Saturday, 19 April 2025
วิศวกรรม

‘เสาสะพานพระราม 3’ การก่อสร้างด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ลดขนาดโครงสร้าง เพื่อทัศนียภาพที่สวยงามของเมือง

(9 ก.ค. 66) ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ‘Applied Physics’ ได้แชร์เกร็ดความรู้เพิ่มเติมเชิงวิศวกรรมของ 'เสาสะพานพระราม 3' โดยระบุว่า…

จุดประสงค์เพื่อการแบ่งปันข้อมูลที่อาจเป็นประโยชน์เชิงการศึกษาต่อนักเรียนนักศึกษาที่สนใจนะครับ

บางไปไหม? จะหักไหม?
มันบางจริงๆ แต่แข็งแรงนะ และแข็งแรงไม่น้อยไปกว่า สะพานที่ใช้เสาตอม่อขนาดใหญ่ 2 ต้นเพราะมีการวางเสาต่อเนื่องกัน ในการถ่ายเทน้ำหนัก แล้วยังใช้งบมากกว่าแบบหนาๆด้วย

สะพานนี้ก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 และเรื่องนี้ เคยมีวิศกรออกมาให้ความรู้มาก่อนแล้วว่าลักษณะเสาที่บางของสะพานนี้ เป็นการก่อสร้างโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ที่เรียกว่า ‘คอนกรีตอัดแรงแบบพิเศษ’ ซึ่งจะใช้เหล็กที่เป็นโครงสร้างด้านในมากกว่าโครงสร้างทั่วไป …แถมการสร้างด้วยเทคโนโลยีแบบนี้ มีมูลค่าสูงกว่าการก่อสร้างทั่วไปเสียอีก จุดประสงค์ก็เพื่อลดขนาดโครงสร้างคอนกรีตที่ใหญ่เทอะทะ จนกลายเป็นทัศนะอุจาดในเขตเมือง มองแล้วไม่สบายตา พอลดขนาดเสาลง มันก็ดูโปร่งสบายตากว่ามาก

สะพานนี้ เปิดใช้เมื่อปี พ.ศ. 2542 ก่อสร้างโดย บริษัทเยอรมัน Ed.Zublin Ag.Wayss สร้างเสร็จมา 20 กว่าปีแล้ว ก็ไม่เคยมีปัญหา

โดยทั่วไปแล้ว เสาตอม่อเล็ก มีความนิยมกันมาก เพราะประหยัดพื้นที่ ให้พื้นที่ด้านล่างน้อย โดยเฉพาะในต่างประเทศ มีการใช้เป็นจำนวนมาก ( เช่น นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และ ญี่ปุ่น)

โดยจุดดังกล่าว เป็นเชิงสะพาน ก่อนเข้าถึงตัวสะพานกลางแม่น้ำเท่านั้น แต่พอไปถึงช่วงกลางสะพาน เสาตอม่อก็มีขนาดใหญ่ เหมือนสะพานอื่นๆ

‘ม.ขอนแก่น’ ผนึก ‘ม.จีน’ ผุดหลักสูตรวิศวกรรมรถไฟความเร็วสูง สร้างบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรม-ศก.

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผนึกมหาวิทยาลัยจากจีน ผุดหลักสูตรวิศวกรรมรถไฟความเร็วสูง พร้อมจัดตั้งสถาบันแลกเปลี่ยนการศึกษารูปแบบใหม่ระหว่างไทย-จีน รองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม

เมื่อไม่นานนี้ รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มข. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเซาท์เวสต์เจียวทง สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ลงนามความร่วมมือการจัดตั้งสถาบัน ‘The KKU-SWJTU Tianyou Railway Institute’ เพื่อร่วมมือทางวิชาการ และวิจัยระดับประเทศด้านรถไฟความเร็วสูง หรือ ‘High Speed Train’ เพื่อรองรับยุทธศาสตร์การคมนาคมในภูมิภาค

เนื่องจากเล็งเห็นว่าไทยถือเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอินโดจีน สามารถเชื่อมโยงไปสู่ประเทศต่างๆ ในอาเซียน และจีน อีกทั้ง High Speed Train ยังเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจตามนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลไทยด้วย

