Saturday, 19 April 2025
วันสงกรานต์

วธ.จัดงานรดน้ำขอพรศิลปินแห่งชาติ เนื่องในประเพณีสงกรานต์ ๒๕๖๖ เชิญชวนประชาชนร่วม “สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจสู่สากล” เผยแพร่ความงามอัตลักษณ์ความเป็นไทย รองรับการขึ้นมรดกวัฒนธรรมของมนุษยชาติ

วันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๓๐ น. นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม  นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ผู้บริหารวธ. พร้อมเครือข่าย เข้าร่วมแสดงมุทิตาจิตในกิจกรรม “รดน้ำขอพรศิลปินแห่งชาติ ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม ผู้บริหารงานวัฒนธรรม เนื่องในประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช ๒๕๖๖” เพื่อสืบสานอัตลักษณ์ความงดงามของประเพณีวัฒนธรรมไทย ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย 

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้กล่าวแสดงมุทิตาจิตในกิจกรรม “รดน้ำขอพรศิลปินแห่งชาติ ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมและผู้บริหารงานวัฒนธรรม เนื่องในประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช ๒๕๖๖” ด้วยกระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณี เสริมสร้างค่านิยมและความเป็นไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเพณีสงกรานต์ ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่โบราณ ถือเป็นประเพณีขึ้นปีใหม่ของไทย โดยในประเพณีนี้มีพิธีสำคัญอย่างหนึ่ง คือ การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ เพื่อแสดงออกถึงความรัก ความผูกพัน ความกตัญญูกตเวทิตาต่อผู้ใหญ่ และบุคคลที่เคารพรัก เป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความสมานฉันท์ปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคม ทั้งยังถือเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแด่ศิลปินแห่งชาติ รวมถึงเป็นแบบอย่างของการจัดกิจกรรมรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ให้แก่องค์กรและประชาชนทั่วไป อีกด้วย 

“ปี ๒๕๖๖ นี้ ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่องค์การยูเนสโก ได้รับรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมของไทย "สงกรานต์ในประเทศไทย" (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) เข้าวาระการพิจารณาการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในเดือนธันวาคม ๒๕๖๖ นี้  ถือเป็นมรดกวัฒนธรรมฯ รายการที่ ๔ ของประเทศ ต่อจาก โขน นวดไทย และโนรา จึงเป็นโอกาสอันดีในการเผยแพร่คุณค่าสาระ อัตลักษณ์ความงามของสงกรานต์ ประเพณีที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกให้ความนิยม ได้เกิดการรับรู้และเข้าใจอย่างถูกต้องในคุณค่าที่แท้จริงของประเพณีวัฒนธรรมของไทย” นายอิทธิพล กล่าว
 
นายคเณศ เค้ามูลคดี ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) พุทธศักราช ๒๕๖๐ ผู้แทนศิลปินแห่งชาติ ได้กล่าวอวยพรเนื่องในประเพณีสงกรานต์ ว่า ในนามของศิลปินแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิทางวัฒนธรรม ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม และผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ที่ได้มีโอกาสมาร่วมให้พรในครั้งนี้ ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ระลึกถึงและมาร่วมกันแสดงมุทิตาจิตในวันนี้ รู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่คนรุ่นหลังให้ความสำคัญ และระลึกถึงผู้อาวุโส โดยการจัดกิจกรรมรดน้ำขอพรศิลปินฯ นี้ เป็นการแสดงออกถึงความรัก ความกตัญญูกตเวทีที่มีต่อผู้ใหญ่ และครูอาจารย์ ทำให้เกิดความรู้สึกปลาบปลื้มและมีความสุขเป็นอย่างยิ่ง “ในวาระสงกรานต์ปีใหม่ไทย จึงขออาราธนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก และขออำนาจคุณพระศรี-รัตนตรัย จงดลบันดาลให้ทุกท่าน จงประสบแต่ความสุข ความเจริญ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ มีความรักความสามัคคีให้แก่กัน และร่วมกันสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่ สืบไป” นายคเณศ กล่าว
 
ทั้งนี้ ภายในงานมีศิลปินแห่งชาติ ทั้ง ๓ สาขา ร่วมพิธี อาทิ นายคเณศ เค้ามูลคดี  นางรัตติยะ วิกสิตพงศ์  นายสมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์  นายเสวต เทศน์ธรรม  นายสมเศียร พานทอง  นายบุญเลิศ นาจพินิจ  นายชัยชนะ บุญนะโชติ  นางสาววนิดา พึ่งสุนทร  นายเผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี  นายสุประวัติ ปัทมสูต  นางพิสมัย วิไลศักดิ์  นางรัจนา พวงประยงค์  นายนคร ถนอมทรัพย์  ศ.พิเศษ อารี สุทธิพันธุ์  นางสาวทัศนีย์ ขุนทอง  นายปัญญา วิจินธนสาร นางชมัยภร บางคมบาง  ศ.เกียรติคุณ วิชัย สิทธิรัตน์  นายธนิสร์ ศรีกลิ่นดี  นายวินัย พันธุรักษ์  นายปี๊บ คงลายทอง  นางสุดา ชื่นบาน  ศ.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร  นายนพพล โกมารชุน  นายวิโรจน์ วีระวัฒนานนท์  นางผ่องศรี วรนุช  นายสิงห์คม บริสุทธิ์  นายวิรัช อยู่ถาวร  นางรุ่งฤดี เพ็งเจริญ  นายไพฑูรย์ เข้มแข็ง  นายธงชัย รักปทุม และ พันโทวิชิต โห้ไทย  โดยมีผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม  ทายาทศิลปินแห่งชาติ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม เครือข่ายศิลปวัฒนธรรม เข้าร่วมสรงน้ำพระพุทธรูป และรดน้ำขอพรศิลปินแห่งชาติ รวมถึงผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม  เพื่อร่วมสืบสานประเพณีวัฒนธรรมอันงดงาม เสริมสร้างค่านิยมและความเป็นไทย  ซึ่งการรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ เป็นพิธีกรรมที่แสดงออกถึงความรัก ความผูกพัน ความกตัญญูกตเวทิตาต่อผู้ใหญ่ และบุคคลที่เคารพรัก อันจะช่วยสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคม ทั้งยังเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแด่ศิลปินแห่งชาติ รวมถึงเป็นแบบอย่างของการจัดกิจกรรมรดน้ำขอพรผู้อาวุโสให้แก่องค์กรและประชาชนทั่วไป  และ บริเวณหน้างานยังมีนิทรรศการให้ความรู้ คุณค่า สาระ แนวทางปฏิบัติเนื่องในประเพณีสงกรานต์ อีกด้วย 

