคนยังไม่ตรรหนักพอที่จะปรับเปลี่ยนได้ คนรุ่นใหม่ยังคิดว่าตัวเองสำคัญที่สุด ถ้าเราจะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างนึงเราควรจะมองทุกคนในสังคมว่าเขาเห็นด้วยหรือไม่ เพราะเขาก็ยังมีชีวืตอยู่ มีสิทธิมีเสียงเหมือนกัน
-การยกเลิกเครื่องแต่งกาย ยกเลิกทรงผม ความคิดส่วนตัวผม ผมเห็นด้วยนะ แต่มันจะต้องมาในกระบวนการที่ถูกต้อง ถูกจุดของมัน นี่มันถึงจะทำให้สังคมเดินหน้าต่อไปได้ รู้สึกว่าน้องหยกทำแบบนี้มันกลายเป็นว่าจากเดิมมันเหมือนจะดี กลายเป็นส่งผลเสียให้กับโรงเรียน จนมันลามไปเรื่อยๆ ไม่สามารถหยุดคนพวกนี้ได้แล้ว ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะช่วยหยุดเหตุการณ์พวกนี้ได้อย่างไร ฝากความหวังไว้กับโรงเรียน
-ตัวแทนนักเรียนบอกจะมีกิจกรรมคอนเสิร์ตในโรงเรียน ตั้งใจประสานงานกับทางโรงเรียนและผู้จัด เพื่อให้กระทบตารางเรียนน้อยที่สุด เตรียมจัดคอนเสริ์ตมานาน แต่ไมได้จัดเพราะมีเหตุการณ์แบบนี้ กลัวว่าในอนาคตงานปัจฉิมนิเทศ หรืองานกิจกรรมต่างๆถ้าเกิดจะเชิญศิลปินมา หรือขอสปอนเซอร์จากบริษัทต่างๆ เขาจะมาร่วมกับเราไหม ในเมื่อโรงเรียนเกิดข่าวเสียหายแบบนี้ จากกลุ่มคนพวกนี้

ส่องคนดังเรียนโครงการ DAD รุ่นที่ 8 หลักสูตรสำหรับ 'ผู้บริหารยุคดิจิทัล' จาก NIDA

เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 66 ‘หนุ่มโตโน่’ ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ เข้ารับใบประกาศนียบัตรสำเร็จหลักสูตรของโครงการ Development Administrator in Digital Era (DAD) ของ NIDA (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์) รุ่นที่ 8 ซึ่งก่อนหน้านั้น ‘หนุ่มโตโน่’ ก็ได้โพสต์ไอจีส่งการบ้านของกลุ่ม DeFi ที่สนับสนุนแอปพลิเคชัน ‘YoldYeah’ แอปที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุจากทั่วโลก มาท่องเที่ยวในเมืองไทยได้ง่ายและสบายที่สุด

สำหรับหลักสูตร ของโครงการ Development Administrator in Digital Era (DAD) ของ NIDA เป็นหลักสูตรสำหรับ ‘ผู้บริหารรุ่นใหม่’ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่ต้องการเพิ่มพูนความรู้ มุมมองใหม่ ทักษะและความสามารถเชิงพฤติกรรมผ่านการถ่ายทอดจากกูรูชั้นนำระดับประเทศจากทุกวงการ เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารและพัฒนาองค์กรในยุค Digital Transformation อีกทั้งยังพัฒนาทักษะที่สำคัญในยุค Digital ผ่านการร่วมกิจกรรม Design Think Workshop ที่ช่วยให้เข้าใจถึงแนวทางพื้นฐานในการแก้ปัญหาในองค์กร และกิจกรรม Bootcamp ที่ผู้เข้าอบรมจะได้นำความรู้จากกลุ่มวิชาต่าง ๆ มาลงมือปฏิบัติงานจริง ตลอดจนกิจกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยสร้างเครือข่ายผู้เข้าอบรมต่อไปในอนาคต

