Wednesday, 1 May 2024
ว่างงาน

กาฬสินธุ์ - แล้ง - ว่างงาน!! กาฬสินธุ์เดินหน้า จัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเติมความรู้ชาวบ้าน ก่อนเพาะปลูกฤดูกาลผลิตใหม่

จังหวัดกาฬสินธุ์ เดินหน้าจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) ประจำปี 2565 เต็มพื้นที่ 18 อำเภอ เพื่อเติมความรู้เกษตรกรในช่วงหลังเก็บเกี่ยวหน้าแล้งและว่างงาน ให้มีความรู้ทุกด้าน เพื่อบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และลดทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตำบลเขาพระนอน (ไร่ภูทองใบ) ของนางจิตตานันท์ ภูทองใบ บ้านโคกแง้ หมู่ที่ 5 ต.เขาพระนอน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์

นายดนุพงษ์ ภูตรี นายกเทศมนตรีตำบลเขาพระนอน เป็นประธานเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) ระดับอำเภอ ประจำปี 2565 โดยมีนางสาวอรนุช เกษสัญชัย หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานเกษตร จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตร อ.ยางตลาด ส่วนราชการในพื้นที่ ผู้บริหารท้องถิ่น เกษตรกรตำบลเขาพระนอน เข้าร่วมกิจกรรม ภายใต้มาตรการป้องกันโคตรวิด-19

ทั้งนี้ งานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) ดังกล่าว หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อสนับสนุนเกษตรกร ในสถานีเรียนรู้หลักและสถานีเรียนรู้ย่อย ภายใต้ 6 กิจกรรม ได้แก่ สถานีที่ 1 บัญชีครัวเรือน สถานีที่ 2 การรวมกลุ่ม สถานีที่ 3 ระบบการให้น้ำพืชการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า สถานีที่ 4 การขยายพันธุ์พืช สถานีที่ 5 เศรษฐกิจพอเพียง การใช้และการผลิตสารชีวภัณฑ์ และสถานีที่ 6 ปรับปรุงบำรุงดิน อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นวัตกรรมลดการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่การเกษตร

นางสาวอรนุช เกษสัญชัย หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานเกษตร จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า การจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) มีความสำคัญอย่างยิ่งกับพี่น้องเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะได้มีการบอกกล่าวให้พี่น้องเกษตรกร ทั้ง 18 อำเภอ ได้ทราบถึงวิธีการปฏิบัติก่อนจะมีการเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ ทำให้เกษตรกรนำองค์ความรู้ที่เหมาะสมกับพื้นที่ ไปประยุกต์ใช้ในไร่นาและสวนของตนเองได้ เช่น การบริหารจัดการเรื่องน้ำ การรวมกลุ่มแปลงใหญ่ การทำบัญชีในครัวเรือน จะทำให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้เป็นอย่างดี และสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้จากศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และศูนย์เครือข่ายที่ประสบความสำเร็จ ไปใช้ในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความเข้มแข็ง และพึ่งพาตนเองได้

ด้านนายกฤษ กองอุดม ตัวแทนไร่ภูทองใบ กล่าวว่า ไร่ภูทองใบ เมื่อ 20 ปีก่อนเป็นป่าที่เสื่อมโทรมใช้ประโยชน์ไม่ได้ ตนและครอบครัวจึงได้น้อมนำหลักการพัฒนาตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วยการปลูกพืช 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ดำเนินการตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงทำให้ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งในปัจจุบัน สามารถเป็นสถานที่เรียนรู้ของเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงได้ เช่น เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ปลูกพืชเศรษฐกิจหลักอย่างมะม่วง ที่สามารถสร้างอาชีพ และสร้างงาน และเป็นแหล่งรองรับแรงงานหลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อีกด้วย

 

‘บิ๊กตู่’ ปลื้ม คนว่างงานลดลง 9.5 หมื่นราย สะท้อน!! ศก.กำลังฟื้น ส่งผลการจ้างงานเพิ่มขึ้น 