‘ไทย’ เล็ง ดัน ‘ประเพณีสงกรานต์’ สู่งานเทศกาลระดับโลก หลัง ‘ยูเนสโก’ ขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

(8 ธ.ค. 66) สำนักข่าวซินหัว, กรุงเทพฯ รายงานว่า เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา ไทยจัดงานเฉลิมฉลองในกรุงเทพฯ เนื่องในโอกาสที่วันสงกรานต์ หรือเทศกาลวันขึ้นปีใหม่แบบดั้งเดิมของไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ขององค์การยูเนสโก (UNESCO) โดยไทยพร้อมส่งเสริมเทศกาลนี้ให้กลายเป็นงานระดับโลก เพื่อดึงดูดผู้มาเยือนและกระตุ้นเศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยว

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย กล่าวในงานเฉลิมฉลองว่าการขึ้นทะเบียน เมื่อวันพุธที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา นับเป็นของขวัญล้ำค่าที่นำมาซึ่งความภาคภูมิใจและเกียรติยศ รัฐบาลไทยมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์และส่งเสริมประเพณีสงกรานต์ พร้อมเปิดโอกาสเท่าเทียม ให้ประชาชนทุกสาขาอาชีพได้ร่วมเฉลิมฉลองทั่วประเทศ

แถลงการณ์จากรัฐบาลระบุว่า ไทยกำลังวางแผนจัดงานขนาดใหญ่หลายรายการสำหรับการเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ประจำปีซึ่งตรงกับเดือนเมษายน ภายใต้ความพยายามส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ด้านวัฒนธรรม โดยนอกเหนือจากกิจกรรมสาดน้ำแบบดั้งเดิมแล้ว เทศกาลนี้ยังจะประกอบด้วยสิ่งดึงดูดมากมาย อาทิ เทศกาลต่างๆ ดนตรี อาหาร ศิลปะ และงานด้านวัฒนธรรม

อนึ่ง เทศกาลสงกรานต์ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ลำดับที่สี่ของไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนบนบัญชีของยูเนสโก ตามหลังละครโขน การนวดแผนไทย และรำโนรา

13 เมษายน ของทุกปี ครม.กำหนดให้เป็น 'วันผู้สูงอายุแห่งชาติ' ชวนคนไทยร่วมแสดงความกตัญญูต่อญาติผู้ใหญ่

วันนี้ 13 เมษายน ของทุกปี นอกจากจะเป็น ‘วันสงกรานต์’ หรือ ‘วันปีใหม่ไทย’ แล้ว รัฐบาลไทยกำหนดให้เป็น ‘วันผู้สูงอายุแห่งชาติ’ อีกด้วย เพื่อให้ลูกหลานได้เล็งเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่บุพการี ญาติพี่น้อง ผู้อาวุโส หรือผู้ใหญ่ในชุมชนที่เคยทำคุณประโยชน์แก่สังคม

หากย้อนกลับไปในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดนโยบาย ส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี มีคุณภาพ และดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข

จึงได้มอบให้กรมประชาสงเคราะห์ จัดตั้งสถานสงเคราะห์คนชราขึ้น เพื่อให้การสงเคราะห์ผู้สูงอายุ ที่เดือดร้อนมีความทุกข์ยาก ประสบปัญหาและไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง (แต่ในยุคนั้นยังไม่มีการกำหนด ‘วันผู้สูงอายุ’ ขึ้นมา)

กรมประชาสงเคราะห์จึงได้จัดตั้ง ‘สถานสงเคราะห์คนชราบ้านบางแค’ ขึ้นมาเป็นแห่งแรกในปี พ.ศ. 2496 โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

- ให้การสงเคราะห์คนชราที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือประสบปัญหาความทุกข์ยาก ไม่มีที่อยู่อาศัย หรือไม่สามารถอยู่กับครอบครัวได้
- ให้บริการแก่คนชราที่อยู่กับครอบครัวของตน แต่มีความต้องการ บริการสงเคราะห์คนชราบางอย่าง เช่น การรักษาพยาบาล กายภาพบำบัด นันทนาการ
- แบ่งเบาภาระของครอบครัวผู้มีรายได้น้อย หรือยากจน ที่ไม่สามารถจะอุปการะเลี้ยงดูคนชราไว้ในครอบครัวได้
- ป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคมอันเกี่ยวกับคนชรา ไม่ให้เร่ร่อน ทำความเดือดร้อนรำคาญแก่สังคม และให้สามารถอยู่ในสังคม ได้อย่างผาสุกตามอัตภาพ
- เป็นการตอบแทนคุณความดีที่คนชราได้ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ
- ช่วยให้ผู้สูงอายุได้คลายวิตกกังวล เมื่อชราภาพ ทางรัฐบาลมีหน้าที่ที่จะเป็นผู้อุปการะคุณเลี้ยงดู

ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้จัดประชุมสมัชชาโลกเกี่ยวกับ ‘ผู้สูงอายุ’ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรเลีย และได้ให้ความหมายของคำว่า ‘ผู้สูงอายุ’ ไว้ว่า หมายถึง บุคคลทั้งเพศชายและเพศหญิงที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป 

อีกทั้งได้พิจารณาประเด็นสำคัญเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ไว้ 3 ประการ คือ ด้านมนุษยธรรม ด้านการพัฒนา และด้านการศึกษา 

นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังได้กำหนดให้ปี พ.ศ. 2525 เป็นปีรณรงค์เพื่อส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ โดยกำหนดคำขวัญไว้ว่า ‘Add life to years’ เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ช่วยกันส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ

หลังจาก WHO ประกาศให้รัฐบาลทั่วโลกร่วมกันรณรงค์ ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ประเทศไทยเองก็ได้ตอบรับการรณรงค์เรื่องนี้ด้วย โดยสมัยนั้นตรงกับรัฐบาลของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

รัฐบาลไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ และปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ และคิดว่าจะทำอย่างไร จึงจะให้ลูกหลานได้กลับมารวมตัวกันในวันสำคัญเช่นนี้

ต่อมามีการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงประเด็นดังกล่าว และที่ประชุม ครม. ได้มีมติเมื่อ วันที่ 14 ธันวาคม 2525 อนุมัติให้วันที่ 13 เมษายน ของทุกปี เป็น ‘วันผู้สูงอายุแห่งชาติ’

สำหรับสาเหตุที่เลือกวันที่ 13 เมษายน เนื่องจากเป็นวันที่ตรงกับวันสงกรานต์หรือปีใหม่ไทย ซึ่งถือเป็นเสมือนวันรวมญาติ ทางรัฐบาลเองมองว่ามีความสำคัญและมีความสอดคล้องกัน จึงกำหนดวันสงกรานต์ให้เป็นวันผู้สูงอายุร่วมด้วย

โดยกระทรวงสาธารณสุขไทยในขณะนั้น ได้มีมติให้ใช้ คำขวัญวันผู้สูงอายุ เป็นภาษาไทยว่า ‘ให้ความรัก พิทักษ์อนามัย ผู้สูงวัยอายุยืน’ 

นอกจากนี้ รัฐบาลในสมัยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็ได้เลือก ‘ดอกลำดวน’ เป็นดอกไม้แทนสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุด้วย สาเหตุที่เลือกดอกไม้ชนิดนี้ เนื่องจากว่าต้นลำดวนเป็นพืชยืนต้นที่มีอยู่มากในสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่สำคัญ.. สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงดำริให้จัดสวนแห่งนี้ขึ้นเพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดีของผู้สูงอายุ

14 เมษายน ของทุกปี ครม.กำหนดให้เป็น ‘วันครอบครัวแห่งชาติ’ หวังให้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของสถาบันครอบครัว

ผ่านพ้นวันผู้สูงอายุ 13 เมษายนไปแล้ว ถัดมาในวันที่ 14 เมษายน ก็เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญในช่วง ‘สงกรานต์’ เช่นกัน นั่นก็คือ ‘วันครอบครัว’ (Family Day) หรือ ‘วันครอบครัวแห่งชาติ’ เป็นวันที่กำหนดขึ้นเพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัวที่แม้ว่าจะเป็นหน่วยที่เล็กที่สุด แต่ก็มีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างก็มี ‘วันแห่งครอบครัว’ เช่นเดียวกันแต่อาจมีการกำหนดช่วงวันและเดือนที่แตกต่างกันออกไป 

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2532 คณะรัฐมนตรี ซึ่งมีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และมีคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยคุณหญิงสุพัตราได้เสนอมติให้ ครม. พิจารณาให้วันที่ 14 เมษายน ของทุกปี เป็นวันแห่งครอบครัว ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ของไทย 

สาเหตุที่เลือกวันครอบครัวในช่วง ‘เทศกาลสงกรานต์’ เนื่องจากถือเป็นโอกาสดีในการรวมญาติ รวมครอบครัว ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบุพการี รดน้ำดำหัว ขอพร ผู้เฒ่าผู้แก่ เพื่อเสริมสร้างความเป็นสิริมงคล และเพื่อความอบอุ่น เป็นสุขของครอบครัว ตามประเพณีไทยที่เคยปฏิบัติกันมา ทั้งนี้ ต่อมา ครม.ได้มีมติเห็นชอบและอนุมัติให้วันดังกล่าวเป็น ‘วันครอบครัว’ มาจนถึงปัจจุบัน

ย้อนประวัติศาสตร์ 'สงกรานต์' ในแต่ละชาติ ปรับไปบ้างตามเวลา แต่สุขสันต์มิเคยเปลี่ยน

ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ ปีใหม่ไทยของเรา สงกรานต์ที่ 'ยูเนสโก' ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้ 'สงกรานต์ในประเทศไทย' เป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ 

บทความนี้ผมจะเขียนเล่าในมุมที่ไม่ดรามา โดยจะเรียบเรียงเรื่องราวของสงกรานต์ที่น่าสนใจเพื่อให้อ่านกันเพลิน ๆ นะครับ

เริ่มต้นเรื่อง โดยส่วนตัวผมไม่เชื่อว่าสงกรานต์แบบบ้านเรามาจากอินเดีย แต่คำว่าสงกรานต์เรายืมคำนี้มาจากอินเดียแน่ ๆ เพราะคำว่า 'สงกรานต์' หรือ 'สํกฺรานฺติ' เป็นคำในภาษาสันสกฤตแปลว่า ผ่านหรือเคลื่อนย้าย คือการที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนจากราศีหนึ่งเข้าสู่อีกราศีหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นทุกเดือน แต่จะมีเดือนที่สำคัญมากก็คือเดือนที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ เรียกว่า 'มหาสงกรานต์' ซึ่งในช่วงมหาสงกรานต์นี้ ดินแดนชมพูทวีปเขาจะมีเมนูอาหารและกิจกรรมพิเศษ เช่น...