และเรื่องที่น่าสนใจคือ ในบรรดาผู้เรียนหลักสูตร DAD รุ่นที่ 8 นี้ ก็มี ‘คนดัง’ จากวงการบันเทิง และ ‘นักการเมืองชื่อดัง’ ที่ผันตัวไปทำธุรกิจและเป็นผู้บริหาร ร่วมเข้าเรียนด้วย วันนี้ THE STATES TIMES จึงถือโอกาสรวบรวม โฉมหน้า ‘คนดัง’ ที่ได้เรียนรุ่นเดียวกับหนุ่มโตโน่ บอกเลยว่า ‘เด่นๆ ดังๆ’ กันทั้งนั้น เชื่อว่าลูกเพจ THE STATES TIMES ต้องรู้จักเป็นแน่!!

ขอเริ่มจากกลุ่มแรก ชื่อกลุ่ม XR มี 2 คนดังคือ ‘คุณกิ๊ฟท์ ธิติญา นพพงษากิจ’ ปัจจุบันเป็น CR&CC Manager บริษัทโตโยต้ากรุงเทพยนต์ ผู้จัดจำหน่ายโตโยต้าจำกัด ซึ่งในอดีตเป็นสมาชิกเกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังของไทยอย่างวง ที-สเกิ๊ต มีผลงานเพลงเด่น ๆ ก็คือ เพลงเจ็บแทนได้ไหม ไม่เท่าไหร่ เป็นต้น

คนต่อมาคือคุณปู หรือ ดร.ดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย กรรมการผู้จัดการบริษัท ดิ เอ็กซ์ โซลูชั่นส์ จำกัด เดิมทีรับตำแหน่งรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ สำหรับใครที่ตามข่าวการเมืองบ่อย ๆ ก็จะคุ้นหน้าตากันดี

กลุ่มที่ 2 ชื่อกลุ่ม QUANTUM ต้องขอบอกเลยว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีคนดังอยู่เยอะที่สุด คนแรกของกลุ่มคือ คุณญาดา เทพนม ปัจจุบันเป็น Account Executive Spark Communication Company Limited และเป็นผู้รับตำแหน่งมิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2013 ถือเป็นมิสแกรนด์ไทยแลนด์คนแรกของประเทศไทย

คนต่อมาคือ คุณนุ่น ดารัณ บุญยศักดิ์ เจ้าของกิจการบริษัท จอย ออฟ ไทยไลฟ์ จำกัด อดีตนักแสดงมากฝีมือและเป็นพี่สาวของเฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ มีผลงานเด่นดังหลายเรื่อง เช่น ละครเงาราหู (2538) ละครทรายสีเพลิง (2539) ละครคมพยาบาท (2557)

คนถัดมาคือ คุณวิน เมธวิน อังคทะวานิช ปัจจุบันเป็น CEO Rabbit Moon Corportion Limited หากใครเติบโตในยุค 90 ก็จะคุ้นหน้าและคุ้นเสียงกันดีเพราะเป็นเจ้าของเพลงดังอย่าง เพลงนางฟ้า

คนต่อมาคือ คุณเอ๋ หรือ ดร.อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ปัจจุบันเป็นนักการเมือง อดีตเคยเป็นเลขาธิการพรรคกล้า มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาในสังคมหลากหลายเรื่อง

คนสุดท้ายของกลุ่มนี้คือคุณบลู หรือ ผศ.ดร.ศักย์ ทับพลี (ชื่อเดิม เอราวัณ) วิทยากร / อาจารย์พิเศษ นอกจากนี้ยังเป็นเหรัญญิกและผู้อำนวยการพรรคกล้าอีกด้วย

กลุ่มที่ 3 ชื่อกลุ่ม ROBOTICS กลุ่มนี้มีคนดังคือคุณฟ้า อิงฟ้า เกตุคำ นักแสดงบริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด หรือช่อง 7 HD มีผลงานฝากแฟน ๆ ละครหลายเรื่อง เช่น สายโลหิต (2561) สารวัตรใหญ่ (2562) ลมพัดผ่านดาว (2566) และปีหน้า (2567) จะมีละครสองทระนง ออนแอร์ให้แฟน ๆ รับชมด้วย