“มข.ตระหนักถึงความสำคัญของพันธกิจ และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สำคัญของชาติด้านรถไฟความเร็วสูง จึงกำหนดแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อผลิตบัณฑิตด้านวิศวกรรมศาสตร์รถไฟความเร็วสูงร่วมกับมหาวิทยาลัย SWJTU ภายใต้ชื่อหลักสูตรวิศวกรรมรถไฟความเร็วสูง เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม และก่อตั้งสถาบัน KKU-SWJTU Tianyou Railway Institute ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มข. เพื่อจัดฝึกอบรม ให้ความรู้ และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านรถไฟความเร็วสูง”

ด้าน Prof. Yao Faming รองอธิการบดี SWJTU กล่าวว่า ระบบรางรถไฟไทย-จีน เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญของนโยบาย ‘หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง’ (one belt one road) เป็นการเชื่อมโยงระหว่างประเทศในแถบคาบสมุทรอินโดจีน โดยเฉพาะระหว่างไทยและจีน ถือเป็นถนนสายหลัก และกุญแจสำคัญ ด้วยความก้าวหน้าของนโยบาย one belt one road ส่งผลให้ไทยและจีนมีโอกาสมากขึ้นในการผลักดันและพัฒนาการขนส่งระบบราง

การก่อตั้งสถาบันระบบรางเทียนโย่ว โดยความร่วมมือระหว่าง มข. และมหาวิทยาลัยเซาท์เวสต์เจียวทง จะก่อเกิดคุณประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย นำเอาจุดเด่นของแต่ละมหาวิทยาลัย หลอมรวมเป็นการแลกเปลี่ยนทางการศึกษารูปแบบใหม่ระหว่างจีน-ไทย

รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มข.กล่าวว่า ความร่วมมือจัดหลักสูตรวิศวกรรมรถไฟความเร็วสูงระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2566-2571) เพื่อรองรับกับเศรษฐกิจ การพัฒนาอุตสาหกรรม และรวมถึงการนำความเจริญสู่ชุมชน และประชาชนในพื้นที่ จึงต้องพัฒนาบัณฑิตที่มีความรู้ มีคุณภาพ และศักยภาพพร้อมรองรับในตลาดแรงงานในอนาคตตามนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลไทย

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มข. มีความพร้อมในด้านทรัพยากรบุคลากร มีผู้เชี่ยวชาญ ประกอบกับมีความร่วมมือ และความสัมพันธ์อันดีที่แน่นแฟ้นกับ SWJTU โดยได้แลกเปลี่ยน เยี่ยมเยือน ประชุมหารือในการจัดทำหลักสูตรร่วมกัน ตลอดจนได้รับสนับสนุนจากกงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย ณ จังหวัดขอนแก่น หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ช่วยคณะวิศวกรรมศาสตร์ขับเคลื่อนการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพในด้านวิศวกรรมรถไฟความเร็วสูงในยุคดิจิทัล ให้เป็นที่ยอมรับของผู้ใช้บัณฑิต

กทท.จัดสัมมนาโครงการการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม ศูนย์กระจายสินค้า อาคารสำนักงาน


วันที่ 31 มกราคม 2567 ที่ห้องประชุมชั้น 9 โรงแรมคาร์ลตัน กรุงเทพ ถ.สุขุมวิท การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จัดงานสัมมนาโครงการการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการศูนย์กระจายสินค้า อาคารสำนักงาน และพื้นที่สนับสนุนท่าเรือกรุงเทพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับสู่การเป็นศูนย์กระจายสินค้าหลักของประเทศ โดยได้เกียรติจาก นายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นางมนพร เจริญศรี) นายสุทธิพจน์ ถาวรพิศาลเกษม ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมฯ เข้าร่วมงานสัมมนา “โครงการการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการศูนย์กระจายสินค้า อาคารสำนักงาน และพื้นที่สนับสนุนท่าเรือกรุงเทพ” และร่วมรับฟังการเสวนาในหัวข้อ “การพัฒนาศูนย์กระจายสินค้า (DC) และธุรกิจใหม่ในพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ กับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของท่าเรือกรุงเทพฯ สู่การเป็น Smart  & Green Port” โดยมี นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. เป็นประธานในพิธีฯ พร้อมด้วย เรือโท ภูมิ แสงคำ ผู้อำนวยการท่าเรือกรุงเทพ นายอภิเสต พงษ์สุวรรณ รองผู้อำนวยการ กทท. สายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ นายแถมสิน ศรีบางพลีน้อย รองผู้อำนวยการท่าเรือกรุงเทพ  คณะผู้บริหารและพนักงาน กทท. ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผู้ประกอบการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสื่อมวลชน เข้าร่วมงานฯ