บังกลาเทศ : เขาจะมีการเดินพาเหรดและเมนูพิเศษ 'ปันตาภัต' คือข้าวสวยแช่น้ำที่เสิร์ฟพร้อมปลาทอด กินพร้อมหอมแดงและพริกเขียว คล้าย ๆ ข้าวแช่บ้านเรา 

ศรีลังกา : ชาวพุทธสิงหลและชาวฮินดูทมิฬ จะมีการฉลองปีใหม่ร่วมกัน ผู้คนจะทำความสะอาดบ้าน จุดตะเกียงน้ำมัน และทานเมนูพิเศษ 'คิริภัต' คือข้าวกะทิ 

ส่วนในอุษาคเนย์ : ประเพณีสงกรานต์ในแต่ละแห่งก็จะพบว่ามีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก เช่น คนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเรียกกันว่า 'สงกรานต์' ทางล้านนาเรียกว่า 'ปี๋ใหม่เมือง' ทางเขมรเรียกว่า 'ซ็องกราน' ส่วนมอญเรียกว่า 'ซงกราน' ทางพม่าเรียกว่า 'ทิงยัน' โดยจุดเชื่อมกันของเทศกาลนี้ ถ้าไม่นับการสาดน้ำ ก็จะมีการรดน้ำประแป้ง การละเล่นพื้นบ้าน การรดน้ำดำหัวขอพรจากผู้ใหญ่ ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระพุทธรูป นอกจากนี้ก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค ส่วนเรื่องอาหารการกินหรือกิจกรรมที่พิเศษเหมือนชมพูทวีปไหม? มันก็มีอยู่บ้างครับ 

ตัวอย่างเช่นที่ 'พม่า' เขาจะมีเมนูพิเศษคือ 'ม่งโลงเหย่ป่อ' ซึ่งเป็นข้าวเหนียวปั้นไส้น้ำตาล คล้าย ๆ ขนมต้มบ้านเรา ทำกินเฉพาะเทศกาลนี้ พร้อมด้วยมหกรรมสาดน้ำ (ต้องเรียกมหกรรมเพราะสาดยับจริง ๆ) ซึ่งพม่านี้เขามีนิทานเรื่องการสาดน้ำที่ค่อนข้างจะเป็นโศกนาฏกรรม แต่เขาเชื่อว่านี่คือหลักฐานการ 'สาดน้ำ' ที่เก่าที่สุด (ทำไม? มันถึงมาผูกกับการสาดน้ำที่สนุกสนานก็ไม่รู้) 

เรื่องนี้ปรากฏอยู่ในพงศาวดารพม่าฉบับอูกะลา ในสมัยของ 'พระเจ้านรสีหบดี' หรือ 'พระเจ้าหนีจีน' แห่งพุกาม ที่ชื่อว่าหนีจีน เพราะกองทัพมองโกลของพระเจ้ากุบไลข่านยกมาตีพุกาม พระองค์ต้านไม่ไหวก็เลยหนีลงมาทางพม่าตอนล่าง ซึ่งร่วมสมัยกับ 'พญามังราย' แห่งเชียงใหม่ 'พ่อขุนรามคำแหง' แห่งสุโขทัย และ 'พระยางำเมือง' แห่งพะเยา ซึ่งไม่ได้มีบันทึกเรื่องสงกรานต์ไว้เหมือนพุกาม เรื่องของเรื่องเป็นอย่างนี้ 

พระเจ้านรสีหบดีมีพระเหสีชื่อ 'พระนางพวาซอ' และมีพระสนมอีกหลายองค์ พระสนมที่โดดเด่นคือ 'พระสนมซอลง' และ 'พระสนมซอเม่า' ทุก ๆ สงกรานต์ซึ่งเป็นฤดูเดือนที่อากาศร้อน พระองค์มักเสด็จฯ ลงสรงพระกระยาสนานหรือสระผม บริเวณท่าน้ำเป็นเวลานาน ๆ บ่อย ๆ 

ที่นี้พะองค์คงนึกสนุกและอยากจะหยอกล้อ 'พระสนมซอลง' จึงรับสั่งให้พระสนมองค์อื่น ๆ และนางข้าหลวงสาดน้ำใส่พระสนมซอลงแบบไม่ให้รู้ตัว พอโดนรุมสาดแบบไม่ทันตั้งตัว ผมเผ้าเสื้อผ้าก็เปียกปอนไปหมด จนทำให้พระสนมซอลงรู้สึกอับอาย โดยไม่ได้คิดว่านี่คือการล้อเล่นสาดน้ำในหมู่คนที่คุ้นเคยกัน 

จากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้พระสนมซอลงคิดแค้น ว่าพระเจ้านรสีหบดีออกอุบายกลั่นแกล้ง จึงคิดจะเอาคืน โดยแอบใส่ยาพิษลงไปในพระกระยาหารของพระเจ้านรสีหบดี (คุณพระ!!!) ซึ่งปกติแล้วหน้าที่ยกพระยาหารขึ้นถวายพระเจ้านรสีหบดีเป็นหน้าที่ของพระสนมซอลง แต่วันนั้นพระสนมซอลงแกล้งป่วย จึงขอร้องให้ 'พระสนมซอเม่า' ทำหน้าที่แทน

ระหว่างที่กำลังเชิญพระกระยาหารขึ้นถวายนั้น ปรากฏว่ามีสุนัขหลวงทรงเลี้ยงตามเห่าพระสนมซอเม่า พระสนมซอเม่าคิดว่ามันคงหิว ด้วยความสงสารจึงแอบนำอาหารบางส่วนโยนให้กิน พอสุนัขหลวงกินมันก็ตายทันที พอความทราบถึงพระเจ้านรสีหบดี พระองค์จึงให้สอบสวน จนได้ความตามจริงว่าพระสนมซอลงลอบวางยาพิษ ผลก็คือ 'พระสนมซอลง' ต้องโทษประหารชีวิต ทั้งหมดนี้เป็นความเข้าใจผิดของพระสนมนั่นเอง