ต่อมากลุ่มที่ 4 ชื่อกลุ่ม DEFI คนดังในกลุ่มนี้ก็คือ โตโน่ ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ นักร้องนักแสดง บริษัท เอ็กแซ็กท์ ซีเนรีโอ จำกัด จะคุ้นหน้าตาจากการประกวดร้องเพลงรายการเดอะสตาร์ 6 และกิจกรรมเพื่อสังคมอย่าง ‘One Man and The River’ ว่ายน้ำข้ามโขง หาเงินสมทบทุนสร้างโรงพยาบาลในไทยและ สปป.ลาว

และกลุ่มสุดท้าย กลุ่มที่ 5 ชื่อกลุ่ม AGI กลุ่มนี้ก็มีคนดังเช่นกัน ได้แก่ คุณณัช ณัชชาวีล์ วาณิชย์สุรางค์ พิธีกรและผู้ดำเนินรายการ Thailand News Network หรือที่รู้จักในนาม TNN ช่อง 16 นั่นเอง

เป็นอย่างไรกันบ้าง ‘คนดัง’ เพื่อนร่วมรุ่นของหนุ่มโตโน่แต่ละคนดีกรีไม่ธรรมดากันเลย นอกจากสวย หล่อ มีความรู้ความสามารถแล้ว ยังเป็นตัวอย่างของคนใฝ่เรียนรู้และพัฒนาตัวเองอีกด้วย

สำหรับใครอยากรับชมผลงานของทั้ง 5 กลุ่มจากโครงการ Development Administrator in Digital Era (DAD) ของ NIDA (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์) รุ่นที่ 8 ก็สามารถรับชมได้ตามลิงก์นี้เลย

📌 กลุ่ม DEFI (ได้คะแนนมากเป็นอันดับ 1 ของรุ่นที่ 8👏)
ท่องเที่ยวไทยสุดเจ๋ง! โตโน่ดันแอป ‘YoldYeah’
https://youtu.be/TV5mHgmUBsI?feature=shared

📌 กลุ่ม AGI 
‘Kiddee’ แอปช่วยให้เด็กรู้เวลา มีสมาธิ มีวินัย มีมารยาท รู้ว่าเวลาไหนควรเรียน เวลาไหนควรเล่น
https://youtu.be/CAqO7Xmq90s?feature=shared

📌 กลุ่ม QUANTUM
แปลงน้ำมันที่เหลือจากการประกอบอาหารเป็นเงินได้แถมยังมีคนไปรับถึงบ้านกับแอป ‘GetOil’
https://youtu.be/buMYwdztsX4?feature=shared

📌 กลุ่ม ROBOTICS
แค่กล้า = เปลี่ยน บอกลาความกลัว แล้วกล้าไปกับเรา ‘สูงวัย..อะกล้า’
https://youtu.be/mlj6Giw9gnQ?feature=shared

📌 กลุ่ม XR
‘Finfriend’ AI อัจฉริยะที่จะช่วยตอบทุกปัญหาทางการเงินที่คุณสงสัย
https://youtu.be/HhbPfVExong?feature=shared

ส่วนแฟนเพจคนไหนสนใจเรียนหลักสูตรโครงการ Development Administrator in Digital Era (DAD) ของ NIDA (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์) รุ่นที่ 9 ทางโครงการก็เตรียมเปิดรับสมัครในปีหน้า (2567) หากไม่อยากพลาดก็สามารถเข้าไปดูได้ที่ https://nida.ac.th/course/development-administrator-digital-era/ หรือติดตามแฟนเพจ https://www.facebook.com/dadgspanida ได้เลย 

'นิด้าโพล' เผยผลสำรวจ ส่วนใหญ่ชี้ 'คนไทยไม่ค่อยมีวินัยจราจร' แนะ!! ควรมีระบบ 'แจ้งเบาะแสคนทำผิด-ได้ส่วนแบ่งค่าปรับ'