สำหรับการศึกษาความเหมาะสมของโครงการฯ ดังกล่าว เป็นความร่วมมือดำเนินการระหว่าง กทท และมหาวิทยาลัยบูรพา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ปัจจัยทางเศรษฐกิจและการตลาด ที่จะส่งเสริมให้ท่าเรือกรุงเทพเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ รวมทั้งการวิเคราะห์รูปแบบธุรกิจเดิมและธุรกิจใหม่ ให้สอดรับกับแผนพัฒนาพื้นที่ของ กทท. เพื่อให้ท่าเรือกรุงเทพสามารถรองรับการเติบโตด้านเศรษฐกิจในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล พร้อมทั้งการแก้ไขปัญหาการจราจร ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างมูลค่าเพิ่มและส่งเสริมการค้า-การลงทุนของประเทศ เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนต่อไป โดยการเสวนาฯ ในวันนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ ประกอบด้วยคุณภาวิณา อัศวมณี รักษาการที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ) ดร. ปิยะนุช สัมฤทธิ์ นายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย (ผู้แทนจากผู้ใช้บริการด้านสินค้า) คุณคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหารสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (ผู้แทนจากผู้ใช้บริการด้านเรือ) และกัปตัน ดร.เฉลิมวุฒิ แท่นสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาพาณิชยนาวี (ผู้แทนจากภาควิชาการ)

"การพัฒนาท่าเรือกรุงเทพให้เป็นท่าเรือแห่งอนาคตเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ของการท่าเรือในการทำให้ กทท. เป็นประตูหลักของการค้าและการขนส่งในภูมิภาคด้วยมาตรฐานการให้บริการในระดับโลกหรือ World Class Port โดยมีนโยบายการนำแนวคิด 3T (Transshipment, Transit, Traffic) และ 2D (Digitization, Decarbonization) เข้ามาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการ 

โดยโครงการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้า หรือ DC (Distribution Center) เป็น 1 ใน 3 โครงการพัฒนาหลักของท่าเรือกรุงเทพ ที่เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้กับท่าเรือกรุงเทพ อีกทั้งจะเป็นการช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ต่อ GDP ของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม คือ 

1) โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือแบบ Smart Port ที่นำเอาระบบ Automation มาใช้ในการบริหารจัดการ 
2) โครงการเชื่อมต่อทางพิเศษ S1 (อาจณรงค์-บางนา) ในการแก้ไขปัญหาการจราจร 

3) โครงการศูนย์กระจายสินค้าท่าเรือกรุงเทพหรือ Bangkok Port Distribution Center 
ซึ่งภายใต้โครงการฯ นี้ จะประกอบด้วยแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ภายในเขตรั้วศุลกากร 138 ไร่ (220,800 ตร.ม.) เป็นอาคารทรงสูง (Multilevel Warehouse) เพื่อรองรับปริมาณสินค้า/ตู้สินค้า LCL/CFS และกิจกรรมของท่าเรือกรุงเทพที่เพิ่มมากขึ้น เช่น Free Zone, Cold Chain Warehouse, E-Commerce Fulfillment Center, Last-Mile Delivery, Value Added Services, Cross-Border E-Commerce เป็นต้น และพัฒนากิจกรรมท่าเรือสมัยใหม่ (New Business Venture) เพื่อรองรับพลวัตการเติบโตและขยายตัวของเมือง โดยในโครงการฯ จะประกอบไปด้วยกิจกรรมการให้บริการต่าง ๆ เช่น คลังสินค้าทรงสูง ศูนย์เปลี่ยนถ่ายและขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พื้นที่บริหารจัดการรถบรรทุก (Truck Terminal) และอาคาร One Stop Services (OSS) เป็นต้น เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้บริการของท่าเรือกรุงเทพในอนาคต" ผู้อำนวยการ กทท. กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top