จบแบบโศกนาฏกรรม 

แต่ในประวัติสงกรานต์พม่า ที่มาของการเล่นสาดน้ำในปัจจุบันที่เก่าแก่ที่สุดก็คือการสาดน้ำใส่ 'พระสนมซอลง' นี่แหละ ทั้งยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยพุกามที่เล่าเรื่องราวของการเล่นน้ำสงกรานต์ มีภาพของการเทน้ำจากหม้อน้ำราดใส่กันประกอบอีกด้วย ผมว่ายอมพม่าเขาไปเหอะ นี่ยังไม่รวมภาพใน The Graphic เมื่อ ค.ศ. 1888 ที่ปรากฏคนพม่าสาดน้ำใส่ฝรั่งอังกฤษนะ ซึ่งอันนี้เขาดรามากันไปเยอะแล้ว ผมไม่เล่าล่ะ 

'สงกรานต์พม่า' จัดขึ้นช่วงเดือน 5 (เมษายน) ของไทย พม่าเรียกว่า 'เดือนดะกู' ส่วนสงกรานต์ในภาษาพม่าเรียกว่า 'เหย่บะแวด่อ' (คำว่า 'เหย่' แปลว่า 'พิธีน้ำ' ส่วน 'บะแวด่อ' แปลว่า 'เทศกาล') รัฐบาลพม่ากำหนดประเพณีสงกรานต์ให้ตรงกับวันที่ 13-17 เมษายนของทุกปี ซึ่งสงกรานต์บ้านเขานี้จัดอย่างจริงจัง สาดกันจริงจังแบบไม่มีคำว่า 'ไม่เปียก'

มาที่ 'สงกรานต์ลาว' ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 14-16 เมษายนของทุกปี โดยออกเป็น 3 วัน วันแรกเรียกว่า 'วันสังขารล่วง' ชาวบ้านจะทำความสะอาดบ้านเรือนเพื่อเป็นการปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไปและเตรียมรับสิ่งใหม่ ๆ เข้ามา วันที่สองเรียกว่า 'วันเนา' ถือเป็นวันแห่งครอบครัว ญาติพี่น้องจะมารวมตัวกันเพื่อบายศรีสู่ขวัญให้แก่ผู้อาวุโส และวันสุดท้ายเรียกว่า 'วันสังขารขึ้น' ถือว่าเป็นวันปีใหม่ที่แท้จริง จะมีการอวยชัยให้พรซึ่งกันและกัน มีการสรงน้ำพระและการแห่นางสังขาร ซึ่งเป็นนางสงกรานต์ของลาวแล้วก็มีการสาดน้ำกันพอกรุบกริบ 

'สงกรานต์กัมพูชา' ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวกัมพูชาเรียกกันว่าเทศกาล “โจลชนัมทเมย” เป็นช่วงต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว ในแต่ละปีรัฐบาลกัมพูชาอาจจะกำหนดให้จัดขึ้นในวันที่ 13-15 หรือ 14-16 เมษายน มีกิจกรรมคล้าย ๆ กันแบ่งงานสงกรานต์ออกเป็น 3 วัน วันแรกทำบุญตักบาตร มีการขนทรายเข้าวัดเพื่อเตรียมก่อพระเจดีย์ทราย วันที่สองเป็นวันของครอบครัว ช่วงค่ำก็จะมาร่วมกันก่อพระเจดีย์ทราย ส่วนในวันที่สาม จะมีการละเล่นรื่นเริงต่าง ๆ สรงน้ำพระพุทธรูป และรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่เพื่อความเป็นสิริมงคล 

'สงกรานต์สิบสองปันนา' สงกรานต์ของชาวไต หรือชาวไท ในสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ทางตอนใต้ของประเทศจีน โดยเฉพาะเมืองเชียงรุ่ง จะจัดงานสงกรานต์ในช่วงวันที่ 13-15 เมษายน เรียกว่าเทศกาล 'พัวสุ่ยเจี๋ย' โดยกิจกรรมหลัก ๆ ที่มีในงานสงกรานต์สิบสองปันนาก็คือ 'การแข่งขันเรือมังกร' ซึ่งเป็นเอกลักษณ์สำคัญของเทศกาลนี้ นอกจากนี้ก็จะมีการ 'ระบำนกยูง' ที่มีความเชื่อว่านกยูงนำพาความโชคดีมาให้ นอกจากนี้ก็ยังมีการร้องรำทำเพลง การเล่นน้ำ และการรดน้ำดำหัวให้กันและกัน 

'สงกรานต์ของประเทศไทย' แม้ว่าเราอาจจะไม่ได้มีบันทึกการเล่นสาดน้ำเหมือนอย่างของพม่า แต่เทศกาลของเราก็มีความลุ่มลึกอย่างมีนัยยะสำคัญทั้งผูกพันกับการรำลึกถึงบรรพบุรุษ ครอบครัว ด้วยความชุ่มฉ่ำทั้งการสรงน้ำพระ การรดน้ำดำหัว และธรรมเนียมประกอบที่ดีงามไม่แพ้ใคร ๆ อย่างเช่น... 