(29 ม.ค.66) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้ความสำคัญกับการติดตามการมีงานทำของประชาชน เพื่อให้มั่นใจว่าสถานการณ์ได้กลับเข้าใกล้ภาวะปกติหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยข้อมูลล่าสุด ณ เดือน พ.ย. 65 สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ได้รายงานให้เห็นภาวะมีงานทำและการว่างที่ดีขึ้นต่อเนื่องต่อเนื่อง

“นายกรัฐมนตรีพอใจกับสถานการณ์การมีงานทำของประชาชนในภาพรวม ที่ข้อมูลล่าสุด ณ เดือนพ.ย. 65 พบว่าประชาชนมีงานทำ 39.82 ล้านคน การว่างงานที่ร้อยละ 1.2 ถือว่าใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 ในปี 2562 ที่ร้อยละ 0.9 และมั่นใจว่าเศรษฐกิจที่กำลังดีขึ้นโดยเฉพาะจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจะส่งผลบวกต่อการมีงานทำของไทยมากขึ้นอีก โดยนายกรัฐมนตรีขอให้หน่วยงานเกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการผลักดันการยกระดับขีดความสามารถของคนไทยเพื่อนำไปสู่การได้ค่าจ้างและรายได้ที่สูงขึ้นตามความสามารถ” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

‘ปูติน’ เผย ตลาดแรงงานในรัสเซียยังคึกคัก หลัง ‘อัตราว่างงาน’ ลดต่ำเป็นประวัติการณ์

(15 มี.ค. 66) เมื่อวันอังคารที่ 14 มี.ค. 66 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เปิดเผยว่า อัตราการว่างงานของประเทศ ลดแตะระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ร้อยละ 3.6 จากข้อมูลตลาดแรงงานล่าสุด

ปูติน ซึ่งเดินทางไปปฏิบัติงานที่สาธารณรัฐบูร์ยาเตีย ระบุว่า อัตราการว่างงานของรัสเซียต่ำเป็นประวัติการณ์ แม้เทียบกับช่วงก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.7

คนหนุ่มสาวไร้ความหวัง ‘การว่างงาน’ มหาวิกฤตทางเศรษฐกิจในทวีปแอฟริกา สู่ความหวั่นวิตกเกิดเหตุจลาจลคล้าย ‘Arab Spring’

ปัญหาการว่างงานเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่สำหรับบ้านเราแล้วอัตราว่างงานเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 ต่ำกว่าร้อยละ 1 กว่าสิบปีแล้วที่หน่วยงานด้านแรงงานของไทยสามารถทำงานอย่างได้ผล อัตราว่างงานแกว่งตัวระหว่างต่ำกว่าหนึ่งและหนึ่งกว่า ๆ มาอย่างต่อเนื่อง และปัญหาการว่างงานที่หนักหนาสาหัสบนโลกนี้ ขณะนี้เกิดขึ้นในทวีปแอฟริกา

บัณฑิตจบใหม่ในแอฟริกาใส่ครุยประท้วงเพื่อเรียกร้องให้ได้งานทำ

คนหนุ่มสาวราวครึ่งหนึ่งในแอฟริกาใต้ว่างงาน ขณะที่ในยูกันดา บัณฑิตกว่า 1.2 ล้านคนไม่มีงานทำ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานกล่าวว่า การริเริ่มในการทำธุรกิจเป็นของตัวเองมากขึ้นช่วยบรรเทาปัญหาการว่างงานในทวีปแอฟริกาได้ 

ผู้คนต้องถือป้ายบอกความถนัดของแต่ละคนให้ผู้สัญจรไปมาได้เห็น

‘Steven Moyo’ ตื่นนอนทุกวันเวลาตี 5 เพื่อหางานทำตามท้องถนนในนครโจฮันเนสเบิร์ก เมืองสำคัญทางเศรษฐกิจของแอฟริกาใต้ Moyo เป็นช่างไฟฟ้า ในวันที่อากาศดี เขามีรายได้สูงสุด 30 ยูโร (ประมาณ 31.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ) แต่นับวันจะมีน้อยลง