(18 ธ.ค.66) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้าโพล) เผยแพร่ผลการสำรวจเรื่อง ‘ผิดวินัยจราจร จัดการอย่างไรดี’ สอบถามความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปจำนวน 1,310 คน กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ระหว่างวันที่ 27 พ.ย. - 2 ธ.ค. 2566  พบว่า 1.กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 48.17 มองว่า คนไทยไม่ค่อยมีวินัยจราจร รองลงมา ร้อยละ 33.21 มองว่าคนไทยค่อนข้างมีวินัยจราจร ขณะที่ร้อยละ 14.73 มองว่าคนไทยไม่มีวินัยจราจรเลย มีเพียงร้อยละ 3.89 เท่านั้นที่มองว่าคนไทยมีวินัยจราจรที่ดีมาก

2.สำหรับ 5 อันดับ วินัยจราจรที่ต้องการให้ตำรวจเข้มงวดกวดขันมากที่สุด อันดับ 1 ขับรถขณะเมาสุรา ร้อยละ 67.10 อันดับ 2 ขับรถย้อนศร ร้อยละ 58.17 อันดับ 3 ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร ร้อยละ 45.57 อันดับ 4 ไม่สวมหมวกกันน็อคขณะขับขี่หรือซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซค์ ร้อยละ 35.19 อันดับ 5 ขับรถโดยใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ร้อยละ 33.05 

3.กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 42.74 เห็นว่า วิธีการบังคับใช้กฎหมายจราจรของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้การทำความผิดน้อยลงหรือหมดไป ควรลงโทษตามความผิดที่ได้กระทำ โดยเริ่มจากเบาไปหาหนัก  (เช่น ครั้งที่ 1 ตักเตือน ครั้งที่ 2 ปรับ 1,000 บาท และตัดแต้ม ครั้งที่ 3 ปรับ 2,000 บาท และตัดแต้ม ไปจนถึงขั้นสูงสุดพักใช้ใบอนุญาตขับขี่) รองลงมา ร้อยละ 19.92 ตักเตือนสำหรับผู้ทำความผิดครั้งแรก หากทำผิดซ้ำภายใน 1 ปี ให้ลงโทษตามกฎหมาย โดยอัตราโทษให้เป็นไปตามดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ผู้จับกุม 

อันดับ 3 ร้อยละ 49.47 ตักเตือนสำหรับผู้ทำความผิดครั้งแรก หากทำผิดซ้ำภายใน 1 ปี ให้ลงโทษตามกฎหมาย โดยมีการกำหนดอัตราโทษตายตัวสำหรับข้อหานั้น ๆ อันดับ 4 ร้อยละ 10 จับกุมหรือออกใบสั่งทุกกรณี โดยมีการกำหนดอัตราโทษตายตัวสำหรับข้อหานั้น ๆ และอันดับ 5 ร้อยละ 6.95 จับกุมหรือออกใบสั่งทุกกรณี โดยอัตราโทษให้เป็นไปตามดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ผู้จับกุม 

4.กลุ่มตัวอย่างสนับสนุนแนวคิดให้ประชาชนส่งหลักฐานแจ้งเบาะแสผู้ทำผิดกฎจราจร รวมถึงได้รับเงินส่วนแบ่งค่าปรับจากการดำเนินคดีด้วย โดยมีกลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 79.31 หรือกว่า 3 ใน 4 สนับสนุนแนวคิดการให้ประชาชนแจ้งเบาะแส แบ่งเป็นเห็นด้วยมาก ร้อยละ 47.40 และค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 31.91 ขณะที่มีถึงร้อยละ 65.92 หรือเกือบ 2 ใน 3 สนับสนุนการที่ประชาชนผู้แจ้งเบาะแสจะได้ส่วนแบ่งค่าปรับ โดยแบ่งเป็นเห็นด้วยมาก ร้อยละ 34.35 และค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 31.57