ภาคเหนือเรามีพิธีความเชื่อเรื่อง 'ปู่สังกรานต์' หรือ 'ย่าสังกรานต์' จึงเป็นเหตุแห่งการจุดประทัดไล่เคราะห์ นอกจากนี้บางแห่งจะมีการทำขนมที่ไว้เฉลิมฉลองสงกรานต์ คือกาละแม ข้าวเหนียวแดงใส่ถั่วลิสงคั่ว ข้าวเหนียวแก้ว ข้าวแตน นางเล็ด ไปถวายวัด เพื่อไปเป็นเสบียงส่งไปให้บรรพบุรุษ 

ภาคอีสาน เราก็มีพิธีเสียเคราะห์ที่ใช้กระทงห้อง ใส่อาหารคาว-หวาน ไปทำพิธีในวัดเมือจบจะนำกระทงไปไว้ในป่าหรือทางแพร่งเพื่อเซ่นผีนำเอาสิ่งไม่ดีออกจากตน ตัวอย่างเช่น วัดไชยศรี จ.ขอนแก่น มีการทำบุญอัฐิบรรพบุรุษที่ล่วงลับ เรียกว่า 'สักอนิจจา' มีการ 'แห่ต้นดอกไม้' ที่นาแห้ว จ.เลย ซึ่งทำถวายเป็นพุทธบูชาเพื่อความเป็นมงคลและสร้างความสามัคคีคนในชุมชน (เห็นไหม? สาดน้ำใส่กันมันแค่ส่วนประกอบ) 

ภาคกลางส่วนใหญ่มักประกอบกิจกรรมทางศาสนาเป็นหลัก นอกจากนั้นก็จะมีงานที่เป็นเอกลักษณ์อย่าง สงกรานต์มอญ ที่ยังรักษาวัฒนธรรมของชาวรามัญ-ไทย ไว้อย่างงดงาม ทั้งที่ปากเกร็ด จ.นนทบุรี บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร หรืออย่างที่พระประแดง จ.สมุทรปราการ 

ภาคใต้บ้านเราจะเรียกว่า 'วันว่าง' ไม่ทำงาน ไม่ตัดเล็บ ตัดผม ก่อนจะเข้าวัดในวันว่างนี้เพราะเชื่อว่าเทวดาองค์เก่าเมื่อปีก่อนไม่อยู่ จึงต้องพึ่งบารมีพระพุทธก่อนที่วันเถลิงศกจะเข้ามาพร้อมเทวดาองค์ใหม่ก็จะมาประจำเมือง โดยจะแต่งชุดสวย ชุดใหม่ รอรับกันในวันนี้ 

ถึงตรงนี้ที่สงกรานต์คือ กิจกรรมสำคัญที่ผมอยากจะชวนให้ท่านผู้อ่านทุก ๆ ท่านไปค้นหาและสัมผัสความดีงามเหล่านั้นด้วยตัวของท่านเอง ซึ่งผมเชื่อว่าแม้ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมจะทำให้ประเพณีสงกรานต์เปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ความเป็นเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองการเปลี่ยนผ่านของปี ความรื่นเริงสนุกสนานและการระลึกถึงบรรพบุรุษ ครอบครัว ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ จะยังคงเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่และสืบทอดต่อไปอีกนานเท่านาน สุขสันต์วันสงกรานต์นะครับ

สมุทรปราการ- 'วัดมหาวงษ์' จัดพิธีทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ เนื่องในวันสงกรานต์ครอบครัวพาณิชย์พิศาลร่วมงานบุญ

ภายในวัดมหาวงษ์ อ.เมืองจ.สมุทรปราการ จัดพิธีทำบุญตักบาตรข้าวสาร อาหารแห้ง อาหารปรุงสุก เนื่องในเทศกาลวันสงกรานต์ 

ภายในพิธีประกอบไปด้วย การถวายสังฆทานแด่พระภิกษุสงฆ์ การสรงน้ำพระขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคล การขนทรายคืนวัดโดยมีคณะสงฆ์วัดมหาวงษ์ร่วมประกอบพิธี

โดยในช่วงเช้าทางวัดมหาวงษ์ นำโดย พระครูปลัดจริยวัฒน์ หลวงพี่ตุ๋ย ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาวงษ์ นำคณะสงฆ์ จำนวน 9 รูป ร่วมประกอบพิธีสวดมาติกา-บังสุกุล เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับอดีตเจ้าอาวาสทุกรูปที่ทำคุณประโยชน์ให้กับทางวัดมหาวงษ์ อาทิ พระครูสุนทรธรรมวงศ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาวงษ์ 

มีคณะศิษย์ยานุศิษย์และประชาชนผู้ใจบุญจำนวนมากร่วมในพิธี นำโดย นายอัครนันท์ พร้อมด้วย นางธัญยธรณ์ นางสาวปิยนุช พาณิชย์พิศาล และครอบครัวพาณิชย์พิศาลเศรษฐีผู้ใจบุญที่ให้การสนับสนุนและพัฒนาวัดมหาวงษ์ให้เจริญรุ่งเรืองเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เป็นประธานจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย 

จากนั้น ครอบครัวพาณิชย์พิศาล นำคณะศิษย์ยานุศิษย์และประชาชนผู้ใจบุญร่วมถวายภัตตาหารเพลแด่คณะสงฆ์วัดมหาวงษ์ จากนั้น พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถาและเจริญพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่เดินทางมาร่วมในงานครั้งนี้ 

อีกทั้ง ภายในงานทางคณะศิษย์ยานุศิษย์วัดมหาวงษ์ร่วมรดน้ำขอพร นายอัครนันท์ พร้อมด้วย นางธัญยธรณ์พาณิชย์พิศาล เนื่องในเทศกาลวันสงกรานต์ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ทางวัดมหาวงษ์ได้จัดขึ้น โดยทางครอบครัวพาณิชย์พิศาลได้มอบเงินขวัญถุงแก่คณะศิษย์ยานุศิษย์และสื่อมวลชนที่เดินทางมาร่วมงานคนละ 500 บาท เพื่อเป็นขวัญกำลังใจเป็นเงินขวัญถุงให้กับผู้ที่มาร่วมงานครั้งนี้อีกด้วย