บัณฑิตจบใหม่ในแอฟริกาประท้วงเพื่อเรียกร้องให้ได้งานทำ 
กลายเป็นเรื่องปกติที่ผู้คนพบเห็นจนคุ้นชินแล้ว

แอฟริกาใต้อยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่รุนแรง หลังจากการระบาดของโควิด-19 “สถานการณ์แย่ลง ไม่มีใครจ้างเรา” Moyo บอก และไม่รู้จะหาเงินค่าอาหารและค่าเช่าห้องได้จากไหน เรื่องราวอย่างที่เกิดขึ้นกับ Moyo ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยในประเทศแอฟริกาใต้ ในแอฟริกาใต้มีผู้สำเร็จการศึกษามากกว่าตำแหน่งงาน 

ในเมืองเคปทาวน์ ‘Namhla Mcimbi’ บอกว่า เธอต้องละทิ้งการศึกษาด้านจิตวิทยา เพราะเธอไม่สามารถจ่ายค่าเล่าเรียนได้ เช่นเดียวกับเพื่อนนักเรียนหลายคนของเธอ ตอนนี้ Mcimbi ตกอยู่ในภาวะว่างงาน “ผู้คนให้ญาติพี่น้องของพวกเขาทำงานในบริษัทที่พวกเขาทำงานอยู่ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากสำหรับบุคคลภายนอกที่จะได้งาน” เธอกล่าว

นามิเบียก็เช่นกัน บัณฑิตจบใหม่สวมครุยออกมาประท้วงเพื่อเรียกร้องให้ได้งานทำ

อัตราการว่างงานสุดเลวร้ายก็เกิดขึ้นในนามิเบียและไนจีเรียเช่นกัน สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในแอฟริกาใต้ย่ำแย่ โดยประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 34 ปีตกงาน ตัวเลขอย่างเป็นทางการแสดงให้เห็นว่าอัตราการว่างงานฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย แต่อยู่ที่ 32.7% ในไตรมาสที่สี่ของปี 2565 ซึ่งยังคงเป็นอัตราที่สูงที่สุดในแอฟริกาและทั่วโลก

‘สภาพัฒน์ฯ’ เผย ตลาดแรงงานของไทยกำลังเผชิญวิกฤต ส่งสัญญาณเตือน!! เด็กจบ ป.ตรี ‘ว่างงานพุ่ง-ได้เงินเดือนต่ำ’

‘สภาพัฒน์ฯ’ เปิดข้อมูลปัญหาของตลาดแรงงานของไทย แจ้งสัญญาณเตือน เด็กจบปริญญาตรี ว่างงานเพียบ ได้เงินเดือนต่ำ และแถมต้องทำงานต่ำกว่าระดับมากขึ้น

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานข้อมูลปัญหาของตลาดแรงงานของไทย และ การว่างงาน พบว่า แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง และตลาดแรงงานของไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังพบปัญหาคุณภาพของแรงงานและความไม่สอดคล้องของตลาดแรงงาน (Labor mismatching) ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดในการยกระดับการผลิตของไทยในอนาคต

ข้อมูลความต้องการแรงงานล่าสุด
จากข้อมูลการสำรวจความต้องการแรงงานจากโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในช่วงปี 2561 - 2565 พบว่าความต้องการแรงงานรวมเพิ่มขึ้นจาก 95,566 คนในปี 2561 เป็น 168,992 คนในปี 2565 แต่เมื่อพิจารณาสัดส่วนความต้องการแรงงานที่มีการศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไปนั้น ลดลงจาก 30.1% ของความต้องการแรงงานรวม ในปี 2561 เหลือเพียง 17.2% ในปี 2565 เท่านั้น