5.ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนจนทำให้การจราจรติดขัด กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.58 เสนอแนะว่า รถที่มีการติดกล้องบันทึกเหตุการณ์ ให้สามารถเคลื่อนย้ายรถได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องรอเจ้าหน้าที่ รองลงมา ร้อยละ 35.04 ระบุว่า ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางไปถึงในจุดที่มีอุบัติเหตุให้เร็วที่สุด และร้อยละ 18.7 ให้ตัวแทนประกันภัยเดินทางมาถึงจุดเกิดเหตุโดยเร็วที่สุด

‘นิด้าโพล’ ชี้ ปชช. ยังหนุนก้าวไกล ยก ‘พิธา’ เหมาะนั่งนายกฯ เพราะ กล้าหาญ-ตรงไปตรงมา-บุคลิกเป็นผู้นำ รวมทั้ง เป็นคนรุ่นใหม่

(24 มี.ค.67) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น ‘นิด้าโพล’ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง ‘การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ 1/2567’ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 11-13 มีนาคม 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,000 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับคะแนนนิยมทางการเมือง การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ ‘นิด้าโพล’ สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 42.75 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) เพราะ มีความกล้าหาญ ตรงไปตรงมา บุคลิกเป็นผู้นำ และเป็นคนรุ่นใหม่ อันดับ 2 ร้อยละ 20.05 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 3 ร้อยละ 17.75 ระบุว่าเป็น นายเศรษฐา ทวีสิน (พรรคเพื่อไทย) เพราะ เป็นคนเก่ง มีความรู้ความสามารถ และมีประสบการณ์ด้านเศรษฐกิจ อันดับ 4 ร้อยละ 6.00 ระบุว่าเป็น นางสาวแพทองธาร (อุ๊งอิ๊งค์) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) เพราะ เป็นคนรุ่นใหม่ มีทัศนคติที่ดี และมีความเป็นผู้นำ อันดับ 5 ร้อยละ 3.55 ระบุว่าเป็น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (พรรครวมไทยสร้างชาติ) เพราะ มีวิสัยทัศน์ดี ซื่อสัตย์ มีความรู้ความสามารถ และมีประสบการณ์ในการทำงาน อันดับ 6 ร้อยละ 2.90 ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย) เพราะ เป็นบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือ ทำงานด้วยความโปร่งใส และมีประสบการณ์ในการทำงาน อันดับ 7 ร้อยละ 1.45 ระบุว่าเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย) เพราะ มีความมุ่งมั่นในการทำงาน ซื่อสัตย์ และมีความเด็ดขาดในการตัดสินใจ อันดับ 8 ร้อยละ 1.05 ระบุว่าเป็น พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ (พรรคพลังประชารัฐ) เพราะ มีประสบการณ์ในการทำงาน และมีผลงานทางการเมือง ร้อยละ 2.45 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ นายชัยธวัช ตุลาธน (พรรคก้าวไกล) นายวราวุธ ศิลปอาชา (พรรคชาติไทยพัฒนา) นายชวน หลีกภัย (พรรคประชาธิปัตย์) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน (พรรคประชาธิปัตย์) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา (พรรคประชาชาติ) นายกรณ์ จาติกวณิช นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย) และ พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง (พรรคประชาชาติ) และร้อยละ 2.05 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 48.45 ระบุว่าเป็น พรรคก้าวไกล อันดับ 2 ร้อยละ 22.10 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย อันดับ 3 ร้อยละ 12.75 ระบุว่า ยังหาพรรคการเมืองที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 4 ร้อยละ 5.10 ระบุว่าเป็น พรรครวมไทยสร้างชาติ อันดับ 5 ร้อยละ 3.50 ระบุว่าเป็น พรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 6 ร้อยละ 2.30 ระบุว่าเป็น พรรคพลังประชารัฐ อันดับ 7 ร้อยละ 1.70 ระบุว่าเป็น พรรคภูมิใจไทย อันดับ 8 ร้อยละ 1.30 ระบุว่าเป็น พรรคไทยสร้างไทย และร้อยละ 1.40 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อไทยรวมพลัง และพรรคท้องถิ่นไทย และไม่ตอบ/ไม่สนใจ ในสัดส่วนที่เท่ากัน

