Sunday, 6 July 2025
วิกฤตพลังงาน

วิกฤตไฟฟ้าขาดแคลนของจีนแผ่ขยาย บีบให้ปิดโรงงาน และกระทบต่อเศรษฐกิจทำให้แนวโน้มการเติบโตลดลง

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าปัญหาการขาดแคลนพลังงานที่เพิ่มขึ้นในประเทศจีนทำให้ต้องหยุดการผลิตในโรงงานหลายแห่งรวมถึงโรงงานหลายแห่งที่เป็นซัพพลายเออร์ให้ Apple และ Tesla ในขณะที่ร้านค้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือต้องใช้แสงเทียนและห้างสรรพสินค้าต้องปิดตัวลงเร็วขึ้น

การปันส่วนได้ถูกนำมาใช้ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนในหลายพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว และผู้อยู่อาศัยในเมืองต่างๆ รวมถึงฉางชุน กล่าวว่า การตัดไฟเกิดขึ้นเร็วขึ้นและยาวนานขึ้น

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมารัฐวิสาหกิจการไฟฟ้า (State Grid Corp) ให้คำมั่นว่าจะจัดหาแหล่งจ่ายไฟพื้นฐานและหลีกเลี่ยงการตัดกระแสไฟฟ้า

นักวิเคราะห์กล่าวว่าวิกฤตด้านพลังงานของจีนซึ่งเกิดจากอุปทานถ่านหินที่ตึงตัวและมาตรฐานการปล่อยมลพิษที่เข้มงวด ส่งผลกระทบต่อการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ ในหลายภูมิภาค และกำลังฉุดรั้งแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

ผลกระทบต่อครัวเรือนและผู้ใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช่ภาคอุตสาหกรรมเริ่มชัดขึ้นเนื่องจากอุณหภูมิในเวลากลางคืนลดลงจนใกล้จุดเยือกแข็งในเมืองที่อยู่ทางตอนเหนือสุดของจีน สำนักงานพลังงานแห่งชาติ (NEA) ได้แจ้งกับบริษัทถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเพื่อให้แน่ใจว่ามีพลังงานเพียงพอเพื่อให้บ้านมีความอบอุ่นในช่วงฤดูหนาว

มณฑลเหลียวหนิงกล่าวว่าการผลิตไฟฟ้าลดลงอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่เดือนกรกฎาคม และช่องว่างด้านอุปทานเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับ "ระดับรุนแรง" เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้ขยายการตัดไฟจากบริษัทอุตสาหกรรมไปยังพื้นที่อยู่อาศัยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

เมืองหูลู่ต่าวบอกกับผู้อยู่อาศัยว่าอย่าใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้พลังงานสูง เช่น เครื่องทำน้ำอุ่นและเตาไมโครเวฟในช่วงเวลาที่มีผู้ใช้บริการสูงสุด และผู้อยู่อาศัยในเมืองฮาร์บิน ในมณฑลเฮยหลงเจียงบอกกับรอยเตอร์ว่าห้างสรรพสินค้าหลายแห่งปิดเร็วกว่าปกติเวลา 16.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น เหตุการณ์นี้้ทำให้ตลาดหุ้นจีนตื่นตระหนกในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกกำลังแสดงสัญญาณการชะลอตัว

เศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญกับการควบคุมภาคอสังหาริมทรัพย์และเทคโนโลยี และความกังวลเกี่ยวกับอนาคตของ China Evergrande ยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ประสบปัญหาด้านการเงิน

พลังงานโลก เร่งอียูเตรียมแผนรับมือ หวั่นรัสเซียตัดก๊าซป้อนยุโรปโดยสิ้นเชิง

ทบวงพลังงานสากล (ไอเออี) เตือนชาติยุโรปเตรียมพร้อมรับมือวิกฤตพลังงานด่วน หลังรัสเซียส่อตัดอุปทานก๊าซธรรมชาติที่ป้อนแก่ยุโรปโดยสิ้นเชิง 

ฟาตีห์ ไบรอล ผู้อำนวยการบริหารของทบวงพลังงานสากล กล่าวในถ้อยแถลงที่ส่งถึงสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า "ผมไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะหาประเด็นถกเถียงอีก และเดินหน้าหาข้ออ้างสำหรับลดการส่งมอบก๊าซสู่ยุโรป และบางทีอาจถึงขั้นตัดอุปทานก๊าซโดยสิ้นเชิง"