13 เมษายน ของทุกปี ‘วันผู้สูงอายุแห่งชาติ’ และ ‘วันสงกรานต์’ ร่วมสืบสานประเพณีไทย

อย่างที่ทราบกันดีว่าวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี คือวันมหาสงกรานต์ ตามประเพณีไทยที่สืบทอดมายาวนาน ขณะเดียวกันในวันนี้ ยังถือเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติอีกด้วย

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2525 ได้มีการประชุมสมัชชาโลกว่าด้วยผู้สูงอายุ (World Assembly on Aging) ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ในที่ประชุมได้พิจารณาประเด็นสำคัญเกี่ยวกับผู้สูงอายุไว้ 3 ประการ คือ ด้านมนุษยธรรม ด้านการพัฒนา และด้านการศึกษา พร้อมกำหนดให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เป็นผู้สูงอายุ (Elderly) ซึ่งใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก

ดังนั้น ทางคณะรัฐมนตรีไทยจึงได้ลงมติ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2525 อนุมัติให้วันที่ 13 เมษายน ของทุกปีเป็น วันผู้สูงอายุแห่งชาติ พร้อมทั้งได้กำหนดให้ “ดอกลำดวน” เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุ เนื่องจากต้นลำดวน หรือ หอมหวล (Melodorum fruticosum Lour) ตามชื่อไทยพื้นเมือง เป็นพืชยืนต้นที่ให้ความร่มเย็น ลำต้นมีอายุยืน มีใบเขียวตลอดปี ดอกสีเหลืองนวล กลิ่นหอมเย็น กลีบแข็งแรงไม่ร่วงง่าย เปรียบเสมือนกับผู้ทรงวัยวุฒิที่คงคุณธรรม คุณงาม ความดีให้กับลูกหลานไว้เป็นแบบอย่างสืบต่อไป

สมุทรปราการ-เทศบาลตำบลแพรกษา สืบสานประเพณีจัดโครงการ 'แพรกษาประสานใจ ห่วงใยผู้สูงอายุ' รดน้ำดำหัวขอพรเนื่องในวันสงกรานต์

เทศบาลตำบลแพรกษา จัดกิจกรรม แพรกษาประสานใจ ห่วงใยผู้สูงอายุ ประจำปี 2568 ณ เทศบาลตำบลแพรกษา ต.แพรกษา อ.เมือง สมุทรปราการ

นางอรัญญา สุวรรณบุตร นายกเทศมนตรีตำบลแพรกษา พร้อมด้วย ดร.ยงยุทธ สุวรรณบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสมุทรปราการ สมัยที่ 25 และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์นายกเทศมนตรีตำบลแพรกษา และนายเมธากุล สุวรรณบุตร ประธานมูลนิธิแพรกษาเพื่อการศึกษา จัดโครงการ แพรกษาประสานใจ ห่วงใยผู้สูงอายุ ประจำปี 2568 

โดยมี นายวรรณวุฒิ มาสุข รองปลัดเทศบาล ปฎิบัติหน้าที่ปลัดเทศบาลตำบลแพรกษา กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์ของการจัดโครงการในครั้งนี้ โดยมี คณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ พนักงาน ตลอดจนกลุ่มผู้สูงอายุจากชุมชนต่างๆ ในเขตพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งทางเทศบาลตำบลแพรกษา จัดให้มีกิจกรรมการประกวดร้องเพลงโดยผู้สูงอายุจากชุมชนต่างๆ ส่งทีมเข้าร่วมแข่งขัน จำนวน 7 ทีมด้วยกัน นอกจากนี้ยังมีซุ้มอาหารต่างๆ นำอาหารมาแจกจ่ายให้ผู้สูงอายุและผู้ที่เดินทางมาร่วมในงานได้รับประทานฟรีอีกด้วย

จากนั้น นางอรัญญา สุวรรณบุตร นายกเทศมนตรีตำบลแพรกษา พร้อมด้วย ดร.ยงยุทธ สุวรรณบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ 25 นายเมธากุล สุวรรณบุตร ประธานมูลนิธิแพรกษาเพื่อการศึกษา นำคณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ รดน้ำดำหัวขอพรจากผู้สูงอายุเพื่อความเป็นสิริมงคล เนื่องในเทศกาลวันสงกรานต์หรือวันปีใหม่ไทย ประจำปี 2568

โดยทางด้าน นางอรัญญา สุวรรณบุตร นายกเทศมนตรีฯ กล่าวว่า เทศบาลตำบลแพรกษาให้ความสำคัญในการจัดกิจกรรมให้แก่ผู้สูงอายุ รวมถึงการประกวดความสามารถของผู้สูงอายุ “สูงวัยคอนเทส” เพื่อสนับสนุนผู้สูงอายุในชุมชนได้ร่วมกลุ่มทำกิจกรรมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันและก่อให้เกิดการสร้างสัมพันธภาพอันดี

ทั้งนี้ ยังเป็นห้วงเวลาใกล้เข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม ซึ่งมีการรถน้ำดำหัวขอพรผู้สูงอายุเพื่อความเป็นสิริมงคล และยังเป็นการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีไทยที่มีมาช้านานให้คงอยู่สืบไป

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตรวจเยี่ยมการดูแลประชาชนวันสงกรานต์ ถ.ข้าวสาร และ สนามหลวง กำชับดูแลความปลอดภัยเต็มที่