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 8.60 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 18.55 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 17.95 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.45 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 13.75 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ และร้อยละ 7.70 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออก ตัวอย่าง ร้อยละ 48.10 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.90 เป็นเพศหญิง

ตัวอย่าง ร้อยละ 12.90 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 17.80 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 18.95 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 26.65 อายุ 46-59 ปี และร้อยละ 23.70 อายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่าง ร้อยละ 95.50 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.55 นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ 0.95 นับถือศาสนาคริสต์และศาสนาอื่น ๆ

ตัวอย่าง ร้อยละ 37.35 สถานภาพโสด ร้อยละ 60.35 สมรส และร้อยละ 2.30 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่าง ร้อยละ 26.65 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 36.50 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.00 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่าร้อยละ 25.20 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 3.65 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

ตัวอย่าง ร้อยละ 8.30 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 15.20 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 21.60 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 12.95 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 16.60 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 19.80 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน และร้อยละ 5.55 เป็นนักเรียน/นักศึกษาตัวอย่าง ร้อยละ 23.45 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 20.75 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 26.75 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 8.80 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 4.45 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 4.35 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 11.45 ไม่ระบุรายได้

‘นิด้าโพล’ เปิดมุมมอง สะท้อนความคิดเห็น ‘ขรก.-จนท.รัฐ’ เบื่อขั้นตอนมากมาย-เบื่อเจ้านาย แต่ ‘ไม่อยากย้าย-ไม่อยากออก’

(31 มี.ค.67) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ เบื่ออะไร?” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 14-18 มีนาคม 2567 จากข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานรัฐวิสาหกิจทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความรู้สึกเบื่อของข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐต่อระบบราชการไทย เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานรัฐวิสาหกิจเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้รู้สึกเบื่อในระบบ หรืองานราชการ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 39.47 ระบุว่า ขั้นตอนการปฏิบัติราชการที่มากมายและยุ่งยากซับซ้อน , รองลงมา ร้อยละ 31.53 ระบุว่า ระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการ , ร้อยละ 28.24 ระบุว่า เงินเดือนน้อย , ร้อยละ 22.44 ระบุว่า ตัวชี้วัดทั้งหลาย , ร้อยละ 20.38 ระบุว่า โครงสร้าง การปกครองหรือสั่งการตามลำดับชั้น

ร้อยละ 18.93 ระบุว่า การประสานงานที่ไม่เป็นระบบ , ร้อยละ 17.02 ระบุว่า การแข่งขันกันเพื่อแย่งชิง ความดีความชอบและตำแหน่งที่สำคัญ , ร้อยละ 16.49 ระบุว่า การคอร์รัปชันในระบบราชการ , ร้อยละ 16.18 ระบุว่า เจ้านาย , ร้อยละ 15.73 ระบุว่า ไม่เบื่ออะไรเลย , ร้อยละ 14.05 ระบุว่า เพื่อนร่วมงาน , ร้อยละ 11.07 ระบุว่า การทำงานแบบผักชีโรยหน้า , ร้อยละ 10.23 ระบุว่า การแทรกแซง ของนักการเมือง ผู้มีอิทธิพล , ร้อยละ 8.47 ระบุว่า ลูกน้อง , ร้อยละ 7.25 ระบุว่า งานที่มีความเสี่ยงจะผิดกฎระเบียบ และร้อยละ 6.41 ระบุว่า ประชาชนที่ไม่เข้าใจในระบบงาน กฎระเบียบของราชการ