"นี่คือเหตุผลว่าทำไมยุโรปถึงจำเป็นต้องมีแผนฉุกเฉิน" ไบรอล ระบุ พร้อมบอกว่าการปรับลดจ่ายอุปทานก๊าซเมื่อเร็วๆ นี้ อาจเป็นความพยายามให้ได้มาซึ่งอิทธิพลทางการเมือง ก่อนเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวที่ลากยาวนานหลายเดือน

อย่างไรก็ตาม ฟาตีห์ ระบุว่า ในข้อสันนิษฐานของทบวงพลังงานสากล การตัดป้อนก๊าซโดยสิ้นเชิงไม่น่าจะเป็นกรณีที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด

สหภาพยุโรปกำหนดมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันและถ่านหินของรัสเซีย แต่ไม่ห้ามนำเข้าก๊าซธรรมชาติ สืบเนื่องจากอียูพึ่งพิงอุปทานจากมอสโกสูงลิ่ว

ในแง่ภาพรวมของการลงทุนทางพลังงานสำหรับปี 2022 ทบวงพลังงานสากลระบุในรายงานฉบับหนึ่งว่า มีการเตรียมลงทุนในภาคดังกล่าวในปีนี้ 2.4 ล้านล้านดอลลาร์ ในนั้นรวมถึงใช้จ่ายในด้านพลังงานหมุนเวียนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ทบวงพลังงานสากลชี้ว่ามันยังไม่เพียงพอสำหรับเติมช่องว่างทางอุปทานและจัดการกับภาวะโลกร้อน

คนอังกฤษ ทนวิกฤตค่าครองชีพไม่ไหว นัดรวมตัวประท้วงกดดันลดค่าก๊าซ-ไฟฟ้า

ชาวอังกฤษหลายพันคน ทนไม่ไหว ลุกฮือเดินขบวนประท้วงในหลายสิบเมืองทั่วประเทศ แสดงความไม่พอใจในการปรับขึ้นค่าก๊าซและค่าไฟฟ้า 

ประชาชนหลายพันคนรวมตัวตามเมืองต่าง ๆ หลายสิบแห่งทั่วราชอาณาจักรเมื่อวันเสาร์ (1 ต.ค.) ที่ผ่านมา เพื่อแสดงความขุ่นแค้นต่อวิฤตค่าครองชีพ ในสิ่งที่แกนนำระบุว่าเป็นการประท้วงอย่างพร้อมเพรียงกันครั้งใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักรในรอบหลายปี พร้อมกับเปิดแคมเปญไม่จ่ายค่าก๊าซและค่าไฟฟ้าจนกว่าจะลดราคาในระดับที่สามารถจ่ายได้

ไล่ตั้งแต่อีสบอร์นไปจนถึงเอดินบะระ นิวคาสเซิล ไปจนถึงนอริช มีผู้คนจำนวนมากออกมาชุมนุมประท้วงทั่วสหราชอาณาจักร สอดคล้องกับช่วงเวลาที่จะมีการปรับขึ้นค่าก๊าซและค่าไฟ ซึ่งจะทำให้ค่าครองชีพของประชาชนพุ่งสูงตามไปด้วย

ในกรุงลอนดอน ผู้ชุมนุมรวมตัวกันที่จัตุรัสคิงส์ครอส และชูป้ายที่มีข้อความว่า “ไม่จ่ายให้สหราชอาณาจักร” และ “พอแล้ว” รวมถึง “แช่แข็งราคา ไม่ใช่ประชาชน” เพื่อระบายความไม่พอใจต่อความทุกข์ยาก และเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาค่าครองชีพแพง

ฟาร์ซานา คานอม ผู้ช่วยครูวัย 23 ปีรายหนึ่ง เผยว่า สถานการณ์ปัจจุบันทำให้เธอจำเป็นต้องเลือกระหว่างจ่ายค่าพลังงานที่พุ่งสูงกับการลงทุนในอาชีพการงานของเธอ "แต่ถ้าเราออกมาพร้อมกัน ส่งเสียงของเราให้ได้ยินไปทั่ว เมื่อนั้นบางทีเราอาจสร้างความแตกต่าง"