ส่วนสัดส่วนความต้องการแรงงานในการศึกษาระดับ ปวช. - ปวส. ลดลงเล็กน้อยจาก 23.7% ในปี 2561 เป็น 22.5% ในปี 2565 ขณะที่สัดส่วนความต้องการแรงงานที่มีการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 6 - มัธยมศึกษาปีที่ 6 เพิ่มขึ้นจาก 41.1% ในปี 2561 เป็น 57.3% ในปี 2565 

อีกทั้งเมื่อพิจารณาเฉพาะความต้องการแรงงานเพียงสองระดับการศึกษา คือ ปริญญาตรีขึ้นไปและระดับ ปวช. และ ปวส. พบว่า สัดส่วนเฉลี่ยของความต้องการแรงงานที่มีการศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไปลดลง โดยเฉลี่ยในช่วงปี 2561 - 2565 อยู่ที่ 45.6% ขณะที่สัดส่วนเฉลี่ยของความต้องการแรงงานที่มีการศึกษาในระดับ ปวช. และ ปวส. กลับเพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยปี 2561 - 2565 อยู่ที่ 54.4%

เปิดความต้องการแรงงานของบริษัท EEC
เมื่อพิจารณาข้อมูลความต้องการแรงงานของบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพื้นที่ EEC ในปี 2565 จำแนกตามการศึกษา จำนวน 419 โครงการ ซึ่งมีความต้องการแรงงานรวม 52,322 คนนั้น พบว่า ระดับการศึกษาที่มีความต้องการมากที่สุด มีดังนี้

- ความต้องการแรงงานระดับ ป.6 ถึง ม.6 มีสัดส่วนถึง 59.1%
- ความต้องการแรงงานระดับ ปวช. - ปวส. อยู่ที่ 25.2%
- ความต้องการแรงงานระดับปริญญาตรีขึ้นไปอยู่ที่ 14.7% เท่านั้น

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึงอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พบว่า ระดับการศึกษาที่มีความต้องการ มากที่สุด มีดังนี้

- ความต้องการแรงงานระดับ ป. 6 ถึง ม.6 มีสัดส่วน 63.9 และ 63.2% ตามลำดับ
- ความต้องการแรงงาน ระดับ ปวช. - ปวส. อยู่ที่ 22.5% และ 23.6% ตามลำดับ
- ความต้องการแรงงานระดับปริญญาตรีขึ้นไปอยู่ที่ 13.5% และ 12.9% ตามลำดับ

โดยอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีความต้องการแรงงานระดับปริญญาตรีขึ้นไปในสัดส่วนที่สูง ได้แก่ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร ส่วนอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีความต้องการแรงงานระดับ ปวช. และ ปวส. ในสัดส่วนที่สูง ได้แก่ อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณากำลังแรงงาน โดยอ้างอิงจากจำนวนนักเรียน นักศึกษาที่อยู่ในภาคอุดมศึกษา (ระดับปริญญาตรีขึ้นไป) พบว่า ในปี 2564 มีจำนวนนักศึกษา ในระดับอุดมศึกษารวม 1,902,692 คน แม้จะลดลงจากจำนวน 2,171,663 ในปี 2561 แต่ยังสูงกว่าเมื่อเทียบกับนักเรียนที่อยู่ในระดับ ปวช. และ ปวส. ในปี 2564 ที่มีจำนวน 374,962 คน

ดังนั้น จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อน ให้เห็นถึงสถานการณ์ตลาดแรงงานที่เผชิญกับปัญหาความไม่สอดคล้องกันระหว่างกำลังแรงงานที่ผลิตออกมา (ด้าน Supply) และความต้องการของตลาด (ด้าน Demand) นั่นคือ มีแรงงานจบใหม่ที่เข้าสู่ตลาดที่จบอุดมศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไปในสัดส่วนสูงมาก

ด้วยเหตุนี้ จึงส่งผลให้แรงงานในระดับปริญญาตรีต้องทำงานต่ำกว่าระดับมากขึ้น และสัดส่วนผู้ว่างงานในระดับปริญญาตรีจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นข้อจำกัดของตลาดแรงงานไทยในระยะต่อไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top