ด้านความศรัทธาต่อระบบราชการไทย พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 49.47 ระบุว่า ค่อนข้างศรัทธา , รองลงมา ร้อยละ 22.52 ระบุว่า ศรัทธามาก , ร้อยละ 21.53 ระบุว่า ไม่ค่อยศรัทธา , ร้อยละ 6.34 ระบุว่า ไม่ศรัทธาเลย และร้อยละ 0.14 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการลาออก หรือการย้ายไปอยู่หน่วยงานอื่นของรัฐ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 63.04 ระบุว่า ไม่อยากลาออกและไม่อยากย้ายหน่วยงาน , รองลงมา ร้อยละ 14.89 ระบุว่า อยากลาออกจากหน่วยงานของรัฐ , ร้อยละ 13.44 ระบุว่า อยากย้ายไปอยู่หน่วยงานอื่นของรัฐ , ร้อยละ 8.32 ระบุว่า ลาออกหรือย้ายหน่วยงานก็ได้ และร้อยละ 0.31 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

‘นิด้าโพล’ เผย ปชช. ไม่เชื่อ ‘พ.ร.บ.กลาโหมฯ’ จะป้องกันรัฐประหารได้ มองเหตุการณ์ยึดอำนาจปี 57 ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ของประเทศไทย 

(28 เม.ย. 67) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เรื่อง หยุดรัฐประหาร! ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 22-23 เมษายน 2567 โดยเมื่อถามถึงความเชื่อของประชาชนเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบกระทรวงกลาโหมจะช่วยป้องกันการรัฐประหาร พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 51.83 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย รองลงมา ร้อยละ 25.73 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ ร้อยละ 12.52 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ ร้อยละ 6.72 ระบุว่า เชื่อมาก และร้อยละ 3.20 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

และเมื่อถามถึงความเชื่อของประชาชนเกี่ยวกับการทำรัฐประหารในปี 2557 จะเป็นครั้งสุดท้ายของประเทศไทย พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 61.83 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย รองลงมา ร้อยละ 20.38 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ ร้อยละ 8.24 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ ร้อยละ 6.11 ระบุว่า เชื่อมาก และร้อยละ 3.44 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

'ดร.อานนท์' สรุป!! วิวาทะประชาธิปไตย 'ส.ศิวรักษ์-ศ.ดร.ไชยันต์' เปี่ยมด้วยตรรกะ ภายใต้ท่าทีอ่อนน้อม ไร้ซึ่งการแถ-ตีแสกหน้า

(5 พ.ค.67) ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ วิจารณ์ แอนิเมชั่น 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ แบบไม่มีเชิงอรรถอ้างอิง ส่วนใหญ่เป็นความเห็นส่วนตัวของอาจารย์สุลักษณ์เอง พอ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร ไปยืนยันด้วยเอกสารหลักฐานอ้างอิงจำนวนมากอย่างแน่นหนัก 

ข้อดีของอาจารย์สุลักษณ์คือ ไม่แถต่อ ยอมรับว่าไม่เคยอ่านหลักฐานหรือไม่มีเอกสารอ้างอิงใดๆ เป็นความเห็นส่วนตัวล้วนๆ เป็นจำนวนมาก 

หรือหากเถียงด้วยตรรกะไม่ได้ อาจารย์สุลักษณ์ก็ไม่ได้พยายามแถต่อไป

ข้อดีของอาจารย์ไชยันต์ คือ การถกเถียงโต้แย้งด้วยท่าทีอันอ่อนน้อมแต่หนักแน่นด้วยหลักฐาน อาจารย์ไชยันต์ไม่ได้เถียงอย่างก้าวร้าว ไม่เหยียบซ้ำอาจารย์สุลักษณ์ ไม่ไล่ต้อนอาจารย์สุลักษณ์ อาจารย์ไชยันต์ ไม่ได้เหยียบ อาจารย์สุลักษณ์จนราบเป็นหน้ากลอง ทั้งๆ ที่อาจจะทำได้ แต่อาจารย์ไชยันต์ก็ไม่ได้ทำ 