บรรดาผู้ชุมนุมยังได้ร่วมลงนามในหนังสืออุทธรณ์ฉบับหนึ่ง เรียกร้องให้ยุบสภาจัดการเลือกตั้งทั่วไป เพื่อยุติความยุ่งเหยิงจากรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งเบื้องต้นมีผู้ร่วมลงนามแล้วกว่า 300,000 คน

นอกจากนี้ แกนนำการประท้วงยังได้ทำการรณรงค์ให้ประชาชนไม่จ่ายค่าก๊าซและค่าไฟฟ้าจนกว่าจะลดราคาในระดับที่สามารถจ่ายได้

มีรายงานว่าหลายครัวเรือนทั่วสหราชอาณาจักรพากันเผาบิลค่าสาธารณูปโภค ในการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์สนับสนุนการรณรงค์ไม่จ่ายค่าก๊าซและค่าไฟฟ้าของกลุ่ม Don’t Pay UK ในขณะที่ล่าสุดขบวนการเคลื่อนไหวรากหญ้าแห่งนี้ได้รับเสียงตอบรับจากครัวเรือนต่างๆ เกือบ 200,000 ครัวเรือน ที่เตรียมยกเลิกบริการหักบัญชีอัตโนมัติ หากว่าชาวสหราชอาณาจักร 1 ล้านคนสัญญาว่าจะไม่จ่ายบิลค่าสาธารณูปโภค

‘SPR’ คือ คำตอบรับมือวิกฤตพลังงาน หากอิหร่าน ตัดสินใจปิดช่องแคบ ‘ฮอร์มุซ’

(23 มิ.ย. 68) จากผลพวงสหรัฐ อเมริกา ปฏิบัติการโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ 3 แห่งของอิหร่าน ทำให้สภาความมั่นคงแห่งชาติสูงสุดของอิหร่าน เตรียมตัดสินใจตอบโต้ด้วยการปิดช่องแคบฮอร์มุซ หลังจากมีรายงานว่ารัฐสภาของประเทศได้ยกมือสนับสนุนมาตรการดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตามรายงานของสำนักข่าวเพรส ทีวี ของอิหร่าน เมื่อวันอาทิตย์(22มิ.ย.68)

แน่นอนว่า หากอิหร่านปิดช่องแคบฮอร์มุซขึ้นมาจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นชั่วคราว หรือ ยืดเยื้อระยะยาว นั่นคือจุดเริ่มต้นของหายนะระดับโลก เพราะช่องแคบฮอร์มุซ นับเป็นเส้นทางการขนส่งน้ำมันที่มีปริมาณถึง 20% ของการบริโภคทั่วโลก เรียกได้ว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่ของการค้าพลังงานโลก โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของยุโรปและเอเชีย นั่นและนั่นจะเป็นสาเหตุให้ราคาพลังงานพุ่งทะยานและต้นทุนการดำรงชีวิตของประชาชนสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม ในการรับมือกับวิกฤตพลังงานน้ำมันในส่วนของประเทศไทยนั้น ทางนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีแนวคิดที่จะดำเนินนโยบายการสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR : Strategic Petroleum Reserve) เพื่อให้ประเทศมีปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองเพียงพอต่อการใช้งานได้ถึง 90 วัน เช่นเดียวกับประเทศใหญ่หลายประเทศที่มีน้ำมันสำรองเพียงพอ 90 วัน ทำให้มีเวลาแก้ไขปัญหาและสามารถเตรียมการรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นได้นานขึ้น

เนื่องจากในปัจจุบัน ประเทศไทยมีปริมาณน้ำมันสำรองที่เอกชนจัดเก็บเพียงพอต่อการบริโภค 25-36 วัน นั่นหมายความว่า หากปัญหาวิกฤตน้ำมันในประเทศไม่สามารถแก้ไขได้แล้วเสร็จภายในเวลา 1 เดือน ย่อมจะเกิดผลกระทบที่จะสร้างความเสียหายอันใหญ่หลวงต่อประเทศในภาพรวม ไม่ว่าในด้าน เศรษฐกิจ สังคม การเมือง การเงิน และการคลัง ฯลฯ อย่างแน่นอน ดังนั้น SPR ของ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ ที่กำลังผลักดันและร่างกฎหมายอยู่ในขณะนี้ คือ คำตอบที่จะทำให้ประเทศสามารถรับมือวิกฤตพลังงานโลกที่อาจจะเกิดขึ้นอีกครั้งเร็วๆ นี้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top