เมื่อวันที่ (13 เม.ย.68) เวลา 17.30 น. พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พร้อมด้วย , พล.ต ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร. , พล.ต.ท.สยาม บุญสม ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล , พล.ต.ท.ศักย์ศิรา เผือกอ่ำ ผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว , พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง ผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล/โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (โฆษก ตร.) , พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1/รองโฆษก ตร. , พล.ต.ต.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร ผู้บังคับการกองสารนิเทศ/รองโฆษก ตร. , พล.ต.ต.นรเศรษฐ์ สุวรรณนิกขะ ผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว 1 และผู้เกี่ยวข้อง เดินทางไปตรวจเยี่ยมการดูแลความปลอดภัยเทศกาลสงกรานต์ ถ.ข้าวสาร ที่ สน.ชนะสงคราม โดยร่วมประชุมและฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์ ณ ศูนย์ปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกการจราจร เทศกาลสงกรานต์ 2568 สน.ชนะสงคราม 

ทั้งนี้ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า วันนี้มาดูการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งขอชื่นชมผู้ปฏิบัติหน้าที่ทุกนาย ที่มีจิตบริการ มีทัศนคติที่ดี ในการดูแลความปลอดภัยอย่างเต็มที่ ซึ่งส่วนนี้เป็นผลสะท้อน ให้พี่น้องประชาชนและชาวต่างชาติเชื่อมั่นในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป

นอกจากนี้ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ในวาระดิถีปีใหม่ไทย วันสงกรานต์ 13 เมษายน 2568 นี้ ทราบว่าตำรวจทุกนายต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเหน็ดเหนื่อย เสียสละเวลาเพื่อดูแลพี่น้องประชาชน ขอสวัสดีปีใหม่ และขอให้ทุกท่านพร้อมด้วยครอบครัว มีความสุข โชคดี สุขภาพพลานามัยที่แข็งแรง ปลอดภัยจากภยันตรายทั้งหลายทั้งปวง และพบแต่สิ่งอันเป็นมงคลแห่งชีวิต 

จากนั้นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตรวจจุดคัดกรองทางเข้า ถ.ข้าวสาร และเดินตรวจบรรยากาศ การเล่นน้ำสงกรานต์ตลอด ถ.ข้าวสาร และบริเวณจัดงานสงกรานต์ที่ท้องสนามหลวง  ซึ่งทั้ง 2 แห่ง มีประชาชนและนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวงานจำนวนมาก

สมุทรปราการ-วัดมหาวงษ์ ร่วมกับ ครอบครัวพาณิชย์พิศาล สรงน้ำขอพรเนื่องในเทศกาลวันสงกรานต์ ร่วมสืบสานประเพณีไทย

(17 เม.ย. 68) ณ วัดมหาวงษ์  อ.เมือง จ.สมุทรปราการ คณะสงฆ์วัดมหาวงษ์ได้ประกอบพิธีสวดมาติกาบังสุกุล และร่วมให้ประชาชนได้สรงน้ำขอพรพระภิกษุสงฆ์เนื่องในเทศกาลวันสงกรานต์ หรือวันปีใหม่ไทย ประจำปี 2568 

โดยในปีนี้ได้รับเกียรติจาก ครอบครัวพาณิชย์พิศาล ประธานฝ่ายฆราวาส นำโดยนายอัครนันท์-นางธัญยธรณ์ และนางสาวปิยนุช พาณิชย์พิศาล ครอบครัวเศรษฐีผู้ใจบุญที่ให้การสนับสนุนช่วยเหลือและช่วยพัฒนาวัดมหาวงษ์แห่งนี้มาโดยตลอด ตลอดจนคณะศิษย์ยานุศิษย์ คณะเจ้าหน้าที่ชมรมโฮปฯ และประชาชนชาวสมุทรปราการร่วมในพิธีครั้งนี้

โดยคณะสงฆ์สวดมาติกาบังสุกุลเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่พระครูสุนทรธรรมวงศ์ อดีตเจ้าคณะตำบลปากน้ำ อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาวงษ์ และบรรพบุรุษ บุรพาจารย์ผู้ที่เคยสร้างคุณประโยชน์ให้แก่วัดมหาวงษ์ โดยได้รับความเมตตาจากพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์จากวัดต่างๆ ร่วมประกอบพิธีและพิจารณาผ้าบังสุกุล

นอกจากนี้ ยังมีการรำถวายขอพรองค์ท้าวเวสสุวรรณเพื่อความเป็นสิริมงคล รวมถึงการถวายกุฎิสงฆ์และกุฎิสงฆ์ที่ซ่อมแซมแล้วเสร็จ โดยทางครอบครัวพาณิชย์พิศาลเป็นประธานดำเนินการ จากนั้นได้ร่วมกันถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ ทั้งนี้ ทางวัดมหาวงษ์ยังได้รับความเมตตาจาก พระธรรมวชิราจารย์ รองเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร เจ้าอาวาสวัดสุวรรณรามราชวรวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์นำคณะสงฆ์ร่วมประกอบพิธี โดยมี พระครูปลัดจริยวัฒน์ หลวงพี่ตุ๋ย ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาวงษ์ เป็นประธานดำเนินงาน นำพระภิกษุสงฆ์ จำนวน 10 รูป เจริญชัยมงคลคาถาและเจริญพระพุทธมนต์ฉลองกุฏิหลังใหม่ 

จากนั้น คณะศิษย์ยานุศิษย์วัดมหาวงษ์และคณะเจ้าหน้าที่ชมรมโฮปสะพานบุญแห่งความหวังและศรัทธา ได้ร่วมกันรดน้ำขอพรครอบครัวพาณิชย์พิศาล นำโดย ครอบครัววรัณวงศ์เจริญ นายธนิตพงษ์-นางทิพย์ประภา วรัณวงศ์เจริญ และนางสาวปิยนุช พาณิชย์พิศาล ประธานชมรมโฮบฯ นำเจ้าหน้าที่ชมรมโฮปฯ ร่วมรดน้ำขอพรเนื่องในเทศกาลวันสงกรานต์ประจำปี 2568

คิว-ข่าวสมุทรปราการ รายงาน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top