เช่นนี้ผู้ชมอาจจะไม่สะใจ แต่สำหรับผู้ชมที่มีการศึกษาและมีใจเป็นกลางน่าจะชอบครับ 

ผมดูแล้วสนุกมากครับ บันเทิงและประเทืองปัญญาโดยแท้ ดูจากลิงค์ในคอมเมนต์แรกครับ

ในฐานะที่อานนท์เคยเป็นแฟนคลับอาจารย์สุลักษณ์มาก่อน ผมชอบวิธีของอาจารย์ไชยันต์มากนะครับ แต่ผมไม่แน่ใจว่าถ้าเป็นผมไปพบอาจารย์สุลักษณ์เองผมจะมีท่าทีหรือวิธีการที่อ่อนน้อมถ่อมตนเท่าอาจารย์ไชยันต์หรือไม่ เพราะผมเป็นคนพูดตรงๆ แบบเรียบๆ แต่ตีแสกหน้าเสมอ หรือไม่ก็จะถามกลับด้วยคำถามที่ใครเจอเข้าไปก็หงายหลัง ผมเลยคิดว่าอาจารย์ไชยันต์ทำได้ดีมากครับ ขอชมเชยจากใจว่าหนักแน่นในเนื้อหา อ่อนน้อมในท่าที

ชมคลิป >> https://youtu.be/mOiOMpW3Ny0?si=RSIX4E82ATX-Guc8

‘นิด้าโพล’ ชี้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ไม่คุ้มค่าครองชีพ ที่ปรับสูงตาม ปชช. ส่วนใหญ่ ‘ไม่เชื่อมั่น’ รัฐบาลจะปรับขึ้นได้ทัน 1 ต.ค.นี้

(12 พ.ค.67) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น ‘นิด้าโพล’ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง ‘ค่าแรงขึ้น…คุ้มมั๊ย กับ ค่าแกง?’ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 3-7 พฤษภาคม 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการทยอยปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาล พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 44.50 ระบุว่า เห็นด้วยกับการทยอยปรับขึ้นทั่วประเทศ เริ่มวันที่ 1 ตุลาคม 2567 นี้ รองลงมา ร้อยละ 25.34 ระบุว่า ควรปรับขึ้นเท่ากันทั่วประเทศทันที ไม่ต้องรอวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ร้อยละ 16.41 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท ทั่วประเทศในปีนี้ ร้อยละ 13.05 ระบุว่า ควรปรับขึ้นทั่วประเทศโดยไม่มีการทยอยปรับ เริ่มวันที่ 1 ตุลาคม 2567 นี้ และร้อยละ 0.70 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ด้านความเชื่อมั่นของประชาชนว่าคณะกรรมการค่าจ้างจะเห็นด้วยกับข้อเสนอของรัฐบาล พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 40.23 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่น รองลงมา ร้อยละ 24.12 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่นเลย ร้อยละ 20.84 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อมั่น ร้อยละ 10.23 ระบุว่า เชื่อมั่นมาก และร้อยละ 4.58 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

สำหรับความเชื่อมั่นของประชาชนว่ารัฐบาลจะเริ่มทยอยปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 39.01 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่น รองลงมา ร้อยละ 25.95 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่นเลย ร้อยละ 23.36 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อมั่น ร้อยละ 9.92 ระบุว่า เชื่อมั่นมาก และร้อยละ 1.76 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

และเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะคุ้มกับค่าอาหารและค่าครองชีพในปัจจุบัน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 60.84 ระบุว่า เชื่อว่าค่าแรงที่ปรับขึ้น จะไม่คุ้มกับค่าอาหาร ค่าครองชีพที่อาจจะสูงขึ้น รองลงมา ร้อยละ 23.97 ระบุว่า เชื่อว่าค่าแรงที่ปรับขึ้น จะคุ้มกับค่าอาหาร ค่าครองชีพที่อาจจะสูงขึ้น ร้อยละ 9.46 ระบุว่า เชื่อว่าค่าแรงที่ปรับขึ้น ไม่ใช่เหตุผลหลักที่ทำให้ค่าอาหาร ค่าครองชีพสูงขึ้น ร้อยละ 4.89 ระบุว่า เชื่อว่าค่าแรงที่ปรับขึ้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับค่าอาหาร ค่าครองชีพที่สูงขึ้น และร้อยละ 0.84 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top